Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Family Psychology
3 March 2021

การเข้าใจผิดเรื่องการเลี้ยงดู EP.4 พ่อแม่แยกทางกัน ความรักที่มีให้ลูกไม่ควรหารครึ่ง

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • การหย่าร้างของผู้ปกครองย่อมส่งผลกระทบกับลูกไม่มากก็น้อย ซึ่งผลกระทบที่ว่านี้จะส่งผลแค่ระยะสั้นๆ เป็นแผลที่ตกสะเก็ดและหายไป หรือกลายเป็นแผลเรื้อรังที่กัดกินจิตใจพวกเขาไปจนโต ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของผู้ปกครองแต่ละคน
  • การทะเลาะต่อหน้าลูก หรือพูดให้ร้ายอีกฝ่าย อาจทำให้ลูกเกิดความสับสนและส่งผลกระทบทำให้จิตใจของเขาไม่มั่นคง ลูกจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ และลำบากใจถ้าต้องเลือกระหว่างพ่อหรือแม่
  • พูดความจริงกับลูกตรงๆ พร้อมกับให้เวลาเขาจะเป็นตัวช่วยให้ลูกก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้
หมายเหตุ 1 เนื้อหาต่อไปนี้มีการปรับแต่งเนื้อหาและรายละเอียดเพื่อปกป้องสิทธิ์ของคนไข้ แต่โครงเรื่องยังคงไว้เช่นเดิม
หมายเหตุ 2 บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป

เด็กหญิงสองบ้าน

พ่อแม่ของเด็กหญิงวัย 8 ปีคนหนึ่ง กำลังอยู่ในกระบวนการหย่าร้าง ทั้งคู่ต่างต้องการให้ลูกสาวมาอยู่กับตัวเอง แต่สำหรับเด็กหญิงแล้วทั้งคู่คือคนที่เธอรัก เธอไม่สามารถเลือกได้ว่าเธออยากอยู่กับใครดี เพราะคำตอบสุดท้ายที่เธอต้องการ คือ การอยู่กับทั้งพ่อและแม่ของเธอเหมือนเดิม

ระหว่างการตัดสินใจ เด็กหญิงต้องอยู่ท่ามกลางพ่อกับแม่ที่ทะเลาะกันไม่หยุดหย่อน ทั้งคู่ต่างต้องการให้ลูกสาวเข้าข้างตัวเอง จึงใช้วิธีการพูดถึงอีกฝ่ายเสียๆ หายๆ ให้ลูกฟัง ทุกครั้งที่พ่อแม่ของเธอพูดถึงด้านไม่ดีของกันและกันให้เด็กหญิงฟัง เธอจะรู้สึกว่าร่างกายของเธอจะมีตำหนิมากมายโผล่ขึ้นมา

ถ้าหากแม่ของเธอไม่ดี ตัวเธอก็คงไม่ดีด้วย หรือถ้าพ่อของเธอแย่ ตัวเธอก็คงแย่ด้วย เพราะเด็กหญิงรู้ว่า เนื้อกายของเธอส่วนหนึ่งก็มาจากแม่ของเธอและอีกส่วนหนึ่งก็มาจากพ่อของเธอ ดังนั้นเมื่อพ่อตำหนิแม่ ก็เหมือนตำหนิส่วนหนึ่งของเธอด้วย เมื่อแม่เกลียดพ่อ ก็เหมือนเกลียดส่วนหนึ่งของเธอด้วย

บาดแผลที่เกิดขึ้น ทำให้เธอรู้สึกว่า ‘เธอไม่ดีพอ’ และความเศร้าที่เกิดขึ้นจากการที่ ‘รักแท้ที่เธอมักอ่านเจอในตอนจบของเทพนิยายไม่มีอยู่จริง’ เพราะพ่อแม่ของเธอกำลังจะแยกทางกัน โลกทั้งใบของเธอเพิ่งทลายลงไปต่อหน้าต่อตา

บาดแผลที่ส่งผลไปยังวัยผู้ใหญ่

มีงานวิจัยมากมายพบว่า การหย่าร้างที่ยุติไม่ดี มักส่งผลกระทบทางใจต่อเด็ก และส่งผลต่อเนื่องไปยังการแสดงออกทางพฤติกรรมในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นในวัยผู้ใหญ่ ตัวอย่างเช่น…

งานวิจัยของ Silvio Silvestri (1992) พบว่า เด็กหญิงที่พ่อแม่ยุติความสัมพันธ์กันไม่ดี เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เธอมีแนวโน้มจะไม่พัฒนาความวิตกกังวลในการสร้างความสัมพันธ์ในเชิงคู่รัก เพราะเธอมีแนวโน้มไม่เชื่อมั่นในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ในทางกลับกันเธอกลับต้องการความรักและกลัวการถูกทอดทิ้งเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้งานวิจัยของ David Fergusson และคณะ (2014) พบว่า เด็กชายที่เติบโตมาท่ามกลางการทะเลาะเบาะแว้ง และการใช้ความรุนแรงของพ่อแม่ก่อนการหย่าร้าง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขามีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงกับคู่รักของตัวเองโดยเจตนา หรือไม่เจตนา

ด้วยเหตุนี้บาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา ไม่เพียงแค่ติดตัวเด็กๆ ไป แต่บาดแผลกลับแผ่ขยายใหญ่โตตามตัวพวกเขาไปด้วย

‘การหย่าร้าง’ สถานะสามีภรรยาหมดลง ความเป็นพ่อแม่ไม่ (ควร) หมดไป

บ่อยครั้งที่เส้นทางการแต่งงานของสองสามีภรรยาไม่อาจไปต่อได้ ‘การหย่าร้าง’ มักเป็นทางออกของเราทั้งคู่ แต่สำหรับคนที่เป็นลูกแล้ว เหตุการณ์นี้ไม่ต่างอะไรกับการที่ตัวของเขาถูกฉีกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งที่รักแม่มาก และส่วนหนึ่งที่รักพ่อมากเช่นกัน แม้ว่าหลังการหย่าพ่อแม่อาจจะต่างคนต่างใช้ชีวิตของตัวเองต่อไป แต่สำหรับลูกบางคน ชีวิตของเขาอาจจะหยุดลง ณ วินาทีที่พ่อแม่ยุติความสัมพันธ์

อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นในประเทศไทยมากจนน่าใจหาย อ้างอิงจากข้อมูลสถิติจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองระบุว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 – 2559 ที่ผ่านมามีคู่แต่งงานที่ตัดสินใจเซ็นใบหย่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 33%

ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงการหย่าร้างไม่ได้ เราควรทำอย่างไรเพื่อให้การหย่าร้างครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อใจของลูกและตัวเราให้น้อยที่สุด

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำและไม่ควรทำก่อนการหย่าร้างสิ้นสุดลง

  1. งดการทะเลาะกันต่อหน้าลูก

พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการทะเลาะกันต่อหน้าลูก โดยเฉพาะการมีปากเสียงที่ใช้คำหยาบคาย และการกระทำทางกายที่รุนแรงต่อกัน

  1. ไม่พูดใส่ร้ายซึ่งกันและกัน

พ่อแม่บางคนพูดใส่ร้ายกันเพื่อให้ลูกมาเข้าข้างตัวเอง เพราะสำหรับลูกแล้วเขารักทั้งพ่อและแม่ อย่าทำให้เขาลำบากใจด้วยการให้เขาตัดสินใจเลือกฝั่ง

ในกรณีที่การหย่าร้างเกิดจากอีกฝ่ายทำสิ่งที่ไม่สมควร เช่น การทำร้ายร่างกาย หรือมีพฤติกรรมสุ่มเสียงต่ออันตรายต่างๆ เช่น ติดแอลกอฮอลล์ ติดการพนัน มีความสัมพันธ์ในลักษณะคบซ้อน เป็นต้น พ่อหรือแม่ไม่มีความจำเป็นต้องพูดถึงสิ่งที่อีกฝ่ายทำไม่ดี แต่พูดได้ว่า… เช่น ในกรณีที่ฝ่ายพ่อมีปัญหา แม่สามารถพูดได้ว่า ‘ตอนนี้พ่อของลูกเจอกับปัญหาส่วนตัวที่ต้องจัดการด้วยตัวเองอยู่ ไม่ใช่ความผิดของลูกที่พ่อมีปัญหาส่วนตัวที่ต้องแก้ พ่อกับแม่รักลูกมากนะ แต่ลูกต้องให้เวลาพ่อเขาหน่อย ระหว่างนี้ลูกไม่ต้องห่วงแม่จะดูแลลูกเอง’

หรือถ้าอีกฝ่ายมีความสัมพันธ์คบซ้อน ลูกอาจจะถามเราว่า ‘ทำไมพ่อ/แม่ถึงต้องมีคนอื่น พ่อ/แม่ไม่รักเราแล้วเหรอ?’ เราสามารถตอบได้ว่า ‘บางครั้งคนเราทำผิดพลาดกันได้ พ่อของลูกก็เช่นกัน แต่แม่เชื่อว่า ลึกๆ แล้วพ่อรักลูกมาก และที่สำคัญที่สุด คือ แม่รักลูกมาก และจะรักลูกตลอดไป’

  1. เตรียมความพร้อม

ในเรื่องของการแบ่งทรัพย์สิน และการแบ่งภาระการรับผิดชอบดูแลลูก เช่น ค่าดูแลลูก และวันที่พ่อแม่จะเข้ามาดูแลเขา เพื่อให้เกิดผลกระทบในแง่ของความสับสนในตารางเวลาและการใช้ชีวิตของลูกให้น้อยที่สุด

ในกรณีที่ลูกต้องอยู่บ้านพ่อบ้าง บ้านแม่บ้าง ควรจัดตารางแบ่งเป็น วันธรรมดา กับ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แล้วแบ่งกันว่าพ่อหรือแม่จะรับผิดชอบวันไหนเป็นหลัก เพื่อให้ลูกยังมีเวลาอยู่กับพ่อแม่ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของเขาจนเกินไป

  1. พูดความจริงกับลูก

ถ้าพ่อกับแม่รักลูกมาก ควรปล่อยวางเรื่องขัดแย้งส่วนตัว แล้วลงมาคุยกับลูกพร้อมหน้ากัน ใช้เวลาพูดคุยกับเขาว่า…

เกิดอะไรขึ้น…

พ่อแม่ตัดสินใจอย่างไร…

ผลลัพธ์จากการตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรกับลูกและครอบครัวเราบ้าง…

ในเด็กเล็กเราควรอธิบายสั้นๆ ไม่ต้องใส่รายละเอียดมากนัก แต่ต้องตรงไปตรงมา ส่วนเด็กโตเขาต้องการข้อมูล แต่เราไม่ควรบอกทุกอย่างๆ ที่ไม่จำเป็น เน้นสาเหตุ และผล และพยายามยึดกับหลักความเป็นจริงให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น

ในเด็กเล็ก อาจพูดว่า ‘พ่อกับแม่มีเรื่องสำคัญจะบอกลูก เราสองคนจำเป็นต้องแยกทางกัน เพราะพ่อกับแม่ทะเลาะกันบ่อยมาก เราไม่ได้ชอบสิ่งเดียวกันแล้ว เราไม่อยากให้ครอบครัวเรามีแต่ความเศร้า เราเลยจำเป็นต้องแยกกันอยู่ นี่ไม่ใช่ความผิดของใคร และพ่อกับแม่ยังคงรักลูกไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่ายังไงพ่อแม่ยังเป็นพ่อกับแม่ของลูกตลอดไป’

ในเด็กโต ‘พ่อกับแม่มีสิ่งสำคัญที่ต้องบอกกับลูก ที่ผ่านมาพ่อกับแม่มีเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยกันหลายอย่าง ทำให้เราทะเลาะกัน และทำให้ครอบครัวเราไม่มีความสุข พ่อกับแม่จึงคิดว่าเราควรแยกทางกันเพื่อให้เรายังมีความสัมพันธ์ดีๆ เหลือไว้ให้จดจำดีกว่า พ่อแม่ขอโทษที่ทำให้ลูกผิดหวัง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แม้พ่อกับแม่จะเลิกเป็นสามีภรรยากันแล้ว พ่อกับแม่ยังคงเป็นพ่อกับแม่ของลูกเสมอ ลูกไม่ต้องห่วง เพราะพ่อแม่จะทำหน้าที่ของเราต่อไป’

ณ จุดนี้ เมื่อลูกได้ยินคำอธิบายจากเรา เขาอาจจะร้องไห้ฟูมฟาย ตะโกนใส่หน้าเรา หรือทำอะไรที่แย่ๆ ด้วยความโกรธ ขอให้พ่อแม่อดทนรับฟัง และรอเขา อย่าเร่งให้เขารับรู้แล้วต้องเข้าใจ

ถ้าครอบครัวไหนมีโอกาสปรึกษาจิตแพทย์เด็ก ระหว่างขั้นตอนนี้อาจจะทำให้เราผ่านช่วงเวลาดังกล่าวได้ดีขึ้น ที่สำคัญหากลูกรับไม่ได้ ทั้งแสดงออกให้เราเห็นหรือไม่ก็ตาม (เราควรสังเกตลูกดีๆ) เราสามารถพาลูกไปพบจิตแพทย์ได้ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะการหย่าร้าง สำหรับเด็กแล้วความสูญเสียที่เขาได้รับทางใจ มันหนักหนาพอๆ กับการที่โลกทั้งใบของเขาถูกทำลาย

ตัวช่วยสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็กไปจนถึงวัยประถม หนังสือนิทานและหนังสือวรรณกรรมเยาวชนช่วยได้ อ่านหนังสือเหล่านั้นกับลูกๆ พูดคุยกับลูกถึงความรู้สึก และรับฟังความคิดของลูก เพื่อให้เขาค่อยๆ เข้าใจสถานการณ์ที่เขากำลังจะเผชิญมากขึ้น

สิ่งที่พ่อแม่ควรและไม่ควรทำหลังการหย่าร้างสิ้นสุดลง

  1. งดการทะเลาะกันเมื่อเจอหน้ากัน ต่อหน้าลูก

พ่อแม่ก็ยังควรหลีกเลี่ยงการทะเลาะกันต่อหน้าลูกอยู่ดี ต่อให้ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้วก็ตาม

  1. พูดคำไหนคำนั้น รักษาสัญญากับลูก

พ่อแม่ควรรักษาคำสัญญาที่มีไว้ให้กับลูก เช่น ทำหน้าที่ดูแลลูกเช่นเดิม ไปรับ-ส่งลูกที่โรงเรียนตามตารางเวลาที่ตกลงกับอีกฝ่ายไว้ ให้เวลาคุณภาพกับลูก เช่น เล่น อ่านหนังสือ ทำกิจวัตรประจำวัน ทำงานบ้าน นอนกอดกัน รับฟังเขา เป็นต้น

  1. ให้เวลาลูก และตัวเราเอง

ในกรณีที่พ่อหรือแม่มีความสัมพันธ์ใหม่ ควรให้เวลากับลูกก่อนที่จะแนะนำลูกให้รู้จักกับคนใหม่ เวลาขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน แต่อย่างน้อยก็ควรผ่านพ้นช่วงเวลาปรับตัวไปแล้ว (ประมาณ 2 – 3 เดือนขึ้นไป)

ทั้งนี้หากเด็กจะแสดงอาการต่อต้าน โกรธเคือง เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ เราต้องให้เวลากับเขา และรับฟังเขาให้มากที่สุด เพราะนอกจากการหย่าร้างจะทำให้เขาสูญเสียครอบครัวเขาไป สำหรับเด็ก การที่แม่หรือพ่อมีคู่รักใหม่ ยิ่งทำให้เขากลัวการสูญเสียพ่อหรือแม่ให้กับคนใหม่ด้วย ดังนั้น เราต้องแสดงความรัก ให้เวลา ให้การรับฟัง ให้ความเข้าใจ อย่าเร่งเขา ความรักรอได้ การยอมรับจะเกิดขึ้นเมื่อ เด็กค่อยๆ รับรู้ว่า ‘เขายังเป็นที่รักเหมือนเดิม และเขาจะมีคนที่รักเขาเพิ่มขึ้นด้วย’

ที่สำคัญ อย่าเร่งรัดตัวเองให้มีความสัมพันธ์ใหม่ เพราะคนใหม่ที่เข้ามาอาจจะไม่ได้เข้ามา เพราะเรารักเขา แต่อาจจะเป็นเพราะเรากลัวความว่างเปล่า ขั้นตอนนี้ถ้าเรากับลูกไม่สามารถผ่านไปได้ด้วยตัวเราเอง เราสามารถขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเด็กและครอบครัวได้

  1. ไม่ควรนินทา พูดว่าร้าย อีกฝ่ายให้ลูกฟัง

เพราะลูกยังต้องการรักและเคารพพ่อกับแม่ของเขาอยู่ ถ้าไม่รู้ว่าควรพูดถึงอีกฝ่ายดีๆ อย่างไร ก็ไม่ควรพูดอะไรเกี่ยวกับอีกฝ่ายเลยง่ายกว่า ถ้าลูกถามให้ตอบอย่างเป็นกลาง งดการพูดทำร้ายจิตใจลูก

  1. ย้ำเตือนคุณค่าในตัวเองกับลูกอยู่เสมอ

หลังการหย่าร้างจบลง เด็กบางคนสูญเสียการรับรู้คุณค่าในตัวเองไป ไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่ที่เผชิญปัญหานี้เลยดังนั้น ย้ำเตือนลูกและตัวเอง ด้วยบอก ‘รัก’ และแสดงความรักต่อเขาเสมอ

ให้เวลา อดทน รับฟัง ไปโทษกัน ช่วงเวลานี้เด็กบางคนอาจจะทำตัวไม่ดี พ่อหรือแม่ไม่ควรทำโทษเขาทางลบ แต่ควรใช้การพาไปสงบด้วยกันในมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน รอเขาระบายทุกความคับข้องใจออกมา รอเขา แม้ว่าอาจจะใช้เวลารอหลายชั่วโมงก็ตาม สงบแล้วกอดเขาให้แน่น สอนเขาว่า ที่เขาทำนั้นไม่เหมาะสม แม่หรือพ่ออยากให้ลูกทำอะไร เช่น อาจใช้ประโยคบอกเล่าว่า แม่ + อยาก + ให้ลูกทำ… แทนการกล่าวโทษซ้ำเติม

ถ้าหนักหนาเกินทานทน การพาเด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญ (จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักเล่นบำบัด นักศิลปะบำบัด นักดนตรีบำบัด และอื่น) อาจจะช่วยให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวได้ดีขึ้น

  1. ไม่โทษตัวเอง ไม่โทษใคร

บางครั้งเราพยายามโทษตัวเองและอีกฝ่ายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้เราเดินต่อไปข้างหน้าได้ เมื่อชีวิตเราหยุดอยู่กับที่ ลูกของเราก็อาจจะหยุดอยู่กับเราเช่นกัน แม้จะไม่สามารถให้อภัยได้ นั่นก็ไม่เป็นไรอีกเช่นกัน ไม่ต้องมองไปไกลถึงวันที่ใจเรากับลูกหายดี ขอแค่วันนี้เราได้เติมรักให้ตัวเองกับลูกหรือยังก็พอ ถ้ายัง ให้หันกลับไปมองลูก บอกเขาว่า ‘รักลูกนะ’ กอดเขาแน่นๆ แล้วชวนกันลุกไปทำกิจกรรมสักอย่าง ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เมื่อแต่ละวันผ่านไปได้ ชีวิตเราจะค่อยๆ เคลื่อนไปข้างหน้าเอง

  1. จัดบ้านใหม่

บางที่ข้าวของเครื่องใช้บางอย่างอาจจะทำให้เรานึกถึงอีกคน การจัดบ้านช่วยให้เราจัดการกับใจตัวเองได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องทิ้งทุกอย่าง เลือกไว้ในสิ่งที่ทิ้งความทรงจำดีๆ ไว้กับเราและลูก ในขั้นตอนนี้

ถ้าลูกโตพอ พูดคุยกับเขา อย่าสุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินใจจัดบ้านคนเดียว เพราะลูกก็มีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ไม่แพ้กันกับเราเช่นกัน

  1. ดูแลตัวเอง เท่ากับดูแลลูก

บางคนโฟกัสแต่ดูแลสภาพจิตใจลูก จนลืมดูแลตัวเอง ผลลัพธ์คือ ‘เละเทะ’ ดังนั้น ดูแลใจเราให้ดี ดูแลสุขภาพเราให้พร้อม จากนั้นเราจะดูแลลูกเราได้ดีขึ้น ถ้าใจไม่ไหว อย่าลืมขอความช่วยเหลือจากคนที่เราไว้ใจ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ

สุดท้าย ทุกคนต้องมีชีวิตต่อไป แต่เรามีสิทธิ์เลือกเสมอว่า ‘เราอยากมีชีวิตแบบไหน’

ขอเป็นกำลังใจคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านที่ต้องยืนเดี่ยวเพื่อลูก เราไม่ได้สู้เพียงลำพัง ลูกเราต้องการเรา

ถ้าวันนี้เหนื่อยล้า ให้เราพักก่อน วันพรุ่งนี้ มองหน้าลูก กอดเขาเเน่นๆ บอกเขาชัดๆ ‘พ่อ/เเม่ รักลูกมาก และจะอยู่เคียงข้างเขาเสมอ’

หวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์กับหลายๆ ท่านที่เผชิญปัญหานี้อยู่ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ และเติบโตต่อไปอย่างเข้มแข็ง

อ้างอิง
Silvio Silvestri, “Marital Instability in Men from Intact and Divorced Families: Interpersonal Behavior, Cognitions and Intimacy,” Journal of Divorce and Remarriage 18, (1992): 79-106.
David M. Fergusson, Geraldine F. H. McLeod, and L. John Horwood, “Parental Separation/Divorce in Childhood and Partnership Outcomes at Age 30,” Journal of Child Psychology & Psychiatry 55, no. 4 (2014): 352, 357

Tags:

การเลี้ยงลูกThe Untold Stories

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Family Psychology
    Wednesday’s child : แค่ความรักที่พร่อง (ของพ่อแม่) ไม่ได้ทำให้เด็กสูญเสียคุณค่า

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    การเข้าใจผิดเรื่องการเลี้ยงดู EP.2 การเลี้ยงลูกเป็นเทวดา

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    การเข้าใจผิดเรื่องการเลี้ยงดู EP.1 ชวนสำรวจว่าเรากำลังเป็นพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์อยู่หรือเปล่า?

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    เพราะไม่ว่าเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ เราก็ต้องการความรักและความสนใจจากพ่อแม่เหมือนกัน

    เรื่อง The Potential ภาพ PHAR

  • Early childhoodFamily Psychology
    ความเข้าใจผิดที่ส่งต่อกันมา EP.1 การขู่ การหลอก การแหย่ และการล้อเลียน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel