- ในนามของความรัก เหตุผลอันคลาสสิกของผู้ปกครองในการเลี้ยงดูลูก เพราะเราต่างก็หวังให้ลูกมีความสุข เติบโตมาอย่างงดงาม
- พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ คำที่ใช้เรียกผู้ปกครองที่พวกเขาต้องการดูแลสอดส่องลูกของตนแทบจะตลอดเวลา มักจะควบคุมบงการและคอยคิดแทนลูก ทำแทนลูกในแทบทุกๆ เรื่อง ด้วยว่า ‘หวังดีกับลูก’
- เพื่อไม่ให้ความหวังดีของผู้ปกครองกลายเป็นการทำร้ายเด็ก ชวนตั้งหลักวิธีเลี้ยงลูกใหม่ เราไม่ต้องเป็นผู้ปกครองที่ตามใจลูกจนเกินไป หรือบงการควบคุมลูก เราสามารถเลี้ยงดูเขาแบบ ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน (Kind but firm) สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีและวินัยตามวัย
หมายเหตุ 1 บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
หมายเหตุ 2 เนื้อหาต่อไปนี้มีการปรับแต่งเนื้อหาและรายละเอียดเพื่อปกป้องสิทธิ์ของคนไข้ แต่โครงเรื่องยังคงไว้เช่นเดิม
ครั้งหนึ่งคุณพ่อของเด็กชายคนหนึ่งมาพบนักจิตวิทยาอย่างเราด้วยความร้อนใจ คุณพ่อเริ่มต้นด้วยคำถามและจบท้ายด้วยคำขอร้องให้ช่วย เพราะเขาหมดหนทางแล้วจริงๆ
คุณพ่อเล่าว่า ลูกชายวัยรุ่นไม่ยอมกลับบ้านมาหลายวันแล้ว ลูกไปนอนค้างบ้านเพื่อนแทนที่จะกลับมานอนบ้าน ที่สำคัญไม่ยอมรับสายโทรศัพท์ของพ่อกับแม่ด้วย
เมื่อให้คุณพ่อเล่าเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าจึงเข้าใจเหตุผลโดยกระจ่างว่าทำไมลูกชายจึงไม่อยากกลับบ้าน เนื้อความโดยสรุปคือ ก่อนหน้านี้หนึ่งเดือนลูกชายไม่ยอมไปเรียนพิเศษที่พ่อสมัครไว้ให้ ทั้งๆ ที่ตอนสมัครให้ก็ถามแล้วว่าเรียนได้ไหม ลูกก็พยักหน้ารับ และเก็บตัวอยู่แต่ในห้องนอน ถามก็ไม่ตอบและไม่ยอมคุยกับพ่อแม่ พ่อจึงตัดสินใจติดกล้องวงจรปิดในห้องนอนลูกเพื่อจะได้รู้ความเคลื่อนไหวของลูก ทั้งยังกำชับให้ลูกส่งข้อความมารายพ่อทุกครั้งที่ไปไหนหรือทำอะไรเช้า กลางวัน และเย็น
เมื่อฟังจบจึงคาดเดาได้ว่า ลูกชายวัยรุ่นของคุณพ่อท่านนี้อาจจะรู้สึกอึดอัดและกดดันเป็นอย่างมาก ตัวเขาเองก็เป็นวัยรุ่นแล้ว การมีพื้นที่ส่วนตัวเป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างมาก และการที่พ่อแม่ไม่ให้ความเชื่อใจ และติดกล้องวงจรปิดในห้องนอนของเขาคงเป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่เด็กชายจะรับได้ ดูเหมือนว่า เด็กชายจะยอมคุณพ่อมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ใจจริงเขาอาจจะอยากปฏิเสธ แต่เขาคงไม่กล้าพูดออกมาเท่านั้นเอง ทำให้ทางออกเดียวของเขา คือ การหนีออกมาจากตรงนั้น
คำแนะนำที่ให้คุณพ่อไปเพื่อให้ลูกชายกลับมาบ้านก่อน คือ ถอดกล้องวงจรปิดทั้งหมดออกไปจากห้องนอนลูกและให้การรับฟังลูกจริงๆ เมื่อลูกกลับมาบ้าน ทั้งนี้นักจิตวิทยาอย่างเราก็ทำหน้าที่เข้าไปคุยกับเด็กชายก่อน ซึ่งเป็นไปตามที่คาด เขาสารภาพว่า “ผมไม่เคยทำอะไรแย่ๆ แต่พ่อไม่เคยไว้ใจเขาเลย และที่สำคัญพอบอกพ่อไปว่า ผมอยากเข้าเรียนคณะที่ผมชอบ พ่อกลับไม่เห็นด้วย และยัดเยียดให้ผมเลือกคณะที่พ่อต้องการ ผมไม่อยากให้พ่อผิดหวัง ก็เลยไม่ได้ปฏิเสธพ่อไป แต่พอไปเรียนพิเศษแล้ว ผมไม่ชอบมันจริงๆ มันทรมาณมาก และพอกลับบ้านมาอยากพักเล่นเกม ก็โดนพ่อใช้กล้องวงจรปิดสอดส่องตลอด มันอึดอัด ผมเลยไปนอนค้างกับเพื่อนดีกว่า อย่างน้อยมีสมาธิอ่านหนังสือ และพักผ่อนมากกว่าอยู่บ้าน”
สุดท้าย เคสนี้จบลงด้วยการที่คุณพ่อยอมผ่อนลง และรับฟังสิ่งที่ลูกชายต้องการ เพราะคุณพ่อกลัวจะเสียลูกชายไปมากกว่า บทเรียนข้อสำคัญในครั้งนี้สำหรับคนเป็นพ่ออย่างเขา คือ ลูกไม่ใช่สิ่งของ เขามีชีวิตจิตใจ และมีความต้องการเป็นของตัวเอง เราไม่ควรไปจัดกระทำและบีบบังคับในทุกๆ ก้าวเดินในชีวิตเขา เพราะถ้าหากวันใดที่ลูกทนไม่ไหว เขาอาจจะหนีไปจากเรา หรือ ทำลายตัวเขาเองในที่สุด
ไม่ใช่แค่เพียงเคสของเด็กชายคนนี้ คงมีผู้ใหญ่อีกหลายคนที่ตั้งแต่เล็กจนโตเติบโตมาภายใต้เงาของพ่อแม่ตลอดเวลา กล่าวคือ พ่อแม่มีอิทธิพลต่อทุกด้านและมิติในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการเลือกของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเสื้อผ้าหน้าผม ไม่จนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการตัดสินใจเลือกคณะที่ต้องการจะเรียน อาชีพที่อยากจะเป็น และครอบครัวในแบบที่ตัวเองต้องการ
Foster Cline และ Jim Fay (1990) เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกพ่อแม่ที่มีความต้องการดูแลสอดส่องลูกของตนแทบจะตลอดเวลา มักจะควบคุมบงการและคอยคิดแทนลูก ทำแทนลูกในแทบทุกๆ เรื่องที่ตนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ทำให้ลูกที่เติบโตมากับพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์มักจะไม่กล้าตัดสินใจ และมีความกังวลเมื่อต้องพึ่งพาตนเอง
นอกจากนี้ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Diana Baumrind (1971) ได้แบ่งรูปแบบการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ออกเป็น 4 แบบ ซึ่งแต่ละแบบจะส่งผลต่อเด็กที่เติบโตมาแตกต่างกัน หนึ่งในนั้น คือ พ่อแม่ที่ชอบควบคุมและเรียกร้องจากลูก (Authoritarian parenting style) พ่อแม่รูปแบบนี้จะค่อนข้างเรียกร้องให้ลูกตอบสนองต่อความต้องการของตนเอง แต่เมื่อลูกต้องการการตอบสนองจากตนบ้าง ก็จะตอบสนองลูกน้อยหรือแทบไม่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกเลย
พ่อแม่รูปแบบนี้มักจะเข้มงวดมาก ไม่ค่อยอธิบายเหตุผลให้ลูกฟัง และต้องการควบคุมลูกอยู่เสมอ ไม่สามารถยอมรับได้ หากลูกจะเรียกร้องให้ตนรับฟังความคิดเห็น (แต่ส่วนมากเด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่เป็นแบบนี้ มักเกรงกลัวพ่อแม่เกินกว่าจะพูดโต้แย้งหรือเสนอความคิด และพูดความรู้สึกของตนอยู่แล้ว) ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็กกลุ่มนี้จึงห่างเหินมาก เพราะพ่อแม่ควบคุมลูกไว้เสมอ
ผลลัพธ์ของเด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่ชอบควบคุม เด็กอาจจะมีแนวโน้มเคารพกฎกติกาอย่างเข้มงวด ปราศจากความยืดหยุ่น ไม่ค่อยประนีประนอม เมื่อเข้าสู่สังคมอาจจะปรับตัวได้ยาก มีความวิตกกังวลสูง คนในสังคมจะมองเขาเป็นเด็กขี้อายและเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะเขาไม่โต้แย้งออกมา แต่อาจจะต่อต้านอยู่ภายใน ดูภายนอกควบคุมอารมณ์ได้ดี แต่ถ้าหากวันใดควบคุมไม่ได้ จะระเบิดอารมณ์ออกมาอย่างรุนแรง ราวกับเป็นคนละคน และสุดท้าย หากมีใครที่แตกต่างจากตนหรือกลุ่ม เขาจะมองว่า “ความแตกต่างที่คนๆ นั้นมี เป็นสิ่งที่ไม่ดี และยอมรับไม่ได้” เนื่องจากพ่อแม่ของเขาเองก็ไม่ยอมรับตัวเขาเมื่อเขาเห็นต่างจากพ่อแม่นั่นเอง (และพ่อแม่ไม่ยอมรับเขาอย่างรุนแรงด้วย)
10 สัญญาณบ่งบอกว่า เรากำลังจะเป็นพ่อแม่แบบเฮลิคอปเตอร์ หรือ ควบคุมบงการลูกจนเกินเหตุ
- เรามีแนวโน้มตามติดลูกไปทุกหนทุกแห่ง แม้กระทั่งเวลาลูกเข้าห้องน้ำ (ในกรณีที่ลูกใช้ห้องน้ำเป็นแล้ว) สนามเด็กเล่น ห้องเรียนของลูก และที่อื่นๆ ที่ควรมีแค่ลูกกับเพื่อนของเขา หรือครูของเขา
- เรามีแนวโน้มช่วยทำการบ้านให้ลูก ไม่ใช่สอนการบ้านลูก เมื่อลูกโครงการอะไร หรืองานประดิษฐ์อะไร เรามักจะอาสาทำให้ลูกทั้งชิ้นงานเลย เพราะรู้สึกว่าจะเป็นการดีกว่าถ้าลูกมีงานดีๆ ไปส่งครู
- เรามีแนวโน้มเตรียมอาหารที่ลูกชอบ โดยที่เขาอาจจะยังไม่ทันเอ่ยปากขอจากเรา เราจะตระเตรียมอาหารให้พอดีคำ หั่นเอาไว้ให้เขาพร้อมกิน และถ้าทำได้เราอาจจะป้อนเขาแทนที่จะให้เขากินเอง
- เรามีแนวโน้มที่จะปกป้องลูกในสถานการณ์ที่เราไม่แน่ใจ เช่น ไม่ยอมให้ลูกปีนต้นไม้ หากต้นไม้นั้นเราเอื้อมไม่ถึง ไม่ยอมให้ลูกฝึกจักรยานสองล้อจนกว่าจะมีเครื่องป้องกันครบถ้วน ไม่ยอมให้ลูกใช้กรรไกรหรือของมีคม ไม่ยอมให้ลูกทำอะไรที่เรากลัวว่าจะเกิดอันตรายได้ แม้จะเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
- เรามีแนวโน้มตัดสินใจแทนลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกเพื่อน เลือกเรียน เลือกคู่ชีวิต และเลือกทำอะไรก็ตาม
- เรามีแนวโน้มจะสั่งให้ลูกทำอะไร และมักจะตอบคำถามแทนลูกเวลาที่มีคนมาถามเขา
- เรามีแนวโน้มจะทนไม่ได้เมื่อลูกผิดหวังจากสิ่งที่เขาตั้งใจ (หรือเราตั้งใจให้เขาได้) เราจะลงไปแก้ปัญหาให้ลูกทันที และเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกได้รับสิ่งที่เขาต้องการ (หรือเราต้องการ)
- เรามีแนวโน้มจะไม่ยอมให้ลูกไปไหนโดยที่ไม่มีเราอยู่ตรงนั้น (ยกเว้นโรงเรียน) เช่น ไปทัศนศึกษา ไปค่ายค้างคืน ไปบ้านเพื่อน ไปเที่ยวกับเพื่อน และอื่นๆ
- เรามีแนวโน้มจะตรวจสอบของส่วนตัวของลูก เช่น ห้องนอน โทรศัพท์มือถือ สมุดไดอารี่ เฟสบุ๊ค และอื่นๆ
- เรามีแนวโน้มที่จะทุกข์ใจเมื่อเราไม่รู้อะไรบางอย่างจากลูก เราจะถามเซ้าซี้และถามจนกว่าลูกจะตอบ ถ้าลูกไม่ตอบ เราจะไปถามเพื่อนของลูก หรือ คนรอบตัวลูกจนกว่าเราจะได้ข้อมูลที่เราพอใจ
ถ้าหากเรามีแนวโน้มจะเป็นพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ เราควรจะตระหนักรู้ และลดความวิตกกังวลของเราลง เพราะเราไม่ควรทำร้ายลูกเราด้วยเหตุผล ‘ในนามแห่งความรัก’
บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราไม่รู้ตัวว่า ‘เรากำลังทำร้ายเด็ก’ เพราะเราคิดว่าการกระทำของเราทำไปเพราะความรักหนึ่งในการกระทำที่ว่า คือ ‘การสอดส่องทุกกระเบียดนิ้ว และบงการควบคุมชีวิตลูกตลอด 24 ชั่วโมง’ และเมื่อเราทำไปแล้ว เรามักตบท้ายการกระทำของเราด้วยคำพูดที่ว่า ‘ที่พ่อแม่ทำไปนั้น เพราะพ่อแม่รักลูกนะ’
ทั้งๆ ที่จริงแล้ว เราสามารถสอนเด็กได้ด้วย การใจดีแต่ไม่ใจอ่อน (Kind but firm) ซึ่งการสอนนี้ ต้องเริ่มด้วยการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กก่อน หากเราไม่มีสายสัมพันธ์นี้ เด็กจะไม่เห็นเรา เพราะเราไม่มีอยู่จริงในสายตาเขา
สายสัมพันธ์จะเป็นเชือกที่มองไม่เห็นคอยดึงรั้งเขาไว้เวลาเขาจะไปทำผิด เขาจะนึกถึงเรา เพราะเขารักเรา
ซึ่งสายสัมพันธ์ที่ดีต้องมาพร้อมกับวินัยตามวัย เด็กควรเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองตามพัฒนาการของเขา และเรียนรู้งานที่เขาสามารถทำได้เพื่อส่วนรวม เมื่อเขาโตพอ เช่น การทำงานบ้าน และการช่วยเหลืองานต่างๆ ตามวัย ทั้งนี้วินัยจะช่วยให้เด็กรู้ว่า ‘อะไรสำคัญสำหรับชีวิตเขา’ และเขาจะรู้ว่า ความจำเป็น (Need) ต้องมาก่อน ความต้องการ (Want) เสมอ
ที่สำคัญผู้ใหญ่มักลืมว่า ‘เรามีหน้าที่ควบคุมกติกา’ ไม่ใช่ไม่ควบคุมเด็ก เราใช้กติกาที่ตกลงกันควบคุมซึ่งกันและกัน ไม่ให้เราทำร้ายกัน หรือทำให้ตนเองเดือดร้อน เมื่อเด็กทำผิด ให้ทวนกติกาหรือข้อตกลงกับเขา และให้เขาได้รับผลลัพธ์จากการกระทำ โดยมีผู้ใหญ่คอยสอนเขาว่า ‘ทำแบบนี้ไม่ได้ แล้วทำแบบไหนได้บ้าง’ ไม่ใช่บอกเเค่ว่า เขาทำผิด แต่ไม่บอกเขาเลยว่าที่ถูกเป็นอย่างไร
ก่อนจะสายเกินไป…
ในฐานะพ่อแม่เราควรปรับเปลี่ยนตัวเราเองให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูก เพราะเด็กทุกคนต้องการบ้านที่ปลอดภัย ไม่ใช่บ้านที่เป็นเสมือนสถานที่ลงโทษและคอยจ้องจับผิดเขาตลอดเวลา
บ้านที่แท้จริง หาใช่สถานที่ หากแต่เป็นบุคคลต่างหาก
พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถเป็น ‘บ้านที่ปลอดภัย’ ให้กับเด็กๆ ได้ โดยเริ่มจากสิ่งหล่านี้…
- ให้การรับฟัง
ข้อนี้ไม่ได้แปลว่า ผู้ใหญ่ต้องเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่เด็กทำ ขอเพียงรับฟังเขาให้จบ ไม่ตัดสินสิ่งที่เขาพูด และนำเสนอความคิดในมุมมองเรา โดยไม่เน้นใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุผลเป็นหลัก
*ถ้าหากไม่พร้อมจะพูดคุยในประเด็นที่อ่อนไหว การไม่พูดเลยจะดีที่สุด
- ให้การยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น
เด็กทุกคนเกิดมามีความแตกต่างกัน และเขาเกิดมาเพื่อเป็นตัวเขาเอง เราในฐานะพ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับเขาได้ด้วยการสร้างสายสัมพันธ์ และสอนเขาในสิ่งต่างๆ ตามวัยที่เหมาะสม นอกจากนี้เป็นส่วนของเด็กๆ ที่จะเติบโตเป็นตัวเขาในแบบที่เขาเป็น
- ให้ความรักและการสนับสนุนทางใจ
นอกจากปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พัก และยารักษาโรค แล้ว บ้านควรเป็นที่ๆ มอบความรักให้กับเด็กได้ ผ่านการแสดงออกทางความรัก การสัมผัสด้วยความรัก การกอด การให้กำลังใจ และการเป็นห่วงเป็นใย
- ให้อภัยและการสอน
เมื่อเด็กทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม บ้านควรเป็นพื้นที่แรกท่ีสอนเขาว่า สิ่งที่ถูกควรทำอย่างไร และให้อภัยเมื่อเขาทำสิ่งที่ผิดพลาดไป
- ให้ความเชื่อมั่น
เมื่อเราเตรียมความพร้อมเขามาตั้งแต่วัยเยาว์ และสร้างสายสัมพันธ์มาอย่างแน่นแฟ้น เราไม่ควรหวาดวิตกที่จะต้องปล่อยมือเขาไปในวันที่เขาจะต้องเติบโตก้าวไปสู่โลกภายนอกด้วยตัวเขาเอง วันนั้นเรามีหน้าที่เชื่อมั่นในตัวเขา และเฝ้าดูเขาผลิดอกออกผล
ในฐานะลูกที่เติบโตมากับพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์
แม้วันนี้ที่เราย้อนกลับไปแก้ไขพ่อแม่ของเราไม่ได้ ให้เรามองไปข้างหน้า ยอมรับตัวเรา ถ้าสิ่งไหนดี ให้รักษามันไว้ ถ้าสิ่งไหนไม่ดี ก็เรียนรู้เป็นบทเรียน เพื่อวันหนึ่งเรามีเด็กน้อยที่ต้องดูแล เราจะได้ปลูกเมล็ดพันธุ์ดีๆ ในใจเขา เพื่องอกงามเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต ที่สำคัญเราทุกคนสามารถเป็น ‘บ้านที่ปลอดภัยทางกายใจ’ ให้กับใครสักคนได้
สุดท้าย เมื่อถึงเวลาอันสมควร พ่อแม่ทุกคนควรบอกลาและปลดปล่อยลูกให้เป็นอิสระทั้งกายใจ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ ‘ควรทำ’ ไม่ใช่สิ่งที่ ‘ต้องทำ’ โดยสิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะทำเพื่อลูกทุกคนได้ คือ การพึ่งพาตนเองเป็นที่ตั้ง เคารพพื้นที่ของลูก และอวยพรให้เขาเติบโตออกไปใช้ชีวิตเพื่อตัวเขาเองอย่างแท้จริง
การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ยิ่งใหญ่ เพราะเรากำลังสร้างคนๆ หนึ่งไปดูแลชีวิตอีกชีวิตหนึ่งหรืออีกหลายๆ ชีวิตต่อไป สังคมจะดีหรือเป็นไปในทิศทางใด วิธีการปฏิบัติของพ่อแม่ต่อลูก และลูกต่อพ่อแม่ คือ “คำตอบ” ของสังคมนั้น