- เมื่อโรคทางกายบางโรคไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคภายนอก แต่มาจากเชื้อโรคที่อยู่ในใจของเรา ซึ่งรับมาผ่านการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง
- โรคพ่อแม่ทำตอนที่ 6 จะยกเคสโรคทางกายที่เกิดจาก ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ได้แก่โรคภูมิแพ้ การขับถ่าย และระบบทางเดินอาหาร
การพูดคุยในตอนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ ‘โรคแม่ทำ’ ของสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน เขียนโดยนายแพทย์คิวโทกุ (ศ.นพ.ชิเงโมริ คิวโทกุ) เขาเล่าว่า มีเคสคนญี่ปุ่นป่วยด้วย ‘โรคพ่อแม่ทำ’ จำนวนมาก ในหนังสือคุณหมอบอกไว้ชัดเจนว่า โรคเหล่านี้เป็นเหมือนโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย อาจเพราะหาสาเหตุการป่วยไม่ได้แม้ว่ายุคนี้เรามีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสำหรับช่วยในการรักษาเยอะมาก แต่โรคเรื้อรังเหล่านี้กลับรักษาไม่หาย ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น โรคที่เด็กยุคนี้เป็นกันเยอะอย่างโรคภูมิแพ้ เด็กเป็นหวัดง่ายขึ้น วิธีแก้แม่ก็ไม่รู้ ไปหาหมอๆ ก็เพิ่มยาไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นดื้อยา ส่งผลพวงต่อเนื่องเยอะแยะไปหมด
ซีรีส์ ‘โรคที่เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่’ เราจะมาขยายให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้นว่า ‘โรคพ่อแม่ทำ’ แสดงออกเป็นอาการทางกายและทางใจอย่างไรบ้าง ผ่านการยกเคสโรคต่างๆ เพราะบางทีตัวเราเองอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า โรคที่เราเป็นอยู่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคข้างนอก แต่เป็นเชื้อโรคที่อยู่ในใจเรา เป็นผลจากการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครู โดยตอนที่ 1 เราจะเริ่มกันที่โรคภูมิแพ้ การขับถ่าย และระบบทางเดินอาหาร
บทความนี้ถอดความมาจาก Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ตอนที่ 6 ความรักทำร้ายลูก 1 ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์
รับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่นี่
โรคภูมิแพ้
เคสแรกที่หนังสือยกมา เป็นเคสเด็กชายคุนิโอะป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ผมขอเล่าโดยรวบรัดนะครับ เขาเป็นเด็กที่ร่างกายอ่อนแอ เป็นหวัดง่าย รักษาเท่าไรก็ไม่หาย จนแม่พาไปรักษากับคุณหมอคิวโทกุ วิธีรักษาง่ายมาก คุณหมอให้เด็กรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล อยู่ห่างจากแม่ แล้วอาการเด็กดันดีขึ้น ฟังดูเจ็บปวดนะเด็กชายคุนิโอะหายจากโรคภูมิแพ้เพราะอยู่ห่างจากแม่ เพราะเขาได้มีโอกาสเล่นกับเด็กตามปกติ ได้เรียกความมั่นใจบางอย่างกลับมา
ทีนี้ก็เลยอยากจะชวนครูณาคุยว่า ในเมืองไทยก็มีคนป่วยเป็นโรคภูมิแพ้เยอะนะ ทัวร์อาจจะลงถ้าเราจะบอกว่าโรคอย่างนี้บางทีมันก็ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แล้วบางทีหมอเองก็รักษาไม่ได้ อยากให้ครูณาช่วยเล่าเคสที่ครูณาเคยเจอว่า เด็กที่เกิดมาแล้วป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ เป็นไซนัส เกิดจากการเลี้ยงดูแบบไหน?
