- ดูละครแล้วย้อนดู วิเคราะห์ และตั้งคำถามกับความเป็นแม่ หรือ ‘ออมม่า’ ผู้ไม่แพ้แห่งเกาหลีใต้ผ่าน SKY Castle
- ทำไมละครทางช่องเคเบิลทีวีเรื่องนี้ คว้าเรตติ้งสูงสุดมาได้ อาจเพราะมันไปเสียดสีและตบหน้า ‘ภารกิจตะเกียกตะกายแผ่นฟ้า (SKY)’ หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยท็อปทรีของประเทศ
- เบื้องหลังทั้งความสำเร็จและความพ่ายแพ้คือเหล่าออมม่า ที่ถูกสังคมกดทับให้คำว่าแม่และเมีย มาทีหลังสามีและลูกเสมอๆ
เรื่อง: รุ่งรวิน แสงสิงห์
ละครเรื่อง ‘SKY Castle’ เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อปลายปี 2018 ทางช่อง JTBC
กว่า 20 ตอน ที่ละครเรื่อง SKY Castle ได้ฉายทางช่องเคเบิลทีวี กลายเป็นกระแสโด่งดังเพราะเปิดตัวด้วยเรตติ้งเพียง 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ แต่ตอนจบกลับทำได้มากถึง 23 เปอร์เซ็นต์
เหตุผลหนึ่งที่คนให้ความสนใจอาจจะเป็นเพราะละครเรื่องนี้ดึงคนดูให้มีอารมณ์ร่วมไปกับ ‘คอมมูนิตี้’ ของครอบครัวอีลีททั้ง 4 ครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวของศาสตราจารย์แพทย์ระดับประเทศ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชื่อดัง พร้อมทั้งภรรยาและลูกๆ ของพวกเขาที่กำลังเตรียมตัวจะสอบเข้าเรียนต่อใน SKY – ใช่ SKY แผ่นฟ้าที่สูงลิบลิ่ว คือเป้าหมายของพวกเขา เป้าหมายที่คนทั้งเกาหลีให้ความสนใจ
ความสนุกของละครเรื่องนี้คือ การเหยียดหยามโฉมหน้าของสังคมเกาหลี ด้วยการเสียดสีผ่านตัวละครสมมุติ มีการวางตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆ ลงไปบนตัวละคร จากที่มีชีวิตอยู่แล้วกลับยิ่งมีชีวิตเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ แม้ละครเรื่องนี้จะเหมือนโลกเสมือนที่ล้อเลียนสังคมจริงของเกาหลีใต้ แต่ละครกลับซ่อนภาพของความเรียลและเซอร์เรียล (Real/Surreal) เอาไว้ในทุกๆ ฉาก เพื่อเป็นการหลอกตำหนิสภาพสังคมจริงๆ ในเกาหลี
การเติมชีวิตให้ตัวละครใน SKY Castle น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อละครได้สร้างคนอย่าง ‘เยซอออมม่า’ ผู้หญิงที่เป็นตัวแทนของฝ่ายขวา เป็นพลังอนุรักษนิยมในเกาหลีใต้ ถ้าเปรียบ SKY Castle เป็นร่างกายของคน เยซอออมม่า คือมันสมองที่มีอิทธิพลทางความคิดส่งผลกระทบกับชีวิตต่อคนทั้งหมดในเรื่อง เธอพยายามอย่างหนักในฐานะการเป็น ‘แม่’ เป็นออมม่าที่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก โดยไม่สนวิธีการว่าจะนำพามาซึ่งสิ่งใด
เมื่อมีตัวแทนจากฝั่งอนุรักษนิยมแล้ว ก็ต้องมีพลังเสรีนิยมในการฟาดฟันกัน หน้าที่นี้ในเรื่องตกไปอยู่ที่ ‘อูจูออมม่า’ ผู้หญิงที่เป็นสัญลักษณ์แทนความขบถ ผิดแปลก และท้าทาย ต่อสังคมเกาหลีใต้ เธอเป็นตัวแทนของสิ่งที่ผู้หญิงเกาหลีใต้อยากเอาเยี่ยงและเอาอย่าง แต่ไม่สามารถผ่าทะลวงม่านวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ที่กางไว้อย่างหนาแน่นได้ อูจูออมม่า จึงกลายเป็นตัวแทนของผู้หญิงอีกกลุ่ม ที่มีความคิดและเป็นตัวของตัวเอง พร้อมทั้งพลังที่คอยกระทุ้งให้ผู้ชมรู้สึกตั้งคำถามกับสิ่งที่สังคมเกาหลีใต้เผชิญอยู่ในขณะนี้
และนี่คือบทวิเคราะห์ถึงเรื่องสังคมและชนชั้นในเกาหลี กับสิ่งที่เรียกว่าค่านิยมที่กดทับ บทบาทและหน้าที่ของ ออมม่า ชาวเกาหลี
SKY: เรามาแตะแผ่นฟ้ากันเถอะ
ละครเรื่อง SKY Castle ตั้งชื่อล้อเลียน ถึงคำว่า SKY ที่มาจากชื่อของมหาวิทยาลัย top 3 อย่าง National Seoul University, Korea University และ Yonsei University
สำหรับคนเกาหลีแล้ว การได้เข้าเรียนใน SKY ถือเป็นความหวังสูงสุด และเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล บางคนที่อกหักจากการเรียนใน SKY จะต้องยอมเป็นเด็กซิ่ว ซิ่วแล้วซิ่วอีกเพื่อให้ได้เข้า SKY แน่นอนว่าช่วงเวลาของการซิ่ว พวกเขามักจะไม่เสียเวลาไปกับการทำตัวเรื่อยเปื่อย ยิ่งจุดหมายชัดเจนเท่าใด ความเข้มงวดในการกวดขันตัวเองก็จะมากขึ้นเท่านั้น
วิธีที่จะเข้า SKY ได้ จะต้องสอบ ‘ซูนึง’ ถ้าเทียบกับสังคมไทยก็คือการสอบ admission นั่นเอง ไม่เพียงแต่สอบซูนึงเท่านั้น การจะเข้ามหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของประเทศจำเป็นจะต้องมีประวัติผลการเรียน กิจกรรม ที่ดีมากพอที่จะเอาชนะคู่แข่งจำนวนมหาศาล ในละคร เยซอออมม่า ได้ติดต่อโค้ช มาประกบ ติว สอน วางโปรแกรม ให้กับเยซอลูกสาวของเธอโดยตรง เยซอมีความปรารถนาที่จะเป็นหมอเหมือนกับพ่อของเธอให้ได้ แน่นอนว่าอัตราการแข่งขันก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ในเรื่องโค้ชจะจัดโปรแกรมการเรียนการสอนรวมถึงจัดห้องนอน ปรับระดับสีไฟที่เหมาะกับการเรียนการสอน ทำทุกอย่างที่เรียกว่า ‘ก้าวล่วง’
แต่ความน่าสนใจคือ แทนที่เยซอจะงอแงที่ถูกออมม่าและโค้ชเข้าบงการชีวิต แต่เธอกลับชอบและสนุกไปกับความรู้สึกที่เสมือนว่าเธอกำลังจะชนะคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ด้วยการจัดการของโค้ช
มันสะท้อนอะไร? ชีวิตของเยซอสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของเด็กเกาหลีที่ถูกเลี้ยงดูผ่านระบบการแข่งขันและความหวัง พวกเขาต้องตะเกียกตะกายขึ้นไปให้สูงขึ้น สูงขึ้น และสูงขึ้น แม้ว่าเยซอเองจะเป็นลูกหลานอีลีท โดยเฉพาะฉากที่แม่ของเธอไปพบกับย่า เราจะเห็นความเป็นชนชั้นนำจากบ้านหลังคามุงกระเบื้องของย่าของเยซอ เพราะบ้านของผู้ดีหรือขุนนางเก่าจะเป็นบ้านเกาหลีโบราณ ในปัจจุบัน อสังหาฯ ในประเทศเกาหลีมีราคาสูงมาก ต่อให้เป็นคนที่มีเงินทองมากมาย ก็มักจะเลือกซื้อบ้านที่เป็น อะพาททึ (apartment) เป็นห้องเช่ามากกว่าจะซื้อบ้านพร้อมที่ดิน
แค่บ้านขนาดใหญ่ของเยซอ และบ้านหลังคามุงกระเบื้องของย่า ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า นี่เป็นชีวิตของคนกลุ่มยอดบนพีระมิด เป็นชีวิตที่คนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิได้พบเจอ สะท้อนว่าเยซอคือชนชั้นนำโดยกำเนิด เป็นชนชั้นนำที่เป็นสมบัติตกทอด แม้ว่าเยซอจะเป็นคนที่อยู่ท่ามกลางความปลอดภัย ต่อให้เธออยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร ก็ไม่ทำให้เยซอปลอดภัยน้อยลงไปมากกว่านี้อีก แต่เธอกลับเลือกที่จะต่อสู้ เพื่อเอื้อมมือแตะแผ่นฟ้า
ในสังคมเอเชีย เรามักจะเห็นรูปแบบการเรียนการสอนที่หนัก เด็กจะถูกนำเข้าสู่ระบบการศึกษาตั้งแต่ยังเล็ก ขณะที่เรื่องแบบนี้กลับพบไม่มากในสังคมตะวันตก เพราะเชื่อว่า การอยู่กับครอบครัว การเรียนรู้กับธรรมชาติคือสิ่งที่ดีที่สุด ยิ่งเข้าสู่โรงเรียนที่เป็นระบบช้ามากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีกับเด็กๆ มากเท่านั้น เด็กจะไม่ต้องรีบแข่งขันกับใคร เด็กจะได้ค่อยๆ เรียนรู้และเติบใหญ่ เป็นคนที่มีความเป็นคนมากกว่าการรีบป้อนความต้องการของพ่อแม่ให้เด็กในวัยที่เล็กมากๆ
แต่ไม่ใช่สำหรับเยซอ – เยซอ ไม่ได้โตมาในระบบแบบนั้น เธอโตมากับการแบกรับความคาดหวังของพ่อและแม่ รวมถึงออมอนี หรือ คุณย่าของเธอ ที่จะได้เห็นเธอเป็นหมอสืบต่อเป็นรุ่นที่สามของครอบครัว
เยซอ โตมาในสังคมเกาหลีใต้ ที่เต็มไปด้วยความเปราะบางและความกลัว ในสังคมเกาหลี จะมีชุดความคิดหนึ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ฮัน’ หมายถึงความทุกข์ยาก โศกเศร้า เป็นคอนเซ็ปต์ของการพยายามลุกขึ้นมาสู้ สู้กับความยากลำบาก เพราะคนเกาหลีเคยเผชิญกับสภาวะสงคราม เคยเผชิญกับการเป็นประเทศยากจนไม่มีอะไรให้กิน พวกเขา (โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า ที่เกิดทันความลำบากที่ว่า) มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความกลัว – นี่คือมุมกลับอีกด้านของความชาตินิยมและความภูมิใจใน แทฮัน (เกาหลีอันยิ่งใหญ่) ของพวกเขา เพราะพยายามถึงมีวันนี้ได้จากคนที่ไม่มีอะไรเลย
เราจะเห็นหนัง ละคร หรืออะไรก็ตามที่สัญชาติเกาหลี มักจะมีความ ‘ดราม่า’ เศร้าหนักเกินกว่าที่เราจะคิดได้ เพราะอิทธิพลของ ‘ฮัน’ ทำให้คนเกาหลีแอบมีความโรแมนติกกับความลำบาก แอบมีความโรแมนติกกับการต่อสู้ที่ยากและหนัก ถึงร้องไห้ก็จะเป็นภาพร้องไห้ที่ฟุ้งและงดงามที่สุด เพราะเขาเชื่อว่า การทำงานหนัก ทำอะไรที่หนักและมีความอดทน มักจะได้รับการตอบแทนด้วยดอกผลแห่งความสำเร็จ การเรียนหนักในวัยเด็กจึงเป็นภาพสะท้อนของวิธีคิดแบบนี้ ดอกผลแห่งความสำเร็จจะทำให้พวกเขาไปแตะแผ่นฟ้าได้ในที่สุด
ที่เกาหลีใต้ วันสอบซูนึง จะเป็นวันชี้ชะตาของการได้เข้า SKY หรือไม่ได้ จะถูกกำหนดเป็นวันพิเศษ ทุกอย่างจะเริ่มช้ากว่าเวลาสอบ 1 ชั่วโมง เช่น การทำงานจาก 08.00 จะถูกเลื่อนไป 09.00 เพื่ออำนวยความสะดวกให้เด็กๆ สามารถไปสอบซูนึงได้ทันโดยไม่ต้องติดอยู่บนถนน พวกเขาให้ความสำคัญกับเด็กก่อนเป็นอันดับแรก และจะไม่มีการรบกวนทางเสียงไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตามในระหว่างที่เด็กๆ มีการสอบฟังภาษาอังกฤษ 30 นาที เครื่องบินจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินในช่วงการสอบดังกล่าว
ดอกผลของการเทรน การติว การเรียน อย่างหนักจะมาปรากฏผลในการสอบซูนึง ออมม่าชาวเกาหลีแทบจะทั้งหมด คาดหวังว่า ลูกๆ ของพวกเธอจะได้เข้าเรียนใน SKY หรือไม่ ก็ในมหาวิทยาลัยระดับรองลงมา บางคนก็หวังพึ่งเทพเจ้า ไปทรงเจ้าเข้าผี บางคนก็จัดเมนูพิเศษเพื่อลูกของเธอก่อนวันสอบจริง เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดเพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการสอบ ออมม่าเหล่านี้ทำได้หมดทุกอย่าง
ถ้าถามว่าทำไมถึงอยากเข้า SKY คำตอบคือภาษีของการเข้าเรียนที่ SKY ไม่ใช่เป็นเพียงการเอื้อมมือแตะแผ่นฟ้าเท่านั้น แต่เป็นการก้าวขึ้นไปอยู่บนฟ้าต่างหาก
เพราะเด็กๆ ที่สามารถเข้าเรียนใน SKY ได้ จะได้รับการพิจารณาเมื่อไปสมัครงานในบริษัทกลุ่มทุนแชโบล (Chaebol) ที่เป็นกลุ่มทุนหลักระดับประเทศ ถ้าหากเอ่ยชื่อด้วยสำเนียงไทยคงจะพอรู้จักบริษัทเหล่านี้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง (SAMSUNG) ฮุนได (Hyundai) หรือแม้แต่ช่องโทรทัศน์หลักของเกาหลีใต้อย่าง KBS SBS MBC ก็เป็นพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่แย่งกันเข้าทำงาน
การได้ทำงานในบริษัทเหล่านี้สำคัญอย่างไร?
ยิ่งทุนใหญ่ งานเยอะ ค่าตอบแทนก็สูง และบริษัท แชโบล เป็นลักษณะพิเศษของการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ เปรียบเสมือนหัวรถจักรที่มีกำลังแรงม้ามหาศาล ทำหน้าที่ลากขบวนโบกี้ที่บรรทุกคนทั้งประเทศไปข้างหน้า มีคำพูดเปรียบเทียบว่า ถ้าซัมซุงล้ม เกาหลีใต้ก็ล้มด้วย นั่นหมายความว่าความสำคัญที่สูงมากของบริษัทเหล่านี้ ส่งผลให้การจ้างงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ การมีชีวิตที่ดีของพนักงานต้องดีตามไปด้วย และการเข้ามาเรียนใน SKY จะช่วยยกระดับสถานะของเด็ก เกียรติยศ ชื่อเสียง จากคนรอบข้างจะเริ่มสรรเสริญเซ็งแซ่ทันทีที่ได้ประกาศชื่อว่าติด SKY
엄마: เรื่องของ ‘ออมม่า’ ผู้ไม่แพ้
ผู้หญิงเกาหลี มีความพิเศษไม่แพ้ผู้หญิงชาติไหนบนโลก วิธีสังเกตว่าผู้หญิงเกาหลีขาดอะไร และ ต้องการ อะไร ให้สังเกตผ่านละครโทรทัศน์ นักเขียนละครโทรทัศน์ส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิง มักจะมีวิธีการผลักดัน ‘อาเจนด้า’ (วาระ) ของพวกเธอ พวกเธอสร้างผู้ชายที่พวกเธอต้องการ ผ่านพระเอกละครของพวกเธอ เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนทีละเล็กทีละน้อย
ผู้ชายที่ไม่ใช้ความรุนแรง เป็นภาพลักษณ์ที่ถูกเผยแพร่ซ้ำบ่อยที่สุดบนละครสัญชาติเกาหลี ถ้าถามว่าทำไม คำตอบคือ เพราะเขาอยากให้ผู้ชายเป็นแบบนั้นเสียที
แต่วิธีคิดของผู้หญิงเกาหลีจะแปลกตรงที่ ข้อเรียกร้องในการมีผู้ชายที่ไม่ใช้ความรุนแรงกับพวกเธอนั้น เป็นคนละข้อเรียกร้องกับขอให้ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย กลไกทางสังคมยังคงสามารถทำงานกดทับหญิงชาวเกาหลีได้เป็นอย่างดี พวกเธอไม่ได้รู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อมีสถานภาพน้อยกว่าผู้ชาย แต่พวกเธอจะรู้สึกไม่ปลอดภัยถ้ามีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น
สิ่งที่เห็นมีเพียงการขอให้พวกเขาอ่อนโยนมากยิ่งขึ้น แสดงออกถึงความรักที่มากขึ้น เห็นได้จากวัฒนธรรมการคบหา ผู้ชายต้องเป็นฝ่ายดูแลและจัดการเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าท่องเที่ยว หรือค่ากินอยู่ของผู้หญิง มันแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเกาหลียังคงต้องพึ่งพาผู้ชาย และยังไม่สามารถออกจากร่มเงาของชายเป็นใหญ่ได้ในเวลาอันสั้น หากค่านิยมที่ให้ผู้ชายเป็นฝ่ายจัดการดูแลทั้งหมดไม่หายไป
ขณะเดียวกัน พวกเธอไม่ได้เรียกร้องสถานะที่เท่าเทียมทางเพศของชายและหญิง ขบวนการเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้มักจะถูกสังคม ‘บุลลี่’ อย่างรุนแรง ครั้งหนึ่งไอดอลสาวชาวเกาหลีถือหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเฟมินิสต์ ทำให้แฟนคลับชายไม่พอใจแล้วเผารูปของเธอเพื่อเป็นการประท้วง นี่คือปัญหาใหญ่ของเกาหลี ระดับคุณค่าของความเป็นคนยังถูกเซ็ตด้วยการเอาเพศสภาพเป็นที่ตั้ง ซึ่งนั่นก็ทำให้ ‘การเป็นผู้หญิงเกาหลี’ จะไม่มีวันอยู่ในระดับเดียวกันกับ ‘การเป็นผู้ชายเกาหลี’
ใน SKY Castle เราอาจจะไม่เห็นเรื่องราวเหล่านี้ชัดเจน เพราะละครเขียนบท ‘เนียน’ ทีเดียว แต่ถอยออกมาหนึ่งก้าว ถ้ามองภาพรวมของละครเราจะเห็นการต่อสู้ของผู้หญิงเกาหลี เราจะเห็นการต่อสู้ของเหล่าออมม่า แม้ว่ารูปแบบการกระจายบทของละครเรื่องนี้ทำได้ดีมาก แต่ผู้เขียนหยิบเพียง 2 ตัวละครที่เป็นพลังคนละขั้วมาอธิบาย ซึ่งก็คือ เยซอออมม่า และ อูจูออมม่า เพื่อให้เห็นภาพ
ผู้หญิงเกาหลีที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว ทันทีที่เธอมีลูก ชื่อของลูกคนโตของเธอ จะกลายมาเป็นชื่อที่สังคมรู้จักและรับรู้ สามีของเธอจะเริ่มไม่เรียกชื่อจริงของเธอ แต่เรียกชื่อลูกคนโตแล้วตามด้วยคำว่าออมม่า ที่แปลว่า แม่ แทน
มันเป็นภาพความผูกพันของอัตลักษณ์กับภาระหน้าที่อีกอย่าง เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ภารกิจ หลังจากนี้ คือการเลี้ยงลูก ดูแลลูก ทันทีที่เธอมีลูก เธอคือแม่ ไม่ใช่ตัวเธออีกต่อไป ชื่อจริงๆ ของตัวเองจะค่อยๆ เลือนหายไป เหมือนฉากที่ เยซอออมม่ากับอูจูออมม่าพบกัน แล้วอูจูออมม่าจำไม่ได้ ว่าเยซอคือเพื่อนสมัยมัธยม ไม่มีใครจดจำเธอได้ว่าเธอคือ ฮันซอจิน ทุกคนจำได้แต่ว่าเธอคือ แม่ของเยซอและเยบินเท่านั้น
สิ่งที่เยซอออมม่าทำ ไม่ว่าจะเป็น การล็อบบี้ การแย่งชิง การเข้าไปจุกจิกจู้จี้และชี้นำชีวิตของลูก เป็นสิ่งที่เธออาจจะไม่ได้เป็นแบบนี้ตั้งแต่เกิด หากแต่เกิดจากการขัดเกลาทางสังคมที่รุนแรงของสังคมเกาหลีใต้ เกาหลีใต้ยังเป็นสังคมที่มีพื้นฐานที่เป็นอนุรักษนิยมและมีกลิ่นอายของปรัชญาขงจื้อที่ฉุนกึกอบอวลอยู่ทั่วคาบสมุทรเกาหลี แม้คนส่วนใหญ่จะไม่ได้นับถือศาสนา จะไม่ได้มีความเชื่อทางใดทางหนึ่ง แต่จารีตประเพณีที่เป็นขงจื้อ ก็ส่งผลให้สังคมมีลักษณะของ ชายเป็นใหญ่ เมียเดินตาม และทำหน้าที่ สงบเสงี่ยมเชื่อฟังสามี หน้าที่แม่จึงเป็นหน้าที่สูงสุดของการเป็นมนุษย์
แต่อูจูออมม่ากลับไม่ใช่ ในฐานะพลังเสรีนิยม พลังส่วนน้อยในสังคมเกาหลีใต้ เธอไม่ได้ผูกพันอัตลักษณ์ของความเป็นแม่เพื่อให้มันแทนที่ชีวิตของเธอ แต่เธอเลือกที่จะทิ้งระยะห่างระหว่างเธอและลูกของเธอ ไม่ได้สร้างอัตลักษณ์ความเป็นแม่ขึ้นมาทับตัวเอง แต่เลือกที่จะเป็นตัวเองที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นแม่
ถ้าพูดให้ถูก ความเป็นคนของเธอยิ่งใหญ่กว่าความเป็นแม่ เธอเอาใจใส่คนรอบตัว ลูก เพื่อนลูก ลูกๆ ของเพื่อนบ้านใน SKY Castle อูจูออมม่าเปรียบเสมือนพื้นที่ เปรียบเสมือนอากาศให้ผู้คนได้เข้ามาใช้ร่วมกันและหายใจ
เป็นปรัชญา วิธีคิด ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ เยซอออมม่า ที่ต้องการประหัตประหารผู้คนที่จะทำให้ลูกของเธอไปไม่ถึงแผ่นฟ้า อูจูออมม่ากลับเลือกที่จะโอบกอดผู้คนไว้ให้ได้มากที่สุด บุคลิกของอูจูออมม่า ก็มีความน่าสนใจให้ได้คิดต่อ ทำไมละครเลือกวางคาแรคเตอร์ของฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าให้ดูสงบเสงี่ยม และออกจะขี้กลัวเกินจริง ถ้าอูจูออมม่า เป็นคนที่มีความคิด เป็นตัวของตัวเองขนาดนั้น ทำไมละครถึงไม่เลือกคาแรคเตอร์ที่ฉูดฉาดกว่านี้
คำตอบเราไม่อาจรู้ได้ แต่เราวิเคราะห์จากภาพรวมได้ เพราะความเป็นชายขอบ ของแนวคิดเสรีนิยมในเกาหลี ยังไม่ได้ทรงพลังมากเท่ากับความคิดหลักของสังคมทั้งหมด เธอมักจะหยุดคิดหรือบางครั้งก็ลังเลที่จะโต้เถียงหรือแสดงความไม่พอใจกับการเลี้ยงลูกของคนใน SKY Castle นั่นเพราะเธอคือตัวแทนของคนชายขอบในสังคมนั่นเอง
สำหรับ SKY Castle นอกจากจะโชว์พลังของผู้หญิง ยังดึงคนดูให้ชวนคิดถึงพลังของความเป็นแม่ในตัวออมม่าชาวเกาหลี ที่มีสังคมชายเป็นใหญ่กดทับอยู่ ความปลอดภัยในสังคมก็กดทับพวกเธอลงไปอีก
SKY Castle ยังทำให้เราเห็นการต่อสู้และสลัดแอกของผู้หญิงเกาหลีว่ายังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แม้ชัยชนะจะเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะเลือนลางเต็มที
แต่สิ่งที่กล้าพูดได้หลังจากนี้คือ พวกเธอจะไม่แพ้ และไม่มีวันแพ้แน่นอน แต่อาจจะต้องถามว่า วิธีไหนกันที่จะทำให้พวกเธอไม่แพ้?