- ‘ลูกคนกลาง’ มักจะถูกปฏิบัติแตกต่างจากพี่น้อง ลำดับการเกิดที่คลุมเครืออาจส่งผลให้เขาสับสนว่าควรจะวางตัวอย่างไร เพราะตัวเขาไม่ได้โตที่สุดในบรรดาพี่น้องและไม่ได้เด็กที่สุดในบ้าน
- การเป็นลูกคนกลางไม่ได้ทำให้เด็กสูญเสียคุณค่าภายในตัวเองไป แต่เป็นปัจจัยในการเลี้ยงดูที่ส่งผลกระทบต่อ ‘ลูกคนกลาง’ ก็คือ ‘การไม่ได้รับความรักอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลัก’
- ลูกคนกลางอาจจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป เพราะพ่อแม่ไม่ได้มองเห็นและสนใจเขาเทียบเท่ากับพี่น้องคนอื่น เขาต้องพยายามมากกว่าใครๆ เพื่อให้ได้รับการมองเห็นนั้น แต่ไม่ใช่ทุกความพยายามจะสำเร็จ
หมายเหตุ: บทความนี้ได้เขียนขึ้นโดยอ้างอิงทฤษฎีทางจิตวิทยา และประสบการณ์ของพ่อแม่และเด็กที่เข้ามารับการปรึกษา ดังนั้น บางท่านอาจจะไม่ได้รับประสบการณ์ในรูปแบบเดียวกันกับในบทความ เพราะเนื้อหาในบทความจะเป็นเพียงแนว โน้มที่สามารถเกิดขึ้นได้เท่านั้น
‘ตัวฉัน’ ผู้ซึ่งไม่ได้โตที่สุด เพราะไม่ใช่ลูกคนแรก
และไม่ได้เด็กที่สุด เพราะยังมีน้องเล็กที่เด็กกว่าตัวเอง
ไม่ใช่ทั้งพี่ ไม่ใช่ทั้งน้อง “ฉันเป็นลูกคนกลาง”
‘ลูกคนกลาง’
‘Wednesday’s child’
‘Middle Child Syndrome’
ชื่อเรียกต่างๆ เหล่านี้คือชื่อที่ใช้เรียกเด็กน้อยที่เกิดเป็น “ลูกคนกลาง”
ที่มาของชื่อเหล่านี้เกิดจากความเชื่อที่ว่า ‘ลูกคนกลาง’ มักจะถูกปฏิบัติแตกต่างจากพี่น้องของเขา รวมทั้งลำดับการเกิดที่คลุมเครืออาจจะส่งผลให้ลูกคนกลางเกิดความสับสนว่าเขาควรจะวางตัวอย่างไร เพราะบางครั้งเขาอยากจะให้คนในครอบครัวมองว่า เขาโตพอจะได้รับผิดชอบสิ่งต่างๆ และได้รับความเคารพ แต่กลับกลายเป็นว่าเขาไม่ได้โตที่สุดในบรรดาพี่น้อง ในทางกลับกันเขาอยากจะให้คนในครอบครัวมองว่าเขายังเด็กและควรได้รับการดูแล แต่กลับกลายเป็นว่าเขาไม่ได้เด็กที่สุดในบ้าน เขาเป็นเพียงลูกคนกลางที่อยู่ตรงกลางระหว่างพี่และน้องของเขา
“ลำดับขั้นการเกิดส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก (Birth order effect) ได้อย่างไร?”
Alfred Adler (1973) เชื่อว่า “พ่อแม่มักปฏิบัติและตอบสนองต่อลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาเชื่อว่าเกิดจากลำดับการเกิดของลูกแต่ละคนนั่นเอง”
‘ลูกคนกลาง’ เป็นลูกที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจจากพ่อแม่น้อยที่สุด ทำให้เขาเป็นเด็กที่มีความ ทะเยอทะยานสูง อดทน และมีแนวโน้มเป็นคนดื้อรั้นและดื้อเงียบ ลูกคนกลางบางคนจะพยายามทำตัว โดดเด่นกว่าพี่น้องของตน หรือทำตัวแปลกแยกไปเลยเพื่อให้เป็นที่สนใจของพ่อแม่และคนรอบตัว ทั้งนี้หากพ่อแม่เข้าใจและให้ความสนใจลูกคนกลางอย่างเพียงพอ เขาจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าพี่น้อง และเป็นกาวเชื่อมใจระหว่างคนในครอบครัวอีกด้วย
ภาระทางใจที่สามารถเกิดขึ้นได้กับลูกคนกลาง
สำหรับลูกคนกลาง เขาเกิดมาโดยที่มีพี่อยู่แล้ว เขาต้องคอยแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ระหว่างพี่กับตัวเขา และหลังจากนั้นเมื่อน้องคนเล็กเกิดมา ตัวเขาก็ต้องแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ไปให้น้องด้วย ตัวเขาไม่เคยมีช่วงเวลาที่มีแค่เขากับพ่อแม่มาก่อน เขาต้องต่อสู้กับพี่คนโต และแบ่งความสนใจกับน้องคนเล็ก ลูกคนกลางจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน ถ้าเขาอยากทำให้ทุกคนมองเห็น เขาต้องพยายามทำตัวให้แตกต่างจากพี่กับน้องของเขา นอกจากนี้เขาต้องปรับตัวอยู่เสมอเพราะเขาต้องรับบทบาทถึงสองบทบาทในเวลาเดียวกัน คือ เป็นน้องของพี่คนโต และเป็นพี่ของน้องคนเล็ก
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ ‘ลูกคนกลาง’ เป็นปัจจัยเดียวกันที่สามารถส่งผลกระทบต่อลูกคนอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกัน ปัจจัยนั้น คือ ‘การไม่ได้รับความรักอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลัก’ นั่นเอง
การเป็นลูกคนกลางไม่ได้ทำให้เด็กสูญเสียคุณค่าภายในตัวเองไป
แต่การที่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวไม่ได้แสดงความรัก ความสนใจ และการยอมรับอย่างเหมาะสม สามารถส่งผลกระทบต่อตัวเด็กได้ ดังนี้
- เขาอาจจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป เพราะพ่อแม่ไม่ได้มองเห็นและสนใจเขาเทียบเท่ากับพี่น้องคนอื่น เขาต้องพยายามมากกว่าใครๆ เพื่อให้ได้รับการมองเห็นนั้น แต่ไม่ใช่ทุกความพยายามจะสำเร็จ ดังนั้นเมื่อเผชิญความผิดหวังซ้ำๆ ความมั่นใจของเขาก็ถูกสั่นครอนไปด้วย การรับรู้ในคุณค่าของตัวเองติดลบ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถยอมรับตัวเอง และพัฒนาตัวตนที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาในอนาคตได้
- ในเด็กบางคนเลือกที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ่อแม่หันกลับมามองและสนใจเขา ถึงแม้สิ่งที่เขาทำจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น
