- โรคพ่อแม่ทำอีพีสุดท้าย ชวนคุยเรื่อง ‘โรค/ภาวะซึมเศร้า’ และ ‘โรคปั้นลูกให้เก่ง’ ผลลัพธ์ที่อาจเกิดจากความรักที่มากไปจนเข้าข่ายกดดันของผู้ปกครอง
- โรคซึมเศร้า เกิดจากสารเคมีในสมอง แต่มูลเหตุที่ทำให้สารเคมีผิดปกติ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการพยายามกดอารมณ์ ปฏิเสธอารมณ์ของลูกตั้งแต่เด็กๆ เมื่อปฏิเสธว่าความเจ็บปวดของเด็กหรือคนตรงหน้าไม่มีจริง เลี่ยงไม่พูดถึง ก็อาจทำให้เกิดความเครียดสะสมและสร้างโรคได้
- โรคปั้นลูกให้เก่ง แต่เป็น ‘เก่ง’ ในเส้นทางที่ผู้ปกครองเป็นคนเลือก จนไม่เห็นตัวตนอื่นของลูกเลย
อีพีรองสุดท้ายของพอดแคสต์ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ แต่เป็นอีพีสุดท้าย (จากทั้งหมด 3 ตอน) ที่พูดเฉพาะเรื่อง ‘โรค’ ที่อาจเกิดขึ้นอันเกิดความจากความรักที่มากไปของพ่อแม่ ครั้งนี้คุณเม้ง และ ครูณา ชวนคุยกันเรื่อง ‘โรคซึมเศร้า’ และ ‘โรคปั้นลูกให้เก่ง’ ที่ทำให้เห็นว่าการเลี้ยงดูที่เครียดขึง ปฏิเสธอารมณ์ ปฏิเสธตัวตนของลูก อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ระยะยาวอย่างไร
บทความนี้ถอดความมาจาก Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ตอนที่ 8 โรคจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ 3 ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์
รับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่นี่
โรคซึมเศร้า
ในชุดที่ว่าด้วย ‘โรค’ ที่พ่อแม่ทำกับเรา เหลือให้คุยกันอยู่อีก 2 เคสนะครับ นั่นคือ ‘โรคซึมเศร้า’ กับ ‘โรคปั้นลูกให้เก่ง’ เอา ‘โรคซึมเศร้าก่อน’ ช่วงหลังเราได้ยินกันเยอะมาก มีผู้ที่เป็นและแสดงอาการเยอะขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าคนเป็นกันมันเยอะขึ้น หรือจริงๆ เมื่อก่อนก็เป็นกันเยอะอยู่แล้ว
พี่คิดว่ามันเยอะขึ้นนะ มันก็เหมือนกับ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ไปสร้างกับพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ที่เป็น ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ก็มาสร้างกับลูกต่อ เพราะฉะนั้นมันคล้ายๆ กงเกวียนกำเกวียน ล้อเกวียนที่มาซ้ำรอยเดิมก็จะลึกกว่าเดิมและส่งผลมากขึ้นกว่าเดิม
ผมถามอย่างนี้ก่อนครั้ง ‘โรคซึมเศร้า’ มันเป็นเคมีทางสมองไม่ใช่เหรอครับ แล้วจะมาบอกว่าเพราะพ่อแม่ทำได้ยังไง
ใช่ มันเป็นเคมีในสมองที่ไม่สมดุล แต่ว่ามันก็เกิดจากการที่เราทำให้สมองหลั่งเคมีแบบนั้นมากเกินกว่าปกติ ซึ่งตรงนี้ก็เกิดมาจากการเลี้ยงดู แต่ไม่ใช่การเลี้ยงดูทั้งหมดหรอกนะ มีบางครั้งที่เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความซึมเศร้าให้กับชีวิตจริงๆ เพียงแต่ว่าโรคซึมเศร้าที่เกิดกับเด็กส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน มันเกิดจากเคมีในสมองผิดปกติและไม่สมดุลจริงๆ
