- คำสอนที่พร่ำบอกว่า พี่น้องต้องรักกันนะ อาจไม่ใช่วิธีทำให้พี่น้องรักและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่เป็นผู้ปกครองที่ทำให้ลูกๆ รู้สึกเห็นอกเห็นใจกันและกัน จากการใช้เวลาร่วมทุกข์ร่วมสุขและให้ความยุติธรรม สร้างสายสัมพันธ์ที่ดี
- บทความนี้จะมากล่าวถึงแนวทางสำหรับพ่อแม่และผู้ใหญ่ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง และข้อที่ควรพึงระวังหากไม่ต้องการสร้างบาดแผลระหว่างพี่น้อง
- การที่ผู้ปกครองตั้งใจจะมีลูกคนที่สอง เราควรนำไปปรึกษากับลูกคนโตด้วยว่า ‘เขารู้สึกอย่างไร’ เพราะลูกถือเป็นสมาชิกในครอบครัว และเขาควรได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อตัวเขา
“พี่ต้องรักน้อง น้องต้องรักพี่ เกิดเป็นพี่น้องต้องรักกัน”
เด็กๆ ที่เกิดในครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนย่อมคุ้นเคยกับคำพูดเหล่านี้จากผู้ใหญ่ในบ้านเป็นอย่างดี
พ่อแม่ทุกคนย่อมปรารถนาที่จะเห็นลูกๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ในครอบครัวใดที่พี่น้องรักใครปรองดองต่อกันเปรียบได้กับของขวัญสุดแสนพิเศษสำหรับพ่อแม่ทีเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่พี่น้องจะรักกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนั้น มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง มากกว่าแค่ คำสอนพร่ำบอกว่า พี่น้องต้องรักกันนะ
ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวทางสำหรับพ่อแม่และผู้ใหญ่ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง และข้อที่ควรพึงระวังหากไม่ต้องการสร้างบาดแผลระหว่างพี่น้อง
แนวทางต้อนรับสมาชิกใหม่ในครอบครัว
สำหรับลูกคนโต ซึ่งมีฐานะเป็น ‘ลูกคนเดียว’ มาโดยตลอด การที่พ่อแม่ตั้งใจจะมีลูกคนที่สอง เราควรนำไปปรึกษากับลูกคนโตด้วยว่า ‘เขารู้สึกอย่างไร’ เพราะลูกถือเป็นสมาชิกในครอบครัว และเขาควรได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อตัวเขาด้วย
บ่อยครั้งเราพบว่า การที่พ่อแม่ไม่ได้บอกเรื่องราวที่สำคัญ อย่างเช่น การจะมีลูกคนที่สอง ให้ลูกคนโตทราบ
ผลที่อาจตามมาได้ คือ ความไม่พร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของลูกคนโต ซึ่งความไม่พร้อมนั้นอาจจะส่งผลต่อความรู้สึก ทั้งความสับสนว่าเขาควรรับมืออย่างไรดี ทั้งความไม่พอใจว่าทำไมเขาถึงไม่รู้เรื่องอะไรเลย และทำไมพ่อแม่ถึงไม่ถามเขาก่อน และความกังวลใจว่าเขาจะยังเป็นที่รักและที่ต้องการของพ่อแม่อยู่ไหม
ดังนั้น ‘การวางแผนจะมีลูกคนที่สอง’ พ่อแม่ควรเพิ่มขั้นตอน ‘การเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับลูกคนโต’ ด้วย
วิธีการที่พ่อแม่สามารถทำได้มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 พูดคุยกับลูกถึงความตั้งใจของเรา
เช่น “พ่อแม่ตั้งใจจะมีน้องเพื่อให้มาเป็นเพื่อนเล่นกับลูก”
ขั้นที่ 2 รับฟังความรู้สึกของลูก
พ่อแม่ควรถามลูกต่อว่า “ลูกรู้สึกอย่างไร ถ้าพ่อแม่จะมีน้องอีกคน”
เมื่อลูกตอบ อย่าเพิ่งพูดแทรกลูก หรือพยายามจะสอนเขา แต่ให้ฟังลูกพูดให้จบ ตรงจุดนี้ลูกอาจจะตอบเราในเชิงลบได้ เช่น “ไม่อยากมีน้อง” “ไม่เอาน้อง” และอื่นๆ ขอให้พ่อแม่สงบใจและรับฟังลูก เพราะสิ่งที่ลูกพูดจะเป็นความต้องการและความรู้สึกของเขาที่แท้จริง
ในกรณีที่ลูกไม่อยากมีน้อง พ่อแม่มี 3 ทางเลือก
ทางเลือกที่ 1 ชะลอการมีลูกคนที่สองไปก่อน เพื่อให้เวลาลูกคนโตในการเตรียมความพร้อมทั้งกายใจ
พ่อแม่สามารถรอให้ลูกคนโตพร้อมกว่านี้ ค่อยมีคนที่สอง เพราะเด็กหลายคนที่อยู่ในวัย 0 – 6 ปี ตามพัฒนาการของพวกเขายังมีการยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentrism) ทำให้เด็กๆ ต้องการความสนใจและต้องการการพึ่งพิงจากผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก
ดังนั้น การมีน้องคนที่สองในช่วงเวลานี้ ทำให้พ่อแม่ควรเตรียมความพร้อมของลูกคนโตด้วยการสอนเขาช่วยเหลือตัวเองตามวัย (Self care) ยิ่งลูกทำอะไรได้ด้วยตนเองมากเท่าไหร่ เขาจะรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเท่านั้น เมื่อพึ่งพาตัวเองได้เป็นอย่างดี พวกเขาจะสามารถพัฒนาการแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่นได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความพร้อมในการมีน้องที่จะมาพึ่งพิงพ่อแม่ และตัวเขาด้วย
ทางเลือกที่ 2 การมีน้องคนที่สอง แม้ลูกคนโตจะยังไม่พร้อม
ทางเลือกทางนี้อาจจะทำร้ายจิตใจของลูกคนโตไม่มากก็น้อย เพราะการที่พ่อแม่รับรู้ว่า ‘เขาไม่พร้อม’ แต่ยังยืนยันที่จะมีน้องอีกคน ลูกอาจจะต่อต้านและปฏิเสธน้องที่เกิดมาได้ ในกรณีนี้ พ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวของลูกคนโตต้องทำการบ้านหนักพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเวลามาให้ลูกคนโตเพื่อให้เขาได้รับความสนใจอย่างเพียงพอ เพื่อที่จะทำให้ลูกคนโตได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้น้อยที่สุด
อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถบีบบังคับว่า “ลูกต้องรักน้องทันที” หรือ “ลูกต้องยอมรับน้องนะ” เพราะการตัดสินใจมีน้อง คือ การตัดสินใจเลือกของพ่อแม่
เมื่อลูกคนโตได้ใช้เวลากับน้องพอสมควรแล้ว ตัวเขายังรู้สึกไม่ยอมรับในตัวน้องของเขา พ่อแม่ควรสร้างโอกาสที่จะทำให้เขารู้สึกเป็นคนสำคัญของพ่อแม่ ให้เขามามีส่วนช่วยในการทำสิ่งต่างๆ ไปกับเรา หรือถ้าหากยังเป็นเรื่องยากสำหรับเราและลูกอยู่ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ครอบครัว นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว อาจจะช่วยให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้น
ทางเลือกที่ 3 การไม่มีน้องคนที่สอง
บางครั้งการที่ครอบครัวไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจ การมีสมาชิกใหม่ในครอบครัวเข้ามาเพิ่ม อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ภายในบ้านเลวร้ายไปกว่าเดิม ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำ คือ การกลับมาดูแลกายใจของพ่อแม่และลูก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวปัจจุบันให้แข็งแกร่งผ่านการมีเวลาให้ลูกคนโตเพียงพอ มีช่วงเวลาดีๆ ด้วยกันมากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นลูกคนโตของเราอาจจะเปิดใจและยอมรับที่จะให้พ่อแม่มีน้องอีกคนก็เป็นได้
บางครั้งพ่อแม่คิดว่า การมีลูกคนที่สองจะช่วยเติมเต็มความรักในครอบครัวปัจจุบันที่อาจจะเว้าแหว่งไป ในกรณีนี้ การมีลูกคนที่สองอาจจะไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีนัก
ขั้นที่ 3 การให้ลูกคนโตเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ก่อนจะน้องจะคลอดออกมา
สำหรับลูกคนโตแล้ว การที่เข้าได้มีโอกาสรับรู้กระบวนการต่างๆ ก่อนจะมีน้อง ทำให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของครอบครัว ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าถูกกีดกันออกไป พ่อแม่อาจจะให้เขาช่วยเลือกของใช้ให้น้อง เลือกสีห้อง เลือกของเล่นให้น้อง และให้เขาได้พูดคุยกับน้องในท้องของแม่ เพราะขนาดสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกยังเกิดขึ้นตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง สายสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องก็เช่นกัน ตั้งแต่ลูกคนโตรับรู้ว่า ‘มีน้องอยู่ในท้องของแม่’ สายสัมพันธ์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
แนวทางสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง
การจะทำให้พี่น้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการ ดังนี้
ปัจจัยที่ 1 การใช้เวลาร่วมกัน ทั้งร่วมทุกข์ และร่วมสุข
ความสัมพันธ์ย่อมเกิดจากการใช้เวลาร่วมกัน ไม่ใช่แค่เพียงการร่วมสุข แต่หมายรวมถึงการร่วมทุกข์
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ยิ่งสร้างสายสัมพันธ์เร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น สายสัมพันธ์แรกของพี่น้องสามารถสร้างได้ตั้งแต่ลูกคนโตรับรู้ว่าน้องของเขามีชีวิตอยู่ในท้องของแม่ ความผูกพันเริ่มต้นจากการที่ลูกคนโตมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ก่อนที่น้องจะคลอดออกมา ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสน้องผ่านท้องของแม่ การพูดคุยกับน้อง การเลือกของใช้ ของเล่นให้น้อง และการเป็นส่วนหนึ่งในทุกๆ ขั้นของการมีน้อง
เมื่อน้องเกิดมา ‘การเลี้ยงดูพี่น้องให้เติบโตด้วยกัน’ คือ หัวใจสำคัญในการสร้างประสบการณ์ร่วมทุกข์ร่วมสุข
การที่พี่น้องได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน…
ลืมตาตื่นขึ้นมาเจอเท้าของน้องก่ายอยู่บนหมอนของเรา
การได้กินข้าวหม้อเดียวกัน แย่งชิงไข่แดง หรือไก่ทอดชิ้นสุดท้าย
การได้คุยกัน ล้อเลียน ถกเถียง และตะโกนใส่กันในบางครั้ง
การได้ร้องไห้ด้วยกัน โดนดุด้วยกัน และคืนดีกัน
ประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนสร้าง ‘สายสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน’ ขึ้นมา
บางครอบครัวเลือกที่จะให้พี่หรือน้องไปฝากเลี้ยงไว้กับปู่ย่าตายาย เนื่องด้วยภาระทางครอบครัวที่อาจจะหนักหนา
การทำเช่นนี้ ส่งผลให้พี่น้องไม่ได้มีโอกาสใช้เวลาเติบโตมาด้วยกัน เมื่อต้องกลับมาอยู่ด้วยกัน อาจจะเกิดช่องว่างระหว่างสายสัมพันธ์ที่ห่างเหินไปนาน ยังไม่นับรวมความรู้สึกน้อยใจของพี่หรือน้องที่ไม่ได้มีโอกาสอยู่กับพ่อแม่อีกด้วย ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้พ่อแม่ควรให้พี่น้องอยู่ด้วยกัน การเติบโตมาด้วยกัน ทำให้พวกเขาได้กินข้าวหม้อเดียวกัน เล่นด้วยกัน อาบน้ำด้วยกัน นอนด้วยกัน และฝ่าฟันปัญหาด้วยกัน แม้จะยากลำบากไปบ้าง แต่การมีกันและกันจะทำให้พวกเขารับรู้ถึงคุณค่าของการมีพี่น้อง
ปัจจัยที่ 2 การได้รับความยุติธรรม
แม้ว่าพ่อแม่อาจจะมีความสนิทสนมหรือความรู้สึกภายในที่มีให้กับลูกแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การแสดงออกต่อลูกทุกคนควรเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่เพียงพี่น้อง แต่สำหรับเด็กๆ ทุกคน ‘ความยุติธรรม’ คือ สิ่งสำคัญที่ทำให้เขารับรู้ว่า ‘ตัวเขามีคุณค่าไม่ต่างอะไรกับคนอื่น’
ตัวอย่างความยุติธรรมที่พ่อแม่สามารถแสดงออกให้ลูกๆ รับรู้อย่างเป็นรูปธรรม
การแสดงออกซึ่งความรักอย่างเท่าเทียม
ชื่นชมทั้งคู่เมื่อทำสิ่งดีๆ ไม่มีคำว่า เป็นพี่โตต้องทำได้อยู่แล้ว หรือเป็นน้องหัดดูพี่เสียบ้าง
ชมในสิ่งที่พวกเขาทำได้ ชมที่ความตั้งใจ และความพยายาม ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ได้มา
ไม่เปรียบเทียบ เพราะลูกแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ทุกคนล้วนมีคุณค่าและต้องการความรักจากเรา
พ่อแม่โปรดโอบกอดลูกๆ ด้วยความรัก และความห่วงใย
เวลาพี่น้องทะเลาะกัน
พ่อแม่ไม่ควรรีบตัดสินลูกคนใดคนหนึ่งทันที รับฟังทีละคน และถ้าฝ่ายใดผิดก็เรียกไปสอนตัวต่อตัว ไม่ตำหนิลูกต่อหน้าพี่น้อง เพราะจะทำให้เขารู้สึกอับอาย
ถ้าหากผิดด้วยกันทั้งคู่ ก็ต้องตำหนิทั้งคู่ ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเป็นน้องจึงไม่ควรถูกตำหนิ จบท้ายด้วยการให้ขอโทษซึ่งกันและกัน และทำความเข้าใจกัน
เวลามอบหมายงานบ้านให้พี่น้อง
พ่อแม่ควรมอบหมายงานบ้านให้ลูกๆ ทุกคนตามวัย ไม่ใช่มอบหมายให้เฉพาะลูกคนโตเท่านั้น เช่น ลูกคนโตอาจจะให้ช่วยล้างจานกับพับผ้า ลูกคนเล็กให้ช่วยเช็ดโต๊ะกับหนีบผ้า
เด็กทุกคนควรได้รับการมอบหมายงานที่เหมาะสมกับเขา เพื่อให้รับรู้ถึงคุณค่าของตัวเองและการรับรู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้
เวลาซื้อของให้พี่น้อง
พ่อแม่ควรซื้อของให้ลูกให้เหมาะสมกับวัยของเขา ถ้าเป็นเสื้อผ้า คนพี่อาจจะได้ใช้ของใหม่ตลอด คนน้องต้องใช้ต่อของคนพี่ พ่อแม่ควรให้คนน้องได้มีโอกาสเลือกซื้อของใช้ที่เขาชอบเป็นของเขาเองบ้าง
นอกจากนี้ สำหรับของเล่นพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อของให้เหมือนกันสองชิ้น แต่เราสามารถสอนการแบ่งปันและผลัดกันเล่นได้ ถ้าพี่น้องไม่พร้อมแบ่งปันหรือผลัดกันเล่น พ่อแม่สามารถเป็นผู้รักษากติกาให้ลูกๆ ด้วยการดูเวลาให้ว่า ตอนนี้เป็นตาใครเล่นอยู่ ถ้าลูกคนใดไม่พร้อมทำตามกติกา ก็มานั่งสงบกับพ่อแม่หรือไปเล่นอย่างอื่นก่อน
เวลาพี่น้องต้องการพ่อแม่
อย่าลืมมีเวลาสองต่อสองกับลูกทีละคนบ้าง เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางครั้งเขาอาจจะมีความลับที่ไม่อยากให้พี่น้องรู้ แต่อยากให้พ่อแม่รู้ ช่วงเวลาสั้นๆ 10-15 นาที ระหว่างเรากับลูกสองคน อาจจะทำให้ลูกรับรู้ถึงความรักและความสนใจที่พ่อแม่มีให้กับเขา ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกจะดีขึ้นด้วย
ปัจจัยที่ 3 ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
ความรักในแบบฉบับพี่น้อง อาจจะไม่ได้หมายถึงความรักที่หวานซึ้งกันตลอดเวลา แต่หมายถึงความรักที่พร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันยามทุกข์ แบ่งปันเรื่องที่น่ายินดีในยามสุข
ซึ่งรากฐานของความรักนี้เกิดจาก ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน พ่อแม่สามารถสอนให้พี่น้องเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันได้ ผ่านการเลี้ยงดูลูกๆ ร่วมกัน พี่น้องได้เติบโตผ่านประสบการณ์ทั้งดีและร้ายมาด้วยกัน ดังที่เขียนไว้ในปัจจัยของที่ 1 และการแสดงออกถึงความรักอย่างเท่าเทียม และการให้ความยุติธรรมกับพี่น้อง พวกเขารับรู้ว่าตนเองเป็นที่รักและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่เขารัก ทั้งสองปัจจัยนี้จะช่วยให้พี่น้องเกิดสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ความผูกพันที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจ จะช่วยให้พวกเขามองเห็นอีกฝ่ายอย่างเข้าใจ เมื่อต้องเผชิญปัญหา พี่น้องที่เติบโตมาด้วยกันอย่างเข้าใจ แม้จะช่วยได้หรือไม่ พวกเขาจะพร้อมเคียงข้างอีกฝ่าย
หากปราศจากประสบการณ์ที่เติบโตมาด้วยกัน หรือการได้รับความรักที่ไม่เพียงพอ และรับรู้ว่าตนเองไม่สำคัญเท่าอีกพี่น้อง สายสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้เบาบางหรือเกิดขึ้นได้ยาก เพราะใจของพี่หรือน้องอาจจะสับสน
‘ทั้งรักและเกลียดในเวลาเดียวกัน’ คือ ความรู้สึกที่ผู้มีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับพี่น้องมักเกิดขึ้นในใจ
ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานี้ คือ ‘การกลับไปทบทวนหัวใจตัวเอง’ ถ้าพร้อมก็ให้ความช่วยเหลือ ถ้าไม่พร้อม ก็ควรถอยออกมายืนในจุดที่เราสบายใจ ให้เท่าที่ให้ได้ แต่ไม่ให้จนทำร้ายตัวเอง
สาเหตุหลักที่มักสร้างบาดแผลระหว่างพี่น้อง
สาเหตุที่ 1 การเปรียบเทียบระหว่างพี่น้อง และคาดหวังให้อีกฝ่ายต้องเหมือนพี่น้อง
เด็กทุกคนเกิดมาแตกต่างกัน แม้แต่พี่น้อง พวกเขาก็เป็นคนละคนกัน
บางครั้งพ่อแม่อาจจะเผลอเปรียบเทียบพี่กับน้อง และคาดหวังให้อีกฝ่ายเหมือนกับพี่น้อง เช่น เห็นคนพี่เรียนเก่ง ก็คาดหวังว่าคนน้องต้องเรียนเก่งตามคนพี่ไป เห็นคนน้องน่ารัก พูดจาฉะฉาน ก็คาดหวังว่าคนพี่ต้องทำตัวน่ารัก และพูดจาฉะฉานเหมือนคนน้อง เป็นต้น
การเปรียบเทียบระหว่างพี่น้องนั้น ไม่ได้สร้างบาดแผลให้เฉพาะเจ้าตัวเท่านั้น แต่ยังได้สร้างบาดแผลระหว่างพี่น้องด้วย ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนถูกพ่อแม่มองข้ามความสามารถของเขาไป เพียงเพราะความสามารถนั้นไม่เหมาะเหมือนกับพี่น้อง และไม่ตรงกับสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ
เด็กบางคนอาจจะมีความสามารถมาก แต่ไม่มากพอเทียบเท่าพี่น้องของตัวเอง เมื่อพ่อแม่เปรียบเทียบพร้อมกับกดดันให้ลูกต้องทำให้ได้ตามความคาดหวัง เด็กบางคนเลือกที่จะถอดใจ และไม่ทำสิ่งนั้นต่อไป ไม่ใช่เพราะเขาทำไม่ได้ แต่เพียงเพราะเขาทำได้ไม่ดีเท่าพี่น้องเท่านั้นเอง
เด็กบางคนเกิดมาแตกต่าง พ่อแม่ไม่ให้การยอมรับในตัวตนของเขาและพยายามบอกให้เขาทำตัวเหมือนพี่น้องคนอื่นๆ เด็กคนนั้นอาจจะเลือกที่จะปลีกตัวออกห่างพี่น้องและครอบครัวของเขาเอง เพราะเขารู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับของคนในครอบครัว เป็นต้น
ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าพ่อแม่ได้มีโอกาสใช้เวลากับลูกๆ เราจะมองเห็นด้านดีของพวกเขาแต่ละคน สิ่งเหล่านั้น คือ สิ่งที่พ่อแม่จำเป็นต้องมองเห็นให้ชัดเจนเพื่อจะได้ให้ความสำคัญ เพราะเด็กทุกคนต้องการการมองเห็นถึงคุณค่าภายในตัวเอง การที่พ่อแม่ยอมรับและยืนยันในคุณค่านั้น คือ สิ่งที่ลูกทุกคนต้องการ
สาเหตุที่ 2 การไม่ได้รับความรักและความสนใจที่เพียงพอ
บางครอบครัวก่อนจะมีลูกคนที่สอง พ่อแม่ก็แทบจะไม่มีเวลาให้กับลูกคนแรกแล้ว การมีลูกคนที่สองทำให้เวลาที่มีให้กับลูกๆ นั้นน้อยลงไปอีก แต่การที่พ่อแม่มีเวลาให้ลูกๆ น้อยลง ไม่ได้ทำให้ลูกพุ่งเป้าไปที่พ่อแม่ แต่พวกเขาอาจจะโกรธกันเอง เพราะพี่หรือน้องได้เอาเวลาจากพ่อแม่ของเขาไป
ดังนั้น การมีเวลาให้ลูกแต่ละคนแบบสองต่อสองบ้างเป็นเรื่องที่ควรทำ แม้จะเพียงวันละ 10 – 15 นาที ก่อนไปทำงาน หรือก่อนนอน คือ สิ่งที่ลูกๆ ต้องการจากเรา เพื่อให้สายสัมพันธ์ยังเกิดขึ้น และลูกๆ ได้รับรู้ว่า ตัวเขายังสำคัญสำหรับพ่อแม่ และพ่อแม่ยังรักเขาอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
สาเหตุที่ 3 การไม่ได้รับความยุติธรรม
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ‘ความยุติธรรม’ นั้นสำคัญสำหรับเด็กๆ เป็นอย่างมาก แม้ความรู้สึกภายในเป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่การแสดงออกถึงความรัก และการกระทำสามารถแสดงออกอย่างเท่าเทียมต่อพี่น้องได้
พี่น้องหลายคู่อาจจะแตกหักเพราะสาเหตุข้อนี้ การได้รับความรักไม่เท่าเทียม การแบ่งทรัพย์สินที่ไม่เท่าเทียม การไม่ได้เป็นลูกที่พ่อแม่ให้ความสำคัญเท่ากับพี่น้องคนอื่น ความไม่ยุติธรรมทั้งหมดนี้สามารถสร้างบาดแผลหยั่งรากลึกในพี่น้องได้
เติบโตมากับการมีสายสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับพี่น้อง เราสามารถกลับไปสานสายสัมพันธ์ได้อย่างไร
บาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นระหว่างพี่น้อง มักจะเป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นมานาน เรียกได้ว่า เกิดขึ้นมาตั้งแต่วัยเยาว์ ดังนั้น การจะเยียวยาบาดแผลนั้น และกลับไปสร้างความสัมพันธ์กับพี่น้องของเราใหม่ ต้องใช้พลังใจและความกล้าหาญอย่างมาก
ขั้นที่ 1 ทบทวนหัวใจตัวเอง
ก่อนจะกลับไปสานสายสัมพันธ์กับพี่น้องของเรา สิ่งแรกที่สำคัญที่สุด คือ การทบทวนใจตัวเองว่า เราพร้อมหรือไม่ หรือเรายังมีอะไรที่ติดค้างอยู่บ้าง เพื่อให้เราเข้าใจจุดที่เรายืนอยู่ และดูแลใจของตัวเองให้พร้อมก่อน
ถ้าทำด้วยตัวเองคนเดียวไม่ไหว บางครั้งการพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจอาจจะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่อยู่ภายในใจเรามากขึ้น ถ้าปมดังกล่าวมีความยุ่งเหยิง และหนักหนา การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักบำบัดอื่นๆ อาจจะช่วยให้เรามองเห็นทางออกได้ชัดเจนมากขึ้น
ขั้นที่ 2 การเผชิญหน้าอีกฝ่าย
การกลับไปคุยกับพี่น้องของเราอีกครั้ง หลังจากไม่ได้คุยกันมาเนิ่นนาน เราต้องให้ความเคารพอีกฝ่ายด้วย เพราะแม้ว่าเราจะพร้อม แต่อีกฝ่ายอาจจะยังไม่พร้อมก็เป็นได้ ดังนั้น ก่อนจะพูดคุยกัน ถามอีกฝ่ายว่า “รู้สึกอย่างไรกับการที่เราอยากจะคุยด้วย”
ถ้าอีกฝ่ายยังไม่พร้อม หรือไม่ต้องการพูดคุยกับ เราควรเคารพการตัดสินใจของอีกฝ่าย และไม่พยายามกดดันให้อีกฝ่ายต้องพยายามกลับมาคุยกับเรา
ถ้าอีกฝ่ายตกลงที่จะมาพูดคุยกับเรา สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ การเข้าหาอีกฝ่ายอย่างจริงใจ และตรงไปตรงมา บอกอีกฝ่ายถึงความรู้สึกที่เรามี และความตั้งใจในการกลับมาสานสายสัมพันธ์ในครั้งนี้
คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เรากับพี่น้องจะต้องพูดถึงเรื่องราวที่ทำให้ทั้งคู่เกิดบาดแผลทางใจต่อกัน ถ้าเราไม่ไหว หรืออีกฝ่ายไม่ไหว เพราะใจยังไม่พร้อม ไม่ต้องเร่งรีบ ให้เวลากันและกัน
ขั้นที่ 3 ความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากทั้งสองฝ่าย
ด้วยเหตุนี้เมื่อเราเป็นฝ่ายที่พยายามเข้าหาพี่น้องอยู่ฝ่ายเดียว อาจจะไม่ได้เกิดผลใดๆ
เมื่อพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว เราควรที่จะเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง
ขั้นสุดท้าย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่าลืมที่จะรักและใจดีกับตัวเอง
เราบางคนอาจจะเติบโตมาพร้อมกับครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรัก แต่เราบางคนอาจจะเติบโตมาพร้อมกับครอบครัวท่ีสร้างบาดแผลให้กับตัวเอง
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราสามารถเรียนรู้ที่จะรักตัวเองได้ และรักคนอื่นๆ ต่อไป