ลูกบางคนเลือกที่จะทำตัวดี ขยันเรียน เรียนให้ได้คะแนนดีๆ เพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจและชื่นชมเขาบ้าง ลูกบางคนเลือกที่จะทำตัวตลกๆ เพื่อให้พ่อแม่สนใจสิ่งที่เขาทำ หรือลูกบางคนเลือกที่จะทำเรื่องร้ายกาจ แกล้งพี่น้องตัวเอง ทำให้ข้าวของเสียหาย เพื่อให้พ่อแม่ตำหนิเขา เพราะแม้จะเป็นการตำหนิ แต่อย่างน้อยพ่อแม่ก็สนใจเขาในเวลานั้น เป็นต้น
ความพยายามที่ไม่เป็นผลนานวันเข้าความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ กัดกินหัวใจเกิดเป็นบาดแผลทางใจ และรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพ่อแม่และพี่น้อง
- ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง เด็กอาจจะทำตัวห่างเหินและไม่อยากใกล้ชิดกับพี่น้องตนเอง เพราะรู้สึกเจ็บปวดที่เห็นน้องหรือพี่ได้รับความรักในขณะที่ตัวเองไม่เคยได้รับเช่นนั้น อยากเกลียดพี่น้องตนเอง แต่ก็รู้ในใจลึกๆ ว่าไม่ใช่ความผิดของพี่น้องที่พ่อแม่ไม่รักเขาเท่ากับคนอื่น
- ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะความเครียด ความเกลียดตัวเองจากการไม่ได้รับความรักส่งผลต่อการไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ยิ่งทำให้ไม่รู้ว่าตนเองจะอยู่ไปเพื่อใครหรือสิ่งใด
ดังนั้น ลูกที่เติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกว่า ‘พ่อแม่ไม่รักตัวเอง’ หรือ ‘พ่อแม่รักพี่น้องมากกว่าตนเอง’ อาจจะต้องกลับมาทำความเข้าใจตัวเราเอง เพราะเราไม่สามารถแก้ไขพ่อแม่ของเราได้
วิธีรับมือและเยียวยาจิตใจตัวเองที่ได้รับการปฏิบัติแบบ ‘ลูกคนกลาง’
สำหรับ “ลูกคนกลาง” ที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แล้วในวันนี้ สิ่งที่เราสามารถทำได้
ขั้นที่ 1 ยอมรับ และอนุญาตให้ตนเองรู้สึกทางลบไม่ว่าจะเป็น ‘โกรธ’ ‘เศร้า’ ‘เหงา’ หรือแม้กระทั่ง ‘ผิดหวัง’ ในตัวพ่อแม่ของเรา
เราควรยอมรับว่า “ไม่เป็นไรที่พ่อแม่อาจจะรักเราไม่เท่ากับพี่น้องคนอื่น” หรือ “ไม่เป็นไรที่พ่อแม่ไม่สามารถรักเราได้อย่างที่เราต้องการ” ไม่ใช่ความผิดของเราเลยที่พ่อแม่ทำเช่นนั้น เพราะพ่อแม่เป็นคนธรรมดา และเรามีสิทธิ์ที่จะรู้สึกโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาเช่นกัน
ขั้นที่ 2 หาที่พึ่งพิงทางใจ หรือพื้นที่ปลอดภัย
เราควรหาที่พึ่งทางใจหรือใครสักคนที่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเราได้ ข้อสำคัญ คือ บุคคลหรือพื้นที่ดังกล่าวสามารถทำให้เรารู้สึกสบายใจ และเป็นตัวของตัวเองได้ อาจจะเป็นบุคคลอื่นในครอบครัวที่เขารักและหวังดีต่อเรา หรือคนรอบข้างที่ให้การเคียงข้างพร้อมรับฟังเรา เช่น เพื่อน คุณครู จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นต้น
เพื่อให้เราได้มีโอกาสเทใจและพักใจของเราในวันที่ไม่พร้อม ก้าวต่อเมื่อใจของเราปลอดโปร่ง เราจะสามารถมองเห็นตัวเราเองกับทางข้างหน้าที่ชัดเจนมากขึ้น
ขั้นที่ 3 เรียนรู้ที่จะรักตัวเองก่อน
ถึงแม้พ่อแม่ไม่สามารถรักและยอมรับเราได้ในแบบที่เราต้องการ แต่เราสามารถรักและยอมรับตัวเราเองได้ ถ้าวันนี้เรายังไม่พร้อมรักตัวเอง ไม่จำเป็นต้องฝืน ค่อยๆ หาจุดดีของตัวเรา ค่อยๆ หาสิ่งที่เราสบายใจที่จะทำและสิ่งที่เราอยากจะเป็น การลงมือทำ คือ คำตอบของการเพิ่มความรักให้กับตัวเราเอง ยิ่งเราทำอะไรเพื่อตัวเรา เราจะค่อยรับรู้ถึงคุณค่าที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
ขั้นสุดท้ายเราอาจจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ คือ การบอกความรู้สึกของเราออกไปให้พ่อแม่ได้รับรู้
ถ้ามีโอกาสพูดคุยกับพ่อแม่ของเราอย่าตรงไปตรงมา ลองบอกความรู้สึกที่เรามีให้พ่อแม่เราได้รับรู้ ถึงแม้ผลที่ออกมา คือ พ่อแม่ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธ อย่างน้อยๆ เราได้บอกสิ่งที่เรารู้สึกออกไป เราจะได้ไม่รู้สึกค้างคาใจ ที่สำคัญวันนี้พ่อแม่อาจจะไม่ยอมรับ แต่อย่างน้อยเขาได้รับรู้แล้วว่าเรารู้สึกอย่างไร
บางครั้งการยอมรับต้องใช้เวลาในการตกตะกอนทางความคิด เพราะไม่ใช่แค่เพียงพ่อแม่ต้องยอมรับสิ่งที่เราบอกเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องยอมรับในตัวเองด้วยว่า ตัวพวกเขาเป็นเช่นนั้น และเคย (หรือกำลัง) ทำเช่นนั้นกับเราอยู่
ทางเลือกสุดท้าย ในกรณีที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การออกมาจากสภาพแวดล้อมที่ทำร้ายเราอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และเราไม่ควรรู้สึกผิดที่ตัวเราปกป้องตัวเองในวันนี้
ไม่ว่าจะเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ก็ตาม ทุกคนต่างต้องการความรักและความสนใจอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่
ดังนั้น พ่อแม่ทุกคนควรเข้าใจข้อเท็จจริงเหล่านี้…
ข้อที่ 1 ยอมรับลูกในแบบที่ลูกเป็น
เด็กแต่ละคนเกิดมาแตกต่างกัน แม้เขาจะเป็นลูกของเราทุกคน แต่ลูกแต่ละคนก็เกิดมาเป็นตัวเขาเอง ดังนั้น เราควรยอมรับลูกในแบบที่เขาเป็น เขาไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เพราะลูกสามารถเป็นตัวเขาในแบบฉบับที่ดีที่สุดได้
ข้อที่ 2 ไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับพี่น้องหรือเด็กคนอื่น
ตัวอย่างคำพูดเชิงเปรียบเทียบที่มักทำร้ายเด็กเสมอ
“ดูพี่ของลูกสิ ทำไมพี่เขาถึงทำได้”
“ทำไมไม่ทำตัวให้ว่าง่ายเหมือนน้องบ้าง”
“ทำไมชอบทำตัวแปลกแยกจากพี่น้องคนอื่น” เป็นต้น
หรือแม้กระทั่งการให้คำชมลูกไม่เท่ากัน พ่อแม่อาจจะมีการชื่นชมลูกคนใดคนหนึ่งมากเป็นพิเศษก็สามารถทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีได้เช่นกัน เช่น “พี่ของลูกเก่งอย่างนั้นอย่างนี้” หรือ “น้องของลูกทำอันนี้ดีมากเลย ดูสิ”
แม้ว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หากพ่อแม่ทำกับเราเช่นนี้ บางครั้งตัวเราเองยังแอบเก็บมาน้อยใจลึกๆ เลย ถ้าเป็นเด็ก เขาจะรู้สึกขนาดไหน แม้เด็กจะไม่ได้พูดออกมาก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รับรู้ หรือไม่รู้สึกสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การมอบความรักและการมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ลูกแต่ละคนเป็น
ข้อที่ 3 ไม่ทำให้ลูกอับอายต่อหน้าพี่น้องหรือเด็กคนอื่น
แม้ว่าเราจะถือคติว่า “ทำโทษเด็กอีกคนเพื่อให้เด็กอีกคนไม่ทำตาม” ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อสภาพจิตใจของคนถูกต่อว่านั้นแก้ไขไม่ได้ เขาจะรู้สึกแย่ต่อตนเอง และอับอายที่ถูกตำหนิต่อหน้าพี่น้องของตน
เวลาเด็กทำผิด พ่อแม่ควรพาลูกออกสอนตัวต่อตัว ในพื้นที่สงบและปลอดภัยทางกายใจ เพราะสำหรับเด็กแล้ว เขาต้องการการยอมรับและช่วยเหลือเพื่อเรียนรู้ว่าสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ควรทำคืออะไร ไม่ใช่การลงโทษและการทำให้อับอาย
ข้อที่ 4 เคารพในตัวลูกแต่ละคน
เริ่มต้นง่ายๆ จากเคารพการตัดสินใจ ในการแบ่งหรือไม่แบ่งปันของของเขา
ถ้าเราซื้อของอะไรให้ลูกแต่ละคน แล้วบอกว่า “นั่นคือของของเขา” นั่นแปลว่า ถ้าพี่หรือน้องมาแย่งของเขาไปเล่น อย่าบอกเจ้าของว่า “ให้แบ่งปัน ยอมๆ พี่หรือน้องบ้าง” เพราะเขาจะรู้สึกว่าไม่มีของของเขาที่แท้จริง ถ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งเด็กจะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถรักษาสิทธิ์ที่ตนพึงได้รับได้ ตนเองต้องยอมพ่อแม่และพี่น้อง เขาจะท้อจนไม่อยากปกป้องสิทธิ์ของตนเองอีก ใครจะขอ ใครจะทำอะไร เขาจะยอมๆ ไป (แม้ใจไม่อยากก็ตาม)
หรือเด็กบางคนจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ เขาจะหวงของมาก เขาจะแอบเล่นของชิ้นนั้นเพื่อไม่ให้ ใครมาแย่งของของเขาไป ที่สำคัญเขาจะมองว่าผู้ใหญ่ คือ ศัตรูของเขาในเรื่องนี้ เพราะพ่อแม่เป็นคนบังคับให้เขาต้องแบ่งของของเขาให้พี่น้องคนอื่น
การแบ่งปัน ขอให้รอเวลาอันสมควร และเกิดจากการที่เด็กพร้อมและอยากให้ด้วยตัวเขาเองจะดีกว่ามาก
ข้อที่ 5 พี่น้องทุกคนควรได้รับการมอบหมายหน้าที่
ในกรณีที่เด็กโตพอแล้ว ช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐานได้ เวลาเรามอบหมายงานให้เด็ก เราควรให้งานที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน เช่น คนน้องช่วยเช็ดโต๊ะ คนกลางช่วยเช็ดพื้น คนโตช่วยล้างจาน ให้เราเลือกงานให้เหมาะสมกับวัยของเขา ให้เขาช่วยทำงานคนละอย่าง หรือจะผลัดกันทำก็ได้
เราควรสร้างค่านิยมให้กับพี่น้องใหม่ว่า ‘ทำในสิ่งที่ตนทำได้ ช่วยกันคนละนิด ทำกันคนละอย่าง’ นั่น คือสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่มีใครควรจะแบกรับภาระหน้าที่ไว้แค่เพียงคนเดียว ใครพร้อมมากกว่าควรช่วยในสิ่งที่ตนทำได้ ใครพร้อมน้อยกว่าก็ช่วยในสิ่งที่ตนทำได้เช่นกัน
สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นลูกคนกลาง ลูกคนโต ลูกคนเล็ก พวกเขาต่างต้องการความรัก ความสนใจ และ การยอมรับจากพ่อแม่ไม่แตกต่างกัน พ่อแม่อย่าลืมโอบกอดพวกเขาทุกคนด้วยความรักและรักเขาใน แบบที่พวกเขาเป็น
อ้างอิง
Adler, A. (1973). How position in the family constellation influences life-style. International Journal of jndividual Psychology 3, 211-227