- ต่อกันที่พาร์ทสุดท้ายของวงเสวนาบทบาทครูปฐมวัยและครูผู้ช่วย กรณีข่าวครูใช้ความรุนแรงเด็กอนุบาล ว่าด้วยประเด็นจิตวิทยา ผลกระทบที่เกิดในใจของเด็กที่ถูกคุกคามได้รับความรุนแรง การเยียวยา และประเด็นที่ต้องถูกทำงานต่อหลังเกิดเหตุนี้
- ช่วงปฐมวัย เป็นช่วงที่เด็กกำลังพัฒนาเรื่อง trust (ความเชื่อมั่น ความวางใจ) รู้สึกว่า ‘โลกปลอดภัย’ เกิดความไว้วางใจต่อโลก กล้าที่จะเปิดรับและพัฒนาตัวเอง แต่ถ้าเขาตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง รู้สึกว่าโลกไม่ปลอดภัย ความเครียดจะทำให้เด็กใช้สมองส่วนสัญชาตญานในการเอาตัวรอด เด็กจะตอบสนองอยู่ 3 แบบ คือ สู้ หนี หรือยอม
- การรักษาเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เพราะเด็กแต่ละคนมีบาดแผลไม่เหมือนกัน การพาไปพบหมอพัฒนาการเด็ก จิตแพทย์เด็ก หรือนักจิตวิทยา ให้เด็กๆ ได้ระบายสิ่งที่ท่วมท้นในใจออกมาว่าเขารู้สึก คิด มองสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง ผู้ใหญ่จะได้เข้าไปในใจเขาถูกว่าเราจะไปเปลี่ยนความเชื่อ ความคิด ที่เกิดขึ้นยังไงบ้าง เราจะโอบอุ้มความรู้สึกหวาดกลัวของเขาอย่างไร
ท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบเรื่องจากความกังวลของผู้ปกครองต่อการจัดการศึกษาให้กับเด็กวัยอนุบาล จากกรณีครูผู้ช่วยอนุบาลใช้ความรุนแรงกับเด็กเล็ก หลายคำถามประดังเซ็งแซ่ขึ้นมาหนาหู …จากนี้เราจะไว้ใจฝากลูกน้อยไว้กับลูกได้อย่างไรบ้าง?
The Potential ขอใช้โอกาสนี้ชวนวิทยากรในแวดวงปฐมวัย จัดวงเสวนาออนไลน์ในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 คุยกันยาวๆ ว่า เราจะถือโอกาสนี้พัฒนาวงการปฐมวัยได้อย่างไรได้บ้าง เริ่มกันตั้งแต่ บทบาทครูปฐมวัยและครูผู้ช่วยคืออะไร, การควบคุมคุณภาพควรเป็นแบบไหน, การเยียวยาหัวใจของเด็กๆ ที่ถูกละเมิดคุกคามทำอย่างไรกันดี วิทยากรทั้ง 3 ท่าน รายนามดังต่อไปนี้
- ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้อาวุโสในวงการการศึกษาด้านปฐมวัยมากว่า 30 ปี ผู้อํานวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา
- ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ และ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จิตใจ และความสัมพันธ์ ในเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน‘
บทความต่อไปนี้คือการถอดบทสนทนาตลอด 2 ชั่วโมง โดยได้เรียบเรียงให้เหมาะแก่การอ่านและตรวจเช็คความถูกต้องเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ แบ่งบทความออกเป็น 2 ชิ้น
ชิ้นที่หนึ่งจะว่าด้วยเรื่อง หลักสูตรผลิตครู การคัดเลือก และ บทบาทหน้าที่ครูปฐมวัยและครูผู้ช่วย ทั้งในประเทศไทยและกรณีตัวอย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และ การควบคุมคุณภาพ
ส่วนชิ้นที่สองว่ากันต่อด้วยประเด็นจิตวิทยา ผลกระทบที่เกิดในใจของเด็กที่ถูกคุกคามได้รับความรุนแรง การเยียวยา และประเด็นที่ต้องถูกทำงานต่อหลังเกิดเหตุนี้
ความรุนแรงซึ่งหน้า ส่งผลต่อใจและกายเด็กอย่างไร
แก้ไขเยียวยาอย่างไรอย่างไรดี
เวลาเกิดเรื่องแบบนี้ สิ่งที่เกิดในใจเด็กมีอะไรบ้าง
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร: ต้องบอกว่า เด็กเล็กๆ เขามีสิ่งที่จะพัฒนาหลักๆ ในช่วง 1 – 2 ปีแรกคือการสร้าง trust (ความเชื่อมั่น ความวางใจ) เพราะเด็กเล็กยังจัดการช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เต็มที่ เวลากลัวก็ยังต้องการคนมาปลอบ เวลาเครียดก็ต้องคนอยู่ใกล้ๆ ซึ่งความรู้สึกว่า ‘โลกปลอดภัย’ คือสิ่งที่จะพัฒนาเด็กไปข้างหน้า เกิดความไว้วางใจต่อโลก อยากวิ่งไปสำรวจอะไรก็วางใจว่าทำได้เพราะโลกเปิดรับ โลกไม่ได้น่ากลัว แต่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าโลกไม่มีความปลอดภัย (insecure) โลกมันน่ากลัว คนรอบข้างซึ่งควรพึ่งพาได้ก็พึ่งพาไม่ได้ ก็อย่างที่ครูหม่อมบอกเลยค่ะ นั่นคือ ‘เมื่อครูไม่มีอยู่จริง’ ก็เลยทำให้เด็กเกิดความรู้ว่าไม่ปลอดภัย ทีนี้เวลาที่มนุษย์รู้สึกไม่ปลอดภัย
