Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Early childhood
13 January 2022

เงินทองต้องคิดส์ (10) : พื้นฐานเรื่องภาษีที่ลูกๆ ต้องรู้

เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ไม่ว่าใครต่างก็ต้องเสียภาษีตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลกไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ภาษีที่ว่าอาจเป็นภาษีเงินได้ที่หักออกจากรายได้ในแต่ละเดือน เป็นภาระที่ต้องจ่ายจากสารพัดความมั่งคั่งอย่างภาษีที่ดินและภาษีโรงเรือน เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อนำเข้าสินค้า หรือกระทั่งซุกซ่อนอยู่ในทุกการจับจ่ายใช้สอยในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • วิธีเริ่มต้นสอนลูกเรื่องภาษีที่ง่ายที่สุด คือ การตอบคำถามว่ารัฐบาลเก็บภาษีจากพวกเราทุกคนไปทำอะไร โดยอาจชวนเจ้าตัวเล็กคุยเรื่องสวนสาธารณะหรือสนามเด็กเล่นสุดโปรดว่าเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลจัดหามาให้พวกเราทุกคนในฐานะประชาชน พร้อมทั้งเล่นเกมสนุกๆ โดยผลัดกันทายว่าสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวันนั้น มีส่วนไหนบ้างที่เกิดจากภาษีของเราทุกคน
  • เมื่อเด็กๆ เริ่มเข้าใจแนวคิดพื้นฐานเรื่องภาษี ก้าวต่อไป คือ การรู้จักสารพัดภาษีที่ซุกซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏอยู่ในใบเสร็จรับเงิน ไปจนถึงสารพัดภาษีที่พ่อแม่ต้องจ่ายในแต่ละปี และในวันแรกที่ลูกๆ เริ่มมีรายได้ พ่อแม่ควรจะต้องให้ความช่วยเหลือในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีแรก พร้อมทั้งแนะนำเรื่องการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเพื่อวางแผนจัดการภาษีให้ดีที่สุด

เราทุกคนต่างต้องเสียภาษีตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลกไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ภาษีที่ว่าอาจหักออกไปจากรายได้ในแต่ละเดือน เป็นภาระที่ต้องจ่ายจากสารพัดความมั่งคั่งอย่างภาษีที่ดินและภาษีโรงเรือน หรือกระทั่งซุกซ่อนอยู่ในทุกการจับจ่ายใช้สอยในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม 

ผมโชคดีที่เรียนด้านบัญชีเลยมีความรู้ทางภาษีจากรั้วมหาวิทยาลัย แต่เชื่อไหมครับว่า เพื่อนหลายต่อหลายคนแม้ว่าจะทำงานมาร่วมสิบปีก็ยังต้องทักมาสอบถามเรื่องภาษีอยู่เนืองๆ การเตรียมให้ลูกพร้อมรับมือกับสารพัดภาษีที่ต้องเผชิญจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แม้ว่านี่อาจจะไม่ใช่หัวข้อที่น่าสนุกนัก แต่ก็จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคม

ส่วนคำถามที่ว่าควรเริ่มต้นเมื่อไหร่ ผมมีคำตอบเดียวสำหรับทุกเรื่องเกี่ยวกับการเงิน คือ เริ่มต้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้หัวข้อภาษีจะฟังดูน่ากลัว แต่ความจริงแล้วการสอนเด็กๆ อาจไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิด

1. รัฐเก็บภาษีไปทำอะไร?

วิธีเริ่มต้นสอนเรื่องภาษีที่ง่ายที่สุด คือ การตอบคำถามว่ารัฐบาลเก็บภาษีจากพวกเราทุกคนไปทำอะไร?

พ่อแม่สามารถเริ่มจากชวนให้เด็กๆ รู้จักผลลัพธ์จากการใช้เงินภาษี เช่น เวลาที่พาไปเดินสวนสาธารณะหรือสนามเด็กเล่นใกล้บ้าน เราก็ชวนคุยและตั้งคำถามว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของใคร เจ้าตัวเล็กอาจรู้สึกตื่นเต้นที่ได้รู้ว่าพื้นที่ที่ตัวเองใช้งานเป็นประจำนั้นดูแลและบริหารจัดการโดยรัฐบาลซึ่งเป็นเงินภาษีจากพวกเราทุกๆ คน 

นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ออกนอกบ้านเรายังสามารถชี้ชวนสารพัดโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลเป็นคนดูแลจัดการให้ ไม่ว่าจะเป็นท้องถนน ฟุตพาท สะพานลอย ตำรวจ และสถานีดับเพลิงซึ่งเป็นบริการที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ทุกคนในสังคม

แน่นอนครับว่าเราไม่จำเป็นต้องสอนลูกเพียงฝ่ายเดียว แต่อาจชวนเล่นเป็นเกมสนุกๆ โดยให้ลูกทายว่าอะไรบ้างที่พบเห็นในชีวิตประจำวันเป็นผลงานของภาครัฐที่มาจากภาษีประชาชน บางทีเด็กๆ อาจจะเห็นบางอย่างที่เราอาจมองข้ามและไม่คิดว่าเป็นผลงานของภาครัฐก็ได้นะครับ!

2. ของส่วนรวมกับของส่วนตัว

เมื่อเจ้าตัวเล็กพอจะนึกออกว่าภาษีจะถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง เด็กๆ ก็อาจเริ่มสงสัยว่าทำไมภาครัฐจะต้องเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดหาสินค้าหรือบริการเหล่านั้น แทนที่จะปล่อยให้ภาคธุรกิจจัดการเหมือนกับสินค้าและบริการอื่นๆ ตอนนี้เองที่พ่อแม่ต้องเตรียมคำอธิบายเอาไว้ให้ว่าด้วยสินค้าสาธารณะและสินค้าเอกชน หรือหากจะพูดแบบไม่วิชาการก็คือของส่วนรวมกับของส่วนตัว

เราสามารถชวนให้ลูกสังเกตความแตกต่างของสองอย่างนี้โดยการยกตัวอย่าง ‘ถนน’

ถนนทั่วไปที่เราเห็นแทบทั้งหมดเป็นพื้นที่สาธารณะเพราะไม่ว่าใครอยากจะใช้งานก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินให้กับใครเพราะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐจัดหาให้กับประชาชนทุกคน แต่การสร้างถนนก็มีต้นทุน รัฐจึงเป็นเสมือนตัวกลางรวบรวมเงินจากคนในสังคมมาสร้างถนนแก่สาธารณะ 

ในทางกลับกัน ทางด่วนก็นับว่าเป็นถนนเหมือนกันแต่ทุกครั้งที่เราจะขึ้นไปใช้บริการกลับต้องเสียเงิน สาเหตุก็เพราะว่าทางด่วนดังกล่าวลงทุนก็สร้างโดยเอกชน ทางด่วนจึงถือเป็นของส่วนตัวไม่ใช่ของส่วนรวม หากจะเข้าไปใช้ก็ต้องเสียเงินให้กับเจ้าของนั่นเอง

3. ภาษีเริ่มต้นที่บ้าน

อ่านหัวข้อแล้วหลายคนอาจจะเกาหัวว่าภาษีเกี่ยวอะไรกับเรื่องในบ้าน?

ก็กว่าเด็กๆ จะต้องเสียภาษีแบบจริงจังก็อาจต้องรอจนวันที่เรียนจบมหาวิทยาลัยซึ่งอาจช้าเกินการณ์ พ่อแม่สามารถออกแบบภาษีสำหรับทุกคนในบ้านเพื่อนำเงินที่รวบรวมได้มาทำโครงการส่วนรวมที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน เช่น ไปเที่ยวต่างจังหวัด ทานอาหารร้านอร่อย หรือลงทุนซื้อโทรทัศน์จอยักษ์สำหรับทุกคนในครอบครัว

การเก็บภาษีในบ้านก็คล้ายๆ กับการออม แต่แยกออกมาเป็นกระปุกหมูกองกลางที่ทุกคนจะต้องช่วยกันหยอด โดยอาจออกแบบกฎเกณฑ์ง่ายๆ เช่น ลูกหยอดวันละ 10 บาท ส่วนพ่อแม่หยอดวันละ 100 บาท แล้วสิ้นเดือนจะมีการประชุมครอบครัวว่าเอาเงินก้อนนี้ไปใช้ทำอะไรร่วมกัน สิ่งสำคัญของกิจกรรมนี้ คือ การลิ้มรสชาติการถูกหักเงินรายได้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ของส่วนรวม

4. ตามหาภาษีในชีวิตประจำวัน

หลังจากเจ้าตัวเล็กเริ่มรู้เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับภาษี ก้าวต่อไป คือ การรู้จักสารพัดภาษีที่ซุกซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน

ภาษีที่พื้นฐานที่สุดและอาจถูกมองข้ามมากที่สุด คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อไปซื้อของตามห้างร้านขนาดใหญ่ พ่อแม่อาจชี้ให้เจ้าตัวเล็กดูราคา ‘จริงๆ’ ของสินค้าที่ซื้อกับเงินที่เราต้องจ่ายพร้อมกับชวนให้สังเกตหนึ่งบรรทัดที่เขียนว่าภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ Value Added Tax (VAT) ที่จะบวกเพิ่มจากราคาสินค้าหรือบริการแทบทุกรายการถึง 7 เปอร์เซ็นต์!

นอกจากภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว พ่อแม่อาจชวนให้ลูกๆ รู้จักภาษีสรรพสามิตที่เป็นฉลากติดอยู่บนเครื่องดื่ม หรือภาษีศุลกากรที่ต้องจ่ายเวลาที่สั่งสินค้าบางอย่างจากต่างประเทศอีกด้วย

ส่วนภาษีที่อาจไม่ได้พบเจอในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่แต่จะมาเยี่ยมเยือนเราทุกปี ไม่ว่าจะเป็นภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งภาษีเงินได้ เราก็อาจใช้โอกาสที่ไหนๆ ก็ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ชวนลูกมาทำความรู้จักภาษีประเภทต่างๆ พร้อมทั้งฐานของภาษีที่ต้องจ่าย เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคิดจากมูลค่าของสินทรัพย์ หรือภาษีเงินได้ก็คิดจากรายได้ทั้งหมดของเราในแต่ละปี

5. ชวนลูกยื่นภาษี

พ่อแม่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับปีแรกที่ลูกๆ เริ่มมีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการทำงานเสริมระหว่างเรียนหรือรายได้จากการทำงานประจำหลังเรียนจบ เมื่อถึงฤดูกาลยื่นภาษี พ่อแม่ควรเข้าประกบและให้คำแนะนำในการยื่นแบบฟอร์มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้ว่าในปีนั้นรายได้อาจไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ตาม

การเสียภาษีครั้งแรก คือ ครั้งที่ยากที่สุด เพราะนอกจากจะต้องรู้จักฐานภาษีแล้ว การยื่นภาษียังมีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ตรงนี้เองที่พ่อแม่ซึ่งมีประสบการณ์ยื่นภาษีมาค่อนชีวิตควรเข้ามาช่วยเหลือ แนะนำสารพัดเทคนิคในการประหยัดภาษีไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกัน ซื้อกองทุน หักลดดอกเบี้ยค่าผ่อนบ้าน และอีกสารพัดทางเลือกซึ่งต้องวางแผนให้เรียบร้อยก่อนสิ้นปี

ปัจจุบันมีเครื่องมือมากมายช่วยให้เราวางแผนภาษีได้ง่ายขึ้น สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ต้องย้ำหากลูกๆ ทำงานประจำ คือ ภาษีที่ต้องเสียส่วนใหญ่จะถูกหักไปแล้วจากเงินเดือนในแต่ละเดือน หากไม่วางแผนภาษีตอนสิ้นปีก็อาจแทบไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่ถ้าวางแผนดีๆ รับรองว่าจะมีเงินเครดิตภาษีคืนเข้ากระเป๋าหลายพันบาท!

แต่นอกจากจะต้องจ่ายตามที่กำหนดพร้อมกับบริหารจัดการอย่างเหมาะสมแล้ว พ่อแม่ก็อย่าลืมปลูกฝังลูกๆ ว่า

ผู้เสียภาษีทุกคนยังมีสิทธิในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ พร้อมตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อพบการใช้เงินภาษีอย่างไม่เหมาะสม การใช้งบประมาณแบบไร้ประสิทธิภาพเป็นธรรมชาติของทุกรัฐบาลในโลก ประชาชนผู้เสียภาษีจึงต้องช่วยเป็นหูเป็นตาเพื่อให้เงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ส่วนพ่อแม่คนไหนที่ยังไม่ค่อยคล่องเรื่องภาษี ก็อาจถือโอกาสนี้เรียนรู้เรื่องภาษีในชีวิตประจำวันไปพร้อมๆ กับลูกด้วยเลยก็ได้นะครับ 

Tags:

ปฐมวัยการเงินภาษีพ่อแม่

Author:

illustrator

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

คุณพ่อลูกอ่อน นักการเงินทาสหมา ที่ใช้เวลาว่างหลังลูกนอน (ซึ่งไม่ค่อยจะมี) ในการอ่าน เขียน และเรียนคอร์สออนไลน์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Early childhood
    เด็กๆ ทุกคนไม่มีใครเหมือนกัน ทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นตัวของตัวเอง

    เรื่องและภาพ PHAR

  • Family Psychology
    3 ขั้นตอนเช็คลูก ก่อนไปหาจิตแพทย์/นักจิตวิทยา

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Family Psychology
    คุยกับนักศิลปะบำบัดเรื่องซึมเศร้าในเด็ก กับข้อสังเกต ทำไมเด็กพูดเสียงดังและไม่มีใครฟังใคร?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • 21st Century skills
    คิดอย่างสร้างสรรค์ด้วยการทำงานของสมอง 2 ซีก

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Early childhoodBook
    ครูชีวันชวนอ่าน ‘5 นิทาน’ น่ารัก ดีต่อใจและไม่สอน

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel