- ปม หรือ บาดแผลในใจ ทำให้เรามีบุคลิกนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือหลายๆ อย่าง) แต่เหตุการณ์เลวร้ายไม่ได้ทำลายแค่จิตใจ แต่กำหนดวิธีที่เราจะตอบสนองต่อโลกภายนอก ซึ่งหากคุณกำลังสวมบทเป็นผู้ปกครอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคุณ คนหนึ่งก็คือ ‘ลูก’
- เหตุผลในทางจิตวิทยา พฤติกรรมที่คุณแสดงต่อลูกวันนี้ ก็มาจากปมหรือการถูกเลี้ยงดูในอดีต และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณและลูก จึงมีวิธีป้องกันตัวเองจากโลกภายนอก ด้วยวิธีที่คล้ายกัน
- บทความโดย ญาดา สันติสุขสกุล กระบวนกรอบรมด้านพัฒนาจิตใจ อธิบายแบบแผนพฤติกรรมของคนผ่านทฤษฎีและเคสที่เธอเคยทำงานส่วนตัวด้วย
ในโต๊ะอาหารมื้อกลางวัน ฉันร่วมนั่งรับประทานอาหารกับแม่ลูกคู่หนึ่ง คุณแม่วัยสามสิบต้นๆ กับลูกสาววัยสามขวบ คุณแม่ตั้งใจให้ลูกทานข้าวเอง แต่ก็อยากให้ลูกระมัดระวังไม่ทำเม็ดข้าวหกเลอะเทอะ แต่ทุกคำที่เจ้าหนูตักข้าวเข้าปากก็ต้องมีเม็ดข้าวตกลงนอกชามเสมอ ทุกครั้งที่ลูกทำข้าวตก คุณแม่ก็จะบอก (ร่ายกับ) ลูกว่า
“ลูกคะ ชาวนาปลูกข้าวเหนื่อยนะกว่าจะได้มาแต่ละเม็ด”
ฉันเลยแอบแทรกบทสนทนาคู่แม่ลูก ด้วยการเล่นสมมุติกับเด็ก ให้เขาจินตนาการว่า เม็ดข้าวแต่ละเม็ดคือขบวนรถไฟและกำลังจะไปเที่ยว ระวังนะอย่าทำผู้โดยสารตกขบวน!
เจ้าหนูเริ่มยิ้ม เขาระวังมากขึ้นในการป้อนข้าวเข้าปาก ส่วนตัวคุณแม่นั่งทึ่งกับสิ่งที่เห็น
เมื่อได้จังหวะคุยเพื่อลงรายละเอียดกับคุณแม่ท่านนี้ก็พบว่า คุณแม่ถูกเลี้ยงดูจากแม่ที่เจ้าระเบียบ ครอบครัวมีฐานะไม่ร่ำรวย ตั้งแต่เด็กต้องช่วยแม่ทำงานต่างๆ เพื่อความอยู่รอด ไม่เคยมีช่วงวัยที่เล่นสนุกเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ เธอบอกว่า “ตั้งแต่จำความได้ก็เป็นคนไม่ยิ้มแย้ม จริงจังกับชีวิตแทบทุกเรื่อง หลายครั้งคิด กังวลใจว่าจะเลี้ยงลูกได้ดีไหม ไม่อยากให้เขาเติบโตมาเป็นแบบตัวเองที่ขาดโอกาสในชีวิตมากมายเพียงเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงอยากให้ลูกได้คิดในแบบผู้ใหญ่ แต่ก็หลงลืมไปว่าลูกยังเล็กอยู่”
แม้บ้านจะเป็นสถานที่แรกที่เราทุกคนได้เรียนรู้ความสัมพันธ์มากมายในบ้าน แต่บ้านก็เป็นโรงเรียนแห่งแรกที่เราจะได้พบกับ ‘ปม’ (trauma) บาดแผลทั้งทางกายและใจ แม้บทบาทของผู้ปกครองหรือพ่อแม่เองต้องการปกป้องเด็กให้รอดพ้นจากความเจ็บปวดต่างๆ ก็ตาม แต่มันยังเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับว่า คุณเองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างปมภายในให้แก่เด็กด้วย
ปม หรือ บาดแผลในใจ ที่ทำให้เรามีบุคลิกนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือหลายๆ อย่าง) – นี่คือเรื่องที่หนึ่ง
และเมื่อชีวิตถูกขับเคลื่อนด้วยปมหรือบาดแผลในวัยเด็ก อิทธิพลจากอดีตย่อมส่งผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ของเรา กระทบต่อคนข้างๆ ไปสู่ลูก สู่คนที่เรารักมากมาย – นี่คือเรื่องที่สอง
เมื่อชีวิตถูกอิทธิพลของ ‘ปม’ (trauma) เล่นงาน คุณก็เหมือนกับหุ่นที่คอยถูกชักใยได้ง่าย ทำให้คุณมีปฏิกิริยาตอบสนองกับคนรอบข้างอย่างชัดเจน เหตุการณ์ใหม่ก็พร้อมจะสร้างความตึงเครียด เชื้อเชิญให้คุณพบเจอกับความปั่นป่วนทั้งกายและจิตใจ ธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีใครเลยที่ชอบชุดประสบการณ์ที่ยากๆ ‘ดั่งวันฟ้าหม่น’ ตัวเราเองก็จะต่อต้านสิ่งที่เราไม่ชอบ เราจะสร้างป้อมปราการขวางกั้นเรากับความสัมพันธ์ต่างๆ เราเลือกจะทำสงครามกับตัวเอง
ป้อมปราการที่ว่า หลายคนเลือกใช้ความวิตกกังวลแทนการจัดการแก้ไขสถานการณ์ที่เหมาะสม (วิตกไปก่อน แก้ไขทีหลัง) หลายคนเลือกต่อสู้ดิ้นรนอย่างไม่ลดละ บางคนเลือกหลบหนีความท้าทายในวิกฤติชีวิตไปที่อื่น หรือไม่ก็พร้อม (ขอเวลา) จะสิ้นหวังท้อแท้และจมลงในความรู้สึกพ่ายแพ้ต่อหนทาง ปล่อยให้ตัวเองถูกครอบงำไปด้วยความไม่ปลอดภัย สุดท้าย เราจ่ายค่าเสียหายด้วยโรคภัยที่รุมเร้าที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง
ประเด็นก็คือ เหตุการณ์เลวร้ายไม่ได้แค่ทำลายจิตใจ แต่มันกำหนดวิธีที่เราจะตอบสนองต่อโลกภายนอก และหากคุณกำลังสวมบทเป็นผู้ปกครอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคุณ ส่วนหนึ่งก็คือลูก
เพื่อทำความเข้าใจว่า ‘ปม’ วัยเด็ก มีอิทธิพลต่อการกระทำและส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง และจะสร้างวงจรพฤติกรรมนั้นต่อลูกอย่างไร ขออธิบายผ่าน แบบแผนความสัมพันธ์ที่มั่นคงปลอดภัย (Secure Attachment) และแบบแผนความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง (Insecure Attachment) 3 อย่าง
แบบแผนความสัมพันธ์ที่มั่นคงปลอดภัย (Secure Attachment)
ในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่มั่นคงปลอดภัย เรามักนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘แม่’ และ ‘ลูก’ เป็นหลัก เป็นเช่นนั้นก็จริง แต่ส่วนใหญ่แล้ว เด็กจะรู้สึกถูกหล่อเลี้ยงจากความสัมพันธ์ที่มั่นคง เป็นพื้นที่ทางใจ ก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่กับพ่อแม่แท้ๆ แต่อาจเป็นปู่ ย่า ตา ยาย ครู หรือผู้ใหญ่ใกล้ชิดสักคนที่พร้อมส่งความปรารถนาดีและแสดงออกให้เห็น รับรู้ ไม่ว่าจะผ่านสีหน้าแววตาที่มอบความวางใจ ทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกรักอย่างสิ้นสงสัย มันคือคุณภาพของการดำรงอยู่ที่ช่วยให้คนคนนั้นเติบโตอย่างสมวัยได้เลยทีเดียว
แต่เฉพาะแบบแผนของความสัมพันธ์ที่มั่นคง คือท่าทีที่สงบ ผ่อนคลาย ยืดหยุ่น และปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ เป็นสายสัมพันธ์ที่สร้างความสนิทสนมเป็นกันเองระหว่างผู้ปกครองกับลูก แต่สายสัมพันธ์ประเภทนี้ก็มาจากศักยภาพที่จะหยั่งถึงความรู้สึกของตัวเองและลูกได้ รวมถึงรับรู้ได้ถึงสภาวะความสัมพันธ์ที่ไม่อาจราบรื่นและเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็สามารถรื้อซ่อมความสัมพันธ์เป็น
เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมกับแม่หรือผู้ปกครองแบบนี้ก็จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีอารมณ์ที่มั่นคง ยอมรับอารมณ์ต่างๆ เป็น อบอุ่น ปลอดภัย มีความเรียบง่ายในการสัมพันธ์กับคนรอบๆ ข้าง เมื่อเกิดวิกฤติในชีวิต เด็กจะหาจุดสมดุลเพื่อฟื้นคืนกลับมาสู่ความเป็นปกติได้ หรือสายสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยสร้างการขับเคลื่อนในการดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมั่นคง เขาหรือเธอจะเป็นต้นแบบของความมั่นคงทางจิตใจต่อไปในอนาคต
