- พ่อแม่ญี่ปุ่นให้ลูกเดินทางด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก เพราะพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่ง ถนน ผู้คน ล้วนเป็นมิตรกับเด็กๆ
- การปลูกฝังให้เด็กรักษาความสะอาดในโรงเรียน จะทำให้เด็กรู้จักรับผิดชอบต่อพื้นที่สาธารณะ เห็นได้จากถนนญี่ปุ่น ที่แทบจะไม่มีขยะเลยสักชิ้น
- ด้วยความที่ญี่ปุ่นมีพื้นที่ขนาดเล็กบวกกับวัฒนธรรมการเดิน ระบบขนส่ง ที่ส่งเสริมความปลอดภัย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าเด็กๆ จะปลอดภัยเมื่อต้องเดินโดยลำพัง
ถ้าใครเคยไปประเทศญี่ปุ่น คงจะเคยเห็นเด็กเล็กๆ ตามสถานีรถไฟใต้ดินตามลำพังโดยไม่มีผู้ปกครองสำหรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนไทย คงสงสัยว่า ทำไมเด็กๆ แดนปลาดิบถึงเดินทางได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่ไม่เป็นห่วงหรืออย่างไร
ภาพกลุ่มเด็กบนขบวนรถไฟ ทั้งที่อยู่คนเดียว และเป็นกลุ่ม กำลังมองหาที่นั่ง สามารถเห็นได้ทั่วไปในระบบขนส่งมวลชนในญี่ปุ่น
ทุกเช้าและเย็น เด็กๆ จะสวมถุงน่องสูงถึงเข่า รองเท้าขัดเงา พร้อมหมวกปีกกว้างโดยมีเชือกผูกกระชับใต้คาง มีบัตรรถไฟไปปักไว้ในกระเป๋าเป้สะพายหลังของพวกเขา-เด็กๆ กลุ่มนี้อายุยังไม่ถึงหกขวบ
ผู้ปกครองชาวญี่ปุ่นมักส่งลูกของตนออกสู่โลกกว้างตั้งแต่ยังเด็ก เห็นได้จากรายการโทรทัศน์ยอดนิยมที่ชื่อว่า Hajimete no Otsukai หรือ My First Errand ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของเด็กอายุ 2-3 ปี ถูกใช้ให้ไปทำธุระให้ที่บ้าน เช่น ไปซื้อผักให้แม่ หรือแวะร้านเบเกอรี่ ฯลฯ โดยมีทีมช่างภาพถ่ายพวกเขาตลอด รายการดังกล่าวได้รับความนิยมต่อเนื่องมากว่า 25 ปีแล้ว
นอกจากภารกิจที่ลุล่วง ความสำคัญไม่แพ้กันและสิ่งที่เราเห็นจากรายการนี้คือ การคิด แก้ปัญหา ระหว่างทาง และทำทุกวิถีทางเพื่อให้หน้าที่อันสำคัญนี้ มีเหตุสะดุดหรือล้มเหลว
นั่งรถไฟคนเดียวครั้งแรกของ ไคโตะ คือ ตอน 9 ขวบ
ไคโตะ (Kaito) วัย 12 ปีอาศัยอยู่ในโตเกียว นั่งรถไฟด้วยตัวเองไปมาระหว่างบ้านพ่อและบ้านแม่ด้วยตัวเองตั้งแต่อายุเก้าขวบ ไคโตะยอมรับว่า “ตอนแรกผมรู้สึกกังวลเล็กน้อย แอบกังวลว่าจะนั่งรถไฟเพียงคนเดียวได้หรือเปล่า”
ส่วนพ่อแม่ของไคโตะ ตอนแรกก็กังวลเช่นกัน แต่พวกเขาก็ตัดสินใจให้ลูกเดินทางด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าไคโตะโตพอ และเห็นว่าเด็กคนอื่นๆ ก็สามารถทำได้อย่างปลอดภัย
“ในตอนนั้นฉันคิดว่า การเดินทางด้วยรถไฟนั้นปลอดภัย ตรงเวลา ใช้ง่าย และไคโตะเป็นเด็กฉลาด” แม่เลี้ยงของไคโตะอธิบาย
“ฉันขึ้นรถไฟด้วยตัวเองเมื่อตอนที่ฉันอายุน้อยกว่าไคโตะด้วยซ้ำ แม้ว่าตอนนั้นฉันจะยังไม่มีโทรศัพท์ แต่ฉันก็สามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้ด้วยรถไฟ และทุกวันนี้ไคโตะมีโทรศัพท์ แม้ว่าเขาจะหลงทาง เขาก็สามารถโทรมาหาเราได้” แม่เลี้ยงของไคโตะเล่าต่อ
แม่เลี้ยงของไคโตะยังบอกอีกว่า เธอจะไม่ยอมปล่อยให้ไคโตะเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินเพียงคนเดียวตอนอายุ 9 ปีแน่ ถ้าเขาอยู่ที่ลอนดอนหรือนิวยอร์ค เธอไว้ใจแค่โตเกียวเท่านั้น
เด็กพึ่งตนเองได้ ชุมชนต้อง Support
การให้อิสระกับเด็กโดยให้ไปไหนมาไหนตามลำพัง ไม่ได้เกิดจากการพึ่งแค่ตัวเอง แต่เกิดจากการช่วยเหลือของกลุ่มชุมชุน ตามที่ เดวน ดิกสัน (Dwayne Dixon) นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับเยาวชนญี่ปุ่นกล่าวว่า
“เหตุผลที่ทำให้เด็กๆ ชาวญี่ปุ่นเรียนรู้เร็ว เพราะสมาชิกในชุมชนทุกคนสามารถเรียกร้องเพื่อรับใช้หรือช่วยเหลือผู้อื่นได้”
สมมุติฐานนี้ได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียน เพราะเด็กๆ จะต้องทำความสะอาดโรงเรียน และตักอาหารกลางวันเอง แทนที่จะมีเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนทำให้
“การแบ่งงานให้เด็กๆ ถือเป็นการช่วยเหลือกันภายในโรงเรียน และถือเป็นการปลูกฝังเรื่องความสะอาดไปในตัวด้วย เช่น การสอนให้เด็กๆ รู้วิธีที่ทำให้ห้องน้ำสะอาด เป็นต้น” ดิกสันกล่าว
การรับผิดชอบพื้นที่ร่วมกัน โดยการทำให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ และเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการทำความสะอาดเมื่อเขาจัดการตัวเองให้สะอาดได้ จึงขยายออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ นี่จึงอธิบายได้ว่าทำไมบนท้องถนนญี่ปุ่นถึงสะอาดมากๆ และเมื่อเด็กอยู่ในที่สาธารณะเขาจะรู้ว่าเขาสามารถขอความช่วยเหลือจากคนรอบๆ ข้างได้ในกรณีฉุกเฉิน
บ้านเมืองปลอดภัย และถนนเป็นมิตรต่อคนเดิน
ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำมาก ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่พ่อแม่รู้สึกมั่นใจในการส่งลูกๆ ออกไปใช้ชีวิตคนเดียว และด้วยพื้นที่ที่มีขนาดเล็กบวกกับวัฒนธรรมการเดิน ระบบขนส่ง ยังส่งเสริมความปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าเด็กๆ จะปลอดภัย
“พื้นที่สาธารณะจะถูกปรับให้เป็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่มนุษย์สามารถควบคุมความลื่นไหลและความเร็วบนท้องถนนได้” ดิกสันกล่าว
ผู้คนในญี่ปุ่นต่างคุ้นเคยกับการเดินไปทุกที่ และการขนส่งสาธารณะที่ดีทั้งรถประจำทางและรถไฟ ทำให้การใช้รถยนตร์ส่วนตัวน้อยลง อย่างในโตเกียว ครึ่งหนึ่งของการเดินทางทั้งหมดจะเดินทางโดยรถไฟหรือรถบัส และหนึ่งในสี่คือเดินเท้า ฉะนั้นคนที่ขับรถจะต้องแชร์ถนนร่วมกับคนเดินเท้าและผู้ปั่นจักรยาน