- การสอนให้เด็กคนหนึ่งรู้จักปกป้องตัวเองเป็น กล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องร่างกายของเขานั้น เขาต้องรู้ก่อนว่า “นี่คือร่างกายของฉัน” เมื่อเขารู้ว่าตัวเองเป็นเจ้าของและมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ต่อจากนั้นผู้ปกครองถึงสามารถสอนวิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อันตรายต่อตัวเขา
- แต่บางครั้งเด็กๆ อาจไม่สามารถบอกผู้ปกครองได้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเขา ผู้ปกครองสามารถเช็กได้ด้วยการหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูก ไม่ว่าจะเป็นภายนอก เช่น บาดแผลตามร่างกาย การนอนละเมอฝันร้าย ฯลฯ และภายใน เช่น มีอาการไม่อยากไปโรงเรียน เหม่อลอย ซึมเศร้า ฯลฯ พวกนี้ล้วนเป็นสัญญาบ่งบอกว่าอาจมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกเรา
- ผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับลูกอาจคงหลงเหลืออยู่ เป็นบาดแผลในใจ ผู้ปกครองสามารถเยียวยาเขาได้โดยพาไปพบแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักบำบัด
ในวันที่บ้านหรือโรงเรียนอาจจะไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยที่สุด และผู้ใหญ่ใกล้ตัวที่เด็กไว้ใจที่สุด อาจจะเป็นคนที่ทำร้ายเด็กเสียเอง
ช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงกับเด็กมากขึ้น ผู้กระทำและสถานที่ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองบางคนอาจเคยคิดว่า ถ้าลูกเราไปอยู่จะต้องปลอดภัยแน่นอน เช่น โรงเรียน เนอร์เซอร์รี่ หรือแม้แต่ในบ้านเอง ณ วันนี้ก็ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว
ฉะนั้น หากสภาพแวดล้อม ณ ปัจจุบันไม่ได้เอื้ออำนวยให้ลูกเราเติบโตได้โดยไร้ซึ่งบาดแผล การสังเกตและเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้จึงสำคัญ
บทความนี้จะมาแนะนำว่า หากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นกับเด็กเล็ก ผู้ปกครองหรือผู้ที่เลี้ยงดูเด็กเล็กควรรับมืออย่างไร
ถ้าลูกถูกทำร้ายทางกายใจ พ่อแม่อย่างเราจะรับมืออย่างไรดี?
ขั้นตอนการรับมือแบ่งออกเป็น 5 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในลูก
ช่วงแรกจะเป็นช่วงที่พ่อแม่ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูก แต่เรารับรู้แล้วว่า มีอะไรบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกของเรา
ข้อแนะนำในการสังเกตเด็กที่ถูกทำร้าย
- เด็กบางคนมีรอยฟกช้ำตามลำตัวที่ไม่น่าจะเกิดจากการวิ่งเล่นทั่วไป เช่น จุดที่อยู่ใต้ร่มผ้า เพราะคนทำอาจจะไม่ต้องการให้ผู้ปกครองเห็นรอยบนตัวเด็ก ผู้ปกครองเด็กเล็กควรให้การดูแลเด็กใกล้ชิด ถ้าเราได้อาบน้ำให้เขาหรือดูเขาอาบน้ำ เราจะมองเห็นรอยเหล่านั้น
- เด็กบางคนละเมอนอนฝันร้าย แม้จะไม่มีบาดแผลทางกายให้เห็น แต่บาดแผลทางใจจะชัดเจน เพราะจิตใต้สำนึกไม่อาจปกปิดได้ยามที่เขาหลับ ดังนั้น หากลูกเรานอนหลับฝันร้ายบ่อยกว่าปกติ มีความถี่ติดๆ กันหลายคืน เมื่อปลุกให้ตื่นอาจจะร้องไห้หนัก เราควรจะเริ่มเอะใจว่า “มีบางอย่างเกิดขึ้นกับลูก”
- เด็กบางคนมีพฤติกรรมถดถอย เช่น ปัสสาวะราด กัดเล็บอมนิ้ว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พูดติดๆ ขัดๆ หรือ พูดติดอ่าง
- เด็กบางคนมีความวิตกกังวลและความเครียดในระดับที่ส่งผลต่อร่างกาย เช่น เมื่อต้องไปโรงเรียน เด็กบางคนมีอาการปวดท้องจนท้องเสียหรืออาเจียน เด็กบางคนอาจจะแสดงออกด้วยการร้องไห้กรีดร้องรุนแรงและเกาะตัวพ่อแม่ไม่อยากเข้ารั่วโรงเรียน
- เด็กบางคนมีอาการเหม่อลอย ไม่ร่าเริง ดวงตาไม่สดใส เด็กบางคนอาจจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่าย และแสดงออกด้วยการทำพฤติกรรมที่รุนแรง
- เด็กบางคนที่ถูกล่วงละเมิดทางร่างกายอาจจะหมกมุ่นอยู่กับการทำอะไรบางอย่าง เช่น การจับ – เล่นอวัยวะเพศบ่อยกว่าปกติ การเล่นของเล่นที่เป็นลักษณะการเลียนแบบพฤติกรรมของคนที่ทำร้ายเขา เช่น ตี บิด ต่อย และอื่นๆ
- เด็กบางคนอาจจะบอกเรา “ไม่อยากไปโรงเรียน” “กลัวครูคนนั้น” “ไม่อยากเรียนวิชานี้” หรือ มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานที่ บุคคล หรือ สิ่งของบางอย่างชัดเจน
จากข้อสังเกตทั้ง 7 ข้อนี้ สามารถนำไปสู่ข้อสงสัยว่า “ลูกของเรากำลังถูกทำร้าย และล่วงละเมิดสิทธิอยู่” ให้พ่อแม่และผู้ใหญ่ดูแลใกล้ชิด
ช่วงที่ 2 เมื่อลูกของเราถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ
ช่วงนี้จะแบ่งเด็กที่ถูกทำร้ายเป็น 2 กรณี คือ…
กรณีที่ 1 ลูกเราไม่ได้โดนกระทำ แต่เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่เพื่อนถูกกระทำ
ในกรณีนี้เด็กที่เห็นเหตุการณ์ แม้จะไม่ร่างกายไม่ได้บาดเจ็บ แต่ใช่ว่าจิตใจของเราจะไม่ได้เกิดบาดแผลไปด้วย เด็กทุกคนมีจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิด ดังนั้น ถ้าลูกเราอยู่ในเหตุการณ์ เขาก็ควรได้รับการเยียวยาจิตใจด้วยเช่นกัน
กรณีที่ 2 ลูกเราถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายทางวาจา จิตใจ และร่างกาย
การทำร้ายทางวาจา เช่น การพูดประชดประชัน เสียดสี การขู่ การด่า เช่น ‘เธอนี่มันโง่เกินเยียวยา’ ‘ไอ้เด็กเปรต’ ‘เด็กปัญญาอ่อน’ และอื่นๆ
การทำร้ายร่างกาย เช่น ตี ฟาด ตบ จิก หยิก ต่อย ทุบ บิด ขว้างของใส่
การทำร้ายจิตใจ เช่น ขว้างของของเด็กลงกับพื้น ไม่พูดกับเด็ก ทำหน้ารังเกียจใส่เด็ก
และการล่วงละเมิดสิทธิเด็ก ไม่ให้เด็กไปห้องน้ำ กินข้าวตามเวลา หรือที่ร้ายแรงที่สุด คือ การล่วงละเมิดทางเพศ
ทั้งหมดทั้งมวลสามารถทำให้เด็กเกิดบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ
สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้เพื่อเยียวยาจิตใจลูกในเบื้องต้น
- พาลูกออกมาจากเหตุการณ์ สถานที่ หรือจากบุคคลที่ทำร้ายเขา พาลูกกลับบ้านที่เขารู้สึกปลอดภัย อยู่ในอ้อมอกของเราที่เขาไว้ใจ
- อย่าเพิ่งรีบซักไซ้ถามเพื่อให้ได้คำตอบจากลูก ให้เราปลอบเขาก่อน ใช้สัมผัสรัก เช่น กอดปลอบประโลม ลูบหัวหรือหลังเบาๆ มองตาเขา และพูดให้เขามั่นใจว่า “พ่อ/แม่ อยู่ตรงนี้กับลูก ลูกไม่ต้องกลัว มีอะไรที่ลูกอยากให้ช่วยพ่อ/แม่จะทำเต็มที่” เพื่อให้ลูกมั่นใจว่า พ่อแม่ของเขาพร้อมที่จะเคียงข้างและปกป้องเขา
- รับฟัง และไม่ใช้อารมณ์ เวลาเราฟังเรื่องราวจากปากลูก เราอาจจะรู้สึกโกรธคนที่ทำร้ายลูกเราจนควบคุมตัวเองไม่อยู่ อย่าลืมว่าลูกคือคนที่อยู่ตรงนั้นกับเราไม่ใช่คนที่ทำร้ายลูก เวลาเราโกรธ และแสดงอารมณ์นั้นออกมาชัดเจน ลูกอาจจะกลัวว่า “เรากำลังโกรธเขา และไม่พอใจเขาอยู่” ดังนั้น รับฟังด้วยความสงบ ข่มใจไว้ก่อน ให้ลูกเล่าให้จบ จากนั้นให้พูดกับเขาว่า “ขอบคุณนะที่ลูกเล่าให้พ่อ/แม่ฟัง จากนี้พ่อ/แม่จะปกป้องลูกเอง ลูกไม่ต้องกลัวนะ”
- อารมณ์โกรธที่อยากทำร้ายคนที่กระทำลูกของเรา ให้เราหาที่ระบายอย่างเหมาะสม อย่าระเบิดอารมณ์ต่อหน้าลูก เพราะเขาจะกลัวว่า “เขาทำอะไรผิด” หรือ “เขาทำเราโกรธ” ครั้งหน้าลูกจะไม่กล้าเล่าให้เราฟังอีกแนะนำให้พูดคุยกันระหว่างสามี-ภรรยา หรือ กับคนที่เราไว้ใจ เพื่อระบายความอัดอั้น และหาทางออกอย่างเหมาะสมต่อไป
- หากลูกไม่พร้อมบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเรา เพราะบางครั้งลูกอาจจะถูกขู่จากคนทำร้ายว่า “ถ้าบอกใคร เขาจะถูกทำร้ายหนักกว่าเดิม หรือ คนที่เขารักจะถูกทำร้าย” การไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เป็นสิ่งที่ควรทำ ยิ่งเด็กเล็กๆ เขาอาจจะไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ผ่านการพูดบอกเล่าเหตุการณ์ แต่การไปพบนักบำบัดที่ใช้วิธีเฉพาะทาง เช่น การเล่นบำบัด ศิลปะบำบัด เด็กอาจจะมีเครื่องมือในการสื่อสารที่ง่ายขึ้น และรู้สึกสบายใจที่บอกเล่ากับคนกลาง แทนที่จะเป็นคนที่เขารัก เพราะเขากลัวคำขู่นั้น
ช่วงที่ 3 “เผชิญหน้าปัญหา”
เมื่อรู้ว่าลูกถูกทำร้ายโดยใคร พ่อแม่มีหน้าที่เผชิญหน้ากับปัญหานั้น
“พ่อแม่ต้องทำหน้าที่ปกป้องลูก อย่าให้ความเกรงใจเป็นอุปสรรคในการพูดคุยปัญหากับผู้ที่ทำร้ายลูกเรา”
- รวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อเข้าไปพูดคุยกับทางโรงเรียนโดยตรง ทั้งนี้แนะนำว่า ควรมีคนไปกับเราด้วย ถ้าไม่มีให้เราตั้งสติให้ดีก่อนจะไปเผชิญหน้ากับคู่กรณีของเรา
- พูดอย่างสุภาพแต่ชัดเจนตรงไปตรงมา อย่าเพิ่งใส่อารมณ์
- เมื่อไกล่เกลี่ยปัญหาจบแล้ว และอีกฝ่ายอาจจะสำนึกผิดและขอโอกาสเริ่มต้นใหม่ แต่สำหรับเด็กแล้ว บาดแผลที่เกิดขึ้นภายในใจอาจจะไม่ได้หายดีในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เขาอาจจะไม่พร้อมกลับไปเรียนที่เดิม หรือ เจอคนที่ทำร้ายเขาอีก
*ทางโรงเรียนไม่ควรให้ครูท่านนั้นกลับมาสอนเด็กคนนี้หรือคนไหน จนกว่าจะได้รับการประเมินสุขภาพจิตโดยจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ และการอบรมระยะยาว แต่ถ้าเป็นการทำผิดที่ร้ายแรง ก็ไม่ควรได้ทำวิชาชีพนี้ต่อ
- ในเด็กเล็กที่ถูกทำร้าย การย้ายโรงเรียน หรือการเรียนที่บ้านสักพัก อาจจะเป็นคำตอบที่ดี แต่ในเด็กที่โตแล้ว เขาอาจจะมีเพื่อนที่เขาสนิทด้วย การตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อ ควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจะดีที่สุด
ช่วงที่ 4 “การบำบัดเยียวยาจิตใจ”
แม้เหตุการณ์จะจบลงแล้ว แต่บาดแผลยังคงอยู่ พ่อแม่ควรให้เวลาลูกในการเยียวยาจิตใจของเขา การไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเด็ก เป็นคำตอบที่ดี เพราะในระยะยาว บาดแผลที่ไม่ได้รับการดูแลจะกลายเป็นแผลเรื้อรัง ส่งผลต่อชีวิตในอนาคตของเด็กคนหนึ่งได้เลย
สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้
- ให้ความรักอย่างปราศจากเงื่อนไข ยอมรับลูกในสิ่งที่เขาเป็น เพราะในเวลานี้ลูกต้องการความรักและการยอมรับมากกว่าสิ่งไหน เพื่อยืนยันว่า “ตัวเขานั้นยังมีคุณค่าอยู่ไม่แปรเปลี่ยน”
- ให้อภัยตัวเองที่ไม่สามารถปกป้องลูกได้ทัน เด็กบางคนอาจจะถูกละเมิดหรือทำร้ายร่างกายมา พ่อแม่อาจจะมีความรู้สึกผิดทุกครั้งที่เห็นหน้าลูก ลูกอาจจะรู้สึกแย่และโทษตัวเองที่ทำให้พ่อแม่ของเขาเป็นเช่นนั้น ดังนั้น ก่อนจะช่วยเหลือลูก ให้อภัยตัวเองก่อน ปล่อยวางอดีตเพื่อเดินหน้าต่อ
- พาลูกไปรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ บางครั้งบาดแผลที่มองไม่เห็นต้องการผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยดูแลเยียวยาเป็นพิเศษ
อธิบายให้ลูกเขาใจว่า “พ่อแม่รักลูกและอยากช่วยลูก แต่บางอย่างพ่อแม่ทำไม่ได้ ต้องให้คุณหมอช่วย เหมือนเวลาที่ลูกป่วย บางครั้งเราก็ต้องไปโรงพยาบาลให้คุณหมอช่วยรักษา ครั้งนี้ก็เหมือนกัน เราไปหาคุณหมอเพื่อให้คุณหมอช่วยในส่วนที่พ่อแม่ทำไม่ได้”
- อยู่เคียงข้างตลอดทางการบำบัดเยียวยาจิตใจ
- ไม่กลัวที่จะเริ่มต้นใหม่ และออกไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม
ข้อควรระวัง “ทุกขั้นตอนต้องใช้เวลา บางคนใช้เวลามาก บางคนใช้เวลาน้อย อย่าเร่งรีบ และอย่ารีบข้ามขั้น ค่อยๆ ก้าวช้าๆ ให้บาดแผลได้เยียวยา และหายดี”
“แม้บาดแผลจะหายดี แต่ไม่ได้หายไปไหน ให้เราช่วยประคองลูกให้เขาเรียนรู้ที่จะยอมรับและอยู่กับบาดแผลนี้อย่างมีคุณค่า และเติบโตเป็นตัวเองที่มีความสุข แข็งแรงทั้งกายใจ”
ช่วงที่ 5 “เรียนรู้เป็นบทเรียน ป้องกันก่อนเกิดในอนาคต”
เด็กทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เขาควรจะรู้ว่า “ร่างกายเป็นของเขา” ไม่มีใครมีสิทธิ์มาทำร้ายหรือล่วงละเมิดเขาได้
สิ่งที่พ่อแม่สามารถสอนเพื่อช่วยให้เขาปกป้องร่างกายตัวเอง
- ในวัยที่เขาปกป้องตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ปกป้องดูแลร่างกายของเขา ไม่ให้ใครมาละเมิดหรือทำร้ายเขา เด็กจะค่อยๆ พัฒนาการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง และความสำคัญของตัวเขาที่เกิดมา
- เมื่อเด็กเติบโตพอจะช่วยเหลือตัวเอง พ่อแม่สอนเขาให้ช่วยเหลือตัวเองตามวัย เพื่อที่เขาจะสามารถดูแลและพึ่งพาตัวเองได้
- พ่อแม่สอนเขาว่า “ไม่มีใครควรมาจับส่วนต้องห้ามบนร่างกายของเขา แม้แต่คนในครอบครับ ส่วนต้องห้าม 5 ส่วน ได้แก่ อวัยวะเพศ ก้น หน้าอก ปาก ต้นขา” เพราะการสัมผัสส่วนต่างๆ เหล่านี้จะนำไปสู่อันตรายได้
- ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ให้ลูกบอกพ่อแม่ได้เสมอ พ่อแม่พร้อมจะรับฟัง และช่วยเหลือลูก
- อย่าไปไหนมาไหนคนเดียว และถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินให้รีบวิ่งหนี หรือถ้ากำลังจะโดนจับตัวหรือทำร้าย ให้ตะโกนสุดเสียงว่า “ช่วยด้วย” และกรี๊ดให้ดังที่สุด
แม้เราจะย้อนกลับไปแก้ไขอดีตที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ หรือเราไม่สามารถปกป้องลูกได้ตลอดเวลา แต่ความรักและคุณค่าท่ีเรามอบให้ลูกจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต
“รับฟังเรื่องเล็กๆ ของลูกในวันนี้ เพื่อวันหน้าเราจะได้รับฟังเรื่องใหญ่ๆ ของเขา”
“สอนเขาช่วยเหลือตัวเองในวันนี้ เพื่อวันหน้าเขาจะยืนหยัดเพื่อตัวเองได้”
“รักลูกวันนี้ให้มากพอ เพื่อวันหน้าเขาจะได้รักตัวเองเป็น”
หากเห็นเด็กโดนทำร้ายหรืออยู่ในอันตราย ผู้ใหญ่ในสังคมไม่ควรนิ่งเฉยและเพิกเฉยกับเหตุการณ์ตรงหน้า เพราะ “การนิ่งเฉย” เท่ากับว่า “เรายอมให้เกิดการทำร้าย” แม้จะไม่ใช่ลูกหลานเรา แต่เด็กทุกคนควรได้รับการปกป้องดูแลจากผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม
นอกจากการทำร้ายทางร่างกายและจิตใจแล้ว ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ คือ การล่วงละเมิดทางเพศ
ในช่วงเวลาที่ผ่านมีข่าวน่าเศร้าเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กมากขึ้น จนทำให้พ่อแม่ต้องหันกลับมาดูแลและระวังเด็กๆ ของเรา ไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป แม้เราจะอยากปกป้องลูกไว้ตลอดเวลา แต่ในความจริงเราไม่สามารถตามติดเขาไปทุกที่ได้
ถ้าลูกของเราถูกล่วงละเมิดทางเพศ พ่อแม่อย่างเราควรรับมืออย่างไรดี?
สิ่งที่สามารถช่วยลูกได้ คือ การสอนเขาให้ดูแลร่างกายของเขาให้ดี ซึ่งการที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นปกป้องร่างกายของเขานั้น เขาต้องรู้ว่า “นี่คือร่างกายของฉัน” และเขาเป็นเจ้าของร่างกายของตนเองเสียก่อน
ข้อที่ 1 ให้ความรักและสายสัมพันธ์เพื่อสร้างตัวตนที่มีคุณค่าให้กับลูก
เด็กที่ได้รับความรักอย่างเหมาะสมและเพียงพอ เขาจะรักตัวเองเป็น พ่อแม่ที่มีเวลาคุณภาพให้ลูก สอนเขาด้วยความรักและเมตตา เด็กจะรับรู้ว่า ตัวเขานั้นมีคุณค่าและสำคัญกับพ่อแม่เพียงใด ถ้าเกิดเหตุอะไร เขาจะกล้ามาเล่าให้เราฟัง เพราะเขาเชื่อใจเรามากที่สุดในโลก
ข้อที่ 2 ให้การปกป้องลูกในวันที่เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อย่าเกรงใจคนรอบข้าง
เด็กจะเกิดความรักและหวงแหนร่างกายของเขาได้ ก็ต่อเมื่อในวัยเยาว์ของเขาได้รับการปกป้องจากพ่อแม่ของเขา
หากมีใครอยากมากอด มาอุ้ม มาหอม ลูกของเราในวัยแรกเกิดถึงวัยเตาะแตะ (0 – 3 ปี) พ่อแม่ไม่ควรเกรงใจ และบอกปฏิเสธชัดเจนว่า “ขอโทษนะคะ/ครับ ขอให้เล่นกับลูกโดยไม่สัมผัสตัวเขานะคะ/ครับ เพราะน้องยังเล็ก ไม่มีภูมิคุ้มกันเท่าเราผู้ใหญ่” ถ้าอีกฝ่ายไม่เข้าใจ ขอให้พ่อแม่ปล่อยวาง และยืนหยัดต่อไป
นอกจากนี้หากมีใครอยากมาเล่น มาหยอกล้อ มากอด มาอุ้ม มาสัมผัสตัวเด็ก โดยที่เขาไม่ได้รู้สึกยินยอม พ่อแม่ควรเขาไปพาลูกออกมาจากผู้ใหญ่คนดังกล่าว ไม่ควรเกรงใจแล้วปล่อยให้เขาสัมผัสลูกของเรา แม้จะเป็นการหยอกล้อก็ตาม ไม่มีคำว่า “หวงลูก” “เล่นตัว” หรือ “หย่ิง” เกินไปในกรณีนี้ เพราะสำหรับเด็กไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไหร่ จะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง การที่เขาไม่ยินยอม เขาควรได้รับการปกป้องจากเรา
“ร่างกายนี้เป็นของลูก ลูกมีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ให้ใครมาสัมผัสได้เสมอ”
ข้อที่ 3 สอนลูกให้ช่วยเหลือตัวเองตามวัย
เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองตามวัยเป็น เขาจะรับรู้ได้ว่า “ตนเองนั้นมีความสามารถ” และ “ตนเองสามารถพึ่งพาตนเองได้” นอกจากความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้น คือ การรับรู้ว่าตนเองนั้นสามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร เขาจะช่วยเหลือตัวเองได้ ในเวลาที่ไม่มีใครช่วยเหลือเขา
ในทางกลับกันถ้าหากเราช่วยเหลือเด็กทุกสิ่งทุกอย่าง และไม่ยอมให้เด็กทำอะไรด้วยตัวเองเลย เด็กจะรู้สึกไม่มั่นใจ เพราะเขาต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นถ้าจะให้เขาช่วยเหลือตัวเองในยามคับขัน คงเป็นไปแทบไม่ได้เลย
ข้อที่ 4 “สอนลูกว่า บริเวณใดในร่างกายที่ไม่ควรให้ใครมาสัมผัส”
สอนลูกให้รู้จักร่างกายของตัวเอง และสอนเขาให้ปกป้องร่างกายของเขาจากการสัมผัสจากผู้อื่น
แม้จะเป็นผู้ใหญ่ในบ้าน ก็ไม่ควรสัมผัสเด็กบริเวณเหล่านี้
จุดต้องห้าม 4 จุด ได้แก่
- ริมฝีปาก
- หน้าอก
- อวัยวะเพศและบริเวณระหว่างขา
- ก้น
เหตุผล คือ “จุดเหล่านี้เป็นจุดที่ไวต่อการสัมผัสและละเอียดอ่อน ถ้าคนอื่นมาสัมผัสแล้ว เขาอาจจะเกิดความรู้สึกอยากทำอะไรมากกว่าแค่สัมผัส ซึ่งเขาอาจจะทำร้ายหนูได้”
สิ่งสำคัญ คือ ผู้ใหญ่ไม่ควรหยอกล้อเด็กๆ โดยการสัมผัสร่างกายของเขาในบริเวณเหล่านี้
ข้อที่ 5 “สอนลูกเอาตัวรอด”
ป้องกันก่อนเกิดเหตุ
- ห้ามคุยหรือไปไหนกับคนแปลกหน้า
- ห้ามไปในสถานที่ที่ลับตาคนหรืออยู่ในสถานที่ใดที่เป็นห้องปิดกับผู้ใหญ่หรือใครแบบสองต่อสอง เช่น ในห้องน้ำ ห้องนอน ตรอก ซอก ซอย เป็นต้น
- ห้ามกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ได้จากคนแปลกหน้า
- สอนลูกให้จดจำเบอร์โทรศัพท์และชื่อจริงของพ่อแม่เสมอ
- เราไม่ควรทิ้งลูกไว้กับผู้ใหญ่ในบ้านตามลำพัง
ในยามคับขัน ถ้าเผชิญสถานการณ์ที่มีคนจะมาทำร้ายเรา
- ตะโกนหรือกรี๊ดดังๆ ให้คนมาช่วย
- วิ่งหนีให้เร็วที่สุด วิ่งไปยังที่ๆ คนอยู่มากๆ หรือ ถ้าต้องซ่อนก็ต้องตั้งสติซ่อนตัวให้เงียบที่สุด
- บอกทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้ผู้ใหญ่ที่เราเชื่อใจฟัง
ข้อที่ 6 “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก ลูกเป็นสิ่งล้ำค่าของพ่อแม่เสมอ” [ในกรณีฉุกเฉิน]
ข้อนี้คงเป็นข้อที่ไม่มีใครอยากต้องรับมือหรืออยากให้เกิดขึ้น แต่ถ้าวันหนึ่งมันเกิดขึ้นจริงๆ แม้เราจะป้องกันดีที่สุดแล้ว ขอให้ผู้ใหญ่ตั้งสติแล้วปลอบขวัญเขาให้ดีที่สุด บาดแผลที่เกิดขึ้นไม่มีวันหายไปจากใจ แต่ความรักจากพ่อแม่และคุณค่าในตัวจะทำให้เด็กก้าวข้ามสิ่งที่เข้าเผชิญมาได้
ข้อแนะนำที่พ่อแม่ควรทำในกรณีนี้
- อย่าผิดหวังในตัวเขา อย่าหมดความรักให้กับลูก
- ขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เพราะบาดแผลทางใจ ต้องใช้การเยียวยาระยะยาว
- อยู่เคียงข้างลูก จนกว่าเขาจะกลับมายืนหยัดได้อีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนั้นก็อย่าหมดหวังในตัวเขา
สุดท้าย แม้เราจะไม่สามารถปกป้องลูกได้ตลอดเวลา
แต่ความรักและคุณค่าที่เรามอบให้ลูกจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต
“ปกป้องลูกในวันที่เขาไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ และรักลูกวันนี้ให้มากพอ เพื่อวันข้างหน้าเขาจะได้รักและปกป้องตัวเองเป็น”