- พ่อแม่ที่ทอดทิ้งลูก (Uninvolved parenting style) มักไม่เอาใจใส่ หรือเอาใจใส่ลูกน้อยมาก ไม่สนใจ ไม่ปฏิสัมพันธ์ หรือตอบสนองลูก เมื่อลูกต้องการให้พ่อแม่กอด เล่น หรือทำอะไรด้วย พ่อแม่กลุ่มนี้มักจะปฏิเสธหรือเพิกเฉยต่อการร้องขอนั้น และปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียว
- เด็กจะเติบโตด้วยความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ ไม่ไว้ใจโลก และไม่เชื่อใจใคร เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ไม่ต้องการพึ่งพิงใคร แม้ต้องการความรัก แต่ไม่กล้าเปิดใจให้ใคร ต่อต้านการเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้อื่น ไม่อยากสร้างความสัมพันธ์กับใคร เพราะกลัวการถูกปฏิเสธ
- เราในฐานะลูกที่อาจได้รับบาดแผลจากการเติบโตดังกล่าว จะเยียวยาบาดแผลนี้อย่างไร และผู้ปกครองในฐานะที่เป็นคนเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่ง เราจะให้ความรักและความสนใจเขาอย่างไร เพื่อไม่ไปสร้างบาดแผลในใจลูก
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
ปมในวัยเยาว์
ทำไมเด็กและวัยรุ่นบางคนถึงทำตัวตลกไร้สาระ หรือทำตัวมีปัญหาอยู่เสมอ เพื่อหวังแค่ว่าจะให้คนรอบตัวมองเห็นและสนใจตัวเอง
ยอมให้คนอื่นมองตัวเองว่าเป็นตัวตลก แล้วหัวเราะเยาะอย่างสนุกสนาน
ยอมโดนดุ โดนด่า โดนตี โดนทำโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่า
และทำสิ่งเหล่านั้นซ้ำๆ แม้รู้ทั้งรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวเอง หรือต่อใครๆ
ผู้ใหญ่รอบตัวของเด็กและวัยรุ่นคนนี้คงอยากจะบอกเขาว่า…
‘พอได้แล้ว หยุดทำคนอื่นและตัวเองเดือดร้อนเสียที’
‘ทำไมไม่รู้จักทำตัวให้มันดีๆ หน่อย คนเขาจะได้เอ็นดู’
‘ทำอะไรไม่รู้จักคิด รู้ไหมว่าพ่อแม่จะเสียใจขนาดไหน’
ในความเป็นจริงแล้ว การที่เด็กหรือวัยรุ่นคนหนึ่งสามารถทนการถูกทำโทษซ้ำๆ ถูกหัวเราะเยาะ และโดนรังเกียจจากผู้ใหญ่และเพื่อนๆ ของเขา แสดงว่าสำหรับเขาแล้ว แม้จะเป็นปฏิกิริยาทางลบที่ผู้คนมีต่อตัวเขา ก็ยังดีกว่าผู้คนไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ตอบกลับมาเลย การได้รับการมองเห็นมีค่ามากกว่าการถูกมองข้ามไป ดังนั้นขอแค่ทุกคนสนใจและยังมองเห็นตัวเขาก็เพียงพอแล้ว
พ่อแม่ที่ทอดทิ้งลูก (Uninvolved parenting style)
นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Diana Baumrind (1971) ได้แบ่งรูปแบบการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ออกเป็น 4 แบบ ซึ่งแต่ละแบบจะส่งผลต่อเด็กที่เติบโตมาแตกต่างกัน หนึ่งในนั้น คือ ‘พ่อแม่ที่ทอดทิ้งลูก (Uninvolved parenting style)’ พ่อแม่รูปแบบนี้มักจะไม่เอาใจใส่หรือเอาใจใส่ลูกน้อยมาก เรียกได้ว่าแทบไม่สนใจหรือตอบสนองต่อลูกเลย เมื่อลูกต้องการให้พ่อแม่กอด เล่นด้วย หรือทำอะไรด้วย พ่อแม่กลุ่มนี้มักจะปฏิเสธหรือเพิกเฉยต่อการร้องขอนั้น และปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียว หรือแม้จะไม่ได้ทิ้งลูกให้อยู่บ้านคนเดียว พ่อแม่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับลูก แต่พ่อแม่อาจจะไม่ปฏิสัมพันธ์กับลูกเลย
โดยมากจะปรากฏในพ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับลูก (ในพ่อแม่ที่มีปริมาณงานเท่าๆ กัน พ่อแม่บางคนเลือกที่จะใช้เวลาอันน้อยนิดกับลูก แต่พ่อแม่กลุ่มนี้ คือ ไม่สนใจจะพยายามเลย) และเล่นกับลูกไม่เป็น และไม่อยากเริ่มต้นเข้าหาลูกก่อน พวกเขาไม่เห็นความสำคัญของการเลี้ยงดู ‘จิตใจ’ ของลูกเท่าไรนัก ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น คือ ในช่วงแรกลูกอาจจะพยายามเรียกร้องจากพ่อแม่ให้รักเขา สนใจเขา แต่นานวันเมื่อเขาไม่ได้รับมัน พวกเขาก็ถอดใจ และถอยห่างจากพ่อแม่ในที่สุด
ผลลัพธ์ของเด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่ทอดทิ้งเขา เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ ไม่ไว้ใจโลกและไม่เชื่อใจใคร พวกเขาเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ไม่ต้องการพึ่งพิงใคร แม้เขาต้องการความรัก แต่จะไม่กล้าเปิดใจให้ใครเข้ามาง่ายๆ เวลาเข้าสังคมมักจะต่อต้านการเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้อื่น ไม่อยากเข้ากลุ่ม และไม่อยากสร้างความสัมพันธ์กับใคร เพราะแท้ที่จริงแล้วพวกเขากลัวการถูกปฏิเสธมากกว่าสิ่งอื่นใด จึงพยายามทำตัวแกร่ง บางคนทำตัวสวนกระแสสังคมเพื่อสร้างจุดเด่นให้กับตัวเอง เพราะที่ผ่านมาพ่อแม่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเขา เหมือนว่าเด็กกลุ่มนี้จะทำตัวแตกต่าง แต่ทว่า…เขาไม่พร้อมจะยอมรับในความแตกต่างจากกลุ่มอื่นที่ต่างจากกลุ่มตัวเอง
ต้นตอของบาดแผลทางใจ
หนึ่งในต้นตอของบาดแผลทางใจที่สำคัญของเด็กหลายคน คือ การที่พวกเขาอาจจะไม่ได้รับ ‘ความรัก’ ที่เพียงพอจากผู้เลี้ยงดูหลักของเขา ในที่นี้อาจจะเป็นพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเขาเป็นหลัก ซึ่งนำไปสู่ปมในใจที่ไม่สามารถคลี่คลายด้วยตัวเขาเอง
ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ (Psychosocial Development) อีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ได้กล่าวไว้ว่า พัฒนาการขั้นแรกของมนุษย์ (วัย 0 – 2 ปีแรก) เริ่มจากการที่พ่อแม่ต้องสร้างความเชื่อใจ (Trust) ให้กับลูก โดยมุ่งสร้างความสัมพันธ์ (Attachment) ซึ่งเกิดขึ้นจาก ‘ความรัก’ ที่แสดงออกผ่านการให้ความสนใจ ดูแลอย่างใกล้ชิด และตอบสนองต่อความต้องการของลูกขั้นพื้นฐาน หรือกล่าวโดยสรุปว่า ‘พ่อแม่ต้องเป็นผู้ที่ลูกสามารถพึ่งพิงได้ในยามที่เขายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั่นเอง’ เช่น…
