- เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์เราจะกลัวการเปลี่ยนแปลง เด็กๆ ก็เช่นกัน พวกเขารู้สึกหวาดกลัว กังวลใจกับสิ่งที่เขาเผชิญเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น การกลับไปเรียนที่โรงเรียนหลังจากที่กักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน
- พ่อแม่มีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้เขารับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เริ่มจากทำให้เด็กๆ รู้ว่าตนเองสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองบ้าง เขาจะเรียนรู้ขอบเขตข้อจำกัดของตัวเอง ทำให้พวกเขารับรู้ว่าสามารถควบคุมและพึ่งพาตนเองได้
- ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด เด็กอาจจะรู้สึกว่าแต่ละวันช่างยาวนาน โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของ ‘เวลา’ หากที่บ้านมีปฏิทินที่สามารถให้เด็กๆ ดูจำนวนวันที่ผ่านไปได้ จะทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าพวกเขาต้องหยุดอยู่บ้านนานแค่ไหน และต้องรออีกจนถึงเมื่อไหร่ จึงจะกลับไปโรงเรียนได้อีกครั้ง
เรียนรู้การปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเด็กๆ
เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์เราจะกลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่เปลี่ยนไปทำให้เรารู้สึกไม่คุ้นเคย เราไม่มีทางรู้เลยว่า ความเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อชีวิตเรามากน้อยเพียงใด และยาวนานแค่ไหน
เด็กๆ ก็เช่นกัน พวกเขารู้สึกหวาดกลัว กังวลใจกับสิ่งที่เขาเผชิญเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น การกลับไปเรียนที่โรงเรียนหลังจากที่กักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน การต้องขึ้นชั้นเรียนใหม่ การต้องย้ายโรงเรียน การย้ายบ้าน บางสิ่งหายไป คนสูญเสียบุคคลที่รัก และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่จะทยอยเข้ามาในชีวิตของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราในฐานะพ่อแม่มีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้เขารับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
เด็กๆ ที่มีการปรับตัวกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดี เมื่อ…
1.เมื่อเด็กๆ รับรู้ความสามารถและข้อจำกัดของตนเอง
เด็กๆ ที่รู้ว่า ตนเองสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองบ้าง เขาจะเรียนรู้ขอบเขตข้อจำกัดของตัวเอง ทำให้พวกเขารับรู้ว่าตนเองสามารถควบคุมและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งความสามารถนี้จะเกิดขึ้นได้ หากเด็กคนนั้นได้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเองและทำงานตามวัยของเขา…
เริ่มจากการช่วยเหลือตัวเอง (Self care) เช่น กินข้าว อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน แต่งตัว ใส่รองเท้า หวีผม จัดกระเป๋า เป็นต้น
เมื่อดูแลตนเองได้ ก็ขยับขยายไปสู่การดูแลส่วนกลางด้วยการทำงานบ้าน เช่น รดน้ำต้นไม้ เช็ดโต๊ะ ล้างแก้วน้ำ กวาดบ้าน ถูบ้าน เป็นต้น
ข้อสำคัญ ผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสให้เด็กๆ ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง และให้การสอนผ่านการลงมือปฏิบัติไปกับลูก มากกว่าการทำให้เลยทันที
ผู้ใหญ่อาจจะต้องมีความอดทนเพียงพอ เพื่อรอให้เด็กทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพราะเด็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นฝึกช่วยเหลือตัวเอง พวกเขาอาจจะทำได้ไม่คล่องแคล่วเหมือนผู้ใหญ่ และผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรตระหนักถึงกระบวนการเรียนรู้เป็นสำคัญ ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ตรงใจ