ทั้งหมดที่กล่าวไปคือรูปร่างหน้าตาของความสัมพันธ์ที่มั่นคง ส่วนแบบแผนความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง (Insecure Attachment) แบ่งย่อยออกเป็นอีก 3 แบบ คือ
วิตกกังวล (Anxiety)
เพิกเฉย (Avoidance)
เสียการควบคุม (Disorganization)
1. แม่ที่ ‘วิตกกังวล’ (Anxiety)
คนที่มักวิตกกังวล เติบโตมาจากเด็กที่ขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน แต่เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ตอนเป็นเด็กเล็กจึงมักมีพฤติกรรมของการตรวจสอบและคอยเช็คความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับแม่หรือผู้ใหญ่ที่ดูแล ตรวจสอบว่าความสัมพันธ์นี้ปลอดภัยหรือไม่ คอยสำรวจสีหน้า ท่าที น้ำเสียงของผู้ดูแลเสมอๆ จึงส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่ไวและสร้างความหวาดระแวงไม่ว่าผู้ดูแลจะดีหรือร้ายก็ตาม
เมื่อโตขึ้น จึงกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ใส่ใจความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก เมื่อต้องสวมบทบาทเป็นแม่ จึงมีอารมณ์ที่ไม่มั่นคง เมื่ออารมณ์ดีก็ตอบสนองความต้องการของลูกได้ แต่หากวันใดอารมณ์เสียหรือหงุดหงิด ก็จะปิดกั้นตัวเองกับลูก และอาจร่วมถึงควบคุมอารมณ์ด้านร้ายของตัวเองไม่ได้
เพราะในอดีตของแม่ก็ไร้ที่พึ่งอย่างมั่นคงมาก่อน แม่จึงมีแนวโน้มที่จะมีความวิตกกังวลเป็นพื้นฐานและมองหาสิ่งอื่นที่ไม่เป็นประโยชน์มาช่วยให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่ติดขัด ทำให้การตอบสนองต่อเด็กเป็นไปอย่างผิดที่ผิดทาง
เช่น หากเมื่อเด็กเกิดความปั่นป่วนแม่อาจจะตอบสนองลูกด้วยคำขู่หรือเงื่อนไขต่างๆ “ต่อไปแม่จะไม่รักนะ หากหนูทำตัวแบบนี้ แม่ชอบเด็กที่ว่านอนสอนง่าย” หรือสร้างให้เด็กเกิดความกลัวอย่างผิดๆ เพื่อยุติอารมณ์ที่กำลังพลุ่งพล่าน เช่น “ถ้าหนูไม่หยุดร้องไห้ แม่จะเอาหนูไปให้คนเก็บขยะเลี้ยงต่อนะ”
ทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลให้เด็กเกิดความหวาดระแวง เช่น เมื่อต้องการจะเดินหาคนเป็นแม่ เหมือนว่าขาข้างหนึ่งก้าวไปข้างหน้าแล้ว แต่อีกข้างกลับลังเลจะเข้าหาเพราะกลัวแม่ดุใส่ ตอนที่เด็กยังเล็ก (ยังไม่มีกระบวนการคิดและตระหนักรู้เช่นผู้ใหญ่) เมื่อเกิดความปั่นป่วนข้างใน เริ่มเรียกร้องความต้องการสักอย่าง และเมื่อแม่ไม่สงบมั่นคงพอ ก็รองรับอารมณ์ของเด็กได้ไม่ดีพอเช่นกัน
ในอารมณ์ขั้วบวก เด็กจะทำตัวน่ารักเพื่อเรียกร้องให้แม่เห็น หรือพยายามเอาอกเอาใจแม่เพื่อให้ได้มาซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่เขาต้องการ ในขั้วอารมณ์ลบ เด็กจะทำตัวร้ายกาจ แสดงอารมณ์พลุ่งพล่านยากต่อการควบคุม ต้องใช้เวลานานกว่าเด็กจะกลับสู่อารมณ์สงบได้
ในกรณีเด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ จากแม่เช่นนี้ เมื่อเกิดการกระทบกระเทือนจิตใจบ่อยๆ เด็กจะมีความไม่มั่นใจในตัวเอง ต้องคอยตรวจเช็คการยอมรับจากแม่หรือผู้ดูแลเสมอๆ ขาดความวางใจต่อสภาพแวดล้อม ไม่รู้สึกว่าโลกนี้มีที่ยืนหรืออยู่ได้อย่างปลอดภัย
อีกกรณีหนึ่งของคนเป็นแม่ที่มักวิตกหวาดระแวง แม่มักจะยอมจำนนต่อการเรียกร้องลูกเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้จบๆ ไป เช่น ลูกอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ทั้งที่มีของเล่นมากมายแล้วที่บ้าน
เมื่อบอกลูกว่า “แม่ว่าของเล่นนี้หนูมีเยอะแล้วนะ” แต่เด็กกลับร้องไห้ดังขึ้น จนในที่สุดแม่ก็ยอม “อะๆๆ ครั้งนี้ชื้อให้ก็ได้” ตัวเด็กเองจะเรียนรู้วิธีการต่อรองกับแม่หรือผู้ใหญ่คนนั้นด้วยการใช้อารมณ์ต่างๆ
เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะยึดความรู้สึกของตนเป็นหลักเช่นกัน เอาแต่ใจ มีแนวโน้มว่าชอบสิ่งไหนก็อยากจะครอบครอง หรือเกาะติดแจกับคนคนนั้นไม่ยอมให้คลาดสายตา หากไม่ได้ดั่งใจ อารมณ์ต่างๆ ก็จะถาโถมเข้าใส่ ทำให้จัดการสถานการณ์ไปด้วยความยุ่งเหยิง และอาจกลายเป็นคนไม่วางใจในความสัมพันธ์ เมื่อสัมผัสได้ถึงระยะห่างจากอีกฝ่าย ก็จะกังวลคิดมากไปไกลเกินเหตุ ต้องคอยตรวจเช็คความสัมพันธ์อยู่เรื่อยๆ
เช่น ในอดีตตอนที่เจนเป็นเด็กตัวน้อยที่น่ารักของแม่และพ่อ ตอนเป็นเด็กเธอชอบเต้นรำกระโดดไปมา เมื่อเห็นแม่ยิ้มหัวเราะตอบกลับมา เธอจะรู้สึกว่าแม่รักและเอ็นดู เป็นวันที่แม่เบิกบานใจ วันนั้นจะเป็นวันที่แม่ใจดีกับเธอมากเป็นพิเศษ รอยยิ้มของแม่มีความหมายสำหรับเธอมากเพราะเป็นภาพที่ตรึงใจ แต่ในวันที่แม่ป่วยด้วยโรคประจำตัว ปวดไมเกรน แม้แต่หน้า แม่ก็ยังไม่มองเธอ มันทำให้เธอรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้ เจนมารู้ตอนโตว่า ทุกเช้าที่แม่ต้องไปทำงาน เจนจะคอยเกาะขาแม่ไว้อย่างแน่นเหนียวไม่ยอมให้ไปไหน เมื่อเจนโตเป็นผู้ใหญ่ เจนจึงจดจำแม่ในสองบุคลิก
แม้ปัจจุบันนี้ เวลาที่เจนมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใคร ในใจของเจนจะรู้สึกไม่มั่นคง อยากอยู่ใกล้ๆ ด้วยตลอดเวลา แต่อีกใจก็กลัวว่าเขาจะไม่รักเธอไปนานๆ หรือแม้แต่ตอนที่แฟนของเจนนิ่งเฉย ก็จะให้ความรู้สึกเหมือนตอนที่แม่เพิกเฉยต่อเธอ
ตัวอย่างของแม่ลูกอีกคู่ที่ดูมีความสัมพันธ์อันซับซ้อน คือบทบาทของแม่เลี้ยงเดี่ยว เลิกรากับสามีเพราะพบว่าเขามีสัมพันธ์กับหญิงอื่น เธอเลี้ยงลูกโดยไม่พึ่งพาสามีแต่อย่างใด ลูกชายได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากแม่ผู้เด็ดเดี่ยว มีอาชีพการงานที่มั่นคง เป็นผู้หญิงทำงานเก่งได้รับการยอมรับจากสังคม
แต่ในบทบาทของแม่ที่ใกล้ชิดลูกผู้เป็นดั่งดวงใจ เธอจะให้ลูกตามเธอไปทุกแห่ง ลูกชายมีนิสัยตามใจแม่ทุกอย่าง แต่จะมีพฤติกรรมที่แปลกๆ อยู่อย่างหนึ่งคือ จะคอยซบไหล่แม่อยู่เสมอๆ ประหนึ่งว่าร่างกายของเด็กผู้ชายคนนี้ไม่มีกระดูกสันหลัง จนเมื่อลูกชายเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แม่ส่งเขาไปเรียนต่อต่างเมือง และเธอเริ่มรู้สึกเหงา เป็นกังวลถึงลูกชายเสมอ เธอยอมรับว่าการมีลูกชายอยู่ใกล้ๆ เป็นเสมือนตัวแทนของคนรัก ซึ่งในตัวลูกเอง การทำตัวอ่อนแอไม่ใช่เพราะสึกว่าต้องพึ่งพาคนเป็นแม่เสียทั้งหมด แต่ก็เพื่อให้แม่ได้แสดงบทบาทของความเข้มแข็ง แท้ที่จริงแล้วลูกกลับรับรู้ได้ว่าแม่ต้องการยึดใครสักคนเป็นที่พักใจ
2. แม่ผู้ ‘เพิกเฉย’ (Avoidance)
คือแบบแผนของคนที่เอาเหตุผลและหลักการนำอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเจอกับสถานการณ์ก็จะสนใจข้อมูลมากกว่าการสัมผัสโดยตรง บ่อยครั้งก็อาจละเลยการใส่ใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองและคนรอบข้างไป ไม่เห็นว่าอารมณ์มีสาระให้จับต้อง
แม่หรือผู้ดูแลเด็กแบบนี้มีแนวโน้มจะเชื่อตำราหรือองค์ความรู้มากกว่าจะเชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง มีคุณแม่หลายคนที่เลี้ยงลูกด้วยตำรา เช่น แม่ลูกอ่อนคนหนึ่ง คุณแม่จะให้นมลูกทุก 4 ชั่วโมงตามตำราที่อ่านมา หากลูกร้องไห้เพราะหิวนมในช่วงนอกเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะไม่ให้นมลูกจนกว่าจะครบ 4 ชั่วโมงก็เพราะต้องการยึดตามหลักการ
ชั่วขณะที่เด็กร้องไห้ก็ไม่รับรู้ว่าลูกต้องการอะไรกันแน่ หลักการบอกว่าหากอยากให้ลูกมีวินัย จึงปลูกฝังตั้งแต่เป็นทารกน้อย เมื่อคุณแม่รายนี้นำหลักการเดียวกันมาใช้กับเรื่องต่างๆ ของลูก แม่เองค่อยๆ ตัดการรับรู้ด้านจิตใจและสภาวะอารมณ์ความรู้สึกของเด็กไปทีละนิด จนขาดการเชื่อมโยงทางด้านจิตใจที่ละเอียดอ่อนต่อกัน จึงดูมีช่องว่างและระยะห่างในความสัมพันธ์ ไม่สนิทสนม ไม่ใกล้ชิด ไม่ค่อยมีท่าทีของการเล่นล้อ สิ่งที่น่ากลัวก็คือ การเล่นคือพื้นฐานของการกระตุ้นพัฒนาการในเด็กเล็กที่สำคัญอย่างยิ่งยวด
เมื่อแม่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ด้านจิตใจแล้ว ในมุมของเด็กเองก็จะค่อยๆ หยุดความพยายามในการสื่อสารช่องทางต่างๆ เช่น การร้องขอ การบอกความต้องการของตัวเอง การบอกความรู้สึก และจะทำตัวเสมือนว่าไม่มีปัญหาอะไร เด็กจะค่อยๆ ตัดอารมณ์ความรู้สึกของตนไปทีละเล็กละน้อย เพราะถึงแม้เขาจะพยายามสื่อสาร แต่ก็ดูไร้ประโยชน์ที่จะเรียกร้องให้แม่มาใส่ใจ เพราะแม่สนใจแต่เหตุผลเป็นใหญ่ เด็กอาจจะมีบุคลิกภาพที่นิ่งเฉย ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ความรู้สึก
ในฐานะนักบำบัดอิสระ หลายครั้งเราจะเจอกับเด็กแบบนี้ ซึ่งมีอายุเพียงไม่เท่าไร แค่ 8-10 ขวบ ก็ดูสงบนิ่งแบบผู้ใหญ่ ไม่ร้องไห้วอแว แต่ก็ไม่มีอารมณ์สนุกหรือหัวเราะขันออกมาได้อย่างอิสระ ดูไร้ชีวิตชีวา ผิดธรรมชาติของเด็กน้อยที่จะวิ่งเล่น สงสัยใคร่รู้ต่อสิ่งรอบตัว
เด็กหลายคนที่เติบโตมาด้วยกระบวนตัดความรู้สึกเหล่านี้ อาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับบางสภาวการณ์ หรือบางทีก็อาจจะไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบสิ่งใด และมีแนวโน้มสร้างบุคลิกภาพที่ดูนิ่ง สุขุม ใช้เหตุและผลเป็นหลัก ไม่มีท่าทีของการแสดงออกทางสีหน้าหรือท่าทางที่บ่งบอกถึงความรู้สึกภายใน ดูมีระยะห่างกับผู้คน ดูเข้าถึงยาก ดูยากและสลับซับซ้อน
ภายนอกเขาหรือเธออาจดูว่าพึ่งพาตัวเองได้ ไม่เรียกร้องอะไรให้คนรอบข้างวุ่นวาย ไม่สุงสิงกับใครมาก แต่ภายในจิตใจกลับจะมีความรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ลึกๆ อาจจะโหยหาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งจากอีกคนแต่แสดงออกไปไม่ได้เพราะสานความสัมพันธ์ไม่เป็น
ในมุมหนึ่ง บุคลิกภาพแบบนี้ถือว่าเป็นการปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวดหากความสัมพันธ์นั้นไม่เป็นไปตามต้องการ การนิ่งเฉยจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่เขาหรือเธอจะทำได้
ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งต้องมารับบทเป็นพ่อและสามี ภรรยาของเขาเริ่มเรียกร้องให้เขามีเวลาเล่นกับลูกที่ยังเล็กบ้าง แต่เขากลับรู้สึกลำบากใจที่จะใกล้ชิดด้วย เพราะเวลาที่ลูกร้องไห้หรือมีความปั่นป่วนทางอารมณ์ เขาจะรู้สึกปั่นป่วนตามไปด้วยและอยากหลีกหนีไปให้ไกล ตัวเขาเองก็ไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมจึงรู้สึกเช่นนี้
เมื่อฉันพูดคุยกับเขาถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับแม่ของเขา ก็จะได้ยินเขาพูดถึงแม่ว่า
“แม่เป็นคนนิ่งๆ ซึ่งบรรยากาศภายในบ้านตอนที่เขายังเด็กก็จะเงียบสงัดเป็นส่วนใหญ่ แต่ละคนจะมีมุมของตนเองที่ไม่ยุ่งกันมาก ผมไม่มีช่วงของความเป็นเด็กเท่าไหร่ รู้สึกได้เพียงว่า แม่กำลังมองผมในสายตาผู้ใหญ่คนหนึ่งมากกว่ามองมาที่เด็กน้อยนะ”
เขายอมรับว่า ในฐานะพ่อของลูกที่น่ารัก เขาเองรักลูก แต่ก็มีความไม่ชอบเด็กเล็กไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะไม่มีความถนัดที่จะใกล้ชิดกัน ซึ่งก็จะเป็นปัญหาให้ต้องทะเลาะกับภรรยาอยู่บ่อยๆ
3. แม่ผู้ ‘เสียการควบคุม’ (Disorganization)
ลักษณะของผู้ปกครองที่แสดงออกถึงการเสียการควบคุมทางอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะในเวลาที่เกิดความปั่นป่วนขึ้น มีแนวโน้มที่แม่เองจะทำร้ายเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากไม่สามารถวางขอบเขตในการรับรู้อารมณ์ตัวเองได้ ไม่เข้าใจว่าตอนนี้ตัวเองกำลังรู้สึกอะไร รู้แต่ว่าเกิดความปั่นป่วนจนระงับความรู้สึกลบไม่ได้
เพราะในส่วนลึกของผู้ปกครองเช่นนี้ เคยถูกกระทำจากผู้ปกครองของเขามาก่อน เคยเป็นเด็กที่ถูกเข้าหาด้วยความรุนแรง ครั้นในช่วงเป็นเด็กซึ่งยังปกป้องตัวเองไม่ได้ จึงไม่รับรู้ถึงการถูกรักและการได้รับความทะนุถนอมว่าเป็นเช่นไร ความเจ็บปวดหรือปมในอดีตยังคงค้างอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ มีแต่จะคอยปะทุออกเมื่อมีสถานการณ์ที่คล้ายคลึงอย่างในอดีตเกิดขึ้นอีก
สภาพจิตใจที่ไม่พร้อมจะดูแลเด็กแบบนี้ ย่อมส่งผลให้เด็กเกิดภาวะหวาดหวั่นใจได้เสมอ ซึ่งแม้จะมีสายใยผูกพันกับแม่ แต่ด้านที่หวาดกลัวก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กันด้วย เมื่อแบบแผนที่ถูกกระทบกระเทือนทางกายและใจเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำๆ จะส่งผลต่อพัฒนาการในเด็กเล็ก เช่น การพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดต่างๆ การสอดประสานของร่างกายเรื่องสมดุล เช่น เด็กที่เคยถูกเลี้ยงด้วยความกลัว แม่ที่คอยจับผิดลูกตลอดเวลา เลี้ยงลูกด้วยคำว่า ‘อย่า!’ ในบางรายของเด็กจะมีพัฒนาการเดินช้า เดินๆ แล้วสะดุดล้มทั้งที่ไม่มีสิ่งใดกีดขวาง พูดติดอ่าง และอื่นๆ
หรือในแม่บางรายที่สอนลูกด้วยการลงโทษเสมอๆ ใช้คำขู่ ‘อย่านะ เดี่ยวจะตีเลย’ และเมื่อพูดจบแม่ก็ลงไม้ลงมือตีที่ร่างกาย เมื่อเด็กร้องไห้หนักขึ้นก็จะตีซ้ำ ตัวแม่เลยได้โอกาสในการระบายอารมณ์ความไม่พอใจของตัวเองลงไปที่เด็ก หรือในขณะที่เด็กร้องไห้เพราะอยากให้แม่อุ้มแต่แม่กำลังมีปากเสียงกับสามี แม่กลับไม่อุ้มไม่ปลอบประโลมเด็ก แต่เข้าหาด้วยการตีแรงๆ เพื่อห้ามให้หยุดร้อง ตะโกนใส่ลูกด้วยคำด่าทอ ในเวลาที่เด็กกำลังเล่นของบางอย่างและเกิดเสียงดัง แม่ตะโกนด่า ใช้อารมณ์ที่รุนแรง เหล่านี้คือแบบอย่างของการกระทำ ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกได้ถึงการเป็น ‘เหยื่อ’
เมื่อเราได้ทำความเข้าใจถึงแบบแผนความสัมพันธ์ที่เราเคยได้รับการเลี้ยงดูมาจากผู้ปกครองแต่ละแบบในแต่ละคนแล้ว เราจะเห็นว่า อาจมีแบบแผนหลายแบบที่ตกมาอยู่ในจิตใจของเราได้ และกลายเป็นต้นแบบต่อไปในการที่เราจะกลายเป็นแม่พ่อในแต่ละแบบ ซึ่งในงานบำบัดนั้น เราสามารถทำความเข้าใจตัวเองและบำบัดจนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่แบบแผนความสัมพันธ์ที่ดีในแบบมั่นคงปลอดภัยได้
รื้อสร้างแบบแผนความสัมพันธ์ใหม่
อย่างที่เกริ่นในตอนต้นว่า ทุกแบบแผนความสัมพันธ์ที่บกพร่องนั้นสร้างใหม่ได้ เช่น ผู้ที่มีแบบแผนเพิกเฉย (Avoidance) ก็อาจเริ่มจากกลับมาเรียนรู้ที่จะตระหนักในความรู้สึกของตัวเองก่อนที่จะไปรับรู้คนอื่น เริ่มจากการฝึกรับรู้การมีอยู่กับร่างกายที่เชื่อมโยงกับหัวใจ รู้ร้อนรู้หนาวในตัวเอง จนเริ่มมีทักษะบอกความรู้สึกได้อย่างไม่เขินอาย จากนั้นจึงขยับไปที่การเดาว่าผู้คนแสดงออกในท่าทีต่างๆ นั้นเพราะมีความรู้สึกอย่างไร
ส่วนแบบ ลักปิดลักเปิด วิตกกังวล (Anxiety) ให้กลับมาให้ความสำคัญกับแกนของจิตใจภายใน วางขอบเขตให้กับพื้นที่ภายในให้ขยายออก และมีอาณาเขตที่จะดำรงอยู่กับใจตัวเองจนเจอสภาวะความนิ่งสงบ ในความเงียบสงบภายในจะช่วยให้คนที่วิตกกังวลสร้างความมั่นคงทางภาวะอารมณ์ และเรียนรู้จากผู้ใหญ่ที่เคยเข้ามามีบทบาทและคอยมอบความอบอุ่นอย่างเหมาะสมต่อคุณ ก็จงระลึกถึงภาพของคนผู้นั้นไว้เสมอๆ
และในคนแบบสุดท้าย เสียการควบคุม (Disorganization) จะต้องเน้นที่วิธีการดูแลด้วยความละเอียด อ่อนโยน อาจจะเริ่มต้นโดยการหาวิธีบำบัดในรูปแบบต่างๆ เช่น ศิลปะบำบัด การเดินในสวนสาธารณะที่มีพื้นที่โล่งกว้าง หรือหาคนที่จะคอยรับฟังเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ เรียนรู้วิธีการผ่อนคลายจิตใจจากความตึงเครียด เมื่อมีคนคอยรองรับดั่งมีภาชนะมารองรับอารมณ์ต่างๆ คนแบบเสียการควบคุมจะค่อยๆ รู้สึกวางใจและปลอดภัย เรียนรู้ที่จะกลับมารักร่างกายและจิตใจตนเอง
สำหรับท่านที่พร้อมแล้ว เริ่มทำ ‘แบบฝึกหัด’ ได้เลย
ขั้นที่หนึ่ง ‘เฝ้าสังเกต’
เริ่มทบทวนและเฝ้าสังเกตว่า เราได้มีแบบแผนความสัมพันธ์แบบใดบ้างกับลูกของเรา เรียนรู้ที่จะยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ให้ค่อยๆ สังเกตจนหาแบบแผนความสัมพันธ์หลักที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นประจำๆ
ขั้นที่สอง ‘ช้าลงแล้วลองทำความรู้จักกับพื้นฐานจิตใจของเรา’
ทำความรู้จักกับพื้นฐานจิตใจว่าในขณะที่เรากำลังเข้าสู่แบบแผนแต่ละแบบ เกิดความรู้สึกใดขึ้นบ้าง โดยอาจจะจดสถานการณ์และความรู้สึกต่างๆ ลงในสมุดบันทึก เฝ้าสังเกตในครั้งต่อๆ ไปว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่กระตุ้นให้เราคืบคลานเข้าสู่แบบแผนนั้นๆ มันคือการศึกษาองค์ประกอบของจิตใจเราว่าเป็นเช่นใดบ้าง เหมือนกับการภาพวาดสีน้ำซึ่งจะมีสีรองพื้นและสิ่งต่างๆ ปนกันอยู่
เราเริ่มแยกแยะถึงสีต่างๆ ของจิตใจเราได้ ก็ถือว่ามันคือการเรียนรู้ที่จะสำรวจตรวจตราจิตใจเรา ซึ่งจะค่อยๆ ช่วยให้เกิดการชะลอแรงขับที่อาจจะดำเนินไปอย่างเป็นอัตโนมัติ มีแม่หลายคนรู้สึกถึงความผิดที่หนักหนาเสมอ เมื่อลงไม้ลงมือตีลูกก็จะมีเสียงวิจารณ์ที่โบยตีตนเองตบท้ายเสมอๆ แต่ในขณะตีลูกตนก็จะไม่สามารถหยุดได้ทันการ
ขั้นที่สาม ‘พบเจอต้นตอและขอบคุณ’
เมื่อเราเริ่มสังเกตเห็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกลบภายใน ขอให้เรียนรู้ที่จะโอบกอดความรู้สึกที่โดดเดี่ยว โมโห น้อยใจ และอื่นๆ ไว้ภายในชั่วขณะ มีคุณคนเดียวเท่านั้นที่รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในใจคุณ ใช้เวลาเพียงอึดใจกับการสูดลมหายใจเข้าลึกยาว คุณเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะโอบกอดเด็กน้อยที่ครั้งหนึ่งในอดีตเป็นคนที่เคยถูกทอดทิ้งหรือถูกกระทำ ซึ่งในช่วงขณะที่เราไม่ทอดทิ้งใจตัวเอง เราอาจจะพบเจอภาพเหตุการณ์ในอดีตที่เราเคยประสบมา ก็ขอให้เราตระหนักถึงการระบุช่วงเวลาของภาพเหตุการณ์เหล่านั้น และกล่าวในใจตัวว่า…
“เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นในตอนที่ฉันยังเด็ก ซึ่งมันนานมาแล้ว และในตอนนี้ฉันได้รับรู้ความรู้สึกด้านนี้ของฉัน ขอบใจเรื่องราวในอดีตนะที่มาย้ำเตือนเพื่อไม่ให้ฉันลืม”
เพราะในอดีตขณะเป็นเด็กเล็ก คุณยังไม่สามารถตระหนักรู้ได้ถึงภาวะต่างๆ ไม่อาจเข้าใจจิตใจคนรอบๆ ข้าง และรวมถึงการเข้าใจสถานการณ์รอบข้างได้เทียบเท่ากับสติปัญญาของผู้ใหญ่ ความรู้สึกต่างๆ จึงถูกบีบอัดเป็นความทรงจำกลายเป็นบาดแผลในอดีต พร้อมที่จะปะทุขึ้นได้เสมอในยามที่เราแล่นเรือเข้าสู่ใจกลางคลื่นลมพายุ
ขั้นที่สี่ ‘สร้างต้นแบบแม่ใหม่ๆ’
ไม่เคยมีใครมากำหนดคุณได้ว่า คุณจะเป็นใคร มีท่าทีแบบไหน เพราะแท้จริงแล้วคุณมีด้านหนึ่งเป็นดั่ง ‘ผู้กำกับบทละครและตัวละคร’ เพียงแต่คุณอาจจะต้องหาข้อมูลเพิ่มอีกสักหน่อยว่า บทบาทการเป็นแม่หรือพ่อในแบบไหนที่คุณพอจะเป็นได้ หาต้นแบบที่คุณรู้สึกได้
แม่คนหนึ่งที่ฉันช่วยตั้งคำถามถึงต้นแบบในการเป็นแม่ที่เธอสนใจ เธอตอบว่าคือแม่ชีเทเรซา
“ฉันนึกถึงรอยยิ้มที่คุณแม่เทราซาซึ่งจะยิ้มให้กับเด็กเสมอๆ มันอบอุ่นมาก ในอดีตแม่ของฉันเองก็ไม่เคยยิ้มให้กับฉันเลย ฉันเลยอยากเป็นแบบคุณแม่เทราซา” แค่คำตอบสั้นๆ กับแววตาที่คุณแม่คนนี้ส่งมาทางดวงตาฉัน เพียงแต่ยิ้มที่มุมปาก ไม่กี่เสี้ยววินาที เธอก็ร้องไห้ ฉันให้เธอสบที่อกและกอดไว้แน่นๆ เธอเหมือนกลายเป็นเด็กน้อยที่กำลังร้องไห้บนอกแม่ ผ่านไปหลายเดือนจนเธอกลับมาหาฉันอีกครั้ง
เธอบอกกับฉันว่า “ฉันคิดว่า ฉันยิ้มให้ลูกบ่อยขึ้น และมันสุขใจมากที่ได้สบตาลูก ถึงแม้จะเป็น 3 วินาที แต่มันทำให้ใจฉันอิ่มและอุ่นมากค่ะ”
ขั้นที่ห้า ‘ทางเลือกที่คุณอยากเดิน’
เมื่อคุณฝึกฝนที่จะทำความเข้าใจจิตใจมาระยะหนึ่ง คุณจะมีทักษะที่จะดำรงตนอยู่กับปัจจุบันขณะ แม้เพียงในเวลาอันสั้นนัก แต่แค่เพียงเสี้ยววินาที คุณอาจจะสามารถคาดเดาทิศทางต่างๆ ได้ว่า คุณทำแบบนี้แล้วจะเกิดอะไร ถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วจะเกิดอะไร มันคือศักยภาพของการเพิ่มขีด ‘ความทานทน’ หรือการยับยั่งชั่งใจโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องกดทับอารมณ์ด้านลบทิ้งไปนะ เพียงแต่ชะลอ และเลือกเปลี่ยนทิศทางแค่นั้นเอง