เมื่อลูกหิว แม่ให้นมลูกกิน
เมื่อลูกร้องไห้ พ่อแม่อุ้มกอดปลอบประโลม
เมื่อลูกรู้สึกเฉอะแฉะ พ่อแม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้
เมื่อลูกไม่สบาย พ่อแม่ดูแลและพาไปรักษาจนหายดี
ที่สำคัญพ่อแม่บอกรักลูกผ่านการเล่น กอด อุ้ม หอม เล่านิทาน และพูดคุยกับลูกแม้ในวันที่เขายังไม่รู้ภาษาก็ตาม การปรากฏตัวของพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอและตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของลูก ทำให้เด็กรับรู้ว่า ‘พ่อแม่มีอยู่จริง’ และเขาสามารถเชื่อใจพ่อแม่ได้ ซึ่งความเชื่อใจดังกล่าวจะพัฒนาไปสู่ความเชื่อใจที่มีต่อโลกภายนอกในเวลาต่อมา
ขั้นบันไดพัฒนาการที่หยุดชะงัก (Fixation)
ในทางกลับกันหากพ่อแม่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของลูกหรือมีเวลาคุณภาพให้กับลูกในช่วงวัยดังกล่าวได้ เด็กจะพัฒนาความไม่เชื่อใจต่อบุคคลหรือโลก (Mistrust) ขึ้นมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเด็กสามารถแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีแรก เด็กอาจจะพยายามเรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการอย่างสุดกำลัง โดยไม่สนใจว่าวิธีการที่เขาเรียกร้องนั้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะสำหรับเด็กที่ขาดการได้รับความรักและความสนใจอย่างเขา ขอแค่เพียงสิ่งที่เขาทำส่งผลให้คนหันมาสนใจหรือมองเห็นตัวเขาก็เพียงพอแล้ว เราสามารถเห็นเด็กแบบนี้ทำให้ตัวเองเดือดร้อนและผู้อื่นเดือดร้อนอยู่เนืองนิจ และไม่มีท่าทีว่าเขาจะหยุดทำจนกว่าคนจะสนใจเขา ซึ่งความสนใจที่เขาได้รับนั้นมีทั้งแบบชื่นชมและตำหนิ
กรณีที่สอง เด็กอาจจะทำตัวเข้มเเข็ง เพราะเขาต้องพึ่งพาตัวเองตั้งเเต่เล็ก แต่ภายในของเขาอาจจะเปราะบาง เพราะไม่มีใครเติมเต็มความรักให้เขาเมื่อยังเยาว์วัย ที่สำคัญเขาอาจจะแสดงออกในแบบต่อต้านสังคม เพราะสำหรับเด็กที่ไม่เคยได้รับความรักอย่างเขา การได้รับการกอดหรือได้รับความรักในเวลานี้ อาจจะทำให้เขารับความรู้สึกนั้นไม่ไหว ไม่ใช่ว่าเขาไม่ต้องการ แต่เขากลัวเหลือเกินว่า “ความรักนั้นจะไม่ยั่งยืน” เขากลัวที่จะต้องเสียใจอีกครั้งเมื่อความรักที่ได้รับนั้นหมดลง
ปมในวัยเยาว์ สู่บาดแผลในวัยผู้ใหญ่
ในวันที่เด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้รับความรักเพียงพอเติบโตเป็นผู้ใหญ่…
เขาคนนั้นอาจจะมีภายนอกที่แข็งแกร่ง แต่ภายในของเขาอาจจะเปราะบางเหลือเกิน
เขาคนนั้นอาจจะบอกว่า ‘เขาไม่เป็นไร’ แต่ใจลึกๆ เขาก็อยากมีใครสักคนที่ยอมรับ มองเห็นคุณค่าและรักเขาในแบบที่เขาเป็น…
