- เมื่อปมในอดีตส่งผลต่อพฤติกรรมที่เราแสดงออก โดยเฉพาะกับลูก บทความนี้ชวนสำรวจว่าพฤติกรรม หรือการแสดงออกที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกๆ นั้นเป็นเพราะด้านใดในตัวคุณ ด้วยทฤษฎีระบบครอบครัวภายใน (Internal Family System) หรือ IFS
- ทฤษฎีระบบครอบครัวภายใน หมายถึง ‘ตัวตนย่อย’ (part หรือ subpersonality) ซึ่งมีความสัมพันธ์กันภายใน (internal) อย่างเป็นครอบครัว (family) และตัวตนย่อยเหล่านี้ จะลุกขึ้นมา ‘ควบคุม’ หรือ ‘ปกป้อง’ ตัวเองจากความเจ็บปวดหรือบาดแผลที่กำลังเผชิญ จนแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมต่างๆ
- หลังจากทำกระบวนการเยียวยาด้วย IFS ทำให้แม่สามารถอนุญาตให้ตนเองมีความรู้สึกในด้านต่างๆ ได้ ทั้งความรู้สึกลบและบวก โดยไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ภายในคนเดียว เธอสามารถบอกกล่าวออกมาให้คนรอบข้างรับรู้ได้โดยที่เธอไม่ต้องกลัวการปฏิเสธ
ในบทความเคยเป็นลูกแบบไหน ก็จะเป็นแม่แบบนั้น ที่ผ่านมา ได้ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจว่าปม หรือ บาดแผลในใจ ทำให้เราที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง มีบุคลิกนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือหลายๆ อย่าง) เช่น แม่ที่ ‘วิตกกังวล’ (anxiety) แม่ผู้ ‘เพิกเฉย’ (avoidance) แม่ผู้ ‘เสียการควบคุม’ (disorganization) เพราะเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตไม่ได้ทำลายแค่จิตใจ แต่กำหนดวิธีที่เราจะตอบสนองต่อโลกภายนอก
หากคุณกำลังสวมบทเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคุณคนหนึ่งก็คือ ‘ลูก’ เพราะเหตุผลในทางจิตวิทยา พฤติกรรมที่คุณแสดงต่อลูกวันนี้ ก็มาจากปมหรือการถูกเลี้ยงดูในอดีต
ในเมื่อปมในอดีตส่งผลต่อพฤติกรรมที่เราแสดงออก โดยเฉพาะกับลูก บทความนี้ฉันจะชวนคุณสำรวจว่าพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกๆ นั้นเป็นเพราะด้าน (part) ใดในตัวคุณ ด้วย ทฤษฎีระบบครอบครัวภายใน (Internal Family System ) หรือ IFS
ในทฤษฎีระบบครอบครัวภายใน หมายถึง ‘ตัวตนย่อย’ (part หรือ subpersonality) ซึ่งต่างอิงแอบมีความสัมพันธ์กันภายใน (internal) อย่างเป็นครอบครัว (family) ตัวตนย่อยเหล่านี้จะลุกขึ้นมา ‘ควบคุม’ หรือ ‘ปกป้อง’ ตัวเองจากความเจ็บปวดหรือบาดแผลที่กำลังเผชิญ และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมต่างๆ (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)
ในองค์ความรู้ของจิตวิทยาตัวตน ซึ่งให้ความสำคัญกับการแยกแยะตัวตนภายในด้านต่างๆ ของเราออกมาทำความรู้จัก ซึ่งเราทุกคนสามารถเรียนรู้ทำความรู้จักนิสัยของตัวเอง ว่าชอบ ไม่ชอบอะไร มีการแสดงออกอย่างไร คิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ อย่างไร
การกลับมาทำความรู้จักตัวเองไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายคนพูดคุยกับจิตใจตัวเองอยู่แล้ว แต่เราจะให้ความใส่ใจอย่างละเอียดลออว่า ลึกลงไป กว่าที่เราจะเข้าใจนิสัยต่างๆ นั้น ยังมีนิสัยส่วนลึกที่ซุกซ่อน ซึ่งมีประวัติและที่มาของนิสัยด้านนั้นๆ อยู่ภายใน เป็นความต้องการเบื้องลึกที่ไม่เคยเผยหรือได้รับการใส่ใจจากตัวเราเอง
ในร่างกายของคนเรามีอวัยวะที่ก่อเป็นตัวเป็นตนรวมกันเรียกว่าเป็น ‘ตัวฉัน’ มี แขน ขา สมอง ผิวหนัง ฯลฯ ซึ่งในด้านของจิตใจ
ฉันจะเปรียบว่า
จิตนั้นก็มีอวัยวะด้วยเช่นกัน มีด้านต่างๆ ของจิตใจ ทั้งด้านที่เป็นคุณลักษณะบวก และด้านที่เป็นคุณลักษณะลบ และส่วนของ ‘จิตที่เปิดรับ’ (self) ที่มีความเป็นกลาง ไร้เสียงตัดสิน มีศักยภาพแห่งการเชื่อมต่อเชื่อมโยงดั่งธรรมชาติที่ไม่แยกขาดต่อสิ่งใด แถมมีความเมตตาที่พร้อมเยียวยาจิตใจส่วนต่างๆ ถือว่าเป็นดั่งแกนกลางของระบบชีวิตของมนุษย์เรา พร้อมเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
เมื่อคุณทุกคนเคยเป็นเด็กทารกตัวน้อยๆ ที่โลกใบนี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณ รอคุณค่อยๆ เติบโตเพื่อเรียนรู้แต่ละสิ่งแต่ละอย่าง คุณค่อยๆ เรียนรู้ว่าอะไรเป็นมิตรต่อคุณ มอบความรักและการยอมรับแก่คุณ
ในทางตรงกันข้าม คุณก็จะรู้จักว่าอะไรที่ทำลายคุณได้ อะไรที่คุกคามและคอยสร้างความกลัวกับจิตใจและร่างกายของคุณ ฉะนั้นกลไกของจิตจึงค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างเป็นความรู้สึก ความนึกคิด และทัศนคติ จนกลายเป็นด้านๆ หนึ่งหรือนิสัยหนึ่งๆ บุคลิกภาพแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งฉันจะขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘ด้าน’ หรือ ‘part’
ในงานการดูแลจิตใจพ่อและแม่ที่เจอความปั่นป่วนในการเลี้ยงลูกโดยไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกด้านลบของตนเองได้ ฉันได้ลองนำพาให้คุณพ่อคุณแม่เยียวยาใจตนเองด้วยเครื่องมือจิตบำบัด ซึ่งส่วนใหญ่ที่ได้สัมผัสกับแบบฝึกหัดก็จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “รู้สึกผ่อนคลายขึ้น ถึงแม้เรื่องทุกข์ใจจะยังคงอยู่ แต่พอได้สัมผัสถึงสภาวะโล่งๆ กลับเห็นทางออกของปัญหาได้”
ในตัวอย่างหนึ่ง แม่คนหนึ่งเคยมาปรึกษาฉันเกี่ยวกับภาวะความรู้สึกหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นขณะที่เธออยู่ต่อหน้าลูกวัยห้าขวบ
เธอบอกไม่ถูกว่ามันคือความรู้สึกใด รู้แต่ว่าตนไม่ชอบเลยที่เป็นแบบนี้ ฉันลองให้เธอช่วยเล่าถึงสภาพปัจจุบันในการเลี้ยงดูลูกให้ฉันฟังคร่าวๆ และนำพาให้คุณแม่ได้ลองทำแบบฝึกหัดนี้ โดยการแยกด้าน (part) หนึ่งออกมาจากการครอบงำในจิตใจเธอก่อน แล้วให้เธอค่อยๆ สร้างกระบวนการเยียวยาความรู้สึกที่บอบบางภายในด้วยตัวเธอเอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คุณแม่ : ก็มีแต่งานประจำๆ ซ้ำๆ ซึ่งรวมๆ ฉันก็ทำสิ่งต่างๆ ในการดูแลครอบครัวได้ดี แต่กลับรู้สึกเบื่อหน่าย และเริ่มไม่มีชีวิตชีวาเหมือนเมื่อก่อน
ฉัน : ช่วยระบุสักหนึ่งประโยคที่เป็นคำแทนความสัมพันธ์ที่มีต่อลูก
คุณแม่ : (ส่ายหัว ด้วยท่าทีที่ไม่อยากจะไปสำรวจดูนัก)
ฉัน : ฉันขอให้เธอนั่งอยู่กับฉันเฉยๆ โดยที่ไม่ต้องทำอะไร (เราสบตากัน) ลองหลับตาลงแล้วจินตนาการ ลองนึกว่าคุณเลือกที่จะเป็นอะไรสักอย่าง โดยที่คุณมีอิสระที่จะเป็นในแบบที่เธอต้องการ
คุณแม่ : ก้อนหิน
ฉัน : ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรบ้างนะ การเป็นก้อนหินแบบนี้?
คุณแม่ : รู้สึกสบายมาก สงบ นิ่ง เย็น
ฉัน : ฟังดูคุณจะชอบนะ
คุณแม่ : ใช่คะ ฉันรู้สึกดีมากกับการได้อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องแคร์ใคร
ฉัน : ในจินตนาการคุณกำลังเป็นก้อนหินหรือว่า คุณกำลังยืนมองก้อนหินอยู่นะ?
คุณแม่ : ฉันเป็นก้อนหินอยู่ค่ะ
ถึงตอนนี้ฉันขอให้คุณแม่แยกภาพก้อนหินออกจากความเป็นตัวเธอออกมา จนเธอสามารถเห็นก้อนหินตรงหน้าได้ โดยที่จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ แต่ยังนึกถึงภาพในจินตนาการได้อย่างถนัด เพื่อที่เราจะทำงานกับด้านในต่อ
ฉัน : ตอนนี้คุณยืนมองก้อนหิน คุณรู้สึกอย่างไรกับก้อนหินบ้างคะ?
คุณแม่ : รู้สึกต่างไปจากเมื่อกี๊นะ ตอนนี้ฉันรู้สึกว่า ก้อนหินมันดูโดดเดี่ยว
ฉัน : แล้วตัวคุณกำลังมีความรู้สึกอย่างไรบ้างกับก้อนหินก้อนที่ดูโดดเดี่ยวนี้?
คุณแม่ : โอ้ ฉันอยากเข้าไปใกล้ๆ ก้อนหินก้อนนี้นะ เหมือนมันมีชีวิต
ฉัน : ค่ะ งั้นลองเข้าไปดูสิคะ คุณจะใช้เวลาอยู่กับก้อนหินนี้สักพักหนึ่ง ลองดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และขอให้คุณเปิดใจรับฟัง
(คุณแม่นั่งนิ่งๆ ประมาณ 3 นาที ในท่าทีที่สงบ)
ฉัน : เป็นอย่างไรบ้างคะ เกิดอะไรขึ้นมา พอเล่าให้ฉันฟังได้ไหม
คุณแม่ : ในจินตนาการก้อนหินมีเสียงคุยโต้ตอบกับฉัน ก้อนหินมีน้ำเสียงที่คล้ายเด็กผู้หญิงอายุราว 10 ขวบบอกว่า อย่าไปยุ่งกับเธอนะ เธอไม่ชอบความวุ่นวายเลย
ฉัน : โอเคค่ะ ขอให้คุณประคองภาพนี้ไว้นะ ฉันอยากให้คุณเปิดโอกาสให้ก้อนหินก้อนนี้เป็นอิสระจากรูปลักษณ์ภายนอก ให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง คุณเพียงแต่ดำรงอยู่ในจินตนาการอย่างผ่อนคลาย
คุณแม่ : ฉันยืนห่างออกมาประมาณ 2 เมตร แล้วก็นั่งมองห่างๆ
ฉัน : ดีจังค่ะ ดูเหมือนคุณจะมีด้านอ่อนโยนให้ก้อนหินก้อนนี้มากนะคะ คุณบอกว่า เป็นน้ำเสียงคล้ายเด็กผู้หญิงอายุราว 10 ขวบ คุณลองสร้างบทสนทนาที่คุณอยากจะทำความรู้จักกับเธอสิคะ
คุณแม่ : ฉันเห็นร่างของเด็กผู้หญิงที่สวมชุดกระโปรงสีขาว นั่งกอดเข่า หน้าตาดูบูดบึ้ง
ฉัน : คุณรู้สึกเช่นไรบ้าง?
คุณแม่ : ฉันรู้สึกอยากเข้าไปใกล้ๆ นั่งข้างๆ แล้วกอดเด็กคนนี้จังเลย (คุณแม่มีน้ำตาอาบลงแก้มทั้งสอง)
ฉัน : ดีจังค่ะ ด้านหนึ่งของคุณอยากเข้าไปดูแลเด็กน้อยคนนี้นะคะ และฉันสังเกตเห็นว่าคุณมีน้ำตา คุณรู้สึกอย่างไรอยู่คะ
คุณแม่ : ฉันอยากดูแลเขาจังเลย ดูเขาน่าทะนุถนอมค่ะ มันซึ้งใจอย่างบอกไม่ถูกค่ะ
ฉัน : ใช้เวลาให้เต็มที่เลยค่ะ ค่อยๆ เข้าไปหาเด็กน้อย ทำในสิ่งที่คุณอยากทำ คุณอาจจะลองออกแบบที่จะพาให้เด็กน้อยไปเจอสิ่งที่ชอบก็ได้ หรืออะไรที่คุณอยากทำ
คุณแม่ : ฉันบอกเด็กน้อยว่า ฉันอยากพาเขาเดินเล่นในสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้ๆ นี้ และเด็กน้อยก็ยินยอม เราได้คุยกัน ถามชื่อกัน เธอตอบว่าเธอชื่อ ‘นุ่มนิ่ม’ เธอไม่ค่อยมีเพื่อนเล่นด้วย นานๆ ที แม่จะให้เธอออกมาข้างนอกบ้าน แต่เธอก็กลัวจะออกมาเจอกับความวุ่นวาย
ฉัน : ดูคุณกับเด็กน้อยค่อยๆ มอบความวางใจต่อกันนะคะ ในช่วงท้ายนี้ ฉันขอให้คุณลองมอบสัมผัสที่อบอุ่นกับเด็กน้อยในแบบที่คุณจะทำได้ และใช้เวลาที่มีอยู่อย่างมีความหมายต่อเด็กน้อยนะคะ ใช้เวลาเท่าที่คุณรู้สึกอย่างเต็มที่ค่ะ
(ในความเงียบ คุณแม่เลือกนั่งอยู่กับจินตนาการโดยการหลับตาในท่าทางผ่อนคลาย และมีน้ำตาที่ไหลอาบแก้มพร้อมรอยยิ้มน้อยๆ ที่มุมปาก)
ฉัน : ถ้าหากคุณพอใจแล้วกับการอยู่กับเด็กน้อยคนนี้ ก็ขอให้กล่าวอำลาเด็กน้อย แล้วค่อยๆ ถอยออกมาจากจินตนาการกลับมาอยู่กับฉันตรงนี้นะคะ คุณแม่สบตากับฉันอีกครั้ง สีหน้าที่ดูผ่อนคลาย และอิ่มเอม
ฉัน : เป็นอย่างไรบ้างคะ กับกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในจินตนาการของคุณแม่?
คุณแม่ : ฉันรู้สึกดีที่ได้คอนเน็คกับเด็กน้อยมาก มันทำให้ฉันสัมผัสได้ถึงความรู้สึกภายในที่ลึกซึ้ง เหมือนกับว่าเด็กน้อยคือส่วนหนึ่งของฉันที่รู้สึกโดดเดี่ยวในปัจจุบันนี้ ฉันคงเป็นเหมือนก้อนหินที่คนอื่นมองเห็นอยู่ก็ได้นะ
เวลาผ่านไปหลายเดือน คุณแม่ท่านนี้กลับมาเจอฉันอีกครั้งและได้บอกเล่าว่า
หลังจากทำกระบวนการเยียวยาด้วย IFS ไปแล้ว ทุกครั้งที่เธอเกิดความเบื่อหน่าย เธอจะเข้าไปหาเด็กน้อยคนนี้ มันทำให้เธอควบคุมด้านเพิกเฉยกับลูกๆ ได้ และบอกความไม่พร้อมกับลูกๆ ได้ง่ายขึ้น ทำให้บรรยากาศภายในครอบครัวผ่อนคลายขึ้น ลูกๆ บอกว่าเธอยิ้มง่ายขึ้นด้วย
และเมื่อเราได้ทำการสรุปแบบฝึกหัดนี้กัน จึงเกิดการตระหนักรู้ถึงเสี้ยวส่วนที่เป็นด้านลบที่ตัวเธอได้กดทับตนเองมานานหลายปี และเธอเริ่มเล็งเห็นว่า ตัวเธอนั่นเองที่จะแสดงท่าทีของการปิดกั้นความรู้สึกภายในต่อตนเองและคนรอบข้าง มันจึงนำมาซึ่งความห่างเหินต่อลูกและสามี และส่งผลให้เธอรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิต
เธอค้นพบว่า เธอสามารถอนุญาตให้ตนเองมีความรู้สึกในด้านต่างๆ ได้ ทั้งความรู้สึกลบและบวก โดยที่ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ภายในคนเดียว เธอสามารถบอกกล่าวออกมาให้คนรอบข้างรับรู้ได้โดยที่เธอไม่ต้องกลัวการปฏิเสธ และสัญลักษณ์ของก้อนหินก็จะคอยช่วยประคับประคองให้เธอรู้สึกสงบนิ่งได้ เธอรู้ว่า เธอต้องการเวลาที่จะอนุญาตให้ตนเองมีความรู้สึกบอบบางเฉกเช่นเด็กน้อยอายุ 10 ขวบคนนั้นได้เสมอ
ในจิตใจของคนเรานั้นอารมณ์มักจะเป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนที่สามารถนำพาไปได้หลากหลายทิศทาง ความนึกคิดต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ในงานการเยียวยาความรู้สึกภายในจึงจะเน้นไปที่ด้านการรองรับความรู้สึกต่างๆ ก่อนที่จะหาทางออก ซึ่งในหลายคนที่สามารถเพิ่มทักษะการรองรับจิตใจภายในของตนเองเป็น ดูเหมือนปัญหาก็อาจจะหมดไปได้สักครึ่งหนึ่งแล้ว บางทีทางออกอาจจะอยู่ที่ทางเข้าก็ย่อมได้