เม้งลองนึกนะว่า ตามร่างกายของเรามีเซลล์อยู่เป็นพันล้านล้านเซลล์ แต่ละเซลล์มีโครงสร้างที่กินอาหารคนละประเภท ถ้าเราพูดในเชิงของวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันกลายเป็นในเชิงของธรรมะด้วยก็คือ เซลล์แต่ละประเภทกินอาหาร คือ อารมณ์ ฮอร์โมน หรือสารเคมีที่ออกมาจากสมองส่งไปที่อารมณ์ บางเซลล์กินอาหารที่เป็นความรู้สึกโกรธ ถ้ามีฮอร์โมนโกรธไหลมาทั่วร่างกายเรา ไอเซลล์ที่กินอาหารโกรธก็จะสามารถรับอาหารได้ เพราะมีรหัสที่เข้าไปในเซลล์ที่คลิกเหมือนกุญแจที่เข้าไปในนั้น เพราะฉะนั้นมันก็จะมีเซลล์ที่มีโครงสร้างเยอะมากเลย หลากหลายตามแล้วแต่อารมณ์ โกรธบ้าง รักบ้าง เสียใจบ้าง รู้สึกภูมิใจในตัวเองบ้าง แล้วเซลล์เหล่านี้ก็กินอาหารตามอารมณ์
สมมติเราสามารถหล่อเลี้ยงเด็กให้เขามีสภาวะอารมณ์ที่รู้สึกชื่นชมในตัวเอง รู้คุณค่าของตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง เขาก็จะมีเซลล์แบบนั้นมากขึ้น เพราะเขาได้รับการให้อาหารแบบนั้น มันก็เลยทำให้เซลล์แบบนั้นเติบโตได้ดีกว่าเซลล์อื่น เด็กเหล่านี้ก็จะดูมีพลังงานของความเชื่อในตัวเอง รู้คุณค่าในตัวเอง คือลักษณะของเซลล์ที่อยู่ในร่างกายเราก็เป็นตัวส่งผลของบุคลิกภาพของเด็กคนนั้นแหละ ถ้าเราทำให้เด็กคนนั้นมีความเกรี้ยวกราดบ่อยๆ โกรธบ่อยๆ เซลล์ในร่างกายก็จะมีประเภทที่กินอาหารโกรธบ่อยๆ เด็กกลุ่มนี้ก็จะขี้โกรธ ขี้วีน
เราคุยกันทุกอีพีว่าทำไมช่วง 0 – 7 ขวบ เราต้องบ่มเพาะสิ่งดีๆ ให้กับเด็กก่อน ทำให้เด็กรู้จักอารมณ์ รู้จักการเข้าใจตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง รักตัวเอง ก็เพราะให้เขามีเซลล์พวกนี้อยู่เยอะ มีโครงสร้างที่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบนี้อยู่เยอะ แล้วมันก็จะกลายเป็นบุคลิกภาพของเขา ประเด็นคือในยุคหลังๆ เราถูกส่งต่อมาในเรื่องการกดอารมณ์ ไม่เข้าใจอารมณ์ เราไม่รู้วิธีการจัดการอารมณ์ พอถูกเลี้ยงดูมาแบบไม่เข้าใจอารมณ์ ก็กลายมาเป็นการส่งพฤติกรรม จากพ่อแม่ก็ไปทำกับลูก
เรื่อง ‘การกดอารมณ์’ ตอนเด็กๆ ที่เรารู้สึกเศร้าแล้วพ่อแม่ทำไม่เป็นก็จะบอกว่า ‘ไม่ต้องเศร้าหรอกลูก ไม่ต้องเสียใจ เดี๋ยวพอพาไปกินขนม’ ‘เป็นลูกผู้ชายอย่าร้องไห้’ กลายเป็นเห็นว่าความเศร้า คือ ความอ่อนแอและเราควรจะมีความสุขมากกว่า ที่พูดไม่ได้บอกว่าเราจงมาเศร้ากันเถอะ ไม่ใช่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเศร้า เราก็ต้องเผชิญหน้ากับความเศร้า จัดการความเศร้าอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ลูกเห็นว่าลูกกำลังเศร้า ลูกร้องไห้อยู่ ‘มา…แม่กอดทีนึง แม่เข้าใจนะ’ หรือรับรู้ความเศร้าเขา ยอมรับเขา นั่งฟังเขา ช่วยดูแลเขา
แต่กระบวนการเหล่านี้พ่อแม่ไม่ได้ฝึกกัน อาจจะยุ่ง ไม่ได้ฝึกจัดการเรื่องของอารมณ์ เพราะฉะนั้นพอลูกเศร้าก็บอก ‘ไม่ต้องเสียใจหรอก’ ‘อย่าร้องไห้’ แล้วพอมันกดอารมณ์บ่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันไม่เกิดกระบวนการจัดการกับอารมณ์อย่างถูกต้อง ก็เลยเกิดการคิดกับตัวเอง พอคิด…ความคิดก็สร้างอารมณ์ มีอารมณ์แล้วแต่อย่าแสดงออก ไม่ได้จัดการ คิดอยู่ข้างใน วนอยู่ข้างใน สารเคมีก็หลั่งไปหลายรอบ ไหลทุกวัน ไม่เข้าใจก็นั่งคิด จนกลายเป็นคนที่คิดวนอยู่กับความเศร้าหรือความรู้สึกแย่กับตัวเอง ซึ่งพอคิดวนแบบนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เซลล์ที่มันกินอาหารเศร้าก็เติบโต แบ่งตัว พอแบ่งตัวเยอะๆ ในร่างกายของเรา เซลล์เหล่านี้ก็มีการไป Trigger ในสมองเพื่อสร้างวงจรความคิดที่ทำให้เกิดความเศร้าอีก เพื่อทำอะไร? เพื่อให้อาหารมัน
เพราะฉะนั้นพอวันหนึ่งที่มันเยอะเกินกว่าปกติ ได้ยินแต่วงจรของความเศร้า แล้วมันกดไม่ไหว เขื่อนแตก ก็เลยเกิดเป็นอาการซึมเศร้า นี่แหละคือที่มาว่า ใช่ มันคือสารเคมีที่ไม่สมดุลในร่างกาย เพราะเนื่องจากเราไม่ได้ฝึกลูกของเราให้รู้จักกับการจัดการอารมณ์ เราใช้การกดอารมณ์ ปฏิเสธอารมณ์
ครูณาเจอเยอะไหมครับ
เยอะมากค่ะ ยิ่งยุคหลังๆ เคสก็ยิ่งเด็กลง ตอนนี้ 8 – 9 ขวบ ก็เป็นซึมเศร้าได้แล้ว
ถ้าย้อนกลับไปฟังอีพีก่อนๆ ก็ยังพอสืบสาวราวเรื่องกลับไปแก้ได้ แต่นี่เหมือนถ้าไม่ระวังวันนี้อาจจะสะสม แล้วถ้ามันเกิดไปแล้ว พ่อแม่ การเลี้ยงดู หรือประสบการณ์ได้กระทำกับเขาไปแล้ว เช่น ถ้าผมเป็นซึมเศร้าอายุ 40 ปีเนี่ย แล้วอยากจะแก้ไข เราต้องย้อนกลับไปจัดการคความสัมพันธ์ไหม หรือมีวิธีอะไรบ้างครับ
บางทีเราไปจัดการโรคซึมเศร้าด้วยการกินยา ซึ่งส่วนตัวพี่ไม่ค่อยสนับสนุน พี่ไม่ได้บอกว่ายาไม่ช่วยเลย แต่ยาช่วยในระยะสั้น ใช่ สารเคมีของเราไม่สมดุล แต่ทันทีที่เราเริ่มต้นกินยา ในตอนนั้นเราจะต้องเริ่มฝึกวิธีคิดของเราใหม่ เพราะยาไม่ได้ช่วยให้เราหายจากโรคซึมเศร้าแต่ยาทำให้เราไม่รู้สึกเศร้า ในขณะที่ต้นเหตุของความเศร้ามันยังดำรงอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อาจจะเป็นเยอะขึ้นแต่ไม่รู้สึก เพราะว่าเรากินยา
จากประสบการณ์ของเคสของพี่นะ การกินยาจะช่วยให้เราไม่รู้สึก ในช่วงเวลา 2 – 3 เดือนที่เราต้องกินยา มันต้องมีกระบวนการดูแลความเศร้า จัดการความเศร้า เท่าทันอารมณ์ความเศร้า นี่อาจจะใช้เวลาไม่เกินปีก็ได้ที่เราจะหายจากอาการนี้ แต่ถ้าเราพึ่งยาแล้วคิดว่าเราจะมีวันหายจากโรคซึมเศร้า พี่บอกได้เลยว่ายากมาก เพราะว่ามันทำให้เราเป็นหนักขึ้นแล้วยาต้องเพิ่มโดสมากขึ้น
การเปลี่ยนกระบวนการความคิดทำได้โดยการฝึกที่จะคิดใหม่ หรือไม่ก็คือการกลับไปเยียวยาหรือบำบัดเรื่องราวในอดีตที่เป็นแหล่งกำเนิดของความเศร้าเพื่อทำให้มันเกิดการเชื่อมโยงในรูปแบบใหม่ สร้างสภาวะอารมณ์ใหม่ อันนี้ก็คือการที่เราได้ดูแลตัวเราเอง และเรียนรู้ที่จะฝึกมันเพื่อเกิดการจัดการตัวเอง ไม่ใช่ใช้สารเคมีหรือว่ายามากดอารมณ์เราอย่างเดียว พี่สังเกตว่าบางคนกินยา 5 – 6 ปี มันทำให้เขาคิดยากขึ้น เพราะไม่รู้สึก เป็นแบบนี้ก็จะทำให้ทำความเข้าใจชีวิตยากอีก คล้ายว่าสมองรับสารเคมีมากไปจนคิดลึกๆ ไม่ได้ มันไม่รู้สึก แต่ความคิดที่ทำให้เราเปลี่ยนชีวิตต้องเป็นการคิดที่ลึกซึ้งมากซึ่งต้องไปแตะความรู้สึกด้วย ฉะนั้นคนที่กินยามานาน 5 – 6 ปี จะเรียนรู้เพื่อที่จะเยียวยาชีวิตหรือพยายามเปลี่ยนวิธีคิดกับชีวิตยิ่งทำได้ยากใหญ่เลย เพราะว่าการคิดในระดับที่เปลี่ยนชีวิตมันต้องเข้าไปแตะเรื่องของอารมณ์และเจตจำนงของชีวิต ซึ่งเคมีมันกั้นไว้ แล้วทำให้เราเข้าไปไม่ถึง
พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
นึกถึงบางเคสของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว บางคนถามว่าพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้วลูกจะมีปมไหม จะมีหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณสร้างทัศนคติให้เขายังไง สิ่งที่พี่รู้สึกว่าเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กแย่คือคนที่เป็นพ่อหรือแม่ไปเสี้ยมลูกให้เกลียดอีกฝ่าย
แล้วมันทำให้เกิดอาการซึมเศร้ายังไงฮะ
ปกติแล้วตอนที่เด็กเกิดมาตามธรรมชาติ เขาจะรักพ่อรักแม่ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ การเป็นคนที่เลี้ยงลูกคนเดียว ไม่คุณพ่อก็คุณแม่อาจทำบางอย่างที่ไม่ถูกต้องต่อกัน แต่อย่าไปสรุปว่าใครคนนึง คือ คนเลวแล้วจะเลวกับลูกด้วย แล้วพอเราไปเผลอเสี้ยมลูกให้ไม่รักพ่อหรือแม่ ไม่เคารพในความเป็นพ่อหรือแม่ สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลเยอะมาก เหมือนกับตอนที่แล้วเราพูดเรื่องกลัวผู้ชาย กลายเป็นว่าพอเขาอยู่กับพ่อ พ่อทำสิ่งที่ดี เขาอยากจะรักก็รักไม่ได้ เพราะพอกลับมาแม่ก็บอกว่าพ่อเป็นคนไม่ดี แล้วเขาก็รู้สึกไขว้เขวกับชีวิต ไม่รู้จะไปคุยกะใคร เพราะตอนนั้นเขาก็ยังเด็ก หรือยังเป็นวัยรุ่นที่ยังไม่เข้าใจบางอย่าง ท้ายที่สุดมันกลับไปลึกมากในระดับจิตใต้สำนึกที่รู้สึกว่า ฉันเป็นคนที่ไร้ค่า ฉันไม่สามารถมีพ่อหรือแม่ที่รักฉัน