การไม่ได้รับความรักในวัยเยาว์ อาจจะทำให้ผู้ใหญ่คนหนึ่งเลือกคู่ชีวิตที่ผิดพลาดไป
บางคนอาจจะยอมทนให้คนที่ตัวเองรักทำร้ายตัวเอง เพื่อหวังจะได้รับความรักจากเขา
ยอมให้เขาทุบตีทําร้ายร่างกาย
ยอมให้เขาพูดจาทําร้ายจิตใจ
ยอมให้เขาลดคุณค่าภายในตัวเอง
และยอมให้อภัยกับความผิดพลาดซ้ำๆ ที่เขาทํากับตัวเอง
คนรอบตัวของคนๆ นี้คงอยากบอกเขาว่า
‘ลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง และอย่าให้อีกฝ่ายทําร้ายอีก’
‘เลิกกับคนที่ทําร้าย แล้วเริ่มเป็นห่วงตัวเอง และรักตัวเองได้แล้ว’
‘มองให้เห็นคุณค่าในตัวเอง อย่าให้ใครมาตัดสิน หรือทําลายคุณค่านั้นไป’
ในความเป็นจริงแล้ว การที่คนๆ หนึ่งสามารถยอมทนถูกทําร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากคนที่รักได้นั้น แสดงว่า สําหรับเขาการถูกทําร้ายอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เจ็บปวดที่สุด เพราะสิ่งที่เจ็บปวดยิ่งไปกว่าการถูกทําร้าย คือ การไม่ได้รับความรัก และการต้องทนอยู่คนเดียวเพียงลําพัง ความรักจึงสิ่งที่สําคัญสําหรับเขามากเหลือเกิน มากพอที่จะทําให้เขายอมจํานนต่อทุกๆ การกระทํา เพียงเพื่อให้ได้รับความรักจากอีกฝ่าย
หากย้อนกลับไปในวันที่เขาเป็นเด็ก อาจจะไม่มีใครรักเขามากพอ ที่จะทําให้เขารู้ว่า จะเริ่มต้นรักตัวเองได้อย่างไร ในวันที่เขาเป็นเด็กตัวเล็กๆ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อาจจะไม่มีใครดูแลปกป้องเขา แล้วเขาจะปกป้องตัวเองไปเพื่อ อะไรเมื่อไม่ได้รับความรัก และการปกป้อง คุณค่าภายในตัวเด็กคนนี้ก็ไม่ได้รับการยืนยัน เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เขาจึงต้องการให้ใครสักคนมายืนยันคุณค่าในตัวเขา ผ่านการบอกรัก และให้ความสําคัญ
แค่ไม่รัก ก็เลวร้ายมากพอแล้ว ไม่จําเป็นต้องทําร้ายเขาเพิ่มหรอก แต่เด็กบางคนนอกจากไม่ได้รับความรักแล้ว ยังโดนทําร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้การทําร้ายไม่ใช่แค่ในรูปแบบการกระทําที่รุนแรงทางกาย แต่หมายรวมถึงการทอดทิ้ง การถูกเพิกเฉยซึ่งทําร้ายจิตใจไม่แพ้กันเลย
แนวทางในการเยียวยาบาดแผล
เราอาจจะย้อนกลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้มีความรู้สึกติดค้างในใจมากมาย และในวันนี้ที่เรายังไม่รู้จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร ให้เราบอกตัวเองว่า
- ถ้ายังไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร
อย่าฝืนตัวเองให้ทําในสิ่งที่ใจไม่พร้อม เราไม่จําเป็นต้องรักตัวเองเต็มที่วันนี้ เราค่อยๆ ทําสิ่งที่เรารัก หรือ แค่ทําสิ่ง ที่ทําให้เราสบายใจ ทําสิ่งที่เราควบคุมได้ด้วยสองมือและความคิดของเราให้ดีที่สุด เพื่อเรียก “สติ” ให้กลับมาอยู่ กับเรา
- ค่อยๆ เรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น