ก่อนจะเข้าเรื่อง พี่เป็นห่วงความรู้สึกของพ่อแม่ที่กำลังฟังอยู่ คือเราไม่ได้พูดประเด็นนี้เพื่อให้พ่อแม่ฟังแล้วรู้สึกผิด รู้สึกแย่กับตัวเองนะ เพราะพี่ก็เป็นคนหนึ่งที่วาดภาพฝันว่าอยากให้ลูกของเราเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ พี่ก็เคยมีการจัดการลูกคนแรกที่ผิด แต่พี่อาจโชคดีตรงที่พอถึงวันที่เราเริ่มรู้สึกว่าลูกเราทุกข์ พี่ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองทันที กลายเป็นว่าพอเราเรียนรู้มากขึ้น ข้อมูลที่เราได้รับมันทำให้พี่รู้สึกว่าพี่ต้องตื่น เหมือนเราใช้ชีวิตโดยที่เราไม่รู้ แล้วความไม่รู้ของเรามันก็ทำให้ชีวิตยากมากขึ้น
พี่เรียนลงลึกถึงเรื่องจิตวิญญาณมนุษย์ จนพี่เข้าใจว่า เฮ้ย… ด้วยสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูแบบไหนที่จะทำให้เด็กเติบโตมาอย่างแข็งแรง แล้วความแข็งแรงทางด้านจิตวิญญาณมันดีอย่างไร พี่ก็พบว่าความเจ็บป่วยของร่างกายมนุษย์ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์มันเกิดจากจิตใจ ส่วนที่เป็นความเจ็บป่วยจริงๆ คือมาจากอุบัติเหตุ เพราะมันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น อาการเจ็บป่วยทางกายหลายโรค หรือโรคเรื้อรัง 90 เปอร์เซ็นต์ คือ มาจากจิตใจ
วันนี้พี่อยากให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ว่า ถ้ามันเกิดเรื่องแบบนี้กับลูกของเราไปแล้ว พี่อยากให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเลยว่าเราโชคดีที่วันนี้เราได้รู้จักองค์ความรู้นี้แล้ว อาจจะลองฟังเพื่อไปพิจารณาแล้วหาความรู้เพิ่มเติม เพราะว่าฟังแค่ 2 – 3 ตอน คงทำให้คุณพ่อคุณแม่แก้ไขปัญหาทั้งหมดไม่ได้ ลองหาความรู้เพิ่มเติม ทำความเข้าใจในเชิงของ spiritual หรือจิตวิญญาณจริงๆ เราจะแก้ไขปัญหาของลูกได้ แล้วมันทำให้เรามีพลังชีวิตสูงมากด้วยนะ ทั้งเราและลูกเราก็จะกลายเป็นคนที่แข็งแรงแบบสุดๆ เพราะเมื่อก่อนตัวพี่เป็นคนที่เครียดแล้วเราก็ไม่ค่อยเข้าใจชีวิต พี่จะป่วยทุกเดือน แต่พอเราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ตัวเราก็แข็งแรงขึ้น
เพราะฉะนั้น พี่ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ฟังแล้วรู้สึกว่า แย่จัง แต่เป็นฟังแล้วรีบลุกขึ้นมาตั้งหลักหาความรู้ แล้วจัดการให้ดี ซึ่งตรงนี้เราก็จะกลับมาที่คำถามของเม้ง เรื่องโรคทางลมหายใจ อาการหอบหืด
โรคฮิตที่เราเห็นคนเป็นกันง่ายขึ้น คือ โรคภูมิแพ้ บางคนอาจจะโทษว่าเป็นเพราะอากาศ แต่จริงๆ อากาศอาจจะเป็นสาเหตุแค่ส่วนหนึ่งถูกไหมครับ?
โรคภูมิแพ้แบ่งเป็น 2 แบบคือ ภูมิแพ้ทางกายกับภูมิแพ้ทางใจ เม้งอยากเริ่มโรคภูมิแพ้ทางกายหรือทางใจก่อนล่ะ?
เอาทางกายก่อนละกันครับ ถึงจะเกิดทางกายแต่ว่าก็มีสาเหตุมาจากจิตใจใช่ไหมครับ? ผมอยากเสริมที่ครูณาพูดไปเมื่อสักครู่ว่า อยากให้พ่อแม่ฟังแล้วคิดว่าโชคดีมากกว่า เพราะบางโรคไปหาหมอรักษา กินยาเท่าไรก็ไม่หาย อาจจะเพราะมันไม่ใช่สาเหตุจริงๆ ซึ่งถ้ารู้วิธีแก้อาจจะง่ายกว่านั้น
พี่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตว่า ถ้าเราพาลูกไปรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน ลูกโดนเพิ่มปริมาณยาแต่ไม่หายสักที จริงๆ มันควรจะเป็นการรักษาที่ลูกต้องหายแล้วถูกไหม? แต่ถ้าไม่ แสดงว่าเรารักษาไม่ตรงสาเหตุ ถ้าเราเจอสาเหตุแปลว่าเราโชคดี อย่าไปรู้สึกว่า โอ้โห…เราแย่จัง แต่ให้รู้เลยว่าสิ่งที่เกิดในอดีตเกิดจากความไม่รู้ และตัวเราก็ทำดีที่สุดแล้ว แต่วันนี้เราจะเริ่มต้นใหม่ด้วยความรู้
ที่เม้งบอกว่า เป็นโรคทางกายแต่สาเหตุมาจากจิตใจ พวกโรคทางลมหายใจ หรือโรคหอบหืด เม้งเคยได้ยินคำว่าปอดแหกไหมล่ะ? อาการมันเกิดจากอะไร
ความกลัวไหมครับ?
ใช่ โรคทางลมหายใจโดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากจิตใจ มักจะเกิดกับเด็กในวัยเล็กๆ มาจากการเลี้ยงดูของคุณแม่ แต่คุณพ่อก็มีผลที่ทำให้เกิดอาการของคุณแม่เนอะ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพ่อฟังอยู่ก็ต้องเข้าใจว่า คุณพ่อก็มีส่วนสำคัญมากๆ ในการดูแลจิตใจของคุณแม่
โรคนี้เกิดจากความวิตกกังวลและความกลัวที่สูงมาก ส่งผลทำให้ปอดไม่แข็งแรง เด็กที่เป็นโรคพวกนี้ก็จะมีคุณแม่ที่บางทีเน้นเรื่องความสะอาด มีความระมัดระวัง มีความวิตกกังวล กลัวนู่นกลัวนี่สูงเต็มไปหมด พอเด็กเริ่มสะสมความกลัวหรือความวิตกกังวลที่มาจากแม่ หรือคนที่เลี้ยงเขา ก็ส่งผลต่อระบบทางลมหายใจของเขา ทำให้เขาหายใจยาก สิ่งที่เกิดขึ้น คือ พอเขาเกิดอาการ แม่ก็ยิ่งกลัว ทำให้ยิ่งจัดการละเอียดเข้มงวดขึ้น กลายเป็นบ่มเพาะปลูกฝังให้เด็กรู้สึกว่า เขาคือคนที่อ่อนแอ เขาคือคนที่แพ้นู่นแพ้นี่แพ้นั่น ยิ่งถ้าเขาคิดแบบนี้ อาการแพ้ของเขาจะรุนแรงมากขึ้น
เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เกิดจากคนที่รู้สึกถึงความวิตกกังวล กลัวความสกปรก กลัวที่จะรับนู่นรับนี่ แต่ความเป็นจริงแล้วเชื้อโรคมันอยู่ในธรรมชาติ และจะค่อยๆ ซึมเข้าสู่ร่างกายเรา เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานบางอย่างให้กับลูกนะ
พี่ขอยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ แต่ก่อนสิงคโปร์สภาพบ้านเมืองเขาจะเต็มไปด้วยคอนกรีต แต่มายุคหลังๆ ต้นไม้เยอะขึ้น เพราะเขาประกาศว่าจะทำให้สิงค์โปรเป็นประเทศสวนสาธารณะใหญ่ที่สุดในโลก สาเหตุอีกอย่าง คือประมาณ 20 ปีที่แล้วสิงค์โปรมีเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปากจำนวนมาก แล้วป่วยทีหนึ่งทำเด็กตายได้เลยนะ ถือเป็นโรคร้ายแรง สิงคโปร์เขาก็เริ่มสังเกตว่า เอ๊ะ! แล้วทำไมคนบางประเทศเป็นแล้วโรคนี้ถึงไม่ร้ายแรง เขาก็ค้นพบว่า เด็กประเทศเขาอยู่แต่กับคอนกรีต ไม่เคยได้จับดินจับทราย หรือจับอะไรที่เป็นธรรมชาติ ทำให้ไม่มีภูมิต้านทานข้างใน ดังนั้น พอเจออะไรที่เป็นเชื้อโรคก็ทำให้มือลอก และยิ่งไม่มีภูมิต้านทานก็กลายเป็นเชื้อโรคลุกลามได้เร็ว
พอรู้ว่า นี่คือสาเหตุที่ทำให้เด็กของเขาตายด้วยโรคมือเท้าปาก ขณะที่เด็กไทยบ้านเรานั่งลอกมือเล่นๆ ก็ไม่เป็นไร ทำให้รู้เลยว่าถ้าเกิดโรคนี้กับเด็กไทยคนไหน แปลว่าเด็กคนนั้นอาจถูกเลี้ยงดูด้วยความสะอาดมากเกินไป
เพราะเด็กเขาเป็น Indoor Generation ไม่ได้ออกไปไหน
ใช่ ไม่ได้เล่นทรายที่ทะเล ไม่ได้เล่นสนามหญ้าเลย พอทำงานวิจัยรู้สาเหตุปุ๊บ สิงคโปร์ก็จัดการรื้อคอนกรีต สร้างสภาพแวดล้อมใหม่ โรคนี้ก็ค่อยๆ หายไป
เพราะฉะนั้น เวลาที่วิตกกังวลแล้วเราไปมุ่งแก้ปัญหาเรื่องความสะอาดมากเกินไป เช่น เด็กยิ่งป่วยยิ่งต้องสะอาด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราบ่มเพาะความอ่อนแอให้เด็ก จนกระทั่งเด็กมีบุคลิกภาพบางอย่าง เช่น จะเรียนว่ายน้ำ แต่ลูกเล่นไม่ได้ ได้แต่นั่งหงอยดูคนอื่น บุคลิกภาพนี้มันกลายเป็นความอ่อนแอที่คนจะรู้สึกว่า ไอนี่มันป่วยบ่อย ไอนี่มันไม่มีแรง คือยิ่งคิดแบบนี้เขาก็ยิ่งเป็นๆๆ หนักกว่าเดิม
เหมือนเคสเด็กชายคุนิโอะ ที่พอแม่ไปห้ามเขาทำนู่นทำนี่ เขายิ่งรู้สึกว่าอ่อนแอ ความมั่นใจหายไป
ใช่ มันคือ Sense of Touch เด็กเกิดมาเขายังไม่รู้จักตัวเองด้วยซ้ำ เด็กจะคิดว่าตัวเองกับโลกใบนี้คืออะไรผ่านการสัมผัส ซึ่งถ้าตอนท้องแม่มีความรู้สึกที่ดี ลูกก็จะเกิดมาด้วยความมั่นคง แต่ถ้าแม่เต็มไปด้วยความกลัว พอลูกเกิดมา แม่ก็เลี้ยงดูเขาโดยที่เต็มไปด้วยความกลัว เด็กรับพลังงานความกลัวของแม่ผ่านการสัมผัส (touch) ทำให้เขามองว่าโลกใบนี้น่ากลัว และฉันต้องระมัดระวังอะไรเยอะมากในการอยู่บนโลกใบนี้ แล้วมันกลายเป็นพลังงานในชีวิตของเขานะ หรือถ้าเด็กบางคนถูกเลี้ยงดูด้วยความรุนแรง ถูกตี ทุกการสัมผัสมีแต่ความรุนแรง เด็กคนนี้ก็จะมีแนวโน้มสูงมาก เกือบ 100% โตมาเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง
เพราะฉะนั้นสัมผัสแรกที่ลูกได้รับจากแม่ ถ้าเต็มไปด้วยความวิตกกังวล พอเขาเกิดมามันเหมือนไม่มีพลังชีวิต รู้สึกว่าอะไรก็ตามในโลกใบนี้ที่เข้าไปสู่ฉัน มันต้องทำให้ฉันเจ็บปวด เมื่อเด็กมีความรู้สึกข้างในตัวเองแบบนี้ มันก็บ่มเพาะความรู้สึกนี้ออกมาเป็นโรค
แล้ววิธีแก้ภูมิแพ้ที่เกิดจากสาเหตุแบบนี้เราต้องทำอย่างไร ต้องเพิ่มความมั่นใจให้เขาไหมครับ?
ใช่ เคยมีคุณแม่คนหนึ่งปรึกษาพี่ว่าลูกเป็นภูมิแพ้ ตอนนี้ต้องเรียนว่ายน้ำ แต่ไม่อยากให้ลูกลงว่ายเลย เราก็บอกว่า ถ้าแบบนี้เขาก็จะกลายเป็นภูมิแพ้ที่นั่งอยู่ริมสระดูเพื่อนว่ายน้ำ ทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนวิธีคิดกับลูกใหม่ แทนที่จะเอาอาการป่วยของลูกเป็นตัวตั้ง แต่เป็น ‘ลูกฉันจะต้องเป็นเด็กที่แข็งแรง’ ‘ลูกฉันจะต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้’ ‘ลูกฉันจะได้เล่นอย่างสนุกสนานบนโลกใบนี้’ ‘ลูกฉันไม่ใช่เด็กเปราะบาง’ ‘ลูกฉันเป็นเด็กที่แข็งแรง แล้วฝึกให้เด็กกลับมาสังเกตตัวเอง’
เช่น เวลาให้ลูกกินอะไร คุณแม่อย่าเป็นคนไปบอกว่า ‘ลูกกินอันนี้ไม่ได้ ลูกกินแล้วจะเป็นอย่างนี้’ ให้ลูกเป็นคนรู้สึกและบอกเอง แต่ไม่ต้องถึงขั้นให้ลูกลองอะไรที่มันร้ายแรงมากๆ นะ เอาที่มันทั่วๆ ไป เรากำลังฝึกให้เขาสังเกตตัวเอง กินแล้วรู้สึกยังไง ถ้ารู้สึกไม่ดีก็บอกแม่ ฝึกจัดการตัวเอง โดยที่แม่ไม่ต้องเข้าไปจัดการห้าม
จริงๆ เด็กช่วง 0 – 7 ขวบ เรามักพูดกันบ่อยๆ ว่า เป็นช่วงที่เด็กควรจะกลับมารู้สึกกับตัวเอง ‘กินแล้วไม่ดีเลยแม่ ไม่ชอบ’ อย่าไปบอกลูกว่า ‘กิน อันนี้มันดี มันมีประโยชน์ อันนี้ไม่มีประโยชน์ไม่ต้องกิน’ เพราะการที่เราเลี้ยงลูกแบบนี้ แปลว่าเราไม่เคยให้ลูกฟังความรู้สึกตัวเองเลย
เหมือนพ่อแม่ไม่ได้ปล่อยให้ลูกได้ลอง แต่เราไปเป็นคนจัดการแทน
ใช่ เราใช้ความคิดของเราในการเลี้ยงดูเขา สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เขาต้องฟังเสียงเราตลอด เขาไม่เคยฟังเสียงความรู้สึกของตัวเอง
พี่เลยบอกกับคุณแม่ท่านนั้นว่า ลองให้ลูกเล่นน้ำ ปล่อยให้เขาสังเกตตัวเองว่าถ้าไม่ไหวก็ขึ้นมา ส่วนตัวเราก็อยู่กับความรู้สึกที่ปฏิบัติต่อลูกว่า ลูกแข็งแรง ลูกอยู่กับสังคมได้ อันนี้แม่ต้องเยียวยาตัวเองเลยนะ เยียวยาความวิตกกังวล ความเปราะบางในวัยเด็กของเขา เพราะในตอนแรกของรายการที่เราเคยคุยกันว่า คุณแม่เองก็เกิด ‘โรคแม่ทำ’ มาตั้งแต่รุ่นคุณย่าคุณยาย ส่งผลต่อตัวคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็ส่งผลต่อลูกอีกที ดังนั้น การที่เราจะเข้าใจและตัดวงจรพวกนี้ได้ แม่ต้องฝึกที่จะเรียนรู้และหลุดจากความวิตกกังวลให้ได้ จะไปปฏิบัติธรรม หรือเรียนทางด้าน Spiritual ทำความเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณก็ได้
ไปฝึกจิต เข้าสายธรรมะแม่บางคนอาจจะไม่ถนัด อาจต้องใช้วิธีค่อยๆ ขยับถอยออกมาทีละนิดๆ ถ้าตัวเรายังกลัวอยู่ก็ค่อยๆ ถอยออกมา แสดงว่าความกลัวของแม่ถือเป็นเชื้อภูมิแพ้ให้ลูก
