- ข้อดีของการโพสต์รูปเด็กๆ ลงโซเชียลมีเดีย คือคนในครอบครัวที่อยู่ห่างไกลยังรู้สึกใกล้ชิดกับเด็กๆ ผู้ปกครองได้รับฟีดแบ็คที่ดีจากคนที่ดูคลิปทำให้เขายิ่งอยากจะลงรูปเด็กอีกเรื่อยๆ
- ในข้อดีมีข้อเสีย เพราะทุกรูปที่โพสต์ลงไปจะฝังในอินเทอร์เน็ตตลอดไป ขณะเดียวกันมันคือการให้ข้อมูลส่วนตัวกับสาธารณะ เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนและถือว่าไม่ปกป้องข้อมูลของเด็ก
- ไม่ใช่ว่าห้ามลงโซเชียลมีเดียเลย แต่ถึงเวลาต้องทำความเข้าใจร่วมกัน ถึงข้อควรระวังในการใช้ชีวิตจริงในโซเชียลมีเดีย
ภาพ: พิศิษฐ์ บัวศิริ
สืบเนื่องจากกรณีน้องเป่าเปาโดนแฟนคลับหยิก (ด้วยความรัก-ตามการชี้แจง) ซึ่งสังคมให้ความเห็นอย่างมากมายหลากหลาย ทีมงาน Potential ต่อสายตรงถึง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของงานวิจัย “101S เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก&พัฒนาการสมอง จิตใจ และพฤติกรรม” ถามความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันในการโพสต์รูปลูกๆ ลงโซเชียลมีเดีย เพราะภายใต้ความน่ารักน่าเอ็นดูที่คุณพ่อแม่อยากส่งต่อ มันคือข้อมูลส่วนตัวพื้นฐาน ความปลอดภัย และมีผลต่อจิตใจของเด็กในอนาคต
การบอกว่า ‘ไม่ให้โพสต์รูปตัวเองลงโซเชียลมีเดียนะ’ เป็นสิทธิ์ของเด็กใ้ช่หรือไม่ แต่การจะถามเด็กเล็กเรื่องนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ แล้วพ่อแม่ควรทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร
ปัจจุบัน โลกโซเชียลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของหลายๆ คนไปแล้ว หรืออาจเรียกได้ว่า โลกโซเชียลได้กลายเป็นโลกแห่งความเป็นจริง และโลกแห่งความเป็นจริงกลายเป็นโลกโซเชียลจากเมื่อก่อนตื่นมา จิบกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์ พูดคุยกับครอบครัว อาบน้ำ แต่งตัว ไปทำงาน แต่ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียแทบจะเป็นอย่างแรกที่เราเช็คเมื่อตื่นนอน และเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำก่อนเข้านอน โซเชียลมีเดียทำให้การเข้าถึงสมาชิกครอบครัว ญาติ เพื่อน หรือคนรู้จัก ได้ง่ายขึ้น ติดต่อผู้คนได้มากขึ้น ไกลขึ้น และเร็วขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมใหม่ๆ ของเราเกิดขึ้นมากมาย
Sharenting คือ พฤติกรรมของพ่อแม่ที่โพสต์รูปลูกลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของพฤติกรรมใหม่ของพ่อแม่ในยุคสมัยนี้ แน่นอนว่าการลงโพสต์รูปของลูกที่ยังเป็น Baby หรือ ยังเป็นเด็กเล็กอยู่ เป็นสิทธิ์ของพ่อแม่ สามารถทำได้ แต่เมื่อลูกเริ่มมีพัฒนาการด้านตัวตน มีความรู้สึกนึกคิดที่ชัดเจน สามารถบอกความรู้สึก และแสดงความคิดเห็นได้ (ประมาณ 3 ขวบเป็นต้นไป) ก่อนลงรูป พ่อแม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากลูกก่อน
ถึงแม้ว่า การโพสต์รูปของลูกในโซเชียลมีเดีย มีข้อดีมากมาย เช่น เพื่อส่งข่าวสารให้ครอบครัวคนรู้จัก หรือเพื่อเก็บเป็นความทรงจำดี ๆ แต่การโพสต์รูปลูกลงโซเชียลมีเดียแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นโทษเช่นกัน
พ่อแม่อาจจะเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ เช่น สิทธิในการถูกคุ้มครอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะต้องได้รับจากผู้เลี้ยงดู หรือการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก
ดังนั้นก่อนโพสต์รูปของลูก พ่อแม่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงสิทธิของลูกที่พ่อแม่ต้องคุ้มครองด้วย
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนตัดสินใจโพสต์รูปของลูกลง Social Media:
- ขออนุญาตลูกก่อนโพสต์ เมื่อลูกโตพอที่จะบอกความรู้สึก หรือแสดงความคิดเห็นได้
- เลือกรูปที่ลูกใส่เสื้อผ้าปิดมิดชิด เหมาะสม
- ตั้งค่า social media เป็น privacy เห็นกันเฉพาะกลุ่ม
- ปิด location
- เขียนบรรยายภาพด้วยถ้อยคำที่ให้เกียรติลูก สุภาพ และเหมาะสม
- คุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของลูกให้เป็นความลับ
- ที่สำคัญคือ ทุกรูปที่โพสต์ลง social media ไปแล้วจะไม่สามารถเรียกคืน หรือควบคุมได้
ทุกรูปที่โพสต์ลงโซเชียลมีเดียไปแล้วจะไม่สามารถเรียกคืน หรือควบคุมได้ ไม่ว่าพ่อแม่จะลบออกหน้าโซเชียลมีเดียของตัวเอง ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าคนอื่นจะไม่ได้รูปของลูกเราไป
ดังนั้น พ่อแม่จะต้องคิดพิจารณาให้ดี ว่ารูปนี้จะเกิดโทษกับลูกในอนาคตหรือไม่ เช่น การโพสต์รูปของลูกที่อาจส่งผลให้ลูกอับอายในอนาคต หรือ คนอื่นนำรูปลูกเราไปโพสต์ต่อ ด้วยข้อความที่เป็นเท็จ และไม่เหมาะสม เป็นต
การโพสต์รูปเด็กๆ สิ่งที่ปรากฏไม่ใช่ภาพน่ารักน่าเอ็นดู แต่คือข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อ อายุ สถานที่อยู่อาศัย พวกเขากำลังทำอะไร ไปที่ไหน ข้อมูลเหล่านี้เสี่ยงต่อการขโมยข้อมูล และการลักพาตัวเด็ก หรือเข้าไปแอบตาม แอบทำร้ายได้
ที่จริงแล้ว ทุกคน ทุกวิชาชีพ มีหน้าที่ปกป้องสิทธิส่วนตัว และเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่เว้นแม้แต่โลกโซเชียลที่เราก็ต้องรู้จักปกป้องสิทธิของตนเอง และเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย ก่อนจะโพสต์อะไร หรือจะคอมเมนต์ใคร ก็ต้องคิดพิจารณาก่อนว่า เมื่อแชร์ลงโลกโซเชียลไปแล้ว จะกลายเป็นเป้าให้ผู้อื่นเข้ามาล่วงละเมิดสิทธิเราได้หรือไม่
เพราะเมื่อแชร์ลงไปแล้ว ก็เหมือนเราวางคุกกี้ไว้บนโต๊ะ เปิดช่องทางให้ผู้อื่นเข้ามาหยิบชิมฟรีๆ ได้ ชื่นชมก็ได้ ตำหนิก็ได้ แถมเอากลับบ้านได้อีกด้วย ดังนั้นหากสิ่งที่จะโพสต์เป็นเรื่องส่วนตัว ที่เราไม่พร้อมจะให้คนอื่นมาละเมิดสิทธิเรา เราก็ต้องไม่โพสต์ ไม่แชร์ ปกป้องสิทธิของตัวเองไว้ หากในโลกแห่งความเป็นจริง เราคอยระแวดระวัง ไม่ทิ้งกระเป๋าตังค์ หรือของมีค่าไว้ในที่สาธารณะอย่างไร บนโลกโซเชียลเราก็ต้องระวังอย่างนั้น
แต่สิ่งสำคัญที่เพิ่มเติมสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม ก็คือ ช่วยกันเคารพและคุ้มครองสิทธิของเด็กจนกว่าพวกเขาจะสามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกับเด็กปฐมวัย นอกจากจะต้องคำนึงถึงการเคารพ และปกป้องสิทธิของเด็กแล้ว ยังจะต้องคอยเป็นกระบอกเสียงให้เด็กๆ คอยพิทักษ์สิทธิเด็ก คอยสื่อสารกับผู้ปกครอง และสังคมให้มีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติเรื่องคุ้มครองสิทธิเด็กได้อีกด้วย
การเป็นที่นิยมอาจส่งผลทางจิตวิทยาต่อเด็กอย่างไร โดยเฉพาะผลกระทบต่อตัวเด็กเองในอนาคต เช่น การรับรู้ว่าตัวเองเป็น ‘สาธารณะ’ มาตั้งแต่เด็ก การได้รับความรักจากผู้คนจำนวนมาาย การได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างมากกว่าเด็กทั่วไป ความรู้สึกไม่มีเพื่อนเพราะวัยเดียวกันไม่มีพ่อแม่เป็นคนดังหรือทำกิจกรรมต่างจากเด็กทั่่วไป เช่น ออกรายการโทรทัศน์ ออกงานอีเวนท์ ฯลฯ
ตามหลักการพัฒนาการมนุษย์ พัฒนาการที่สำคัญของเด็กเล็กวัย 0-3 ปี คือ พัฒนาการด้านการรับรู้ตัวตน หรือ sense of self ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานที่มีความสำคัญมาก และส่งผลต่อพัฒนาการ 4 ด้าน และพัฒนาการทักษะสมอง EF ด้วย การรับรู้ตัวตน คือการที่เด็กรู้ตัวว่า ตนเองมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง แยกความคิด ความต้องการของตนเองออกจากแม่ และผู้อื่นได้ เด็กรับรู้ว่า คำพูด และการกระทำของตนเองที่แสดงออกมา มีผลกับผู้อื่น และคำพูดและการกระทำของผู้อื่น ก็มีผลกับตัวเองเช่นกัน ซึ่งประสบการณ์ที่สะสมในช่วง 3 ปีแรกนี่เอง จะเป็นต้นกำเนิดของ ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อตนเอง ความชอบ แรงบันดาลใจ การตีความโลกใบนี้ และเป้าหมายในชีวิต
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการส่งเสริมพัฒนาการด้านการรับรู้ตัวตน คือ การทำที่บ้านให้เป็นฐานที่มั่นทางใจให้กับลูก เพื่อให้ลูกโตมาพร้อมกับความพึงพอใจในความสามารถ และความฝันของตนเอง หากเด็กช่วงนี้ได้รับประสบการณ์ที่มีคุณภาพ ก็จะมีความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อตนเอง ตีความโลกใบนี้ในทางที่ดี มีความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้ว่าตนเองมีค่ากับพ่อแม่ มีแรงบันดาลใจในการตามฝัน และมีความหวังในการใช้ชีวิต
ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพในช่วงวัย 0-3 คือ ประสบการณ์ความรัก ความอบอุ่น และความผูกพันที่ได้รับจากพ่อแม่ และผู้เลี้ยงดู นอกจากนี้ ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ ที่สำคัญและขาดไม่ได้อีกประการ คือ การให้โอกาสเด็กได้ใช้ทักษะสมอง EF ในการคิด ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ลองผิดลองถูก ใช้ความพยายาม จนเกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งการสะสมประสบการณ์แห่งการทำอะไรให้สำเร็จด้วยตนเองนี้ เป็นกุญแจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทุกคนให้ก้าวผ่าน พัฒนาการด้านการรับรู้ตนเองไปให้ได้อย่างมีคุณภาพ เนื่องจากส่งผลให้เด็กรับรู้ว่าตนเองเป็นคนมีความสามารถ มีค่า และมีความภาคภูมิใจตนเอง ไม่จำเป็นต้องหาความสุข ความพึงพอใจจากความนิยมที่คนอื่นมอบให้
ในทางกลับกัน ข้อดีจากสถานะนี้ มีหรือไม่
ข้อดี คือ การได้รับโอกาสที่ได้พบปะผู้คนมากมาย การได้ไปสถานที่หลากหลาย ได้สัมผัส และเรียนรู้โลกใบนี้ในแบบที่แตกต่าง ซึ่งทำให้น้องได้เรียนรู้ ฝึกฝนการปรับตัว ปรับอารมณ์ ให้เข้ากับสถานการณ์ในทุกๆ วัน ซึ่งหากมาพร้อมกับความรักความปลอดภัย และความผูกพันของพ่อแม่ด้วยแล้ว จะกลายเป็นการสะสมประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพมากเลยทีเดียวค่ะ
เด็กวัยนี้โดนหยิก หรือโดนทำอะไรแรงๆ เขาจะจำหรือไม่
มีความเป็นไปได้ที่จะจำได้ และจำไม่ได้ค่ะ หากสื่อมีการพูดถึงทุกวันๆ แล้วน้องได้ยินสื่อ ได้ยินผู้ใหญ่รอบข้างพูดเรื่องนี้ไม่จบ เขาก็จะโตมากับเรื่องนี้ แต่ถ้ามีการปลอบใจน้อง แสดงความเห็นอกเห็นใจ แล้วดำเนินชีวิตต่อ ดูแลเขาให้ปลอดภัย เขาก็จะยังเชื่อใจ และผ่านไปได้ เหมือนวิ่งแล้วหกล้ม อาจจะจำได้ แต่ไม่เป็นไร หรืออาจจะจำไม่ได้ไปเลย เพราะอารมณ์ความรู้สึกถูกจัดการไปเรียบร้อยแล้วค่ะ
ส่วนมากที่ฝังใจ จะมาจากเหตการณ์นั้นรุนแรงมาก หรือ ถูกกระทำบ่อยๆ ทุกวันเป็นระยะเวลานาน