เราต้องเรียนรู้และทําความรู้จักกับตัวเอง ทั้งภายนอกและภายใน เริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างเช่น ตัวเราชอบอะไร ไม่ ชอบอะไร ไปจนถึงเรื่องยากๆ อย่างเช่น ตัวเรามีข้อจํากัดแค่ไหน เราต้องการอะไร และเรามีจุดอ่อนในเรื่องใด เพราะการตระหนักรู้เท่าทันในเรื่องเหล่าน้ีจะทําให้เราสามารถเข้าใจตัวเอง และระมัดระวังกับความคิดและการกระทําของตัวเองได้มากขึ้น
- ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองทีละน้อย
การปรับเปลี่ยนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในวิถีชีวิตของเรา ไม่ควรต้องรีบเร่ง บางครั้งแค่เริ่มจากการลองทําอะไรใหม่ๆ อย่างเช่น ไปกินอาหารร้านที่ไม่เคยกิน หรือ แค่เปิดประตูเดินออกจากบ้านไปก็เป็นก้าวแรกแล้ว ไม่ต้องทําอะไรที่ ยิ่งใหญ่ เพราะก้าวเล็กๆ ก้าวแรกจะค่อยๆ นําเราไปสู่ก้าวต่อๆ ไป
- ทุกคนร้องไห้ได้ ทุกคนอ่อนแอได้ ทุกคนเจ็บป่วยได้ เราไม่จําเป็นต้องเข้มแข็งตลอดเวลา
เราทุกคนมีวันที่อ่อนแอ แม้ในวันนี้ที่เราเป็นผู้ใหญ่ หรือ เป็นพ่อแม่แล้วก็ตาม เพราะเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ เรา มีความสุขเรายังยิ้ม ทําไมวันที่เราเศร้าเราจะร้องไห้ไม่ได้ จริงใจต่อตัวเองเสมอ ความรักที่มีให้กับตัวเองจะค่อยๆ ตามมาเอง
- อย่าลืมมองหาความช่วยเหลือ
ในวันที่เราไม่ไหว หรือ ถ้าเราโดนทําร้ายทางร่างกายและจิตใจ เราควรขอความช่วยเหลือจากคนที่เราไว้ใจ หรือ องค์กรต่างๆ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือเราได้ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าใจเราไม่ไหว จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือ ผู้ที่ทํางานด้านนี้อาจจะเป็นทางเลือกที่ช่วยเราได้ เพราะบางครั้งการเยียวยาที่ดีที่สุด คือ ‘การระบาย (ของเสีย) ออกมา’ และ ‘ผู้รับฟังที่ดี’ คือ ยาที่เราต้องการ
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ
‘ตัวเรา’ เป็นเสมือน ‘แก้วหนึ่งใบ’
‘ความรู้สึกเลวร้าย การโดนทําร้าย การไม่ได้รับความรัก’ เป็นน้ำสีดํา
‘การเริ่มต้นใหม่ หรือ การแก้ปัญหา’ เป็นน้ำใสๆ
ถ้าเรามีน้ำดําเต็มแก้วของเรา ต่อให้มีน้ำใสมาเทใส่เรามากมาย น้ําในเเก้วแม้จะมีมากขึ้น แต่ก็ยังคงหม่นตามเดิม เช่นกันกับการพยายามแก้ปัญหาและเริ่มต้นใหม่ ในวันที่ใจเราไม่พร้อม
แต่ถ้าเราเทน้ำดําออกจากแก้วก่อน แล้วค่อยเติมน้ําใสเข้าไป น้ำในแก้ว แม้มีไม่มาก แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่สีดําอีกต่อไปแล้ว
การรับฟังที่ดี เป็นกระบวนการที่แก้วเทน้ำสีดําออกมา แก้วใบนั้นจะว่างเปล่าพร้อมรับน้ำใหม่ ซึ่งก็คือการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และคราวนี้หากเราเทน้ำใสเข้าไป แก้วจะไม่ขุ่นมัวอีกต่อไป