เช่น เวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความเครียดความรุนแรง แทนที่สมองจะทำงานขึ้นไปที่สมองส่วน EF ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เราอยากให้เด็กพัฒนา หรือเป็นสมองส่วนของมนุษย์ที่พัฒนามากกว่าสัตว์ ความเครียดทำให้การทำงานวิ่งไปที่สมองส่วนล่างซึ่งเป็นสมองส่วนสัญชาตญาน ส่วนของการเอาตัวรอด เด็กก็จะตอบสนองอยู่ 3 แบบแค่ สู้ หนี หรือยอม
การสู้ เช่น เวลาเจอครูมาดุใส่ เขาอาจสู้โดยการตีกลับหรือเอาคืนบ้าง หรืออย่างภาพของเด็กที่ถูกคลุมถุงแล้วเขาก็สู้กลับ เขาเอาตัวรอด การสู้นี่แหละคือทางรอดของชีวิต เด็กเหล่านี้อาจเติบโตมาเป็นเด็กที่ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง อย่างที่คุณพ่อเขาให้สัมภาษณ์ว่าอยู่ดีๆ ลูกก็ตบปากคนในบ้าน คือมันเป็นวิธีซึมซับที่ส่วนหนึ่งมาจากการมองเห็นผู้ใหญ่รอบตัวใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหากับเขา และส่วนหนึ่งก็เป็นวิธีการเอาตัวรอดจากสมองของเขาที่รู้สึกว่า พอเจออะไรไม่ปลอดภัยเขาสู้กลับเป็นหลัก
การหนี คือ ไม่เผชิญ หลบ สมมุติอยู่ในห้อง ครูเรียกให้ทำอะไรก็ไม่กล้าทำ เพราะกลัวผิด เพราะผิดแล้วรู้ว่าจะไม่ปลอดภัย อีกเดี๋ยวอาจถูกกระทำความรุนแรง เด็กเหล่านี้ก็จะหนีด้วยการร้องไห้ บอกว่าไม่อยากมาโรงเรียน คือพยายามหนีออกจากภาวะคับขัน ที่สำคัญจะ sensitive ง่ายขึ้น อะไรนิดหนึ่ง… ซึ่งจริงๆ อาจจะไม่ได้ดูคุกคาม แต่เขาก็จะรู้สึกอยู่ไม่ได้ ไม่ง่าย รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เพราะพื้นฐานการเรียนรู้ คือ โลกนี้ไม่ปลอดภัย ไม่มีที่ไหนไว้ใจได้ คล้ายเวลาเราอยู่ในสงครามเราก็จะตื่นตัวกว่าปกติ แบบ เฮ้ย… มันจะมายิงเราไหม? การรับรู้ของเรามันจะรับรู้ด้วยการตีความให้มากขึ้นกว่าปกติ เราต้องเอาตัวรอด
แล้วเด็กที่ใช้วิธีการหนีก็จะเป็นแบบนี้ค่ะ คือในระหว่างหนี ลึกๆ ในใจก็จะกังวลว่าเราจะรอดไหม เราจะหนีพ้นหรือเปล่า เขาจะจับเราได้ไหม หรือหลายครั้งก็ใช้วิธีการอื่นๆ ที่ทำให้เรารอดไปเลย เช่น โกหกปกปิดความผิด เด็กกลุ่มนี้ก็จะพัฒนาปัญหาในระยาว คือ วิตกกังวลง่าย โกหกปกปิดความผิด เลี่ยง ไม่สู้ ไม่ทำ ถอย สุดท้ายเด็กก็พัฒนาศักยภาพตัวเองไม่ได้ หรือพัฒนาศัยภาพตัวเองไม่ดี และที่สำคัญ พอศักยภาพตัวเองพัฒนาไม่ได้ด้วยการ ‘อะไรก็ไม่อยากทำ’ ‘อะไรก็ไม่ลองทำเพราะกลัว’ สิ่งที่เสียไปคือตัวตน (self) กลายเป็นรู้สึกว่า ฉันคือคนที่ไม่ได้เรื่อง ฉันคือคนที่ไม่เก่ง
การยอม เป็นรูปแบบที่เราเจอเยอะที่สุด คือพอเงื้อมือปั๊บ เด็กหลายคนก็รีบๆๆ ทำ รีบด้วยความกลัว เป็นวิธีการที่ทำให้รู้ว่า ‘ทำแบบนี้แล้วฉันจะรอดนะ’ คือยอมทำตามเขาไปนี่แหละ เด็กที่ต้องยอมอยู่บ่อยๆ ก็ดูเหมือนจะง่ายสำหรับผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่ที่ชอบใช้วินัยเชิงลบก็จะพบว่า วิธีนี้ก็เวิร์คนี่ พอจะตีทีไรก็ยอมทำตลอด แต่สิ่งที่เด็กต้องแลกคือการที่เขาพบว่า เขาจะเติบโตอย่างรู้สึกว่า ฉันไม่มีอำนาจ ฉันไม่มี power ฉันมีหน้าที่ทำตามที่คนอื่นสั่ง ฉันโต้แย้งไม่ได้ ฉันไม่สามารถแสดงสิ่งที่ฉันรู้สึกและที่คิดได้ ทุกอย่างถูกเก็บอยู่ข้างใน ฉะนั้นสิ่งที่ถูกทำร้ายอยู่ตลอดเวลาก็คือตัวตน (self) ของเด็ก เด็กกลุ่มนี้จะพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้า
