- การแสดงออกซึ่งความรัก เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองบางคนไม่เข้าใจ เพราะในวัยเด็กพวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน ทำให้ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร เกิดความเขินอาย ไม่กล้าพูดความรู้สึกที่มีต่อลูกหรือคนในครอบครัวออกไป
- ผู้ใหญ่บางคนที่แสวงหาความรักและเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจตนเอง มักมีประสบการณ์วัยเด็กที่ถูกปฎิเสธซ้ำๆ จากผู้ปกครองตัวเอง
- บทความนี้จะชวนทุกคนตั้งหลักใหม่กับการแสดงความรักในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือควรเก็บไว้เงียบๆ เริ่มตั้งแต่ความสำคัญของการแสดงความรัก พัฒนาการความสัมพันธ์ในเด็ก และวิธีการสื่อสารกับลูกของผู้ปกครอง
เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่สามารถสื่อสารพูดบอกความต้องการของเขาได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น เวลาที่เขาร้องไห้ก็เพื่อให้ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ตอบสนองเขา แต่บางคนกลับมองว่า…
“อุ้มมากๆ เดี๋ยวก็ติดมือ”
“โอ๋มากๆ เดี๋ยวเด็กก็โตไปเป็นเด็กขี้แย”
“ปล่อยมันร้องเถอะ เดี๋ยวก็เงียบเอง”
สุดท้ายเมื่อไม่มีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่เข้ามาปลอบประโลมเขา เด็กอย่างเขาคงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการต้องพึ่งพาตัวเองตั้งแต่วัยแบเบาะ ด้วยการปลอบตัวเองให้สงบลง ซึ่งทำให้เขาต้องแข็งแกร่งขึ้นในวัยที่เขาไม่พร้อม ส่งผลให้เมื่อเด็กเติบโตอาจจะดูแข็งกร้าว แต่ภายในเปราะบางเหลือเกิน
นอกจากนี้ ‘การแสดงออกซึ่งความรัก’ เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองบางคนไม่เข้าใจ แม้พวกเขาจะสามารถบอก ‘รักลูก’ ได้ แต่กลับไม่สามารถแสดงออกซึ่งความรัก ไม่ว่าจะเป็นการมองตากับลูก สัมผัสทางกาย กอด หอม เกาหลัง ลูบหัว เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่บางคนไม่เคยได้รับมาก่อน ทำให้พวกเขาไม่รู้ว่า จะต้องเริ่มต้นอย่างไรดี ที่สำคัญ การพูดถึงความรู้สึกของตัวเองให้กับคนในครอบครัวรับรู้ เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนในวัยที่เขาเป็นเด็ก ทำให้ตัวเองเกิดความเขินอาย และไม่กล้าที่จะพูดความรู้สึกที่มีต่อลูกหรือคนในครอบครัวออกไป
ถ้าเรามองย้อนกลับไปในวัยเด็กของผู้ใหญ่บางคน เขาอาจไม่ได้รับความรักอย่างเหมาะสม เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็กลายเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นผู้ปกครองของลูก เขาอาจสงสัยว่า ความรักที่ผู้ปกครองควรจะรักลูกควรเป็นเช่นไร? เพราะตัวเขาเองไม่เคยได้รับความรักเช่นนั้นมา
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
เด็กที่ไม่ได้รับความรักในวันนั้น อาจจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มรักใครอย่างไรดี
ตอนที่ผู้ใหญ่เหล่านี้เป็นเด็ก ‘คำขอ’ ของเขาอาจจะถูก ‘ปฏิเสธ’ จากผู้ปกครองบ่อยครั้ง ในวัยเด็กเขารู้สึกเสียใจและเจ็บปวดกับมันมากมาย แต่มาวันนี้เขากลับชาชิน และเลือกที่จะสร้างกำแพงหนาขวางกั้นระหว่างตัวเขากับผู้อื่น ผู้ใหญ่บางคนที่แสวงหาความรักและเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจตนเอง มักมีประสบการณ์วัยเด็กที่ถูกปฏิเสธซ้ำๆ จากผู้ปกครองตัวเอง
น่าแปลกที่ภายในของพวกเขาต้องการให้ผู้อื่นเข้าหา แต่ภายนอกของพวกเขากลับแสดงท่าทีปฏิเสธผู้อื่น แค่เพียงมีใครสักคนมาสัมผัสโดนร่างกายของเขา ความรู้สึกที่เขาได้รับเพียงแผ่วเบาก็มากพอที่จะทำให้เขาถอยหนีอย่างหวาดกลัว เพราะสัมผัสเบาๆ ที่เขาได้รับนั้นมันหนักอึ้งทางความรู้สึก พวกเขากลัวการถูกปฏิเสธเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเยาว์วัยที่เขาได้รับ วิธีการที่จะไม่ถูกปฏิเสธเช่นนั้นอีก คือ ‘การปฏิเสธผู้อื่นก่อน’ ที่ตัวเขาจะถูกปฏิเสธนั่นเอง เพราะเขาทนรับความเจ็บปวดไม่ไหวอีกต่อไป
ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งภายในใจระหว่างจิตสำนึก (Conscious) กับจิตใต้สำนึก (Subconscious) ที่มีช่องว่างระหว่างกันมหาศาล เนื่องจากได้รับการสั่งสมมานาน แม้ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นจะรายงานว่า “ตัวเองเติบโตมาในครอบครัวธรรมดา และไม่เคยมีปัญหาหนักใดๆ”
แต่อย่าลืมว่า ปัญหาเล็กๆ เช่น การได้รับถ้อยคำเชิงลบเพียงไม่กี่คำ เมื่อเจอซ้ำๆ ย้ำๆ บ่อยๆ สามารถกลายเป็นปัญหาทางใจที่ฝังรากลึกติดตัวตั้งแต่เด็กมาจนปรากฏเป็นผลลัพธ์ในวันที่พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้
ในใจลึกๆ แล้ว เด็กทุกคนปรารถนาให้ผู้ปกครองเข้าใจตนเอง และมอบความรักให้กับตนโดยปราศจากเงื่อนไข เมื่อพวกเขาไม่ได้รับมันในวัยเยาว์ พวกเขามีแนวโน้มจะเรียกร้องมันในตอนโต
พัฒนาการความสัมพันธ์ในเด็ก: เมื่อความสัมพันธ์แรกเกิดมีผลไปตลอดชีวิตของเด็กคนหนึ่ง
ความสัมพันธ์ เกิดจากพันธะทางอารมณ์ (Emotional bonding) กับบุคคลอื่น John Bowlby (1979) เชื่อว่า พันธะทางอารมณ์แรกที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ปกครองลูก จะส่งผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ของลูกที่มีกับคนอื่นในอนาคตด้วย โดยเฉพาะมีผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์กับคนรักของเขา
ความสัมพันธ์แรกที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็กทารกช่วยเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตรอดของเด็กทารกมากขึ้น โดยสัญชาตญาณของเด็กทารกที่เกิดมาจึงพยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู (โดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นพ่อหรือแม่) ด้วยการเกาะติดและแสดงออกถึงความต้องการให้ผู้เลี้ยงดู เช่น การร้องไห้ให้อุ้ม ให้มาสัมผัส ให้นม และอื่นๆ
นักวิจัย Rudolph Schaffer และ Peggy Emerson (1964) ได้ศึกษาเด็กทารกจำนวน 60 คน ผ่านการเข้าไปสังเกตการณ์พฤติกรรมของเด็กทารกทุกคน ทุกๆ 4 สัปดาห์/ครั้ง ตลอด 1 ปีแรกของชีวิต และอีกครั้งหลังจากเด็กๆ ทุกคนอายุครบ 18 เดือน จากการสังเกตการณ์ระยะยาวครั้งนี้ ทำให้พบว่า เด็กๆ มีพัฒนาการความสัมพันธ์แบ่งเป็น 4 ขั้นด้วยกัน
ขั้นที่ 1 ขั้นก่อนสร้างความสัมพันธ์ (Pre-Attachment Stage)
เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัย 3 เดือน เขาจะไม่แสดงความต้องการสร้างความสัมพันธ์แบบเฉพาะเจาะจงกับผู้เลี้ยงดูคนไหน ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อหรือแม่ เป็นใครก็ได้ที่เข้ามาอุ้มและดูแล เขาจะไม่ต่อต้านใดๆ เด็กวัยนี้จะแสดงออกผ่านการร้องไห้หรือส่งเสียงร้องอ้อแอ้ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้เลี้ยงดูให้มาดูแลเขาใกล้ๆ และตอบสนองเขา ซึ่งเด็กวัยนี้ต้องการความสนใจแทบจะตลอดเวลา
ดังนั้น วัยนี้ไม่มีคำว่า ‘อุ้มมากไป’ หรือ ‘ติดมือ’ เด็ดขาด เพราะธรรมชาติสร้างให้เขาต้องเรียกร้องให้เราเข้าไปใกล้ตอบสนองเขา เพื่อให้เขาได้พัฒนาความไว้วางใจขึ้นมา (Trust buiding)
ขั้นที่ 2 ขั้นแยกแยะระหว่างผู้เลี้ยงดูหลักกับผู้เลี้ยงดูรอง (Indiscriminate Attachment)
ทารกวัย 3 เดือน ไปจนถึง 7 เดือน จะเริ่มแสดงความต้องการที่มีต่อผู้เลี้ยงดูที่แตกต่างกันแล้ว เขารับรู้ได้ว่า ใครเป็นผู้เลี้ยงดูหลัก ใครเป็นผู้เลี้ยงดูรอง วัดจากใครเข้ามาดูแลตอบสนองและใช้เวลาอยู่กับเขามากที่สุด วัยนี้ยังคงไม่แยกแยะว่าใครเป็นคนแปลกหน้า ใครเป็นพ่อหรือแม่เขา แต่เขาจะติดคนที่อยู่กับเขามากที่สุด
ด้วยเหตุนี้เอง หากเด็กวัยนี้อยู่กับใครมากที่สุด ความสัมพันธ์ที่ถูกสร้างขึ้นจะแนบแน่นกับบุคคลดังกล่าว หากผู้ปกครองเลี้ยงเขาเอง เขาจะติดเรา แต่ถ้าเราให้คนอื่นเลี้ยงเด็กจะติดคนนั้นมากกว่าเรา
ขั้นที่ 3 ขั้นแยกแยะระหว่างผู้เลี้ยงดูกับคนแปลกหน้า (Discriminate Attachment)
ทารกวัย 7 – 11 เดือน เขาจะเริ่มแสดงออกถึงความต้องการและติดกับผู้เลี้ยงดูหลักของเขา จะเริ่มไม่ยอมให้ใครก็ได้มาอุ้ม และต่อต้านที่จะให้คนแปลกหน้ามาจับตัว ที่สำคัญเป็นช่วงวัยที่เกิดความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากจากผู้เลี้ยงดูหลักของเขา (Seperation anxiety) และรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อมีคนแปลกหน้าที่เขาไม่รู้จักอยู่รอบตัวเขา (Stranger anxiety)
จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กจะร้องไห้ทันทีเมื่อเราทิ้งเขาไว้กับคนอื่นที่เขาไม่คุ้นเคย หรือเด็กจะไม่ยอมให้ใครอุ้มง่ายๆ อีก ดังนั้น ถ้าพ่อหรือแม่ที่ฝากลูกไว้ให้คนอื่นเลี้ยงในช่วงวัยนี้มาตลอด โดยไม่ได้ไปหาเขาบ่อยๆ หรือให้ลูกได้เห็นหน้าเรา เราอาจกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับลูก ถ้าอยากให้ลูกเชื่อใจ ควรค่อยๆ เข้าไปอยู่ในชีวิตเขาให้มากขึ้น เริ่มจากนั่งใกล้ๆ เล่นใกล้ๆ และใช้เวลากับเขาจนเด็กเริ่มชินกับเรา จึงค่อยเข้าไปอุ้มสัมผัสเขา
ทางเลือกของผู้ปกครองทางไกล คือ การไปเยี่ยมเขาบ่อยๆ หรือ ใช้วิดีโอคอลหาลูกเป็นประจำเวลาเดิม สม่ำเสมอ ระยะเวลาไม่ต้องยาว เพราะเด็กวัยนี้ไม่ควรใช้หน้าจอหากไม่จำเป็น
ขั้นที่ 4 ขั้นสร้างความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ (Multiple Attachments)
ทารกวัย 9 เดือนขึ้นไปจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับผู้เลี้ยงดูหลักของเขาได้แล้ว เขารับรู้ว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงดูหลักแตกต่างจากคนอื่นในชีวิตเขา ดังนั้น เด็กวัยนี้สามารถสร้างและแยกแยะความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นกับคนอื่นๆ ได้ เช่น ความสัมพันธ์กับปู่ย่าตายาย พี่น้อง ลุงป้าน้าอา เป็นต้น
เด็กวัยนี้จึงแสดงออกกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นกับบุคคลดังกล่าว เช่น อยู่กับแม่เด็กอาจจะทำตัวทะเล้น อยู่กับปู่ย่าอาจจะเข้าไปอ้อน และอยู่กับพี่น้องอาจจะแสดงออกเป็นผู้ควบคุม เป็นต้น
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงชีวิตในวัยเด็ก หากผู้ปกครองสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้ เด็กจะสามารถสร้างความเชื่อใจที่มีต่อโลกและผู้อื่นได้ แต่ถ้าเด็กไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเขามีผู้เลี้ยงดูหลัก เช่น เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือเด็กที่เปลี่ยนคนเลี้ยงดูไปเรื่อยๆ ไม่แน่ไม่นอน เด็กอาจสูญเสียความไว้วางใจไป เพราะเขาไม่สามารถมีใครสักคนที่อยู่ตรงนั้นกับเขาไปตลอดเวลาที่เขาต้องการได้ หากเด็กร้องแล้วไม่มีใครมาอุ้ม มาปลอบประโลม เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ร้องเท่าไหร่ก็ไม่มีใครมา เด็กจะเรียนรู้การพึ่งพาตัวเองตั้งแต่วัยแบเบาะ ด้วยการปลอบตัวเองให้สงบลง ซึ่งทำให้เขาเลือกที่จะต้องแข็งแกร่งขึ้น แม้ในวัยที่เขาไม่พร้อม ส่งผลให้เมื่อเด็กเติบโตอาจดูแข็งกร้าว แต่ภายในเปราะบางเหลือเกิน
ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องให้การตอบสนองดูแลเมื่อเด็กวัยนี้ต้องการ เพราะเขายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ความมั่นคงทางใจที่ถูกสร้างขึ้นจะกลายเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่เด็กจะสร้างกับคนอื่นๆ ในชีวิตของเขาอีกด้วย โดยเฉพาะกับคนรักของเขาในอนาคต
ในวัยที่ลูกต้องการความรัก การกอด การอุ้ม และเวลาจากผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดู แต่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่บางคนกลับมองว่า ‘การแสดงออกซึ่งความรัก คือ การทุ่มเททำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูลูก ให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ซื้อของเล่นราคาแพงให้ลูก’ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เด็กต้องการมากที่สุด คือ ‘เวลาคุณภาพ’ และ ‘การสัมผัสด้วยรัก’ จากผู้ปกครองของเขา
วันนี้ที่เราเป็นผู้ใหญ่และมีโอกาสได้เป็นพ่อแม่ของลูก
หากวันนี้ที่เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เรารับรู้ได้ว่าในวัยเด็กของเราอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับผู้ปกครอง สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ คือ ตระหนักรู้ และเลือกที่จะเปิดใจให้โอกาสกับคนที่เข้ามาในชีวิตของเรา เราสามารถเลือกได้ว่า เราอยากจะมีความสัมพันธ์แบบไหน โดยไม่ให้อดีตมาดึงรั้งเราไว้
การพูดคุยสื่อสารกับคนที่รัก จึงเป็นเรื่องสำคัญ บอกเล่าให้เขารับรู้ว่า เรามีความยากลำบากอย่างไรในเรื่องของ ‘ความไว้ใจ’ ในการสร้างความสัมพันธ์กับใครสักคน ความเข้าใจและความไว้ใจเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ความรักเติบโต
เวลาเราต้องการบอกรักลูก เราทำได้ด้วยการมีเวลาคุณภาพและสัมผัสเขาด้วยรัก สื่อสารกับเขาด้วยหัวใจ
วิธีการสื่อสารกับลูกที่ดีที่สุด
ข้อที่ 1 วางเครื่องมือสื่อสารหรือทุกสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าเวลาพูดคุยกับลูก หรืออยู่กับเขา
ถ้าหากเราทำอะไรไปด้วยคุยกับเขาไปด้วย แสดงว่า สิ่งนั้นอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญ และเด็กอาจไม่ได้ฟังด้วยซ้ำว่า เราพูดอะไรกับเขา และในทางกลับกัน หากเด็กคุยอะไรกับเรา เราก็ควรวางสิ่งที่อยู่ตรงหน้าลงเพื่อรับฟังเขาเช่นกัน
ในกรณีที่เราไม่สามารถหยุดสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าได้ ควรบอกลูกให้ชัดเจนว่า “พ่อ/แม่ขอเวลา…นาทีแล้วจะฟังลูก ลูกช่วยรอพ่อ/แม่ก่อนนะ” แต่เด็กที่ยังไม่รู้เรื่องเวลา เราบอกลูกได้ว่า “พ่อ/แม่ เหลือทำ…(อีกเท่าไหร่) แล้วจะไปฟังลูกทันที ลูกนั่งรอตรงนี้นะ”
ข้อที่ 2 เวลาคุยกับเขา ให้ย่อตัวลงมาอยู่ในระดับความสูงเดียวกับลูก และมองตาลูกเสมอ
เมื่อเราอยู่ในระดับเดียวกับเขา ลูกจะรู้สึกว่า เขาไม่ถูกกดดันจากเราและรู้สึกปลอดภัย
เด็กบางคนจะรู้สึกกลัว หรือรู้สึกถูกข่ม เวลาผู้ใหญ่ที่ตัวสูงกว่าตัวเองมองลงมาที่เขา และพูดบางอย่างกับเขา ที่สำคัญเป็นการให้เกียรติลูกด้วย นอกจากนี้ เราควรมองตาเขา แล้วพูดกับเขาให้ชัดเจน เพราะการมองตา ทำให้ลูกเข้าใจว่า เราคุยกับเขาอยู่ และสิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เขาควรฟัง นอกจากนี้การมองตากัน ทำให้เด็กสามารถจดจ่อกับสิ่งที่เราพูดกันได้มากขึ้นอีกด้วย
ข้อที่ 3 การสัมผัสเพื่อสื่อสารความรู้สึกรัก
หากเราต้องการบอกรักลูกหรือให้กำลังใจเขา การกอดและสัมผัสที่ตัวเด็กโดยตรง อย่างการลูบหัว เกาหลัง จับที่ไหล่ แตะที่บ่า อาจทำให้เด็กรับรู้ถึงความรู้สึกได้ดีกว่าการแค่พูดบอกเขา
นอกจากนี้ เวลาสัญญาอะไรกับเด็กๆ หากเราลองใช้การเกี่ยวก้อยสัญญา เด็กๆ จะรู้สึกว่า ‘เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราสัญญามากจริงๆ’ แม้นั่นจะเป็นแค่สัญลักษณ์เท่านั้น แต่สำหรับเด็กๆ คำสัญญาที่เกี่ยวก้อยกันนั่นมีความพิเศษมาก เพราะนั่นคือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับเขา
สุดท้าย คำบอกรักสำหรับเด็กอาจจะเป็นนามธรรมสำหรับเขา แต่ถ้าหากเราใช้การสัมผัสและใช้เวลาอยู่กับเขา เด็กสามารถรับรู้ได้ว่า นี่คือ ‘ความรัก’ จากผู้ปกครองของเขา เมื่อเรามีโอกาสได้เป็นผู้ปกครองของลูก อย่าลืมให้ความรักที่มั่นคงนี้ให้กับลูก เขาต้องการมันจากเรายิ่งกว่าใครๆ