- เด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการทางร่างกายและสมองที่ต่างกัน ห้องเรียนพ่อแม่ จะช่วยให้เข้าใจและสร้างพัฒนาการให้กับลูกในทิศทางที่ถูกต้องและควรจะเป็น
- ในโลกที่มี ‘Wi-Fi’ เด็กจะต้องมี EF (Executive Function) เพื่อควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในชีวิต
- การเล่น ไม่ใช่เพื่อเล่น แต่เพื่อสมองที่ดี สมองที่ดีเป็นฐานของ EF ที่ดี เพื่อใช้ควบคุมตัวเองให้ได้ แล้วพาตัวเองไปสู่อนาคตในศตวรรษที่ 21
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
“คิวจิตเวชเด็กมันยาว ยาวเป็นเดือน อย่าพาตัวเองไปถึงจุดนั้น ฉะนั้นเริ่มต้นให้ดีตั้งแต่แรก” ประโยคแรกของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ก่อนเริ่มการเรียนการสอนใน ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ ทำให้ใครหลายคนต้องเอาปากกากับกระดาษขึ้นมาจดอย่างตั้งใจ
ด้วยประสบการณ์ตรวจผู้ป่วยจิตเวชวันละกว่า 100 คนเป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้คุณหมอคาดการณ์ได้ว่าเลี้ยงลูกแบบไหนจะได้ผลลัพธ์แบบไหน เลี้ยงแบบไหนถึงจะมีความสุข แล้วจึงนำมาสู่งาน เปิดห้องเรียนพ่อแม่: เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ และพัฒนาการทุกช่วงวัย จัดโดย SCB Academy ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เพื่อย่อยวิธีคิดทางจิตวิทยามาสู่ครอบครัว ให้พ่อแม่เข้าใจลูก และเห็นโอกาสในการพัฒนาเด็กๆ สู่การเติบโตในอนาคตอย่างเต็มศักยภาพ
ห้องเรียนพ่อแม่เฉพาะกิจนี้ เปิดสอนทั้งหมด 3 วิชา คือ 1. พัฒนาการเด็ก 2. EF (Executive Function) และ 3. ปรับพฤติกรรม
วิชาแรก: พัฒนาการเด็ก
มีกฎสำคัญอยู่ 3 ข้อ
1. Epigenesis พัฒนาการเด็ก: พัฒนาเป็นลำดับชั้น ถ้าเราสร้างชั้นที่ 1 ดี ชั้นต่อๆ ไปจะง่ายขึ้น ถ้าเราสร้างชั้นที่ 1 แข็งแรง ชั้นต่อๆ ไป จะแข็งแรงด้วย
“การพัฒนาเป็นลำดับชั้นหมายความว่า ถ้าพื้นดี ตอนมัธยมเราทุบเขา อย่างมากก็ไปกินเหล้า แล้วก็เลิก แต่ถ้าพื้นไม่ดี เราทุบเขา เขาก็ฆ่าตัวตายได้ ฉะนั้นพวกเราทำฐานให้ดี 3 ปีเท่านั้น”
2. Critical period เวลาวิกฤติ: ในแต่ละช่วงชั้น คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ต้องทำและทำให้เหมาะกับวัย
“ถ้าไม่ทำ อยากย้อนเวลากลับมาทำ ได้…แต่ยาก เช่น ชั้นที่ 1 คือ 12 เดือนแรก เด็กอยากให้เรา ‘อุ้ม กอด บอกรัก’ ไม่ทำ ตอนเป็นวัยรุ่นชั้นที่ 5 อยาก ‘อุ้ม กอด บอกรัก’ แต่เขาไม่เอา เขาไม่กลับบ้าน ชั้นที่ 1 เด็กอยากให้ป้อนนม แต่ไม่ทำ กลัวติดนม ชั้นที่ 5 เราไปป้อนนม เขาไม่เอา เขาเอาเหล้า”
3. Function หน้าที่: แต่ละช่วงชั้น นอกจากพ่อแม่ เด็กก็มีหน้าที่ต้องทำ ช่วงชั้นละ 2-3 ข้อ
“หน้าที่คือ ตื่นเช้ามาต้องทำ ในแต่ละช่วงชั้น เด็กมีข้อสอบชีวิตต้องผ่าน ถ้าไม่ผ่าน ช่วงชั้นนั้นก็จะผ่านไปด้วยความผุกร่อน ไม่แข็งแรง รอวันที่ถูกทุบ”
เมื่อนำกฎทั้ง 3 ข้อมาผสมรวมกันก็จะได้ดังนี้
12 เดือนแรก: Trust สร้างแม่ที่มีอยู่จริง
มี 2 ขั้นตอน ขั้นแรกคือ ‘สร้างแม่ที่มีอยู่จริง’ ขึ้นมาก่อน เพื่อนำไปสู่ขั้นที่สอง ‘สร้างโลกที่มีอยู่จริง’
สร้างแม่ทำอย่างไร?
“ด้วยการเลี้ยง ‘อุ้ม กอด บอกรัก’ ร้อน พัดลมมา หนาว ผ้าห่มมา เหงา อุ้มลอยขึ้นมา แฉะ ผ้าแห้งทันใด ยุงกัด ตบตายเลย เด็กใช้เวลาสร้างแม่ที่มีอยู่จริง 0-6 เดือน แม่ต้องเชื่อถือได้ เรียกว่า trust”
ขั้นตอนต่อมาคือสร้างโลกที่ไว้ใจได้ ถ้าโลกไว้ใจไม่ได้ หนูไม่ไป นั่งแล้วหงายหลัง ใครจะอุ้ม ไม่มีคนอุ้ม หนูไม่นั่ง ยืนแล้วล้ม ไม่มีคนอุ้ม หนูไม่ยืน เดินไปไม่ไว้ใจ ไม่เดิน แล้วตามด้วยไม่พูด อันนี้เป็นจิตวิทยาว่าด้วยพัฒนาการ ดังนั้นโลกต้องไว้ใจได้ ก่อนโลกที่จะไว้ใจได้ แม่ต้องไว้ใจได้ เด็กจึงจะไว้ใจโลก และจะนำไปสู่สายสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับแม่ (และพ่อ)
2-3 ปี: Self สร้างตัวตน
มนุษย์ต้องสร้างตัวตนใหม่ ตัวตนของมนุษย์จะอยู่กับแม่เต็มที่จนประมาณ 3 ขวบ หลังจากนั้นตัวตนจะแยกเป็นอิสระจากแม่ ถ้าสายสัมพันธ์แข็งแรง เขาจะหันกลับมาเป็นระยะๆ
เด็กช่วงนี้ร่างกายจะเริ่มพัฒนา หรือเรียกว่า Autonomy โดยเริ่มที่ตัวเองเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาจะเริ่มจากกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อต้นแขน กล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ตามลำดับ
function ของเด็กช่วงนี้คือ ดื้อและวางกติกา
ความสามารถในการวางกติกาคือการวางสายสัมพันธ์ และคอยดูว่าคนพูดมีอยู่จริงหรือเปล่า อำนาจผู้สั่งมีจริงหรือไม่ สายสัมพันธ์แน่นหนาพอหรือเปล่า
สามข้อพื้นฐานของ self คือ 1. ห้ามทำร้ายคน ครั้งเดียวก็ไม่ให้ เด็ดขาดตั้งแต่วันแรก 2. ห้ามทำร้ายข้าวของโดยเจตนา 3. ห้ามทำร้ายตัวเอง นี่คือกติกาพื้นฐาน
ช่วงเวลานี้คุณแม่หลายคนเริ่มพาลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล คุณแม่โฮมสคูลของลูกสาววัยสามขวบสิบเดือนคนหนึ่ง ยกมือถามคุณหมอว่า ตัวเองต้องทำงานจึงต้องพาลูกไปปรับพื้นฐานที่โรงเรียนอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง แต่ตอนนี้กำลังมีปัญหากับครู
“ครูบอกว่าส่งแล้วให้กลับเลย แต่ลูกสาวร้อง ก่อนหน้านี้ไม่เคยห่างกันเลย ครูบอกว่าถ้าคุณแม่ยังอยู่ จะเป็นการสอนเขาเรื่อยๆ ว่า ถ้าร้องแล้วแม่ก็จะกลับมา ส่วนตัวก็เชื่อว่าอยากให้เขาค่อยๆ ปรับตัว บางโรงเรียนตอนเปิดเทอมเขาจะให้ผู้ปกครองไปเรียนด้วยประมาณ 2-3 อาทิตย์ ก็เลยไม่รู้ว่าจะค่อยๆ ปรับตัวหรือตัดไปเลยดี”
คุณหมอให้ความเห็นว่า ถ้าเอาตามตำรา คำตอบคือต้องปรับตัว หมายความว่า ค่อยๆ เลื่อนจำนวนชั่วโมงที่แม่ลูกอยู่ด้วยกันก่อนจะถอนตัวออก แต่หลังจาก 7 ขวบ ถ้ายังแยกจากแม่ไม่ได้ แสดงว่าเริ่มมีปัญหาแล้ว
“ประเด็นจะอยู่ที่จังหวะการแยก และท่าทีของคุณแม่ตอนแยก สำคัญมากกว่าเวลาที่ใช้ในการปรับตัว แม่ควรมั่นคง ลาให้เรียบร้อย กอด หอม พูดคำว่า แล้วพบกันสี่โมงเย็น หันหลังแล้วเดินอย่างสง่างาม อย่าพิรี้พิไร ตรงนี้สำคัญ
อย่างไรก็ตามผมยังเห็นด้วยกับการค่อยๆ ทำ แม่จะมารับ 10 โมง พรุ่งนี้มารับ 11 โมง วันถัดไปจะมารับเที่ยง อาทิตย์หน้ามารับบ่ายสอง อาทิตย์โน้นมารับบ่ายสี่ ค่อยๆ ทำได้ สรุปคืออยู่ที่ท่าทีของแม่ตอนที่แยก ระยะทางก็ทำได้ เช่น วันนี้ส่งหน้าห้อง สัปดาห์หน้าใต้ตึก สัปดาห์โน้นเสาธง หน้าโรงเรียน เป็นต้น”
4-6 ขวบ: Initiation ริเริ่มสิ่งใหม่
ขั้นนี้เด็กเลื่อนขั้นการพัฒนาจากศูนย์กลางมาที่ ‘นิ้วมือ’ นิ้วมาก่อนสมอง เด็กจึงเล่นมากผ่านการใช้นิ้วมือทั้ง 10
“ให้เล่น ไม่ใช่เพื่อเล่น แต่เพื่อสมองที่ดี สมองที่ดีเพื่อเป็นฐานของ EF ที่ดี เพื่อควบคุมตัวเองให้ใช้ Wi-Fi ได้ แล้วพาตัวเองไปสู่อนาคต นี่คือศตวรรษที่ 21 ดังนั้น EF จะต้องมาเร็วพอสมควร”
การทำงาน เด็กจะพัฒนาจากตัวเองเป็นศูนย์กลาง เริ่มตั้งแต่รับผิดชอบร่างกายของตัวเองให้ได้ เช่น ทำงานบ้าน กินข้าวให้เรียบร้อยบนโต๊ะอาหาร อาบน้ำแปรงฟันด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้ทำให้ได้ภายในสามขวบ
ถัดจากศูนย์กลางก็ขยับออกมาเป็นพื้นที่รอบๆ เช่น กินข้าวแล้วเก็บจานให้เรียบร้อย ตื่นนอนเก็บที่นอนให้เรียบร้อย ขัดห้องน้ำตัวเองด้วยก็ดี เก็บของเล่นให้เรียบร้อย
“ถ้าไปโรงเรียนจัดตารางสอนให้เรียบร้อย อย่าลืมของให้บ่อยนัก ในวัย 4-6 ขวบต้องทำได้ แล้วค่อยๆ เลื่อนออกไปอีกเป็นบ้านทั้งหลัง กวาดบ้านถูบ้าน ล้างจาน เก็บผ้า เทขยะ”
7-12 ปี: Industry สร้างผลผลิต
เมื่อเด็กๆ เข้าสู่สังคมหรือโรงเรียน จากที่เคยเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็จะเริ่มเทน้ำหนักไปยังสังคมและเพื่อนๆ จนเกิดปฏิกิริยาสามข้อคือ
Compete – แข่งขัน ต่อสู้ และชิงดีชิงเด่นกับเพื่อนๆ
Compromise – หลังจากแข่งขัน ก็จะเกิดการรอมชอม ประนีประนอม
Coordinate – นำไปสู่การร่วมเล่น ร่วมทำการบ้าน และทำโครงการด้วยกัน
12-18 ปี: Identity อัตลักษณ์
เคลื่อนเข้าสู่ชั้นมัธยม วัยรุ่นมีหน้าที่ 4 ข้อ
- หาอัตลักษณ์: ที่ไม่เหมือนพ่อและแม่ เป็นช่วงที่วัยรุ่น ‘ปีกกล้าขาแข็ง’ เพื่อบินไปจากรัง เพื่อเป็นผู้ใหญ่ อิสระ และไม่กลับมาขอเงินอีก
- คนรัก: สอนให้เขารู้ว่าโลกมี 8 เพศ คือ 1. หญิง 2. ชาย 3. เลสเบี้ยนชาย 4. เลสเบี้ยนหญิง 5. เกย์ชาย 6. เกย์หญิง 7. ไบเซ็กชวล และ 8. ทรานส์เจนเดอร์หรือคนข้ามเพศ
- แก๊งเพื่อน: เกิดการรวมกลุ่มและเชื่อเพื่อนเพื่อสวามิภักดิ์กับหัวหน้าแก๊ง
- อาชีพ: การคิดถึงอนาคตเป็นความสามารถระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า Prefrontal cortex
“ทำหน้าที่เหมือนไฟหน้ารถยนต์ ใครแรงกว่า ใครเห็นอนาคตไกลกว่า จะสามารถกำหนดเป้าหมาย วางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำ ประเมินแผน ปรับแผน”
วิชาที่สอง: EF-Executive Function
EF-Executive Function หมายถึงความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (คำนิยามโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนเศรษฐกร)
สิ่งสำคัญคือสมอง และต้องมีเป้าหมาย
“ศตวรรษที่ 20 เราทำงานตามสายพาน สมองไม่ต้องมีเป้าหมาย ไม่ต้องคิด เรียนจบขอแค่มีงานทำ แต่ศตวรรษที่ 21 ต่างกัน มี Wi-Fi และเด็กๆ เข้าถึงไอทีได้เร็วมาก เขาจะเห็นว่ามีตัวเลือกเป็นแสน สิ่งเหล่านี้รบกวนความสามารถในการเลือก เขาจะเลือกไม่เป็น หาไม่เจอ เจอก็ไปไม่เป็น คะแนนที่โรงเรียนก็ไม่ช่วยอะไร
ดังนั้นเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ เด็กที่ EF ดี เขาจะกำหนดเป้าหมาย แล้วไปเอง ระหว่างทางเขาจะประเมินผลแล้วปรับเป้าหมาย ปรับอีกหลายๆ อย่างด้วยตัวเองจนถึงเป้าหมายที่เหมาะสมกับสมอง IQ ความถนัด ความชอบ passion ความหลงใหล จึงเป็นกระบวนการเบ็ดเสร็จของมนุษย์คนหนึ่ง”
EF ที่ดีมี 3 ข้อ
1. ดูแลตัวเองได้ หมายถึง ดูแลร่างกายได้ ได้แก่
- ร่างกายของตัวเองดูแลได้ภายใน 3 ขวบ เช่น กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน
- รอบร่างกายดูแลได้ไม่เกิน 6 ขวบ เช่น เก็บของเล่น เก็บที่นอน
- งานบ้านทำให้ได้ในไม่เกินประถม เช่น ล้างจาน ตากผ้า เทขยะ
- งานนอกบ้าน เช่น กินข้าวในร้านอาหาร วิ่งเล่นในห้าง เข้าคิว ไม่งอแงในร้านอาหาร
2. เอาตัวรอดได้ จากสถานการณ์เสี่ยง เข้าและออกจากอบายมุขได้ เช่น มีเซ็กส์ในคืนวันวาเลนไทน์
“อยากมีก็อยาก แต่ก็กลัวท้อง ดังนั้นการมีเซ็กส์แบบ EF คือ สวมถุงยางอนามัย โดยผ่านการควบคุมความคิด อารมณ์ การกระทำที่ดีและมีสายสัมพันธ์กับแม่ที่แข็งแรง เพราะสายสัมพันธ์ของแม่จะดึงรั้งสติของลูกไว้เสมอ
3. มีอนาคต แปลว่ามีทักษะชีวิตที่ดี มองไปข้างหน้า วางแผน ลงมือทำ รับผิดชอบ ยืดหยุ่น ปรับเป้าหมาย ปรับแผนได้ตลอดเวลา ไม่โทษตัวเอง ไม่โทษผู้อื่น พลาดแล้วเริ่มใหม่ ไม่ใช่พลาดแล้วฆ่าตัวตาย
EF ประกอบด้วย 3 วัตถุดิบสำคัญ
1. การควบคุมตัวเอง (self control) คือสามารถจดจ่อได้นาน (focus) ไม่วอกแวก (distraction) รู้จักประวิงเวลามีความสุข (delayed gratification) หรืออดเปรี้ยวไว้กินหวาน
2. ความจำพร้อมใช้ (working memory) เมื่อถึงสถานการณ์ ความจำต้องพร้อมใช้เสมอๆ พ่อแม่มีส่วนช่วยพัฒนาการด้วยการเล่นและฝึกทำงานบ้าน เพราะทั้งสองกิจกรรมจำเป็นต้องบริหารความจำตลอดเวลา
3. การคิดวิเคราะห์ยืดหยุ่น (cognitive flexibility) คือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ผ่านการเปลี่ยนมุมมอง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งพ่อแม่ช่วยได้ด้วยการส่งเสริมให้ลูกๆ เล่นตั้งแต่ช่วง 2-7 ขวบ และในช่วง 8-12 ปี ทั้งสองช่วงนี้สมองจะวางโครงสร้างด้านตรรกะ การใช้เหตุผล แล้วจึงนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ที่ยืดหยุ่นพลิกแพลงต่อไป
“เช่นลูกอยากมีเซ็กส์ แต่ลืมถุงยาง EF จะสอนให้เขาอดเปรี้ยวไว้กินหวาน การคิดวิเคราะห์ยืดหยุ่นจะบอกให้แวะไปซื้อถุงยางที่เซเว่นก่อน ระหว่างนั้นความจำพร้อมใช้จะคอยเตือนว่าท้องตอน ม.5 จะเป็นยังไงนะ แล้วถ้าติดเชื้อ HIV ด้วยล่ะ ทั้งหมดทั้งมวล คำอธิบายว่า รักแม่นะ อย่าทำนะ มันไม่พอแล้ว ความสามารถของสมองอย่าง EF จึงต้องเข้ามา”
วิชาที่สาม: การปรับพฤติกรรม
ก่อนที่พ่อและแม่จะปวดหัวและอยากปรับพฤติกรรมของลูก พ่อแม่จะต้องเข้าใจโลกของเด็กแต่ละช่วงวัยเสียก่อน
แรกเกิด – 1 ขวบ Self Centered: “เด็กเล็ก คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล”
Animism: “ทุกอย่างมีชีวิต เช่น ตุ๊กตามีชีวิตทุกตัว อย่าแยกเขาออกจากกัน”
Magic: ความคิดเชิงเวทมนตร์ “ทุกอย่างเป็นไปได้หมดด้วยเวทมนตร์”
Phenomenalistic Causality: การจับแพะชนแกะ
6-12 ปี Concrete: มีการคิดเชิงรูปธรรม “เห็นอะไรก็เห็นอย่างนั้น เห็นหมาก็เป็นหมา ไม่มีอะไรซับซ้อน”
12-18 ปี Abstract: คิดเชิงนามธรรม สมองสามารถให้ความหมายแก่สิ่งที่เห็นและสามารถให้ความหมายแก่สิ่งที่จับต้องไม่ได้
มีคุณแม่ท่านหนึ่งถามว่า ลูกวัยสองขวบแปดเดือน อยู่ในช่วงกำลังถาม เวลาเขาถามจะไม่มีจุดสิ้นสุด คนเป็นแม่สามารถตอบมั่วๆ ได้ไหม
“เวลานั่งแท็กซี่กลับบ้าน เขาจะถามว่า รถเมล์คันนี้เขาเปิดท้ายรถทำไม ก็จะบอกว่ารถเสีย เพราะระบายความร้อน ก็จะถามไปเรื่อยๆ ว่าระบายความร้อนทำไม ทำไมมันเสีย ทำไมไม่ซ่อม แม่ไม่ตอบตามความจริงได้ไหม”
คุณหมอตอบว่า ได้
“ช่วงเกือบ 3 ขวบ ชีวิตเขามีแค่เรื่องเดียว คือการสร้างแม่ และสร้างสายสัมพันธ์ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าการตอบคืออารมณ์ของแม่ ความมั่นคง แม่ตอบ แม่สนุกกับการตอบ ไม่ต้องกังวลเรื่องผิดถูก
เขายังเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง เอลซ่ามีจริงในโลก แฮร์รี พอตเตอร์ก็มีจริง เราจับแพะชนแกะได้กับทุกเรื่อง เนื้อหาตามสบาย เอาให้มีความสุข”
เมื่อลูกโตขึ้นจึงค่อยใส่เหตุผลเชิงรูปธรรม
“เช่น กลางวันกับกลางคืนต่างกันอย่างไร หนีเสือปะจระเข้แปลว่าอะไร ก็แปลว่าหนีเสือไปเจอจระเข้ไงลูก (หัวเราะ) ถ้าเหนื่อยและเบื่อก็บอกได้ตรงๆ เลยว่าแม่ขอนอนก่อนนะ เพียงแต่ว่าไม่ต้องหงุดหงิดแค่นั้นเอง”
ก่อนปิดห้องเรียนพ่อแม่ คุณหมอได้ให้เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ กับคุณพ่อคุณแม่ไว้เผื่อเอาไว้ใช้ในสถานการณ์จริง
เด็กอายุก่อน 7 ขวบ เด็กกลัวการถูกทำโทษ 14 ขวบ เด็กชอบรางวัล วิธีคือเราทำให้รางวัลในแต่ละวันให้มากกว่าการทำโทษ เพื่อให้เด็กรู้ทิศทางพัฒนาการว่าแม่ชอบหรือไม่ชอบเส้นทางสายนี้ วิธีคือเราต้องทำให้เห็นทุกๆ วัน ทำแบบนี้แม่ชอบ ทำแบบนี้แม่ไม่ชอบ แล้วสัดส่วนการชอบต้องมากกว่าไม่ชอบทุกวันทุกสัปดาห์ เช่น วันนี้ด่าไป 3 ต้องมีเรื่องชม 4 เรื่อง ไม่เช่นนั้นเด็กจะงงว่า ทำไมด่าทั้งวัน ไม่ชมสักเรื่อง”
หากหาเรื่องให้ชมไม่ได้ คุณหมอแนะนำให้ ‘มองไม่เห็น’ บ้าง
“มันเหนื่อยทุกคน ฉะนั้นกลับบ้านอย่าเพิ่งมองบ้าน ขนมไม่เก็บ รองเท้าไม่เก็บ พื้นเลอะเทอะ ผ้าเช็ดตัวกองตั้งแต่เช้า เราด่าได้หมด แทนที่จะได้ชม 4 เรื่อง เราทวีความติเตียนมากไปอีก ฉะนั้นทำตัวให้หายเหนื่อย ผ่อนคลาย อาบน้ำออกมาแล้วก็จะพบว่าทุกอย่างยังสกปรกเหมือนเดิม นั่งดูไปอีกสักพัก เราก็ใช้หลักการจูงมือไปทำทีละชิ้นๆ แล้วชมตรงนั้นว่า แม่ชอบแบบนี้แหละ ชัดๆ ไม่งั้นเด็กไม่รู้เรื่อง”
คุณหมอย้ำชัดว่าการบ่นด่าจะไม่ทำให้เด็กรู้เรื่อง ยิ่งประชดยิ่งหนัก ยิ่งไม่รู้เรื่อง
“ถ้าหาเรื่องชมไม่เจอจริงๆ พ่อแม่ต้องเริ่มทำเป็นตัวอย่าง จับมือทำแล้วชม เขาก็จะรู้ว่าเราชอบอะไร ทิศทางของพัฒนาการถึงจะไป น้ำดีจะมากขึ้น แล้วก็จะไล่น้ำเสียทิ้งไปเอง”