- ‘ห้ามเด็กเล็กๆ อยู่กับหน้าจอเด็ดขาด’ ‘เด็กเล่นเกมจะทำให้อารมณ์ร้าย’ และอีกสารพัดความเชื่อที่พ่อแม่มักได้ยินเกี่ยวกับเด็กและหน้าจอมือถือ จริงเท็จอย่างไร ชวนหาคำตอบกันได้ที่โรคพ่อแม่ทำ
ตอนที่แล้ว (อ่านบทความโรคพ่อแม่ทำตอนที่ 4) เราคุยกันเรื่องเลือกโรงเรียนให้ลูก ครูณาก็บอกว่าเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปี ยังไม่ควรเรียนหนังสือ เพราะพัฒนาการหรือโครงสร้างสมองของเขายังไม่พร้อมรับกับการเรียนรู้ที่อัดแน่นด้วยวิชาการ สิ่งที่เหมาะสมกับวัยเขาคือการเล่น โดยเฉพาะเล่นกับผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง
แต่ทีนี้พ่อแม่จะเล่นอะไรกับลูกดี ส่วนใหญ่ถ้าคิดไรไม่ออกเราก็หยิบมือถือให้ลูก หรือบางทีลูกก็เป็นคนขอเราเล่นเอง เพราะเห็นเราใช้มือถือตอบไลน์งาน ใช้ไอแพดทำงาน เปิดยูทิวบ์ เปิดอะไรเต็มไปหมด
ในยุคที่เราหนีเทคโนโลยีไม่ได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่จะอยู่กับลูกและหน้าจอยังไงบ้าง คือเรื่องที่เราคุยกันวันนี้ ‘มือถือซินโดรม’
บทความนี้ถอดความมาจาก Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ตอนที่ 5 ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์
รับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่นี่
เราได้ยินมาตลอดว่า เด็กไม่ควรอยู่หน้าจอ ไม่ควรเล่นมือถือ ยิ่งตอนรัฐมีนโยบายให้แท็บเล็ตเด็ก หูย..คนออกมาต่อต้านกันเยอะ สรุปว่ามันดีหรือไม่ดีครับ การให้เด็กอยู่กับหน้าจอ
ส่วนใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่มองว่า เกมหรือมือถือเป็นเหมือนศัตรูตัวฉกาจ เขาเองก็ไม่รู้หรอกว่ามันร้ายแบบไหน เป็นการฟังต่อๆ กันมาที่กลายเป็นความกลัว ไม่ได้หาทางออก เราอยากให้รู้ว่าจริงๆ เด็กเล่นเกมได้นะ เพียงแต่ในเด็กเล็กๆ ช่วง 0 – 7 ปี มันเป็นนาทีทองที่เราควรจะเติมอะไรเข้าไปในชีวิตเขา ถ้าเราเอาเวลานี้ให้เขาเล่นเกมจากแท็บเล็ต มือถือ มันก็น่าเสียดายเวลานะ เพราะมีอย่างอื่นที่สำคัญมากกว่า
เช่นอะไรครับ?
ถ้าเป็นช่วงเล็กๆ เขาควรได้เห็นว่าโลกนี้มีอะไรบ้าง ได้เรียนรู้ผ่านชีวิตผู้คนเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์เข้าไปในตัวเขา เรียนรู้การใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็กผ่านการเล่นของเล่น การปีนป่าย ขี่จักรยาน ไปเล่นน้ำ ทำงานศิลปะ หรืออ่านหนังสือ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กได้เห็นว่า เฮ้ย… ทางเลือกในชีวิตมันมีหลายอย่างนะ และเป็นการสร้าง senses (ผัสสะ/สัมผัสรู้) ในตัวเขา
ด้วยความที่พี่เดินสายทำงานเยอะ ตอนลูกเล็กๆ เขาก็จะตามพี่ไปทำงานด้วย แล้วตัวคุณพ่อก็จะชอบพาเขาไปตามพิพิธภัณฑ์ ไปนั่งเล่น ดูนู่นดูนี่ พาไปเล่นสนามเด็กเล่น ไปทะเล การที่เด็กรับประสบการณ์เหล่านี้ในช่วง 0 – 7 ขวบ มันจะสะสมเข้าไปเป็นเซลล์อยู่ในตัวเขา เป็นการใส่ความทรงจำว่าเขาจะต้องทำอะไร เขากำลังตามหาอะไรในชีวิต เพื่อให้ได้เจอสิ่งที่เขารักหรือให้เกิดความเชี่ยวชาญ กลายเป็นบุคลิกภาพ ที่สำคัญคือเป็นความสัมพันธ์ที่เขาได้อยู่กับพ่อแม่ พี่น้อง
บางคนก็อาจมีคำถามว่า ไปพิพิธภัณฑ์ตอนโตกว่านี้ก็ได้นิ ทำไมต้องไปตอนเล็กๆ อีกอย่างถ้าเป็นช่วงที่ลูกต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ก็นี่ไง ให้เอานิ้วแตะหน้าจอเล่นเกม
ไม่เหมือนกันนะ เพราะเด็กใช้กล้ามเนื้อไม่กี่ส่วนในการควบคุมหน้าจอ ไม่เหมือนตอนเขาใช้ปั้นดินน้ำมัน เล่นบล็อกไม้ หรือทำงานศิลปะ จริงๆ ไม่ต้องกังวลหรอก(ว่าจะไม่มีอะไรเล่น เล่นไม่เป็น) เพราะถ้าเด็กเห็นอย่างอื่นที่สนุกมากกว่า เขาก็ไปเล่น ไม่ได้สนใจอะไร แต่สิ่งที่พี่รู้สึก คือ ตัวพ่อแม่กลัวเพราะไม่รู้จะให้ลูกทำอะไรดี พี่ก็ต้องรีบบอกเลยว่า ถ้าพ่อแม่ไม่รู้ว่าจะให้ลูกทำอะไรดี แล้วลูกจะรู้ได้ยังไง ถูกไหม?