ฉะนั้นปัญหาทางสุขภาพจิตของเด็กที่เกิดขึ้นในวัยรุ่นหรือในผู้ใหญ่ หลายครั้งมันมาจากประสบการณ์เชิงลบที่เด็กได้รับในวัยเด็ก หลายครั้งบาดแผลก็ค่อนข้างลึก โดยเฉพาะวัยปฐมวัยก็เป็นวัยที่กำลังพัฒนาตัวตน เฮ้ย…จริงๆ ฉันปฏิเสธได้นี่ ฉันวิ่งได้นะ ฉันปีนป่ายเก่ง แต่ตัวตน (self) ตรงนี้มันถูกทำลาย ถูกจับนั่งนิ่งๆ ในห้อง ถูกบอกว่าเธอไม่ได้เรื่อง เธอมันแย่ เธอถูกทำโทษ เธอถูกตี ตัวตน (self) ตรงนี้มันเลยถูกสั่นคลอนตั้งแต่ระยะต้นของชีวิต แล้วมันไม่ได้สร้างได้ง่ายๆ ไม่ใช่ว่าจะมาสร้างใหม่ตอน 5-6 ขวบ ไม่ใช่ มันเลยเป็นที่สำคัญว่า ทำไมการเลี้ยงดูวัยเด็กถึงได้เป็นรากฐานสำคัญ เพราะว่าสมองมันพัฒนามากๆ มหาศาลในช่วงวัยต้นๆ ของชีวิต
จับได้สองอย่างคือ หนึ่ง – มีอาการทางกายที่แสดงออกอย่างเด่นชัด เช่น เมื่อได้รับความรุนแรงมา ก็ใช้ความรุนแรงกลับ สอง – ตัวตนข้างในที่ถูกทำลาย เป็นคาแรกเตอร์ที่อาจไม่แสดงออก เช่น ภาวะของการเป็นคนไม่มั่นใจ ยอมคน ขี้กลัว
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร: จริงๆ แล้วบาดแผลทั้ง 3 รูปแบบ เป็นบาดแผลที่เกิดทั้งข้างในและข้างนอกนะคะ แม้ว่าเด็กที่สู้บ่อยๆ จะแสดงออกมาข้างนอก แต่จริงๆ เวลาที่สู้ เราก็หวาดกลัวอยู่ข้างใน แล้วหลายครั้งเราพบว่าเด็กเล็กๆ เวลาที่เขาสู้ จริงๆ เขาก็สู้ไม่ได้หรอกเนื่องจากเขาตัวเล็ก พละกำลังไม่พอ พอเขาตีกลับครูก็จัดการเขาหนักกว่าเดิม พ่อแม่ก็ตีเขาหนักกว่าเดิม เด็กก็จะสู้ออกมาเป็นลักษณะความก้าวร้าว เป็นที่มาของเด็กดื้อ คล้ายว่ายังไงฉันจะก็สู้ให้รู้ว่าเธอควบคุมฉันไม่ได้ บอกให้ทำ ไม่ทำ บางคนออกมาเป็นดื้อแบบชัดเจน บางคนออกมาเป็นดื้อเงียบ พยักหน้าแต่ว่าไม่ทำ
ทั้งหมดนี้ จริงๆ แล้วมันกลับมากระทบตัวตน self ของเด็ก เด็กที่โตมาแบบดื้อๆ เขาไม่ได้รู้สึกดีกับตัวเองเลยนะคะ เขาก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ตัวเองไม่เป็นลูกที่น่ารัก ตัวเองไม่เป็นลูกศิษย์ที่ครูชื่มชม ฉะนั้นทั้ง 3 อย่าง จริงๆ มันก็กระทบเรื่อง self ของเด็ก แล้วตัวตนนี่สำคัญกับมนุษย์เรามากเลยนะคะ พลังชีวิตเรามีตัวตนเป็นรากฐานเลย เราจะเชื่อว่าเราทำสิ่งนี้ได้ไหม
เข้าใจว่าภาวะสามอย่างนี้ มีผลต่อการพัฒนาสมองในเชิง neuroscience (วิทยาศาสตร์สมอง) ด้วย
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร: เวลาที่พูดคำว่าจิตใจ จริงๆ มันก็คือสมอง เพราะว่าหัวใจเรา มันรู้สึกไม่ได้เนอะ แต่จะเป็นสมองส่วนความรู้สึก เป็นสมองส่วนที่เราซึมซับด้านความสัมพันธ์ ด้านอารมณ์ต่างๆ ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น มันก็กระทบกับจิตใจ ทั้งความรู้สึกปลอดภัย ความรู้สึกมั่นคง ความรู้สึกเป็นที่รัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานด้านจิตใจว่า การที่เราเติบโตมากับความรุนแรงก็มีผลกระทบต่อโครงสร้างทางด้านอารมณ์ ที่สำคัญมันไปกระทบโครงสร้างของสมอง เพราะว่าเวลาที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย อย่างที่เมื่อกี้บอกไป เราจะไปใช้สมองส่วนสัญชาตญาณเอาตัวรอด
ประเด็นคือ เวลาที่สมองทำงาน เมื่อสมองส่วนอารมณ์ถูกกระตุ้นโดยความรู้สึกเชิงลบว่าไม่ปลอดภัย สมองมันวิ่งลงข้างล่าง สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองอีกอย่างหนึ่งก็คือ สมองส่วนคิดจะปิดทำการ สมองส่วนคิดก็คือสมองส่วน EF เป็นสมองที่เราอยากให้เด็กพัฒนา เราอยากให้เด็กรู้ว่าเวลาที่เขารู้สึกโกรธ นอกจากเขาจะตีกลับ หรือแสดงอาการดื้อ เราอยากให้เขาเรียนรู้ว่าเวลาโกรธเขาทำอะไรได้ หนูมาเขียนระบายใส่กระดาษแบนี้ได้ หนูมานั่งหายใจลึกๆ ตรงมุมสงบแบบนี้นะ หนูจัดการความโกรธตัวเองได้ แบบนี้จะทำให้เขาไม่โตไปเป็นเด็กที่ก้าวร้าว ให้รู้ว่าไม่ได้มีวิธีการจัดการอารมณ์แบบเดียว แต่ครูอาจไม่ได้ใช้วิธีการเชิงบวกที่ทำให้เขาเข้าใจว่าจัดการความโกรธแบบอื่นได้
ที่ร้ายกว่าคือสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกสอนผ่านการบอกแต่ผ่านการเห็น เวลาครูโกรธแล้วครูตบหัว เขาก็เรียนรู้แบบนั้นว่าเวลาโกรธก็แค่ตบหัวกลับ เสร็จแล้ว ได้ระบายแล้ว แต่จริงๆ เด็กอยากเรียนรู้ว่าเวลาโกรธเราไม่ต้องตบหัวใครนะลูก ให้หนูทำแบบนี้ๆ แทน แต่โอกาสในพื้นที่ที่มีเลี้ยงดูเชิงลบ ใช้การขู่ ใช้อำนาจ มันปิดกั้นวิธีการเรียนรู้ที่เราอยากให้สมองพัฒนา
เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้ว เยียวยาอย่างไรดี
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร: ประการแรก – สำหรับเด็กเล็ก ความรู้สึกปลอดภัยเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต ฉะนั้นเราต้องทำให้เขารู้สึกก่อนว่า ณ ขณะนี้ ชีวิตเขาจะปลอดภัย เขาจะมีพ่อแม่ที่ดูแลเขา ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยที่บ้าน ปัญหาที่โรงเรียนกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ตัวเขารู้สึกว่าเขาปลอดภัย
ประการที่สอง – การเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้น อันนี้ต้องบอกว่าเด็กแต่ละคนมีผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับรุนแรงมากน้อยต่างกัน เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ไม่เท่ากัน ลักษณะพื้นฐานหรือพื้นอารมณ์ของเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การจัดการทักษะการคิด การจัดการความรู้สึกทางอารมณ์เด็กแต่ละคนก็แตกต่าง การซัพพอร์ตที่บ้านก็มีความแตกต่าง วิธีการเดียวกันคงใช้กับทุกคนไม่ได้ แต่ละคนควรจะต้องกลับมาประเมินลูกของตัวเองว่า ลูกเรามีผลกระทบที่เยอะไหม ตราบใดที่รู้สึกว่ามีและไม่แน่ใจ หมอคิดว่าการพบผู้เชี่ยวชาญเป็นเรื่องที่ควรจะต้องรีบทำ
หลายครั้งเราแค่เดาเอาว่า ‘คงไม่เป็นไรมั้ง’ คำนี้แหละที่อันตราย เพราะมันส่งผลกับการเรียนรู้ระยะยาว ฉะนั้นตราบใดที่รู้สึกไม่แน่ใจ ลูกดูซึมๆ ลูกดูหวาดกลัวผิดปกติ กลางคืนตื่นมาร้องไห้หลายคืนติดกัน อะไรเหล่านี้ ให้เอะใจไว้ก่อนเลยว่ามันไม่ปกติ แล้วไม่ได้แปลว่าต้องหาผู้เชี่ยวชาญ หาหมอพัฒนาการเด็ก จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยาเฉพาะเมื่อลูกเป็นปัญหาเยอะ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าเราจัดการไม่ได้ ไม่รู้จะช่วยลูกยังไง ช่วงเวลาแบบนี้เราไปเจอกับผู้เชี่ยวชาญได้นะคะ
การเยียวยาจริงๆ ที่ทำกัน บางทีเขาทำผ่านการให้เด็กค่อยๆ ระบายสิ่งที่ท่วมท้นออกมาว่า เขารู้สึกยังไง เขาคิดยังไง เขามองสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง เราจะได้เข้าไปในใจเขาถูกว่าเราจะไปเปลี่ยนความเชื่อ ความคิด ที่เกิดขึ้นยังไงบ้าง เราจะโอบอุ้มความรู้สึกหวาดกลัวของเขายังไง ส่วนใหญ่เทำผ่านการเล่าเรื่อง การเล่น การวาด หรือบางทีเป็นพวกการใช้ทราย (Sand Tray Therapy) มันจะมีรูปแบบการช่วยเยียวยาเด็ก หรือให้เด็กแค่เล่าออกมา มันก็ช่วยเยียวยาเด็กไปได้เยอะ
คุณพ่อคุณแม่อาจจะมีอคติกับการพาน้องไปหาคุณหมอ เพราะนั่นเท่ากับการยอมรับว่ามันมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร: มันมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตลอดชีวิตการเติบโตของเด็กและการเป็นพ่อแม่ของเรา ไม่มีพ่อแม่คนไหนเลี้ยงลูกได้ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเลี้ยงแบบไม่สร้างบาดแผลกันและกันเลยอาจจะต้องกลับมาสงสัย เอ๊ะ…เราอยู่กับลูกเยอะพอหรือเปล่า คือมันมีอยู่แล้ว พ่อแม่เป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก มีการจัดการตัวเองไม่ได้ และหลายครั้งตรงนี้มันก็ส่งผลกระทบกระเทือนกับลูก หมอคิดว่า ยอมรับว่าความไม่ปกติมันเป็นความธรรมดา เกิดขึ้นได้ ไม่ได้เป็นเรื่องผิด แต่เมื่อไรที่เจอว่ามันผิดปกติ แล้วเรียนรู้ที่จะแก้ไข หมอว่าอันนี้เป็นการบอกว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ใช้ได้นะ เราใส่ใจลูก เราเห็นความไม่ปกติ แล้วเราก็สละเวลาที่จะลงมาจัดการกับเรื่องนี้แล้วก็ดูแล แล้วอยากให้รีบทำ ไม่อยากให้มาเสียดายทีหลังว่า โห…เราไม่รู้เลยว่าลูกเรามีบาดแผล เพราะมันจะเรื้อรั้ง
แต่เวลาพูดเรื่องนี้ก็ไม่ใช่แค่พ่อแม่อย่างเดียวเนอะ เป็นเรื่องของครูปฐมวัยที่จะต้อง detect บาดแผลในใจเด็กให้เจอและต้องเยียวยาได้ด้วย ตรงนี้อยากให้ครูหม่อมช่วยแชร์นิดนึงค่ะ
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร: เป็นเรื่องจำเป็นที่ครูปฐมวัยต้องเข้าใจเรื่องจิตวิทยาเด็กที่ดี อย่างที่บอกว่า ความหวังแรกของเด็ก คนหนึ่งคือพ่อแม่ แต่แน่นอนว่าพ่อแม่อาจจะมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริงก็ได้ เด็กหลายคนก็เป็นกำพร้า หรือว่ามีอยู่แล้วแต่อาจไม่พร้อม
ซึ่งเวลาที่ครูหม่อมทำอบรมเรื่องวินัยเชิงบวกกับพ่อแม่ที่อเมริกา ครูหม่อมไม่ได้ทำกับพ่อแม่ที่พร้อมจะจ่ายเงิน แต่ทำให้รัฐ ให้กับพ่อแม่ที่ทำร้ายเด็ก พ่อแม่ที่ติดยาเสพติด ถ้าพ่อแม่เขาไม่มีอยู่จริง ครูจำเป็นจะต้องเข้าไป นี่หนึ่งในหน้าที่ของครูปฐมวัย แล้วครูคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ครูปฐมวัยจะต้องกลับมาทำหน้าที่บทบาทครูปฐมวัยจริงๆ ไม่เป็นไปตามความคาดหวังหรือค่านิยมที่ผิดว่าครูปฐมวัยคือครูที่ต้องสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องการเรียนแต่เป็นเรื่องของการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ
ดร.วรนาท รักสกุลไทย: พูดตรงๆ เลยนะคะ หลักสูตรเรายังไปไม่ถึงเรื่องการให้ครูเป็นที่ปรึกษา เป็นนักจิตวิทยาโรงเรียนเลย นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจมากเลย การรู้ถึงจิตวิทยาครอบครัว การให้คำปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ในบทบาทที่ทำได้และถูกเทรนด์มาพอสมควร คุณหมอโอ๋ต้องมาเป็นวิทยากรแล้วค่ะ สำคัญมาก (หัวเราะ)
นอกจากเด็กๆ ต้องถูกเยียวยา จริงๆ ตัวคุณครูคู่กรณีและผู้ปกครองก็ต้องถูกเยียวยาเหมือนกัน
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร: ถ้าเรามองในบริบทของตัวตน ครูพี่เลี้ยงอย่างครูจุ๋มคือครูคนหนึ่งที่มีปัญหาเนอะ แต่ถ้ามองให้ลึกในเชิงระบบ เราก็ต้องกลับมามองแล้วว่ามันเป็นผลผลิตของกระบวนการสร้างครูหรือเปล่า ตั้งแต่การเลือกรับครูที่อาจทำให้เขาได้ทำงานที่ไม่เหมาะกับความถนัดของเขารึเปล่า หรือปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้ครูจุ๋มเองก็ตกเป็นเหยื่อในสังคมที่เขาไม่ได้มีความสุข จนเขาเผยแพร่พลังงานเชิงลบกับเด็กๆ รอบตัวเขาอยู่หรือเปล่า
แง่นี้เราก็เชื่อว่าคุณครูเองก็มีปัญหาและควรต้องได้รับการดูแลตัวเองหรือเยียวยาตัวเองของเขาก่อน เราคิดว่าทุกคนก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปได้ แต่การที่เราไปตีตรา ไปทำให้เขาจมดินไปต่อไม่ได้ เราก็เสียศักยภาพมนุษย์คนหนึ่งที่เขาควรจะอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ฉะนั้นหมอเลยมองว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องได้รับการเยียวยา
คุณพ่อคุณแม่เอง ก่อนไปช่วยเด็ก จริงๆ ต้องช่วยตัวเองให้รอดก่อนเหมือนกัน ตอนนี้อารมณ์โกรธของเราเต็มไปหมด หรืออาจรู้สึกผิดท่วมท้น เราจัดการอะไรได้ยากมาก ก็อยากให้กลับมาจัดการความรู้สึกของตัวเองก่อน กลับมาดูแลตัวเองก่อน แล้วค่อยๆ จัดการเรื่องลูก จัดการเรื่องการตัดสินใจต่างๆ มีหลายอย่างที่เราต้องใช้พละกำลังข้างในที่มันเข้มแข็งพอสมควรถึงจะเข้าไปจัดการสิ่งเหล่านั้นได้
หน่วยงานของรัฐหน่วยงานไหนที่ควรเข้ามาช่วยกันทำงานเรื่องนี้บ้าง
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร: ครูหม่อมขอแชร์ประสบการณ์นะคะ อยากจะนำเสนอเป็นนโยบายในคำว่า ‘เพื่อนร่วมงานมีอยู่จริง’ หากเป็นเคสที่หนักจริงๆ จะมีครูปฐมวัย นักจิตวิทยา แล้วก็นักสังคมสงเคราะห์ ต้องเรานั่งทำงานด้วยกัน แต่พอหมดเคสแล้วจะมีนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์อีกหนึ่งคนมาทำให้พวกเรา (ทีมงาน) ต่อด้วย เพราะเวลาที่เราไปช่วยเหลือใคร พลังงานเราก็ลด เราก็ต้องมาช่วยกันเพิ่มพลังงาน ทำยังไงให้พลังงานที่เป็นลบหายไป เรื่องนี้สำคัญมากและจะช่วยแก้ทัศนคติเรื่องการบูรณาการข้ามสหวิชาชีพ การทำงานร่วมกัน แก้ทัศนคติในเรื่องของการที่เราทำเกินบทบาทหน้าที่แล้วก็หยิบมาเป็นเรื่องส่วนตัวแล้วก็ทุกข์เอง พอทุกข์เองสื่อสารก็ไม่ค่อยดี
เวลาลูกเจอกับความรุนแรงมา เขาอาจอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ พอจะมีวิธีสังเกตอาการของเด็กๆ ไหมคะ เพื่อให้ผู้ปกครอง detect ลูกได้ไว
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร: เห็นรูปแบบพฤติกรรมบางอย่างที่สังเกตได้ เช่น เด็กที่ก้าวร้าวขึ้น เราก็ต้องกลับมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไรที่เขารู้สึกไม่ปลอดภัยแล้วมันกระตุ้นเขาอยู่ง่ายๆ หรือเปล่า พวกพฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมที่เด็กดูถดถอยขึ้น เช่น ปกติเคยกินข้าวเองได้ แต่อยู่ดีๆ ก็กินไม่ได้ มันแปลว่าพลังข้างในเขาหาย เรียกร้องความสนใจ ช่วยดูแลฉันหน่อย ซึ่งเขาไม่ได้ตั้งใจแต่มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
หรือเด็กแยกตัวออกไป หวาดกลัวผิดปกติ มีการปฏิเสธ ให้ทำอะไรก็ไม่เอา ไม่กล้า กลัว เจอคนแปลกหน้าแล้วตัวสั่น อันนี้อาจจะต้องมองว่า เอ๊…ทำไมช่วงนี้ดูกลัวไปหมด อีกอันคือ เด็กซึมลง ไม่ร่าเริงสดใส เราต้องเอะใจแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น
หรือคำพูดว่า “ไม่อยากไปโรงเรียนเลย” ตรงนี้เราอย่าเพิ่งตัดสินหรือรีบฟังสรุปแล้วรีบตอบว่า “ต้องไปกันทุกคนแหละลูก” เพราะถ้าตอบไปแบบนี้ เราจะไม่ได้ยินอะไรที่อยู่ลึกลงไปอีกมาก ควรจะเปิดคำถามให้ลูกสามารถเล่าต่อได้ เช่น “เกิดอะไรขึ้นหรอลูก หนูรู้สึกยังไงเวลาไปโรงเรียน” “เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไรหนูถึงไม่อยากไปโรงเรียนแล้วช่วงนี้ มันมีอะไรเกิดขึ้นที่นั่น” แล้วฟังเพื่อที่จะได้ยินว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะหลายครั้งเขาอาจพยายามหาช่องที่จะบอกหรือเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พอเราไม่ได้ฟังมันจริงๆ เราก็จะได้ยินแค่ เด็กคนหนึ่งขี้เกียจเรียน ไม่อยากไปโรงเรียน แต่ว่ามันอาจจะมีข้างใต้ภูเขาน้ำแข็งที่เขาเจอเหตุการณ์อะไรมากมายหลายอย่าง ที่ถ้าเรารู้ก่อนจะได้แก้ไข
หลังจากนี้ วงการปฐมวัยต้องผลักดัน พัฒนาระบบให้ดี ต้องทำอะไรกันบ้าง
เพื่อควบคุมคุณภาพการศึกษาปฐมวัย เราต้องทำอะไรกันบ้าง
ดร.วรนาท รักสกุลไทย: การพัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพ จริงๆ เราทำกันมาตลอดนะ เรียกว่าตั้งแต่เป็นข้าราชการปี 2525 เราก็พัฒนาในสถานศึกษากันมาตลอดเลย แต่ก็เห็นชอบว่ามันต้องมีระบบประกันคุณภาพ ทำให้พ่อแม่เกิดศรัทธา ไว้วางใจ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มันเป็นจุดสะท้อนแล้วว่า ระบบประกันภายในก็ล้มเหลว ระบบประกันภายนอก เราผ่าน สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) รอบที่ 4 กันแล้ว โรงเรียนตัวอย่างก็ผ่านแล้ว แต่ทำไมจับผิดเรื่องวุฒิครูกันไม่ได้เลยหรือ? ไม่มีวุฒิครูกันถึง 300 กว่าคนแบบนี้ แล้วมาพูดว่ากำลังรอผ่อนผัน มันไม่ใช่ ฉะนั้นตรงนี้มันเป็นสิ่งที่ระบบต้องได้รับการพัฒนา
ป้าหนูอยากพูดจากใจเลยนะคะ ระบบประกันคุณภาพภายใน พวกเอกสารต่างๆ ที่ทำมา มีข้อหนึ่งที่เราอึดอัดใจกันมากเลย นั่นคือข้อ ‘โรงเรียนได้รับรางวัลอะไรมาแล้วบ้าง’ เช่น โรงเรียนมีนักเรียนพระราชทานไหม ได้รางวัลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไหม เป็นโรงเรียนนำร่องเรื่องคุณธรรมไหม เป็นโรงเรียนที่เอา EF เข้าไปใช้ไหม ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องดีเนอะ เอาใจอาจารย์หม่อมๆ (หัวเราะ)
หมายถึงว่า ไม่ได้บอกว่ารางวัลพวกนั้นเชื่อถือไม่ได้นะ แต่มันทำให้เกิดความอึดอัด คำถามคือแล้วโรงเรียนที่ไม่ได้ผ่านรางวัลเลยเขาไม่มีคุณภาพเหรอ? แต่สิ่งสำคัญเลย ป้าหนูมองว่า ผู้บริหารต้องกลับมาดูโรงเรียนของตัวเอง ไม่ว่าจะสังกัดไหนก็แล้วแต่
เมื่อกี้อาจารย์หม่อมบอกว่าที่นู่นมี Lead Teacher ใช่ไหมคะ แต่ของเรามีผู้บริหารที่เป็นผู้นำทางวิชาการ ผู้นำทาง instructional leadership ผู้นำทางด้านบริหารเชิงการจัดการ ด้านการบริหารในเชิงปรับสัมพันธ์กับชุมชน งานเยอะ แต่อยากให้พยายามใส่ใจเวลาในการบริหารวิชาการอย่างน้อย 80% ของเวลาที่คุณมีอยู่ ลุกจากโต๊ะออกไปไปรื้อเรื่องของระบบนิเทศภายในก็ไปทำให้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยให้เหมาะสม ที่สำคัญเลยเราพยายามพูดกลั่นกรอง โดยเฉพาะทำให้หัวใจของการศึกษาของเด็กปฐมวัยเป็นจริง คือการทำให้เด็กมีความสุข ณ ปัจจุบันด้วย ไม่ได้มองที่อนาคตว่าเด็กคนนี้จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ได้ แต่ให้เขามีความสุข เพราะว่าความสุขคือพื้นฐานของความสำเร็จ ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญมาก
และป้าหนูมองว่ามันเป็นบทเรียนซึ่งต้องมีการถอดบทเรียน ป้าหนูก็สนทนากับพี่ชายซึ่งเป็นหมออยู่ที่อเมริกา เขาบอกว่าแปลกที่ยังไม่มีการจัดการกับครู เพราะถ้าเป็นครูที่อเมริกาจะต้องโดนลงโทษทันที กระบวนการต้องมีตำรวจเข้ามา มีคนทำงานเรื่องการเยียวยากับครอบครัวเด็กหรือตัวเด็กโดยทันที แต่เรารออยู่กี่วันกว่าที่เราจะมาพูดกันถึงเรื่องเด็ก
ในส่วนของครูหม่อม อยากให้ทิ้งท้ายว่าเรื่องความหมายของการศึกษาปฐมวัยว่ามันสำคัญ ไม่ใช่แค่พื้นที่แค่ให้เด็กมานอน มาเล่น
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร: เหมือนที่อาจารย์หนูพูดตอนแรกเลยว่าเป็นเรื่องของการเลี้ยง ปลูกฝังและส่งเสริมพัฒนาการ ซึ่ง 3 งานนี้จะทำได้ต้องเกิดจากความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการ สมอง จิตใจ พฤติกรรมของเด็ก ตามพัฒนาการตามวัยของเขา
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ เลยในการคัดเลือกครู คือเรื่องทัศคติ มีข้อสอบเรื่องนี้นะคะ ถามเหมือนนางสาวไทยเลย บางครั้งเป็นคำถามง่ายๆ ว่า หากเด็กคนหนึ่งร้องไห้ คุณปลอบไปแล้ว 10 ครั้ง เขาก็ยังร้องไห้อยู่ คุณจะทำยังไง เป็นคำถามง่ายๆ แบบนี้ ก็วัดได้ว่า เรายึดหลักว่าเราต้องสื่อสารอย่างไรให้ EF ทำงาน ยึดว่าการสื่อสารนั้นต้องตรงกับวัยของเด็กด้วย และ จะต้องรักษาตัวตน (self) ตัวเองได้ด้วย หรือเปล่า
ครูหม่อมมองว่าเรื่องของทัศนคติในการเป็นครูปฐมวัย ทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพนี้ การรู้บทบาทหน้าที่ตัวเอง เป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่ในเอกสารแต่ออกมาทางบุคลิกภาพและการปฏิบัติ คุณสามารถเข้าไปแล้วดูได้เลย ในห้องเรียนเด็กปฐมวัย ความสุขของเด็กดูได้ง่าย ไม่ใช่ว่าเด็กจะวิ่งเล่นตลอดเวลา เอาแค่เด็กคนหนึ่งหกล้ม แล้วเขาวิ่งไปหาครูคนไหน เขาวิ่งหนีครูคนไหน ครูคนไหนเดินเข้าไปแล้วตลาดวาย อะไรแบบนี้มันเป็นเรื่องที่สามารถดูกันได้ง่ายๆ
สุดท้ายที่หมอโอ๋นะคะ ช่วงที่ผ่านมามีการพูดเรื่องจิตวิทยาเด็กที่ส่งผลต่อตัวตนในปัจจุบันกันมากขึ้นเรื่อยๆ เคสนี้เห็นชัดเลยว่าจิตวิทยาสำคัญมากๆ ในวัยเด็ก อยากให้คุณหมอช่วยย้ำอีกนิดหนึ่งค่ะว่า วัยเด็กนี้เป็นวัยที่เรามองข้ามไม่ได้โดยเฉพาะเรื่องจิตวิทยา
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร: เหตุการณ์นี้มองอีกแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เราตื่นตัวกันมากขึ้นในเรื่องของความรุนแรงในรั้วโรงเรียน และหมอเชื่อว่าหลายๆ คน ก็จะเห็นภาพสะท้อนว่าความรุนแรงเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในบ้านเราด้วย สิ่งที่หมออยากให้มองกว้างขึ้นไปคือ ความรุนแรงตรงนี้มันไม่ได้เกิดเฉพาะกับโรงเรียนอนุบาล มันเกิดขึ้นในโรงเรียนชั้นประถม มัธยม มีครูหลายคนใช้การตีเด็กที่รุนแรง ใช้ปัตตาเลี่ยน ใช้การเรียกชื่อเด็กด้วยรูปลักษณ์ทำให้เกิดความอับอายใดๆ ก็ตาม สิ่งเหล่านี้คือความรุนแรงที่มันส่งผลกับการพัฒนาตัวตน
อยากเน้นย้ำว่า มนุษย์เราเวลาพัฒนาตัวตนจากรากแล้วค่อยไประดับชั้นที่สูงขึ้น รากคือความรู้สึกเชื่อใจ ปลอดภัย trust สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นในวัยประถม ต่อมาจึงพัฒนาเรื่อง self การมีตัวตนของเรา แล้วมันก็ไปพัฒนาเรื่องการลงมือทำต่างๆ การสร้างคุณลักษณะ แปลว่าถ้าฐานไม่แน่น ถึงคุณจะไปสร้างสิ่งเหล่านี้ตอนโตมันไม่ได้สร้างได้ง่ายๆ จึงมีความจำเป็นที่เราต้องลงทุนกับการสร้างเด็กในวัยเล็กซึ่งเป็นช่วงต้นของชีวิต
หมอไม่ได้บอกว่าการลงทุนจะมาจากแค่พ่อแม่ แต่รัฐเองก็ต้องลงทุน การพัฒนาศักยภาพมนุษย์คนหนึ่ง อย่าเพิ่มแค่ค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องทำเรื่องการศึกษาในปฐมวัย ทำยังไงที่เด็กไม่ต้องแย่งกันสอบเข้าอนุบาล ทำยังไงที่เขาไม่ต้องถูกจับหัดเขียน หัดเรียน เพื่อจะได้ดูฉลาดพอที่จะเข้าโรงเรียนดีๆ ที่มีน้อยในประเทศ ทำยังไงการศึกษาเหล่านี้มันถึงเข้าถึงคนทุกคน
ต้องบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในเด็กที่มีโอกาส เด็กที่พ่อแม่มีเงินจ่ายเข้าไปในโรงเรียนที่ถือว่าดีระดับหนึ่ง เพราะว่าเป็นโรงเรียนเอกชน
แต่มีเด็กอีกจำนวนมากมายมหาศาลในประเทศไทยที่อยู่ในโรงเรียนวัด อำนาจของครูคับห้องคับโรงเรียน ครูจะกระทำกับเด็กยังไงก็ได้ พ่อแม่ไม่มีปากเสียง เพราะไม่มีทางเลือก ถ้าไม่มีโรงเรียนนี้ฉันไม่มีโรงเรียนอื่นแล้วที่จะให้ลูกเรียน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยและเกิดขึ้นเยอะมาก
ทำยังไงที่เด็กเหล่านั้นจะได้รับโอกาสที่เขาจะอยู่แบบปลอดภัย หมอคิดว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่รัฐต้องเข้ามาช่วย แล้วหมอก็รู้แล้วว่าตอนนี้เราหวังพึ่งใครไม่ได้มาก เราหวังพึ่งรัฐมาไม่รู้กี่สิบปีก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงอะไร จนคนทำงานด้านการศึกษาต่างก็ถอดอกถอดใจ หรือทำเท่าที่ทำได้กันไปหมดแล้ว
หมอเชื่อว่า ณ ปัจจุบันเราทุกคนต้องรู้ว่าเรามีสิทธิที่จะลุกขึ้นมาปกป้องลูกของเรา ลุกขึ้นมาเรียกร้องกับผู้บริหารของโรงเรียน ลุกขึ้นมาถามครูว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูก อย่าเกรงใจ อย่าทำให้เราเชื่อว่าเราอยู่ในระบบที่มีอำนาจต่ำกว่า แล้วเราทุกคนก็มีสิทธิเสียงเรียกร้องโรงเรียนที่มีคุณภาพและปลอดภัยให้กับเด็กทุกคนในประเทศเรา นั่นคือสิ่งที่จะไปออกดอกออกผล สุดท้ายมันก็จะออกดอกออกผลกับการพัฒนาชาติมากกว่าการลงทุนด้านอื่นๆ