2.เมื่อเด็กๆ มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และรู้จักขอความช่วยเหลือในยามจำเป็น
เด็กๆ ที่มีทักษะการเเก้ปัญหา จะไม่กลัวที่ออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะเขาจะไม่กลัวที่จะต้องเผชิญปัญหา
ซึ่งทักษะนี้จะเกิดขึ้นจากการที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ทำเป็นแบบอย่างให้เด็กดูเมื่อเจอปัญหา และเปิดโอกาสให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง โดยให้การแนะนำวิธีการ แต่ไม่ชี้นำหรือบังคับให้เขาทำตามที่เราต้องการ เด็กจะมีโอกาสได้คิด และตัดสินใจเอง
เมื่อเด็กๆ เผชิญปัญหา อย่ารีบบอกวิธีการแก้ให้กับพวกเขา ลองชวนเด็กๆ คิดถึงทางแก้หลายๆ ทาง และให้พวกเขาได้ตัดใจเลือกทางด้วยตัวเอง ถ้าเด็กๆ ตัดสินใจผิด ผู้ใหญ่ไม่ควรโกรธหรือลงโทษพวกเขา แต่ควรให้การเคียงข้างและช่วยเหลือด้วยการสอนวิธีการที่ถูกให้กับเด็กๆ
ที่สำคัญผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กๆ รู้ว่า เมื่อพยายามอย่างเต็มที่แล้ว เราทำสิ่งนั้นไม่ได้ด้วยตนเอง หรือ สิ่งที่เผชิญนั้นเกินกำลังของเรา การขอความช่วยเป็นทางเลือกที่ควรทำและทำได้ เพราะเด็กๆ บางคนอาจจะลืมนึกถึงการขอความช่วยเหลือในยามจำเป็น
3.เมื่อเด็กๆ มีความคิดยืดหยุ่น
เด็กที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และยินดีที่จะประนีประนอมกับความคิดที่ไม่เหมือนตนเอง จะสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้อย่างดี
พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถส่งเสริมเขาได้ด้วยการ ให้เด็กๆ เล่นอย่างอิสระกับของเล่น Free form ภายใต้กติกาที่เหมาะสม เช่น กฎ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของ เพื่อให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์การเล่นใหม่ๆ ด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ไม่ควรกลัวว่า ‘เด็กๆ จะเบื่อ’ เพราะความเบื่อเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีของจินตนาการ เมื่อเด็กๆ เบื่อ พวกเขาจะพยายามสร้างสรรค์วิธีการเล่นใหม่ๆ จากของเล่นเดิมๆ หรือสิ่งที่มีอยู่รอบตัว
ความคิดยืดหยุ่นจะเกิดขึ้นได้จากการที่เด็กๆ พยายามคิดหาวิธีใหม่ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่จำกัด หรือจากสิ่งที่พวกเขามีนั่นเอง
4.เมื่อเด็กๆ มีเป้าหมายระยะสั้นที่พวกเขาสามารถทำสำเร็จได้
ในข้อนี้ผู้ใหญ่สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ด้วยการย่อยงาน (Task Analysis) กล่าวคือ นำงานยากมาแบ่งเป็นงานย่อยๆ หลายงาน เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการทำงานให้กับเด็กๆ มากขึ้น หรือในกรณีที่เป้าหมายระยะยาวดูจะห่างไกลเกินไป ผู้ใหญ่สามารถแบ่งเป้าหมายระยะยาวเป็นเป้าหมายระยะสั้นๆ เพื่อให้เด็กๆ มองเห็นความสำเร็จทีละขั้นได้ชัดเจนขึ้น
เมื่อเด็กๆ รู้ว่า แต่ละขั้นของการรับมือกับปัญหา พวกเขาต้องทำอะไรได้บ้าง เด็กๆ จะรู้สึกกังวลน้อยลง เพราะการแบ่งเป้าหมายใหญ่ๆ เป็นเป้าหมายย่อยๆ ทำให้เด็กๆ มีโอกาสทำสำเร็จได้มากขึ้น และเมื่อพวกเขาทำได้สำเร็จ ความมั่นใจในตัวเองจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้พวกเขามีกำลังใจและกล้าเผชิญอุปสรรคต่อไปในอนาคต
ยกตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 3 ขวบ ตั้งใจฝึกแต่งตัวเอง เป้าหมายระยะยาว คือ ‘การแต่งตัวเองได้’ แบ่งเป็น 5 เป้าหมายระยะสั้นแรก
- ถอดกางเกงได้เอง
- ถอดเสื้อแบบไม่มีกระดุมได้เอง
- ใส่กางเกงได้เอง
- ใส่เสื้อได้เอง
- ถอดกระดุมเม็ดใหญ่ได้เอง
ในแต่ละขั้นที่ทำสำเร็จ เด็กๆ จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และมีกำลังใจในการทำสิ่งที่ท้าทายขั้นต่อไป
แม้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดที่เด็กๆ ต้องอยู่บ้านเป็นระยะเวลายาวนาน แต่พัฒนาการของเด็กๆ ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ดังนั้น พ่อแม่และผู้ใหญ่พัฒนาและเติบโตต่อไปได้ โดยช่วยให้เด็กๆ ตั้งเป้าหมายที่พวกเขาอยากทำให้สำเร็จด้วยกัน และฝึกฝนวันละนิดวันละหน่อย จนสามารถทำได้สำเร็จในท้ายที่สุด