ใน Twelve Senses องค์ความรู้ของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ จะพูดถึงเซนส์ที่เด็กมีในช่วง 0 – 7 ปี เช่น Sense of Touch เป็นตัวที่ทำให้เด็กมีความแข็งแรงทางกายและใจ หรือ Sense of Life การรู้จักชีวิต เมื่อลูกเขาเกิดมา วิถีชีวิตแรกที่เขารับรู้คือของพ่อแม่ การอยู่บนโลกใบนี้ควรเป็นอย่างไร มนุษย์ควรปฏิสัมพันธ์กันยังไง วิธีกินข้าว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เขาจะเรียนรู้จากวิถีชีวิตของพ่อแม่ เก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์เข้าไปตัวเขา
ฉะนั้น เรื่องการเล่น เขาจะเล่นอะไรหรือเล่นกับคนอื่นยังไง เขาก็เรียนรู้จากพ่อแม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีช่วงเวลาของมันนะ ก่อน 6 ขวบ ถ้าพ่อแม่ให้ลูกอยู่กับหน้าจอก่อน 6 ขวบ ลูกยังไม่ถูกตั้งโปรแกรมจากวิถีชีวิตของพ่อแม่… พี่เห็นนะ เด็กบางคนเขาดูละครตบตีตั้งแต่เด็ก
ดูคู่กับพ่อแม่ พอพ่อแม่เปิดมาก็นั่งดูด้วย
ใช่ แล้วมันมีผลนะ เพราะว่าเด็กเวลาที่เขาโกรธ เขาก็จะเดินไปแล้วบอกว่า ‘อย่างนี้ต้องตบๆๆ’ เพราะมันเป็นช่วงที่เขากำลังเก็บความทรงจำเข้าไปในเซลล์สมองของเขา เป็นเซลล์กระจกเงาที่เขาเห็นว่า เมื่อคนๆ หนึ่งทำแบบนี้ แล้วผู้ใหญ่ตอบโต้แบบไหน ซึ่งแทนที่เขาจะได้เห็นชีวิตดีๆ จากพ่อแม่ เราก็ไปให้เขาดูจากในละคร แล้วเขาก็เอาวิถีชีวิตจากละครมาใช้
หรือถ้าเกิดเราให้เขาดูจากเกม เด็กที่อยู่กับการเล่นเกม เขาเห็นแต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีจิตใจ ถ้าแพ้ก็กดสตาร์ทใหม่ แต่ถ้าเขาเล่นจริงๆ กับเด็กคนอื่น เขากดรีสตาร์ทไม่ได้ ถ้าเขาแพ้เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะดีลให้ได้ พยายามที่จะปรับตัวเองเพื่อที่จะเล่นกับเพื่อน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในสมองก่อน 7 ขวบ
แล้วการสลับช่วงเวลามันส่งผลมากน้อยแค่ไหนเหรอครับ สมมติผมให้ลูกดูละคร เล่นเกมก่อน 7 ขวบแล้วค่อยไปเรียนรู้วิถีชีวิตต่อจากนั้นได้ไหมครับ?
พี่จะบอกเสมอว่าเด็กเกิดมาก็เหมือนขวดเปล่าๆ เป็นเซลล์สดใหม่ ที่เขาต้องคอยเก็บความทรงจำใส่เข้าไป ต้องการสร้างโครงข่ายสมองที่บอกว่าถ้าเกิดสิ่งนี้ ฉันจะทำแบบนี้ แล้วพวกเราจะมีบุคลิกภาพยังไง มันสะท้อนจาก 7 ปีแรกของชีวิตนะ สรรค์สร้างมาเป็นตัวฉันที่จะอยู่กับโลกใบนี้
เพราะฉะนั้นการเล่นเกมหรือดูละคร มันก็จะถูกโปรแกรมเข้าไปในโครงข่ายของสมองว่า ถ้าเกิดสิ่งนี้ เธอก็จงคิดตัดสินแบบนี้ ช่วง 0 – 7 ปี ควรเป็นการโปรแกรมวิถีชีวิตจากพ่อแม่ที่จะทำให้ลูกเข้าใจตัวเอง คนเราจะมีความรักต่อกันยังไง เขาก็จะเรียนรู้จากความรักของพ่อแม่ การมีชีวิตที่ดีต่อกัน หรือเวลาเขางอแงแล้วพ่อแม่ปฏิบัติต่อเขายังไง สิ่งพวกนี้มันมีความหมายมากที่เขาจะเรียนรู้และเอาไปปฏิบัติต่อโลกภายนอก
ฉะนั้นให้ลูกเล่นมือถือตั้งแต่เล็กๆ มันก็ไม่ได้ผิดหรอก แต่เท่ากับเขาเกิดมาปุ๊บ เราใส่แฟ้มเกมไปเลย แทนที่เราจะใส่แฟ้มอย่างอื่นเพื่อสร้างบุคลิกภาพเขา ทำให้เมมโมรีเขาเต็มไปกับเรื่องพวกนี้
ใช่ กลายเป็นวิธีคิด วิธีเห็นโลกใบนี้ของเขา สมมติเขาถูกโปรแกรมว่า ถ้าอยากได้อะไรก็เหมือนกับการเลือกแอปพลิเคชัน เลือกไอเท็ม หรือเวลาเขาเล่นอะไรแพ้ก็ปิดเกมแล้วค่อยเปิดใหม่ เพราะเขาถูกโปรแกรมไปแล้วว่าชีวิตเป็นแบบนี้ แล้วถ้าเราจะมาบอกใหม่ว่า มันไม่ใช่นะ ก็ต้องไปรื้อวงจรเก่า ซึ่งโอ้โห.. มันรื้อยากนะ เหมือนรีโนเวทบ้านใหม่ บางทีกลายเป็นค่าใช้จ่ายสูงกว่า แล้วก็ไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ
แล้วการที่ให้เด็กดูยูทูบ ดูคลิปนี้ไม่ชอบ เปลี่ยนไปดูคลิปใหม่ อย่างนี้มันจะสร้างบุคลิกภาพที่ทำให้เขารอไม่เป็น ตัดสินใจเร็วไหมครับ?
ใช่ ถ้าไม่ชอบคลิปนี้ก็เอานิ้วปัด แต่ในชีวิตจริงไม่ชอบมันก็เอานิ้วปัดไม่ได้ไง เพราะฉะนั้นเด็กที่อยู่กับมือถือเยอะมากเกินไปก่อนวัยอันควร ก็จะมีบุคลิกภาพที่รอไม่เป็น ไม่ได้ก็กรี๊ด แต่พี่ก็ไม่อยากให้พ่อแม่รู้สึกหรือปฏิบัติราวกับว่ามือถือเป็นศัตรูนะ
โดยกายภาพผู้ปกครองเป็นคนเลือกที่จะใส่อะไรไปในแฟ้มลูก บางคนมีเงื่อนไขในชีวิตที่อาจต้องให้ลูกเล่นมือถือ หรือบางคนอาจรู้สึกว่ามือถืออันตราย แต่เราก็ยังต้องใช้ แล้วจะอยู่กับมันยังไงครับ
ไม่ใช่ว่าลูกต่ำกว่า 7 ปี แล้วเราห้ามไม่ให้เขาเห็นหรือจับมือถือเลย เพียงแต่พี่อยากให้พ่อแม่ทำอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะบางคนรู้สึกว่าต่อหน้าลูกห้ามใช้มือถือเด็กขาด ก็ไปใช้วิธีซ่อนหรือแอบเล่นแทน แต่มนุษย์เราไม่ได้ใช้แค่การเห็น หรือฟังในการสื่อสาร มันมีพลังงานอื่นด้วย จิตที่สัมผัสกันได้ เด็กเขาสามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำไม่ใช่ความจริง เพราะฉะนั้นในเมื่อโลกใบนี้เรายังต้องใช้มือถือ ไอแพด เราก็ใช้เหมือนเดิม เพียงแต่เราต้องจัดการตัวเองให้ได้
ตัวพี่จะตั้งว่าถ้าตอนเราทำงานแล้วดูลูกไม่ได้ ก็จงตั้งใจทำงาน ปล่อยให้ลูกเล่นไป ถือว่าโมเมนต์นี้วินๆ แม่ทำงานลูกได้เล่น แต่พี่ไม่ได้แบบว่าปล่อยยาวววว (ลากเสียง) เราก็คอยเบรกตัวเองพาลูกไปทำอย่างอื่น เช่น ไปขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่ก็นั่งทำงานศิลปะกัน หรือหาอะไรกิน ที่พี่พูดเมื่อกี้ว่า พ่อแม่ถ้าไม่รู้จะให้ลูกทำอะไรดี แล้วลูกจะรู้ได้ยังไง หมายความว่าพ่อแม่ก็ควรจะรู้ว่าเราอยากให้ลูกทำอะไร ถ้าเราอยากให้ลูกอ่านหนังสือ เราก็ต้องเป็นคนอ่านหนังสือ โดยส่วนใหญ่ลูกพี่สองคนก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เพราะมันคือช่วงเวลาว่างที่เราอ่านหนังสือแล้วเราอ่านให้เขาฟัง ก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้เขารู้ได้ว่าถ้าไม่มีมือถือมันมีอย่างอื่น หรือนั่งทำงานศิลปะกัน
พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะใช้คำพูดที่ติดปากมากๆ ซึ่งพี่รู้สึกว่าเราไม่ยุติธรรมกับเด็ก เช่น ‘ไปหาอย่างอื่นทำบ้าง’ ‘ทำไมไม่รู้จักทำอะไรที่มันมีประโยชน์’ ‘วันๆ เล่นแต่เกม’ คือคำพูดแบบนี้มันเหมือนกับ.. แล้วจะให้ทำอะไรอะ? เขาไม่มีตัวอย่างว่าควรไปทำอะไรดี ฉะนั้น พ่อแม่ต้องเป็นคนพาเขาไปทำ สอนเขานะ พอหลัง 7 ขวบ เขาก็เลือกได้เองว่าจะไปเล่นอะไรดี หรือถ้าเราเลี้ยงลูกได้ดีจริงๆ เราจะพบเลยว่าลูกเรากำอะไรมาเกิด ความสนใจของเขาจะพาให้เขาไปหาสิ่งนั้นได้
ลูกพี่เล่นเกมในตอนที่เขาโตหน่อย เวลาที่เขาเล่น ใจของเขาก็รู้ว่าเขาจะไปเล่นอะไร ปั้นอะไร มันมีไอเท็มในชีวิตจริงให้เขาเลือก แต่โดยส่วนใหญ่พ่อแม่บอกว่า ‘วันๆ เอาแต่เล่นเกม’ แต่ไม่เคยสอนเขาว่ามีอย่างอื่นที่เล่นสนุก เราเคยเล่นบอร์ดเกมกับเขาไหม เคยเล่นการ์ด เล่นไพ่กับเขาไหม ถ้าเราเคยเล่นสิ่งเหล่านี้กับลูก ลูกก็จะมีไอเท็มเยอะขึ้นที่จะไปเล่นอะไร
เด็กซึมซับได้ง่าย เราไม่ต้องไปสอนอะไรเขามาก แต่พาเขาทำแทน แต่มันจะมีประเด็นนี้ครับ ยุคนี้เราส่วนใหญ่ work from home กัน พ่อแม่นั่งหน้าจอทั้งวัน กลายเป็นภาพจำเขา มันจะส่งผลอะไรไหมครับ?
ก็ให้เขาเห็นเพราะมันคือวิถีชีวิตของเรา แต่เราต้องจัดสรรเวลาพาเขาไปเล่นอย่างอื่นด้วย
บางครั้งเราจำเป็นต้องเลือกว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญก่อน ไม่ได้หมายความว่าเราทำงานไม่ได้นะ เราทำงานได้ พี่เองก็เป็นคนชอบทำงานหนัก แต่พี่จะแบ่งเลยว่า โอเค ถ้าเวลางานฉันจะทำเต็มสตรีม เพื่อให้มีประสิทธิภาพและจบ จากนั้นฉันจะได้ไปอยู่กับลูก พออยู่กับลูกจะเล่นการ์ด เล่นต่อสู้กับลูก เล่นอะไรที่บ้าๆ บอๆ ไปกับเขา พอถึงวัยที่เขาเล่นด้วยกันเองสองพี่น้องได้แล้ว เราก็สบาย
ถ้าเราไม่จัดการเวลาเพราะรู้สึกว่ามันจัดการยาก คุณก็จะมีชีวิตที่ยากอีกยาวนานเลยนะ ช่วง 0 – 7 ขวบ เราก็ขอย้ำว่ามันสำคัญจริงๆ ที่เราจะต้องเติมสิ่งต่างๆ ให้เขา ถ้าเราจัดการตรงนี้ได้ เราสร้างเหตุและปัจจัยในช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังจากนั้นเราก็ได้ผลของความสบายใจ ของการที่เขาสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ถ้า 0 – 7 ขวบ เราบอกว่า เราไม่ว่าง ทำไม่ได้ ท้ายที่สุดเราจะมีเรื่องยุ่ง และเรื่องรบกวนจิตใจเราไปอีกเยอะมากเลย โอเค ไม่ว่างได้ แต่พยายามนะ (ยิ้ม)
อย่างน้อยช่วง 0 – 7 ขวบก็ขอละ เพราะต่อไปคุณจะเบา สบายขึ้นเยอะ
ถ้า 0 – 7 ขวบ เราจัดการมาไม่ดี ก็มีแนวโน้มที่เราจะลากมันแบบไม่ถูกต่อไป พอลูกเราเป็นวัยรุ่น แล้วความสัมพันธ์มันแย่ เขาจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้ สุดท้ายตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ต่อให้งานยุ่งแค่ไหน เราก็ต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อมาจัดการสิ่งที่มันเละเทะอยู่ข้างหน้าให้ได้ พี่เห็นเคสมาเยอะแล้วธุรกิจเยอะแค่ไหน แต่พอวันที่ลูกเป็นวัยรุ่นมันแย่แล้ว ท้ายสุดเขาก็ต้องทิ้งทุกอย่าง รวมทั้งเกิดความเครียด ความทุกข์ที่ต้องมาแก้ของแย่ๆ
ถ้าคุณผู้ฟังเป็นพ่อแม่ที่ลูกอยู่ในช่วง 0 – 7 ขวบ ต้องบอกเลยว่าคุณต้องจัดการให้ได้ คืออย่างน้อยช่วงนี้คุณทำงานน้อยลง หรือมีใครคนหนึ่งเสียสละที่จะทำงานน้อยมากๆ เพื่อที่จะใส่สิ่งที่สำคัญ แล้วหลังจากนั้นพี่รู้สึกว่า เขาให้ของขวัญเรากลับมานะ เหมือนเราได้เห็นของขวัญจากการเติบโตของเขา ตอนนี้พี่ทำงานหนักแค่ไหน ลูกพี่ก็โอเค เหมือนกับ เออ..แม่ไปเหอะ อยู่ได้ ดูแลตัวเองได้
พอบอกว่าให้ลูกเล่นเกมมือถือได้ ก็จะมีคนบอกว่า ‘เล่นได้ แต่พ่อแม่ต้องอยู่ด้วย’ อันนี้จริงไหมครับ?
ถ้าในช่วง 0 – 7 ขวบ พี่คิดว่าการอยู่ด้วยมันดีอยู่อย่างหนึ่ง อย่างเวลาลูกเล่นเกม พี่สังเกตว่าลูกพี่สองคนเล่นไม่เหมือนกัน เราจะได้รู้หลักการคิดหรือนิสัยของลูกจากการที่เห็นเขาเล่นเกม เช่น คนโตเป็นคนที่ชอบวางแผน เขาจะเลือกเกมที่คิดซับซ้อน วางแผน แต่ว่าลูกคนเล็กจะอาร์ตมากๆ ชอบงานศิลปะ ฉะนั้นเวลาที่เขาเล่นเกมกับพี่ชายก็จะแพ้ประจำ แต่ตัวเขาชอบเล่นเกมที่มีคาแรกเตอร์สนุก ตลก แปลกๆ อย่างเล่นเกม Angry Bird หรือ Cookie run เขาก็จะดูคาแรกเตอร์ตัวละครเพื่อมาใช้ทำงานศิลปะต่อ
การที่พ่อแม่อยู่กับลูกขณะที่เขาเล่นเกม เราก็จะได้รู้ลักษณะนิสัยความคิดของลูกเรา แต่พี่ไม่ถึงขั้นนั่งเฝ้านะ เพียงแค่ว่าคอมพิวเตอร์ลูกมันชนผนัง จอก็เลยหันมาตรงที่พี่นั่งทำงาน พี่ก็จะเห็นว่าเขาเล่นอะไร แล้วลักษณะการเล่นของเขาเป็นแบบไหน
แต่การปล่อยให้เด็กเล่นเกมเยอะๆ เด็กมีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรง ก้าวร้าวไหมครับ? เราเห็นพ่อแม่ชอบบอกว่า เวลาลูกทำพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ตะคอกแม่ เพราะมาจากเกม หรือที่ครูณาบอกตอนต้นว่า เด็กเล็กๆ ที่เล่นเกมจะทำให้เขามีนิสัยแพ้ก็ไม่ยอม มันจริงเท็จแค่ไหน หรือมีเรื่องอะไรที่มาตัดสินตรงนี้ได้บ้างครับ
ถ้า 0 – 7 ขวบ เขาตั้งโปรแกรมวิถีชีวิตที่ได้จากการเรียนรู้วิถีชีวิตของพ่อแม่ พอเขาเล่นเกมก็จะเริ่มมีอารมณ์ เราก็ค่อยใส่วิธีจัดการอารมณ์ให้เขา คือถ้าเราใส่สิ่งที่ดีเหล่านี้แล้ว ไม่ต้องห่วงเลย ลูกไม่มีทางก้าวร้าวจากเกม เพราะพี่ก็ปล่อยให้ลูกเล่น มีช่วงหนึ่งที่เขาเล่น 7 – 8 ชั่วโมง
เคยมีคุณแม่คนหนึ่งโทรมาปรึกษาพี่ แกบอกว่าไม่เคยให้ลูกเล่นเกมเลยจนอายุ 10 ขวบ แล้วลูกไปเห็นคนอื่นเล่นเกมเขาก็อยากเล่นบ้าง แม่ก็เลยเลือกเกมให้เล่น ทีนี้พอเขาอายุ 14 ปี เขาก็เลือกเล่นเกมเอง อยากเล่นเกมเสมือนจริง มันก็ดูมีความรุนแรง คุณแม่คนนั้นก็ถามพี่ว่า เขาควรทำยังไง ให้ลูกเล่นเกมดีไหม แล้วเกมมันจะทำให้ลูกเขาก้าวร้าวได้ไหม
พอดีตอนที่เขาโทรมาปรึกษาพี่นั่งอยู่กับลูกคนโต พี่ก็เลยบอกกับคุณแม่ไปว่า ขอโทษนะคะ เดี๋ยวโทรกลับ จะขอคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องเล่นเกมก่อน ก็คือลูกชาย พี่ก็เล่าให้ลูกฟังแล้วถามว่า ‘แม่ถามจริง ลูกเล่นเกมมาเยอะ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องเล่นเกม ลูกคิดว่าเกมทำให้เด็กก้าวร้าวได้ไหม’ ลูกก็ชูนิ้ว 5 นิ้ว แล้วบอก ‘ว่า 5%’ พี่ก็บอก ‘โหย..มันน้อยมากเลยนะ 5% เองหรอ แล้วอีก 95% ล่ะ มันเกิดจากอะไรลูก’ ลูกก็บอกว่า ‘เกิดจากวิธีที่พ่อแม่ใช้เพื่อให้ลูกเลิกเล่นเกม ถ้าพ่อแม่ใช้วิธีที่ก้าวร้าว ลูกก็จะก้าวร้าวมาจากวิธีการที่พ่อแม่เลือกใช้’ คือเกมไม่ใช่ตัวที่ทำให้ลูกก้าวร้าว วิธีการที่พ่อแม่ใช้ต่างหากที่ทำให้ลูกก้าวร้าว
เพราะฉะนั้น ลูกก็บอกว่าแต่แม่ไม่เคยเลือกใช้วิธีนั้น ปันเล่นเสียขนาดนี้ ปันว่าปันไม่ก้าวร้าว แล้วลูกพี่สองคนไม่ก้าวร้าวจริงๆ ยิ่งไอตัวเล็กก็เล่นเยอะนะ แต่ว่าเป็นคนที่จิตใจแบบ..อื้อหือ พูดไปเดี๋ยวหาว่าอวยลูก (หัวเราะ)
แล้วลูกครูณาเขาเล่นเกมยิงๆ กันไหมครับ?
มีแต่เขาก็ไม่ได้ชอบนะ พี่ถึงบอกว่า 0 – 7 ขวบ ถ้าเราใส่อะไรที่ดีเข้าไป เราไม่ต้องเป็นคนมานั่งเลือกเกมให้เด็กเลย เด็กที่ได้รับสิ่งที่อ่อนโยน รู้สึกถึงสัมผัสที่มีความหมาย พลังงานดีๆ เข้าไปในชีวิตเขา ตอนที่เขาเลือกเกม เขาก็จะไม่เลือกไอเกมแบบนี้หรอก หรือถึงเลือกเล่น เขาก็เห็นอย่างอื่น เขาไม่ได้โฟกัสว่าจะต้องตัดหัวมนุษย์ด้วยวิธีแบบไหน เด็กเขาไม่ได้คิดแบบนี้ เขาคิดโดยการที่ดูสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เขาสนใจ
เพราะฉะนั้นถ้าเราใส่บางสิ่งให้เด็กได้โอเคแล้ว แล้วเราไม่ได้มีวิธีปฏิบัติกับเขา ความสัมพันธ์ของเรากับลูกดี วิธีปฏิบัติของเรากับเขาเกี่ยวกับเกมไม่ได้ก้าวร้าว เด็กก็จะไม่ก้าวร้าว
สมมติลูกเล่นๆ อยู่กระชากออกมาเลย ‘พอได้แล้ว! มากไปละนะ’ อันนี้พ่อแม่กำลังปลูกฝังความก้าวร้าวให้ลูก
พี่เคยเจอเคสเด็กคนหนึ่งมาเข้าค่ายพี่ ตอนนั้นเขาอายุ 12 – 13 ปี พี่รู้สึกว่าเขาเป็นเด็กน่ารักมากๆ แต่แม่เขาบอกว่าลูกติดเกมเยอะ แต่พี่ดูแล้วก็ไม่มากนะ เขาก็ดูสนใจอย่างอื่นด้วย เช่น กีฬา แล้วเขาก็เหมือนลูกพี่ ชอบเล่นเกมวางแผน ซึ่งในเกมมันมีทักษะบางอย่างที่ทำให้ลูกพี่มีตรรกะในการคิด แล้วก็มีการฮึดเพื่อที่จะเอาชนะ พี่ก็บอกกับคุณแม่เด็กคนนั้นว่า เขาไม่ก้าวร้าวนะ เนื้อแท้ของเขาโอเคมากๆ เลย ให้ทำอะไรก็ทำ ตอนอยู่ในค่ายก็ดีมาก
ผ่านไป 2 ปี แม่เขามาบอกพี่ว่าถูกลูกเตะตอนเขากำลังเล่นเกม พี่ก็ถามว่าทำอะไรลูกถึงเตะ เขาก็บอกว่าเขาให้ลูกเลิกเล่นเกม แล้วลูกตอบว่า ‘อีกแปปนึงแม่’ แม่ก็บอก ‘เลิกเดี๋ยวนี้!’ ลูกบอก ‘แม่ อีกแปปนึง! แปปเดียวจริงๆ!’ แล้วคุณแม่ก็ดึงปลั๊กออก แล้ววันนั้นเด็กกำลังแข่งอยู่ในระดับท็อป 10 ของประเทศไทย เขากำลังจะถึงคะแนนที่ Ranking ของเขามัน Touch ตรงนั้นได้
ความก้าวร้าวของมนุษย์เกิดจากทริกเกอร์ (trigger บางสิ่งที่เข้ามาทำให้เราอารมณ์ขึ้น) เวลาที่เด็กอยู่ในช่วงบ่มเพาะ แล้วมีบางสิ่งเข้ามาทริกเกอร์ให้เกิดความก้าวร้าวบ่อยๆ สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจใช้ความก้าวร้าว เพราะว่าไม่มีสติจริงๆ
อย่างเคสนี้เป็นความก้าวร้าวจากเกมหรือจากอะไร? สิ่งที่เราเห็นอย่างหนึ่ง คือ เด็กมักถูกควบคุมโดยที่ไม่ได้บอกหรือไม่ได้มีวิธีการที่ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะยับยั้งชั่งใจและจัดการอารมณ์ แต่เราจะโทษว่าเกมทำให้เขาเตะ พี่เชื่อว่ามันไม่ขนาดนั้น ไม่ใช่เพราะเกม 100% มันเป็นวิธีการที่เราดีลกับลูกยังไง เราสอนเขาจัดการอารมณ์ยังไง เราใช้วิธีบ่นๆๆๆ แต่ไม่มีทางออก ไม่มีภาพที่ดีให้กะเขา แล้วพอถึงตอนนั้นเราไปดึงปลั๊กขณะที่เขากำลังจะเป็นผู้ชนะ คือพี่รู้ว่าผู้ชนะในความหมายของเกมมันอาจดูไร้ค่า แต่สำหรับเด็กไม่นะ เพราะเด็กบางคนก็มีอาชีพ มีรายได้จากการเล่นเกมในระดับแบบนั้น
ถ้าสาวกับไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เล็กจนกระทั่งมาถึงวันที่เขาเตะ ไม่ได้มีวิธีการสอนลูกในเรื่องของการจัดการอารมณ์ไง เขาต้องถูกฝึก ถูกทำให้เขาคิดแล้วก็จัดการอารมณ์เป็น พี่ว่าไม่แฟร์ว่าเขาก้าวร้าวเพราะเกม พี่ว่าไม่ใช่
อย่างที่เราคุยกันตอนที่ผ่านๆ มา สิ่งที่เราป้อนให้ลูกก็คือของสะสม มันมีหลายจุดกว่าจะดำเนินมาถึงตรงนี้ แล้วก็จะเป็นตัวตัดสินว่าเกมหรือหน้าจอที่เขากำลังมองอยู่ตอนนั้น มันจะสร้างปัญหาให้เรามากน้อยแค่ไหน ก็คือก่อนหน้านั้นทั้งหมด
พี่ชอบคิดว่าฉันเป็นสิ่งมีชีวิต ฉันเป็นแม่ ฉันต้องมีเสน่ห์กว่าเกมว่ะ พี่อยากให้พ่อแม่เข้าใจว่าเราเป็นมนุษย์นะ เรามีเทคนิคมีอะไรตั้งเยอะแยะที่เราจะสามารถชนะเกมนี้ เพียงแต่ว่าเราไม่รู้จักบริหารเสน่ห์ คือ ถ้าชีวิตจริงเราไม่บริหารเสน่ห์กับอะไรก็ตาม ท้ายที่สุดเราก็เป็นชีวิตที่แข็งกระด้าง อยู่กับลูกก็แข็งกระด้าง
ถ้าฉันเรียกลูกไปไหน ลูกฉันต้องไปได้สิ แต่เราจะใช้วิธีบริหารเสน่ห์ ไม่ใช่อำนาจ เวลาพี่จะให้ลูกหยุดเล่นเกมแล้วไปกินข้าว พี่ก็จะเดินไปแล้วหอมแก้มแล้วบอกว่า ‘กินข้าวแล้วนะนาย’ เขาจะตอบว่า ‘ครับ แปปนึง’ เราบอก ‘แปปเดียวนะ’ แล้วไปนั่งรอ ตัวลูกพี่เขาก็เป็นคนที่จัดการเรื่อง ‘เดี๋ยว’ ของเขาได้ดีมาก หรือบางครั้งพี่รู้สึกว่า เฮ้ย..ครั้งนี้ไม่ได้ พี่ก็จะค้นหาวิธีที่จะสื่อสารให้ดี
มีวันหนึ่งพ่อพี่ป่วยอยู่โรงพยาบาล พี่ก็ไปเยี่ยมเอาลูกไปด้วย ปรากฏว่าพ่อพี่จะอึ พี่ไม่ได้เรียกพยาบาลอะไรนะ ค่อยๆ ทำความสะอาดเขาไป ระหว่างนั้นเราก็ขอให้ลูกช่วยหยิบของ เขาบอกว่า ‘เดี๋ยว’ เขากำลังเล่นมือถืออยู่ เราก็บอกว่า ‘เดี๋ยวไม่ได้ลูก’ เขาก็บอกว่า ‘เดี๋ยว แปปนึง’ พี่เริ่มรู้สึกว่าเรื่องนี้ต้องคุย เพราะเขากำลังเข้าสู่วัยรุ่นซึ่งคุณต้องจัดการตัวเองเป็น ต้องคิดเป็น พอเขามาช่วยพี่ก็ใกล้เสร็จละ พี่ก็บอก ‘หยิบอันนี้ให้แม่หน่อย’ พี่อึนๆ ข้างในนะ แต่จะไม่ใช้คำรุนแรง ไม่ใช้ความก้าวร้าว
ตอนกลับบ้าน เราก็พูดว่า ‘นายมาคุยกันหน่อยซิ แม่ให้เล่นเกมเนี่ย แม่เคยดุไหม แม่เคยห้ามหรือจำกัดเวลาไหม’ เขาก็บอก ‘ไม่มีอะครับ ทำไมอะแม่’ ‘โอเค ถ้าเราไปไหนที่เป็นที่สาธารณะ หรือไปไหนที่อยู่กับความสัมพันธ์หรือการดูแลคนอื่น ลูกต้องตระหนักเลยนะว่า ถ้าแม่เรียกแสดงว่ามันสำคัญ และบางเรื่องเดี๋ยวไม่ได้ เพราะถ้าเดี๋ยวแล้วเรื่องมันผ่านไปแล้ว แสดงว่าเราไม่แคร์กัน เพราะฉะนั้นถ้าแม่ขอลูกอย่าเดี๋ยว เพราะว่าตอนนั้นบางทีเรื่องบางเรื่องมันสำคัญ ขอนะ ถ้าเกมบางเกมที่เธอหยุดกลางทางไม่ได้ อย่าเล่นในขณะที่เราไปเจอกับความสัมพันธ์คนอื่น แล้วยิ่งตอนนี้ถ้าไปโรงพยาบาลแม่ไม่อนุญาตให้เล่นแบบนี้ แม่ขอ’ เขาก็จะ ‘อ่าครับๆ ได้ๆ’ แล้วพอเราไปอย่างนี้ เวลาเรียกเขาฉุกเฉินเขาก็จะทำทันที
พี่เชื่อว่าเด็ก เราสอนเขาได้ เราบอกเขาได้ จะบอกว่าโห..มันยาก แต่เราต้องพยายามในช่วงแรกๆ ของชีวิต
ก็ต้องมีต้นทุนที่สะสมมาก่อนหน้านั้น แล้ววิธีการที่พ่อแม่ใช้ด้วย เราจะใช้อำนาจหรือจะใช้เสน่ห์ทำให้เขารักเรา ทำให้เขาหยุดเล่นเกม
พี่รู้สึกว่ามันเหมือนอำนาจกับบารมีเนอะ มันมีความรัก เหมือนกับเราจะต้องให้ความรักก่อน แล้วเราก็จะให้ความรู้ได้ ถ้าเราใช้อำนาจกับเขา เขาก็จะเรียนรู้ที่จะใช้อำนาจคืนกับเราในวันที่เขาตัวใหญ่พอ
ผมชอบตรงที่ครูณาบอกว่า ‘เราเป็นสิ่งมีชีวิต เราต้องสนุกกว่าเกม’ แปลว่าปัญหาทุกวันนี้พ่อแม่ไม่สนุกกว่าเกมถูกไหมฮะ? ลูกเล่นเกมสนุกกว่าอยู่กับพ่อแม่
ใช่ เวลาเราให้ลูกหยุดเล่นเกมมากินข้าว เราก็ต้องทำให้การกินข้าวมันอร่อย คุยกันเรื่องที่สนุก ไม่ใช่ โอ้โห..ทำโต๊ะกินข้าวให้เป็นเวทีเทศนาเลย แล้วเขาจะอยากออกมาหรอ? คือถ้าเราเลี้ยงลูก แต่ไม่สร้างเสน่ห์ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เขามีความเครียดจากการอยู่กับเรา เขาก็ใช้เกมเป็นที่พึ่งในการปลอบประโลมจิตใจ ทำให้ตัวเองมีความสุขสนุกไปวันๆ
อีกอย่างในเกมเขาได้ชนะตลอดไง เพราะในชีวิตจริงเขาไม่เคยชนะเลย เป็นที่หลบซ่อนจากความสัมพันธ์นั่นแหละ อย่าว่าแต่เด็กเลย สามีภรรยาหรือเพื่อนถ้าไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สุดท้ายก็จะติดมือถือกันทั้งคู่แหละ เพราะมันเป็นที่หลบหนีความสัมพันธ์ที่ดีมาก
ผมชอบประโยคนี้ของครูณา ‘พ่อแม่ต้องมีเสน่ห์กว่าเกม’ เราเองแหละที่ทำให้เกมมันสนุกกว่า เราไม่เคยหัวเราะกับเขา เขามาก็ไม่มีเสียงหัวเราะ ไม่เคยมีกิจกรรม
พี่ว่ามันน่าเศร้ามากเลยนะ เด็กมาเจอเราก็เป็นชั่วโมงเทศนา
อยากขยายต่อกับเคสที่คุณณายกมาที่แม่ไม่ให้ลูกเล่นเกมเลยจน 10 ขวบ คือมันจะส่งผลอย่างไรบ้างครับ กับการที่เราไม่ให้ลูกเห็นเรื่องพวกนี้เลย
สิ่งที่พี่เจอกับเด็กที่ถูกห้ามแบบเพียวขนาดนั้น คือ เด็กจะแอบทำ พ่อแม่ที่เลือกแบบนี้ส่วนใหญ่จะอยู่กับความคิดที่เข้มข้นมาก ต้องเป็นคนดี ต้องธรรมชาติ แต่ว่าในโลกความเป็นจริง มันไม่ใช่อย่างนั้นไง ตามที่พี่รู้สึกและเรียนมานะ ในยีนส์ของมนุษย์จะมีวิวัฒนาการ การรวมองค์ความรู้บางอย่างที่เป็นจริงต่อการเปลี่ยนแปลงของเผ่าพันธุ์มนุษย์
เพราะฉะนั้นพี่ถือว่าเด็กที่เกิดมาในยุคนี้ เทคโนโลยีมันมากับยีนส์เขาเลยละ เราจะเห็นว่าเด็กยุคใหม่สามารถเล่นและเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่าเราอีก เพราะมันมีองค์ความรู้บางอย่างที่อยู่ในระดับของยีนส์ของมนุษย์ในยุคหลัง แต่เรากลับเอาเขาเหวี่ยงเข้าไปอยู่ในที่ที่มันย้อนแย้ง ไม่จริงเสียทีเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าเกิดถึงเวลาที่เขาต้องใช้มัน เขาจะรู้สึกว่ากำลังทำผิดต่อครอบครัว ทำให้เขาไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองที่ต้องอยู่ในยุคนี้ได้ดี
พี่รู้ว่าบางอย่างมันมีความอ่อนโยน เด็กที่ไม่สัมผัสเกมเลยจะมีความอ่อนโยน แต่ประเด็นคือวิถีที่พ่อแม่จัดการกับสิ่งเหล่านี้ดูจะไม่ค่อยอ่อนโยนเท่าไร พอเขาเอาลูกไปที่ไหน ในห้างหรือว่าต้องซื้อของ แล้วลูกก็เริ่มเห็นคนในสังคม แล้วเราก็สอนลูกโดยการที่วิจารณ์ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่โอเค เราก็กำลังโปรแกรมว่าคนที่ทำแบบนี้ไม่โอเค แล้วลองคิดดูสิ ลูกเรากำลังตัดสินคนบนโลกใบนี้อีกจำนวนขนาดไหน
เพราะฉะนั้นการที่พ่อแม่ไม่ให้ลูกเล่นเลย เราต้องทำงานหนักมากเลยนะ ถ้าพ่อแม่สุดโต่ง เด็กก็จะไม่เคยเข้าสู่สภาวะที่มันสนุกสุดติ่ง แต่เขาเห็นเด็กคนอื่นกำลังเล่น แล้วมีพลังงานของความสนุกสุดติ่งอยู่ แล้วตัวเองก็อยาก พี่จะเห็นเด็กเหล่านี้ แม้กระทั่งพี่ใช้มือถือเนี่ย เขาจะเอาหน้าพรวด แทรกเข้ามาดูเลยนะ แล้วก็เหมือนจะเสพมัน ว่ามันคืออะไร แล้วพี่ก็จะเห็นเด็กเหล่านี้ไปแอบดูทีวีทางผ้าม่าน ประมาณว่าเรียกก็ไม่ได้ยิน ซึ่งถ้าวิถีที่ปฏิบัติกับลูกในเรื่องของเกมหรือหน้าจอทีวีมันมากขนาดนี้ แสดงว่าเริ่มบางอย่างที่ผิดปกติละ อันนี้พี่รู้สึกว่า พี่อยากจะแนะนำคุณพ่อคุณแม่ ถ้าลูกเรารู้สึกบางอย่างที่เราเอ๊ะว่ามันผิดปกติหรือเกินพอดี เราจำเป็นต้องทบทวน
จุดตัดที่ดีที่สุดในการควบคุมหรืออยู่กับเทคโนโลยีคืออะไรครับ?
เจอได้บ้าง แต่พยายามอย่าให้ลูกโฟกัสกับมันในช่วงก่อน 7 ขวบ อยู่กันแบบหลวมๆ พาเขาไปรู้จักโลกแห่งความเป็นจริง แล้วก็ไม่ตัดสินว่าการเล่นเกมมือถือหรือเทคโนโลยีเป็นเรื่องเลวร้าย มันจะทำให้เขาอั้นความอยาก เพราะพอถึงเวลาที่เขาได้เล่น เขาจะเสพแบบไร้สติ เราก็อยู่กับความเป็นจริง ถ้าพ่อแม่ต้องใช้ ก็ใช้ แต่ว่าพ่อแม่ต้องจัดการตัวเอง
แล้วพี่รู้สึกว่าในเด็กยุคใหม่ ถ้าเขาต้องอยู่กับโลกแบบนี้ พี่คิดว่าลูกพี่ยิ่งต้องรู้จักนะ เพราะไม่งั้นถ้าเราไม่รู้จักมัน แล้วเราจะจัดการมันได้ยังไง แล้วพี่พบว่า ลูกพี่พอรู้จักเยอะๆ พอถึงตอนหนึ่งที่เขาต้องซ้อมเปียโน เขาก็รู้จักมัน เขาก็จัดการมัน
ก็ขึ้นอยู่ที่ความสัมพันธภาพของพ่อแม่กับลูกด้วยที่จะทำให้ลูกไม่ติดเกม ถ้าความสัมพันธ์ดี เราก็น่าจะคอนโทรลหน้าจอในระดับที่พอดีได้ พ่อแม่ให้ทางเลือก ทำตัวน่ารักกับเขา
พ่อแม่สอนเขาด้วยจิตใจที่ดี รู้จักจัดการอารมณ์ เรียนรู้การจัดการอารมณ์ของพ่อแม่ แล้วลูกก็จะเรียนรู้การจัดการอารมณ์ของเขาผ่านตัวเรา ถ้าเป็นแบบนี้พี่รู้สึกว่าเขามีภูมิต้านทานที่ดี เพราะฉะนั้นถ้าพี่รู้สึกว่าถ้าพี่สร้างต้นเหตุมาดี พอถึง 9-10 ขวบ ลูกพี่จะเล่นเกมวันละ 4-5 ชั่วโมง 7-8 ชั่วโมง พี่เฉยๆ
ต่อให้ลูกไม่ติดหน้าจอ เขาก็ไปติดอย่างอื่นแทน สุดท้ายมันก็ปัญหาเดียวกัน ปัญหาเดียวกันเพื่อนสนุกกว่าพ่อแม่ เกมสนุกกว่า เตะบอลมันกว่า ตีสนุกเกอร์สนุกกว่า หรืออยู่กับเพื่อนต่างเพศสนุกกว่า กลับบ้านดึกๆ เหตุมันก็คือ สัมพันธภาพ
ใช่ ท้ายที่สุดเวลาเกิดอะไรขึ้นกับลูก พี่อยากให้คุณพ่อคุณแม่กลับมาที่ตัวเอง เราใส่อะไรให้กับเขา เรามีวิธีจัดการอย่างที่ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตเขามีความหมาย สัมพันธภาพระหว่างเขากับเราดีไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะไม่ใช้มันไปในทางลบหรอกค่ะ