วันนี้ที่เรากลายเป็นพ่อแม่
ในอนาคตข้างหน้าหากเราได้มีโอกาสเป็นพ่อแม่หรือได้ดูแลเด็กสักคนหนึ่ง ขอให้เรารักเขาให้มากพอผ่านการให้เวลาคุณภาพกับเขา สอนเขาในสิ่งที่จําเป็น และไม่ปกป้องเขาจนเกินไป ให้เขาได้ลองผิดลองถูก ให้เขาได้รู้จักการทําผิดพลาด และเรียนรู้การรับผิดชอบสิ่งนั้นด้วยตัวเขาเอง โดยที่มีเราอยู่เคียงข้าง เพื่อที่เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงทั้งกายใจ
พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกด้วยความจำเป็น ชดเชยได้อย่างไร
สำหรับพ่อแม่ที่มีความจำเป็นต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย เพราะถ้าหากไม่ทำเช่นนั้น ครอบครัวไม่อาจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ด้วยเหตุปัจจัยเรื่องปากท้องย่อมมาก่อนสิ่งอื่นใด หรือ พ่อแม่บางท่านอาจจะเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ “การจัดสรรเวลาที่มีอยู่ให้กลายเป็นเวลาคุณภาพ”
ขอแค่พ่อแม่ทำให้เวลาที่มีอยู่กับลูกแสนน้อยนิดในแต่ละวัน ให้กลายเป็นเวลาคุณภาพที่สุดเท่าที่พ่อแม่จะทำได้ โดยการชดเชยให้ลูกในทุกๆ วันที่กลับมาจากทำงาน ดูแลและตอบสนองต่อความต้องการของลูกที่ถูกละเลยไปตลอดวัน วางเครื่องมือสื่อสารและโลกภายนอกไว้เบื้องหลัง และมอบสายตาทั้งสองข้างให้ลูกที่อยู่เบื้องหน้าเรา ให้ความรักผ่านการสัมผัส กอด เล่น อ่านหนังสือนิทาน และกล่อมเขาเข้านอน เคียงข้างจนลูกหลับไป เพื่อสร้างสายใยในใจลูกในทุกๆ วันที่กลับมา ณ ที่เก่าเวลาเดิม สม่ำเสมอ ลูกจะสามารถสร้างความเชื่อใจขึ้นมากับพ่อแม่ได้ ทำให้พ่อแม่มีอยู่จริงในชีวิตเขา ส่งผลให้เขาสามารถวางใจในโลกได้
สำหรับลูกแล้ว เมื่อพ่อแม่มอบความรักผ่านการมีเวลาคุณภาพให้กับเขา ลูกจะรับรู้ว่า ‘ตัวเองนั้นมีคุณค่าสำหรับพ่อแม่เพียงใด’ และการรับรู้ถึงคุณค่าตรงนี้ ทำให้เด็กสามารถพัฒนาไปสู่การรับรู้ว่า ‘ตัวเองนั้นมีอยู่จริงสำหรับพ่อแม่เช่นกัน’ เมื่อเขามีอยู่จริงและมีคุณค่ามากพอสำหรับพ่อแม่ ในวันข้างหน้าเด็กจะสามารถยืนหยัดเพื่อตัวของเขาเองได้ โดยไม่สั่นคลอนต่ออุปสรรคหรือเสียงของใคร
สุดท้ายไม่มีหรอกพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ จะมีก็เพียงแต่ ‘พ่อแม่ที่มีอยู่จริง’ เราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบในทุกๆ ด้านหรือเป็นพ่อแม่ที่ดีเลิศเลอในทุกๆ เรื่อง แต่เราควรเป็นพ่อแม่ที่มีเวลาคุณภาพ เป็นพ่อแม่ที่มีความสุข และเป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริงสำหรับลูก และรับรู้ว่าลูกก็มีอยู่จริงสำหรับเราก็เพียงพอแล้ว
รักและดูแลเด็กในวันนี้ให้มากพอ เพื่อในวันหน้าเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่รักตัวเอง และรักคนอื่นเป็น