- ผู้ใหญ่ต้องทำความเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กๆ วัยนี้ เขามีพลังมากมายที่จะเล่น จนผู้ใหญ่อย่างเราอาจจะหมดแรงตั้งแต่ชั่วโมงแรก บทความนี้จึงจะช่วยแนะนำ 6 แนวทางที่จะช่วยให้เรารับมือกับเด็กๆ ที่มีพลังล้นเหลือได้ดีขึ้น
- แนวทางที่ให้เด็กปล่อยพลังตามวัยมีหลายวิธี เช่น ให้เด็กทำพฤติกรรมในกิจกรรมตามกติกาที่กำหนด สร้างกิจกรรมที่ช่วยปรับพฤติกรรม หรือเล่นกับสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและสิ่งรอบตัว ก็ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้เช่นกัน
- ไม่เป็นไรที่ผู้ใหญ่จะพักผ่อน แค่เพียงการเฝ้าดูและให้ความช่วยเหลือยามจำเป็น อาจจะเป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องการจากผู้ใหญ่
‘เด็กปฐมวัยพลังล้นเหลือ ผู้ใหญ่จะชวนไปปล่อยพลังอย่างไรดี?’
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าธรรมชาติของเด็กๆ วัยนี้ พวกเขามีพลังมากมาย เรียกง่ายๆ ว่าเล่นและเคลื่อนไหวไปมาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผู้ใหญ่อย่างเราอาจจะหมดแรงตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้ว ในบทความนี้จึงอยากแนะนำแนวทางที่จะช่วยให้เรารับมือกับเด็กๆ ที่มีพลังล้นเหลือได้ดีขึ้น
ข้อแนะนำข้อที่ 1 ‘ผู้ใหญ่ห้ามให้เด็กหยุดทำพฤติกรรมไม่ได้ แต่ผู้ใหญ่สามารถให้เขาทำพฤติกรรมนั้นในกิจกรรม เวลา สถานที่ ที่เหมาะสมได้’
‘เปลี่ยนจากอยู่ไม่สุข วิ่งเล่นป่วนในคาบเรียน ให้เด็กได้วิ่งเล่นอย่างเต็มที่ในสนามก่อน จะเริ่มเรียน’
เด็กๆ ที่เต็มไปด้วยพลังงาน พวกเขาต้องการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ในสายตาผู้ใหญ่ มันคือการอยู่ไม่นิ่ง อยู่ไม่สุข และไม่เหมาะสม ถ้าผู้ใหญ่ให้เด็กๆ ไปเคลื่อนไหวและใช้ พลังที่ล้นเหลือของพวกเขา จนพลังงานนั้นอยู่ในระดับที่เขาควบคุมได้ เด็กๆ จะสงบและพร้อมทำกิจกรรมตรงหน้ามากขึ้น
อาจจะให้เด็กๆ ได้ใช้พลังให้สุดเเรงด้วยกิจกรรมออกแรงที่ต้องใช้ความเร็วหรือการจับ เวลา เช่น การวิ่งให้เร็วที่สุดไปที่เส้นชัย หรือ แข่งกันวิ่งเก็บบอลหรือของทั่วห้องใส่ ตะกร้าภายในเวลาที่กำหนด เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้ความเร็วอย่างที่เขาต้องการด้วย
ในกรณีที่เด็กเริ่มเข้าใจกติกาและสามารถทำตามกติกาได้ ผู้ใหญ่อาจจะให้เขาไปเล่น กีฬาที่ได้ออกแรงและต้องใช้ความเร็วเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเขา การให้เด็กๆ วิ่งเล่นรอบบ้านหรือในสนามประมาณ 1 ชั่วโมง แม้หัวของเด็กๆ จะชุ่มไป ด้วยเหงื่อและแก้มของพวกเขาจะแดงระเรื่อ แต่สิ่งที่พบนอกจากนี้ คือ รอยยิ้มที่สดใสขึ้น ระยะเวลาที่เด็กๆ จะสามารถนั่งทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ เช่น การเรียน การทำการ บ้าน ก็นานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากต่ำกว่า 10 นาที เป็น 15-20 นาที
ข้อแนะนำข้อที่ 2 ‘เมื่อเด็กชอบทำตรงข้ามคำสั่ง ก็ชวนเด็กมาเล่นเกมทำตรงข้ามคำสั่งเสียเลย’
กิจกรรมที่สามารถนำมาเล่นกับเด็กๆ ในวันที่พวกเขาทำตรงข้ามคำสั่งผู้ใหญ่ทั้งหมด ได้แก่
‘เกมโลกกลับตาลปัตร’ เด็กๆต้องทำตรงข้ามคำสั่ง เช่น
ถ้าสั่งให้ยืนต้องนั่งลง ให้นั่งต้องยืน
ถ้าสั่งให้พูดเบาๆ ให้พูดดังๆ
ถ้าสั่งให้เดินเร็วๆ ให้เดินช้าๆ
เป็นต้น
โดยเกมนี้ผู้ใหญ่สามารถผลัดกันกับเด็กๆ เป็นผู้น (คนสั่ง) และ ผู้ตาม (ทำตามคำสั่ง ของอีกฝ่ายได้) การเล่นเกมนี้ได้ตอบสนองสิ่งที่เด็กต้องการคือ ทำตรงข้ามกับคำสั่ง แต่เกมนี้พวกเขา กลับได้เรียนรู้การทำตามคำสั่งครั้งแรกโดยที่เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เกมนี้ทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสมาสั่งผู้ใหญ่ด้วย ผู้ใหญ่ผลัดกันสั่งฝ่ายตรงข้าม สิ่งที่เขาได้เรียนรู้คือ การเป็นผู้ฟังและทำตาม และเป็นผู้นำและตัดสินใจด้วย เกมน้ีไม่มีใครคุมใคร กติกาเป็นผู้คุมผู้ใหญ่ทั้งสอง เด็กและผู้ใหญ่อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน
ข้อแนะนำที่ 3 ‘เมื่อเด็กๆ ใจร้อนและชอบทำอะไรเร็วๆ ผู้ใหญ่สามารถให้เขาทำกิจกรรมที่ต้องระมัดระวังและท้าทายมากขึ้น’
กิจกรรม ‘เดินไต่ลวด’
ในเมื่อเด็กๆ ชอบวิ่งเร็วๆ ผู้ใหญ่ก็เพิ่มกติกาให้เป็นเกมเสียเลย เขาต้องเดินบนเส้น เช่น แปะเทปกาวสีติดบนพื้นเป็นเส้นตรง ซิกแซก หรือเส้นอื่นๆ หรือเดินบนสะพาน (ถ้าไม่มีสะพานทรงตัว จะเป็นเบาะ หรือ เก้าอี้เตี้ยวางต่อกันก็ได้) เขาต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น
กิจกรรม ‘พื้นลาวา’
เด็กๆ ต้องระวังไม่ให้เท้าเหยียบพื้นที่ถูกสมมติให้เป็นลาวาร้อนๆ พวกเขาต้องปีนป่าย และเดินข้ามเกาะ (เบาะ/แผ่นโฟม/เทปกาวที่แปะเป็นกรอบสี่เหลี่ยม) ต่างๆ จนไปถึงปลายทาง
กิจกรรมที่ต้องระมัดระวัง
ในเด็กเล็ก ผู้ใหญ่อาจจะให้เทน้ำใส่แก้วหลายๆ แก้ว กรอกน้ำใส่ขวด หรือ ตักถั่ว/ ข้าวสารใส่ขวด เป็นต้น ถ้าเขาเร่งจนเกินไปน้ำหรือถั่วอาจจะกระฉอก และเด็กๆ ต้องทำหลายครั้งกว่าจะเต็ม
ในเด็กโต ผู้ใหญ่สามารถให้เขาทำงานประดิษฐ์ งานไม้ (เลื่อยไม้ ตอกตะปู) งานครัว (หั่นผักผลไม้) ถักโครเชต์ เย็บผ้า เกม Puzzle ต่างๆ (ต่อจิ๊กซอว์ และอื่นๆ) เป็นต้น
ข้อแนะนำที่ 4 ‘เล่นน้ำ เล่นดิน เล่นทราย เล่นปีนป่าย เล่นทำงานบ้าน เล่นในกล่อง’
เมื่อคิดอะไรไม่ออก สิ่งที่จะช่วยทุ่นแรงพ่อแม่อย่างผู้ใหญ่ คือ ‘เล่นน้ำ เล่นดิน เล่นทราย’ บางครั้งแค่เปิดน้ำใส่กะละมังในห้องน้ำสักสองสามใบ ให้เด็กๆ ได้ลงไปแช่ ได้ไปตีน้ำ ตัก เท สาด กรี๊ดกร๊าดอยู่ในนั้น ก็เป็นการปล่อยพลังได้มหาศาล
บางทีมีทราย มีดิน ให้เด็กๆ ลงไปเล่น ไปตัก ขุด คลุก มุด ขยำ ก็ช่วยสลายพลังไปได้มากพอดู ยิ่งทรายหรือดินที่เล่นกับน้ำได้ เด็กๆ ยิ่งชอบ ได้ผสมสารพัดสูตรทำกับข้าวผ่านการจำลองทรายและดินผสมกับน้ำ
บ้านไหนมีต้นไม้หรือเครื่องเล่นให้เด็กๆ ปีนเล่น ก็สามารถช่วยให้เด็กๆ ได้ออกแรง อย่างเหมาะสมเช่นกัน แต่ถ้าไม่มี ‘ตัวพ่อกับแม่’ นี่แหละที่สามารถเป็นภูเขาจำลองให้ เด็กๆ ขึ้นมาปีนป่ายหรือเหยียบ ถือโอกาสให้ลูกๆ เหยียบหลังให้ผู้ใหญ่เป็นการนวดผ่อนคลายเสียเลย
เล่นทำงานบ้าน สำหรับพ่อแม่อาจจะมองงานบ้านเป็นงาน แต่สำหรับเด็กเล็กๆ แล้ว พวกเขาอาจจะมองว่าเป็นการเล่น ชวนลูกๆ ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ ซักผ้า ตากผ้าด้วยกัน เด็กๆ อาจจะถือโอกาสเล่นน้ำไปในตัว หรือ จะชวนทำกับข้าว เด็กๆ หลายบ้านอาจจะชอบมากกว่าเล่นของเล่น ครัวจำลองกับอาหารพลาสติกเสียอีก
สุดท้าย คิดอะไรไม่ออก นำกล่องลังมาให้เด็กๆ เล่น ยิ่งกล่องใหญ่ ยิ่งสนุก เด็กๆ อาจจะสมมติให้กล่องเหล่านั้นเป็นบ้านของเขา นอกจากนี้ให้สีเทียนกับเด็กๆ นำไปเขียนสะเปะสะปะ หรือสติกเกอร์สักแผ่น เท่านี้ก็ใช้เวลาไปมากโขแล้ว
เด็กปฐมวัยควรได้รับการส่งเสริมในเรื่องของการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก และมัดใหญ่ เพื่อให้เขามีร่างกายที่พร้อมสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การช่วยเหลือตัวเอง การขีดเขียน การวาด การตัดกระดาษ การควบคุมแรง การกะระยะ เเละ อื่นๆ
ซึ่งการเล่นนอกบ้าน การเล่นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ เล่นดิน การขีดเขียนสะเปะสะปะ การเล่นด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย และการทำงานบ้านจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการร่างกายที่สมวัย ทั้งนี้ต้องผนวกกับการสอนให้เขาอดทนรอคอยและแก้ปัญหาได้ตามวัย ผู้ใหญ่ไม่ควรรู้ใจ ทำให้เด็กทุกอย่าง ให้เขารอบ้างและทำเองให้เยอะๆ ทำไม่ได้ ผู้ใหญ่จับมือสอนเขาทำและลองให้เขาทำอีกครั้ง ทำไม่ได้ดีครั้งแรกไม่เป็นไร ค่อยๆ ฝึกฝนกันไป
ข้อแนะนำท่ี 5 ‘ให้กติกาและตารางเวลาเป็นผู้ควบคุมเด็ก เพื่อให้เขาเรียนรู้การควบคุม ตัวเองในอนาคต’
‘กติกา’
ผู้ใหญ่ควรกำหนดกติกากับเด็กให้ชัดเจนตั้งแต่แรก กติกาไม่ควรมีข้อ และกติกาพื้น ฐานที่ควรมี
(1) ไม่ทำร้ายตัวเอง
(2) ไม่ทำร้ายผู้อื่น
(3) ไม่ทำลายข้าวของ
ส่วนข้ออื่นๆ ที่จะเพิ่มเข้าไป ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว
‘ตารางเวลา’ ผู้ใหญ่ควรใช้ตารางเวลากับเด็กๆ เพราะเมื่อมีตารางเวลา เด็กจะต้องดูว่าเขาจะทำ อะไรเวลาไหน โดยมีผู้ใหญ่ควบคุมให้เขาสามารถทำตามตารางเวลาได้ ถ้าไม่มีตารางเวลา ผู้ใหญ่จะต้องคอยสั่งเขาตลอดเวลาว่าเวลานี้ควรทำอะไร และต้องทำอะไรต่อ ตารางเวลาเด็กเล็ก ควรมีเรื่องตื่นนอน ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ กินข้าว ทำงานบ้าน เล่น และอ่านนิทาน เข้านอนเวลาไหน
ข้อแนะนำสุดท้าย ‘เหนื่อยก็พัก และเฝ้าดูลูกๆ เล่น’
บางครั้งพ่อแม่และผู้ใหญ่มักเป็นกังวลว่า ‘วันนี้ผู้ใหญ่ต้องทำอะไรกับลูกดี’ ผู้ใหญ่มักจะรู้สึกผิดจากการที่ ‘ปล่อยให้วันแต่ละวันของลูกผ่านไปโดยที่ผู้ใหญ่ไม่ได้ ทำอะไรเลย’
ณ จุดนี้ ผู้ใหญ่ลืมมองย้อนไปว่า ‘เด็กๆ ก็ต้องมีเวลาว่างท่ีได้อยู่กับตัวเองบ้าง’ บางทีการไม่ได้ทำอะไรเลยและให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างอิสระภายใต้กติกา (กฎ 3 ข้อ) ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน ให้เด็กๆ ได้รู้สึกเบื่อบ้าง เพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์การเล่นใหม่ๆ
ไม่เป็นไรที่ผู้ใหญ่จะพักผ่อน แค่เพียงการเฝ้าดูและให้ความช่วยเหลือยามจำเป็น อาจจะเป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องการจากผู้ใหญ่ การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโต เหมือนกับการวิ่งมาราธอน เพราะผลลัพธ์ไม่ได้เกิดขึ้น เพียงข้ามคืน บางครั้งอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นหลายเดือน หรือ เป็นหลายปี พ่อแม่ค่อยๆ เรียนรู้เติบโตไปพร้อมกับลูก แม้จะเติบโตไปช้าๆ แต่เติบโตอย่างมั่นคง เราจะไปด้วยกัน และไปได้ไกลจนสุดทาง