- พ่อแม่เป็นหนึ่งในบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก รู้จักและเห็นชีวิตรอบด้านของเด็กดีที่สุดคนหนึ่ง หากจะเป็นใครสักคนที่รัก ปรารถนาดี และโตพอจะให้คำแนะนำเรื่องเพศได้ หนึ่งในนั้นคือพ่อแม่
- แต่เพราะพ่อแม่เองก็โตมากับค่านิยมที่ว่าเรื่องเพศไม่สามารถพูดดังๆ ได้ ต้องใช้วิธีกระซิบเอา พอมาถึงตาตัวเองก็เลยไม่รู้จะเข้าหาลูกยังไง สุดท้ายปล่อยผ่านไม่เคยพูดเรื่องนี้กับลูกจริงจังเสียที
- งานเสวนา Sex Must Say: เรื่องเพศคุยได้ ด้วยความเข้าใจและเท่าทัน จะมาช่วยไขปัญหานี้ให้กับพ่อแม่ ด้วยการแนะนำวิธีพูดคุยกับลูกเรื่องเพศ ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ท่าทีของพ่อแม่ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการคุยเรื่องเพศกัน และเรื่องเพศไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ยังมีมิติความสัมพันธ์ กรอบค่านิยมสังคม
เรื่องเพศเป็นหนึ่งในท็อปปิคที่พ่อแม่หลายๆ คนคิดว่าเป็นเรื่อง ‘ยาก’ ที่จะคุยกับลูก อาจเพราะพ่อแม่เองก็ถูกเลี้ยงมาด้วยค่านิยมที่ว่าเรื่องเพศไม่สามารถพูดดังๆ ได้ ต้องใช้วิธีกระซิบเอา พอมาถึงตาตัวเองก็เลยไม่รู้จะเข้าหาลูกยังไง สุดท้ายปล่อยผ่านไม่เคยพูดเรื่องนี้กับลูกจริงจังเสียที
เมื่อเด็กมีข้อสงสัยหรืออยากรู้เรื่องเพศ พวกเขาเลือกที่จะไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต หรือคุยกับคนที่เขาไว้ใจอย่างเพื่อน ด้วยประสบการณ์ที่ยังมีไม่มาก บางครั้งการตัดสินใจ ประเมิน หรือแยกแยะข้อมูลที่ได้รับอาจคลาดเคลื่อน อาจส่งผลตั้งแต่ระดับไม่ร้ายแรงมากไปถึงร้อนรนได้
พ่อแม่เป็นหนึ่งในบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก รู้จักและเห็นชีวิตรอบด้านของเด็กดีที่สุดคนหนึ่ง หากจะเป็นใครสักคนที่รัก ปรารถนาดี และโตพอจะให้คำแนะนำเรื่องเพศได้ หนึ่งในนั้นคือพ่อแม่
งานเสวนา Sex Must Say: เรื่องเพศคุยได้ ด้วยความเข้าใจและเท่าทัน จัดโดย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มีวิทยากร คือ คุณจิต-จิตติมา ภาณุเตชะ นักพัฒนาสังคมอิสระที่ทำงานประเด็นเรื่องเพศมาอย่างยาวนาน และ คุณบ็อง-ปรียากมล น้อยกร ผู้อำนวยการกลุ่มแบ่งฝันปันใจ หนึ่งในภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ จะมาช่วยแนะนำพ่อแม่ถึงวิธีการคุยเรื่องเพศกับลูก ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ท่าทีของพ่อแม่ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการคุยเรื่องเพศกัน และเรื่องเพศไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ยังมีมิติความสัมพันธ์ กรอบค่านิยมสังคม
คุยกับตัวเองก่อนที่จะคุยกับลูก
ก่อนจะไปรู้วิธีพูดคุยเรื่องเพศกับลูก คุณบ็องให้พ่อแม่ลองสำรวจว่าที่ผ่านมาตัวเองมีชุดข้อมูลเรื่องเพศยังไง ทัศนคติ หรือมุมมองที่มีตอนเรื่องนี้อย่างไร เพราะมันจะส่งผลต่อสารที่พ่อแม่จะส่งให้กับลูก บางครั้งอาจกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้พ่อแม่และลูกคุยเรื่องเพศกันไม่ได้
“สารที่ส่งไปไม่ใช่แค่ข้อมูลอย่างเดียว แต่มีสิ่งอื่นผสมลงไปด้วย เช่น ประสบการณ์ ทัศนคติ มุมมอง แหล่งอำนาจที่ติดตัวเรามาผสมลงไปด้วย เป็นต้น พ่อแม่มีความคิดแบบหนึ่ง ลูกเองก็มีความคิดอีกแบบ ก่อนที่เราจะคุยกับลูกเรื่องเพศ เราต้องคุยกับตัวเองก่อน ทำความเข้าใจมิติสังคม มิติความสัมพันธ์ในครอบครัว” คุณบ็องกล่าว
สร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้ลูกไม่กลัวโดนตำหนิ รู้สึกสบายใจที่จะแชร์
คุณบ็องเล่าประสบการณ์การทำงานให้ความรู้เรื่องเพศในเด็ก คำถามที่เธอมักถามเด็กๆ คือ เวลาที่พวกเขาอยากคุยเรื่องเรื่องเพศ เขาอยากคุยกับใครมากที่สุด คำตอบที่มาเป็นอันดับหนึ่ง คือ พ่อแม่ เธอถามต่อว่า อยากคุยแล้วได้คุยหรือไม่ คงไม่ต้องเดาคำตอบ เด็กส่วนใหญ่ถึงแม้จะอยากคุยกับพ่อแม่แค่ไหน แต่พวกเขาเลือกที่จะไปคุยกับเพื่อน รุ่นพี่ หรือไปหาข้อมูลจากที่อื่นเอา เพราะเขารู้สึกปลอดภัยที่จะแชร์ข้อมูล ความรู้สึก โดยไม่ถูกตัดสิน หรือถูกตำหนิ
นอกเหนือจากจะเตรียมตัวเองให้พร้อม การสร้างพื้นที่สำหรับการพูดคุยก็สำคัญเช่นกัน เมื่อรู้แล้วว่าคนที่เด็กอยากคุยด้วยเป็นพ่อแม่ แต่พวกเขาแค่รู้สึกไม่มั่นใจ กลัวโดนตำหนิ ทำให้ไม่กล้าที่จะพูดความต้องการ หรือข้อสงสัย สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้ คือ ทำให้พื้นที่การพูดคุยเรื่องนี้ปลอดภัย ทำให้ลูกรู้สึกสบายใจอยากจะแชร์เรื่องราว อยากถาม ซึ่งหลักในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยคุณบ็องแนะนำว่ามี 4 อย่าง คือ
- ฟังอย่างมีสติหัวใจสำคัญ พ่อแม่เข้าใจ อดทน ฟังโดยไม่ตัดสิน เพื่อให้ลูกเปิดใจ กล้าพูด พ่อแม่จะได้ฟังสิ่งที่อยู่ข้างใต้ระหว่างบรรทัด รับรู้ข้อมูลเรื่องราวมากขึ้น ทำให้ระหว่างที่คุยเรื่องนี้ทั้งพ่อแม่และลูกจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ ไม่เกิดความขัดแย้ง
- สำรวจมุมมองเรื่องเพศ เพื่อให้ตัวของพ่อแม่เองเข้าใจว่าตัวเองมีทัศนคติ มุมมอง หรือชุดความคิดยังไงเกี่ยวกับเรื่องเพศ มีความรู้มากน้อยแค่ไหน และมองเห็นว่าข้อมูลของพ่อแม่และลูกมีความแตกต่างหรือเหมือนยังไง เพื่อที่จะเข้าใจและคุยกันได้
- ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ท่าทีระหว่างคุยเรื่องนี้ พ่อแม่ไม่ควรใช้อำนาจหรือการตัดสิน เช่น คำพูดประมาณว่า ‘ทำไมถึงทำแบบนี้’ ‘ห้ามทำแบบนี้’ เป็นต้น เพราะจะทำให้ลูกไม่รู้สึกอยากคุย ไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะแชร์ความต้องการของตัวเอง ลดช่องว่างลดการใช้อำนาจ ทำให้ตัวเองเป็นเพื่อนเป็นมิตรกับลูก
- กรอบเรื่องเพศทางสังคม เรื่องเพศไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะบุคคล แต่สิ่งแวดล้อมภายนอกก็ส่งผลด้วย ไม่ว่าจะเป็น ทัศนคติ ค่านิยมสังคม ที่สร้างกรอบความคิดทางเพศ เช่น ผู้ชายห้ามร้องไห้ ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว เป็นต้น พ่อแม่ต้องลองศึกษาเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปกรอบคิดทั้งของตัวเอง สังคม เพื่อปรับเปลี่ยนท่าทีหรือพฤติกรรม เข้าใจสภาพแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูก เข้าใจว่ามีกรอบคิดอะไรบ้างที่ส่งผลกับลูก จะได้คุยได้ถูกทาง มองเห็นทางออกที่ชัดเจน เช่น เป็นผู้ชายสามารถร้องไห้ได้ เป็นผู้หญิงก็สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ มั่นใจ
คุณบ็องอธิบายเพิ่มว่า ถ้าพ่อแม่ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทำตามคำแนะนำ แต่ลูกยังไม่กล้าเข้ามาคุยเรื่องเพศ เพราะลูกอาจยังไม่เชื่อใจ ไม่มั่นใจว่าเขาจะแชร์สิ่งนี้กับพ่อแม่ได้หรือไม่ หัวใจสำคัญอยู่ที่การทำซ้ำและสม่ำเสมอ การเปลี่ยนแปลงไม่อาจทำได้ทันที ต้องอาศัยเวลา พ่อแม่ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งที่ลูกพร้อมเขาจะเดินมาคุยกับพ่อแม่เอง
คุณจิตกล่าวเสริมว่า การคุยกับลูกเรื่องเพศไม่ใช่แค่รู้ข้อมูลหรือเทคนิคในการคุยเท่านั้น เพราะเวลาเอาไปใช้ต้องเข้าใจเชิงวิธีคิด คือ ทัศนคติ มุมมอง ค่านิยมสังคม ส่งผลต่อการสร้างพื้นที่ในการเข้าหากันระหว่างลูกและพ่อแม่
การวางแผนชีวิตเพศของลูก
ในช่วงนี้คุณบ็องเอากิจกรรมมาให้พ่อแม่ได้ลองเล่นกันเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น กิจกรรมวางบัตรคำ โดยคุณบ็องจะแบ่งช่องทั้งหมด 6 ช่อง เป็นช่วงวัยของเด็กตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมหาวิทยาลัย บัตรคำจะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับเพศ ให้พ่อแม่เอาบัตรคำที่ตัวเองได้ไปวางไว้ในช่องไหนก็ได้ที่ตัวเองคิดว่ามันน่าจะเกิดกับลูกในวัยนั้น คุณบ็องแนะนำว่าให้วิเคราะห์ตามพัฒนาการของวัยนั้นๆ ไม่ใช่วิเคราะห์ตามความต้องการของพ่อแม่
พอเริ่มกิจกรรม พ่อแม่ก็ช่วยกันเอาบัตรคำไปวาง บางอันก็ช่วยกันวิเคราะห์ว่าควรวางช่องไหน พอวางครบคุณบ็องก็ให้เวลาพ่อแม่ดูอีกทีเผื่อมีใครอยากเปลี่ยนบัตรคำในช่องไหน ก่อนจะถามพ่อแม่ว่าเห็นอะไรจากกิจกรรมนี้ พ่อแม่บอกว่า กิจกรรมในบัตรคำมีทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อารมณ์ ความสัมพันธ์ แล้วบางเรื่องเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดกับทุกคน คุณบ็องถามต่อว่า ‘การวางบัตรคำที่สะท้อนถึงกรอบคิดนี้มีแยกยุคสมัยไหม’ เช่น สิ่งนี้เกิดกับยุคพ่อแม่แต่ลูกไม่เกิด พ่อแม่บอกว่า เห็นความแตกต่างเรื่องสื่อ เพราะสมัยพวกเขาสื่อยังไม่มีการนำเสนอเรื่องนี้ แต่ยุคนี้ลูกพวกเขาสามารถหาได้ตามอินเทอร์เนต
คุณบ็องอธิบายว่า การวางแผนในการคุยเรื่องเพศอาจขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ค่านิยม ทัศนคติของพ่อแม่ว่าเลือกจะคุยกับลูกช่วงไหน เรื่องอะไร ถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นพัฒนาการในช่วงวัยเขา
“ในชีวิตจริงมันก็มีเรื่องอื่นอีกเยอะแยะนอกจากที่อยู่ในบัตรคำ ตัวพ่อแม่หรือตัวเด็กเองไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเพศทุกเรื่อง ทำให้มันเป็นกระบวนการที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างเรากับลูก” คุณบ็องกล่าว
คราวนี้คุณบ็องแจกบัตรคำอีกชุด เธออธิบายว่า เป็นบัตรคำเกี่ยวกับเรื่องที่เด็กควรจะต้องรู้และน่าจะต้องรู้สอดคล้องกับพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของเขา โดยแบ่งเป็นสี สีเหลืองคือสิ่งที่เด็กจำเป็นต้องรู้ ส่วนสีเขียวคือสิ่งที่พ่อแม่ต้องลงมือทำเพื่อให้เขามีความสุขและปลอดภัย การเล่นเหมือนเดิม คือ ให้เอาไปวางตามช่องวัยของเด็ก หลังจากจบกิจกรรมคุณบ็องถามความรู้ของพ่อแม่เหมือนเดิม มีแม่ท่านหนึ่งบอกว่ารู้สึกเสียดาย เรื่องบางเรื่องน่าจะต้องคุยกับลูกก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ไม่ใช่คุยหลังจากที่มันเกิดไปแล้ว
“มันไม่เคยมีคำว่าสายเกินไปเรื่องเพศ รู้วันนี้คุยวันนี้ไม่เป็นอะไรเลย บางเรื่องเราก็มารู้ตอนแก่ คุยเพื่อเช็ค แก้ปัญหา” คุณบ็องให้กำลังใจพ่อแม่
คุณบ็องอธิบายว่า ที่ให้พ่อแม่เล่นกิจกรรมนี้ก็เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจว่าเรื่องเพศนั้นคุยได้เลย ไม่ต้องวางแผน ไม่ต้องรอพัฒนาการแต่ละช่วงวัย เพราะเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน
หลักการง่ายๆ คือดูความต้องการของลูกเป็นหลัก ลูกถามอะไรก็ตอบ ไม่ควรบ่ายเบี่ยงหรือห้ามไม่ให้เขาพูด สิ่งที่สำคัญ คือ พ่อแม่ไม่ควรแบกบทบาทผู้เชี่ยวชาญเอาไว้ เพราะเรื่องบางเรื่องพ่อแม่เองก็ไม่รู้เหมือนกัน พ่อแม่มีสิทธิที่จะไม่รู้
สิ่งที่ทำได้ ทำให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นสีเขียว ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกเป็นสีเขียว ทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันไปตลอดชีวิต ‘แม่ก็ไม่รู้เรื่องนี้ไปหาข้อมูลด้วยกัน’
ระหว่างที่พูดคุยมีผู้ปกครองบางท่านหยิบคำถามมาว่า การที่คุยเรื่องเพศแบบนี้จะกลายเป็นการชี้โพรงให้กระรอกหรือไม่ คุณบ็องบอกว่า วิธีการของแต่ละครอบครัวต่างกัน บางครอบครัวอาจจะมีค่านิยมบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่พ่อแม่ทำ คือ ทำให้ลูกรู้เท่าทัน ไม่ทำให้สิ่งที่พ่อแม่เป็นไปปิดกั้นลูก ทั้งลูกและพ่อแม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ คุณบ็องยกตัวอย่างค่านิยมในครอบครัวเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ เรื่องนี้สามารถแชร์กันได้ ขึ้นอยู่กับวิธีคุย ท่าที การใช้คำหรือน้ำเสียง เช่น ‘ตอนนี้แม่คิดว่าไม่โอเค แม่คิดว่ามีตอน…’ ซึ่งมันต่างกับการบอกว่า ‘อย่าให้รู้ว่ามี ถ้ามีเป็นเรื่องแน่’ วิธีมันต่างกัน พ่อแม่บอกความรู้สึกของตัวเองได้ ให้ทั้งพ่อแม่และลูกมีพื้นที่ของตัวเอง
คุณบ็องอธิบายเพิ่มว่า เรื่องบางอย่างไม่จำเป็นต้องอธิบายให้เขาฟัง แต่ทำให้เขาดู เช่น ความอ่อนโยน ถ้าพ่อแม่ปฎิบัติกับลูกบ่อยๆ ลูกจะรับรู้เอง เมื่อไรที่เขาได้รับการปฎิบัติที่แตกต่าง ถูกทำร้าย หรือถูกเอาเปรียบในความสัมพันธ์เขาจะไม่ทน บางครั้งตัวเด็กเองก็มีความรู้เรื่องนี้ อาจจะเยอะกว่าพ่อแม่ด้วย เพราะการเข้าถึงข้อมูลมันง่ายมากในยุคสมัยนี้ สิ่งที่พ่อแม่ทำ คือ เช็คว่าข้อมูลที่ลูกได้รับถูกต้องหรือไม่ เขามีมุมมองหรือทัศนคติอย่างไรต่อเรื่องนั้นๆ
“คุยเรื่องเพศตอนที่ลูกตั้งคำถาม ไม่บ่ายเบี่ยง ลูกพูดปุ๊บตอบทันที ลองตั้งคำถามเพื่อเช็คความเข้าใจของลูกว่าลูกเข้าใจว่าอะไรอยู่ ถามความรู้สึกที่เขามีต่อเรื่องนั้นๆ สนับสนุนความคิดเชิงบวกของเขา พร้อมกับใส่ข้อมูลเชิงบวกเพิ่มขึ้นด้วย แล้วเปิดโอกาสในการพูดคุยเรื่องนี้ต่อ ลูกสามารถพูดคุยได้ตลอด ไม่ปิดกั้น
คุณบ็องแนะนำว่าเวลาที่คุยเรื่องนี้พ่อแม่ไม่ควรปิดกั้น หรือห้ามไม่ให้เขาทำ พ่อแม่ลองเปิดหูเปิดใจ ตั้งเป้าหมายว่าให้เขาปลอดภัย ส่วนเรื่องอื่นค่อยคุยทีหลัง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำนอกจากให้ข้อมูล สอนวิธีป้องกันวิธีใช้ คือ สร้างทัศนคติให้กับลูก เรื่องป้องกันไม่ใช่หน้าที่เพศใดเพศหนึ่ง แต่ต้องทำร่วมกัน
“ปลอดภัยมันไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ความรับผิดชอบร่วมกัน ช่วยเตือน ช่วยจ่ายเงิน ช่วยซื้อให้หน่อย พยายามไม่ให้เป็นความรับผิดชอบเพศใดเพศหนึ่ง สอนให้เขาต้องสื่อสารกับคู่ของเขาเอง” คุณบ็องกล่าว
คุณจิตกล่าวเสริมว่า ถ้ามองเรื่องนี้ในมุมเพศ ผลกระทบมันตกกับผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงต้องแสวงหาทางป้องกันที่จะทำให้ตัวเองไม่เสียหาย ยาคุมเลยกลายเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ผู้หญิงเลือกเพื่อดูแลตัวเอง แม้ว่าเขาจะไม่อยากกิน ถ้าพ่อแม่สอนให้ลูกเข้าใจเรื่องบทบาทในความสัมพันธ์ ความรับผิดชอบร่วมกัน ทำให้เมื่อลูกอยู่ในความสัมพันธ์เขาจะรู้ว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของเขากับคู่
จะเห็นได้ว่าเรื่องเพศไม่ใช่รู้แค่ข้อมูลและพูดได้เลย แต่ยังมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผล ทั้งทัศนคติสังคม ของตัวพ่อแม่เอง หรือแม้แต่ของตัวเด็ก หัวใจสำคัญของการพูดคุยเรื่องเพศ คือ การเปิดใจและการรับฟัง หลังอ่านบทความนี้จบแล้วพ่อแม่สามารถลองทำตามได้เลย อาจเริ่มด้วยการเปิดใจของตัวเองให้กว้างๆ เตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องนี้
คุณบ็องและคุณจิตได้ให้แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเพศที่พ่อแม่สามารถใช้ได้ โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ โดย องค์การแพธ คลินิกรักดอทคอม talkaboutsex โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมความสุข |