- การสอนให้รู้จักรอและออมเงินนั้นไม่ใช่การสอนให้ลูกห้ามใช้เงิน ความต้องการอยากได้อยากมีเป็นเรื่องแสนจะปกติธรรมดาไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่พ่อแม่เองก็ต้องอดทนฟังเสียงเว้าวอนของลูก แทนที่จะควักกระเป๋าซื้อให้ทันทีก็ช่วยแนะนำให้เจ้าตัวเล็กรู้จักรอ อดทน เก็บออม และใช้เงินเก็บดังกล่าวเพื่อซื้อของที่อยากได้
- สำหรับเด็กวัยอนุบาล แกนหลักสำคัญ คือ การสอนให้รู้จักรอพร้อมเน้นย้ำว่า การรอนั้นจะมีปลายทางที่หอมหวานอยู่เสมอ สำหรับเด็กวัยนี้ พ่อแม่สามารถซื้อกระปุกน่ารักมาให้ลูกหยอด แบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว และเงินบางส่วนสำหรับแบ่งปันให้กับคนที่ไม่มี โดยที่อาจมีอีกกระปุกหนึ่งเป็นกระปุกส่วนกลางที่พ่อแม่ลูกช่วยกันหยอดเพื่อเอาไปใช้สำหรับกิจกรรมของครอบครัว
- สำหรับเด็กวัยประถม หัวใจสำคัญ คือ การปลูกฝังการออมให้เป็นอุปนิสัย โดยเริ่มจากกฎจำง่าย เช่น เก็บเงิน 2 บาททุกครั้งที่ได้เงิน 10 บาท ในวัยนี้ พ่อแม่สามารถจูงมือไปเปิดบัญชีธนาคาร อธิบายแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับดอกเบี้ย แต่ถ้าผลตอบแทนจากบัญชีออมทรัพย์น้อยเกินไปจนเด็กขาดแรงจูงใจ พ่อแม่ก็สามารถทำ ‘โครงการจ่ายเงินสมทบ’ เช่น ทุกๆ เงินออม 1 บาท พ่อแม่จะสมทบให้ 1 บาท เป็นต้น
เคยได้ยินชื่อ ‘การทดลองมาร์ชเมลโลว (marshmallow experiment)’ ไหมครับ?
การทดลองดังกล่าวเป็นงานเชิงพฤติกรรมที่โด่งดังโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ทดสอบความสามารถในการยับยั้งชั่งใจเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า (Delayed Gratification) ในกลุ่มเด็กเล็ก โดยจะนำมาร์ชเมลโลวมาวางไว้ตรงหน้าและให้รับประทานได้ แต่ถ้าใครอดใจรอเพียง 15 นาทีก็จะให้มาร์ชเมลโลวเพิ่มอีกหนึ่งชิ้น
ความโดดเด่นของการศึกษาชิ้นนี้ คือ นักวิจัยตามติดเด็กกลุ่มนี้จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และพบว่าในหมู่เด็กๆ ที่สามารถอดทนต่อสิ่งเย้ายวนใจตรงหน้าเพื่อรอสิ่งที่ดีกว่า จะมีคะแนนสอบสูงกว่าและมีรายได้มากกว่าเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน
อ่านแล้วก็ลองทดลองทำกับเด็กๆ ในบ้านดูนะครับ แต่ถ้าลูกๆ ของเราไม่สามารถอดทนรอได้ก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะลักษณะนิสัยเหล่านี้สามารถสร้างได้ ไม่มีคำว่าสายเกินไป สิ่งสำคัญคือการเริ่มสอนให้ลูกรู้จักการ ‘รอ’ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สุดสำหรับการออมเงิน
การสอนให้รู้จักรอและออมเงินนั้นไม่ใช่การสอนให้ลูกห้ามใช้เงิน ความต้องการอยากได้อยากมีเป็นเรื่องแสนจะปกติธรรมดาไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ก่อนเด็กๆ จะได้ของที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นขนม ของเล่น เสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เครื่องใหม่ แทนที่พ่อแม่จะควักกระเป๋าซื้อให้ทันที ก็จะต้องอดทนฟังเสียงเว้าวอนของลูกๆ พร้อมกับช่วยแนะนำให้เจ้าตัวเล็กรู้จักรอ อดทน เก็บออม และใช้เงินเก็บดังกล่าว (บวกกับเงินของพ่อแม่) เพื่อซื้อของที่อยากได้
ในบทความนี้จะรวบรวมเทคนิคสอนการออมสำหรับพ่อแม่มือใหม่ที่มีลูกวัยอนุบาลจนถึงประถมนะครับ
วัยอนุบาล เริ่มต้นด้วยการรู้จัก ‘รอ’
- ย้ำเสมอว่าการรอคือสิ่งที่ดี
ไม่แปลกหรอกครับที่เด็กๆ จะเกลียดการรอคอย เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่บางคนเองก็รู้สึกอดรนทนไม่ได้ที่จะต้องรออะไรนานๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อแถวจ่ายเงิน รอคิวเล่นของเล่น หรือกระทั่งติดแหงกอยู่ในรถเพราะสภาพการจราจร
หน้าที่ของพ่อแม่ คือ ต้องย้ำกับลูกๆ เสมอว่าการรอคอยครั้งนี้มีสิ่งดีรออยู่ที่ปลายทาง เช่น การนั่งรถนานๆ ก็เพื่อไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าและกินอาหารอร่อยๆ หรือไปเที่ยวสถานที่แปลกใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน เมื่อมีโอกาส อย่าพลาดที่จะชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการรอคอย อย่างการต่อคิวเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น พ่อแม่ก็สามารถชวนลูกมองไปท้ายแถวเพื่อบอกว่าเด็กๆ ทุกคนไม่ว่าจะเด็กเล็กหรือเด็กโตก็ต้องเข้าคิวเพื่อเล่นเครื่องเล่นเหมือนกัน นี่คือตัวอย่างของความเท่าเทียมในสังคม
นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถชวนเด็กๆ เล่นเกมส์ระหว่างรอเพื่อไม่ให้น่าเบื่อเกินไป เช่น เล่นเป่ายิ้งฉุบ หรือการทายคำที่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ อีกทางเลือกหนึ่งคือชวนลูกคุยถึงแผนการสนุกๆ ในอนาคต เช่น ทริปท่องเที่ยวปลายเดือนหน้า หรืองานจับของขวัญฉลองปีใหม่ เป็นต้น
ข้อห้ามเด็ดขาดสำหรับพ่อแม่ คือ การ ‘โกง’ ระบบเพื่อลูก เช่น การขอลัดคิวโดยให้เหตุผลว่ารีบ หรือไปต่อคิวเครื่องเล่นแทนลูก พฤติกรรมเช่นนี้นอกจากจะเป็นการสอนลูกว่าการโกงนิดโกงหน่อยไม่เป็นอะไร เด็กๆ ยังอาจโตมาโดยที่ไม่มีความสามารถในการควบคุมตนเองอีกด้วย
- เริ่มหยอดกระปุก
แน่นอนครับว่าเราคงเริ่มสอนการออมเงินไม่ได้ หากยังไม่มีกระปุกออมสินซึ่งอาจจะเป็นกระปุกสวยงาม กระป๋อง หรืออะไรก็ได้สามารถใส่เงินเอาไว้ได้ ถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นวัสดุโปร่งแสงและหยิบยากสักหน่อยเพื่อลดความเย้ายวนที่เด็กๆ จะหยิบเงินเหล่านั้นออกมาใช้
หลายตำราแนะนำว่าควรมีกระปุกสัก 3 อัน เพื่อให้เจ้าตัวเล็กแบ่งการออมตามเป้าหมาย เช่น กระปุกที่หนึ่งสำหรับของเล่นหรือขนมชิ้นเล็กๆ ที่ราคาไม่สูงมากนัก กระปุกที่สอง ของเล่นชิ้นใหญ่ที่อาจต้องใช้เวลาออมนานสักหน่อย กระปุกที่สามสำหรับบริจาค โดยแต่ละกระปุกต้องมีการทำสัญลักษณ์อย่างชัดเจน โดยอาจแปะรูปของที่อยากได้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเก็บออมของเด็กน้อย
อีกไอเดียหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘กระปุกกองกลาง’ ที่พ่อแม่และลูกจะร่วมกันออมเงินโดยมีเป้าหมายร่วมกัน เช่น สั่งอาหารที่ทุกคนชื่นชอบ หรือทริปไปเที่ยวสวนสัตว์กันทั้งครอบครัว แน่นอนว่าเงินส่วนใหญ่ในกระปุกจะมาจากพ่อแม่ แต่กระปุกกองกลางจะเปรียบเสมือนการสอนภาคปฏิบัติที่ทำให้การออมเงินเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น และยังเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยเรื่องเทคนิคการออมต่างๆ ระหว่างพ่อแม่ลูก
- ทำตามสัญญา แม้เราจะมีเทคนิคแพรวพราวอย่างไรในการจูงใจให้ลูกออมเงิน แต่เทคนิคเหล่านั้นก็อาจเปล่าประโยชน์หากพ่อแม่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้ได้โดยไม่มีคำอธิบาย การทำตามสัญญาจะช่วยสร้างความเชื่อใจระหว่างพ่อแม่และเจ้าตัวเล็ก การออมเงินเป็นเรื่องที่ต้องอดทนรอในระยะยาว แต่การจูงใจให้ออมจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลยหากเด็กๆ ไม่เชื่อมั่นว่าการหยอดกระปุกในวันนี้ จะทำให้ได้ของเล่นชิ้นใหญ่ที่พ่อแม่สัญญาว่าจะช่วยออกเงินส่วนต่างให้ในอนาคต
วัยประถม ปลูกฝังการออมให้เป็นนิสัย
- เริ่มด้วยกฎจำง่าย
วิธีหนึ่งที่จะเปลี่ยนให้การออมกลายเป็นนิสัย คือ การตั้งกฎจำง่าย (rule of thumb) ซึ่งหลายคนอาจคุ้นเคยกันดี เช่น การออมธนบัตร 50 บาททุกครั้งที่ได้รับเป็นเงินทอนของเหล่ามือใหม่หัดออมทั้งหลายแต่สำหรับเจ้าตัวเล็ก เราอาจเริ่มต้นด้วยกฎง่ายๆ ที่ตรงไปตรงมา เช่น ถ้าได้เงิน 10 บาท จะกันเงิน 2 บาทหรือ 20 เปอร์เซ็นต์ไว้เป็นเงินออม
กฎเช่นนี้จะช่วยให้การออมเป็นเสมือน ‘ระบบอัตโนมัติ’ เสมือนการแปรงฟันก่อนนอน คาดเข็มขัดเมื่อขึ้นรถ หรือสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่นั่งมอเตอร์ไซค์ กฎจำง่ายเช่นนี้ยังเปิดโอกาสให้พ่อแม่สามารถย้ำเรื่องการแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเก็บออมได้ทุกครั้งเมื่อเด็กๆ ได้รับเงิน
- เปิดบัญชีธนาคาร
เมื่อเจ้าตัวเล็กเริ่มโตขึ้น กระปุกกุ๊กกิ๊กอาจไม่น่าดึงดูดใจอีกต่อไป ถึงเวลาที่พ่อแม่จะพาเด็กน้อยไปเปิดบัญชีธนาคาร แต่ก่อนอื่นต้องอย่าลืมอธิบายด้วยว่าธนาคารทำงานอย่างไร อย่ากังวลไปนะครับ สำหรับเด็กระดับประถมเราคงไม่ต้องอธิบายไปถึงการตั้งเงินสดสำรองตามกฎหมายหรือการทำกำไรของธนาคาร
สิ่งสำคัญที่เด็กๆ จะมีคำถามแน่ๆ คือ ‘เงิน’ ที่เขาเก็บหอมรอบริบอย่างยากลำบากจะไปอยู่ที่ไหนหลังมอบให้ธนาคารเราสามารถอธิบายแบบตรงไปตรงมาว่าธนาคารมีตู้เซฟอันใหญ่ มีการป้องกันแน่นหนา และถึงจะมีปัญหา เรายังมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จัดตั้งโดยรัฐบาลไทยคุ้มครองเงินที่ฝากไว้กับธนาคารสูงสุดถึง 1 ล้านบาท ดังนั้นลูกๆ มั่นใจได้เลยว่าเงินที่ฝากไว้จะไม่หายไปไหนแน่นอน
- เรียนรู้เรื่องอัตราดอกเบี้ย
การฝากเงินไว้กับธนาคารนอกจากจะปลอดภัยแล้ว เรายังได้ดอกเบี้ยอีกด้วยนะ พ่อแม่สามารถเน้นย้ำเรื่องดอกเบี้ยรับจากธนาคารว่าเปรียบเสมือน ‘เงินเพิ่มที่ได้มาฟรีๆ’ จากการฝากเงิน ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จะอยู่ที่ประมาณ 0.25 เปอร์เซ็นต์ เราสามารถอธิบายให้ลูกๆ ฟังได้ว่า ถ้าฝากเงิน 1,000 บาทไว้ที่ธนาคาร ผ่านไปหนึ่งปีเงินก็จะงอกเงยมาเป็น 1,002.50 บาทโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร
สำหรับพ่อแม่คนไหนที่มองว่าตัวเลขดังกล่าวต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนไม่สามารถจูงใจคุณลูกได้ เราก็สามารถทำ ‘โครงการสมทบการออม’ คล้ายๆ กับการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน แต่สำหรับการออมของเด็กๆ จะเป็นการที่พ่อแม่จ่ายเงินสมทบเข้าเงินออมของลูก
ตัวอย่างเช่น ทุกการออมเงิน 1 บาทของเจ้าตัวเล็ก พ่อแม่จะสมทบเพิ่มอีก 1 บาท เป็นต้น ส่วนจะสมทบมาก สมทบน้อย ก็ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของคุณพ่อคุณแม่นะครับ แต่โปรดระวังอย่าใจป้ำเกินไปเพราะจะหมดตัวเพราะเหล่าเด็กน้อยนักออมเงิน (ฮา!)
ข้อห้ามสำคัญ – อย่าแอบขโมยเงินออมลูกเด็ดขาด!
แม้กฎข้อนี้ดูจะเป็นสามัญสำนึกธรรมดา แต่ทราบไหมครับว่ามีการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่าพ่อแม่จำนวนไม่น้อยเลือกจะ ‘หยิบ’ เศษเงินจากกระปุกคุณลูกมาใช้ก่อนแล้วค่อยนำมาคืนทีหลัง แต่หากถูกจับได้เมื่อไหร่รับรองได้ว่าเป็นเรื่อง เพราะพฤติกรรมดังกล่าวจะทำลายทุกอย่างที่เราพยายามสอนลูก ไม่ว่าจะเป็น ‘ของรางวัล’ ที่ได้จากการอดทนออมเงิน หรือ ‘ความปลอดภัย’ ของการหยอดเงินไว้ในกระปุก
สิ่งที่พ่อแม่ต้องตระหนักอยู่เสมอคือเงินเหล่าเป็นเงินของเจ้าตัวเล็กซึ่งเราไม่มีสิทธิจะไปแตะต้อง การเก็บหอมรอมริบและการบริหารเงินด้วยตัวเองจะทำให้เด็กๆ รู้สึกมั่นใจ ภาคภูมิใจ และเป็นอิสระ ซึ่งเราไม่ควรพรากความรู้สึกเหล่านั้นไป ทางที่ดีหากจะหยิบเงินลูกมาใช้ก็ต้องให้ลูกยินยอมพร้อมใจเสียก่อน
สำหรับพ่อแม่ที่ลูกล่วงเลยประถมวัยไปแล้วก็อย่าเพิ่งน้อยใจไปนะครับ อดใจรอสักหน่อยแล้วบทความชิ้นหน้าเรามาต่อด้วยเทคนิคสอนลูกเรื่องการออมฉบับเด็กโต เพราะการออมเป็นสิ่งที่ทุกคนควรฝึกให้เป็นอุปนิสัย ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ยังไม่สายเกินไป เพราะเป้าหมายสำคัญที่สุดในการเก็บออมของเรานั้นแสนยาวไกล คือการมีเงินเก็บเพียงพอในช่วงวัยที่รายได้เริ่มขาดหายนั่นเอง