- การกระตุ้นในวัยเด็ก (early childhood stimulation หรือ ECS) จะช่วยสร้างเสริมความสามารถในการคิด การสื่อสาร และการเข้าสังคม โดยมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่สนับสนุนว่าการเล่นในวัยเด็กสร้างผลบวกต่อเจ้าตัวเล็กในระยะยาว เช่น การศึกษาในประเทศจาไมกาที่ติดตามกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยต่อเนื่องถึง 20 ปี พบว่าการที่พ่อแม่เล่นกับลูกมากขึ้นที่บ้านในวัยเด็กจะสร้างประโยชน์ให้กับเด็กในระยะยาว ทั้งความสามารถในการรับรู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา อาชีพ สุขภาพจิต รวมถึงรายได้
- การจะมีสมาธิหยิบตรงนั้นจับตรงนี้พร้อมกับพูดคุยหยอกล้อกับเจ้าตัวเล็กอาจสนุกในวันแรกๆ แต่หลังผ่านไปหลายเดือน บางคนคงเริ่มเบื่อหน่ายเมื่อต้องอ่านนิทานซ้ำๆ หรือหยิบของเล่นชิ้นเดิม แต่สิ่งที่ผมท่องไว้เสมอคือต้องอดทนเพราะนี่คือการลงทุนที่เราอาจไม่เห็นผลในปีนี้ปีหน้า แต่มันจะงอกเงยกลับมาหาเราในระยะยาว
ในหนังสือคู่มือเลี้ยงเด็ก เหล่าคุณแม่จะเชื่อมสัมพันธ์กับลูกน้อยผ่านอ้อมกอดและไออุ่นขณะกำลังให้นม ส่วนคุณพ่อไม่มีบทบาทมากนักและมักทำหน้าที่หน่วยสนับสนุนคอยหยิบจับสิ่งของที่ขาดเหลือพร้อมให้กำลังใจ แต่สำหรับผม บทบาทแค่นั้นออกจะน้อยไปสักหน่อย ก็เลยขอจับจองบางช่วงเวลาของวันเพื่อมีกิจกรรมสองต่อสองกับลูกน้อยนั่นคือการ ‘เล่น’
หลายคนมองว่าการเล่นกับลูกน้อยไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร เป็นเพียงกิจกรรมฆ่าเวลาไม่ให้พ่อแม่เบื่อหน่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเล่นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของลูกตามวัยโดยเฉพาะในช่วงแรกเกิดถึง 5 ขวบ แม้ว่าจะเป็นการกิจกรรมอย่างง่าย อย่างการอ่านหนังสือ ร้องเพลง หรือมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลและเด็กน้อย
การกระตุ้นในวัยเด็ก (early childhood stimulation หรือ ECS) จะช่วยสร้างเสริมความสามารถในการคิด การสื่อสาร และการเข้าสังคม โดยมีการศึกษาในประเทศจาไมกาที่ติดตามกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยต่อเนื่องถึง 20 ปี พบว่าการที่พ่อแม่เล่นกับลูกมากขึ้นที่บ้านในวัยเด็ก จะสร้างประโยชน์ให้กับเด็กในระยะยาว ทั้งความสามารถในการรับรู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา อาชีพ สุขภาพจิต รวมถึงรายได้ ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่สนับสนุนว่าการเล่นในวัยเด็กสร้างผลบวกต่อเจ้าตัวเล็กในระยะยาว แต่โจทย์ที่นักวิจัยยังตีไม่แตกคือจะออกแบบนโยบายอย่างไรที่จะจูงใจให้พ่อแม่เล่นกับลูกที่บ้านมากขึ้น
ก็ลองนึกสิครับว่าจะเล่นอะไรกับเจ้าตัวเล็กในวัยแบเบาะที่แม้แต่จะชูคอก็ลำบากเต็มที!
ในบทความนี้ ผู้เขียนเลยขอมาแบ่งปันประสบการณ์การเล่นกับลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน สิ่งที่คาดหวังจากการเล่นแต่ละอย่าง รวมถึงอุปกรณ์หลากชนิดที่ควรมีไว้ใกล้มือ
เล่นง่าย ได้ประโยชน์
ทารกในวัยแรกเกิดหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับ แต่หากบางช่วงจังหวะที่เจ้าตัวเล็กลืมตาตื่นก็อย่าลืมเข้าไปพูดคุยถามไถ่ อุ้มมาในอ้อมกอดแล้วร้องเพลงอะไรก็ได้ จะเป็นเพลงร่วมสมัย คลาสสิคเอิงเอย หรือจะแต่งขึ้นมาใหม่ตามแรงบันดาลใจ ณ ชั่วขณะนั้นก็ไม่ว่ากัน นี่คือกระบวนการที่จะทำให้เด็กน้อยค่อยๆ ทำความรู้จักตัวตนของเราผ่านน้ำเสียงและเสริมสร้างคลังคำเพื่อพัฒนาการทางภาษา
สำหรับเจ้าตัวเล็กที่ยังคอไม่แข็ง พ่อแม่ต้องคอยประคับประคองอย่างระมัดระวัง แตะสัมผัสแบบเบามือ แล้วหาโอกาสเล่นล้อแบบตามองตา ทำหน้ายิ้มหวาน หัวเราะ ย่นคิ้ว แลบลิ้น กลอกตาไปมา แล้วทำหน้าทะเล้นพิเรนทร์อย่างไรก็ได้เท่าที่จะคิดออก แต่อย่าคาดหวังว่าเจ้าตัวเล็กในอ้อมกอดจะตอบสนองอะไรมากมายนะครับ เพราะผมเองก็เผชิญกับหน้านิ่งสนิทร่วมสามเดือนกว่าจะได้รอยยิ้มตอบกลับมา
กิจกรรมที่ผมชอบมากและพ่อแม่มือใหม่ห้ามพลาดคือฝึกลูกนอนคว่ำ (Tummy Time) วันละ 10 ถึง 15 นาที ซึ่งปกติแล้วผมจะให้เจ้าตัวเล็กมานอนเล่นอยู่บนพุงนุ่มนิ่ม คอยเฝ้ามองเขากระเสือกกระสนที่จะดันคอตัวเองขึ้นมา ขณะเดียวกันก็หยอกล้อพูดคุยเล่นหูเล่นตากับเค้าไปด้วย การฝึกลูกนอนคว่ำสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กน้อยยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และมีโอกาสขาดอากาศหายใจหากจมูกราบไปกับพื้นหรือคว่ำทับของเล่นอย่างตุ๊กตา
หลังจากเด็กน้อยเริ่มยิ้มและหัวเราะก็อย่าลืมกิจกรรมคลาสสิคอย่างการเล่นจ๊ะเอ๋ ที่เจ้าตัวเล็กพร้อมจะสนุกกับเราได้ครึ่งค่อนชั่วโมงโดยไม่เบื่อ มีแต่ผมนี่แหละครับที่จะเหนื่อยเสียก่อนเพราะต้องวิ่งหาที่ซ่อนใหม่ๆ ให้ลูกมองหา
อุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมความสนุก
สิ่งที่ควรมีไว้ติดบ้านคือหนังสือนิทาน จะเป็นรูปแบบภาษาเดียว สองภาษา สามภาษาก็แล้วแต่ถนัด ขอให้มีเอาไว้บ้านเผื่อวันไหนคิดไม่ออกว่าจะคุยอะไรกับลูกจะได้หยิบนิทานมาเล่าให้ฟัง ด้วยความที่ผมเป็นนักอ่าน หนังสือนิทานเลยมีอยู่กองพะเนิน แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะอ่านหมด ส่วนหนึ่งเพราะตัวเล็กติดใจอยู่ไม่กี่เล่ม ส่วนพ่อเองก็ชอบเล่มที่ตัวหนังสือน้อยๆ (ฮา) เพราะการอ่านออกเสียงมันเหนื่อยกว่าที่คิดไว้มาก
เทคนิคการเล่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล บางคนชอบส่งเสียงสูงต่ำชวนตื่นเต้น บางคนเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย ส่วนผมก็จะชอบแต่งเติมเรื่องเข้าไปตามจินตนาการเพราะขี้เกียจอ่าน บางครั้งก็เล่าสิ่งที่เราไปเจอมาตลอดวันให้ฟัง หรือแม้แต่หยิบต้นฉบับบทความเศรษฐศาสตร์การเงินมาอ่านเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเพราะงานคุณพ่อก็เสร็จ ส่วนคุณลูกก็ดูมีความสุขดี (!?)
