- ความรู้สึกผูกพันในครอบครัวคือหัวใจสำคัญของพัฒนาการที่ดีทางอารมณ์และความรู้สึกของลูก ซึ่งมาจากการที่พ่อแม่ถ่ายทอดความรัก ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย และเห็นคุณค่าของความรู้สึกของเขา
- แต่การเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกนั้น พ่อแม่ยังต้องเคารพความต้องการพื้นที่ส่วนตัวของเขาอยู่ แม้อันตรายภายนอกอาจทำให้เราต้องระวัง แต่ต้องอยู่ในขอบข่ายที่ไม่ล่วงล้ำจับจ้องทุกกิจกรรมแบบไม่คลาดสายตา
- ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ การแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกขาดไม่ได้ในการเลี้ยงลูก เพราะนัยหนึ่งมันคือการบอกว่าพ่อแม่เป็นพวกเดียวกันกับเขา กับทั้งยังเป็นวิธีที่เขาเรียนรู้คุณค่าความหมายของประสบการณ์
ความรู้สึกผูกพันในครอบครัวคือหัวใจสำคัญของพัฒนาการที่ดีทางอารมณ์และความรู้สึกของลูก ซึ่งมาจากการที่พ่อแม่ถ่ายทอดความรัก ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย และเห็นคุณค่าของความรู้สึกของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการได้แบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันกับครอบครัว (the sharing of emotions)
เป็นข้อความที่กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ Parenting from the Inside Out เขียนโดย ดร.เดเนียล เจ. ซีเกล (Dr.Daniel J. Siegel) จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาครอบครัวแห่ง UCLA, Harvard Medical School และ แมรี ฮาร์ทเซล (Mary Hartzell) อาจารย์ที่ปรึกษาการเลี้ยงดูบุตรชื่อดัง
การสื่อสารในครอบครัวจึงเป็นคำตอบสำคัญของพัฒนาการทางอารมณ์ รวมถึงความรู้สึกผูกพันระหว่างพ่อ แม่ และลูก ซึ่งจะกลายเป็นพลังชีวิต (a sense of vitality) และจุดเริ่มต้นของทักษะการเข้าใจผู้อื่น (empathy) ต่อไป เราเลยอยากแนะนำวิธีสร้างความผูกพัน 7 ข้อง่ายๆ ที่เรียกว่าหลัก Integrative Communication มาบอกต่อคุณพ่อคุณแม่ให้ลองใช้วิธีเหล่านี้สื่อสารกับลูก
- มีสติ (Awareness) นอกจากตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นไร ต้องรู้จักอ่าน ‘ภาษากาย’ หรืออากัปกิริยาของลูกออก และเลือกที่จะตอบสนองเขาด้วยวิธีการทางบวก
- ปรับจูนเข้าหาลูก (Attunement) ด้วยการรับฟังอารมณ์ความรู้สึกของเขาแล้วปรับการตอบสนองให้สอดคล้องกลมกลืนไปกับเขา
- เข้าอกเข้าใจ (Empathy) ยอมรับความรู้สึกของลูกในจุดที่เขาเป็น โดยไม่ตัดสิน
- แสดงออก (Expression) พ่อแม่ต้องมีการแสดงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างเปิดเผยจริงใจอย่างเป็นบวก ในขณะเดียวกันก็เคารพความรู้สึกของเขาด้วย
- มีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน (Joining) พ่อแม่ลูกต้องร่วมกันแบ่งปันความรู้สึก คำพูดและการแสดงออกท่าทางแบบรับส่งทั้งสองทาง
- อธิบายให้กระจ่างชัด (Clarification) คือการให้ความสำคัญและคุณค่ากับประสบการณ์ต่างๆ ของลูก เช่น ชมเชยความสำเร็จหรือยินดีเมื่อเห็นเขามีความสุข ปลอบโยนให้กำลังใจเมื่อเขาผิดพลาดหรือให้คำชี้แนะเมื่อทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม
- เคารพความต่าง (Individuality) ฟังอย่างเปิดรับและทำความเข้าใจโดยปล่อยวางความแตกต่างระหว่างกัน
ให้ลูกรู้สึกว่า ‘เราพวกเดียวกัน’
สมมุติลูกกลับจากเล่นสนุกในสวนมาพร้อมขวดโหลใส่แมลงตัวหนึ่ง เขาวิ่งหน้าตั้งเข้ามาหาอย่างตื่นเต้นเพื่อโชว์ให้แม่เห็นว่าปีกแมลงตัวนี้สีสวยแค่ไหน แม่ซึ่งเป็นห่วงว่าแมลงอาจจะหลุดออกมาบินว่อนไปทั่วบ้าน แม่ควรตอบโต้อย่างไร
ถ้าไม่ได้ตอบรับความสำคัญของประสบการณ์ที่เขาค้นพบและดุเขากลับไปว่า “อย่าเอาแมลงเข้าบ้านนะ ไปปล่อยมันข้างนอกเดี๋ยวนี้!” ลูกซึ่งคิดว่าตัวเองกำลังนำประสบการณ์ที่เขาคิดว่า ‘ดี’ และความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ค้นพบของสวยงามมาแบ่งปัน ถูกแม่ปฏิเสธแล้วยังแสดงออกเหมือนกำลังบอกว่าสิ่งที่เขาทำมัน ‘เลวร้าย’ ย่อมต้องรู้สึกสับสน แปลกแยกจากแม่
เพราะไม่เพียงแม่ประเมินประสบการณ์ที่ตนตีความไว้ว่า ‘ดี’ เป็นไร้ค่า ยังไม่ยอมร่วมแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกที่มีความหมายสำหรับเขาและไม่เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกตื่นเต้นในครั้งนี้ด้วย
พื้นฐานความผูกพันคือการที่สมาชิกในครอบครัวรู้สึกถึงคุณค่าและความหมายของประสบการณ์ร่วมกัน
อาจารย์แมรีอธิบายว่าในสถานการณ์ที่ลูกต้องการความสนใจดังข้างต้นนี้ คือ แรงผลักตามธรรมชาติที่แสดงถึงความต้องการที่จะต่อติดความรู้สึกภายในของเขาเข้ากับความรู้สึกแม่ ดังนั้น พ่อแม่ต้องมีความละเอียดอ่อนด้านอารมณ์ในการสื่อสารกับลูกให้มากพอ โดยเฉพาะการตอบรับประสบการณ์ทางอารมณ์ต้องมีการปรับจูนให้สอดคล้องกับเขา (Attunement) และ ‘สะท้อน’ อารมณ์ความรู้สึกที่ส่งมานั้นกลับไปด้วยระดับเดียวกัน (Resonance)
การปรับจูนในที่นี้คือสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจพัฒนาการตามวัยของเขา ลูกในวัยซุกซนไม่ประสา หรือวัยฮอร์โมนพลุ่งพล่าน สิ่งที่เจอมันแปลกใหม่ น่าตื่นเต้นไปซะหมด พ่อแม่ต้องมองประสบการณ์เหล่านั้นผ่านสายตาของเขา ไม่กลั่นกรองด้วยประสบการณ์ตนเองแล้วตัดสินแบบ “แม่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ไปซะหมด เพราะนั่นเท่ากับปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้
ส่วนการสะท้อนคือ ถ้าลูกตื่นเต้นมาเราต้องรับลูกเออออตามไปด้วย ‘อู้หู’ ‘โอ้โห’ เวลาลูกเล่า หรือถ้าเขาแสดงออกว่ากำลังซีเรียสก็ต้องตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ ไม่ทำเบื่อหน่ายทำนองว่าเรื่องของเขาเป็นเรื่องเล็ก
ในกรณีข้างต้น แม่สามารถตอบรับและสะท้อนความตื่นเต้นที่ลูกส่งมาด้วยท่าทางอยากรู้อยากเห็น ใช้น้ำเสียงกระตือรือร้น “ไหนๆ ขอดูหน่อยสิจ๊ะ โอ้โห! แมลงสีสวยจัง ไปเจอที่ไหนมา ปีกน้องแมลงสวยอย่างนี้แม่ว่าน้องคงอยากบินอวดเพื่อนๆ ในต้นไม้ใบหญ้าที่เป็นบ้านของเขา มากกว่าอยู่ในโหลนี้แน่เลย”
การสื่อสารที่ปรับจูนตามพัฒนาการลูกและสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกอย่างสอดคล้อง นอกจากเขาจะรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ (feel felt) ยังเข้าใจได้ว่าแม่กับเขากำลังแบ่งปันประสบการณ์ด้วยกัน สิ่งนี้จะช่วยสร้างความหมายให้กับเขาในการเชื่อมโยงความรู้สึกภายในตัวเองเข้ากับประสบการณ์ที่ได้รับจากโลกภายนอกและถักทอความผูกพันกับแม่
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องระวังด้วยว่า การสื่อสารที่ปรับจูนให้สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกลูกเป็นคนละเรื่องกับการตามใจ ให้อารมณ์ของเขาอยู่เหนือเหตุผลจนกลายเป็นสปอยล์ อีกทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกนั้น พ่อแม่ก็ยังต้องเคารพความต้องการพื้นที่ส่วนตัวของเขาอยู่ แม้อันตรายภายนอกอาจทำให้เราต้องระแวงระวัง แต่ต้องอยู่ในขอบข่ายที่ไม่ล่วงล้ำจับจ้องทุกกิจกรรมแบบไม่คลาดสายตา
ละเอียดอ่อนกับอารมณ์ที่ซ่อนในภาษากาย
อีกหนทางที่จะเปิดโอกาสให้พ่อแม่สร้างสัมพันธภาพกับลูกได้ดียิ่งขึ้น และมองเห็นวิธีจัดการกับอารมณ์ทั้งของตัวเองและลูก ต้องมาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าอารมณ์มีจุดเริ่มต้นและทำงานภายในจิตใจอย่างไร
ลึกเข้าไปในแต่ละอารมณ์โกรธ ดีใจ ตื่นเต้น ของลูกที่เราเห็น ในทางจิตวิทยามีคำอธิบายอย่างมีที่มาที่ไปแบบเป็นกระบวนการหนึ่งสองสามและแจกแจงถึงส่วนต่างๆ ในสมองที่ใช้ประมวลผลไว้โดยละเอียด ในที่นี้ ขออธิบายกลไกการเกิดขึ้นของอารมณ์ในสมอง (หรือใจ) เพียงคร่าวๆ เพื่อโยงเข้าคอนเซ็ปต์การสร้างความรู้สึกผูกพันและอุปสรรคปัญหาที่เป็นตัวขัดขวางการสื่อสารความรู้สึกระหว่างพ่อแม่กับลูก
อารมณ์คือส่วนหนึ่งของผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกันของสมองทุกส่วนและทุกหน้าที่ (integration) ลองนึกภาพก้อนสมองที่ประกอบไปด้วยเซลล์ (neurons) จำนวนมหาศาลซึ่งแต่ละเซลล์ส่งสัญญาณซึ่งกันและกันแบบเปะปะไร้ทิศทาง เบสิคสุดคือการทำงานของสมองถูกแบ่งเป็นสองซีกซ้ายขวา ซีกซ้ายดูแลการคิดวิเคราะห์กับตรรกะเหตุผล ส่วนอารมณ์ความรู้สึกอยู่ภายใต้การทำงานของซีกขวา ส่วนที่สำคัญที่สุดด้านการรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของสมองส่วนนี้คือพื้นที่ limbic ซึ่งประกอบไปด้วย amygdala, anterior cingulate, hippocampus, hypothalamus
ประเด็นคือทุกส่วนทั้งหมดทั้งปวงในสมองล้วนมีการประสานการทำงานกัน (เรียกได้ว่าเป็น neural integration) เพื่อช่วยให้สามารถประมวลข้อมูลได้อย่างสมดุลและควบคุมตนเองได้
อารมณ์แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ อารมณ์ขั้นมูลฐานกับอารมณ์ที่เราแสดงออกทั่วไป อยากให้ผู้อ่านโฟกัสไปที่ ‘อารมณ์ขั้นมูลฐาน’ เป็นพิเศษ เพราะสิ่งนี้คือปราการด่านแรกซึ่งพ่อแม่คนไหนอยากจะจูนตัวเองกับลูกให้ติดได้ ต้องเข้าใจที่มาที่ไปของมันและรู้จักสังเกตให้เป็นเสียก่อน
- อารมณ์ขั้นมูลฐาน (primary emotions) เป็นกระแสพลังงานที่พุ่งขึ้นในจิตใจแบบปุบปับเมื่อถูกกระตุ้น โดยอารมณ์นี้จะแวบขึ้นมากน้อยหรือฉับพลันแค่ไหน ก็หมายถึงว่าลูกสนใจหรือ ‘อิน’ กับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด อารมณ์ขั้นมูลฐานแสดงออกผ่าน ‘ภาษากาย’ เป็นอากัปกิริยาต่างๆ เช่น แววตา น้ำเสียง ท่าทาง เมื่อรู้สึกไม่พอใจ ภาษากายที่ชี้ได้คือ ขมวดคิ้วนิ่วหน้า หายใจแรง เสียงดังกว่าปกติ หรือเวลารู้สึกกลัว ไม่มั่นใจ ลูกอาจหลบตา กัดเล็บ เป็นต้น
อารมณ์ขั้นนี้มีกลไก 2 อย่างเกิดขึ้นคือ
– ความรู้สึกเบื้องต้น (initial orientation) ร่างกายและความสนใจจดจ่อสิ่งนั้นปุ๊บปั๊บทันที
– การประเมินสัญญาณ (appraisal and arousal) ใจจะประเมินประสบการณ์นั้นแบบตื้นๆ ว่า “ดีหรือไม่ดี”
- อารมณ์ทั่วไป (categorical emotion) คืออารมณ์ที่ทุกคนแสดงออกเป็นสากล คือ เศร้า กลัว โกรธ เป็นสุข ประหลาดใจ ขยะแขยง และอับอาย
ขั้นตอนการเกิดอารมณ์ของเราเรียงลำดับได้ดังนี้
1) เมื่อได้รับการกระตุ้นจากภายนอกหรือสัญญาณภายใน สมองตอบสนองสัญญาณนั้นด้วยความรู้สึกเบื้องต้น เป็นสัญญาณส่งต่อไปบอกใจว่า “สนใจเดี๋ยวนี้นะ! เรื่องนี้สำคัญนะ!” ใจเราก็จะจดจ่อกับสิ่งที่เข้ามากระตุ้นนั้น
2) ต่อไปสมองก็ทำการ ประเมินสัญญาณ ที่ได้จาก สิ่ง ที่กำลังจดจ่อนั้นอีกทีว่าเป็นเรื่อง ‘ดีหรือแย่’ ในขั้นตอนนี้เกิดขึ้นไปพร้อมกับการที่สมองส่วนอื่นๆ ทำการประมวลข้อมูลปลีกย่อยด้านอื่นด้วยในขณะเดียวกัน ในขั้น การประเมินสัญญาณ นี้เราจะรับรู้ได้ว่าประสบการณ์ขณะนั้นเป็นเรื่องดีหรือร้ายและมีความหมายอย่างไร
3) เมื่อประเมินแล้วภายในใจก็จะจัดการและเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการแสดงพฤติกรรมบางอย่าง ถ้า การประเมินสัญญาณ บอกว่า ‘ดี’ ก็เข้าสู่กระบวนการขั้นอื่นต่อไปเช่นลงมือทำ แต่ถ้าบอกว่า ‘ไม่ดี’ ก็จะหยุดพักไว้แค่นั้น
พ่อแม่ที่อ่าน อารมณ์ขั้นมูลฐาน จากอากัปกิริยาของลูกขาด เมื่อบอกว่า “หนูโอเค” น้ำเสียง แววตา ท่าทางหมายความอย่างนั้นจริงหรือไม่ เขากำลังต้องการพื้นที่ส่วนตัวหรือโหยหาคำปลอบใจ พ่อแม่ต้องใส่ใจสัญญาณเหล่านี้ให้มากพอเพื่อปรับจูนการสื่อสารและสะท้อนความรู้สึกเหล่านั้นกลับไปให้สอดคล้องกับความคาดหวังเพื่อกระตุ้นความรู้สึกว่าเขา “มีความสำคัญ” (feel felt) อย่างกรณีตัวอย่างที่ลูกวิ่งตื่นเต้นเอาแมลงมาอวดแม่นั่นเอง
ปมปัญหาและบาดแผลติดค้างที่ขัดขวางการสื่อสารความรู้สึกผูกพัน
ในเมื่ออารมณ์เป็นผลลัพธ์จากการทำงานของสมองส่วนต่างๆ ซึ่งขึ้นตรงต่อจิตใจ มันจึงสะท้อนสุขภาพจิตรวมไปถึงภาวะการทำงานทั่วไปในสมองได้ คนที่มีสภาวะอารมณ์บกพร่องหรือมีปัญหาอาจส่อถึงกระบวนทำงานร่วมกันของสมองมีความผิดปกติเกิดขึ้น หรือเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น ถ้าสมองไม่สามารถเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันอย่างสิ้นเชิงอาจเกิดสภาวะตายด้านทางอารมณ์ได้
เช่นเคสหนึ่งที่น่าสนใจของคุณหมอเดเนียล คนไข้เป็นคุณพ่อนักวิชาการวัยสี่สิบเข้ามาปรึกษาเนื่องจากมีปัญหาความสัมพันธ์ห่างเหินกับลูกสาวและ ‘ตายด้าน’ ทางความรู้สึก กล่าวคือ เขาไม่สามารถ ‘รู้สึก’ ถึงอารมณ์ตนเองได้ อาการหนักถึงขนาดว่าขณะวินาทีที่ทราบข่าวภรรยาและเพื่อนรักป่วยหนักแกกลับไม่รู้สึกรู้สาใดๆ เลย
ในการวินิจฉัยและบำบัดคุณหมอได้ข้อมูลว่า
– คนไข้ไม่เข้าข่ายซึมเศร้าหรือมีภาวะวิตกจริตใดๆ มีแค่อาการด้านชาทางความรู้สึก
– รู้สึกโดดเดี่ยว ชีวิตมีแต่ความว่างเปล่า เพราะรู้สึกต่อไม่ติดแม้กับใครเลย
– การงานไม่มีปัญหา
– ไม่มีความทรงจำวัยเด็กร่วมกับพ่อแม่เลย นอกจากรู้ว่าทั้งสอง ‘เก่ง’
– ถูกเลี้ยงดูมาให้รู้แค่ถูกผิด รู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไร ควรและไม่ควรทำอะไร พ่อแม่ไม่เคยพูดคุยเรื่องอารมณ์ความรู้สึก
– พ่อเสียช่วงวัยรุ่น แม่ไม่เคยพูดถึงหรือแสดงออกว่าเสียใจ
– ปัจจุบันรู้ตัวว่ารักลูกมาก แต่เมื่อพูดคุยกันใจจะคิดไปถึงภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ พะวงถึงแต่ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ไม่สามารถต่อความรู้สึกติดกับลูก
ทีแรกคุณหมอเดเนียลคาดว่า อาการตายด้านทางอารมณ์น่าจะเกิดจากสมองซีกขวาซึ่งทำหน้าที่แสดงอารมณ์และความรู้สึกของคนไข้พัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งถ้าปัญหามาจากสมองส่วนนี้ เป็นไปได้ด้วยว่าคนไข้จะขาดทักษะศิลปะหรือสุนทรียศาสตร์โดยสิ้นเชิง แต่ปรากฏว่าคนไข้รายนี้มีทักษะศิลป์เยี่ยมยอดเทียบเท่าสถาปนิกเก่งๆ คนหนึ่ง
ปัญหาที่ไม่สามารถเชื่อมความผูกพันกับลูกสาวเพราะพอพูดคุยกัน คุณพ่อท่านนี้จะคิดวิเคราะห์ตลอดเวลาว่าควรพูดอย่างไร ทำอะไร ในขณะเดียวกันก็จู้จี้กับคำพูดและการกระทำของลูกสาวเช่นกัน แต่แปลกตรงที่การเชื่อมโยงความรู้สึกภายในของตนเอง และ mindsight (ความเข้าใจจิตใจผู้อื่น) กลับไม่ทำงานเลย ลักษณะนี้น่าจะเป็นเพราะสมองซีกซ้ายเข้ามาสั่งการมากเกินไป
เมื่อบำบัดพูดคุยจึงรู้ว่าการเลี้ยงดูแบบแห้งแล้งของพ่อแม่คือต้นตอของอาการตายด้านความรู้สึก
เพราะอารมณ์ขั้นมูลฐานของคนไข้ถูกปิดกั้นมาโดยตลอด ระบบการประเมินที่ติดตัวมาแต่เกิดซึ่งตั้งโดยอัตโนมัติไว้ว่าความสัมพันธ์มีความสำคัญและ ‘ดี’ ถูกตัดขาดจากจิตใจเพื่อปรับตัวตามการเลี้ยงดู แล้วใจยังสร้างกลไกป้องกันตัวที่เข้ามากดความรู้สึกโหยหากับความผิดหวังซึ่งถ้าเปิดรับความรู้สึกนี้โดยตรง ใจเขาอาจแหลกสลาย กลไกป้องกันตัวจึงกดความทรงจำวัยเด็กไว้อย่างแรงกล้าจนไปปิดการทำงานของอารมณ์ขั้นมูลฐานไปด้วย
เพราะคนไข้ตัดขาดการสื่อสารด้านอารมณ์ความรู้สึกตามอย่างพ่อแม่ อารมณ์ขั้นมูลฐานที่ประเมินสถานการณ์คุณค่าความหมายในชีวิตจึงไม่ทำงาน นี่เองจึงทำให้คนไข้กลายเป็นคน ‘ไม่รู้สึกรู้สา’ กับเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์นอกจากความว่างเปล่า
เมื่อคนไข้ได้รับการบำบัดให้จดจ่อกับความรู้สึกที่เกิดกับร่างกาย ฝึกแสดงความรู้สึกจากการมองภาพที่ไม่มีคำพูดกำกับหรือตีค่าความหมายของประสบการณ์เหล่านั้น พร้อมกับเขียนบันทึกสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกภายในทุกวัน สมองทั้งสองฝั่งก็เริ่มประสานการทำงานร่วมกันใหม่ได้อีกครั้ง
จนในที่สุดขณะท่องเที่ยวดำน้ำกับลูกสาว คนไข้ก็สามารถเข้าถึงความรู้สึกผูกพันอย่างท่วมท้นได้เป็นครั้งแรก เพราะการใช้ ‘ภาษากาย’ ใต้น้ำ เช่น eye contact การสัมผัสและสัญญาณมือ ทำให้อารมณ์ขั้นมูลฐานที่ถูกปิดตายได้กลับมาใช้งานอีก
ขณะดำน้ำเมื่อไม่ต้องใช้สมองซีกซ้ายคิดวิเคราะห์ตรรกะใดๆ สมองซีกขวาโดยเฉพาะส่วนที่แสดงออกถึงอารมณ์ขั้นมูลฐานถูกเปิดใช้งานเต็มที่ คนไข้ก็กลับมารู้สึกได้อีกครั้งและลงเอยที่สามารถเชื่อมต่อความรู้สึกกับลูกสาวได้ในที่สุด พร้อมกันนั้นเขาก็ค้นพบหนทางเดินหน้าเพื่อสะสางความรู้สึกที่ตกค้าง (unresolved issues) จากการสูญเสียคุณพ่อและเปิดรับความรู้สึกที่มีต่ออาการเจ็บป่วยของภรรยาและเพื่อนรักต่อไป
ตัวอย่างนี้ขีดเส้นใต้ความสำคัญของการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกระหว่างกันในครอบครัว (emotional communication) อย่างเห็นได้ชัด
ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ การแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกขาดไม่ได้ในการเลี้ยงลูก เพราะนัยหนึ่งมันคือการบอกว่าพ่อแม่เป็นพวกเดียวกันกับเขา กับทั้งยังเป็นวิธีที่เขาเรียนรู้คุณค่าความหมายของประสบการณ์ โดยเฉพาะวิธีจัดการทางอารมณ์ที่สะท้อนตามอย่างวุฒิภาวะของพ่อแม่
การสื่อสารที่ปราศจากอารมณ์ความรู้สึกในกรณีของคนไข้ข้างต้น พ่อแม่ไม่เคยถามว่าลูกรู้สึกอย่างไรหรือแชร์ประสบการณ์ทางอารมณ์ของตนเองเมื่อโกรธ เสียใจหรือตื้นตัน โดยบางครอบครัวอาจคิดว่าไม่ควรนำความทุกข์ใจมาใส่ลูก นี่เองกลายเป็นปัจจัยปัญหาที่ทำให้ลูกกับพ่อแม่ “ต่อกันไม่ติด”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากหลักการสื่อสารที่กล่าวมา การคิดทบทวน (self-reflection) การเข้าใจและยอมรับตัวเอง (self-understanding) ของพ่อแม่ยังคงสำคัญยิ่งเหนืออื่นใด เพราะหากผู้ใหญ่ไม่ยอมเผชิญหน้ากับความเปราะบางของตนเองเพื่อสะสางปมบาดแผลติดค้างมาจากเหตุการณ์ในอดีต ปัญหาเหล่านั้นจะคอยกระตุ้นกลไกป้องกันตัวให้เราหลีกหนีอารมณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์เลวร้ายทุกครั้งไป และผลที่ตามมาคือลูกตกเป็นเหยื่อของพฤติกรรมเกรี้ยวกราดที่แสดงมาจากกลไกป้องกันตัวของพ่อแม่
เช่นอีกเคสหนึ่ง คุณแม่ซึ่งวัยเด็กขาดความอบอุ่นและถูกสามีทิ้ง ไม่สามารถแสดงความรักต่อลูกวัยสามขวบและมีน้ำโหทุกครั้งเมื่อเขาเรียกร้องความสนใจ เพราะไม่เคยทบทวนทำความเข้าใจกับความว้าเหว่และการต้องการความรักของตนเองมาก่อน กลไกการป้องกันตัวจึงผลักเธอให้หลีกหนีจากความรู้สึกเดิมทุกครั้ง (ผิดหวังจากการถูกพ่อแม่หรือสามีเมินเมื่อเรียกร้องความสนใจ) เป็นอุปสรรคให้ไม่สามารถเปิดรับและเข้าอกเข้าใจลูกในจุดที่ตนเองเคยเป็นได้ เคสนี้ก็เช่นเดียวกัน การเยียวยาทำได้โดยแม่ต้องเริ่มต้นที่การยอมรับความผิดหวัง เจ็บปวดและเข้าใจตนเองให้ได้เสียก่อน
ทบทวนความรู้ก่อนนำไปใช้
- เป็นห่วงทักษะอื่นๆ และผลการเรียนได้ แต่อย่าละเลยการเอาใจใส่ด้านอารมณ์ความรู้สึกของลูกเพราะความรู้สึกผูกพันกับครอบครัว และความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้สึกกับผู้อื่นคือพลังขับเคลื่อนชีวิต และคุณค่าความหมายของเขาเริ่มต้นจากตรงนี้
- ยึดหลักการสื่อสาร 7 ข้อข้างต้นในการพูดคุยกับลูกให้เป็นนิสัย
- รับฟังประสบการณ์อารมณ์ความรู้สึกลูกจากฝั่งของเขา (empathy) ปรับจูนและสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกตามวัยและนิสัยใจคอเพื่อต่อกับเขาให้ติดด้วยความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน และความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ
- เคารพพื้นที่ส่วนตัวของลูก เอาใจใส่ไม่มากไม่น้อยเกินไป เอาให้พอดีกับที่เขาต้องการ
- ใส่ใจถึงภาษากายและอากัปกิริยาของลูกนอกจากคำพูด บางครั้งลูกอาจไม่ได้พูดสิ่งที่รู้สึก ภาษากายบ่งบอกได้ และในทางกลับกันพ่อแม่เองก็ต้องระมัดระวังภาษากายที่อาจสื่อความหมายลบโดยไม่ตั้งใจกับลูกด้วยเช่นกัน
- แบ่งปันความรู้สึกสุขทุกข์ของตนให้ลูกร่วมรับฟังในฐานะที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว โดยปราศจากความคาดหวังให้เขาแบกรับหรือทำเพื่อเรา การแบ่งปันไม่ใช่การผลักความรู้สึกโกรธ กลัวหรือเครียดให้ลูกรู้สึกตามไปด้วย แต่เป็นการบอกเล่าความรู้สึกอย่างเปิดเผยจริงใจและอาศัยโอกาสนี้แนะวิธีทางบวกที่ใช้รับมือจัดการกับปัญหาความรู้สึกนั้น เช่น หารือ เปิดอกพูดคุยกัน หรือหากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว เป็นต้น
- มีส่วนร่วมในความสำเร็จของลูกด้วยคำชื่นชม ให้กำลังใจเมื่อผิดพลาดล้มเหลว
- สำคัญที่สุดคือการรู้ใจเราเองให้ได้ก่อนแล้วจึงจะเข้าใจลูก ทบทวนตนเองให้ถี่ถ้วน ยอมรับจุดอ่อนจุดแข็งของตนเองไปจนถึงให้อภัยและปล่อยวางความเลวร้ายหรือข้อผิดพลาดในอดีต จดจ่อใส่ใจกับปัจจุบันขณะ และเปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ไปพร้อมกันกับเขา