- ประเด็นสำคัญของหนังสือ ‘พลังแห่งวัยเยาว์’ คือ การเรียนรู้กับการเข้าโรงเรียน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
- และการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเล็กโดยผู้ใหญ่ ดีที่สุดคือ ‘อย่าเข้าไปยุ่ง’ กล่าวใหม่ว่าเด็กเล็กต้องการเล่นอิสระ มากกว่าการฝึกฝน
- เช่นนั้นแล้ว อย่าให้ความคาดหวังผิดทางของผู้ใหญ่มาบั่นทอนพลังชีวิตของเด็ก
“โรงเรียนในชั้นเด็กเล็ก ไม่ได้มีไว้เพื่อเรียนวิชา แต่มีไว้เพื่อ ‘เตรียมความพร้อมในการเรียนรู้’ สำหรับนักเรียนในชั้นเรียนจริง คือประถม 1 เป็นต้นไป นี่คือสภาพย้อนแย้งของชั้นเด็กเล็กในปัจจุบันที่สิ่งที่ชั้นเด็กเล็กจัด กับความต้องการที่แท้จริงของเด็กไม่ตรงกัน และยิ่งร้ายกว่านั้น ที่พ่อแม่ต้องการให้ชั้นเด็กเล็กสอนวิชาเพื่อไม่ให้ลูก ‘ล้าหลังในการเรียน’ ข้อหลงผิดของพ่อแม่นี้ พบบ่อยกว่าในพ่อแม่เศรษฐฐานะต่ำ” หน้า 44
“สภาพที่เด็กเล็กกำลังเผชิญเป็นสภาพย้อนแย้ง คือสังคมเข้าใจศักยภาพเด็กดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งความหวังและระบบการศึกษาเด็กเล็กที่ทำลายโอกาสต่อยอดศักยภาพนั้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเร่งให้เด็กเรียนวิชาและทดสอบผลลัพธ์การเรียนรู้ที่วิชาอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น โดยใช้แบบทดสอบที่ให้เด็กเขียนตอบในกระดาษ” หน้า 103
ส่วนหนึ่งของหนังสือ พลังแห่งวัยเยาว์* โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล บันทึกตีความจากหนังสือ The Importance of Being Little: What Young Children Really Need from Grownups โดย Erika Christakis หนังสือที่ว่าด้วยการจัดการศึกษาของเด็กปฐมวัยตามพัฒนาการ ที่ขีดเส้นใต้ว่า ‘การเรียนรู้’ กับ ‘การเข้าโรงเรียน’ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน พร้อมอธิบายว่าครูและผู้ปกครอง มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของพวกเขามากแค่ไหน
ที่ (ยัง) ต้องยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ทั้งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเรียนรู้ของเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี คือการเล่น มากกว่าเรียน และ คือการสร้างปฏิสัมพันธ์ไม่ใช่การจับยัดความรู้ แต่ข้อเท็จจริงในสังคม การสอบแข่งขันเข้า ป.1 บางแห่งยังคงดุเดือดและจัดขึ้นในเด็กที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ แม้จะมี พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ที่มีเจตจำนงชัดเรื่องการปกป้องคุ้มครองพัฒนาการเด็กปฐมวัยและห้ามจัดสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เราเองก็ทราบกันดีว่าครูเองก็ทำอะไรไม่ได้มากนอกจากสอนหนังสือตามหลักสูตร และผู้ปกครอง แม้จะทราบดีว่าเด็กวัยนี้ต้องเล่นมากกว่าเรียน แต่ก็ยังกลัวว่าลูกจะ ‘สตาร์ท’ ได้ไม่ไวเท่าเพื่อนคนอื่น
พลังแห่งวัยเยาว์ ยืนยันว่า วัยเด็กเล็กเป็นวัยที่มีพลังเหลือเฟือ มีความฉลาด กว่าที่เราเข้าใจ ถ้าผู้ใหญ่รู้จักปฏิบัติอย่างรู้เท่าเทียมกันกับเด็ก จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจมากของผู้ใหญ่ แต่ก็เป็นวัยที่อ่อนไหวต่อภยันอันตรายด้วย
สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรเอาใจใส่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองเด็ก สมองเด็กเกิดมาพร้อมกับศักยภาพการเรียนรู้และพัฒนา การจับยัดความรู้ของโรงเรียนอนุบาลราวกับเด็กเป็น ‘สถานีเติมน้ำมัน’ เป็นการเดินทางผิด
ความงามของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่การปูพื้นฐานและอธิบายความสำคัญของการจัดการศึกษาในชั้นอนุบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นการตีความผ่านสำนวนของ ศ.นพ.วิจารณ์ ที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย เริ่มทำความเข้าใจว่าการเรียนรู้ของเด็กเล็กควรเป็นแบบไหน ผ่านพัฒนาการทางสมอง ผ่านทฤษฎีการเรียนรู้ของนักการศึกษาต่างๆ ต่อไปยัง ‘วิธีการ’ จัดการเรียนรู้และจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาและในบ้าน
แต่บทความชิ้นนี้ขอสรุปหัวใจสำคัญเฉพาะเรื่อง ‘เด็กเล็กต้องการเรียนรู้แบบไหน’ ซึ่งหากท่านใดสนใจอ่านหนังสือฉบับเต็ม สามารถเข้าไปดาวน์โหลดหนังสือได้ที่นี่
เหมาะอย่างยิ่งจะเป็นหนังสือประจำโต๊ะคุณครูปฐมวัย ผู้ปกครอง กระทั่งครูชั้นประถมที่ต้องรับช่วงต่อเด็กๆ จากครูอนุบาล และเหมาะสำหรับทุกคน ในฐานะที่เราต่างก็แวดล้อมด้วยเด็กตัวน้อยๆ จะได้ไม่สร้างความคาดหวังผิดๆ ต่อเด็กในสังคมต่อไป
เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการเล่น และ ปฏิสัมพันธ์ ไม่ใช่การสั่งสอน
“คำแนะนำของผู้เขียนที่น่าสนใจมากคือในหลายกรณี การส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเล็กโดยผู้ใหญ่ ดีที่สุดคือ ‘อย่าเข้าไปยุ่ง’ (getting-out-of-the-way) กล่าวใหม่ว่าเด็กเล็กต้องการเล่นอย่างอิสระ มากกว่าการฝึกฝน” หน้า 29
‘เล่นอย่างอิสระ’ หรือ free play ทั้งในแง่ ‘พื้นที่’ และ ‘เวลา’ เรียกว่าเป็นหัวใจแห่งการเรียนรู้ของเด็กเล็กเลยก็ว่าได้ การเล่นเป็นขุมพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะสร้างจินตนาการ พื้นที่แห่งการฝึกทักษะสังคมและอารมณ์ การได้สัมผัสกับของจริง เล่นดิน เล่นทรายจริง เจอฝน เจอลมจริง ยิ่งปลุกประสาทสัมผัสทั้งห้า – ในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ ที่กระตุ้นพัฒนาการทางสมองชั้นดี
แต่อุปสรรคสำคัญ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ใช้คำว่า ‘ความเข้าใจที่ผิดพลาด’ คือความคิดที่ว่าเด็กเป็นผ้าขาว และช่วงเวลานี้เป็นช่วงวัยที่พ่อแม่ต้องรีบแต่งแต้มสีสันด้วยการติดอาวุธทางวิชาการที่เน้นการท่องจำให้พวกเขา
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจใหม่คือ การเรียนรู้ไม่ได้มาจากที่ใดๆ นอกตัวเด็กอย่างที่เข้าใจผิดกัน เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการเล่น และ ปฏิสัมพันธ์ (หรือเรียกว่าคือการเรียนรู้มิติสังคม) ปฏิสัมพันธ์ที่ว่าเป็นได้ทั้งจากบุคคล เช่น พ่อแม่ ครู เพื่อน กระทั่ง ‘สิ่งของ’ พวกเขาก็เรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้
เมื่อคีย์เวิร์ดคือ ‘ปฏิสัมพันธ์’ สิ่งที่ตามมาจึงเป็นการสร้างพื้นที่เพื่อฝึกให้เด็กสร้างปฏิสัมพันธ์นั่นเอง
แน่นอนว่าการเล่นระหว่างเด็กด้วยกันเองเป็นพื้นที่ฝึกทักษะทางสังคมและอารมณ์ (โดยเฉพาะการทะเลาะกันของเด็กๆ ยิ่งสร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ในระดับลึกซึ้ง
ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้แนะนำว่า เวลาเด็กๆ ทะเลาะกัน พ่อแม่อย่าเข้าไปยุ่ง ลองถามตัวเองดูดีๆ ว่า ที่รู้สึกยอมไม่ได้จนต้องเข้าไปทะเลาะกับเด็กหรือทะเลาะกับพ่อแม่ของเด็ก เป็นเพราะเอาโลกของตัวเองเรื่องความไม่ยุติธรรมไปจับ หรือเพราะลูกกำลังถูกกระทำจากเด็กอีกคนจริงๆ เพราะบางครั้ง ความบาดหมางของเด็กๆ อยู่ในกระบวนการเล่น และเขาทั้งคู่กำลังเรียนรู้จากกันและกัน) แต่อีกขั้นหนึ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกับผู้ปกครอง หรือกับครู ที่ต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม
ตัวอย่างหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ในแง่นี้คือ การพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างครูและเด็กที่เอื้อให้เด็กผ่านไปสู่พรมแดนความรู้ใหม่ๆ ผ่านความสงสัยใคร่รู้ของเด็กๆ ที่เรามักเรียกว่าเป็นการกระตุ้น ‘ต่อมเอ๊ะ’ “เอ๊ะ! นี่อะไร ฉันไม่เคยเห็นมาก่อน” แล้วจึงตามด้วย “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง”
คำสนทนาระหว่างกันนี้เรียกว่า ‘นั่งร้าน’ (scaffolding) มันคือบทสนทนาระหว่างกันที่ครูไม่ ‘สั่งสอน’ แต่พูดคุยในลักษณะโค้ชชิง ให้เด็กตอบโต้ไปจากความสงสัยของตัวเอง กล่าวคือ มันเป็นบทสนทนาที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน และยังสร้างความรู้ด้วยตัวเด็กเอง ไม่ใช่การเทความรู้ใส่สมอง ซึ่งนี่เป็นไปตามทฤษฎี Cycle of Disequilibrium ของ ฌอง เปียเจต์ (Jean Piaget)
ปฏิสัมพันธ์ในอีกความหมายหนึ่งคือ การมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมจริง ไม่ใช่ สภาพแวดล้อมเทียม
“สภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ดี ต้องเชื่อมโยงกับสภาพจริง เชื่อมโยงกับบริบท หรือ เชื่อมโยงกับคุณค่า หัวใจคือการฝึกทักษะขั้นต่ำ (lower-level skills) ก่อนแล้วค่อยฝึกทักษะที่สูงขึ้นๆ ในด้านการเรียนรู้ (high-level cognition)” หน้า 72
คำว่า ‘ฝึกทักษะขั้นต่ำ’ ไม่ใช่ความต่ำในแง่ด้อยค่า แต่เป็นทักษะในระดับร่างกาย อย่างที่ ศ.นพ.วิจารณ์ เห็นว่า “ทักษะขั้นต่ำ เช่น การเป็นคนช่างสังเกตที่จะฝึกได้ง่ายตอนเป็นเด็กเล็ก แต่เมื่อโตขึ้น ทักษะความช่างสังเกตจะถือเป็นทักษะขั้นสูงสำหรับชีวิตที่ประสบความสำเร็จ”
คำว่า สภาพแวดล้อมจริง ไม่มีความซับซ้อนอะไรเลย และเพียงสถานการณ์ในบ้าน เช่น การทำขนม เล่นในสวน ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคุณตาคุณยาย เลี้ยงสัตว์ และการเล่นอย่างอิสระ เช่น การได้ปีนป่ายต้นไม้ โดยไม่มีเสียงบ่นห้ามจากพ่อแม่ หรือในแง่การจัดการเรียนรู้ การพาเด็กออกไปเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมในสวน ย่อมสร้าง ‘ความอยากเรียนรู้’ ให้เกิดในตัวของเด็ก มากกว่าการเรียนในกระดาษเป็นไหนๆ
หนังสือแนะนำการจัดการเรียนรู้ของเด็กไว้หลายวิธี แต่ผู้เขียนขอยกหลักการสำคัญตอนหนึ่งไว้ ซึ่งปรับใช้ได้ทั้งพ่อแม่และครู ดังนี้
หลักการสำคัญของการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก
- พลังคำถาม และ การเสวนา: ครูแค่ตั้งคำถามกระตุ้นการคิด ฟังให้เข้าใจวิธีคิดของเด็ก และคอยคุมวงสนทนาให้ดำเนินไปตามเป้า ไม่ออกนอกทาง
- หาสิ่งจูงใจให้เด็กเรียนรู้: เช่น การเรียนแบบเล่นและทดลองค้นคว้าด้วยตัวเอง แต่ก็มีการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้บ้างเท่าที่จำเป็น เช่น เรียนวิธีแปรงฟันที่ถูกวิธี การล้างมือที่ถูกวิธี ออกเสียงคำภาษาอังกฤษที่ลงท้ายด้วย th ให้ถูกหลักการออกเสียง
- อย่าหลงหลักสูตรมาตรฐาน: ไม่ใช่การสอนเพื่อสอบ ไม่ใช่การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
- เรียนแบบองค์รวม: เชื่อมโยงสภาพจริง บริบท และคุณค่า
- ฝึกเป็นโค้ช: เข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการแต่ละด้านไม่เหมือนกัน และช่วยส่งเสริมระดับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน
- พลังของการสังเกต: จัดวงเสวนาเพื่อกระตุ้นให้เกิดคำถาม สังเกตเพื่อประเมินความก้าวหน้าของเด็กแต่ละคน และ ฝึกตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้เด็กไตร่ตรองสะท้อนคิดสิ่งที่พวกเขาทำ
วิธีจัดการเรียนรู้แบบนี้ จำเป็นอย่างมากที่ครูต้องเห็นเด็กเป็นรายคน ตอนหนึ่งของหนังสือกล่าวด้วยว่า เด็กหลายคนที่พัฒนาการช้าบางเรื่อง เร็วบางเรื่อง กลับถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการ เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD-Attention Deficit Hyperactivity Disorder) แต่ต้องทำความเข้าใจว่าในวัยเด็กเล็กมีความปรวนแปรสูง และเป็นเพราะสถานศึกษามักใช้แบบประเมินเด็กใน ‘ลักษณะเดียว’ ซึ่งนี่เป็นผลลัพธ์จากการมองเด็กแบบ ‘แยกส่วน’ ไม่ได้มองในภาพรวม พอมองเด็กแบบแยกส่วน สิ่งที่ ‘ผู้ใหญ่’ คิดว่าเป็นปัญหา อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น และการวินิจฉัยแบบ ‘ด่วนได้’ อาจกลายเป็นการตีตราเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งมีผลต่อการเลี้ยงดูในอนาคตต่อไป
เมื่อครูประจำชั้นใช้ความละเอียดและใส่ใจมากพอ มีปฏิสัมพันธ์เพียงพอ จะพบว่าบางครั้งเด็กๆ เพียงต้องการการพัฒนาบางอย่างที่แตกต่างจากเพื่อนคนอื่น (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม บทที่ 6 เด็กในสังคมแยกส่วน)
“ที่น่าตกใจคือ มีเด็กเล็กจำนวนหนึ่งที่พัฒนาการดี อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น แต่เมื่อเข้าโรงเรียน (ประถม และ มัธยม) กลับเรียนได้ไม่ดี ไม่สามารถบรรลุผลตามศักยภาพของตนได้ และมีการเสนอว่า ปรากฏการณ์นี้ยืนยันว่าในชั้นเด็กเล็กควรเน้นการเล่นและความสนุกสนาน ไม่ควรเน้นการทำงานและวินัยเข้มงวด” หน้า 53
หากการจัดสอบเข้า ป.1 คือยอดของภูเขาน้ำแข็ง และมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าปรากฏการณ์ภายใต้การสอบ เช่น การพาเด็กๆ กวดวิชาจนคร่ำเครียด ความเครียดจากการถูกกดดันในรูปแบบของความรักและปรารถนาดี มุมมองว่าพัฒนาการที่ดีของเด็กคือการท่องหนังสือได้ บวกลบเลขได้ไว เป็นผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีตั้งแต่อายุน้อยๆ ที่ตามมาด้วยวินัยที่เคร่งครัด หากผู้ปกครองคิดว่านี่คือการปูทางไปสู่อนาคตอันสดใสของลูก ประโยคข้างต้นอาจช่วยยืนยันได้ว่า อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
อย่างที่ ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้ที่ผลักดันให้ยกเลิกการสอบเข้าชั้น ป.1 มากว่า 30 ปี เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า
“พลังชีวิตของเด็กดุจเป็นศักยภาพของต้นอ่อนในเมล็ดพันธุ์ชั้นดีที่พร้อมจะงอกงาม จะน่าเสียดายยิ่งหากความไม่รู้และความคาดหวังที่ผิดทางของผู้ใหญ่มาบั่นทอนพลังชีวิตของเด็ก แทนที่จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนศักยภาพที่มีในตัวเด็กได้เติบโตงอกงาม”
ดาวน์โหลดหนังสือ พลังแห่งวัยเยาว์ ได้ที่: https://goo.gl/td8Ycp
อ้างอิง:
พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/056/T_0005.PDF