- ชั้นหนึ่ง (First Grade) สารคดีเล่าเรื่องการจัดการศึกษาปฐมวัยในบ้านเรา กำกับและเขียนบทโดย โสภาวรรณ บุญนิมิตร และ พีรชัย เกิดสินธุ์ คงทำให้ใครหลายคงตั้งคำถามขณะดูสารคดีเรื่องนี้ว่า ผู้ใหญ่กำลังพัฒนาตัวตนของเด็ก หรือกำลังทำลายมันด้วยการศึกษาแบบที่เป็นอยู่?
- เด็กวัย 0 – 7 ปี ต้องการดูแลใกล้ชิด ความรัก การเสริมสร้างพัฒนาการโดยเฉพาะฐานกาย เด็กวัยนี้ไม่ควรต้องเจอกับการบังคับให้ท่องหนังสือ กับคำสั่ง ‘ห้าม’ หรือ ‘ไม่ได้’ ต่างๆ นานา กับการบังคับให้เรียนมากๆ เพื่อแข่งขันไปสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน ที่น่าเศร้า คือ ถึงแม้พ่อแม่จะไม่ได้ทำสิ่งนี้กับลูก แต่สังคมรอบข้าง เช่น ลุงป้าน้าอาใกล้บ้าน หรือคุณครูที่โรงเรียน ก็อาจเป็นคนทำได้
- แล้วการพัฒนาเด็กคนนึงแบบไหนถึงดีที่สุด? ก็อาจเป็นการเลี้ยงดูที่ยังคงความสดใสและหล่อเลี้ยงความมั่นใจให้มีติดตัวกับเด็กทุกคน ไม่ให้มันถูกทำลายไปตามการเติบโต
1.
วันก่อน นั่งมองรุ่นพี่ที่ทำงานจูงลูกสาวที่ยังสูงไม่พ้น 100 เซนติเมตร อายุขวบนิดๆ เข้ามาที่ทำงาน ภาพตรงหน้ามันน่ารัก คุณแม่วุ่นวายจับจูงลูกให้อยู่นิ่งๆ หลอกล่อด้วยการ์ตูนในจอแท็บเล็ตเล็ก สลับกับภาพบรรดาเพื่อนที่ทำงานผลัดกันเข้าไปทักทายหยอกล้อ ‘หลานน้า’ กันสนุกสนาน บรรยากาศในที่ทำงานวันนั้นสดใสขึ้นมาจริงๆ
แต่ในความสดใสมีความเศร้า ตัวคุณแม่เองก็รู้ว่าเวลาพาเด็กเล็กออกมาในพื้นที่ทำงานซึ่ง ‘ความสนใจของแม่’ จะถูกเปลี่ยนไปที่ ‘งาน’ และ ‘เพื่อนร่วมงาน’ ทำให้เด็กถูก distract แย่งความสนใจของแม่ไปที่อื่น เขาจึงวุ่นวายและพยายามเรียกร้องความสนใจกลับไปที่ตัวเอง
เรื่องนี้คนเป็นแม่เองก็รู้ดี เด็กเล็กวัย 0 – 7 ปี หรือที่เรียกว่า ‘ปฐมวัย’ ต้องการดูแลแบบใกล้ชิด ต้องการความรัก ต้องการการเสริมสร้างพัฒนาการโดยเฉพาะฐานกาย กิจกรรมที่ทำให้เขาได้ทำเช่นนั้น ก็คือการได้ออกกำลัง
ที่น่าเศร้าสำหรับฉัน คือการได้ยินว่า ‘คุณแม่’ หรือเพื่อนรุ่นพี่คนนี้ต้องพาน้องไปฝากไว้กับศูนย์เลี้ยงเด็กที่ไว้ใจได้เพื่อช่วยดูแลน้องในวันทำงาน แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดกับหลายบ้านตามภาระที่ไม่เท่ากัน แต่ก็อดเศร้าไม่ได้ เด็กๆ กำลังถูกบังคับ ‘ให้เรียนรู้’ มากกว่าได้เล่นและอยู่กับคนที่จะให้ความรักเค้า
ได้แต่คิดในใจว่า ขอให้น้องโชคดีได้อยู่กับศูนย์เด็กเล็กที่เข้าใจคอนเซปต์การไม่เร่งเรียนเขียนอ่านในวัยเด็กเล็ก ไม่เจอครูใจร้ายแบบที่เคยเป็นข่าวเมื่อกลางปีก่อนด้วยเถอะ
แต่ต่อมาก็รู้สึกแย่ ที่ทำไมเรื่องแบบนี้…เราต้องภาวนา
2.
วันก่อน ฉันได้ดูสารคดีเรื่องการจัดการศึกษาของเด็กเล็ก ชื่อ ชั้นหนึ่ง (First Grade) กำกับและเขียนบทโดย โสภาวรรณ บุญนิมิตร และ พีรชัย เกิดสินธุ์ สารคดีเปิดเรื่องด้วยการยื่นเรื่อง ‘ร่างพ.ร.บ.ปฐมวัย’ เมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อกำหนดให้ชัดว่า ปฐมวัยคืออะไร เกณฑ์อายุเท่าไร ต้องจัดการศึกษาให้เด็กเล็กอย่างไร และระบุชัดว่าต้องไม่มีการสอบเข้าป.1 เพราะนี่จะเป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่และส่งผลกระทบต่อเด็กเล็กอย่างรุนแรง (วันนี้เรามี พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 ออกมาแล้ว แต่เนื้อหาใน พ.ร.บ.ไกลจากร่างที่กลุ่มปฐมวัยเรียกร้องพอสมควร)
จากนั้นมีเสียงของนักวิชาการด้านปฐมวัยผลัดกันมาเล่าว่า ที่ถูกแล้ววัยนี้ควรได้รับการศึกษาแบบไหน แล้วค่อยพาเราไปสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กชั้น ป.1 หลากหลายแนวทางการศึกษา หลายจังหวัด หลายชนชั้น ต่างศาสนา และต่างระบบการศึกษา
ทั้งหมดทำให้เห็นทั้งกระดานจริงๆ ว่า การศึกษาชั้นปฐมวัยในบ้านเรา มันเป็นอย่างไร…และนี่เป็นแค่ช่วงชั้นเดียว
แต่เอาเข้าจริงแล้วเราอึดอัด เพราะตัวอย่างหลายโรงเรียนที่ทีมผู้ผลิตหยิบมาเล่า…เราไม่เชื่อในการจัดการศึกษาแบบนั้น หรือในบางจังหวะ เราเห็นแววตาเศร้าในดวงตาของเด็ก แม้ไม่ได้อธิบายเป็นคำพูด แต่รับรู้ได้ว่า เด็กตัวน้อยคนนี้กำลังแบกความคาดหวังของผู้ใหญ่ไว้มหาศาล
ที่ฉันเศร้ากว่าคือ…ทำไมผู้ใหญ่ที่อยู่กับเขาถึงมองไม่เห็น
ผู้กำกับพาเราไปเจอกับการจัดการศึกษาของบ้านที่มีทางเลือก ขณะเดียวกัน ก็พาไปเจอกับการจัดการศึกษาของชุมชนชาติพันธุ์และของชุมชนคลองเตย – ซึ่งโรงเรียนนี้ฉันเคยไป เคยคุยกับครู เคยคุยกับนักเรียน เคยได้นั่งฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตเขาภายใต้เงื่อนไขชีวิตที่เลือกไม่ได้และจัดการได้ยาก การดูเรื่องเล่าในพาร์ทนี้ของฉันจึงอดรู้สึกร่วมและทำใจไม่ก่นด่าระบบใหญ่ไม่ได้
และหากดูมาจนท้ายเรื่อง ได้เห็นการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยที่แท้จริงในประเทศ มันก็เห็นความจริงซึ่งหน้าเลยว่า การศึกษาที่มีอยู่จริงนี้สวนทางโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่นักวิชาการบอกมาตอนต้นเรื่อง และนี่คงทำให้เราได้ตั้งคำถามกันใหญ่หลวงแหละว่า
เราเดินมาสู่จุดที่การศึกษาล้มเหลวทั้งกระดานได้อย่างไร เรากำลังใส่อะไรให้กับเด็กตัวน้อยๆ ที่สดใสเหล่านี้กันนะ นี่มันเรื่องใหญ่จริงๆ
3.
วันก่อน ฉันนั่งมองคุณแม่คนเดิมโพสต์รูปพัฒนาการของเด็กน้อยคนเดิม เขาสดใสมาก และฉันรู้ว่าคุณแม่ท่านนี้กำลังต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อให้ความสดใสของลูกสาวยังอยู่ต่อไป อย่างน้อยก็จนกว่าเขาจะเข้าสู่วัยรุ่นแล้วต้องมีเรื่องเครียดกับชีวิตดั่งที่มันควรเป็น…เมื่อถึงเวลา
เด็กวัยนี้ไม่ควรต้องเจอกับการบังคับให้ท่องหนังสือ กับคำสั่ง ‘ห้าม’ หรือ ‘ไม่ได้’ ต่างๆ นานา กับการบังคับให้เรียนมากๆ เพื่อแข่งขันไปสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน – คุณแม่ท่านนี้ไม่ได้ทำอย่างนั้นหรอก แต่สังคมรอบข้าง ลุงป้าน้าอาใกล้บ้าน คุณครูที่โรงเรียน…จะเป็นคนทำ
พลันประโยคหนึ่งของ ‘ครูก้า’ กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เจ้าของโรงเรียนจิตตเมตต์ และหนึ่งในบุคคลที่ต่อสู้เพื่อการจัดการศึกษาที่ถูกต้องของปฐมวัย กล่าวตอนนึงใน ชั้นหนึ่ง (First Grade) ว่า…
“ตกลงเรากำลังพัฒนาการศึกษา หรือทำลายสิ่งที่มีติดตัวเด็กกันแน่?”
ฉันอยากให้แม่ของเด็กเล็กๆ ทุกคนในโลกได้ดูสารคดีชิ้นนี้ …บอกตามตรงว่ามันอาจไม่สนุกเหมือนภาพยนตร์เรื่องอื่น มันวิชาการ มันไม่เอนเตอร์เทนจรรโลงใจ แต่…อยากให้คุณแม่ทุกคนได้ถูกถาม อย่างที่ครูก้าตั้งคำถามข้างบน
เรากำลังพัฒนาตัวตนของเค้า หรือกำลังทำลายมันด้วยการศึกษาแบบที่เป็นอยู่กันแน่?
4.
โอเค…ฉันอาจบอกว่าสารคดีชิ้นนี้ไม่สนุก แต่คุณูปการของมันไม่ใช่ความสนุกอยู่แล้ว มันคือการได้เห็น ‘ข้อเท็จจริง’ ของการศึกษาในไทย และชวนตั้งคำถามว่า การพัฒนาเด็กคนนึง แบบไหนถึงดีที่สุด ดีที่สุดก็คือ การคงความสดใสและหล่อเลี้ยงความมั่นใจ ความมั่นใจที่มีติดตัวกับเด็กทุกคนไม่ให้มันถูกทำลายไปตามการเติบโต
แต่ถ้าถามว่าจังหวะไหนที่ฉันชอบและทำงานที่สุด สำหรับฉันคือตอนสุดท้ายที่ ‘ครูก้า’ พูดถึงการปีนต้นไม้ของเด็กๆ (ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างคลาสสิกที่นักการศึกษาปฐมวัยแทบทุกคนพูดถึงเลย)
ครูก้าบอกว่า มันไม่ใช่แค่การปีนต้นไม้ ไม่ใช่แค่การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กใหญ่ แต่มันคือ ความมั่นใจในเจตจำนงของตัวเอง ฉัน…จะพาตัวเองเคลื่อนผ่าน จากกิ่งไม้กิ่งหนึ่งไปสู่กิ่งไม้อีกกิ่ง และประสบการณ์เช่นนี้ ไม่ควรถูกห้ามเพียงเพราะความกลัวของผู้ใหญ่เอง
“และมันคือความสามารถที่จะประเมินตัวเองนะว่าฉันทำได้หรือเปล่า เด็กแต่ละคนปีนต้นไม้ต้นหนึ่งไม่เคยเหมือนกัน และถ้าเราไม่เชื่อ เราจะมองไม่เห็น
“เด็กไม่ต้องการให้ใครไปพัฒนา เด็กต้องการพัฒนาตัวเอง”
หมายเหตุ: จริงๆ ทีมงานตั้งใจจะเผยแพร่ภาพยนตร์สารคดีชุดนี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ติดเรื่องการระบาดระลอก3 จึงทำให้ต้องเลื่อนการฉายออกไป ซึ่งทางทีมงานยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะจัดฉายในปีไหน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอฝากทุกท่านติดตาม เมื่อวันนั้นมาถึงนะคะ ☺ |