- เด็กควรได้เรียนรู้การสร้างปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริงก่อน เมื่อเขาเรียนรู้แล้ว และเติบโตขึ้น จะกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงให้เขาสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- อย่าลืมว่าดิจิตอลไม่ได้อยู่ในอวกาศ แต่มันซ้อนอยู่ในโลกจริง ฉะนั้นก่อนที่เขาจะเป็น digital native เขาต้องเป็นมนุษย์เสียก่อน
- ครูต้องไม่มีบทบาทแค่สอนเด็กใช้แอพพลิเคชั่นอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่ครูควรใช้บรรยากาศของชั้นเรียนให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านโลกดิจิตอลด้วย
- การอ่านหนังสือ It’s Complicated: the social lives of networked teens อาจช่วยให้เราพบว่าจริงๆ แล้วปัญหาวัยรุ่นแต่ละวัยแต่ละยุคสมัยแทบจะเหมือนกันหมด ต่างกันแค่เครื่องมือที่อยู่รอบๆ ตัว
วัยรุ่นกับอินเทอร์เน็ตแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้แล้ว ผู้ใหญ่หลายคนต่างเป็นห่วงว่าอินเทอร์เน็ตจะทำให้เด็กและเยาวชนมีปัญหา ด้วยโจทย์แบบนี้ ทางสำนักพิมพ์ Bookscape และ dtac BOOK TALK จึงจัดเสวนาในหัวข้อ ‘เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต’ พร้อมเปิดตัวหนังสือ It’s Complicated: the social lives of networked teens ผลงานของ ดานาห์ บอยด์ (Danah Boyd) นักวิจัยของไมโครซอฟท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรมวัยรุ่น
หนังสือเรื่อง It’s Complicated มุ่งให้ผู้อ่านเข้าใจและย้อนกลับถามตัวเองว่า ความ (ที่คิดว่า) เข้าใจต่อปัญหาเหล่านี้ เอาเข้าจริงแล้ว มันถูกต้องหรือเปล่า ทำไมวัยรุ่นถึงใช้ social media มากยิ่งกว่ากิจกรรมใดๆ ในชีวิต และยังสะท้อนการใช้ social media ของเด็กและวัยรุ่นผ่านสายตาของเด็กเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่
ผู้เขียนเป็นหัวหน้านักวิจัยอยู่ที่บริษัทไมโครซอฟท์ และเป็นนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาภาคสนามเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ของเด็กมากว่า 10 ปี เล่มนี้จึงเป็นการกลั่นกรองข้อมูลภาคสนามของผู้ที่พยายามเข้าใจการใช้ social media ผ่านสายตาของเด็กจริงๆ
ดานาห์ บอยด์ มองเด็กในฐานะ social agency หรือผู้กระทำการทางสังคม คือเด็กไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำหรือถูกกำหนดโดยเทคโนโลยี แต่เขาพยายามตามไปดูว่าเด็กไปมีปฏิสัมพันธ์กับมันอย่างไร แล้วสร้างความหมายให้กับชีวิตพวกเขาได้อย่างไร
จนต่อยอดมาเป็นวงเสวนา ‘เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต’ ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองจากคนหลากหลายวงการ ได้แก่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เกรียงไกร วชิรธรรมพร นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ซีรีส์ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น และ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษา MIT Media Lab
มีคำกล่าวที่ว่า “อินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนกระจกสะท้อนสังคม แล้วกระจกจะสะท้อนสิ่งที่เราเห็น ถ้าเราไม่ชอบสิ่งที่เราเห็นในกระจก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การซ่อมแซมกระจก แต่วิธีมันอยู่ที่การซ่อมแซมสังคมต่างหาก” ฉะนั้นถ้าสังคมมัวแต่โทษเทคโนโลยีอย่างเดียว เราอาจจะเข้าใจปัญหาผิดๆ และซ่อมแซมมันอย่างผิดๆ
แต่สำหรับ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มองว่าอินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นเพียงกระจกที่สะท้อนตรงๆ แต่เป็นกระจกนูนที่ขยายภาพขึ้น
“แน่นอนว่าอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ตัวสร้างปัญหา แต่มันเร่งให้ปัญหานั้นปรากฏขึ้น ถูกเห็น และทำให้คนตระหนกกับมันมากขึ้น ฉะนั้น ความเป็นกระจกนูนของอินเทอร์เน็ตก็เป็นเรื่องที่เราอาจจะต้องรับรู้เข้าใจ และพยายามมองกลับไปว่า แล้วตัวจริงของปัญหา มีลักษณะอย่างไร แล้วเราจะแก้ปัญหากันอย่างไร”
นพ.ประวิทย์ยังให้คำแนะนำว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรใช้โทรศัพท์ โทรทัศน์ หรือสื่อใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมีผลต่อการพัฒนาด้านสมอง เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ ผู้ปกครองจะต้องดูแลให้ดี เด็กควรได้เรียนรู้การสร้างปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริงก่อน เมื่อเขาเรียนรู้แล้ว และเติบโตขึ้น จะกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงให้เขาสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตจะไม่อาจรู้ถึงสีหน้าท่าทาง ไม่รู้อารมณ์ ถ้าเด็กยังไม่สามารถเรียนรู้โลกจริง จะทำให้เขาเกิดความสับสนระดับหนึ่ง ว่าอันไหนคือโลกจริงและโลกเสมือน
นอกจากนี้ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษา MIT Media Lab ยังเสริมและตั้งคำถามชวนคิดว่า “อย่าลืมว่าดิจิตอลไม่ได้อยู่ในอวกาศ แต่มันซ้อนอยู่ในโลกจริง ฉะนั้นก่อนที่เขาจะเป็นมนุษย์ digital native เขาต้องเป็นมนุษย์เสียก่อน การที่เราอยู่ในสองโลกคือ โลกดิจิตอลและโลกจริง มันเปลี่ยนวิธีที่เรามองตัวเองและมองโลกอย่างไร เวลาคนเรามีหลายแอคเคาท์ เขามีหลายตัวตนหรือเปล่า หรือคนเดียวกันแต่แค่อยู่ในพื้นที่ต่างกัน”
เมื่อหลุดจากอ้อมกอดและปริมณฑลของพ่อแม่แล้ว สถานีต่อไปที่เด็กจะต้องเจอคือโรงเรียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามา เด็กจะต้องเรียนรู้ผ่านคุณครูด้วย อาจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า
“ในห้องเรียนยุคใหม่ ครูรุ่นใหม่ มีการใช้พวกอุปกรณ์สมัยใหม่ในการเรียนการสอนมากขึ้น แต่การทำให้เด็กเข้าใจและมีเกราะป้องกันในการใช้อินเทอร์เน็ต ครูจึงต้องไม่ได้มีแค่บทบาทสอนเด็กใช้แอพพลิเคชั่นอย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นที่เปราะบางหลายๆ เรื่องที่คุณครูควรใช้บรรยากาศของชั้นเรียนให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านโลกดิจิตอลด้วย”
ขณะที่คุณครูจำนวนหนึ่งที่มองเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ด้วยสายตาจับผิด จ้องจะระแวง หรือไม่อยากให้เป็นส่วนหนึ่งในห้องเรียน ครูเหล่านี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าการให้เด็กเข้าถึงสื่อออนไลน์โดยมีครูเป็นไกด์นำทาง ยิ่งเป็นการสริมพลังให้เด็กใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าทัน มากกว่านั้นจะช่วยป้องกันเด็ก เอาเด็กออกจากความเสี่ยงจากการกีดกันการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็ก
“มันมาพร้อมกับการลดโอกาสของเขาในการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตด้วย แล้วการเรียนรู้ความเสี่ยงเป็นกระบวนการทางสังคมของเขา เราจะออกแบบสังคมอย่างไรเพื่อให้เขาอยู่กับความเสี่ยงพวกนี้ และใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อ.อรรถพล ชี้
ดังนั้นพ่อแม่และโรงเรียนจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เด็กเข้าใจและรู้วิธีการใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งเขาจะเติบโตและใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างแข็งแรง
อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าเป็นปัญหาใหญ่คือ การที่วัยรุ่นติดโทรศัพท์ ติดอินเทอร์เน็ตมากเกินไป กลายเป็นสังคมก้มหน้า แต่ถ้าเรามองในมุมของเด็กเหล่านั้นเหมือนที่หนังสือ It’s Complicated พยายามให้ความสำคัญกับมุมมองของเด็ก เราก็จะเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนต์อย่าง เกรียงไกร วชิรธรรมพร ช่วยอธิบายเพื่อให้เห็นภาพ
“ปัญหาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดว่า อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดสังคมก้มหน้า ทำให้เด็กๆ เป็นคนมีปัญหา แต่กลายเป็นว่าสังคมต่างหากที่มีปัญหากับเขา
ถ้าถามว่า ‘ทำไมไม่เงยหน้ามาคุยกับคนอื่น’ ก็ความสุขของเขาอยู่ตรงนั้น คุณคุยสิ่งเดียวกับเขาได้ไหมล่ะ คุณฟังเขาไหมล่ะ คุณพร้อมจะฟังเรื่องของเขาไหม พร้อมที่จะอินไปกับสิ่งที่เขาสนใจไหม ถ้าพร้อมจะอินไปกับเขา เขาจะเงยหน้ามาคุยกับคุณ”
ความรู้สึกที่ว่าวัยรุ่นคืออะไร เรามีคำถามเต็มไปหมด แล้วการอ่านหนังสือ It’s Complicated: the social lives of networked teens อาจช่วยให้เราพบว่าจริงๆ แล้วปัญหาวัยรุ่นแต่ละวัยแต่ละยุคสมัยแทบจะเหมือนกันหมด ต่างกันแค่เครื่องมือที่อยู่รอบๆ ตัว ไม่ต่างอะไรจากการที่เราไม่อยากให้พ่อแม่เข้าไปยุ่งในห้องนอน ทุกวันนี้ เราก็ไม่อยากให้พ่อแม่เข้ามาเที่ยวในโลกเฟซบุ๊คของเหมือนกัน
หรือเอาเข้าจริงโลกไม่ได้อยู่ยากขึ้นหรอก แต่เครื่องมือต่างๆ ในชีวิตต่างหากที่มากมาย สิ่งที่ทำได้คือรับรู้ เข้าใจว่ามัน complicate จริงๆ แล้วไม่ทิ้งมันไว้ข้างหลัง เพียงเพราะเราไม่เข้าใจหรือแค่คิดว่าเข้าใจมันดีแล้ว