ใช่ ถือเป็นเชื้อโรคชั้นดีเลย เพราะเรากลัวมากไป อย่างพี่เลี้ยงลูกคนแรกนี่ก็ Sterile (ฆ่าเชื้อ) ของทุกอย่างเลยนะ
ทุกวันนี้ผมยังงงว่า เราต้องซื้ออุปกรณ์เลี้ยงลูกเยอะขนาดนี้เลยเหรอ แล้วของทุกชิ้นต้องสะอาดมาก ต้องใช้สำลีเช็ดทุกอย่าง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็ไม่เป็นกันนะ แต่ด้วยความเป็นพ่อแม่ อะไรดีที่สุดเพื่อลูกเราก็จัดไป
ใช่ พอพูดถึงจุดนี้พี่ก็จะพาเข้าไปสู่ภูมิแพ้ทางกายเลย อย่างเช่น โรคทางผิวหนังต่างๆ พวกผดผื่น
จริงๆ เราไม่ได้เริ่มรักลูกตอนที่เขาคลอดออกมาหรอก แต่เรารักเขาตั้งแต่อยู่ในท้อง ตั้งแต่วันแรกที่เรารู้เรื่องเขา แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนหวังให้ลูกได้แต่สิ่งดีๆ อะไรที่ดีที่สุดเพื่อลูกเราก็จัดให้ทันที แม้กระทั่งวันเกิดลูก ก็ไปเปิดปฏิทินดูฤกษ์ วันนี้วันดีเหมาะกับลูก แต่วันนั้นแม่อาจยังไม่ได้ปวดท้องคลอด ยอมผ่าคลอดแทน มันจะส่งผลอะไรกับเด็กไหมครับ?
คนที่เบ่งคลอด เขาจะเจ็บแค่ช่วงที่คลอดนั่นแหละ หลังจากนั้นแป๊บเเดียวเขาก็เดินปร๋อละ แต่คนที่ผ่าคลอด… ตัวพี่เองสมัยก่อนก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้หรอกว่า การผ่าคลอดมันใช้เวลาฟื้นฟูนาน เจ็บปวดเป็นปีๆ นะ เวลาพี่จามพี่จะเจ็บแผลชนิดที่น้ำตาไหลเป็นปี เดินได้ยาก แล้วการกระทำอย่างที่เราบอกว่าเรา ‘เลือกฤกษ์’
ให้ชีวิตลูกเฮงๆ แล้วมันไม่ดีกับลูกยังไงครับ
เอาเป็นว่าพี่อยากจะจบด้วยประโยคที่ว่า ฤกษ์ที่ดีที่สุด คือ การกระทำของเรา ความเฮงที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับลูกและชีวิตเรา คือการกระทำของเรา
การผ่าคลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาทดลอง เก็บประวัติ จนกระทั่งทางยุโรปเริ่มพยายามเอาวิธีคลอดทางธรรมชาติกลับคืนสู่วิถีชีวิตเรา เม้งลองนึกถึงดักแด้ที่ห้อยอยู่ตรงต้นไม้ รอวันที่จะเป็นผีเสื้อ ตัวดักแด้เมื่อถึงเวลาจะกลายเป็นผีเสื้อแล้ว มันจะค่อยๆ เริ่มดิ้นและพยายามฉีกเปลือกที่หุ้มอยู่ออกมาด้วยการสยายปีกของมัน ทีนี้ถ้าตัวมันเป็นผีเสื้อที่ไม่แข็งแรงพอ พอฉีกไปสักพักมันก็จะเหนื่อย นั่นแสดงว่าแกยังไม่แข็งแรงพอ ออกมาไม่ได้ เกิดรูตรงเปลือกที่หุ้มมันอยู่ ลมก็จะพัดเข้ามาโดนตัวมันทำให้ปีกแห้งและแข็งแรงขึ้น เมื่อมันแข็งแรงมากพอ ปีกของมันจะสยายปีกตัดดักแด้ให้ขาด นั่นคือความพร้อมทางธรรมชาติ
แต่เราที่เห็นดักแด้ต้องดิ้นรนออกจากเปลือก ไอการที่เราไปช่วยฉีกแบบนี้มันไม่ดียังไงเหรอครับ?
