- การมีเพื่อน มีแฟน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตัวตน (self) ว่าฉันก็เป็นคนที่ใช้ได้ ฉันมีอะไรที่ดีที่ทำให้คนยอมรับและมีความรู้สึกดีกับเรา ความรักในวัยรุ่นมันจึงเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ทำให้มันไม่ปกติ คือ การที่พ่อแม่มองเรื่องรักในวัยเรียน หรือลูกมีแฟนเท่ากับลูกมีเซ็กส์
- การสื่อสารที่เป็นหัวใจสำคัญของการคุยเรื่องเพศกับวัยรุ่น คือ การฟัง ฟังว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เขากำลังคิดอะไร เขาให้คุณค่ากับเรื่องอะไร ทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกว่าเขามีพื้นที่ที่จะปลดปล่อยความรู้สึก ความคิด ความต้องการ โดยไม่ถูกตัดสิน
- ความสุขอันนึงเลยที่มนุษย์เราทุกคนจะมีก็คือ การได้เป็นตัวเอง แล้วก็ถูกยอมรับโดยคนที่เขารัก เป็นความสุขพื้นฐานที่พ่อแม่ให้ลูกได้ ที่เราทำให้เขามีได้ในชีวิตเขา ที่เหลือเดี๋ยวเขาก็จะเลือกชีวิตของเขาเอง
ความรักและการเรียน คือ สมการชีวิตวัยรุ่น แต่พอพูดถึง ‘รักในวัยเรียน’ บ่อยครั้งกลับถูกขีดเส้นเรื่องความไม่เหมาะสม ทั้งจากประสบการณ์ ความเป็นห่วง และกรอบคิดเดิมๆ
หลายบ้านต้องขัดใจกันเพราะพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกมีแฟนตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ เด็กบางคนยอมทำตามแต่ก็เก็บความคับข้องใจไว้ บางคนทำตามใจตัวเองแต่เลือกปิดบังและกันพ่อแม่ผู้ปกครองออกจากพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งนั่นอาจนำเขาไปสู่พื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยได้
The Potential หยิบปัญหาคลาสสิกข้ามยุคข้ามสมัย ‘รักในวัยเรียน’ มาคุยกับ หมอโอ๋- ผศ. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน คลี่ทีละประเด็นว่าแท้จริงแล้วความกังวลนั้นเกิดจากอะไรบ้าง เรื่องรัก เรื่องเรียน หรือขอบเขตความสัมพันธ์? แล้วค่อยๆ ทลายกำแพงของความไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับลูกวัยรุ่น เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย เปลี่ยนเรื่องต้องห้ามให้เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน
ในมุมของหมอโอ๋ที่ทำงานกับวัยรุ่นมาตลอด เรื่องรักในวัยเรียนเป็นประเด็นที่เรายังต้องให้ความสนใจอยู่ไหม หรือที่จริงแล้วถ้าจะพูดกันถึงเรื่องนี้ควรจะโฟกัสชัดๆ ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน
หมอคิดว่า รักในวัยเรียน ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ถามว่าเรายังต้องคุยเรื่องนี้กันอีกเหรอ ก็ยังต้องคุยเพราะว่ายังไงก็ตาม มันก็เป็นพาร์ทหนึ่งในชีวิตของเด็กวัยรุ่น ในฐานะพ่อแม่เราก็อยากให้พ่อแม่ได้คุยเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของลูก แต่ว่าความสำคัญ คือ เราจะพูดคุยในแง่ไหน พ่อแม่ต้องเรียนรู้การพูดคุยที่ทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมันจะสร้างพัฒนาการต่างๆ กับลูกได้เยอะมาก
ในขณะเดียวกันถ้าการพูดคุยนั้นไม่เกิดประโยชน์ ก็แทบจะไม่มีความหมายอะไร สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องเชื่อก็คือ คำห้าม คำขู่ของพ่อแม่ ไม่มีความหมายอะไร แล้วหมอคิดว่าความรักในวัยเรียนมันเป็นเรื่องที่ไม่แปลก คือวัยรุ่นมีความรักมาตั้งแต่ยุคสมัยไหน ย้อนไปในสมัยอาจจะเป็นรัชกาลที่ 5 หรือ 6 อายุ 13 – 14 ปี ก็แต่งงานมีลูกแล้ว ซึ่งวัยรุ่นไม่เคยเปลี่ยนเลยค่ะ ไม่ว่ายุคสมัยไหนเขาก็มีความรัก มีความรู้สึก มีความต้องการทางเพศเป็นปกติ
สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การศึกษาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เด็กเริ่มต้องเข้าโรงเรียน พอเข้าโรงเรียนอายุเท่านี้ก็ยังไม่พร้อมที่จะมีแฟน แต่งงาน มีลูก ทำให้วัยรุ่นโตช้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ก่อนนี้ 18 ปี สมัยคุณยายถ้ายังไม่แต่งงาน ก็อาจจะแบบถูกมองว่า โอ้โห…ขายไม่ออก สมัยคุณแม่ หมอจำได้ว่าท่านแต่งงานตอนอายุ 28 ปี เราใช้คำว่า ‘แม่แต่งงานช้า’ เพราะส่วนใหญ่ 20 ปีกว่าๆ ก็แต่งงานกันหมดแล้ว ตอนนี้คนไทยเฉลี่ยแต่งงานน่าจะประมาณ 30 – 31 ปี มันทำให้เรายืดขยายความไม่โตของวัยรุ่นออกไป แต่ว่าวัยรุ่นเขาไม่เคยเปลี่ยน เขาก็มีสมองที่อารมณ์ทำงานเยอะกว่าส่วนคิดวิเคราะห์ มองเหตุมองผล ก็เป็นวัยที่มีความรัก มีความฟิน มีความโรแมนติก มีความรู้สึกพิเศษ แถมที่สำคัญในวัยรุ่นจริงๆ พัฒนาการสำคัญของวัยรุ่นอันหนึ่งก็คือ การถูกยอมรับ การถูกยอมรับโดยเพื่อน หรืออาจจะเป็นคนใกล้ชิด
การมีเพื่อน มีแฟน มันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา self การที่ทำให้ตัวตนมันถูกพัฒนาว่าฉันก็เป็นคนที่ใช้ได้ ฉันก็เป็นคนที่น่ารักมีความหมาย ฉันมีอะไรที่ดีที่ทำให้คนยอมรับและมีความรู้สึกดีกับเรา สิ่งเหล่านี้จริงๆ มันเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการ ฉะนั้น ความรักในวัยรุ่นมันจึงเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ทำให้มันไม่ปกติก็คือการที่พ่อแม่มองเรื่องรักในวัยเรียน หรือลูกมีแฟนเท่ากับลูกมีเซ็กส์
ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าถูกต้อง เพราะว่ามันก็เกิดมาแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ว่ามันถูกทำให้ไม่ยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน แล้วการมีเซ็กส์ในวัยรุ่นโดยเฉพาะกับวัยที่ไม่พร้อมก็นำมาซึ่งปัญหา เช่น ท้องไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมี relationship แบบที่ไม่มั่นคง แต่ยังไงก็ตามเวลาที่เราจะคุยเรื่องรักในวัยเรียนกับลูกต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ เพราะมันคือเรื่องปกติ แล้วก็ทำยังไงที่เขาจะเรียนรู้และเติบโตจากพื้นที่ที่มันเป็นเรื่องปกติ
หมอคิดว่าการมีความรักในวัยเรียนจริงๆ มันเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างการเติบโตมหาศาลสำหรับเด็กคนหนึ่ง การได้เรียนรู้ที่จะทำตัวให้เป็นที่รัก การเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการตัวเองเวลามีความรัก เป็นทักษะสำคัญมากๆ ที่จะใช้ไปจนเขาโต การบริหารจัดการความสัมพันธ์ เวลาที่เรามีความสัมพันธ์แล้วเราบริหารจัดการมันยังไง ทำยังไงให้ความสำคัญตรงนี้มันเป็นเรื่องบวกมากกว่าเรื่องลบ หรือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบเชิงลบกับชีวิต การบริหารจัดการความรู้สึก จัดการตัวเองเวลาที่อกหัก เวลาที่ความรักไม่เป็นดังหวัง สิ่งเหล่านี้ คือ แพลตฟอร์มทั้งนั้นเลยที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเรียนรู้และเติบโตไปเป็นมนุษย์ที่อยู่กับโลกได้ เพราะว่าชีวิตเรามีความรักอีกหลายรูปแบบมากๆ
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองรู้จักที่จะสื่อสารกับลูกก็อาจเปลี่ยนเรื่องนี้ให้เป็นความเติบโตได้ คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่อาจไม่รู้ว่าจะคุยอย่างไรดี
เราใช้คำว่า ‘สื่อสาร’ ซึ่งเป็นคำที่ดีมากเลยนะคะ แต่หลายครั้งเราชอบเชื่อว่าเราต้องสอนลูก สอนลูกเรื่องเพศ สอนลูกเรื่องการมีแฟน สอนลูกเรื่องมีความรัก จริงๆ สิ่งสำคัญมากๆ โดยเฉพาะกับลูกวัยรุ่น พ่อแม่หยุดสอนได้แล้ว มันไม่ใช่วัยที่เขาจะฟังแล้ว แต่เป็นวัยที่เราต้องฟังเขาเยอะขึ้น
ดังนั้น การสื่อสารที่เป็นหัวใจสำคัญของการคุยเรื่องเพศกับวัยรุ่น คือ การฟัง ฟังว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เขากำลังคิดอะไร เขาให้คุณค่ากับเรื่องอะไร อันนี้จะเป็นการฟังที่ทำให้ลูกวัยรุ่นคนหนึ่งรู้สึกว่าเขามีพื้นที่ที่เขาจะปลดปล่อยความรู้สึก ปล่อยความคิด ปล่อยความต้องการบนพื้นที่ที่ไม่มีใครตัดสินเขา
เพราะฉะนั้นหลักการฟังที่สำคัญก็คือ การฟังด้วยหัวใจ ฟังแบบตั้งใจที่จะเข้าใจคนอยู่ตรงหน้า ฟังแบบระวังอาการเผลอ เช่น เผลอตัดสิน แค่ลูกมาเอ่ยปากว่า ‘แม่ นิดหน่อยเพื่อนหนูมีแฟนแล้วนะ’ เราก็เผลอตัดสินไปว่าหรือลูกสนใจอยากจะมีแฟน มีแฟนมันไม่ดีเลยนะ ดังนั้น ให้ระวังเรื่องการตัดสิน ให้ระวังเรื่องการแทรกถาม เช่น อ้าว…เหรอ แล้วเราจะมีแฟนหรือยัง แล้วเราจะมีอย่างเขาหรือเปล่า เพราะมันทำให้สิ่งที่ลูกอยากจะสื่อสารถูกปิดกั้น เพราะเวลาที่เราแทรกถามสิ่งที่ลูกกำลังจะเล่าต่อไปมันคือสิ่งที่เราอยากรู้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากเล่า
เพราะฉะนั้นให้พื้นที่เขาจะได้พูดมันออกมาอย่างเต็มที่ แล้วก็ระวังการเผลอสั่งสอน เช่น แม่ว่ามันยังไม่เหมาะนะ อายุแค่นี้เองมีแฟนได้ยังไง แม่ว่านิดหน่อยทำอย่างนี้ไม่ดีเลย สิ่งที่กำลังอยู่กับใจลูก มันก็จะถูกหยุดลง อีกอันนึงที่พ่อแม่ชอบเผลอบ่อย คือ เผลอแย่งซีนลูก สมัยแม่เนี่ยนะ คุณยายไม่ให้หรอกแบบนี้โดนตีตายเลย สิ่งเหล่านี้ก็จะหยุดบทสนทนาทั้งหมด เพราะฉะนั้นการฟังก็คือการฟังด้วยความตั้งใจนะคะ การฟังด้วยความต้องการที่จะเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนที่อยู่ตรงหน้า
ประโยค ‘แม่…นิดหน่อยเพื่อนหนูมันมีแฟนแล้วด้วยนะ’ มันมีอะไรที่อยู่ข้างใต้เต็มไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกตื่นเต้นที่เพื่อนมีแฟน อาจจะเป็นความรู้สึกอิจฉา ความรู้สึกน้อยใจเพื่อนเขาจะลืมเราหรือเปล่านะแม่… ตอนนี้เขามีแฟนแล้วเขาจะทิ้งหนูไหม มีความรู้สึกเศร้า หรือมีความรู้สึกอยากเม้าท์เฉยๆ เต็มไปหมด ต้องรู้ว่าที่เขาสื่อสารกับเราเขารู้สึกอะไร เราถึงจะเข้าใจเขาได้จริงๆ เด็กวัยรุ่นบอกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ มันมาจากสิ่งเหล่านี้แหละค่ะ เพราะพ่อแม่ไม่เคยจะฟังเพื่อเข้าไปในใจเขาจริงๆ เวลาเข้าไปในใจ มันเข้าไปด้วยความรู้สึก ไม่ได้เข้าไปด้วยความคิด เพราะฉะนั้นก็ตั้งใจฟังว่าลูกกำลังรู้สึกอะไร อย่าเพิ่งรีบสั่งสอน อย่าเพิ่งรีบตัดสิน อย่าเพิ่งรีบตีความ อย่าเพิ่งรีบปลอบหรืออะไรก็ตาม ฟังเพื่อจะรู้ว่าที่เขาสื่อสารมาเขารู้สึกอะไรแล้วเขาต้องการอะไร
เรื่องของการชวนลูกคุย เวลาที่ชวนลูกคุยเรื่องการมีแฟน บางทีมันสามารถที่จะคุยได้ตั้งแต่เรื่องของความสัมพันธ์ เราจะบริหารความสัมพันธ์ยังไง เราจะจัดการความรู้สึกที่มันท่วมท้นยังไง มีความรู้สึกท่วมท้นแล้วเราทำอะไรได้บ้าง อะไรเหมาะสมอะไรไม่เหมาะสม อะไรโอเคอะไรดูไม่โอเค สอนเรื่องการใช้สื่อ เราสามารถคุยไปได้ถึงการจัดการความรู้สึกทางเพศ เพราะมันก็จะมาด้วยกัน แค่ไหนที่โอเคแค่ไหนลูกไม่โอเค ปฏิเสธยังไงถ้ารู้สึกไม่โอเค หรือถ้าตัดสินใจแล้วทำยังไงถึงจะปลอดภัย เท่าไหร่ที่ลูกคิดว่าปลอดภัย เท่าไหร่ที่ลูกคิดว่าพร้อม อะไรเรียกว่าพร้อม สิ่งเหล่านี้สามารถชวนเขาคุยได้แล้วมันจะเป็นเกราะป้องกันให้เขาปลอดภัย
ทีนี้ถ้าพูดถึงความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครอง บางคนอาจกลัวว่าถ้าให้มีแฟนเดี๋ยวลูกไม่โฟกัสกับการเรียน ไม่ก็กลัวปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่วันหนึ่งเราอาจจะได้รู้หรือลูกมาคุยว่าเขามีแฟน หรือเขาอาจจะมาโยนหินถามทางว่า ‘แม่…เพื่อนหนูมีแฟน’ อันดับแรกที่หมออยากให้พ่อแม่ทำก็คือ ขอบคุณลูก ขอบคุณที่เขาคุยเรื่องนี้กับเรา ขอบคุณที่เขาเห็นเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย ขอบคุณที่เขาทำให้เรารู้สึกว่าเขาอยากให้เรามีส่วนร่วมกับความรู้สึก ความคิด แล้วก็เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ซึ่งมันหาไม่ง่ายนะคะ นั่นแปลว่าความสัมพันธ์ของเรากับเขามันดีพอ เราเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยพอ เพราะฉะนั้นอันดับแรกขอบคุณเขาก่อนเลย ขอบคุณนะที่หนูมาคุยเรื่องนี้กับแม่ แม่รู้สึกดีมากเลยลูกที่หนูรู้สึกว่าเราคุยเรื่องนี้กันได้ แล้วแม่ก็เป็นคนที่หนูอยากคุยด้วย
อันดับสองก็คือ จัดการตัวเอง สิ่งที่ต้องจัดการตัวเองก็คือ เวลาที่เรารู้ว่าลูกมีแฟนหรือลูกมาถามว่าเขามีแฟนได้ไหม มันมีอะไรขึ้นมาในหัวเต็มไปหมด เรากำลังคิดอะไร เรากำลังรู้สึกกังวล เรากำลังรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง เรากำลังเห็นภาพลูกมีแฟนเท่ากับลูกมีเซ็กส์ เท่ากับลูกท้อง เท่ากับอะไรแบบนี้ มันก็จะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในหัวเราเต็มไปหมด กลับมาทันมัน เพราะการที่มาทันตัวเองมันจะทันกับสิ่งที่ตัวเองตอบสนอง พ่อแม่หลายคนตอบสนองแบบไม่ทันตัวเอง ดังนั้นการกลับมาทันว่าเรากำลังรู้สึกอะไรแล้วอยู่กับมัน เรากำลังรู้สึกแอบกังวล เรากำลังรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง ขณะเดียวกันพอมันทันก็กลับมาหยุดสิ่งที่กำลังจะพรั่งพรูออกไปกับความรู้สึกที่ท่วมท้น แล้วฟัง การฟังของเราก็อาจจะเช่น เหรอลูก เป็นยังไงเล่าให้แม่ฟังหน่อย หรือเปิดไปกับการตั้งคำถามปลายเปิดว่าแล้วหนูรู้สึกยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้นเล่าให้แม่ฟังหน่อยได้ไหม แม่ก็อยากรู้ โดยที่ไม่เผลอตัดสิน สั่งสอน แทรกถามเขา หรือเผลอไปเล่าเรื่องของเรา ฟังเยอะๆ ค่ะ เพื่อจะเข้าใจความรู้สึกและมุมมองเขา
หลังจากที่เรารู้สึกว่าเราฟังเขาหมดจดแล้วอาจจะตั้งคำถามบางอย่าง เช่น แล้วหนูมองเรื่องการมีแฟนยังไง แฟนของหนูมันเป็นยังไงล่ะลูก เพราะแต่ละคนแฟนไม่เหมือนกัน แฟนของหนูมีขอบเขตแค่ไหน แล้วหนูคิดว่าการมีแฟนมันดียังไง มันต้องมีข้อดีนะลูกไม่งั้นคนเขาคงไม่มีแฟนกัน เรามีอะไรที่ต้องระวังบ้างไหม
การชวนคิด หมอคิดว่าเป็นทักษะสำคัญกว่าการไปสอนลูก เวลาที่เราไปสอนลูกนั่นคือความคิดเรา เด็กหลายคนไม่ได้คิดแบบที่พ่อแม่คิดเลยด้วยซ้ำ ไม่ได้คิดแบบที่เราอยากให้เขาคิด เพราะเขาไม่ได้คิด สำคัญก็คือทำยังไงที่เราจะฝึกเขาคิดสิ่งที่เราอยากให้เขาคิดได้ อยากให้เขามองในมุมแบบนี้ด้วย
เพราะฉะนั้นสำคัญเลยก็คือชวนเขาคิด คิดว่าเป็นยังไง ดีไม่ดียังไง มีอะไรที่ต้องระวัง ถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนั้นกับเขา เขาจะตัดสินใจยังไง สิ่งเหล่านี้หมอเชื่อว่ามันจะเป็นเกราะป้องกัน เอาจริงๆ เราแทบห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้ลูกมีแฟน คำห้ามของเรามันทำหน้าที่อยู่ 2 อย่าง คือ ปิดพื้นที่การพูดคุย และเปิดพื้นที่ไม่ปลอดภัยให้กับลูก
การปิดพื้นที่ปลอดภัยแปลว่าพื้นที่ตรงนี้เราก็จะไม่สามารถคุยอะไร สอนอะไร ช่วยมองอะไรกับลูกได้ การเปิดพื้นที่ไม่ปลอดภัยแปลว่าเมื่อเราปิดกั้นว่าเราไม่อนุญาต เราไม่ยอม ก็อาจจะทำให้ไปเกิดการมีปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่อื่นและพื้นที่เหล่านั้นเราเรียกว่าพื้นที่ไม่ปลอดภัย เช่น เมื่อเขาพาแฟนมาบ้านไม่ได้ เขาก็จะไปบ้านแฟน สมมุติว่าเขาอยากจะเจอกับแฟนหลังเลิกเรียน แต่เขาเจอไม่ได้เขาก็อาจจะใช้วิธีโดดเรียนหรือหลบซ่อน สิ่งเหล่านั้นเรากำลังไปสร้างพื้นที่ไม่ปลอดภัย
ถ้าอย่างนั้นก็กลับมาตั้งหลักกับตัวเองว่า หนึ่งเราอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราอยากรู้และร่วมเรียนรู้ประสบการณ์ตรงนี้ไปกับลูก ซึ่งอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้สร้างความสุขให้กับลูกก็ได้ มันอาจเป็นประสบการณ์ที่เราก็เห็นว่าข้างหน้ามันไม่ค่อยดีเท่าไร แต่มันเป็นประสบการณ์ของการเรียนรู้ เขาจะได้ผ่านประสบการณ์แห่งการผิดหวัง การเรียนรู้ว่าใครไม่ใช่ การเรียนรู้ว่าอะไรเหมาะกับตัวเอง เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีค่ามากๆ เลยสำหรับลูก แล้วเราจะอยู่ตรงนั้นกับเขาหรือเปล่า เราอยากร่วมเรียนรู้ไปกับเขาไหม ถ้าเราอยากร่วมเรียนรู้ไปกับเขาก็เปิดพื้นที่ให้เขาเรียนรู้ที่จะผิดพลาด ล้มเหลว ผิดหวัง ไม่สมดั่งใจ อยู่ในความเสี่ยง แต่เราจะอยู่กับเขานี่แหละ เพราะว่าเราก็เป็นพ่อแม่ที่จะเติบโตไปกับเขา
ทุกวันนี้นอกจากจากเรื่องรักในวัยเรียน สิ่งที่ผู้ใหญ่อาจต้องเปิดกว้างและทำความเข้าใจมากขึ้นไปอีก คือความรักที่ไม่ใช่แค่ผู้หญิง/ผู้ชาย แต่ในบริบทของความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่เชื่อมโยงกันและพ่อแม่ผู้ปกครองต้องปรับความคิดเยอะทีเดียว
ใช่ค่ะ หลักๆ ยังไม่ต้องรีบคุยกับลูก พ่อแม่ต้องคุยกับตัวเองก่อน เด็กไม่ค่อยมีปัญหา หมอทำงานกับเด็กยุคใหม่เยอะมาก ส่วนมากเด็กเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ แบบเข้าใจจริงๆ แต่พ่อแม่เนี่ยเข้าใจแบบทำใจบ้าง เข้าใจแบบฝืนใจบ้าง แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเราเข้าใจว่ามันก็เป็นความหลากหลาย มันเหมือนกับที่เราทุกคนไม่เคยมีใครเป็นแบบมาตรฐานเดียวกัน เราก็มีสูงต่ำดำขาวแตกต่างกัน อย่างความถนัดก็มีทั้งถนัดมือขวาถนัดมือซ้าย บางคนถนัดทั้งสองมือ บางคนอาจจะไม่ถนัดเลย แต่สังคมสร้างเป็นบรรทัดฐานมาแบบหนึ่งว่าเราต้องถนัดมือขวานะ มือซ้ายคือผิดปกติ
เพราะฉะนั้นกลับมาทำงานกับตัวเองก่อน ว่าจริงๆ ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่เราพยายามจะมาปลอบใจกัน มันเป็นเรื่องปกติที่พิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์ มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดก็มีความหลากหลายทางเพศมานานแล้ว แต่ไม่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึงและยอมรับ เหมือนคนถนัดซ้ายก็มีมานานแล้ว แต่เมื่อก่อนเรามักพูดกันว่ามือซ้ายล้างก้น มือซ้ายทำอะไรที่มันไม่ดี ทำให้ทุกคนที่ถนัดซ้ายต้องถูกเฆี่ยนตีให้มาใช้มือขวา หมอคิดว่ามันก็เป็นอะไรที่เราได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ว่าจริงๆ แล้วความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ
อันที่สองต้องกลับมาทำงานกับตัวเองว่านี่คือสิ่งที่ลูกเราก็ไม่ได้เลือก พ่อแม่หลายคนเข้าใจว่านี่เป็นทางเลือกที่ลูกเลือกได้ ไม่เลยเขาไม่ได้เลือก เราเองก็ไม่ได้เลือกมาว่าเราจะเป็นผู้หญิง เป็นแบบไหนเป็นแค่ไหน เราเพียงแค่รู้จักตัวเองมาเรื่อยๆ
อันที่สามก็คือมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ พ่อแม่หลายคนรับไม่ได้เพราะต้องรับกับความเจ็บปวดที่เชื่อว่าฉันมีส่วนที่ทำให้ลูกมีความหลากหลายทางเพศ ฉันมีส่วนที่ฉันไม่ใส่ใจลูกๆ ก็เลยเป็นข้ามเพศไป ปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า การเลี้ยงดูแบบไหนทำให้เกิดความหลากหลายทางเพศ แล้วก็มีงานวิจัยหลายงานมากที่คนเลี้ยงดูมีความหลากหลายทางเพศ แล้วไม่ได้ทำให้เกิดเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้น มันก็เป็นอะไรที่เรายังไม่ได้เจอสาเหตุที่ชัดเจน
อันที่สี่ หมออยากให้คุณพ่อคุณแม่กลับมามองแล้วก็ทบทวนเรื่องความสุขในชีวิต หมอเชื่อว่าพ่อแม่หลายคนที่ยอมรับไม่ได้ เป็นเพราะว่าเรามีภาพแห่งความสุขของชีวิตที่เป็นรูปแบบเดียว เรียนจบ แต่งงาน มีลูก ลูกก็มีคนเดียวไม่ได้นะ คนเดียวจะรู้สึกบกพร่อง ถูกมองว่าไม่สมบูรณ์พร้อม ต้องมีอย่างน้อย 2 คน แล้วเป็นเพศเดียวกันก็ไม่ได้นะ ต้องชายคนหญิงคน มันก็จะมีภาพแบบนี้ที่เราตีกรอบว่านี่คือภาพแห่งความสุข แต่จริงๆ แล้วไม่เลย ชีวิตมนุษย์ไม่ได้มีความสุขตามแพทเทิร์นแบบนี้ หลายคนแต่งงานแล้วตกนรกทั้งเป็นก็มี มีเยอะมาก 40 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการแต่งงานในบ้านเราคือหย่าร้าง
เพราะฉะนั้นบางทีมันไม่ได้เป็นสมการแห่งความสุขว่า แต่งงานเท่ากับความสุข หลายคนไม่ได้หย่าร้างแต่มีลูกมีปัญหา มันก็ไม่ได้เป็นความสุข แต่ละคนมีความสุขที่แตกต่างกัน บางคนมีความสุขกับการอยู่คนเดียว มีความสุขกับการมีเพื่อนสนิทกันแล้วก็เทคแคร์กัน บางคนมีความสุขกับการมีลูก คือเรามีความสุขที่หลากหลาย
อยากให้พ่อแม่เข้าใจเรื่องความสุขที่แตกต่าง แต่ความสุขอันนึงเลยที่มนุษย์เราทุกคนจะมีก็คือ การได้เป็นตัวเอง แล้วก็ถูกยอมรับโดยคนที่เขารัก หมอคิดว่าอันนี้เป็นความสุขพื้นฐานที่เราให้ลูกได้ ที่เราทำให้เขามีได้ในชีวิตเขา ที่เหลือเดี๋ยวเขาก็จะเลือกชีวิตของเขาเอง
คู่เกย์คู่เลสเบี้ยนที่อยู่กันดูแลกัน หลายคนก็มีความสุขกว่าคนมีลูกก็เยอะแยะ ก็ปลดล็อกตัวเองจากเรื่องสมการความสุขเราจะได้เข้าใจ แล้วหลายครั้งอย่าเพิ่งรีบไปตัดสินนะคะ คือวัยรุ่นจริงๆ แล้วเป็นวัยที่เขาก็เรียนรู้ทดลองรู้จักตัวเอง หลายครั้งมันจะมีการลองผิดลองถูกเหมือนกัน บางทีอย่าเพิ่งไปรีบสรุปว่าลูกเราจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปล่อยพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ ตื่นตัวในการที่จะรู้จักตัวเอง แล้ววันหนึ่งถ้าเขาจะเป็นอะไร เขาก็จะมีความสุขในการที่เขาได้เป็นแบบนั้น
ทีนีลองมองกลับกันบ้าง ในมุมของวัยรุ่นถ้าเขาอยากให้ผู้ใหญ่ยอมรับความรักของตัวเอง หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นความขัดแย้งในครอบครัว จะมีวิธีสื่อสารอย่างไร หรือต้องตั้งหลักอย่างไรดี
สำหรับวัยรุ่นหมอก็อยากให้ทำความเข้าใจ แล้วก็อยู่กับความเป็นจริง บางทีสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์ คือความคาดหวัง ความคาดหวังที่อยากให้แม่ยอมรับ เข้าใจเรา การพยายามไปจัดการกับแม่ก็ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะว่าแม่ก็คือแม่ บางทีเขาเติบโตมากับรากฐานความคิดความเชื่อหลายอย่าง ก็ทำให้เขาอาจจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้
เรามีหน้าที่ทำในสิ่งที่เราควรจะต้องทำอย่างดีที่สุด เช่น หาโอกาสคุย ทำให้แม่มีมุมมองใหม่ๆ แต่ว่าถ้าเกิดยังไงก็ไม่ได้ ยังไงก็ปิดตาย เราก็ควรจะเคารพสิ่งที่มันเป็นความเป็นจริงตรงนั้น หน้าที่ของเราก็คือถ้ามันไม่ได้ก็ยอมรับว่ามันไม่ได้ แต่ว่าทำยังไงที่เราจะเลือกทางเลือกของเรา
สมมุติว่าแม่ไม่อนุญาตแล้วเราก็รู้สึกแคร์แม่ เรารู้สึกกังวลเราอาจจะยอมเลือกที่จะไม่มีความสัมพันธ์ อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราก็ได้บางอย่างเสียบางอย่าง อีกทางเลือกหนึ่งก็คือเรายังมีความสัมพันธ์ตรงนี้แหละ ถึงแม้ว่าแม่จะไม่รู้ เพราะเราก็เชื่อว่าความสัมพันธ์ตรงนี้เราพอจะดูแลของเราได้ ก็เลือกพื้นที่ตรงนั้น แล้วเรียนรู้เติบโตด้วยตัวเอง ได้ด้วยการยอมรับและเข้าใจข้อจำกัดของแม่ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่ามันจะได้บางอย่างเสียบางอย่าง เราอาจจะได้พื้นที่ที่เป็นอิสระปลอดภัยจัดการตัวเองได้ แต่เราก็มีความเสี่ยงกับการที่เราอาจจะไม่มีคนช่วยคิด ช่วยป้องกันผลกระทบต่างๆ แต่ยังไงก็ตามหมอคิดว่านี่คือสิ่งที่เราเลือกที่จะเรียนรู้ได้ว่าเราจะเลือกพื้นที่ตรงไหน ไม่ว่าจะเลือกยังไงพื้นที่ตรงนั้นก็เป็นพื้นที่การเรียนรู้และเติบโตได้เหมือนกัน ก็ทำหน้าที่อย่างที่เราควรจะต้องทำ
พ่อแม่คงดีใจที่เราเดินมาคุยกับเขา ขณะเดียวกันถ้าพ่อแม่ไม่เปิดรับและปิดกั้น แต่เรายังรู้สึกว่าตรงนี้มันคือความรู้สึกที่เราก็เลี่ยงไม่ได้ ก็อยู่กับมันแบบตั้งสติ ทำให้ตัวเองปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดปัญหา ยังไงก็ตามอยากให้เชื่อเสมอว่าถึงแม้ว่าวันนี้เขาจะรู้สึกไม่ยอมรับไม่เปิดกว้าง แต่วันที่เรามีปัญหาเขาจะเป็นคนที่อยากช่วยเหลือเราที่สุด เพราะฉะนั้นถ้ามันมีอะไรก็ยังอยากให้กลับไปที่พ่อแม่
สุดท้ายขยับภาพไปที่สังคม หรือสิ่งที่สะท้อนผ่านสื่อทั่วๆ ไป เราก็ยังเห็นการส่งผ่านมุมมองทัศนคติเดิมๆ คุณหมอว่าเราจะสร้างบรรยากาศที่ทำให้คนต่างเจนหรือต่างความคิดเข้าใจเรื่องความรักวัยรุ่นและใช้มันในทางสร้างสรรค์ได้อย่างไร
หมออยากให้สื่อทำให้อย่างน้อยความรักต้องเป็นเรื่องที่สวยงาม มันไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย ก็อย่าไปทำให้ความรักในวัยเรียนเท่ากับการมีเซ็กส์ สื่อบางทีพอพูดเรื่องวัยรุ่นเดทวาเลนไทน์ก็จะไปพูดเรื่องต้องมีเซ็กส์กันเสียตัวกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรระวัง เพราะว่าเรากำลังผลิตซ้ำกับความเชื่อหรือมายาคติบางอย่างว่าวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการใจแตก วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเสียตัว วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการท้องไม่พร้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางทีมันเป็นภาพจำที่ไม่ได้ทำให้คนพัฒนาศักยภาพ ทำยังไงเราจะสร้างมายเซ็ตหรือทัศนคติใหม่ว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความแมทชัวร์ (mature-วุฒิภาวะ) เป็นวัยที่ดูแลตัวเองได้ มีความพร้อมในการเลือกชอยส์ของตัวเอง แล้วเป็นวัยที่เราสามารถช่วยให้เขาเติบโตไปแบบที่ไม่เป็นปัญหา
อย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าว่าแต่การมีแฟน การมีเซ็กส์ใน High School หรือโรงเรียนมัธยมก็เกือบครึ่ง แต่ว่าประเทศก็พัฒนาไปได้ดี เพราะว่ามีการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับการมีเซ็กส์ คือเขาไม่ได้ไปห้ามการมีเซ็กส์ แต่เขาสอนเรื่องเพศศึกษารอบด้าน สอนตั้งแต่เรื่องถ้าไม่พร้อมก็ไม่ต้องมี ไม่ต้องถูกสังคมกดดันว่าวัยรุ่นต้องมีเซ็กส์ ขณะเดียวกันก็สอนให้เลื่อนการมีเซ็กส์ครั้งแรกออกไป ถ้ารู้สึกว่าเรายังไม่พร้อม แต่ถ้าเราพร้อมเราก็มีทางเลือกตั้งแต่มีอารมณ์เพศก็ช่วยตัวเองได้ มีเซ็กส์แบบไม่สอดใส่ได้ รวมไปถึงถ้าจะมีเซ็กส์แบบสอดใส่ก็มีถุงยางอนามัยและฮอร์โมน คือมีการคุมกำเนิด มีการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดแบบที่ไม่ต้องแจ้งผู้ปกครอง สิ่งเหล่านี้มันทำให้วัยรุ่นเขาปลอดภัย ไม่ใช่การห้ามมีเซ็กส์ หรือการทำให้คุณค่าของผู้หญิงไปอยู่ที่การรักนวลสงวนตัว หรือการเอาตำรวจไปนั่งจับหน้าโรงแรมวันลอยกระทง วันวาเลนไทน์ เพื่อที่จะป้องกันวัยรุ่นมาใช้โรงแรมมีเซ็กส์ มันไม่ได้แก้ปัญหา
ทำอย่างไรที่จะให้วัยรุ่นมีความรู้สึกว่าตัวเขามีอำนาจในการเลือก มีอำนาจในการตัดสินใจ มีอำนาจในการดูแลตัวเอง ทำอย่างไรที่เราจะเอ็มพาวเวอร์ให้ครอบครัวรู้สึกว่าเขาอยู่กับมันแบบที่ไม่ต้องรังเกียจหรือกลัวหรือรู้สึกว่าต้องกำจัดความรักในวัยรุ่น
ทำอย่างไรที่เขาจะอยู่กับมันแบบเป็นมิตรและเปิดพื้นที่ให้ลูกได้เรียนรู้ ได้มีความรู้ที่จะดูแลและป้องกันตัวเอง ได้มีพื้นที่ให้ลูกเติบโตแบบที่ยังเห็นว่าลูกใช้ชีวิตกับการมีความรักในวัยเรียนยังไง หมอคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่สื่อช่วยได้