- คุณเคยพูดคนเดียวไหม? คุณพูด ถาม ทบทวน เล่าให้คนในอากาศฟัง สุดท้ายแล้วมันนำไปสู่อะไร ความอับอายบ้าบอเพราะพูดคนเดียว หรือความรู้สึกปลอดโปร่งและบางทีอาจทบทวนจนพบความรู้สึกใหม่?
- ใกล้เคียงกับ ‘การสะท้อนคิด‘ กระตุ้นให้เด็กๆ สำรวจความคิด สังเกตสิ่งที่เรียนรู้ และเชื่อมโยงตัวเองกับเนื้อหาได้ลึกซึ้ง
- “เมื่อเด็กๆ ตอบคำถาม พวกเขาก็จะได้เรียนรู้จากคนอื่น รับรู้ว่ามีเพื่อนอีกหลายคนที่เจอปัญหาแบบเดียวกัน”
- เด็กๆ อาจเบื่อหน่ายและคิดว่าเป็นอีก ‘งาน’ น่าเบื่อที่ต้องทำ แต่เมื่อกระตุ้นให้พวกเขาคอยสังเกตความคิดอยู่เสมอ งานที่ว่านั้นจะกลายเป็นการตระหนักรู้ภายใน สร้างความมั่นใจ รู้จักควบคุม และสะท้อนตัวตนออกมาได้ชัดเจนขึ้น
“ไม่รู้จะเรียนไปทำไม” – ประโยคนี้คุ้นหูกันบ้างไหม
เมื่อไม่เห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับสิ่งที่เรียน เด็กๆ ก็จะไม่รู้เหตุผลที่ต้องตั้งใจเรียนไปมากกว่าสร้างความพอใจให้พ่อแม่หรือเพื่อคะแนนสอบ
แต่ แอนนา เดอร์ฟี (Anna Durfee) ครูสอนภาษาอังกฤษในรัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา บอกว่า เมื่อเด็กๆ เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนได้ พวกเขาจะมั่นใจ รู้จักตัวเอง และไปได้ไกลกว่าแค่ ‘เรียนหนัก’ อย่างเดียว
เธอยกตัวอย่างลูกสาววัย 11 ปีของตัวเอง “หลังเข้าเรียนยิมนาสติกไม่กี่สัปดาห์ เธอกลับบ้านมาพร้อมความว้าวุ่นเพราะโค้ชให้เธอทำท่าใหม่ สองสามครั้งแรกเกือบดี แต่ยังไม่ใช่ จนกระทั่งครั้งที่ห้าถึงทำได้สมบูรณ์แบบ แต่หลังจากนั้นมันก็ไม่เกิดขึ้นอีกแม้จะพยายามอีกเป็นสิบครั้งก็ตาม เธอบอกว่า ‘หนูแค่ทำไม่ได้อะแม่ มันเหมือนว่ายิ่งฝึกก็ยิ่งแย่ลงทุกที’”
เดอร์ฟีถามลูกว่า ครั้งที่ห้าเธอทำอย่างไร เด็กหญิงได้แต่คิดแล้วตอบว่า “หนูก็ไม่รู้”
อีกด้านหนึ่ง เบธ ฮอลแลนด์ (Beth Holland) นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) เข้าสังเกตการณ์การเรียนการสอนในห้องเรียนแห่งหนึ่งร่วมกับอาจารย์หลายคน พวกเขาพบว่า
นักเรียนบอกได้เพียงสิ่งที่กำลังทำ แต่ไม่รู้ว่ากำลังเรียนรู้อะไรอยู่
ฮอลแลนด์ได้แนะนำให้ชั้นเรียนนั้นได้รู้จักแนวคิดของการสะท้อนคิด (reflection) เพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ สำรวจ สังเกตสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ และเชื่อมโยงตัวเองกับเนื้อหาได้ลึกซึ้งมากขึ้น เช่นเดียวกับเดอร์ฟีที่ใช้วิธีเดียวกันมาปรับใช้กับลูกและนักเรียนของเธอ
เพราะ ‘ยิ่งฝึกยิ่งเก่ง’ อาจไม่จริงอีกต่อไป หากการฝึกซ้ำๆ นั้นไร้ทิศทาง
เริ่ม ‘สะท้อน’ ด้วยคำถาม
การสะท้อนคิด คือการหยุดคิดว่าตอนนี้เราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง เรากำลังจะทำอะไร สิ่งใดดีสิ่งใดเหมาะสมแก่การทำต่อไป สิ่งใดควรหยุดหรือแก้ไข และมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร
“เป็นการวิเคราะห์ตัวเอง เพราะการมองเห็นความสามารถของตัวเองจริงๆ ช่วยให้เรียนรู้ได้ลึกและมีประสิทธิภาพดีขึ้น” ฮอลแลนด์กล่าว
ถึงจะเคยสำเร็จก็ไม่ได้แปลว่าจะได้รับความสำเร็จต่อไปโดยอัตโนมัติ และถึงจะเคยล้มเหลว ก็ไม่ได้แปลว่าต้องล้มเหลวตลอดกาล สิ่งที่จะวัดได้ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่การควบคุมความสามารถตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และการสะท้อนคิดจะทำให้อำนาจการควบคุมนั้นอยู่ในมือเด็กๆ ได้
คำถามคือจะเริ่มต้นอย่างไร – “ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยคำถาม” ฮอลแลนด์กล่าว
เพราะการสะท้อนคิดทำงานควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติและทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม (Bloom’s Taxonomy) ที่เชื่อว่า การเรียนการสอนจะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพเมื่อ ผู้สอนกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน ดังนั้น
คำถามจึงควรเริ่มจากการรื้อฟื้นความทรงจำ แล้วต่อด้วยคำถามถึงความเข้าใจ และปิดท้ายด้วยคำถามถึงความเชื่อมโยง
อาจเป็นคำถามง่ายๆ อย่าง “วันนี้ฉันทำอะไร” ต่อด้วย “สิ่งที่ฉันทำมีความสำคัญอะไร” และ “ฉันทำได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร” เหล่านี้จะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทบทวนหลากหลายมิติของตัวเอง
แต่ถ้ายังไปไม่เป็นว่าจะถามอะไร โปรเจ็คต์ซีโร (Project Zero) กลุ่มวิจัยด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้จัดชุดคำถามสามข้อมาให้เห็นภาพกว้างที่จะไปสู่การสะท้อนคิดได้ง่ายขึ้น
- เชื่อมโยง: ลองวาดสี่เหลี่ยมแล้วถามว่า “แนวคิดที่ฉันเพิ่งเรียนมา เชื่อมโยงกับสิ่งที่รู้อยู่แล้วอย่างไร” หรือ “บทเรียนนี้ตรงกับความคิดของฉันอย่างไรบ้าง”
- ขยาย: ลองวาดสามเหลี่ยมแล้วถามว่า “การเรียนรู้ครั้งนี้ขยายความคิดของฉันอย่างไร” หรือ “สิ่งที่ฉันได้รับจากบทเรียนครั้งนี้คืออะไร”
- ความท้าทาย: ลองวาดวงกลมแล้วถามว่า “อะไรที่ฉันยังคิดว่าเป็นอุปสรรค” หรือ “คำถามอะไรที่ยังกวนใจฉันอยู่”
ทั้งสามหัวข้อนี้จะช่วยให้เด็กๆ ได้กลั่นเอาความคิดของตัวเองออกมา และสร้างความเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เพิ่งเรียนไป กระตุ้นต่อมสงสัยเพื่อให้พวกเขาได้ลองถามตัวเองด้วยคำถามใหม่ๆ ที่จะเปิดประตูให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ด้วย
FAMILY DINNER
เพราะทุกคำถามมีไว้หาคำตอบ เดอร์ฟีจึงนำแนวทางการตั้งคำถามนี้ไปเป็นกิจกรรมเพื่อใช้กับลูกๆ ของเธอที่บ้าน เธอตั้งชื่อกิจกรรมนี้ว่า ‘มื้อเย็นของครอบครัว’ (Family Dinner)
“วันนี้หนูได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง” หัวข้อยอดฮิตในเวลามื้อเย็นของครอบครัว และเธอได้นำไปปรับใช้กับนักเรียนที่โรงเรียนด้วย
ในระหว่างทางและตอนท้ายของการทำแต่ละโปรเจ็คต์ของห้องเรียน เธอจะจัดโต๊ะเสมือนมื้อเย็นของครอบครัวที่สมาชิกทุกคนต่างร่วมโต๊ะอาหาร พูดคุยถึงเรื่องราวในหนึ่งวันที่ผ่านมา เธอแจกขนมให้นักเรียนทุกคนระหว่างการพูดคุยสะท้อนตัวตน ระหว่างนั้นก็หยิบการ์ดที่มีชื่อนักเรียนแต่ละคนแล้วถามคำถามกระตุ้นให้นักเรียนสะท้อนความคิดของตัวเอง เช่น “แต่ละวัน เธอทำอะไรที่ช่วยให้โปรเจ็คต์สำเร็จ” หรือ “เธอรู้สึกแพ้หรือล้มเหลวกับโปรเจ็คต์นี้ตอนไหน และเพราะอะไร”
แต่ละครั้งจะมีเด็กสี่คนที่ได้รับบทบาท ตั้งแต่คนเลือกคำถาม คนกระตุ้นให้คนอื่นอธิบายคำตอบของตัวเอง คนควบคุมดูแลหัวข้อเพื่อให้การพูดคุยไม่หลุดจากหัวข้อที่ตั้งไว้ และคนให้กำลังใจที่คอยดูให้แน่ใจว่าทุกคนมีโอกาสพูดถึงความคิดของตัวเอง
“การพูดคุยสะท้อนตัวตนมักจะเริ่มต้นอย่างช้าๆ แต่นักเรียนก็ค่อยๆ คุ้นเคยกับมัน และไม่นานเราก็ได้ยินประโยคว่า “ถึงหนูจะภูมิใจกับผลงาน หนูก็คิดว่าอาจทำได้ดีกว่านี้ถ้า…” หรือ “ผมรู้สึกขาดแรงบันดาลใจระหว่างทำโปรเจ็คต์นี้ ผมว่าผมควรขอความช่วยเหลือ”
เมื่อเด็กๆ ตอบคำถาม พวกเขาก็จะได้เรียนรู้จากคนอื่นๆ รับรู้ว่ามีเพื่อนอีกหลายคนที่เจอปัญหาแบบเดียวกัน
บันทึกแล้วก้าวไปข้างหน้า
ถัดจากคำถามคือการบันทึก ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอภิปรายและเผยแพร่ความคิดเชิงวิพากษ์ของนักเรียน
แต่หัวใจสำคัญของการบันทึกยังคงอยู่ที่การเรียนรู้ ไม่ใช่แค่การโชว์ผลงาน เมื่อเด็กๆ สามารถสะท้อนให้คนอื่นเห็นประสบการณ์ของตัวเอง พวกเขาจะตระหนักถึงกระบวนการและวิธีการต่างๆ ที่จะพาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จ ให้พวกเขาได้เรียนรู้จากความสำเร็จของตัวเองเช่นเดียวกับเรียนรู้จากความล้มเหลวที่ได้รับ
ในหนังสือ Digital Student Portfolios โดย แมทท์ เรนวิค (Matt Renwick) เขียนถึงความจำเป็นของบันทึกการสะท้อนคิดไว้ว่า “เราสามารถทำให้การเรียนรู้มีชีวิตได้ …และผลงานของเด็กๆ สามารถเป็นตัวแทนความก้าวหน้า สะท้อนความคิดของพวกเขาผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม เด็กๆ อาจเบื่อหน่ายและคิดว่าเป็นอีก ‘งาน’ น่าเบื่อที่ต้องทำ แต่เมื่อกระตุ้นให้พวกเขาคอยสังเกตความคิดอยู่เสมอ งานที่ว่านั้นจะกลายเป็นการตระหนักรู้ภายใน สร้างความมั่นใจ รู้จักควบคุม และสะท้อนตัวตนออกมาได้ชัดเจนขึ้น
รอนดา มิทเชลล์ (Rhonda Mitchell) ครูจากโรงเรียนทรินิตี (Trinity School) รัฐแอตแลนตา เคยเขียนไว้ว่า “พลังที่แท้จริงของการบันทึกคือการหวนกลับไปดู ในฐานะผู้ให้ความรู้ ความท้าทายของเราคือการทำให้แน่ใจว่า นักเรียนมีโอกาสที่จะได้เห็นว่าพวกเขาสร้างผลงานที่มีความหมายและสามารถหวนกลับไปดู กลับไปเรียนรู้ได้อีกครั้ง และอีกครั้ง”
แต่ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา
ในระหว่างนั้น หน้าที่สำคัญของครูและผู้ปกครองคือช่วยให้เขารับรู้ความสามารถของตัวเองและพัฒนาต่อไปได้ถึงที่สุด