5.เมื่อเด็กๆ รับรู้ว่า พวกเขาไม่ได้เผชิญการเปลี่ยนเเปลงนั้นเพียงลำพัง
พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกอุ่นใจ ในวันที่การเปลี่ยนแปลงมาถึง เด็กต้องเผชิญกับการปรับตัวมากมาย หากเขารับรู้ว่าเขาไม่ได้สู้คนเดียว พ่อแม่พร้อมจะสู้ไปกับเขาด้วย เชื่อว่าเขาจะเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง
ในข้อนี้พ่อแม่อาจจะนำเรื่องเล่าประสบการณ์วัยเด็กของเรามาเล่าให้ลูกฟังได้ หากเราเคยเผชิญการเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาแบบเดียวกันกับลูก เด็กจะรู้สึกดีเมื่อเขารับรู้ว่าพ่อแม่ก็เคยผ่านมันมาก่อนเช่นกัน
6.เมื่อเด็กๆ รู้ว่า สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
การที่เรารู้ว่า เราต้องไปเผชิญกับอะไร เราอาจจะเตรียมใจได้ถูก
สำหรับเด็กๆ ที่ต้องไปโรงเรียน ไปเจอคนใหม่ๆ การที่เขาได้รู้ว่าหน้าตาของสถานที่ และผู้คนที่เขาต้องไปเจอเป็นเช่นไร เพื่อที่เขาจะได้ประเมินสถานการณ์ได้ก่อนจะไปเผชิญในวันจริง พ่อแม่สามารถพาเขาไปดูโรงเรียน บ้าน หรือสถานที่ได้ เพื่อให้เขาเกิดความคุ้นเคย ที่สำคัญเราสามารถเล่าถึงคนที่เด็กจะต้องไปรู้จักก่อนได้ เช่น คุณครูของลูกเป็นอย่างไร ชื่ออะไร หรือ ในห้องมีเพื่อนกี่คน ลูกจะได้ทำอะไรบ้าง เป็นต้น
ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด เด็กๆ อาจจะรู้สึกว่า แต่ละวันช่างยาวนาน โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของ ‘เวลา’ คำแนะนำ หากที่บ้านมีปฏิทินที่สามารถให้เด็กๆ ดูจำนวนวันที่ผ่านไปได้ จะทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าพวกเขาต้องหยุดหยู่บ้านนานแค่ไหน และต้องรออีกจนถึงเมื่อไหร่ จึงจะสามารถกลับไปโรงเรียนได้อีกครั้ง เราอาจจะให้เขาดูวันที่จะได้กลับไปและวงเอาไว้ และในทุกวันให้เด็กๆ มากากากบาทวันแต่ละวันที่ผ่านไป พวกเขาจะเข้าใจเรื่องระยะเวลาที่ต้องรอมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
7.เมื่อเด็กๆ รู้ว่า ความเปลี่ยนเเปลงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเผชิญ
สำหรับเด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง ใครบางคนหายไปจากชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นการจากเป็นหรือจากกันถาวร พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถช่วยเขาให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยการ ‘รับฟัง’ ไม่ใช่เพียงแค่เสียงพูด และจากใจของเด็กด้วย อยู่เป็นเพื่อนเขา และกอดเขาแน่นๆ (หากเขาอนุญาตให้เรากอด) จนกว่าเขาจะสบายใจ
สุดท้าย แม้ว่าเราจะเตรียมพร้อมให้กับลูกอย่างเต็มที่ตาม 7 ข้อข้างต้นแล้วก็ตาม บางครั้งความเปลี่ยนแปลงก็หนักหนาสำหรับจิตใจของเด็กน้อย พ่อแม่ และผู้ใหญ่ควรปลอบประโลมเขาด้วยความเข้าใจ เราอนุญาตให้เขาแสดงออกทางความรู้สึกและอารมณ์ได้ ลูกอาจจะหงุดหงิด โกรธ เศร้า สิ่งที่เขาแสดงออกอาจจะเป็นการร้องไห้ วีนเหวี่ยง และอื่นๆ เรามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้เขาไม่ทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น หรือ สิ่งใด ให้เวลาเขาสงบด้วยการอยู่เคียงข้าง ณ จุดนี้ลูกจะเรียนรู้ว่า เขาไม่ต้องเก็บมันไว้ เพราะพ่อแม่ยอมรับตัวเขา ลูกจะค่อยๆ ยอมรับตัวเองและสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้นในเวลาต่อมา
พ่อแม่สามารถให้ความมั่นใจกับเขาด้วยการย้ำเตือนว่า ลูกไม่ได้เผชิญการเปลี่ยนแปลงนี้เพียงลำพัง พ่อแม่จะอยู่กับลูก ไม่ต้องกดดันหรือเร่งรีบใดๆ เด็กแต่ละคนใช้เวลาปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน เมื่อเขาพร้อม เด็กจะสามารถก้าวข้ามผ่านและเติบโตต่อไป