- การเติบโตท่ามกลางครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกในบ้านหลายคน ข้อดีมีหลากหลาย เช่น มีจำนวนผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันหลายคน หากอีกด้านของเหรียญเดียวกันก็มีปัญหาไม่น้อย
- เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา เขียนถึงปัญหาที่อาจเกิดในครอบครัวใหญ่ เช่น การเลี้ยงดูแบบตามใจ ทอดทิ้งหรือปล่อยปละละเลย การเลี้ยงดูแบบสับสน / สภาพแวดล้อมที่มีความขัดแย้งกันตลอดเวลา
- และบาดแผลทางใจที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้นว่า การถูกเปรียบเทียบระหว่างตัวเองกับพี่น้องคนอื่น การต้องทำตามความต้องการของสมาชิกในบ้าน (ซึ่งมีหลายคน) มากกว่าความต้องการของตัวเอง การไม่มีตัวตนและถูกมองข้าม การกลายเป็นคนอกตัญญูเพียงเพราะเลือกทำตามความต้องการตัวเอง
ครอบครัวส่วนใหญ่มักประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก เราเรียกครอบครัวแบบนี้ว่า ครอบครัวเดี่ยว แต่ในบางครอบครัว อาจจะมีจำนวนสมาชิกมากกว่านั้น บางครอบครัวอาจจะอยู่รวมกันตั้งแต่ปู่ ย่า ตายาย พี่ ป้า น้า อา พ่อ แม่ ลูก หลาน ซึ่งครอบครัวลักษณะนี้เราจะคุ้นเคยกันดีในชื่อเรียก ครอบครัวขยาย หรือครอบครัวขนาดใหญ่
ข้อดีของการอยู่รวมกันหลายคน คงเป็นเรื่องของความอบอุ่น บ้านของครอบครัวใหญ่อาจจะไม่เคยเงียบเหงา เวลาจัดงานเทศกาล ลูกหลานอาจจะวิ่งเล่นกันเต็มบ้านพาให้ผู้ใหญ่ในบ้านพลอยอิ่มเอมใจไปด้วย เวลาเกิดปัญหาคนในครอบครัวสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกันได้
อย่างไรก็ตามการเติบโตท่ามกลางครอบครัวใหญ่ก็อาจจะทำให้เด็กบางคนต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้…
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม
ข้อที่ 1 การเลี้ยงดูแบบตามใจ
เมื่อเด็กคนหนึ่งเกิดมาท่ามกลางสมาชิกในครอบครัวหลายคน เขาจะกลายเป็นศูนย์กลางของความสนใจและความรักไปโดยปริยาย ยิ่งถ้าเป็นลูกคนแรก และหลานคนแรก ทุกคนจะพร้อมเอาอกเอาใจเขาเป็นพิเศษ การถูกตามใจในทุกๆ เรื่อง ทำให้เขากลายเป็นเด็กที่ไม่รู้ขอบเขตว่า ‘อะไรควรทำ’ หรือ ‘ไม่ควรทำ’ และ ‘ไม่รู้ว่าจะต้องพยายามทำสิ่งต่างๆ เพื่อตัวเราเอง’ เพราะที่ผ่านมาทุกคนในครอบครัวช่วยเหลือเขาเร็วเกินไปด้วยการทำทุกอย่างให้กับเขา แม้ว่าสิ่งนั้นเขาควรจะเรียนรู้และฝึกฝนทำมันด้วยตัวเอง
เมื่อเขาเติบโตเข้าสู่วัยที่ต้องเข้าโรงเรียน เขาอาจไม่มีความมั่นใจเมื่อต้องจากครอบครัว เพราะเขาไม่รู้ว่าต้องจัดการตัวเองหรือรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างไร เขาจะกลายเป็นเด็กที่ทำอะไรไม่เป็น เพื่อนๆ จะเริ่มมองเขาแตกต่าง และยิ่งเวลาเขาเล่นกับเพื่อน อาจเกิดปัญหา เพราะเขาจะลืมไปว่าตัวเขาควรที่รอเพื่อผลัดกันเล่นกับเพื่อน และเขาควรแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้เพื่อนบ้าง แต่เขาไม่เคยรู้มาก่อน เพราะที่ผ่านมาของทุกอย่างในบ้านล้วนเป็นของๆ เขา เขาไม่เคยต้องแบ่งปันกับใคร หรือผลัดกันเล่นกับใครเลย
