Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Dear Parents
15 January 2021

‘เราอาจไม่มีวันเข้าใจกันได้ แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้เกลียดพ่ออย่างที่เคยนึก’ เขียนถึงพ่อในวันที่เราตะโกนใส่หน้ากัน

เรื่อง ณัฐชานันท์ กล้าหาญ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • เราอาจจะไม่มีวันเข้าใจกันเลยก็ได้ บางเรื่องมันสายเกินไปแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้เกลียดพ่ออย่างที่เคยนึก เราสร้างความรู้สึกนั้นขึ้นมาป้องกันตัวเองไว้เพราะเรากลัวเหวอะหวะจากการโดนพ่อมองว่านี่คือความเป็นอื่น

น่าแปลกที่ไม่เคยเขียนถึงพ่อ หรือตั้งใจจะคิดถึงความรู้สึกที่มีต่อพ่อมาก่อนแม้ที่ผ่านมาเราจะอยู่ในบ้านเดียวกัน ใช้ชีวิตร่วมกันและมีความทรงจำเชิงพื้นที่ทับซ้อนกันเยอะมาก แต่แปลกมากที่เราจำความรู้สึกผูกพันนั้นได้น้อย อาจเป็นเพราะเราคือเด็กไม่ละเอียด ผูกตัวเองอยู่กับหนังสือและเห็นภาพแม่มากเสียเป็นส่วนใหญ่ กิจกรรมส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นกับแม่

วันๆ หนึ่งบทสนทนากับพ่อเกิดขึ้นน้อย บางครั้งไม่เกิดขึ้นเลย พ่อมักจะเทชามาให้ที่โต๊ะ บางครั้งก็ทำกาแฟตอนเช้าไว้ให้บ้าง จากนั้นเราก็ไม่ได้คุยอะไรกันมากนัก จะว่าห่างเหินก็ห่างเหิน 

การทะเลาะกันส่วนใหญ่เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เราสองคนจะทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และใช้ชีวิตต่อไปในบ้าน 

เรารู้ว่าเรากับพ่อความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน แต่เพราะเราไม่สนิทกันในเชิงความคิด ไม่เคยแลกเปลี่ยนปัญหา พูดคุยสิ่งที่อาศัยอยู่ภายใน หรือทำความรู้จักกันมากพอ กว่าจะรู้ตัวเราก็อยู่กับความรู้สึกที่ไม่อยากรู้จักชีวิตของเขา ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกเฉยๆ ที่จะให้เขาเข้ามาในวงกลมชีวิตของเรา มันห่างไกลและเหมือนจะสายเกินไป

วันนั้นคือวันที่เรากำลังจะออกไปม็อบและหลีกเลี่ยงที่จะบอกพ่อ แต่สุดท้ายไม่สำเร็จ เมื่อพ่อรู้ สีหน้าของเขาเปลี่ยนวาบ แววตาก็เช่นเดียวกัน คำแรกที่พ่อพูดกับเราโดยยังไม่ฟังเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น คือคำหยาบที่ตัดสินกันชัดเจน แน่นอนว่าที่ผ่านมาเมื่อทะเลาะกันเราเถียงสู้ถ้ารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม เหตุการณ์นี้ก็เช่นเดียวกัน

เราทะเลาะกันหนักมากที่สุดแบบที่การใช้ชีวิตอย่างห่างเหินจะอนุญาต เท่าที่ระยะห่างระหว่างอายุ 30 กับ 80 กว่าจะอนุญาต เราถามว่าความชอบธรรมของตำรวจในการฉีดน้ำต่อประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสันติอยู่ตรงไหน พ่อตอบไม่ตรงคำถาม ถามว่าทำไมถึงไม่รู้สึกอะไรกับการใช้กำลังคุกคามเด็ก พ่อตอบในสิ่งที่เราไม่อยากจะเชื่อว่าเขาจะเห็นมนุษย์ไม่เท่ากันได้มากขนาดนี้

เราเติบโตมาแบบไหนกันเราถึงแทบไม่เคยรู้จักกันเลย เสียงตะโกนดังขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านแคบๆ แม่ยืนอยู่ข้างๆ โดยไม่นึกว่าเหตุการณ์มันจะเลยเถิดไปถึงขนาดนี้ มีแต่ความไม่เข้าใจ คลุ้มคลั่งทางอารมณ์ อยากทำลายความรู้สึกของอีกฝ่าย

สีหน้าของพ่อผิดหวังจากประโยคที่บอกว่าทำไมเรียนหนังสือแล้วถึงกลายเป็นคนแบบนี้ไปได้ ส่วนเราคิดว่าการศึกษาไทยไม่ได้ทำให้ใครตาสว่าง

น้ำตาเราไหลตั้งแต่ประโยคสองประโยคแรกก่อนจะเปลี่ยนเป็นขึ้นเสียงกันรุนแรง กับหลักการและเหตุผลที่เราไม่เชื่อหรืออาจจะมองเห็นมาตลอดในบ้าน ภาวะชายเป็นใหญ่ที่เราเกลียด บ้านที่เป็นพื้นที่ของพ่อและตัวเราเองซึ่งเป็นลูกแบบติดๆ ดับๆ พื้นที่ของแม่ที่มีแต่ความประนีประนอม ไม่ถกเถียงเพราะไม่นำไปสู่อะไร แข็งแกร่งและอ่อนโยนจนเราโตมากับแนวคิดที่ว่าความอ่อนโยนจะไม่มีวันทำร้ายใคร

ภาพฉายวนเป็นเราที่เฝ้ามองความนิ่งทนของแม่อย่างคนขี้ขลาด ทำได้เพียงเถียงพ่อจนสุดทางและปกป้องแม่ เลือกข้างชัดเจน รู้ว่าพ่อถูกกันไปอยู่ในมุมแคบที่มีตัวคนเดียว รู้ว่ามันโดดเดี่ยว ไม่มีใครสมควรได้รับสิ่งนั้นแม้จะเป็นมนุษย์ที่หยาบที่สุด แต่ในเมื่อพ่อไม่เคยฟังใครนอกจากตัวเอง เราก็สงสัยเหมือนกันว่าเขาจะตรวจสอบตัวเองบ้างไหมว่าความเดียวดายมันมีผลมาจากความคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่จนคนอื่นต้องเชื่อฟัง

ต่างคนต่างเงียบ มีแต่เสียงน้ำตาและเราที่ร้องไห้หนักขึ้นเรื่อยๆ แม่คอยกอดและบอกว่าแม่เข้าใจลูก 

พ่อก็สมควรได้รับการกอดเหมือนกัน แต่อคติของเราฉุดเราไปไกลจนในหัวมีแต่กลุ่มก๊าซเน่าเสียลอยคลุ้ง และความห่างเหินที่ครอบเราไว้ในอ้อมกอดหลวมๆ

แตกหักเหมือนกัน จักรวาลหมุนรอบตัวเองเหมือนกัน มีเราในพ่อและมีพ่อในเราเสมอ คิดวนในหัวทุกครั้งว่าทำไมเราถึงไม่อยากรู้จักพ่อแม่ให้มาก ทำไม่ไม่พยายามกุมมือ พูดคุย และเรียนรู้โลกใบนี้ไปด้วยกัน ทำไมเราถึงไม่พยายาม ทำไมถึงนิ่งเฉยและหาทางอยู่คนเดียวให้ได้อย่างสงบที่สุด

“พ่อไม่เหลือความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว”

เราเองก็รู้ดีว่าไม่น่าพูดแบบนั้นออกไป

เราออกไปม็อบในวันนั้น และออกไปจากบ้านสักพัก ระหว่างที่อยู่คนเดียวเหตุการณ์วันนั้นมักจะวนมาฉายก่อนนอน

เมื่อกลับมาบรรยากาศในบ้านยังนิ่งเรียบเหมือนที่เคยเป็นมา ทั้งเราและพ่อไม่มีใครเริ่มคุยอะไรกัน แต่ในกลางดึกและตอนเช้า พ่อจะเอาชาร้อนมาวางเงียบๆ และเดินจากไป

สุดท้ายเราก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนได้ ท่าทางของพ่อดูอ่อนลง เราเองก็พยายามมองพ่อให้เป็นพ่อมากที่สุดและดูแลชีวิตเขาในจุดที่เขาไม่สามารถทำบางอย่างเองได้ ยังเข้าใจตัวเองว่าเป็นลูกที่ห่วยอยู่มากและพยายามไม่มากพอ 

เหตุการณ์ที่เราน็อตหลุด ขึ้นเสียงและตะโกนปาวๆ ใส่หน้าพ่อในห้องนั่งเล่นก็คือที่เดียวกับที่พ่อเอาชาร้อนมาวางให้ในหลายอาทิตย์ต่อมา และในหลายอาทิตย์ต่อมาอีกเราก็กอดกัน แต่อ้อมกอดนั้นเปลี่ยนไปในความธรรมดา มันเต็มไปด้วยคำถาม ความหลวม และความรักที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง ความอ่อนโยนที่แม่สร้างทั้งเราและพ่อเอาไว้ทำให้เรายังไม่จากกันไปไหน

เราอาจจะไม่มีวันเข้าใจกันเลยก็ได้ บางเรื่องมันสายเกินไปแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้เกลียดพ่ออย่างที่เคยนึก เราสร้างความรู้สึกนั้นขึ้นมาป้องกันตัวเองไว้เพราะเรากลัวเหวอะหวะจากการโดนพ่อมองว่านี่คือความเป็นอื่น 

ในวันนั้น มันมีแต่ความเสียใจที่อยู่ดีๆ เราก็เหมือนไม่ใช่ลูก

จริงๆ แล้วความรักมันอาจจะมีหน้าตาน่าเกลียด และปลดปล่อยปีศาจจำนวนมากขึ้นมาฟาดฟันกัน สงครามความสัมพันธ์มันเกิดขึ้นโดยที่มีฝ่ายไม่ได้สนใจจะมองและเข้าใจกันอย่างชัดเจน หรือไม่รู้ตัวว่าสิ่งนั้นเรียกว่าความรัก 

แต่ในเมื่อมันมีความรักแล้ว สิ่งที่เราในช่วงเวลาแข็งแกร่งพอจะทำได้ คือการซ่อมแซมมันไปด้วยกัน กล้าหาญที่จะหาวิธี ทำให้พ่อรู้ว่าเรากำลังจัดการปัญหานี้อยู่แม้ว่าเราจะทำมันได้อย่างห่วยแตกมากก็ตาม

Tags:

พ่อแม่ประชาธิปไตยการฟังและตั้งคำถามความขัดแย้ง

Author:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Dear ParentsMovie
    Yoshino’s Barber Shop : เสียงตะโกนของแก๊งเด็ก ‘ไม่เอาผมทรงเห็ดแล้ว’

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Family Psychology
    สานสัมพันธ์พี่ – น้องให้แน่นแฟ้นด้วยการเลี้ยงดูของพ่อแม่ : ใช้เวลาร่วมทุกข์ – สุขและให้ความยุติธรรม

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Movie
    Gifted (2017) ‘ขอโทษ’ ของขวัญที่ดีที่สุดในการรักษาความสัมพันธ์

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • MovieDear Parents
    Coco (2017): สิทธิที่จะรู้ความจริง และสิทธิที่จะเลือกชีวิตตัวเอง

    เรื่องและภาพ พิมพ์พาพ์

  • Family Psychology
    ‘ตอนนี้’ และ ‘โตขึ้น’ อยากเป็นอะไร พ่อแม่ช่วยลูกค้นหาได้ด้วย 9 วิธีนี้

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel