- ‘ถ้าเรามอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก โดยหวังให้เขาประสบแต่ความสุข (ความเจริญ)’ นั่นคือพรอันประเสริฐที่คนเป็นพ่อแม่และครูอาจารย์อยากจะมอบให้แก่ลูกๆ ของพวกเขาได้?
- แต่นักจิตวิทยาคลินิกแห่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ชี้ว่า อีกด้านของความปรารถนาดี อาจสร้างความกดดันแก่เด็กๆ โดยไม่รู้ตัว
- ‘ยอมให้เขาโกรธเรา ดีกว่าเห็นว่าเขาผิดหวังในตัวเรา’ คือหนึ่งในความในใจของพวกเขา
‘ทำไมการคาดหวังให้ลูกมีความสุข จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเรา?’
อดัม พรินซ์ (Adam Prince) นักจิตวิทยาคลินิก และอดีตผู้อำนวยการแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลนวร์กเบธ อิสราเอล (Newark Beth Israel Hospital) ที่เมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ เริ่มต้นบทความ ‘The Burden of Happiness’ (ภาระของความสุข) เอาไว้เช่นนั้น
สวนทางกับความคิดทั่วๆ ไปแบบสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มักเห็นว่า ‘ถ้าเรามอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก โดยหวังให้เขาประสบแต่ความสุข (ความเจริญ)’ นั่นคือพรอันประเสริฐที่คนเป็นพ่อแม่และครูอาจารย์อยากจะมอบให้แก่ลูกๆ ของพวกเขาได้
แต่ประเด็นที่นักจิตวิทยาคลินิก ผู้ทำงานกับเด็กมากว่า 20 ปีต้องการจะชี้ก็คือ เขาพบว่า นั่นคือภาระที่ถูกวางไว้บนบ่าของเด็กๆ ในชื่อว่า ‘ความรัก’
“เด็กที่ผมทำงานด้วยส่วนใหญ่มักเล่าว่า พวกเขามีภาวะซึมเศร้า เพราะไม่สามารถไปถึงหรือบรรลุความคาดหวังของพ่อแม่ได้ เขาว่า ‘ถ้าเราทำอะไรที่ไม่สมบูรณ์พร้อม ก็จะรู้สึกต่ำต้อยทันที”
” ‘เรายอมให้คนโกรธเรา ดีกว่าเห็นเขาผิดหวังในตัวเรา’ เห็นได้ชัดว่ารูปแบบของความสุขและความคาดหวังให้พวกเขามีความสุข มันไม่อาจเป็นจริงได้”
ทำให้นึกถึงบทความของ โรเบิร์ต พัฟฟ์ (Robert Puff) นักจิตวิทยาคลินิกผู้ที่มีชื่ออยู่ในคำค้นลำดับต้นๆ ในเสิร์ชเอนจินของเว็บไซต์ Google บทความอธิบายแนวคิดทางจิตวิทยา Growth Mindset เอาไว้อย่างเห็นภาพ โดยยกตัวอย่างเด็กๆ เอาไว้ 3 กรณี
เด็กชาย ก ผู้ไม่ได้ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อพัฒนาการของเขานัก พ่อแม่ของ ก มักบอกเขาว่าเขาไม่ใช่เด็กฉลาด แต่ ก เป็นคนชอบเรียนมาก และเขาก็ทำได้ดีในช่วงแรกๆ แต่เขาก็ยังถูกครูและผู้ปกครองบอกว่าเขาไม่ใช่เด็กฉลาดอยู่นั่นเอง ซึ่งพอ ก ถูกบอกเช่นนั้นมากๆ เข้า เขาก็เริ่มจะเชื่อมัน และคิดว่า “อืม… อย่างไรเราก็ไม่ใช่เด็กที่ฉลาด แม้ว่าเราจะพยายามแค่ไหนก็คงไม่สำเร็จ” ในทางจิตวิทยาอธิบายแนวคิดนี้ว่า ‘Fixed Mindset’ หรือ ความคิดถูกแช่แข็ง
เด็กหญิง ข อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีทีเดียว พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา และให้กำลังใจ ข ด้วยการบอกว่าเธอเป็นเด็กฉลาด เธอจะเป็นอะไรก็ได้ตราบที่เธอต้องการ เธอจะไปได้ไกล เด็กหญิง ข เชื่อเช่นนั้นและประสบความสำเร็จในชีวิต สุดท้ายเธอสอบเข้ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ แต่สุดท้าย เธอลงเอยด้วยการอยู่ในภาวะซึมเศร้าเพราะการเรียนที่ยากและเข้มงวดขึ้น เธอเริ่มคิดว่า ‘คุณค่าของชีวิตคืออะไร’
ตัวอย่างเรื่องภาวะซึมเศร้าในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะมีสถิติจากนิตยสาร Harvard Crimson อยู่จริงว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาฮาร์วาร์ดเคยผ่านภาวะซึมเศร้า ในจำนวนนั้น กว่า 25 เปอร์เซ็นต์มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงขนาดทำร้ายร่างกายตัวเองพัฟฟ์อธิบายกรณีเด็กหญิง ข ว่าเข้าข่าย Fixed Mindset เช่นกัน ด้วยเหตุว่าพ่อแม่ของเธอชี้ชัด (label) ไปแล้วว่าเธอฉลาด และเป็นคนเก่งที่จะทำอะไรก็ได้อย่างที่หวัง แล้วถ้าชีวิตไม่เป็นเช่นนั้น แล้วถ้าปัจจัยรอบตัวเปลี่ยนทำให้สิ่งที่หวังไม่อาจเป็นไปได้ อย่างนี้เธอจะเหลืออะไรให้จับยึด
เด็กชาย ค ถูกเลี้ยงดูด้วยคติประจำใจของพ่อแม่ว่า “คนเราจะทำอะไรก็ได้ ถ้าได้พยายาม ถ้าทำงานหนัก” และพ่อแม่ของเด็กชาย ค จะระมัดระวังเสมอที่จะไม่ก้าวก่ายและตัดสินลูกของพวกเขา ซึ่งเมื่อเด็กชาย ค ประสบกับอุปสรรค พ่อแม่ของเขาเพียงบอกว่า “ไม่เป็นไร ลองแก้ไขดูนะ เราอาจต้องทำงานหนักและพยายามกับมันมากขึ้นกว่าเดิม” ซึ่งนั่นทำให้ เด็กชาย ค เข้าข่ายนิยามของ Growth Mindset คือเป็นคนยืดหยุ่นและเข้มแข็ง พร้อมชนทุกปัญหา
ที่ยกตัวอย่างคำอธิบายของพัฟฟ์ เพื่อจะชี้ว่า จุดร่วมอย่างหนึ่งของนักจิตวิทยาทั้งคู่นี้ อยู่ที่ตัวอย่างที่ 2 เด็กหญิง ข เพราะแม้ว่าพ่อแม่ของเด็กหญิง ข จะปรารถนาดีและคาดหวังเพราะเห็นว่านั่นน่าจะเป็นเส้นทางของความสุข แต่หลายๆ ครั้งสิ่งที่พ่อแม่กระทำคือการโยนความรักไปไว้บนบ่าของเด็กๆ ซึ่งตรงกับคำของพรินซ์ที่ว่า ‘ภาระของความสุข’
เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ ไม่ให้เผลอแสดงความคาดหวังต่อลูก
เคล็ดลับทางจิตวิทยาของพรินซ์ ที่จะส่งต่อถึงพ่อแม่และครู เพื่อไม่ให้เผลอแสดงความคาดหวังต่อตัวลูกมากไป มีเคล็ดลับเล็กๆ ต่อไปนี้
- ต่อไปนี้เวลาเพื่อนของคุณทักว่า “เป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหม?” ให้ท่องไว้ว่า ห้ามตอบตำถามนี้โดยเอาเรื่องลูกๆ ของคุณมาเล่าโดยเด็ดขาด ให้ตอบว่า ‘ตัวคุณ’ สบายดีหรือเปล่า และหากไม่มีอะไรมาเล่านอกเหนือไปจากเรื่องของลูกคุณ ถึงเวลาสร้างเรื่องราวของคุณเอง ด้วยการออกไปใช้ชีวิต เริ่มมีงานอดิเรก หรือควงคู่รักไปเดทกันอีก (หลายๆ) รอบ ก็ดูจะเข้าท่าดี
- ประโยคที่ว่า “ไม่รู้สิ สมัยเรียนฉันไม่เคยป็อปปูลาร์ขนาดนี้นะ” “เรื่องของลูก ทำให้แม่/พ่อ นึกถึงพี่ชายของแม่/พ่อ เลย” ประโยคเหล่านี้แม้ฟังผิวเผินแล้วเหมือนเล่าเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่จริงๆ แล้วมันให้ความรู้สึกของการเปรียบเทียบระหว่างชีวิตคุณและลูกของคุณอยู่เล็กๆ พวกเขาจับสัญญาณได้นะ…
แน่นอนว่าพวกคุณย่อมเคยทำเรื่องผิดพลาด และมักจะบอกลูกๆ เสมอว่าอย่าได้ผิดพลาดแบบพ่อ/แม่นะ แต่… ให้พวกเขาเรียนรู้สิ่งผิดพลาดจากสิ่งที่คุณเคยเผชิญ เพราะต่างเวลา ต่างสิ่งแวดล้อมรอบตัว สถานการณ์เช่นนั้นย่อมไม่เท่ากัน การปล่อยให้พวกเขาได้เรียนรู้จากความเจ็บปวด ถือเป็นการแสดงความเคารพต่อตัวพวกเขาอย่างหนึ่ง
จงแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดด้วยตัวคุณเอง ไม่ใช่โยนให้เป็นความผิดพลาดของพวกเขา