- เปิดคลินิกวัยรุ่นกับ หมอโอ๋ เลี้ยงลูกนอกบ้าน คุยต่อเรื่องจิตวิทยาวัยรุ่น การรับมือกับความสับสนวุ่นวายในความรู้สึกต่างๆ ที่วัยรุ่นต้องเจอ อันเป็นเหตุจากความสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น ทะเลาะกับพ่อแม่เอย การทะเลาะกับเพื่อน เพื่อนไม่ยอมรับฉัน ทะเลาะกับเพื่อนแล้วร้องไห้โฮ รวมถึงการทะเลาะกับตัวเองด้วย เป็นบันไดขั้นหนึ่งในการเติบโตของเขา
- เพราะร่างกาย สมอง และจิตใจมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความสับสน ยุ่งเหยิง ใจหนึ่งก็ต้องการเป็นอิสระ เพราะรู้สึกว่าตัวเองโตแล้ว ไม่อยากถูกควบคุม แต่ก็ยังต้องการให้พ่อแม่ช่วยกันประคองฉันหน่อย บางทีพ่อแม่ก็เข้าหาไม่ถูก เข้าหาเยอะไปก็หงุดหงิด เข้าหาน้อยไปก็รู้สึกโกรธ ไม่ใส่ใจ
- พ่อแม่จะต้องตั้ง Mindset ตัวเองก่อนเลยว่าจะไม่เข้าไปเป็นคนที่จะแก้ไขอะไรในชีวิตลูก แต่จะฟังเพื่อกอดเขาแล้วบอกว่าแม่เข้าใจ ไม่ฟังแบบตัดสินและลงเอยด้วยการสั่งสอนเขา
วัยรุ่นกับความสัมพันธ์เป็นของคู่กัน ไม่ว่าจะความรักฉันเพื่อน คนรัก และสำคัญที่สุด กับครอบครัว ที่ในความหมายนี้ไม่ได้มีแค่รักอบอุ่น แต่รวมถึง ความไม่ชอบพ่อแม่ การทะเลาะเบาะแว้ง ตั้งแง่ต่อกัน ขณะเดียวกันก็อยากได้รับการยอมรับที่เราเป็นเราจริงๆ
“หมอบอกกับพ่อแม่เสมอว่า ‘ไม่มีทางที่เราจะสั่งสอนอะไรเขาได้เลยถ้าเราคือคนที่เขาไม่รัก’ นี่คือคีย์เวิร์ด แล้วหลายครั้ง ไม่ใช่แค่ไม่รักนะ ถ้าเราเป็นคนที่เขาไม่ชอบเนี่ย เขาจะไม่ใช่แค่ไม่ฟัง แต่เขาจะเอาคืน การเอาคืนของเขา เขาก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจนะ แต่เขาจะเอาคืน”
“จริงๆ เรามีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตตัวเรา แล้วเราก็เลือกไม่ได้ที่จะอยู่กับพ่อแม่ที่ปล่อยวางเราแค่ไหน แต่สิ่งที่เราควรทำเสมอคือการพูดความต้องการออกมา (Speak out) เราควรจะเอ่ยออกไปว่าเราต้องการอะไร คือเด็กหลายคนก็จะทน ถูกกดทับด้วยคำว่า ‘ความรักและหวังดี’ (…) เพียงแต่ว่าโดยส่วนตัวหมอก็อยากสนับสนุนให้วัยรุ่นสามารถที่จะพูดความต้องการของตัวเองออกมา เพราะว่าอันนั้นมันเป็นพื้นฐานของการที่เราจะเคารพตัวเราเอง ของการที่เราจะจัดการชีวิตตัวเองได้”
นี่คือน้ำจิ้มในอีพีนี้ ที่ถอดความจากพอดแคสต์รายการ ‘ในโลกวัยรุ่น’ กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential และผู้ดำเนินรายการ ตอนนี้คุยกับ แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
ตอนนี้ผู้อ่านจะได้คลี่คลายว่า วัยรุ่นควรจะเป็นวัยที่สับสนยุ่งเหยิงในความสัมพันธ์ทุกมิติอยู่แล้ว แต่จะคลี่คลายมันอย่างไร คิดกับตัวเองอย่างไร พ่อแม่จะลดการปะทะหรือไม่สร้างความยุ่งเหยิงให้กับวัยรุ่นได้ยังไงบ้าง ชวนอ่านชวนฟังกันครับ
ในโลกวัยรุ่น ตอน จิตวิทยาวัยรุ่น อีพีอื่นๆ คลิก
เราตั้งคอนเซปต์ของ EP นี้ไว้ว่าอยากคุยเรื่องความวุ่นวายในความรู้สึกต่างๆ นานา ที่วัยรุ่นต้องเจอ เช่น ความสับสน ความวุ่นวายใจอันเป็นเหตุจากความสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น ทะเลาะกับพ่อแม่เอย การทะเลาะกับเพื่อน เพื่อนไม่ยอมรับฉัน ทะเลาะกับเพื่อนแล้วร้องไห้โฮ อะไรแบบนี้
ทะเลาะกับตัวเองด้วยนะ
ใช่ และทะเลาะกับตัวเอง แบบนี้ที่เข้ามาในคลินิกเพื่อปรึกษากับคุณหมอโอ๋
มีเยอะและเรื่อยๆ เลยค่ะ เรียกว่าความสับสนยุ่งเหยิงเป็นภาวะเป็นปกติเลยละกันที่เราต้องเจอในวัยรุ่น และจริงๆ แล้ววัยรุ่นก็เป็นวัยแห่งการสับสนจริงๆ นะ ร่างกายก็เปลี่ยนแปลงมหาศาล ทั้งพัฒนาทางเพศ มีหน้าอก การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย สมองก็พัฒนาเยอะ สมองส่วนอารมณ์ก็ทำงานเยอะมาก สมองส่วนหน้าที่ทำงานเรื่องเหตุ เรื่องผล เรื่องตรรกะก็พัฒนาไม่ทัน เพราะฉะนั้น วัยรุ่นจะเป็นวัยที่อารมณ์นำมาก่อน ความรู้สึกเลยเป็นเรื่องใหญ่
เพราะสมองทำงานแบบนั้น มันก็ทำงานให้เกิดความสับสน ยุ่งเหยิง ร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ขณะเดียวกัน จิตวิทยาในการพัฒนาของวัยรุ่นก็ทำให้เกิดความสับสน ใจหนึ่งก็อยากเป็นอิสระ เพราะรู้สึกว่าตัวเองโตแล้ว ไม่อยากถูกควบคุม แต่ก็ไม่ได้อยากที่จะโบยบินออกไปเลยนะ เพราะว่าฉันก็ยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ขนาดนั้น ฉันยังโตไม่พอ อยากได้ความสัมพันธ์ที่แบบไม่ต้องการการโอบรัดเยอะ แต่ก็อยากให้ช่วยกันประคองฉันหน่อย บางทีพ่อแม่ก็เข้าหาไม่ถูก เข้าหาเยอะไปก็หงุดหงิด เข้าหาน้อยไปก็รู้สึกโกรธ ไม่ใส่ใจ
เพราะฉะนั้น ความต้องการของวัยรุ่นเองส่วนหนึ่งมันก็ทำให้เกิดความสับสนยุ่งเหยิง ส่วนหนึ่งต้องการความเป็นอิสระ ส่วนหนึ่งต้องการการยอมรับจากเพื่อน ต้องการที่จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ต้องการที่จะเหมือนคนอื่น ต้องการอยู่ในกลุ่มแล้วถูกยอมรับ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาอัตลักษณ์ของตัวเอง คือฉันก็ต้องแตกต่าง ฉันก็ต้องมีความเป็นตัวเอง ฉันก็ต้องเจอว่าฉันชอบอะไร ฉันเชื่อเรื่องไหน ฉันถนัดอะไร เพราะฉะนั้นมันก็สับสนยุ่งเหยิงถูกไหม ตัวเองก็ต้องพัฒนาให้แตกต่าง มีตัวตน ขณะเดียวกันเพื่อนก็ต้องเหมือนเพื่อจะได้ถูกยอมรับ
เหมือนเป็นช่วงวัยที่ทุกอย่างถาโถมจริงๆ เลย
แล้วด้วยกรอบการศึกษาก็เป็นวัยที่ต้องเลือกต้องตัดสินใจ เช่น จะเรียนต่อสายอาชีพ สายสามัญ จะเรียนแผนกไหน อะไรแบบนี้ มันก็มีความต้องคิด ต้องถูกตีกรอบให้เลือกด้วยครรลองของการศึกษาต่างๆ ที่สำคัญก็ความสัมพันธ์ทางด้านเพศก็ต้องสนใจ
เริ่มมีความรักแล้ว
สมองเอย ฮอร์โมนทางเพศเอย มีแรงขับตามธรรมชาติให้สนใจด้านเพศ เพศตรงข้าม เพศเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ถูกบอกว่าไม่เหมาะสม ไม่ควรคิด เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องแก่แดด ยังไม่เหมาะ มันก็คงจะสับสน มันก็คงจะยุ่งเหยิงว่าสิ่งที่วัยรุ่นควรพัฒนาตามวัยหลายครั้งมันก็ถูกตีกรอบ ด้วยความคิดความเชื่อรูปแบบหนึ่ง
ทีนี้เรามาค่อยๆ แก้ปมความยุ่งเหยิงกัน เอาความสัมพันธ์แรกก่อน คือ ‘ครอบครัว’ อันนี้เป็นปัญหาที่เราเจอแน่ๆ ได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่บ่นมากเลยว่าพอลูกเข้าวัยรุ่นแล้ว การขอร้องให้ทำอะไรแบบเดิมก็ไม่ทำแล้ว กลับเข้ามาบ้านปุ๊บก็ขึ้นห้องปิดประดูปึ้ง ไม่พูดไม่จากันซักคำ อันนี้คืออาการเขาอยู่ในช่วงปัญหาแบบไหนหรอครับ
จริงๆ วัยรุ่นทุกคนต้องการ ‘อิสระ’ ถ้าให้เรามองดีๆ วัยรุ่นคือรอยต่อของเด็กกับผู้ใหญ่ เราก็ไม่ได้ต้องการผู้ใหญ่ที่อะไรๆ ก็…แม่ จัดการหน่อย แม่ทำหน่อย หนูจะออกนอกบ้าน แม่ไปเป็นเพื่อนหนูหน่อย เราไม่ได้อยากได้ผู้ใหญ่แบบนั้น เราอยากได้ผู้ใหญ่ที่จัดการชีวิตตัวเองได้ เป็นอิสระในการตัดสินใจ ทำอะไรด้วยตัวเอง เพราะนั่นคือผู้ใหญ่ที่พัฒนาแล้ว
วัยรุ่นเลยเป็นวัยเปลี่ยนผ่านที่ต้องมีภาพของเด็กคนหนึ่งที่เคยวิ่งกอดขาแม่เมื่อตอนที่จะออกจากบ้าน กลายเป็นเด็กที่ขี้เกียจไป แล้วก็แยกไปในห้องตัวเอง ประเด็นคือพ่อแม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ไหม หรือทำให้มันเกิดขึ้นด้วยความเข้าใจว่านี่คือธรรมชาติได้หรือเปล่า เพราะว่าพ่อแม่หลายคนก็ทำใจไม่ได้ที่ลูกเคยตัวติดกับฉันตลอดเวลาแล้ววันหนึ่งเริ่มอยากไปมีชีวิตเป็นของตัวเอง พอพ่อแม่ไม่ให้พื้นที่ตรงนี้ วัยรุ่นหลายคนก็เลยแบบมีปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อแม่ พอมีปัญหาความสัมพันธ์ทีนี้ก็อยากที่จะแยกจากพ่อแม่ไปใหญ่ ยิ่งแบบเจอหน้าพ่อแม่ก็อยากเลี้ยวเข้าห้อง เพราะขี้เกียจฟังเสียงบ่น เสียงทักถาม เสียงตำหนิ
เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็เลยมีหน้าที่ที่ต้องหาจุดสมดุลว่าต้องทำยังไงที่เราเองก็ให้อิสระเขาในการคิด ตัดสินใจ บ่นให้น้อย หมอชอบพูดว่า ‘มันหมดวัยของการสอนแล้ว’ เพราะเขาจะเริ่มฟังเราน้อยลงแล้ว เขาจะรู้สึกอยากคิดเอง จัดการเองได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรฝึกคือ แทนที่เราจะบ่น สอน พูดทั้งวัน เราอาจจะชวนเขาตั้งคำถาม ชวนเขาออกกติกา ตั้งกฎเกณฑ์ แล้วเราช่วยกันสร้างข้อตกลงร่วมกัน โดยการรับฟังความคิดเห็นของเขา รับฟังวิธีการของเขาว่าทำยังไงมันถึงจะทำให้บ้านเราอยู่กันได้แบบโอเค ไม่มีปัญหา หมอคิดว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาได้โต เขาได้มีสิทธิ มีเสียง ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็เคารพความต้องการของเขา แทนที่เราจะเลี้ยงเขาเหมือนเด็กๆ ที่เราบอกให้ทำนั่น บอกให้ทำนี่ สั่งให้ทำนู่น หรือบ่นว่าไม่ทำอะไร เขาก็จะไม่เหมือนเด็กอีกต่อไป
คือขั้นแรก คล้ายกับเปลี่ยนความคิดความเชื่อของเราก่อน ว่าลูกไม่ได้เป็นเด็กเล็กเหมือนเดิมแล้ว เขาพัฒนาตัวตนโตขึ้นมาแล้ว เราต้องเปลี่ยนมุมมองเรียบร้อยแล้ว มาเป็นฟังเขา
ใช่ จากผู้ที่คอยสั่งก็ต้องเป็นคนที่คอยโค้ชเขาเฉยๆ ว่าเขาจะเอายังไงดี ตั้งคำถามกับเขา ว่าจะจัดการปัญหานี้ยังไง เขาต้องการอะไร เขาอยากให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นโดยการต้องความช่วยเหลืออะไร แทนที่จะไปคอยจัดการทุกอย่างให้
แล้วถ้าเกิดความสัมพันธ์มันเคลื่อนมาถึงจุดที่ว่า เกิดการทะเลาะกัน โต้เถียงทางความคิด รวมถึงการที่แม่โมโหมากๆ ควบคุมตัวเองไม่ได้แล้วลูกไปคนละทาง มีเคสแบบนี้บ้างไหมครับ แล้วจะทำยังไงดี
เยอะเลย เพราะส่วนใหญ่เคสที่มาก็เพราะจัดการไม่ได้
หมอบอกกับพ่อแม่เสมอว่า ‘ไม่มีทางที่เราจะสั่งสอนอะไรเขาได้เลยถ้าเราคือคนที่เขาไม่รัก’ นี่คือคีย์เวิร์ด แล้วหลายครั้ง ไม่ใช่แค่ไม่รักนะ ถ้าเราเป็นคนที่เขาไม่ชอบเนี่ย เขาจะไม่ใช่แค่ไม่ฟัง แต่เขาจะเอาคืน การเอาคืนของเขา เขาก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจนะ แต่เขาจะเอาคืน
เพราะลึกๆ เขาจะรู้สึกว่าเขาโกรธ เขาจะไม่ชอบเรา เด็กเล็กคงเกลียดพ่อแม่ และสิ่งที่เขาจะทำคือ เขาจะทำให้เราทุกข์ใจ นั่นคือการเอาคืนรูปแบบหนึ่ง อะไรล่ะที่จะเป็นความทุกข์ใจของพ่อแม่ ก็คือความแย่ของตัวเขานั่นแหละ การที่เขาไม่ฟัง การที่เขาไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ การที่เขาไม่ทำในสิ่งที่เขาควรจะต้องทำ มันก็คือการได้เอาคืนพ่อแม่ เพราะฉะนั้น เด็กหลายคนก็เลยดื้อ ต่อต้าน อยากให้รีบกลับไม่กลับ อยากให้เรียนหนังสือไม่เรียนมีอะไรรึเปล่า? เพราะมันได้เอาคืนกัน ซึ่งรูปแบบแบบนี้ เราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พี่บอกคือการเลิกสู้กับลูก
คีย์เวิร์ดคือเลิกสู้กับลูก
เลิกสู้กับลูก เพราะถ้าสู้กัน คนแพ้ก็คือเรา เพราะเอาจริงๆ นะ ความรักที่เรามีกับเขามันเยอะ มันมากกว่าที่เขามีกับเรา โดยเฉพาะกับการที่มีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับเรามาแบบไม่ดี ฉะนั้นสู้ไปก็แพ้ เพราะฉะนั้นอย่าสู้กัน สิ่งสำคัญก็คือกลับมาเป็นมิตรต่อกัน ความเป็นมิตรต่อกันก็คือ ไม่ใช่ว่าเขาจะทำอะไรก็ได้ แต่ความเป็นมิตรต่อกันคือการรับฟังกัน รับฟังความรู้สึกและความต้องการของกันและกัน พี่คิดว่าอันนี้เป็น คีย์เวิร์ดที่สำคัญ
มีวิธีการยังไงดีครับ ที่จะรับฟังความรู้สึก ความต้องการต่อกัน
พ่อแม่…เอาเท่าที่หมอทำงานด้วยนะ มักจะฟังไม่ค่อยเป็น เรามักจะฟัง แล้วเราก็บอกว่าเราฟังลูก แต่เราฟังเพื่อที่จะสั่งสอน ฟังเพื่อจะแนะนำ ฟังเพื่อที่เราจะได้ช่วยเขาแก้ปัญหา แต่จริงๆ เด็กต้องการใครซักคนที่ฟังเขาจริงๆ ฟังเขาจริงๆ คือการฟังเพื่อจะเข้าใจว่าเขากำลังรู้สึกอะไร ฟังเพื่อจะเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเขามีความต้องการที่จะทำอะไร ไม่ฟังเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้เขา สั่งสอนเขา บอกเขาว่าเขาไม่ดีเลย เขาไม่ถูกเลย ทำไมถึงทำแบบนั้น แต่ฟังเพื่อจะกอดเขาแล้วบอกว่าแม่เข้าใจ แม่อยู่กับหนูตรงนี้ หนูจะเอายังไงดี ช่วยเขาคิดโดยการตั้งคำถามกับเขา คอยปล่อยให้เขาลองผิดลองถูก พี่รู้สึกว่านี่คือการอยู่กับเขา
แปลว่าวัยรุ่นเองเขาก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาของเขาเองอยู่แล้ว
ซึ่งบางครั้งก็ไม่ถูกหรอกด้วยความประสบการณ์แค่นี้ แล้วหลายอย่างความคิดก็เป็นอุดมคติ (Idealistic) มันก็เป็นแบบเป็นภาพที่ต้องอย่างนี้อย่างนั้น แต่สิ่งที่ลูกเรียนรู้จริงๆ ไม่ได้มาจากคำสอนของพ่อแม่ ลูกเรียนรู้จริงๆ จากการได้ลองผิดลองถูก ฉะนั้นหมอคิดว่าการสร้างพื้นที่ที่ให้เขาได้ลองที่เขาจะผิด ลองที่เขาจะพลาด พี่ว่าอันนั้นคือหน้าที่ของพ่อแม่ด้วยนะ
แปลว่าการเปลี่ยนความขัดแย้งที่เรามีต่อลูก เปลี่ยนจากการต่อสู้กับลูก มาเป็นการรับฟังความรู้สึกและความต้องการของเขาจริงๆ ซึ่งอาจจะเจอทางออกแล้วพ่อแม่ต้องถอยออกมาเป็นคนคอยไกด์ คอยให้เขาได้ลองผิดลองถูก
ใช่ พี่ว่ากลับมามีความสัมพันธ์ที่ดี ความสัมพันธ์ที่ดีก็คือการทำให้เขารู้ว่าเขาเป็นที่รัก การทำให้รู้ว่าเขามีความหมาย การทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนที่ใช้ได้ พี่ว่าอันนี้เป็นพื้นที่ที่มันจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การสร้างพื้นที่ปลอดภัย
มองมุมกลับ ถ้าเราเป็นวัยรุ่น แล้วอยู่ท่ามกลางคุณพ่อคุณแม่ที่ควบคุมเราเหลือเกิน สู้กันตลอดเวลา ควรจะจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับพ่อแม่ยังไงครับ
หมอคิดว่าจริงๆ เรามีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตตัวเรา แล้วเราก็เลือกไม่ได้ที่จะอยู่กับพ่อแม่ที่ปล่อยวางเราแค่ไหน แต่ยังไงก็ตามสิ่งที่ควรทำเสมอคือ เราควรจะพูดความต้องการออกมา (Speak out) เราควรจะเอ่ยออกไปว่าเราต้องการอะไร คือเด็กหลายคนก็จะทน ถูกกดทับด้วยคำว่า ‘ความรักและหวังดี’ หลายคนก็ยอมจำนน หลายคนยอมเลือกทางเดินชีวิตที่ตัวเองไม่ได้อยากเลือก เพียงเพราะรู้สึกว่าเขารักและหวังดีกับเรา หมอคิดว่าสุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นผลดีกับตัวเรา สุดท้ายมันไม่ได้เป็นผลดีกับพ่อแม่เราเลย ตราบใดที่เขามีลูกที่ไม่มีความสุข ไม่มีวันที่เขาจะเป็นพ่อแม่ที่มีความสุขหรอก
หมอว่ากลับมาที่ เรามีหน้าที่รับผิดชอบกับตัวเรา อะไรที่เราคิดว่ามันไม่ได้ เราก็ต้องยืนยันความเป็นตัวเรา ใช้เหตุใช้ผลคุยกัน แล้วก็ต้องบอกว่าเราเองรับฟังพ่อแม่ได้นะ เพราะหลายครั้งเราก็ยังไม่มีประสบการณ์ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการแลกเปลี่ยนกัน
เพียงแต่ว่าโดยส่วนตัวหมอก็อยากสนับสนุนให้วัยรุ่นสามารถที่จะพูดความต้องการของตัวเองออกมา เพราะว่าอันนั้นมันเป็นพื้นฐานของการที่เราจะเคารพตัวเราเอง ของการที่เราจะจัดการชีวิตตัวเองได้ ฉะนั้นก็อยากให้เราพูดความต้องการของตัวเองออกมาได้ ขณะเดียวกัน เราก็รับฟังความรู้สึกและความต้องการของคนอื่นได้นะ เพียงแต่เราไม่ต้องไปแบกมันไว้ให้มันเป็นสิ่งที่กดทับตัวเราว่าเราต้องทำมัน ต้องแบกรับมัน
พี่คิดว่าเรามีหน้าที่เลือกได้ว่าเราจะแบกอะไร หรือเราจะวางอะไร เพราะว่าความคาดหวังของใครก็เป็นความรับผิดชอบของคนคนนั้น เราไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบความคาดหวังของใครไปทั้งหมด
ทีนี้ต่อกันกับ ‘เพื่อน’ ละครับ ตอนนี้สถานการณ์ถึงช่วงวัยที่ยุ่งเหยิงและทะเลาะกับเพื่อนจังเลย มันเป็นเพราะอะไรครับ
เพราะมันเป็นพื้นที่ที่เรียนรู้ และหมอคิดว่าการทะเลาะกันเป็นประสบการณ์ที่เด็กควรจะเจอด้วยนะ เพราะเวลาทะเลาะกันเราได้ทำความรู้จักตัวเราเอง เรารู้แล้วว่าอะไรที่เราไม่ชอบ อะไรที่ไม่ใช่ อะไรที่เราได้ Speak out ออกไป มันถึงได้ทะเลาะกัน เพราะฉะนั้นการทะเลาะกันมันเลยเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ธรรมดามากเลย แค่ระมัดระวังไม่ให้มันมีผลกระทบแบบทะเลาะกันจนแบบชีวิตเราแย่ เครียด หรือถูกบูลลี่อะไรก็ตาม แต่เราจะทำยังไงที่เราจะเรียนรู้ว่า การทะเลาะกันมันก็เป็นธรรมดา มันเป็นพื้นที่ของการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ทำยังไงที่เราจะก้าวข้าม ว่าทะเลาะกันแล้วเราจะเลือกบางจุดเอาไว้ เราปล่อยวางบางจุดทิ้งไป เพื่อที่จะพัฒนาตัวเราขึ้นมา
การทะเลาะกันหรือการมีปัญหาความสัมพันธ์ จริงๆ ก็เป็นเรื่องดี เพราะว่า พี่มองว่าเป็นพื้นที่ขัดเกลาตัวตน เราจะเป็นใคร/ไม่เป็นใคร มันขัดเกลาผ่านความสัมพันธ์ ถ้าเราชอบความสัมพันธ์แบบนี้ แปลว่าตัวตนเป็นเรา เราชอบตัวเรา ความสัมพันธ์แบบนี้เราไม่ชอบเลย ทำให้เห็นว่าตัวตนแบบนี้เราไม่ชอบเลย เราอยู่กับคนนี้แล้วเราไม่โอเคเลย มันเจอตัวตน หรือเจอว่าอาจมีบางจุดที่เราอยู่กับคนนี้แล้วเราถูกรังเกียจมากเลย มันจะเจอจุดที่เราต้องพัฒนา ไม่ชอบเลยที่เราพูดจาไม่ดี เป็นการเจอจุดที่พัฒนาเอง เพราะฉะนั้น การทะเลาะกันจริงๆ ก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราเกิดการเติบโตและเรียนรู้
ความขัดแย้งมันคือพื้นที่เรียนรู้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่กำลังจะจัด ปรับ หาตัวตนของตัวเอง บางทีการทะเลาะกันมันขัดเกลาตัวเราเองด้วย แต่สังคมไทยไม่ชอบการทะเลาะกัน แต่ชอบเก็บ แล้วก็ประนีประนอม (Compromise) มันจะนำไปสู่การเก็บกดไหมครับ
เราทะเลาะกันแบบเราไม่ต้องเกลียดกันได้ การทะเลาะกันก็คือการที่เราเห็นไม่ตรงกัน เราพูดสิ่งที่เราคิดออกมาว่าเราไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเกลียดกัน คือตราบใดที่เรามองออกว่าการทะเลาะกันทำให้เราเข้าใจกันว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร อีกฝ่ายรู้สึกยังไง อีกฝ่ายไม่โอเคกับอะไร หรือเราไม่โอเคกับอะไร หมอคิดว่า จริงๆ มันเป็นพื้นที่ที่ทำให้เด็กสามารถที่จะเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เรียนรู้ความชอบและไม่ชอบของตัวเองนะ เรียนรู้ไปถึงวิธีการสื่อสารได้ด้วยว่า ต่อไปต้องสื่อสารยังไง เขาถึงจะเข้าใจเราโดยไม่ทะเลาะกัน เพราะหลายครั้งมันไม่ใช่แค่เรื่องของความต้องการที่ไม่ตรงกัน แต่มันเป็นวิธีการสื่อสาร ที่ทำไมพูดความต้องการของตัวเองมาแบบนี้ หรือทำไมสื่อสารออกมาทำให้คนอื่นรู้สึกแย่แบบนี้ พี่คิดว่ามันก็เป็นพื้นที่ที่เขาจะได้พัฒนารูปแบบการสื่อสารของตัวเอง พอสื่อสารไปแบบนี้ได้รับการปฎิเสธ มันก็เกิดการเรียนรู้ เกิดการปรับตัว เกิดการพัฒนาตัวเอง สื่อสารไปแบบนี้ ได้รับการยอมรับ ใช้ได้ เพื่อนเข้าใจเราโดยที่ไม่โกรธกัน มันก็พัฒนาวิธีการสื่อสารดีๆ ของตัวเองไป
กลับไปที่เคสคลินิก ปกติวัยรุ่นมีปัญหาความสัมพันธ์แบบไหนเหรอครับ
โดยส่วนใหญ่ก็เป็นความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ต้องบอกแบบนี้ว่าความสัมพันธ์ของพ่อแม่ที่อาจจะถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรุนแรง ถูกเลี้ยงดูมาแบบละทิ้ง เพิกเฉย ไม่ได้ให้ความรัก ซึ่งมันเยอะมากเลยนะ คือเราอยู่ในสังคมที่สร้างภาพมายาคติว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ พ่อแม่หลายคนไม่ได้รักลูก พ่อแม่หลายคนมีลูกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ พ่อแม่หลายคนไม่ได้อยากเลี้ยง พ่อแม่หลายคนรู้สึกว่าเลี้ยงลูกยากจนเป็นภาระ ไม่มีความสุขในการเลี้ยงลูก เพราะฉะนั้น มันก็จะมีพ่อแม่จำนวนหนึ่งเหมือนกันที่อยู่กับความเป็นจริงในชีวิตคือไม่ได้มีเวลาเลี้ยงลูก ไม่ได้รู้สึกอินกับการเลี้ยงลูก ไม่ได้ให้ความรักกับลูกได้เต็มที่
ฉะนั้นก็มีเด็กจำนวนหนึ่งเหมือนกันที่เติบโตมาแบบขาดความรัก ไม่มีตัวตน หลายครั้งก็กลับไปรู้สึกโกรธพ่อแม่ รู้สึกเกลียดพ่อแม่ ทำให้เกิดเวลาที่เราเติบโตมาไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย ไม่เป็นที่รัก หลายครั้งก็พัฒนาสู่โรคซึมเศร้ามันก็จะมาด้วยความรู้สึกว่าฉันไม่ดีพอ ฉันสู้เขาไม่ได้ ฉันไม่เป็นที่รัก ฉัน…จุดจุดจุด อะไรแบบนี้ มันก็พัฒนาเรื่องของโรคซึมเศร้า ซึ่งมันอาจจะมีความรุนแรงถึงขั้นไม่อยากอยู่ก็มี
ถ้าวัยรุ่นฟังอยู่ แล้วกำลังเจอปัญหาความสัมพันธ์ของเรากับพ่อแม่ที่เพิกเฉย ที่ไม่ได้ให้ความรักแบบเต็มที่ ควรจัดการตัวเองอย่างไรครับ
เอาจริงๆ เราก็เลือกไม่ได้ หลายอย่างพ่อแม่เองก็เลือกไม่ได้เหมือนกัน พ่อแม่หลายคนอยากมีเวลาดูแลลูก แต่เขาก็เลือกได้แค่นี้ พ่อแม่หลายคนเขาก็ไม่ได้อยากมีตั้งแต่แรก ก็ต้องยอมรับว่านี่คือมนุษย์ ที่มันก็มีความต้องการ มีข้อผิดพลาด พ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ หมอคิดว่าที่สำคัญเลยก็คือกลับมาทำความเข้าใจพ่อแม่และยอมรับในความเป็นมนุษย์ของพ่อแม่ว่าเขาทำได้ดีที่สุดแค่นั้น เขาก็พยายามแล้วแต่ได้แค่นี้จริงๆ หรือเขาก็อาจจะเป็นมนุษย์คนหนึ่งแหละที่มีความไม่ดี พี่ว่าการยอมรับความเป็นมนุษย์ของแม่เป็นเรื่องสำคัญ มันทำให้เราสามารถที่จะปลดปล่อยความโกรธ ความแค้น ความอะไรของตัวเราได้ จริงๆ มันก็คือการเยียวยาตัวเราเอง ที่เราจะไม่ต้องผูกความรู้สึกสุขทุกข์ไว้กับคนอื่น ขณะเดียวกันก็ยอมรับความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ไม่แปลกเลยที่เราจะโกรธ ไม่แปลกเลยที่เราจะเสียใจ ไม่แปลกเลยที่เราจะเติบโตมาแบบรู้สึกไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง การยอมรับสิ่งนี้ พี่คิดว่ามันก็เป็นรากฐานที่สำคัญ สุดท้ายเราก็จะยอมรับตัวเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้
ขณะเดียวกันเราก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะกลับมาเป็นคนที่รักตัวเอง เราอาจจะมีวัยเด็กที่เด็กน้อยคนนั้นก็ต้องการการโอบกอดของใครซักคนหนึ่ง แต่มันไม่ได้รับ วันนี้เราโตพอที่จะโอบกอดเด็กน้อยคนนั้นในตัวเราได้ ด้วยตัวของเราเอง เราเห็นไหมว่า ตัวเราก็มีอะไรดีหลายอย่างเลยนะ เราก็โตมาแบบคิดดูสิขนาดกะพร่องกะแพร่งแบบนี้ ไม่ได้รับความรัก เราก็ยังมีชีวิตที่ไม่ได้แย่เกินไป วันนี้เราก็ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย เราก็ยังประคองชีวิตของเรา ให้ยังมีชีวิตอยู่ มันก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก ก็ชื่นชมเด็กน้อยคนนั้น โอบกอดเด็กน้อยคนนั้น บอกกับเขาว่า มันไม่เป็นไรหรอกที่เราอาจจะไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบในหลายๆ อย่าง แต่ว่าเราก็เก่งพอ เราก็ดีพอ นี่เป็นความกล้าหาญอย่างมากเลยนะที่เติบโตมาแบบนี้แล้วยังมีชีวิตอยู่ ก็กลับมาชื่นชมเด็กน้อยคนนั้นในตัวเรา
ฟังแล้วอุ่นใจฮะที่รู้ว่ามันมีโอกาสที่จะโอบกอดดูแลตัวเองได้เสมอ ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะถาม คือถ้าในกรณีที่พ่อแม่ต้องเป็นตัวกลางในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างลูกของเรากับเพื่อนของเขา ควรจะทำยังไงดีครับ
ตั้ง Mindset ตัวเองก่อนเลยว่าเราจะไม่เข้าไปเป็นคนที่จะแก้ไขอะไรในชีวิตลูก เราจะเป็นคนที่เข้าไปรับฟังเขา ให้เขาเกิดทางออกในการแก้ไขปัญหาชีวิตของตัวเอง เพราะหมอคิดว่าไม่ว่าเราจะอยู่ในมุมไหน เราไม่ใช่ลูก บางครั้งคำแนะนำของเราที่บอกว่าเราจะช่วยเขา แนะนำเขา ทำให้เขาเกิดการแก้ไข หลายครั้งมันไม่ใช่เขา
ฉะนั้นแค่เข้าไปรับฟังเขา แค่เด็กคนหนึ่งสามารถพูดสิ่งที่ตัวเองรู้สึก พูดสิ่งที่ตัวเองได้รับออกมามากมาย บางทีเขาจะเจอทางของตัวเอง บางทีเขาก็จะเจอทางแค่ว่า แค่ได้บ่นออกมาจบแล้ว หายโกรธแล้ว ช่างมันเถอะ หรืออาจจะเจอว่าแบบอันนี้เขายอมไม่ได้ เขาต้องกลับไปคุยกับเพื่อน จากการแค่มีใครสักคนที่รับฟังเขาจริงๆ คีย์เวิร์ดจริงๆ คือการรับฟังเขาแบบไม่ตัดสินเขา
ไม่พยายามไปสั่งสอนเขา ไม่พยายามไปแนะนำอะไรเขา แต่ฟังเพื่อจะเข้าใจความรู้สึกเขา ฟังเพื่อให้เขารู้ว่าจริงๆ เขาต้องการอะไร เขามีความต้องการตรงนี้อยู่เนาะ เขาจะทำยังไงดีที่จะทำให้เขาได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการตรงนี้ เขาลองคิดวิธีสิ และลองปล่อยให้เขามีพื้นที่ เขาจะได้ลอง ลองแปลว่า เราอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้นะกับสิ่งที่เขาอยากทำ แต่ว่าให้เขาได้ลอง ลองแล้วใช่ มันก็อาจจะดี ลองแล้วไม่ใช่ก็ดี เขาจะได้รู้ว่าอะไรมันโอเค ไม่โอเคกับตัวเขา พี่คิดว่าอันนี้น่าจะเป็นหน้าที่พ่อแม่ ที่จะช่วยลูกวัยรุ่นได้
สุดท้ายอยากให้พี่หมอโอ๋ช่วยขมวดว่าอยากจะแนะนำพ่อแม่ หรืออยากจะแนะนำอะไรกับวัยรุ่นที่เขาอยู่ในช่วงภาวะสับสนและยุ่งเหยิง
อยากจะแนะนำให้ทำความเข้าใจว่ามันคือความธรรมดา หลายครั้งที่เราไม่ได้ทุกข์จากความสับสนที่เราเจอ เราทุกข์จากไม่อยากสับสน ไม่อยากยุ่งเหยิง ไอ้ความรู้สึกที่มีต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี่แหละ บางทีมันเป็นความทุกข์ที่ถูกทับถมขึ้นไป เพราะฉะนั้นถ้าเรายอมรับว่ามันเป็นความธรรมดามากเลยที่มันจะรู้สึกสับสน ยุ่งเหยิง มันจะเป็นความสัมพันธ์ที่แบบเข้าๆ ออกๆ ยอมรับความเป็นธรรมดาของมัน พี่คิดว่ามันทำให้เราสงบขึ้น ขณะเดียวกันให้มองความสับสนยุ่งเหยิงเป็นพื้นที่การเรียนรู้ เราเรียนรู้อะไรจากมัน เราเจอตัวเราในรูปแบบไหน เราปรับตัวเราเองกับความสัมพันธ์กับคนอื่นยังไง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ พี่คิดว่ามันคือศิลปะ มันคือความสวยงามของชีวิต ของการเติบโต เพราะว่าสิ่งที่เราใช้กับคนนี้ กับความสัมพันธ์กับอีกคนมันก็อาจจะใช้ไม่ได้
เพราะฉะนั้นการที่เราสามารถจะเรียนรู้กับความสัมพันธ์ในหลายๆ รูปแบบ มีสับสนบ้าง ยุ่งเหยิงบ้าง ทะเลาะกันบ้าง หมอคิดว่ามันเป็นรากฐานที่สำคัญของการที่สุดท้ายมันจะมาอยู่กับความสมดุลของชีวิตตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์เราจะอยู่กับความสงบของตัวเองได้คือ มันต้องเกิดความมั่นคงภายใน ความมั่นคงภายในจริงๆ มันมาจากการที่เราได้รู้จักตัวเอง เห็น Self ของตัวเอง มันมีพลังชีวิตของตัวเอง มันคือการได้เจอว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ อะไรที่เป็นความสุขของเรา อะไรที่เป็นสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราถนัด อะไรที่มันเติมเต็ม Self ของเรา ความสุขในรูปแบบไหนนะที่มันจะเพิ่มพลังงานชีวิตของเรา
สิ่งเหล่านี้มันคือการสั่งสมประสบการณ์ที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเอง ได้เพิ่มพูน Self ของตัวเอง แล้ววันหนึ่งเราก็จะมีความมั่นคงภายในของเรา แล้ววันที่เรามีความมั่นคงภายในซึ่งมันอาจจะเกิดในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ เราจะมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงในชีวิตของเราเอง