- ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เด็กรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับการก้าวเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 วงเสวนา “Unspeakable Voice เรื่องในใจที่พ่อแม่ไม่เคยรู้” จะพาเราไปฟังเสียงของเด็กๆ ถึงความในใจที่พวกเขาอยากให้ผู้ใหญ่ได้ยินไปจนถึงการรับมือกับศตวรรษที่ 21 ที่กำลังจะมาถึง
- เรื่องราวที่นำมาแชร์ในวงสนทนามีตั้งแต่ปัญหาการถูกตัดสินจากภาพลักษณ์ภายนอก พื้นที่อิสระสำหรับแสดงตัวตน หน่วยสนับสนุนหลักของลูกคือพ่อแม่ รวมไปถึงทักษะสำหรับรับมือกับศตวรรษที่ 21 และมุมมองอาชีพที่เปลี่ยนไป
ภาพ: Flock Learning
“ใส่แว่นแบบนี้ต้องเรียนเก่งมากๆ เลยใช่ไหม”
หลายๆ คนคงเคยเจอกับการถูกตัดสินไปแล้วเพียงเพราะแค่เห็นภาพลักษณ์ภายนอก ใส่แว่นต้องเป็นเด็กเรียนเก่ง คนๆ นั้นก็จะถูกคาดหวังว่าต้องเรียนเก่งมาก สร้างความกดดันให้กับพวกเขา เด็กก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกตัดสินจากภายลักษณ์ ทั้งจากคนในครอบครัวหรือคนนอก การถูกตีตราทำให้เสียงของเด็กส่งไปไม่ถึงผู้ใหญ่ เพราะเขาถูกตัดสินไปแล้วและไม่มีโอกาสได้พูดถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ
วงเสวนา Unspeakable Voice เรื่องในใจที่พ่อแม่ไม่เคยรู้ จัดโดย BASE Playhouse ภายในงาน Parent Relearn Festival ณ มิวเซียมสยาม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา จะพาเราไปฟัง ‘เสียง’ ที่ไม่ค่อยได้พูดของเด็กรุ่นใหม่ ที่อยากจะบอกเล่าความในใจถึงปัญหาการถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก การเตรียมตัวรับมือกับศตวรรษที่ 21 และสิ่งที่พวกเขาต้องการ คือ พื้นที่อิสระที่จะได้แสดงความเป็นตัวเองออกมาพร้อมกับได้รับการยอมรับตัวตนจากครอบครัว
สมาชิกในวงเสวนาที่จะออกมาส่งเสียงให้ผู้ใหญ่ได้ยิน เป็นเหล่าน้องๆ BASE Ambassador ตัวแทนจาก BASE Playhouse พื้นที่ฝึกทักษะในศตวรรษที่ 21 สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ได้แก่
- โดม ชยธร มูลพันธ์ มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 สายศิลป์ภาษาจีน โรงเรียนกสิณธรเซนต์ปีเตอร์
- นายน้อย ยิ่งศักดิ์ เหลืองมณีเวชย์ นักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ
- แบมแบม ศุภรดา ทองประสิทธิ์ นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- แพรว ณิชชา เจตนานนท์ นักศึกษาสาขาวิชาการบัญชีบริหาร คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
ถูกตัดสินจากลักษณะภายนอก ทำให้ส่งเสียงไปไม่ถึงผู้ใหญ่
เสียงแรกที่ส่งมาถึงเป็นเสียงของโดม เขาเริ่มต้นด้วยการให้ผู้ฟังหลับตาพร้อมกับบรรยายลักษณะของผู้ชายคนหนึ่งที่สูง ผอม ใส่แว่น ให้คนฟังลองจิตนาการว่าผู้ชายคนนั้นเป็นคนยังไง จากนั้นโดมก็ให้ทุกคนลืมตาและเฉลยว่าผู้ชายคนนั้นคือตัวเขาเอง
โดมเล่าต่อว่า ด้วยลักษณะภายนอกของเขาทำให้ถูกคนเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้งว่าเขาเป็นเด็กเรียน เด็กที่วันๆ เอาแต่อ่านหนังสือ ไม่ออกไปเล่นข้างนอก ซึ่งคนที่เข้าใจผิดมีทั้งคนภายนอกและคนในครอบครัวเขาเองที่ไม่ใช่พ่อแม่ โดมบอกเขาไม่ใช่เด็กเรียน แค่เป็นคนชอบเรียนเฉยๆ การถูกตัดสินด้วยรูปลักษณ์ภายนอกนำไปสู่ปัญหาเสียงที่ไม่ได้ยินของเด็ก เพราะเขาถูกตัดสินไปแล้วและไม่มีโอกาสได้พูดถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ และถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็จะนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรง เช่น การฆ่าตัวตาย หนีออกจากบ้าน
โดมยกเอาสถิติเด็กที่หนีออกจากบ้านของมูลนิธิกระจกเงามาเล่าให้ฟัง ในสถิติรายงานว่า ในจำนวนเด็กที่หนีออกจากบ้าน 300 คนนั้น ร้อยละ 77 สมัครใจหนีออกมาเองเพราะอยู่บ้านแล้วไม่มีความสุข
เมื่อพูดอะไรไปแล้วไม่มีคนฟังหรือถูกตัดสินไปก่อน สุดท้ายเด็กเลือกที่จะเงียบ ปิดตัวจากครอบครัวและสังคมเพื่อไม่ให้ตัวเองเจ็บปวด โดมบอกว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้ พ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย อยากเล่าเรื่องราวให้ฟัง ทำให้ลูกรู้สึกว่ามีตัวตน ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้สภาพแวดล้อมต้องเอื้ออำนวย พ่อแม่เปิดใจรับฟังลูก ไม่ตัดสินหรือมีอคติไปก่อน ให้โอกาสลูกในการตัดสินใจชีวิตของเขา โดมยกตัวอย่างเรื่องของตัวเองว่า เขากล้าที่จะพูดทุกเรื่องกับแม่เพราะเขารู้สึกว่าแม่เป็นเพื่อนสนิทของเขา แม่สนใจกิจกรรมที่เขาทำ สนใจที่จะฟังทุกเรื่องที่เขาเล่า มันทำให้เขารู้สึกปลอดภัยที่จะแชร์ความรู้สึก แชร์ปัญหาที่เจอให้พ่อแม่ฟัง
“ตอนเลือกโรงเรียนแม่ให้โดมเป็นคนตัดสินใจ แม่บอกโรงเรียนที่ดีที่สุดของโดมคือโรงเรียนที่โดมชอบมากที่สุด โรงเรียนที่โดมคิดว่าเหมาะสมกับตัวเอง” โดมกล่าว
การให้พื้นที่อิสระ: พ่อแม่หน่วยสนับสนุนหลักของลูก
นายน้อย เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่าการที่พ่อแม่เห็นลูกมีความสุขนั้น แท้ที่จริงแล้วลูกมีความสุขจริงๆ หรือเปล่า บางครั้งสิ่งที่ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กทำแล้วมีความสุข จริงๆ แล้วเขาทำไปเพื่อให้พ่อแม่หรือคนรอบข้างมีความสุข แต่ตัวของเด็กเองไม่ได้มีความสุขไปกับสิ่งนั้น มันอาจจะเป็นแค่ความสุขช่วงขณะหนึ่ง ไม่ใช่ความสุขตลอดชีวิตที่เด็กจะเผชิญ
“สิ่งที่น่ากลัว คือ ความชอบกับความถนัด สองสิ่งนี้ฟังๆ ดูอาจจะเหมือนกัน แต่ที่จริงแล้วมันแตกต่างกันมาก ความชอบหมายถึงสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข แต่ความถนัดเกิดจากที่เราฝึกฝนบ่อยๆ เราทำได้ การที่เราเล่นดนตรีเก่งไม่ได้แปลว่าเราชอบเล่นดนตรี” นายน้อยกล่าว
แบมแบม ยกประโยคหนึ่งขึ้นมาที่เธอคิดเอง คือ U R STOPP มีความหมายว่าการถูกห้าม อักษรแต่ละตัวในประโยคมีที่มาจากปัญหาที่เด็กต้องเผชิญ
- U มาจาก Underestimate การที่เด็กถูกผู้ใหญ่มองแบบกดดัน ไม่ได้เห็นสิ่งที่เขาเป็น
- R มาจาก Rough หรือ Rude ความรุนแรงที่เด็กต้องเผชิญ
- S มาจาก Scold การถูกด่าถูกว่า
- T มาจาก Threaten การถูกข่มขู่
- O มาจาก Overshadow เด็กถูกลดทอนความสำคัญ เมื่อพูดถึงความต้องการของตัวเอง แต่ถูกพ่อแม่บอกว่ามันแย่ไม่ดี
- P มาจาก Pressure ความกดดัน
- P มาจาก Problem ลูกถูกทำให้รู้สึกว่าเป็นปัญหาของครอบครัว เป็นปมด้อยของครอบครัว
การถูกขัดขวาง ถูกปฎิเสธ หรือห้ามทำอะไรจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ มันส่งผลกับเด็กทั้งด้านร่างกาย เช่น การถูกทุบตี ถูกทำร้ายร่างกาย และจิตใจตั้งแต่คำพูดดูถูกเหยียดหยาม คำด่า คำพูดบั่นทอนจิตใจ การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งมักจะเจอได้ในสังคมไทยที่พ่อแม่ใช้กับลูก
แบมแบมอธิบายต่อว่า เมื่อเด็กไม่ได้รับการสนับสนุนในสิ่งที่เขาอยากทำ ไม่ได้รับการมองเห็น ไม่ได้รับอิสระที่จะออกแบบชีวิตตัวเอง กลายเป็นปัญหาทำให้เขาไม่มีความสุขกับชีวิต ซึ่งถ้าพ่อแม่อยากแก้ไขแค่เปลี่ยน U R STOPP เป็น SUPPORT ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยกับพ่อแม่ พ่อแม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นและเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองสิ่งใหม่ๆ โดยที่พ่อแม่อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าสิ่งที่ลูกทำไม่ดี พ่อแม่อยู่เป็นหน่วยสนับสนุน
“พ่อแม่มองตัวเองว่าไม่อยากเป็น role model ให้กับลูก เพราะคนอื่นเก่งกว่าเยอะ ซึ่งพ่อแม่ทุกคนมี potential ที่จะทำให้ลูกเรามีความสุข แค่เราอยู่ข้างๆ ไม่ทิ้งลูกไปไหนก็เป็น role model แล้ว” แบมแบมกล่าว
นายน้อยกล่าวเสริมว่า การที่ลูกจะมีความสุขที่แท้จริงเขาต้องมีพื้นที่อิสระ พื้นที่ที่เขาจะได้ทำได้แสดงออกของความเป็นตัวเอง มีพ่อแม่เป็นหน่วยสนับสนุนเปิดพื้นที่ให้กับเขาและยอมรับสิ่งที่เขาเป็น การที่พ่อแม่ให้ลูกออกแบบดีไซน์ชีวิตของตัวเอง จะทำให้ลูกรู้สึกว่าชีวิตของเขามีความหมายมากขึ้น เพราะเป้าหมายในชีวิตเขาคือสิ่งที่เขาตั้งเอง ไม่ใช่คนอื่นยื่นหรือตั้งเป้าหมายให้
“คำว่าครอบครัว คำสั้นๆ แต่พูดแล้วมันให้ความรู้สึกหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือความอบอุ่น” นายน้อยกล่าว
การเตรียมพร้อมรับมือกับศตวรรษที่ 21 จากเสียงคนรุ่นใหม่
เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 พ่อแม่ถูกแนะนำว่าต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อช่วยลูก ในฝั่งลูกเองก็มีการเตรียมตัวในแบบฉบับของพวกเขา ซึ่งทั้ง 4 คนตอบตรงกันว่า ทักษะที่จำเป็นมากในยุคหน้า เป็นทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ปัจจุบันข้อมูลมีมากมายจนล้นทะลักออกมา แม้จะมีเทคโนโลยีที่คอยอำนวยความสะดวกสบาย รวมถึงการเข้าถึงที่ง่าย เด็กจำเป็นต้องมีทักษะในการคัดกรองข้อมูลอย่างมีสติและรู้เท่าทัน
เมื่อพูดถึงทักษะที่จำเป็นต้องมี เรื่องต่อมาคือการหาเลี้ยงชีพของเด็กๆ ในอนาคต ผลสำรวจอาชีพในฝันของเด็กไทย ปี 2562 โดยบริษัทจัดหางานอเด็คโก้ ไทยแลนด์ ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าอาชีพที่เด็กไทยสนใจมีทั้งอาชีพยอดนิยมดั้งเดิมอย่างหมอ ทหาร ครู รวมทั้งอาชีพเกิดใหม่อย่างนักแคสเกมที่ติดอันดับ 5 ผลสำรวจยังบอกอีกว่า เด็กไทยในยุคนี้มีความเป็น Digital Native คือ คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีมาตั้งแต่เกิด เป็นเครื่องมือหลักสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน
แพรวบอกว่า คำถามที่ถูกถามบ่อยตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ คือ ‘โตขึ้นอยากทำอาชีพอะไร’ เธอบอกว่าตอนเด็กๆ ไม่สามารถตอบได้ว่าอยากทำอะไร ได้แต่ตอบๆ ไปให้มันจบ แพรวเลยเกิดความคิดว่า ‘เราจำเป็นต้องตอบคำถามนั้นให้ได้ด้วยเหรอ’ โลกเปลี่ยนไปตลอด มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย อย่างในยุคนี้อาชีพใหม่ๆ ก็ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด เช่น ยูทูปเบอร์ นักแคสเกม เป็นต้น ตัวเด็กเองก็มีความคิดที่หลากหลายเราไม่สามารถตอบได้ทันทีว่าอยากเป็นอะไร เพราะกำลังเรียนรู้ค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ
นายน้อยกล่าวเสริมว่า วิธีแบบเก่าที่ผู้ใหญ่สอนว่าให้มีความรู้เยอะๆ ปัจจุบันอาจใช้ไม่ได้แล้วเพราะการใช้ชีวิตมันไม่ได้ใช้แค่ความรู้แต่ต้องใช้ทักษะ ทัศนคติ เช่น ถ้าเจอปัญหามีความรู้แต่ไม่มีทักษะก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ หรือมีทั้งความรู้ ทักษะ แต่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความคิดได้ก็ลำบาก
แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยน คือ เด็กยังคงต้องการพื้นที่อิสระ พื้นที่ที่เขาจะได้รู้ความต้องการของตัวเอง และสิทธิที่จะได้แสดงมันออกมา คนที่ช่วยพวกเขาได้ก็คือพ่อแม่ หน่วยสนับสนุนหลักของพวกเขา