สมมติว่าแม่เลี้ยงเดี่ยวเสี้ยมพ่อ คุณแม่โดยส่วนใหญ่ที่เสี้ยมลูกไม่ให้รักพ่อก็มักจะมีความก้าวร้าวพอสมควร เพราะฉะนั้นจะมีสัญญาณอยู่แล้วว่าเขามักจะใช้ความรุนแรงบางอย่างไม่กายก็วาจากับลูก
สมมติพี่เรียกลูกกินข้าวแล้วสามีเอาขนมมาให้ลูกกิน เวลาที่ลูกกินขนมเขาควรจะมีความสุข แต่แม่เขาดูทุกข์ดูเครียด แล้วก็ไปตำหนิพ่ออย่างรุนแรงราวกับว่าพ่อกำลังยื่นยาพิษให้ลูก มันมีความย้อนแย้งนะในระดับของพลังงานน่ะ ลูกยื่นมือขวาไปรับขนมจากพ่อ กำลังจะได้รับพลังงานที่เรียกว่าความรัก แต่พอหันมาทางแม่ แม่กำลังส่งพลังงานที่เหมือนกับว่าพ่อกำลังทำร้ายฉัน มันทำให้ลูกรู้สึกว่า เฮ้ย…อันนี้เรียกว่าความรักไหม คือเด็กเขาไม่ได้คิดนะ แต่มันเป็นความรู้สึกที่ย้อนแย้งว่าคนนี้รักเราไหม ฉันกำลังมีความสุขแต่ทำไมคนนี้ถึงบอกว่าอีกคนกำลังทำผิดกับฉัน แล้วท้ายที่สุดเด็กไม่ได้มีโอกาสที่จะรับรู้ความรู้สึกของความรักอันบริสุทธิ์
คิดดูว่ากับแค่กินขนม เราก็เห็นพลังงานความขัดแย้งอันนี้แล้ว พอเติบโตมาด้วยความสับสน ตีกันแบบนี้แล้วจัดการไม่ได้ ท้ายที่สุดพลังงานหรืออารมณ์ลบๆ ที่เกิดจากความคิด คิดไปคิดมา คิดวนไปวนมาจนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีค่า ไม่เคยได้รับความรักที่แท้จริงจากใคร ท้ายที่สุดมันค่อยๆ บ่มเพาะความเศร้าไปทีละนิดๆ รู้สึกว่าตัวเองอ้างว้าง พอวันหนึ่งที่เกิดเหตุอะไรขึ้น ก็ได้โอกาสเลย เซลล์มันซัดตูม! เรียกอาหารของความเศร้า แล้วก็ได้โอกาสในการสร้างวงจร แล้วมันก็วนคิดๆ จนเกิดอย่างนี้
พี่ไม่ได้บอกว่าเราจะต้องรักกันทุกครั้ง ต้องเข้าใจกันที่สุด เราเป็นธรรมชาติของเรานี่แหละ ทะเลาะกันได้ แต่ทะเลาะด้วยเป้าหมายที่โอเค เราเข้าใจความรักบางอย่างที่แท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้กันเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่ากดอารมณ์และปฏิเสธอารมณ์ไปเรื่อยๆ ลูกไม่สบายใจ
ปั้นลูกให้เก่ง
ต่อกันที่อีกหนึ่งอาการที่ใกล้เคียง พ่อแม่ทุกยุคทุกสมัยก็คงอยากลูกตัวเองเก่งๆ ตั้งใจปั้นลูกเก่งๆ เรียนเก่งๆ ครูณามีเคสมาแบ่งปันให้เราพอเห็นภาพไหมครับว่าอาการที่สร้างเขาให้เป็นคนเก่งที่สุด มันสร้างความทุกข์อะไรในระยะยาวให้เขาบ้าง
พี่คิดว่าเวลาที่พ่อแม่ต้องการปั้นลูกให้เก่ง ถ้าเขาทำได้ถูกวิธีหรือทำภายใต้ขอบเขตที่เข้าใจเด็กจริงๆ มันก็โอเคนะ เพียงแต่ว่าเราเข้าใจลูกเราจริงๆ หรือเปล่า เนื่องจากเวลาที่เราต้องการปั้นลูกให้เก่งเนี่ย สิ่งที่พ่อแม่มีภาพอยู่ในหัวนั้นคล้ายกับว่ามันมีเส้นทางเดียวที่อยากให้ลูกเดินบนเส้นทางนี้ แล้วทางอื่นแทบจะไม่ใช่เลย เช่น ลูกจะต้องเรียนหมอ ลูกจะต้องจบแบบนี้แล้วทำแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่เห็นความเป็นตัวลูกเลยว่าลูกเราอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทางนี้นะ ลูกเราอาจจะเกิดมาเพื่อเป็นทางอื่นก็ได้ หรือในวันที่เราพยายามให้รางวัล แล้วก็พยายามที่จะเชียร์ลูกเพื่อให้ไปในเส้นทางเดียวของเรา จนกระทั่งลูกเขาก็รู้สึก อืม…ทำแบบนี้แล้วแม่รักนะ ทำแล้วก็ได้รางวัล ลูกก็ทิ้งอย่างอื่นของชีวิตมาเพื่อที่จะทำสิ่งที่สอดคล้องกับสิ่งที่พ่อแม่อยากได้ แล้วก็ขับเคลื่อนตัวเองแบบนั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเรากำลังฝึกเด็กให้ใช้ชีวิตโดยที่ฟังแต่เสียงคนอื่น ทำตามแต่เสียงของคนอื่น เขาไม่เคยได้กลับมาที่ข้างในของเขา กลับมาที่จิตใจของเขา เท่าทันความคิด เท่าทันอารมณ์เขา เขากลับมาน้อยมาก เพราะเนื่องจากในแต่ละวันพ่อกับแม่มีเส้นทางนี้แล้วที่ต้องการให้ลูกเดิน ลูกก็จะไม่สามารถกำหนดตัวเองเพื่อที่จะทำอย่างอื่นได้ หรือพยายามที่จะบริหารจัดการตัวเอง หรือบางทีเขามีความฝันอื่นที่จะทำ แต่พ่อแม่ไม่อนุญาต ผลลัพธ์ของโรคปั้นลูกให้เก่งมันเยอะมาก
พี่เคยเจอเคสที่ว่า ‘ทำให้ก็ได้’ อยากให้เรียนก็เรียนให้ แต่พอเรียนจบเขาก็เอากระดาษแผ่นหนึ่งมาให้แม่ แล้วก็บอกว่า ‘ทำให้แล้วครับ ต่อไปนี้ชีวิตเป็นของผม’ แล้วแม่ได้อะไรเวลาที่ลูกทำให้ขนาดนี้? เราเรียกว่า เผาเวลาในชีวิตช่วงต้นของลูกที่มีความหมายทิ้งเลย แทนที่เขาจะเอาเวลาตรงนั้นไปบ่มเพาะศักยภาพของเขา หรือรู้สึกภูมิใจกับชีวิตของเขาในสิ่งที่เขาเป็น เรากลับทำให้เขาทิ้งทุกอย่างของความเป็นตัวเขามา เพื่อกระดาษแผ่นนี้มาให้แม่
พี่เคยเจอเคสที่รุนแรงที่ว่า เขาพยายามทำให้แม่ทุกอย่าง พยายามเก่งทุกอย่าง แต่ท้ายที่สุดแล้วตัวเองไม่ไหว จัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้ แล้วก็เกิดความซึมเศร้ารุนแรงถึงขนาดทำร้ายตัวเอง นี่เป็นโศกนาฏกรรมของครอบครัวนะ ที่เราพยายามจะขีดเส้นให้กับลูกแล้วบอกว่านี่คือการกระทำด้วยความรัก เราอยากให้ลูกทำแบบนี้ๆๆ เรียนแบบนั้น ใช้ชีวิตแบบนี้ ก็มันดีสิ ลูกจะได้มีอาชีพที่มั่นคง ลูกจะได้มีชีวิตที่ดี แต่ชีวิตที่มั่นคงและดีมันต้องเกิดจากข้างใน การทำงาน อาชีพ มันคือชีวิตของลูกไม่ใช่ของเรานะ
เม้งนึกออกไหมว่าเวลาที่เราทำงาน ถ้าเราได้ทำงานที่สนุกและมีความสุข มันมีพลัง อยากทำ ตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่นอยากทำนู่นทำนี่ แต่พอเวลาที่เราไม่ได้มีความชอบหรือมีความรักกับมัน พอวันหนึ่งหมดไฟ หมดแรง พอถึงตอนนั้นมันก็ไม่อยากทำอะไรแล้ว
แต่พี่ก็จะเจอเคสที่ทำแบบนี้แล้วก็ทำได้ดีก็มีนะ แต่พอช่วงวัยสักประมาณ 30 กว่าปีก็จะเริ่มสะดุด แล้วก็รู้สึกว่า ฉันเกิดมาเพื่อเป็นใคร ทำไมวันนี้ไม่อยากทำงานเลย ทำไมวันนี้ฉันถึงไม่ชอบงานนี้เลย ทั้งที่บางทีทำได้ดีนะแต่รู้สึกอยากหยุด แล้วก็ไม่อยากไปต่อแล้ว แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองว่างเปล่า
แล้วก็จะเจอเด็กอีกเคสที่เรียนเก่ง หัวโต แต่จิตใจว่างเปล่า ไม่มีความเข้าใจคนอื่นเลย เนื่องจากพ่อแม่เลี้ยงดูเขาในเส้นทางเดียว โดยที่เขาไม่เคยได้รับความเข้าใจ เพราะฉะนั้นเขาก็กลายเป็นเด็กที่ไม่เข้าใจคนอื่น พอไม่เข้าใจคนอื่นชีวิตมันยากขึ้นนะ อยู่กับใครก็ไม่ได้ ทำงานกับใครก็ทะเลาะกับเขา แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าแปลกแยก แล้วเด็กเหล่านี้ก็จะไม่เข้าใจด้วยนะว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากตัวเขาเอง คิดว่าคนอื่นก็เป็นแบบนี้
คือในในโรคปั้นลูกให้เก่งนี่มันเยอะมาก บางทีมีความเสียหายถึงขนาดที่กลายเป็นโรคซึมเศร้าที่เขาก็เลิกที่จะมีชีวิตอยู่
ดูรุนแรงนะครับและฟังแล้วดูเหมือนเป็นปัญหาระดับประเทศเหมือนกันนะ การมี Mindset ว่าลูกจะต้องเก่ง เรียนเก่ง สุดท้ายจะเป็นปัญหาการแนะแนวคือ ไม่รู้จักตัวเองแล้วก็ถูกผลักไปเรื่อยๆ จากค่านิยมของสังคม รวมถึงของพ่อแม่ด้วย คือเรียนเพื่อพ่อแม่ ซึ่งผมว่าผมเองก็เป็นโรคนี้นะครับ ไม่ค่อยรู้จักตัวเอง บางทีถ้าไม่รู้คุณค่างานที่ตัวเองทำก็จะเคว้งคว้างเล็กน้อย มันก็อาจจะส่งผลไปถึงอาการซึมเศร้า ทีนี้ ณ เวลานี้มันเกิดขึ้นแล้ว แก้ยังไงดีฮะ
สิ่งที่พ่อแม่ต้องเข้าใจคือ เด็กที่เรียนเก่งผ่านการอ่าน ผ่านตัวหนังสือ ความจริงมีประมาณ 10% บนโลกใบนี้เองนะ แต่อีก 90% เรียนรู้ผ่านวิธีทางอื่น เช่น บางคนถนัดฟัง หรือถนัดขยับร่างกาย ถนัดดนตรี ศิลปะ มันไม่ใช่ว่าเราจะต้องมุ่งหวังว่าลูกของเราต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เรามักคิดว่าลูกเราปั้นได้ กว่าเราจะรู้ผลลัพธ์ก็เมื่อตอนที่เขาอายุเยอะแล้ว แล้วปรากฏว่าถึงตอนนั้นเขาจัดการชีวิตเขาไม่ได้ สิ่งที่พี่พยายามจะบอกกับคุณพ่อคุณแม่มากๆ คือ ในเมื่อเรารักลูก เราทุ่มเทชีวิตกับเขา เราทำอะไรให้เขาเยอะมาก หนักมาก เหนื่อยมาก เราควรจะได้ผลลัพธ์ที่มีความหมาย อย่าเลี้ยงลูกด้วยความหนักมาก เหนื่อยมาก แต่ท้ายที่สุดเราได้ความโศกเศร้า โศกนาฏกรรม หรือว่าความเลวร้ายมันเกิดขึ้นในชีวิต สิ่งเหล่านี้บางทีเราโทษว่าลูกไม่ดี แต่ความจริงแล้วมันคือผลลัพธ์บางอย่างนะ ที่เราจำเป็นที่จะต้องกลับมาทบทวนตัวเอง