สุดท้ายเมื่อเด็กที่ถูกตามใจเติบโตขึ้นมากลายเป็นคนที่เอาแต่ใจ ตัวเขาก็จะปรับตัวเข้าสู่สังคมได้ยาก เพราะไม่มีใครที่คอยตามใจหรือทำอะไรให้เขาเหมือนที่บ้าน ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็รู้สึกถูกขัดใจและยากลำบากไปเสียหมด ยิ่งการเข้าสู่สังคมที่มีกฎกติกาที่ชัดเจน เด็กที่ไม่เคยรู้ขอบเขตมาก่อน จะรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องมาอยู่ภายใต้กรอบระเบียบเหล่านี้ ถ้าหากเขาเรียนรู้ที่จะปรับตัวย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเขาไม่อยากปรับตัวเอง เลือกแยกตัวออกจากสังคมแทน หรือทำสิ่งที่คนอื่นไม่ยอมรับ อาจถูกคนอื่นมองเขาไม่ดี และตัวเขาเองย่อมรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
ข้อที่ 2 การเลี้ยงดูแบบทอดทิ้งหรือปล่อยปละละเลย
ในทางตรงกันข้ามกับการเลี้ยงดูแบบตามใจ คือ การเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง หรือถูกปล่อยปละละเลย บางครั้งการเติบโตในครอบครัวใหญ่ที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวทุกคนต้องทำงาน ลูกหลานอาจถูกปล่อยให้อยู่กับผู้สูงอายุภายในบ้าน เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งผู้สูงอายุบางคนก็ไม่มีแรงที่จะวิ่งเล่นไล่จับกับหลาน ซึ่งการดูแลเด็กวัยกำลังซนเป็นเรื่องยาก ทางเดียวที่จะทำให้เด็กๆ เหล่านี้อยู่นิ่ง และสงบเป็นเวลานานได้ก็คือ การเปิดหน้าจอให้ดู
ในสมัยที่เพิ่งมีโทรทัศน์เด็กๆ ก็อาจจะต้องดูละครที่ปู่ย่าตายายดู ปัจจุบันการเข้ามาของเทคโนโลยีอย่างไอแพด แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือที่สามารถดู Youtube ได้ เด็กๆ ก็หันมาติด Youtube แทน ซึ่งโดยมากเนื้อหาที่เด็กๆ ได้ดูมักจะไม่เหมาะสมกับวัย และระยะเวลาที่ดูอย่างยาวนานอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการหลายๆ ด้านของเขา
โดยเฉพาะในเด็กเล็ก พัฒนาการทางด้านภาษาและสมาธิของเขาการจะถูกขัดขวางจากการดูหน้าจอ และพฤติกรรมเลียนแบบผนวกกับอารมณ์ที่รุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเขาดูเนื้อหาที่มีความรุนแรงในนั้น เด็กกลุ่มนี้จะเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคสมาธิสั้นเทียม* โรคออทิสติกเทียม** โรคขาดประสบการณ์ และอื่นๆ
นอกจากนี้ การที่เด็กถูกเลี้ยงดูแบบทอดทิ้งหรือปล่อยปละละเลยในช่วงเวลาที่สำคัญ คือ ‘ช่วงวัย 0-6 ปี’ เขาจะไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อแม่ได้ดี พ่อแม่กลายเป็นคนที่ไม่มีอยู่จริงสำหรับเขา เมื่อถึงคราวที่พ่อแม่ต้องสอนอะไร เขาจะไม่ฟัง และต่อต้านมากขึ้น เมื่อเด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ เขาอาจจะไม่รู้สึกผูกพันกับคนในครอบครัว
ซ้ำร้ายรากฐานที่สำคัญ คือ จิตใจที่มั่นคงอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับเขา ทำให้เมื่อเจออุปสรรคและปัญหาในชีวิต เขาอาจจะไม่มั่นใจว่าตัวเขาจะสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้
*โรคสมาธิสั้นเทียม เด็กที่มีสภาวะปกติ แต่เพราะปัจจัยการเลี้ยงดูทำให้พวกเขามีอาการคล้ายกับเป็นสมาธิสั้น **โรคออทิสติกเทียม คือ เด็กที่เกิดมาไม่ได้มีภาวะออทิสติก แต่เกิดจากการเลี้ยงดู เช่น ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้ทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมตามพัฒนาการของวัย |
ข้อที่ 3 การเลี้ยงดูแบบสับสน
ในครอบครัวใหญ่ การเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งเป็นเรื่องปกติ ถ้าหากแนวทางในการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่ทุกคนในครอบครัวเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ถือเป็นเรื่องโชคดีและเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะเด็กจะเรียนรู้และปฏิบัติตามแนวทางที่พ่อแม่สอนได้อย่างดี แต่ถ้าหากแนวทางที่พ่อแม่สอนตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้ใหญ่คนอื่นในบ้านปฏิบัติต่อเด็ก ปัญหาจะเกิดขึ้นในทันที เด็กจะเกิดความสับสนว่า ‘แล้วเขาควรจะเชื่อและทำตามใครดี’
ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่อาจจะสอนให้ลูกมีวินัยและช่วยเหลือตัวเองเป็น แต่ปู่ ย่า ตา ยาย อาจจะตามใจหลาน หลานอยากได้อะไรก็ให้หมดทุกสิ่ง หลานไม่อยากทำอะไรเอง ก็ทำให้หมดทุกอย่าง ถ้าเป็นเช่นนี้เด็กจะรู้สึกว่า เขาไม่อยากมีวินัย ไม่อยากช่วยเหลือตัวเอง เพราะการถูกตามใจนั้นสบายกว่า ทำไมเขาต้องลำบากควบคุมตัวเองด้วย ดังนั้น เด็กจะอยากอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย และไม่ชอบเวลาอยู่กับพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่และปู่ ย่า ตา ยาย ทะเลาะกันบ่อยครั้งกับเรื่องนี้
ในท้ายที่สุด ไม่ว่าพ่อแม่จะพยายามสอนวินัยลูกมากแค่ไหน หากสภาพแวดล้อมยังมีคนตามใจลูกอยู่ จะไม่เกิดผลใดๆ กับลูก ถ้าเกิดจะแค่น้อยนิด ยกเว้นเสียแต่ว่า พ่อแม่จะแยกออกมาอยู่กันเอง หรือ ใช้เวลาอยู่กับลูกมากกว่าผู้ใหญ่คนอื่นในบ้าน จึงจะสามารถดึงลูกกลับมาสู่ทางที่เหมาะสมได้
ข้อที่ 4 สภาพแวดล้อมที่มีความขัดแย้งกันตลอดเวลา หรือ ท่ามกลางความเกลียดชังของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย
บางครั้งการอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ อาจจะนำมาซึ่งความอึดอัดระหว่าง พ่อแม่สามีกับลูกสะใภ้ หรือ พ่อแม่ภรรยากับลูกเขย ได้ง่ายขึ้น เมื่อแนวทางในการใช้ชีวิตและบุคลิกไม่ตรงกัน อาจจะทำให้เกิดปัญหาขัดใจกันได้ง่าย เมื่อเกิดการล้ำเส้นกันเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งกันได้ทันที
เด็กที่เติบโตมาท่ามกลางความเกลียดชังของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย มีการทะเลาะกันไม่เว้นแต่ละวัน และผู้ใหญ่พยายามให้เด็กเข้าข้างตัวเองด้วยการพูดจาให้ร้ายอีกฝ่าย เด็กจะมีแนวโน้มมีอารมณ์ที่รุนแรงและระบายอารมณ์กับผู้อื่นเมื่อมีโอกาส หากไม่สามารถระบายออกได้อย่างเหมาะสม เขาอาจจะเก็บอารมณ์ทางลบเหล่านั้นไว้ นานวันเข้าก็สามารถเป็นสาเหตุของปัญหาทางสุขภาพจิตตามมาได้
บาดแผลและภาระทางใจจากครอบครัวใหญ่
ข้อที่ 1 การถูกเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับพี่น้องและลูกหลานคนอื่น
เมื่อเติบโตมาท่ามกลางญาติพี่น้อง ตัวเราไม่เพียงจะถูกเปรียบเทียบกับพี่น้องของเราแล้ว เรายังจะถูกเปรียบเทียบกับลูกพี่ลูกน้องของเราอีกด้วย การเปรียบเทียบเริ่มต้นตั้งแต่รูปร่างหน้าตา ไปจนถึงความสามารถในการเรียน และการทำสิ่งต่างๆ ยิ่งครอบครัวใดให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศทางวิชาการ ลูกหลานคนไหนสอบได้คะแนนเต็ม หรือ สอบได้ที่หนึ่ง ทุกคนในบ้านจะพากันชื่นชม ความกดดันที่เพิ่มขึ้นในลูกหลานคนอื่นทวีคูณ เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ถ้างานของเราที่ได้ ไม่ได้
ข้อที่ 2 การต้องทำตามความต้องการของคนในครอบครัวมากกว่าความต้องการของตนเอง
เมื่อเราอยู่ในครอบครัวใหญ่ การตัดสินใจของเรามักจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงจากพ่อแม่ของเรา แต่หมายรวมถึงปู่ ย่า ตา ยาย ป้า น้า อา ของเราด้วย เพราะพ่อแม่มักจะเกรงใจผู้ใหญ่คนอื่นในบ้านด้วย ทำให้การที่เราต้องเลือกอะไรบางอย่าง เป็นเรื่องยากมากหากสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่ครอบครัวเห็นชอบด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ และต้องเลือกคณะที่ครอบครัวให้การยอมรับ ซึ่งก็มักจะเป็น แพทย์ วิศวกร และบริหาร-บัญชี ถ้าเราอยากเรียนในมหาวิทยาลัยและคณะเหล่านี้คงเป็นความโชคดีไปที่ใจเราตรงกับทางบ้าน แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น เราคงต้องต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราอยากเรียนมากพอสมควร เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ เราไม่เพียงแต่จะต้องต่อสู้กับพ่อแม่ แต่เราต้องต่อสู้กับคนทั้งตระกูล ทำให้เป็นเรื่องยากและตัวเรามักจะยอมทำตามความต้องการของครอบครัวไป
ข้อที่ 3 การต้องเสียสละตัวเองเพื่อพี่น้องและครอบครัว
แม้จะเป็นครอบครัวใหญ่ แต่บางครั้งรายได้ของครอบครัวก็สวนทางกับจำนวนปากท้องของสมาชิกภายในครอบครัวที่มีจำนวนมาก พี่คนโตสุดของครอบครัวมักจะกลายเป็นผู้ที่ต้องเสียสละตัวเองลาออกจากโรงเรียนเพื่อมารับผิดชอบดูแลครอบครัวร่วมกับพ่อแม่ ทั้งๆ ที่ใจจริงเขาอาจจะอยากเรียนต่อ อยากทำตามความฝันของตัวเอง แต่ความจำเป็นของครอบครัวกลับมาก่อนความต้องการของเขา เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความรู้สึกที่ติดค้างภายในใจยังคงตามติดเขามา เขาอาจจะกลายเป็นคนเก็บความรู้สึก และทำตามหน้าที่ก่อนความต้องการของตัวเองเสมอ
ข้อที่ 4 การไม่มีตัวตนและการถูกมองข้าม
เมื่อเป็นครอบครัวใหญ่ สมาชิกภายในครอบครัวนั้นมีหลายคน จนบางครั้งเด็กที่เกิดมาไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ อาจจะเป็นคนถูกมองข้ามเสมอ ซึ่งเด็กคนนี้อาจจะเป็นลูกคนกลางของครอบครัว พ่อแม่และผู้ใหญ่คนอื่นๆ จึงลืมเขาไป เพราะมัวแต่ให้ความสนใจกับน้องคนเล็ก ไม่ก็พี่คนโตของครอบครัว ดังนั้น เด็กอย่างเขาต้องพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้คนในครอบครัวรับรู้ว่ามีเขาอยู่ และยอมรับในตัวเขา ถ้าเขาทำได้สำเร็จนั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเขาทำไม่สำเร็จ เด็กจะเลือกยอมแพ้ และยอมอยู่อย่างเงียบในครอบครัวนี้ หรือ เขาอาจจะเลือกทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมเพื่อเรียกร้องความสนใจจากทุกคนในครอบครัวก็เป็นได้ สำหรับเขาการไม่มีตัวตนนั้นเจ็บปวดกว่าการถูกตำหนิและลงโทษเสียอีก เพราะการถูกมองเห็นย่อมดีกว่าถูกมองข้ามแน่นอน
ข้อที่ 5 การเป็นคนอกตัญญู
เด็กบางคนเลือกที่จะทำตามฝันของตัวเอง แม้ว่าฝันนั้นจะตรงข้ามกับค่านิยมและความต้องการของครอบครัว การที่เขาทำเช่นนั้น เขาต้องถูกคนในครอบครัวใหญ่ตราหน้าว่าเป็น “คนอกตัญญู” ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นภายในใจทำให้บางครั้งตัวเขาสับสนว่า “สิ่งที่เขากำลังทำนั้นถูกจริงๆ หรือ และเขาเป็นคนอกตัญญูต่อครอบครัวจริงๆ หรือเปล่า” ยกตัวอย่างเช่น
– ครอบครัวของเด็กคนหนึ่งอยากให้เขาดูแลธุรกิจขนส่งของครอบครัวต่อไป แต่ตัวเขาอยากเรียนต่อต่างประเทศและกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ครอบครัวอาจจะรับไม่ได้ และไม่ยอมส่งเสียเขาเรียนต่อ เพื่อให้เขากลับมาดูแลกิจการที่บ้าน
– เด็กคนหนึ่งอยากเรียนศิลปะ แต่พ่อแม่และวงศ์ตระกูลทำอาชีพแพทย์ ตัวเขาไม่ได้ชอบ และรู้ตัวดีว่าเรียนไม่ไหว เมื่อพ่อแม่กดดันมากเข้าก็ยอมเรียนแพทย์ แต่เรียนไปได้สองปีก็ไปต่อไม่ไหวอย่างที่คาดไว้ เขาลาออกและสอบเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ พ่อแม่ไม่ยอมพูดกับเขาอีกเลย
– ปัจจุบันเด็กคนหนึ่งอยากออกไปร่วมม็อบ พ่อแม่ไม่ชอบที่ลูกสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามกับตนเอง เมื่อลูกยืนหยัดจะทำตามที่ตัวเองเชื่อ พ่อแม่เลือกที่จะตัดขาดความสัมพันธ์กับลูก
ไม่มีลูกคนไหนที่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวังและเลิกรักเขา เพราะสำหรับเขามันเจ็บปวดมากที่เขาต้องเลือกระหว่างความฝัน ความเชื่อ และตัวตนของเขา กับ พ่อแม่ที่เขารัก
ข้อที่ 6 ความไม่เท่าเทียมในครอบครัว
“ครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว”
บางครอบครัวใหญ่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว ด้วยวัฒนธรรมขนมธรรมเนียมที่ส่งต่อกันมา ลูกชายจะรู้สึกเป็นใหญ่ และอาจจะไม่ให้เกียรติเพศหญิง เพราะเขามองว่าผู้หญิงนั้นด้อยกว่าตัวเอง ในทางกลับกัน ลูกสาวจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง เพราะมีหน้าที่ฟังและทำตามอย่างเดียว ทำให้เมื่อลูกสาวเติบโตมา อาจจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง และไม่กล้าปฏิเสธหรือยืนหยัดเพื่อตัวเองเลย
ครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับพี่คนโตมากกว่าน้องคนอื่นๆ
บางครอบครัวใหญ่จะให้ความสำคัญกับพี่คนโตมาก จนไม่ให้ความเท่าเทียมกับน้องคนอื่นๆ พี่คนโตจะได้ทุกอย่างหรือได้มากกว่าน้องคนอื่นเสมอ และพ่อแม่จะมอบอำนาจให้พี่คนโตเลือกและตัดสินใจในทุกอย่าง ทำให้พี่คนโตค่อนข้างวางอำนาจและเอาแต่ใจ ในขณะที่น้องคนอื่นอาจจะรู้สึกอิจฉาและไม่ชอบพี่คนโตมากๆ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
ครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับน้องคนเล็กสุดมากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ
บางครอบครัวใหญ่จะประคบประหงมลูกหรือหลานคนสุดท้องมากเป็นพิเศษ เวลาเด็กอยากได้อะไรก็จะให้ทันที และพี่ๆ ต้องเสียสละให้น้องคนนี้เสมอ จนทำให้เด็กกลายเป็นคนเอาแต่ใจ ส่วนพี่ๆ จะรู้สึกไม่ชอบน้องและดื้อรั้นกับพ่อแม่มากขึ้น เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเอง
ข้อที่ 7 กับดักแห่งความมั่นคง
ครอบครัวใหญ่บางครอบครัวมีธุรกิจเป็นของตัวเองทำให้ลูกหลานต่างเติบโตมาและทำงานในธุรกิจดังกล่าว ทั้งนี้เด็กบางคนอาจจะมีฝันที่จะทำอย่างอื่น แต่ก็กลัวว่าฝันของตัวเองอาจจะไม่มั่นคงเท่ากับการงานของที่บ้าน ทำให้เลือกที่จะพับฝันนั้นเก็บไป และสานต่อธุรกิจของครอบครัวเอง
แนวทางในการรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดจากการเติบโตท่ามกลางครอบครัวใหญ่
สำหรับพ่อแม่
- ถ้าหากเราไม่สามารถเปลี่ยนที่คนในครอบครัวใหญ่ได้ เราควรเปลี่ยนที่ครอบครัวของตัวเอง พูดคุยกับสามีหรือภรรยา และกำหนดแนวทางในการเลี้ยงลูกด้วยตนเอง ทำให้ตรงกัน และใช้วเลาอยู่ลูกให้มากที่สุด
- ถ้าหากเราไม่สามารถหยุดการแทรกแซงของผู้ใหญ่ที่กระทำต่อลูกเรา เราควรเลือกที่จะพาครอบครัวออกมา หากออกมาไม่ได้เราควรที่จะใช้เวลาในการเลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง และไม่ฝากลูกไว้กับใคร
- ก่อนที่จะเปลี่ยนเเปลงหรือแก้ปัญหาอะไร ตัวเราทั้งกายใจต้องพร้อมก่อน เพราะหากจะลงมือเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาอะไรแล้ว เราต้องทำอย่างจริงจัง การออกกำลังกายและกินอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอสามารถทำให้ร่างกายของเราพร้อม ส่วนจิตใจหากเราไม่สามารถจัดการภาระทางใจได้ การไปพบผู้เชี่ยวชาญ อย่างเช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักบำบัด สามารถช่วยเราได้
- รู้จักปล่อยวาง การอยู่กับครอบครัวใหญ่ ทำให้เราต้องเผชิญเรื่องของ การติฉินนินทา ตำหนิต่อว่า และการใส่ร้าย ได้ง่ายขึ้น ดังนั้น หากเรื่องดังกล่าวที่ได้ยินมา ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องเอามาใส่ใจ
- มีความสุขกับครอบครัวเล็กๆ ความสุขของเราไม่ควรไปแขวนอยู่กับครอบครัวใหญ่ หากเราและลูกเรามีความสุขได้ง่ายๆ ก็เพียงพอแล้ว
- พึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด กับดักที่ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่อยู่ในครอบครัวใหญ่ไม่กล้าตัดสินใจ หรือ เลือกทางเดินชีวิตให้กับครอบครัวตัวเอง เกิดจากการที่ต้องพึ่งพาครอบครัวใหญ่มากเกินไป หากอะไรที่เราทำได้ด้วยตนเอง เราก็ควรทำมันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ การเลี้ยงลูกด้วยตนเอง
สำหรับลูก
- ตระหนักรู้ถึงบาดแผลและภาระทางใจที่เราได้รับจากการเติบโตมา ไม่เป็นไรที่จะลืมหรือให้อภัยไม่ได้ แต่เราควรที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว และก้าวต่อไป
- ยอมรับตัวตนที่เราเป็น แม้ที่ผ่านมาเราจะไม่รับรู้ว่า คนในครอบครัวไม่ยอมรับในแบบที่เราเป็น ขอให้เราเริ่มต้นด้วยการยอมรับในสิ่งที่เราเป็นก่อน หาจุดที่เราสบายใจ และเรียนรู้ที่จะทำความรู้จักตัวเองในจุดนั้น
- รักตัวเองก่อน หากที่ผ่านมาเรารู้สึกว่า ไม่มีใครรักเรา ขอแค่เราเองที่รักตัวเองก่อน
- หากข้อ 1-3 เราไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง แนะนำให้พบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือ นักบำบัดอื่นๆ เพื่อช่วยคลายปมภายในใจ และเรียนรู้ที่จะก้าวต่อไป
- กำหนดชีวิตตัวเอง เราเป็นผู้รับผิดชอบในสิ่งที่เลือก ดังนั้น ขอให้เลือกในสิ่งที่รักและเป็นตัวเรา
- ไม่เป็นไรที่วันนี้ยังทำไม่ได้สักข้อ เพราะอย่างน้อยแค่เริ่มทำไปวันละนิด เราจะค่อยๆ เปลี่ยนไปวันละน้อย แม้จะเปลี่ยนได้ช้า แต่ยั่งยืนกว่าการเปลี่ยนชั่วข้ามคืน เพราะในความเป็นจริงแล้ว เป็นไปได้ยากมากที่ปกในวัยเยาว์ที่สะสมมาในใจกว่าครึ่งชีวิตของเราจะสามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้นๆ ให้เวลากับตัวเอง อย่ารีบร้อน
สุดท้าย ไม่ใช่ทุกครอบครัวใหญ่จะมีแต่เรื่องเลวร้าย และไม่ใช่ทุกครอบครัวเล็กที่จะมีเเต่เรื่องดี ทุกครอบครัวล้วนมีทั้งเรื่องดีและร้ายปะปนกันไป เพราะเราทุกคนล้วนก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง การที่เรามาอยู่รวมกันย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ในเมื่อเราได้เติบโต และมีประสบการณ์ในข้อผิดพลาดบางอย่างมาแล้ว เราควรเก็บเอาข้อผิดพลาดที่เราเคยประสบมาเป็นบทเรียน และไม่ทำผิดพลาดกับลูกหรือใครๆ ต่อไป