- ตามพัฒนาการ เด็กเริ่มต้น ‘พูดโกหก’ ได้ตอนอายุประมาณ 2-3 ขวบ ซึ่งการโกหกมักจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยมีเหตุผล ความซับซ้อนและความแนบเนียนมากขึ้นตามช่วงวัย
- ‘พ่อแม่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูก’ หากเรากับลูกไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังให้ลูกพูดความจริงกับเรา เพราะการมีความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยลดกำแพงระหว่างเรากับลูกได้
- ในวันที่ลูกประสบปัญหาที่ตัวเขาเองแก้ไม่ได้ด้วยตัวเอง เราในฐานะพ่อแม่ ควรเข้าไปเคียงข้างและช่วยลูกให้เขาสามารถแก้ปัญหานั้นได้เสียก่อน และรับฟังอย่างสงบ ฟังจนจบ ไม่แทรกแซงหรือรีบสั่งสอน
‘พัฒนาการการพูดโกหก’
ตามพัฒนาการ เด็กเริ่มต้นพูดโกหกได้ตอนอายุประมาณ 2-3 ขวบ ในเด็กที่มีอายุต่างกัน การโกหกมักจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน
เด็กวัยหัดเดิน (Toddler) วัย 2-3 ปี
เด็กวัยนี้เริ่มเล่นบทบาทสมมติ (Pretend play) ได้ เช่น
กินอาหารในจินตนาการจากถ้วยชามของเล่น
คุยกับตุ๊กตาหรือเพื่อนในจินตนาการ
สมมติให้สิ่งต่างๆ ให้แปรเปลียนเป็นสิ่งที่ตนเองต้องการ
ความสามารถในการเล่นบทบาทสมมติ ทำให้เด็กมีสามารถสร้างเรื่องราวขึ้นจากจินตนาการของเขา ซึ่งบางครั้งทำให้ความเป็นจริงบิดเบือนไป การโกหกจึงไม่เป็นไป ตามหลักเหตุและผล หรือ ไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก
อย่างไรก็ตามในเด็กวัยหัดเดินยังไม่สามารถตระหนักถึงมุมมองของผู้อื่นได้กล่าวคือ ยังไม่สามารถมองผ่านมุมมองของผู้อื่น พวกเขาคิดจากมุมของเขาเป็นหลัก เนื่องจากเด็กวัยนี้ยังเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) จึงทำให้เวลาเขาพูดโกหก ผู้ใหญ่สามารถบอกได้ง่ายว่าพวกเขากำลังโกหกอยู่ เพราะการโกหกนั้นไม่ซับซ้อน และไม่แนบเนียน
ยกตัวอย่าง มีเค้กตั้งอยู่ในห้องครัวอยู่ก้อนหนึ่งในบ้าน ณ เวลานั้นมีแค่เด็กน้อยกับพ่อแม่ เพียงไม่กี่นาที ในขณะที่พ่อแม่ทำงานบ้านอยู่ เค้กหายไป ส่วนเด็กน้อยนั้นมีคราบครีมของเค้ก เปื้อนอยู่รอบปาก
พ่อแม่ถามเด็กน้อยว่า “ได้กินเค้กก้อนนี้ไปหรือเปล่า?” เด็กน้อยจะตอบกลับแบบหน้าตาเฉย (หน้านิ่ง) ว่า “ไม่ได้กินนะ แมวต่างหากที่กิน” ซึ่งหลักฐานนั้นมีอยู่ให้เห็นชัดเจน การโกหกของเด็กวัยนี้ยังเป็นการโกหกสีขาว เป็นการโกหกที่มักจะไม่ทำร้ายใครได้มากมาย
เด็กเข้าสู่วัย 4-6 ขวบขึ้นไป
การโกหกของพวกเขาเริ่มซับซ้อนมากขึ้น จากการโกหกแบบหน้าตาย พวกเขาเริ่มมีความสามารถในการคิดในมุมมองของผู้อื่น และเข้าใจว่า จะต้องสร้างเรื่องราวแบบไหนให้ดูน่าเชื่อมากกว่าเดิม
ยกตัวอย่าง
พวกเขารู้ว่า ถ้าหากเขาวาดรูปบนกำแพง แล้วไปบอกพ่อกับแม่ว่า “หมาที่บ้านเป็นคนวาด” พ่อแม่คงไม่เชื่อแน่นอน แต่ถ้าหากเขาบอกว่า “น้องชายของเขาวาดบนกำแพง” พ่อแม่มีแนวโน้มจะเชื่อเขามากขึ้น เพราะน้องชายของเขาจับดินสอสีมาวาดบนกำแพงได้ และเคยทำเช่นนั้นมาก่อนแล้ว
เด็กวัยนี้เริ่มโกหกโดยยึดตามสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจริงได้ และมองผ่านมุมมองของผู้อื่นมากขึ้น เริ่มมีเหตุผลมาสนับสนุน เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ และปกปิดความจริง
เด็กเข้าสู่วัย 8-9 ปี
พวกเขาสามารถโกหกได้อย่างแนบเนียน มีบุคคลพยาน และหลักฐานที่สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถัน
ยกตัวอย่าง
เมื่อเขาสอบตก แล้วไม่ต้องการให้เรารู้ เขาอาจจะบอกเพื่อนสนิทว่า ให้บอกกับแม่ของ เขาว่า “ผลสอบผิดพลาด ครูต้องตรวจใหม่ เลยยังไม่ประกาศ”
การโกหกของเด็กวัยนี้จะเกิดขึ้นเพราะเขาไม่สามารถทำได้ตามที่ผู้ใหญ่คาดหวัง และเพื่อให้ตนเองถูกมองในแง่ดี การโกหก หรือ ความสามารถในการยับยั้งไม่ให้ตัวเองปากโป้งออกไปที่เกิดขึ้นในเด็ก วัย 2-8 ปี ถ้ามองในมุมของประสาทวิทยา ความสามารถนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการพัฒนาของกลีบสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การออกเสียง ความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก พื้นอารมณ์ การรับรู้ ความเข้าใจ สติปัญญา การมีเหตุผล การแก้ปัญหา การพูด อารมณ์ และความจำในระยะยาว
แต่เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น 10-12 ปีขึ้นไป
การโกหกจะไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อปกปิดความจริง เพื่อให้ได้รับสิ่งที่ต้องการ หรือ ความสนใจ แต่เป็นการโกหก เพราะไม่ต้องการทำร้ายใคร หรือ ทำให้ใครเสียใจ เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น
ในวัยรุ่น ‘เพื่อน’ คือ สิ่งสำคัญ และ ‘การเป็นที่ยอมรับในสังคม’ คือ สิ่งที่เขาให้ความ สำคัญมาก ดังนั้นถ้าหากเพื่อนของเขาทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เด็กวัยรุ่นพร้อมจะช่วย เพื่อนด้วยการโกหกปกปิดความผิดของเพื่อน
แม้แต่การที่เขาทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ไม่ได้ เด็กวัยนี้อาจจะโกหกเรา เพราะไม่ต้องการทำให้เราเสียใจ ผิดหวัง หรือ โกรธเขาก็เป็นได้ ดังนั้นการโกหกที่เกิดขึ้นในวัยนี้ซับซ้อน และการจะทำให้เด็กวัยนี้พูดความจริงกับเรา พ่อแม่ต้องพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ เขารู้สึกวางใจเพียงพอที่จะพูดความจริงออกไป
แนวทางในการทำให้ลูกกล้าพูดความจริงกับเรา
‘พ่อแม่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูก’
‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในที่นี้ไม่ใช่สถานที่ แต่คือบุคคลที่พร้อมให้การยอมรับ ให้การรับฟัง และให้ความช่วยเหลือ
‘ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับลูกสำคัญมาก’
ถ้าหากเรากับลูกไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การคาดหวังให้ลูกพูดความจริงกับเรา อาจจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไป เพราะสำหรับเด็กแล้ว การมีความสัมพันธ์ที่ดี จะช่วยลดกำแพงระหว่างเรากับลูก ให้การพูดความจริงไม่ได้นำไปสู่สิ่งที่น่ากลัว เช่น การลงโทษอย่างรุนแรง ความผิดหวัง และอื่น ๆ แต่เป็นการได้รับความช่วยเหลือจากเราต่างหาก
‘สนับสนุนและชื่นชมเมื่อลูกพูดความจริง’
เมื่อลูกพูดความจริง แม้สิ่งนั้นจะทำให้พ่อแม่อย่างเรารู้สึกโกรธมากแค่ไหน ก็ให้เราสงบใจ และให้การช่วยเหลือลูกก่อน เมื่อช่วยเหลือแล้ว เราสามารถสอนเขาให้จดจำบทเรียนครั้งนี้ เพื่อว่าในอนาคตเขาจะได้ไม่ทำเช่นนี้อีก
สุดท้ายอย่าลืมชื่นชมและขอบคุณลูกที่กล้าหาญและพูดความจริงออกมา แม้สิ่งที่เขาทำมันจะเป็นสิ่งที่ผิด แต่อย่างน้อยลูกเลือกที่จะพูดความจริงกับเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ เพื่อให้เราได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที
การลงโทษที่รุนแรงมักนำไปสู่ ‘การโกหก’ มากกว่า ‘การพูดความจริง’ ในขณะที่ ‘ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และเด็ก’ ‘การรับฟัง’ และการทำให้เด็กรู้สึกว่า ‘ตนเป็นที่ยอมรับ’ นำไปสู่ ‘การพูดความจริง’ มากกว่า ‘ปกปิดความจริงนั้นไว้’ ถ้าเด็กรับรู้ว่า ‘การพูดความจริงจะทำให้เขาได้รับการช่วยเหลือ’ เด็กจะเลือกที่จะบอกเรา เพราะไม่มีเด็กคนไหนอยากโกหกหรอก ถ้าเขารู้ว่าผู้ใหญ่ช่วยเหลือเขาได้
‘ทำไมเด็กถึงพูดโกหก’
ในเด็กเล็กมักจะโกหกเพราะต้องการบางอย่าง
(1) ปกปิดความผิด และทำให้ตัวเองรอดพ้นจากความผิดนั้น
(2) อยากทำให้เรื่องราวของพวกเขาน่าตื่นเต้นมากขึ้นหรือทำให้ตัวเองน่าสนใจมากขึ้น เช่น เด็กบางคนเพิ่งอาบน้ำเองเป็นครั้งแรก อาจจะอวดว่าเขาทำได้เองทุกวันเลย
(3) อยากได้รับความสนใจจากพ่อแม่และคนรอบตัว เช่น เห็นน้องตัวเองทำอะไรไม่ได้แล้วร้องให้ช่วย แล้วพ่อแม่ช่วย เด็กอาจจะแสร้งว่าทำไม่ได้แล้วร้องให้เราช่วยเขาบ้าง เพราะเขาต้องการความสนใจจากเรา
(4) เพื่อให้ได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการ หรือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่เขาไม่ต้องการ เช่น ไม่อยากทำการบ้าน เขาอาจจะบอกเราว่าวันนี้ไม่มีการบ้าน
เด็กโตมักจะโกหกเพราะต้องการหลักเลี่ยงหรือหลบหนีบางอย่าง
(1) ไม่ต้องการทำให้ใครเสียใจหรือผิดหวัง เช่น เด็กบางคนทำคะแนนสอบได้ไม่ดี แต่ไม่กล้าบอกความจริงกับพ่อแม่ เพราะกลัวว่า พ่อแม่จะผิดหวังใจตัวเขา
(2) กลัวว่าจะทำให้ใครโกรธหรือไม่พอใจ เช่น เด็กบางคนรู้สึกไม่สบาย แต่เขาไม่กล้าบอกพ่อแม่ เพราะกลัวว่าพ่อแม่จะโกรธเขา
(3) กลัวว่าจะทำให้ตัวเองอับอาย เช่น ไม่อยากให้ใครรู้ว่าตัวเองสอบตก
บ่อยครั้งเราพบว่า ‘ถ้าการโกหกน่ากลัวน้อยกว่าการพูดความจริงออกไป’ เด็กมีแนวโน้มจะพูดโกหกมากกว่าพูดความจริงออกไป เช่น ผู้ใหญ่อาจจะทำโทษเขารุนแรงจนเด็กรู้สึกหวาดกลัว ครั้งต่อไปเขาเลือกที่จะโกหกดีกว่าพูดความจริงกับเรา
ดังนั้นวันใดที่ลูกพูดโกหก พ่อแม่ควรกลับมาทบทวนว่า
(1) ‘เวลาลูกทำผิด เรามีแนวโน้มลงโทษรุนแรงมากกว่าจะสอนเขาหรือเปล่า’ เพราะนั่นทำให้เขาเลือกที่จะเก็บปัญหาที่ร้ายแรง แต่น้อยกว่าการพูดความจริงออกไป แล้วโดนทำร้าย
(2) ‘เวลาลูกทำไม่ได้ตามที่เราหวัง เราแสดงออกชัดเจนว่าเราผิดหวังในตัวเขาหรือไม่’ เพราะในเด็กบางคนไม่อยากให้พ่อแม่เสียใจ เขาจึงเลือกที่จะโกหกเพื่อให้พ่อแม่ของเขาสบายใจ
(3) ‘ที่ผ่านมาเรามีเวลาและให้ความสนใจเขาเพียงพอหรือไม่’
เพราะสำหรับเขาการได้รับความสนใจจากการโกหกนั้นดีเสียกว่าการทำสิ่งดีๆ แล้วไม่มีใครสนใจ ‘เขาอยากมีตัวตนมากกว่าที่เป็นอยู่’
ทุกครั้งที่เด็กโกหก ไม่มีครั้งไหนที่เขาทำโดยปราศจากสาเหตุ ถ้าหากเราทบทวนให้ดี เราจะรู้ว่าทำไมลูกถึงโกหกเรา
ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ลูกประสบปัญหาที่ตัวเขาเองแก้ไม่ได้ด้วยตัวเอง เราในฐานะพ่อแม่ ควรเข้าไปเคียงข้างและช่วยลูกให้เขาสามารถแก้ปัญหานั้นได้เสียก่อน
ให้การรับฟังอย่างสงบ ฟังจนจบ ไม่แทรกแซงหรือรีบสั่งสอน
เมื่อปัญหาคลี่คลายลงแล้วจึงให้การสอนเขา เพื่อให้ลูกเรียนรู้และจดจำเป็นบทเรียน ที่ สำคัญที่สุดต้องให้ลูกรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำลงไปเสมอ โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เคียงข้างจน ทำอย่างจบลงด้วยดี
เด็กมักเรียนรู้จากผู้ใหญ่ใกล้ตัว โดยเฉพาะจากพ่อแม่ของเขา ดังนั้นหากเราอยากให้ลูก พูดความจริง พ่อแม่ควรพูดคำไหนคำนั้น พูดความจริง และรักษาสัญญาเสมอ
อ้างอิง
Strichartz, A. F., & Burton, R. V. (1990). Lies and truth: A study of the development of the concept. Child development, 61(1), 211-220.