เพราะพอเราไปฉีกให้ ลมยังไม่ได้เข้าไปทำให้ปีกมันแห้งและแข็งแรง มันก็จะออกมาเป็นผีเสื้อที่พิการ คือ ไม่แข็งแรง บินยาก เพราะฉะนั้นทารกที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ ช่วงสภาวะที่เด็กจะต้องขับเคลื่อนตัวเอง เพื่อทะลุถุงน้ำคร่ำออกมาทางช่องคลอดเนี่ย มันควรเกิดจากความพร้อมของเด็กที่เขาพัฒนาผิวกายของตัวเองเต็มที่แล้วเมื่อตอนอยู่ในถุงน้ำคร่ำ การที่เขาต้องแทรกตัวผ่านช่องคลอดออกมา ระบบผิวหนังของเขาในทางธรรมชาติจะถูกกระตุ้น เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมที่จะออกสู่โลกภายนอก เป็นกลไกตามธรรมชาติว่า ถ้าเด็กยังไม่พร้อม เขาก็ไม่มาเคาะประตูหรอก
แต่พี่ไม่ได้พูดรวมไปทุกเคส เพราะอย่างบางเคสเด็กก็มีความเสี่ยงจริงต้องผ่าคลอดออกมา แต่กลายเป็นว่าที่เคสผ่าคลอดเยอะมากกว่าปกติ มาจากเราเลือกผ่าเพราะฤกษ์ แต่เด็กยังไม่มีความพร้อม พอไม่ได้ผ่านกระบวนการกระตุ้นตัวเองขณะออกจากช่องคลอด ไม่ได้มีการกระตุ้นผิวหนังด้วยนะ แล้วมันมีผลต่อแม่ด้วยนะที่จะส่งสัญญาณไปว่า เด็กกำลังจะออกมา เตรียมผลิตน้ำนมไว้เลย
มีงานวิจัยที่บอกว่า ทันทีที่เด็กคลอดออกมา ลมหายใจเฮือกแรกนั่นคือนาทีทอง เพราะเด็กจะสูดเอาเชื้อโรคทั้งหมดที่อยู่รอบๆ ตัวเข้าไป ไปปลุกระบบภูมิต้านทานในร่างกาย จงลุก จงเตรียมพร้อมที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมแบบนี้ๆ เพราะฉะนั้นภูมิต้านทานจะถูกสร้างในขณะที่เด็กหายใจในเฮือกแรก 15 นาทีแรก เป็นช่วงนาทีทองที่เด็กควรอยู่กับธรรมชาติจริงๆ องค์ความรู้นี้ถึงขั้นทำให้อาชีพหมอตำแยกลับมาใหม่นะ เขาต้องการให้เด็กคลอดที่บ้านด้วยซ้ำ เพราะที่บ้านเป็นที่ๆ เด็กจะเติบโต เพราะฉะนั้นนาทีแรกสูดเอาเชื้อโรคในบ้านเข้าไปให้หมด แล้วสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเสีย แล้วเด็กก็มีแนวโน้มแข็งแรง และได้ปรับตัว
เด็กที่ผ่าคลอด ถ้าเราลองไปเก็บประวัติดู มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคผิวหนังตอนช่วงวัยรุ่นสูงมาก ถ้าสมมติว่าพี่มีเคสมาปรึกษาเรื่องจิตใจของลูก แล้วพาลไปบ่นเรื่องโรคผิวหนังพุพองง่าย พี่ก็จะถามเป็นอันดับแรกเลยว่า ‘ผ่าคลอดหรือเปล่า?’ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดผ่าคลอด แม้กระทั่งลูกพี่เอง เพราะตอนนั้นพี่ก็ไม่มีความรู้ ช่วงวัยรุ่นลูกก็มีปัญหานี้ เพียงแต่พอพี่รู้เรื่องนี้มากขึ้นเราก็ปรับตัวใหม่ ลูกพี่ก็เลยเป็นโรคผิวหนังระยะสั้นๆ ตอนนี้เขาโอเค แต่ถ้าเราไม่เข้าใจแล้วปฏิบัติไม่ถูก เราใช้ยากดอาการ ใช้สเตอรอยด์ กลายเป็นโรคถูกตัดตอนที่จะเยียวยาตัวเอง เพราะฉะนั้นอาหารก็จะเป็นหนักขึ้นๆ เพราะเด็กไม่ได้เยียวยาด้วยตัวเอง
บางคนก็จะถามว่าแล้วเขาต้องแก้ยังไง? เราก็ต้องเข้าใจวิธีการดูแลเด็กตามธรรมชาติก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่พอพ่อแม่เห็นว่าลูกเป็นโรคผิวหนัง พ่อแม่จะยิ่งกันลูกออกจากธรรมชาติ
ตัวเป็นเม็ดๆ หมดละ ใส่เสื้อแขนยาวๆ เลย
เราควรให้เขากลับคืนสู่ธรรมชาติให้เยอะขึ้น เพราะธรรมชาติมันมีกลไกในการดูแลและเยียวยา เชื่อไหมว่าการให้เด็กวิ่งเท้าเปล่าบนสนามหญ้าช่วยได้เยอะมาก บางทีพี่ทำค่ายเราปล่อยให้เด็กไปเดินสนามหญ้า โอ้โห…เด็กเหยียบหญ้าแล้วตกใจ เหมือนเกิดมาไม่เคยเหยียบแบบนี้ พอเราให้เขาอยู่ตรงนั้นเยอะๆ กลายเป็นว่าเขาเริ่มรู้สึกดี แข็งแรงขึ้น ไม่ได้แข็งแรงแค่กายนะ เขาแข็งแรงใจด้วย แล้วเขารู้สึกกลมกลืนกับธรรมชาติมากขึ้น
กลับมาที่เรื่องสิงคโปร์ เขาเปลี่ยนเยอะมากนะ พี่เพิ่งไปสิงคโปร์ปีที่แล้ว ได้ไปพิพิธภัณฑ์ของเขา เขาถึงขั้นมีนโยบายว่า เด็กเล็กๆ 1 คน จะต้องมีต้นไม้ 1 ต้น แล้วเวลาที่ปลูก คุณก็จะดูแลมันจนกระทั่งโต ต้นไม้ก็จะเป็นประชากรคนหนึ่งในสิงคโปร์
เด็กเป็นคนปลูกต้นไม้ให้ประเทศ
ใช่ เขาจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้คือการกลับมาเยียวยาอาการที่เกิดจาก ‘โรคพ่อแม่ทำ’ เป็นวงจรที่ใหญ่มากเลยนะในสิงคโปร์ แต่พอเขาเปลี่ยนปุ๊บ เด็กกลับมารัก มาดูแลต้นไม้ เราก็จะไม่ค่อยเห็นข่าวเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก การปล่อยให้เด็กได้เผชิญธรรมชาติทีละเล็กทีละน้อยด้วยความวางใจ ความเชื่อใจ เพราะมนุษย์ก็เป็นธรรมชาติเนอะ ดังนั้น เราก็ต้องเชื่อใจให้ธรรมชาติดูแล
แล้วการที่เด็กได้อยู่กับธรรมชาติเยอะๆ ไม่ใช่ว่าธรรมชาติดูแลเขาอย่างเดียว เด็กก็เป็นคนที่ดูแลโลกใบนี้ด้วยนะ ดูแลสิ่งแวดล้อม สนใจเรื่องโลกร้อน ชอบอยู่กับธรรมชาติ ฉะนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ใช่แค่โรคผิวหนังหรือหอบหืด แต่เป็นความสำคัญในระดับจิตใจ
อย่างเคสเด็กจะว่ายน้ำ แต่แม่บอกว่า ‘ไม่ได้ๆ พอว่ายน้ำลูกจะเป็นไซนัส ลูกจะหายใจลำบาก’ พอเปลี่ยนลองค่อยๆ ให้เขาอยู่กับน้ำได้สังเกตตัวเอง ปรากฏว่าพอเขาลงน้ำได้ เขารู้สึกสนุก ก็ไปโปรแกรมชีวิตใหม่ว่า น้ำกับเขาเป็นมิตรกัน และการเล่นน้ำทำให้เขามีความสุข ทำให้เขาแข็งแรง โรคก็ค่อยๆ หายไป
เป็นหวัด ตัวเย็น น้ำมูกไหล มันไหลมาจากหัวใจเรานะ
ใช่ จริงๆ มันก็คือ ปอดนี่แหละที่เป็นตัวที่ทำให้เขาไม่แข็งแรง เพราะว่าปอด คือ จุดที่สะสมความรู้สึกของความวิตกกังวลแล้วก็ความกลัว เราถึงได้ยินคำว่าปอดแหกไง
ฉี่รดที่นอน (ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้)
มีอาการประเภทหนึ่งที่เด็กๆ มักจะเป็นกัน คือ การฉี่รดที่นอน อาการนี้มาจากพ่อแม่เคยไปทำอะไรกับเขาไหมครับ?
ช่วงที่ลูก 2 – 3 ขวบ ถ้าพ่อแม่มีสัมพันธภาพที่ดีกับลูก จะรู้เลยว่าช่วงนี้ลูกเริ่มจะปรับตัว เริ่มเรียนรู้ที่จะบอกว่าปวดฉี่ ปวดอึได้ละ แต่ถ้าเขาทำไม่ได้ ควบคุมการขับถ่ายของตัวเองไม่ได้ ก็มีแนวโน้มว่าเขาเกิดความรู้สึกตื่นกลัว ตกใจกับความรุนแรงบางอย่างที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก
สมมติถ้าผมฉี่รดที่นอนตอนอายุ 8 – 9 ขวบบ่อยๆ นี่ต้องสังเกตละ
ถ้าเกิด 7 ขวบแล้วยังฉี่รดที่นอน ต้องดูสาเหตุก่อนนะ สมมติถ้ามันนานๆ เกิดที อาจจะเพราะวันนั้นเด็กฝันว่าฝนตก ก็เลยปวดฉี่ เพราะเราก็เคยเป็นกันถูกไหม ตอนเด็กๆ ฝันว่าไปเข้าห้องน้ำปุ๊บ เราฉี่จริงเลย (หัวเราะ) แต่ถ้าเด็กคนไหนที่เกิดทุกอาทิตย์ ทุกวัน แสดงว่าผิดปกติละ ต้องย้อนถอยกลับไปดูช่วงที่เขาแบเบาะหรืออายุต่ำกว่า 3 ขวบ เขาเจอความรุนแรงจากพ่อแม่ที่ทะเลาะกันเป็นประจำ แล้วทำให้ระบบขับถ่ายของเขาไม่ค่อยดีเท่าไร
ถ้าจะให้พ่อแม่กลับไปถอนความรุนแรงคงไม่ได้ แต่เราสามารถเติมความรู้สึกดีกับชีวิตให้กับลูกได้นะ ให้ความมั่นคงกับเขา ค่อยๆ ฝึกเขาให้มีกล้ามเนื้อในการขับถ่ายที่แข็งแรง ถ้าในชีวิตประจำวันลองให้เขาฝึกที่จะกลั้นให้เป็นบ้าง ถ้าเราจะพูดถึงอาการของเรื่องขับถ่าย ให้ถอยกลับไปดูเหอะ เด็กที่ขับถ่ายรดที่นอนโดยส่วนใหญ่เจอฉากที่พ่อแม่ใช้ความรุนแรงกันตั้งแต่ตอนที่เขาเล็กเกินไป อารมณ์แบบนี้มันส่งผลถึงระบบขับถ่าย
ไม่เจริญอาหาร อาหารไม่ย่อย เพราะความเครียด
พอพูดถึงระบบขับถ่าย ก็จะมีอาการที่ลำไส้ พวกอาหารไม่ย่อย สาเหตุมาจากอะไรครับ?
ความเครียด ใน Twelve Senses (ปรัชญาการเติบโตทางจิตวิญญาณของมนุษย์) มันจะมี Sense of Taste เซนส์เกี่ยวกับรสชาติอาหาร เมื่อก่อนลูกพี่เป็นคนไม่เจริญอาหาร บางทีกินๆ อยู่ก็อาเจียน แล้วพี่ไม่รู้เลยนะว่าตัวเองเป็นคนที่ทำให้ลูกเครียด เพราะเวลานั่งกินอาหาร พี่จะชอบบ่น ทำให้เวลาอยู่ที่โต๊ะอาหารเราสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเครียด ชอบบอกกับลูกให้กินอันนี้ มีประโยชน์ อันนี้ไม่มีประโยชน์ลูก อันนี้กินเข้าไปลูก เรากำลังสร้าง ‘โรคแม่ทำ’ ให้กับลูก
มาจากความหวังดีของเรา อยากให้เขากินดีๆ
แต่พลังงานของเรามันไม่โอเค เพราะฉะนั้นมันทำให้เขาไม่เจริญอาหาร เกิดเป็นความเครียดที่อยู่กับระบบย่อยอาหาร พวกเราที่โตๆ แล้วก็เป็นเหมือนกัน ลองสังเกตใครที่มีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร ส่วนมากก็เป็นคนที่มีความเครียดสูง
หมายถึงว่าวัยเด็กเขาอาจมีอาการอาเจียนบ่อย หรือไม่เจริญอาหาร
ใช่ ไม่อยากกินอาหารเพราะความเครียด พอพี่รู้เรื่องนี้ปุ๊บเราเปลี่ยนตัวเองทันที ถ้าเป็นแต่ก่อนพอสามีหยิบขนมมา พี่จะเริ่มบ่นๆ พี่ก็เปลี่ยนตัวเอง เราตัดสินใจว่าต่อไปนี้ชีวิตบนโต๊ะอาหารของพี่กับครอบครัว เราจะมีความสุข พี่จะเลิกบังคับลูกให้กินอะไร พี่จะใช้วิธีกินอาหารให้อร่อย คุยกับสามีให้สนุก แล้วกินผักกินอะไรไม่ต้องห่วงเลย พอเรากินไปเดี๋ยวลูกก็กินตามเราเอง ทำให้บรรยากาศบนโต๊ะอาหารมีความสุข สนุก แล้วเขาจะเจริญอาหารเอง
ต้องบอกคุณพ่อคุณแม่ไว้ว่า พลังงานในขณะกินอาหารสำคัญมาก มากกว่าสารอาหารที่ลูกกินเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้าลูกเรามีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ไม่เจริญอาหาร ตัวเล็ก นั่นคือความเครียด อย่าสร้างความเครียดบนโต๊ะอาหาร ให้สร้างความสุข ความสนุก ยิ่งสนุก ยิ่งกินอร่อย การปลูกฝังระเบียบวินัยกับเด็กเล็กเนี่ยไว้ทำตอนที่เขาโต เพราะวิถีชีวิตที่เขาอยู่กับเรา ถ้าเราเป็นคนที่มีระเบียบวินัยกับโต๊ะอาหาร เขาจะเรียนรู้ที่จะเป็นเอง ไม่ต้องรีบจัดการเขาตอนที่ยังเด็ก เพราะว่าเขายังไม่มีทักษะนี้ แต่สิ่งที่เราควรจะใส่ให้กับเขาคือ จงมีความสุขกับการกินอาหาร สิ่งนี้สำคัญมาก
หลานผมบางทีถูกบังคับให้กิน ก็จะกินๆ ไป แล้วก็ไปกินนอกมื้อเสียเยอะ กลายเป็นกินบนโต๊ะอาหารไม่อร่อย
ใช่ บางทีแอบไปกินกับคนอื่น หรือไปมีความสุขในขณะที่กินกับคนอื่น ก็เลยกินกับเราไม่อร่อย
เพราะบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร แม่ใส่เครื่องปรุงที่ทำให้เขารู้สึกกินไม่ได้
ใช่ นั่นแหละสำคัญมากๆ