- การที่พ่อแม่คาดหวังจะมีภาพครอบครัวที่ดี ให้ลูกมีชีวิตที่ดี มีอนาคตที่ดี ส่วนลูกคาดหวังบทบาทความเป็นพ่อแม่ ว่าจะดูแลทั้งกายภาพและตอบสนองด้านจิตใจด้วยเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ แต่หลายครั้งอาจจะมองมาจากมุมของตนเอง และขาดความเข้าใจถึงประสบการณ์และข้อจำกัดของอีกฝ่าย
- จุดที่ต้องระวังคือ บางทีพ่อแม่ตัดสินใจแทนเพราะรักลูก กลัวลูกผิดหวัง แต่ความผิดหวังเป็นอนาคตที่เราไม่รู้ และผิดหวังไม่ใช่ไม่ดี เด็กหลายคนเรียนรู้ได้ดีมากจากความผิดพลาดของตัวเอง ถ้าไม่ปล่อยให้ลูกตัดสินใจเองเลย สุดท้ายลูกอาจจะโทษพ่อแม่ด้วย ว่าที่ชีวิตไม่โอเคเพราะพ่อแม่เลือกให้
- คลี่คลายข้อสงสัยในหลายแง่มุมของสารพัดเรื่องในบ้าน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของปัญหา สู่การประคับประคองความสัมพันธ์ให้ไปกันต่อได้ กับ หมอโบว์ – พญ.วินิทรา แก้วพิลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ในยุค 4G ที่พ่อแม่ กับลูกๆ ดูจะคุยกันคนละภาษา การมี ‘ครอบครัวแสนสุข’ ดูจะเป็นเรื่องห่างไกลเหลือเกินสำหรับหลายบ้าน ลูกบอกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ส่วนพ่อแม่ก็แสนจะเหนื่อยล้ากับลูกที่เถียงคำไม่ตกฟาก บ้านกลายเป็นสนามอารมณ์
แค่ไหนที่จะบอกว่าได้ว่าครอบครัวของเรายังเป็นปกติดี หรือจุดไหนที่ไม่ควรเดินหน้าต่อ ครอบครัวที่ดีของยุคนี้ควรเป็นอย่างไร ลูกต้องเป็นเด็กดีเชื่อฟังเหมือนเพลงบัลลังก์เมฆไหม หรือต้องรู้สึกเปี่ยมสุขเหมือนเพลงอิ่มอุ่นในงานวันแม่ หรือทุกปัญหาควรคลี่คลายแบบขำปนอย่างในซิทคอมฟีลกู้ด หรือชีวิตจริงนั้นจะยิ่งกว่าละคร ชวน ถาม-ตอบ กับ หมอโบว์ – พญ.วินิทรา แก้วพิลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คลี่คลายข้อสงสัยในหลายแง่มุมของสารพัดเรื่องในบ้าน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของปัญหา สู่การประคับประคองความสัมพันธ์ให้ไปกันต่อได้
ทุกวันนี้หลายครอบครัวรู้สึกว่าเข้าใจกันน้อยลงทุกที ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เริ่มแรกคิดว่าเราคงไม่สามารถไปสรุปสำหรับครอบครัวไหนได้ว่าเขาเข้าใจกันแค่ไหน เพราะแต่ละครอบครัวก็มีบริบทที่มีความเฉพาะตัวอยู่ แม้ว่าความเข้าใจจากครอบครัวเป็นอาหารใจสำคัญสำหรับทุกคน แต่ปัญหาคือ แทบทุกคนอยากได้ความเข้าใจจากคนอื่น แต่อาจจะยากกว่าที่เราจะมอบความเข้าใจให้คนอื่นก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในครอบครัวด้วยกันเอง เพราะยิ่งเป็นคนใกล้ตัวก็ยิ่งทำให้มีอารมณ์เยอะ มีเดิมพันและผลกระทบเยอะ หลายครั้งเราจึงออกไปหาความเข้าใจจากภายนอก
ในยุคนี้ไม่ว่าจะคนวัยไหนก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ รวมไปถึงตอบสนองความต้องการ ‘ความเข้าใจ’ ก็ได้ด้วย ในทุกแพลทฟอร์มเราสามารถหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดเห็นของตัวเองได้มากขึ้น ยิ่งทำให้ยึดมั่นในความคิดของตนเอง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนที่เห็นต่างรุนแรงขึ้นอีก
นอกจากนี้ การรับข้อมูลข่าวสารจากภายนอกมากๆ ก็จะเกิดมุมมองการให้คุณค่า มีการเปรียบเทียบว่าชีวิตที่ดี ที่สำเร็จเป็นยังไง ครอบครัวที่ดีเป็นยังไง ลูกควรเป็นอย่างไร พ่อแม่ควรเป็นอย่างไร มีการสร้างอุดมคติของตัวเองและนำมาเปรียบเทียบกับชีวิต กลายเป็นความขาด ความไม่พึงพอใจในชีวิต ในตัวเอง หรือในครอบครัวได้
การที่พ่อแม่คาดหวังจะมีภาพครอบครัวที่ดี ให้ลูกมีชีวิตที่ดี ดูแลตัวเองได้ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัว เรื่องการเรียนและอนาคต ส่วนลูกคาดหวังบทบาทความเป็นพ่อแม่ ว่าจะดูแลทั้งกายภาพและตอบสนองด้านจิตใจด้วยเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ แต่หลายครั้งอาจจะมองมาจากมุมของตนเอง และขาดความเข้าใจถึงประสบการณ์และข้อจำกัดของอีกฝ่าย
ความคาดหวังและกังวลของพ่อแม่ต่ออนาคตของลูก อาจมาบดบังความต้องการจำเป็นของลูกในปัจจุบัน ความคาดหวังและต้องการของลูก ก็อาจมาจากความไม่เข้าใจถึงภาระความรับผิดชอบ ข้อจำกัดและความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ผิดพลาดได้ของพ่อแม่ ตัวอย่างเช่น ลูกอาจบอกว่า พ่อแม่ไม่รัก ไม่ใส่ใจ ซึ่งในมุมของลูก ใส่ใจ เข้าใจ กับตามใจ อาจจะดูแยกออกจากกันได้ยาก คือ ถ้าไม่ให้ในสิ่งที่อยากได้ คือเขาไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจ ไม่รักเรา เป็นต้น
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยคิดว่ารู้จักลูกดีที่สุด อยู่มาวันหนึ่ง รู้สึกเหมือนลูกกลายเป็นเหมือนคนแปลกหน้า
พ่อแม่มักจะคาดหวังว่าตนเองจะรู้จักและเข้าใจลูกได้ดีที่สุด แต่ในความจริงอาจไม่ง่ายแบบนั้น แม้ในครอบครัวที่ไม่ได้มีความขัดแย้งหรือปัญหามากมาย เพราะการที่อยู่ใกล้กันและมีบทบาทต่อกันมาก แคร์ต่อความรู้สึกและความคิดเห็นของกันและกันมาก ก็อาจทำให้ลูกไม่เปิดเผยบางด้านให้พ่อแม่รับรู้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะเราทุกคนก็มีส่วนที่ไม่อยากให้ใครรู้ และการเปิดเผยทุกเรื่องก็อาจไม่ใช่เรื่องดี หรือบางทีลูกเปิดเผยแล้ว แต่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นใจ หรือ ไม่ยอมรับ ผลที่ตามมาเลยอาจทำให้ลูกลังเลที่จะเปิดเผยอีก ทำให้ไม่ได้รู้จักตัวตนของลูกจริงๆ เวลาผ่านไป รู้ตัวอีกทีเหมือนเราไม่รู้จักเค้าแล้ว
การได้รับรู้ว่าเราถูกยอมรับจากพ่อแม่ เป็นอาหารใจที่สำคัญมาก ถ้าขาดอาหารใจนี้ เด็กๆ จะรู้สึกรักตัวเองได้ยาก จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีใคร โดดเดี่ยว แม้บางคนจะเรียนหนังสือได้ ใช้ชีวิตได้ แต่ข้างในมันว่างเปล่า
ตัวอย่างปัญหาคลาสสิกของพ่อแม่เลยคือ ลูกติดเกม เล่นโทรศัพท์มือถือกลางคืนแล้วนอนดึก พ่อแม่ก็จะพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม ห้ามบ้าง ยึดบ้าง ทะเลาะกัน ร้องไห้บ้าง โดยที่อาจจะไม่เข้าใจว่า สำหรับลูก การเล่นเกมอาจจะหมายถึงการมีสังคม มีเพื่อน มีอีกชีวิตที่มีความสุข บางทีเด็กก็คุยงานไปเล่นเกมไป บางทีก็ปรับทุกข์ คุยเรื่องชีวิต เหมือนมีคนมารับฟัง เป็นอาหารใจของเขา บางคนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเพื่อน เป็นความสัมพันธ์ที่มีความหมาย เพื่อนในโรงเรียนไม่มีก็อาจจะเป็นเพื่อนออนไลน์ อยู่คนละซีกโลกกัน แต่ซัพพอร์ทจิตใจเขาได้ ซึ่งสำคัญมาก นี่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องตามใจปล่อยให้เขาเล่นเท่าไหร่ก็ได้ แต่ก็ต้องสื่อสารด้วยความเข้าใจเขา และสื่อสารสิ่งที่เราห่วงใยและให้ความสำคัญ เช่น การเรียน สุขภาพและการพักผ่อน เป็นต้น
สิ่งที่พบบ่อยก็คือ ในสายตาพ่อแม่ ลูกทำอะไรก็ดูจะไม่ใช่ไม่ควรไปเสียหมด เพราะอะไร
ถ้าลูกทำอะไรที่เราไม่เห็นด้วย อาจต้องมองดูว่าทำไมลูกถึงทำแบบนั้น ถ้ามุ่งแต่จะดุ จะบ่น จะแก้ไขลูก เราจะขาดการเชื่อมโยงทางอารมณ์ และความสัมพันธ์กับลูก พ่อแม่อาจคิดว่า ตัวเองรู้ดีกว่า เคยผ่านมาก่อน เคยเจอมาแล้ว แต่ถึงบอกแบบนั้นไปลูกก็ไม่ได้ทำตาม เพราะเด็กไม่รู้สึกว่าพ่อแม่ยอมรับหรือรับฟังเขา โดยทั่วไปเราบังคับให้ใครเปลี่ยนตัวตนไม่ได้ ตัวเขาจะต้องเปลี่ยนแปลงเพราะอยากเปลี่ยนเองจึงจะยั่งยืน ไม่งั้นเราก็ต้องทำหน้าที่เหมือนตำรวจคอยตรวจจับบังคับใช้กฎไปในแต่ละวัน
พ่อแม่อาจจะลองถอยกลับมาสักก้าว ลองนึกดูว่า เรากำลังห่วงเรื่องอะไร ที่เราดุว่าหรือห้ามลูก ความต้องการและความรู้สึกจริงๆ ของเราคืออะไร กลัวไม่ทำการบ้าน กลัวใช้ชีวิตในสังคมไม่ได้ หรืออะไร พอเข้าใจความรู้สึกตัวเอง แล้วค่อยคุยกับลูก ว่าอาจจะไม่ได้ต้องการให้ลูกหยุดเล่นเกม ณ เวลานั้น แต่ต้องการมั่นใจว่าลูกปลอดภัย และรับผิดชอบการเรียนของตัวเองได้ เปิดโอกาสให้ลูกได้อธิบาย รับฟังและปรับเข้าหากัน ถ้าลูกคะแนนดี ดูแลตัวเองได้ เราอาจจะปล่อยให้เล่น แต่ขอให้นอนตรงเวลา ให้ลงมากินข้าวกับที่บ้านบ้าง เป็นเรื่องที่คุยกันได้
พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกได้พบเจอแต่สิ่งดีๆ ความคิดแบบนี้มีจุดที่ต้องระวังหรือไม่
บางทีพ่อแม่ตัดสินใจแทนเพราะรักลูก กลัวลูกผิดหวัง แต่ความผิดหวังเป็นอนาคตที่เราไม่รู้ และผิดหวังก็ไม่ใช่ไม่ดี ผิดหวังคือได้เรียนรู้ ได้มีกระบวนการลงมือทำอะไรบางอย่าง ได้เลือก ได้ตัดสินใจ และมีผลลัพธ์กลับมาจากการที่ลูกลงมือทำเอง ซึ่งสำคัญสำหรับเด็กมาก ถ้าเขาทำสำเร็จจะยิ่งต่อยอดให้อยากทำมากขึ้น กล้ามากขึ้น
ถ้าเราไม่เห็นด้วย อาจลองพูดคุยและรับฟัง อาจให้ความเห็นว่าเราห่วงอะไร ต้องสังเกตเด็กแต่ละคน ว่าควรปล่อยได้แค่ไหน จะให้กระโจนลงไปเลยไหมหรือค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจขอรับเรื่องไว้ก่อนแต่ขอขยายเวลาไปอีกนิด หรือหาวิธีที่ปลอดภัยเป็นทางเลือกให้ลูก เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ถ้าลูกล้มเหลว เราก็มาช่วยลูกวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น ลองคุยกันว่าถ้าเลือกใหม่ได้จะทำแบบไหน และป้องกันความผิดพลาดได้อย่างไร ให้ความเสียหายอยู่ในขอบเขตที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ ไม่เจ็บมากเกินไป และไม่ซ้ำเติม แต่ให้ ‘รู้สึกร่วม’ ไปกับเขาด้วย
เด็กหลายคนเรียนรู้ได้ดีมากจากความผิดพลาดของตัวเอง ถ้าไม่ปล่อยให้ลูกตัดสินใจเองเลย สุดท้ายลูกอาจจะโทษพ่อแม่ด้วย ว่าที่ชีวิตไม่โอเคเพราะพ่อแม่เลือกให้
อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพ่อแม่ที่จะตัดสินใจว่าแค่ไหนคือความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ที่ยกตัวอย่างคือเรื่องเล่นเกม หรือเรื่องความชอบของลูก ในชีวิตจริงอาจมีเรื่องอื่นอีกมากที่ตัดสินใจได้ยาก เช่น เรื่องความปลอดภัย ความปลอดภัยในร่างกายหรือด้านสุขภาพ ซึ่งต่างไปแต่ละครอบครัว บางทีพ่อแม่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ตัดสินใจไปแล้วก็อาจยังไม่แน่ใจว่าคิดถูกหรือคิดผิด
ตรงนี้อยากให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ทุกคนว่า ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่สมบูรณ์แบบได้คะแนนเต็มร้อยในทุกเรื่อง แต่สิ่งที่พ่อแม่เรียนรู้ได้ในแต่ละขณะ คือ การใคร่ครวญอย่างมีสติ รับฟังปัญหา แล้วรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของลูกและของตัวเอง ฝึกฝนการสื่อสารออกไปว่าอะไรที่สำคัญ เช่น เรื่องอิสรภาพสำคัญนะ แต่จุดนี้ความปลอดภัยสำคัญกว่า รับรู้ว่าลูกอาจจะไม่เห็นด้วย แต่บางครั้งต้องขอใช้อำนาจในการห้ามลูก เพราะตอนนี้ลูกยังเป็นเยาวชน เรายังเป็นคนตัดสินใจแทนลูกอยู่ แต่ถ้าวันหนึ่งลูกโตแล้ว เราก็จะสนับสนุนในสิ่งที่ลูกเลือกตัดสินใจ
บางปัญหาก็แสนจะยากสำหรับคนเป็นพ่อแม่ อีกวิธีคือการพยายามมองปัญหาเป็นสองด้านทั้งบวกและลบ แทนที่จะมองแต่เรื่องลบๆ และอยากจะไปแก้มันให้หาย เช่น ลูกอยากตาย ต้องไปห้ามไม่ให้ฆ่าตัวตาย คอยจับตาดูตลอดเวลา อาจจะปรับโดยลองดูว่าปัญหาของลูกคืออะไร ทำยังไงให้ลูกมีความสุขกับชีวิต หรือกับเด็กที่มีความเสี่ยงหรือพฤติกรรมปัญหา เขามีด้านดีอะไรบ้างที่เราเห็น ซึ่งการทำให้ลูกรู้สึกว่ามีคนเข้าใจนั้นสำคัญมาก เพราะการตัดสินใจพลาดไปมันกลับมาแก้ไขได้ จะสอบตก เอนท์ไม่ติด ท้องไม่พร้อม หรืออะไรก็แล้วแต่ เรากลับมามีชีวิตที่ดีได้ แต่คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวไม่เหลือใครในชีวิต อาจจะนำไปสู่โรคซึมเศร้า อาจจะคิดเรื่องตาย หรือทำอะไรที่เป็นโทษกับตัวเองหรือคนอื่นด้วย
ตกลงว่าสำหรับครอบครัว สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออะไร
สัมพันธภาพในครอบครัวสำคัญมาก เพราะเป็นรากฐานของทุกอย่าง เราห่วงใยกัน เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่พึ่งพิงให้กัน ก็จะทำให้ความสุขในครอบครัวเกิดขึ้นได้
เพราะความคิดเห็นกับพฤติกรรมเปลี่ยนได้ และเราก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง บางเรื่องที่คิดว่าดี ในอนาคตอาจจะไม่จริงก็ได้ เช่น บางอาชีพที่เคยประสบความสำเร็จ ก็อาจจะพลิกเลย เวลาคุยกับพ่อแม่จะบอกว่า ความขัดแย้งมันเกิดขึ้นได้เป็นธรรมชาติ ยังไงก็ต้องมีสู้รบกันบ้าง ถ้ารบไม่ต้องชนะทุกสนาม แต่อยากให้ชนะสงคราม คือเรื่องของใจและความผูกพัน เพราะในครอบครัวจะมีเรื่องความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ เยอะมาก มีหลายสนามรบ ถ้าอยากเอาชนะมากๆ ถึงจุดหนึ่งจะพบว่า ลูกอยู่กับเราแต่ตัว แต่ใจเขาไปแล้ว คือความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เสียไปแล้วและกู้กลับมาไม่ง่าย
ถ้าบ้านที่ไม่รักกันแล้ว จะยังมีหวังที่จะกลับมาประสานรอยร้าวได้หรือไม่
รอยร้าวก็มีหลากหลายระดับ อยากให้ความหวังทุกคนว่าความรักประสานได้ทุกอย่าง สำหรับเราถ้าจะเข้าไปช่วย คงพยายามหาว่า ยังคงมีต้นอ่อนของความรู้สึกดีๆ อะไรบางอย่างบ้างไหม ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มี และแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจจะถามถึงการเติบโตขึ้นมา การเลี้ยงดูที่ผ่านมา ลูกยังรักพ่อแม่ไหม เห็นอะไรดีๆ ในตัวพ่อแม่บ้างหรือเปล่า เวลาพ่อแม่ว่าหรือคาดหวัง รู้สึกยังไง กลัวไหม รู้สึกผิดไหม
หลายครั้งถ้าฟังแล้วจะรับรู้ได้ว่ายังมีความปรารถนาดีอยู่ตรงนั้น ที่ทำให้เรามีหวังที่จะสานต่อไปได้ แต่ถ้าไม่มีเลย เราก็รับฟัง แล้วก็ช่วยแก้ปัญหาที่เขากังวลก่อน แล้วมีอะไรเข้ามาก็ค่อยๆ ต่อไป ซึ่งเวลาผ่านไป เมื่อเขาเปิดใจมากขึ้น มีความสุขขึ้น หรือโตขึ้น เขาก็จะเริ่มมองเห็นเอง บางคนก็ไปดูหนังไปอ่านหนังสือ ไปคุยกับคนอื่นแล้วความคิดก็เปลี่ยน
แต่ถ้าสำหรับความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีรอยรอยร้าวลึกมากๆ จนอาจจะไม่รู้สึกว่ามีความรักเหลืออยู่อีกแล้ว ก็จะไม่แนะนำให้ต้องไปสอนหรือยัดเยียดให้ลูก ต้องกตัญญูนะ ต้องรักพ่อรักแม่ หรือยกเรื่องบาปบุณคุณโทษ เพราะเรื่องนี้มันบังคับกันไม่ได้และมันอาจไม่สอดรับกับความเป็นจริง บางคนที่เขาถูกทำร้ายจริงๆ จากครอบครัวจนในใจมันปิดไปแล้ว บางคนอาจจะรู้ตัวอีกทีตอนอายุมากแล้ว จึงได้มาคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ก็ยังมีโอกาสได้
ฟังดูคล้ายกับว่าครอบครัวอบอุ่นแบบที่เห็นกันในสื่อ อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกบ้าน
ครอบครัวจำนวนมากอาจมีหลายปัญหารุมเร้า ตัวพ่อแม่เองก็อาจจะเติบโตมาอย่างยากลำบากและมีข้อจำกัดมากมาย ผนวกไปกับปัญหาสังคมที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม ทั้งความไม่มั่นคงด้านสังคม หรือเศรษฐกิจ ประกอบกับความเครียดของเด็กยุคใหม่ ที่ต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อประกอบสร้างตัวตนของตัวเองในโลกที่ทุกอย่างหมุนไปเร็วมาก ที่พูดมาทั้งหมดนี้อาจดูเหมือนมองโลกในแง่ร้ายไปสักหน่อย
อาจจะฟังดูโลกสวยถ้าจะบอกว่าทุกบ้านยังมีหวังที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีและเติมเต็มหัวใจได้ อยากให้เปิดกว้างกับรูปแบบความสัมพันธ์มากมายที่เป็นไปได้ โดยไม่ต้องไปยึดติด แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ เราต้องเคารพการเลือก การตัดสินใจของคน เคารพความเป็นจริงว่าไม่ใช่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแบบครอบครัวอุดมคติ
บางบ้านอยู่ห่างๆ กันไปเลย ก็อาจจะดีกับชีวิตของทั้งคู่มากกว่า เชื่อว่าทุกคนสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีได้ตามแบบฉบับของตัวเอง