ผมมองว่าเทคนิควิธีหรือเรื่องที่จะนำมาเล่าเป็นประเด็นปลีกย่อยนะ เพราะสิ่งสำคัญคือการใช้เวลาร่วมกันและให้เค้าได้ยินเสียงของเราให้คุ้นชินจนสบายใจ
การได้เป็นพ่อคนยังเปิดโลกใหม่ให้ผมรู้ว่าตอนนี้มีของเล่นเด็กน่าซื้อหาจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน หากไม่หักห้ามใจตัวเอง ของเล่นเจ้าตัวน้อยคงเกลื่อนบ้านชนิดเล่นเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด ซึ่งผมมีกฎจำง่ายในการเลือกซื้อของเล่นให้เจ้าตัวเล็กคือ ซื้อแต่พอดี อย่าเน้นปริมาณแต่ให้เน้นคุณภาพและความปลอดภัย เลือกของเล่นให้เหมาะกับช่วงวัย และสุดท้ายคือเลือกซื้อของเล่นหลากหลายผิวสัมผัส
ที่ต้องเน้นคุณภาพและความปลอดภัย เพราะหลังจากเด็กน้อยเริ่มนั่งและคว้าของได้ เครื่องมือสำคัญที่เจ้าตัวเล็กใช้สำรวจสิ่งรอบตัวคือ ‘ปาก’ พ่อแม่จึงต้องมั่นใจว่าของเล่นที่ซื้อมาเอาเข้าปากได้ไม่เป็นอันตราย ส่วนของเล่นหลากหลายผิวสัมผัส อาจเลือกเป็นหนังสือผ้าที่ขย้ำแล้วมีเสียงกรอบแกรบ ของเล่นนุ่มๆ ที่ไม่มีขนปุกปุย โมบายส่งเสียงกรุ๊งกริ๊งสีสันสดใสให้เจ้าหนูมองตาม หรือกระจกที่ปลอดภัยสำหรับเด็กให้เจ้าตัวเล็กเรียนรู้หน้าตาของตัวเอง
สิ่งที่พ่อแม่ควรระวังคือห้ามนำสิ่งของชิ้นเล็กๆ มาอยู่ใกล้เจ้าตัวน้อยเด็ดขาด เพราะมีโอกาสที่เค้าจะคว้าแล้วเอาเข้าปากสูงมาก รวมถึงพลาสติกส่งเสียงก๊อบแก๊บซึ่งเป็นที่โปรดปรานของเด็กๆ แต่เสี่ยงต่อการทำให้เด็กขาดอากาศหายใจ
มองเผินๆ เจ้าตัวเล็กอาจไม่ได้อะไรจากการเล่นสักเท่าไหร่ แต่ทุกการขยับตัว หยิบจับ มองตาม รวมถึงการได้ยินเสียงของเรา ทุกนาทีคือการเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นและสิ่งรอบข้าง ทำความคุ้นเคยกับภาษา พลางฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ด้วยการสำรวจโลกใบน้อยที่อยู่ตรงหน้า
แน่นอนครับว่าการจะมีสมาธิหยิบตรงนั้น จับตรงนี้ พร้อมกับพูดคุยหยอกล้อกับเจ้าตัวเล็กอาจสนุกในวันแรกๆ แต่หลังผ่านไปหลายเดือน บางคนคงเริ่มเบื่อหน่ายเมื่อต้องอ่านนิทานซ้ำๆ หรือหยิบของเล่นชิ้นเดิม แต่สิ่งที่ผมท่องไว้เสมอคือต้องอดทนเพราะนี่คือการลงทุนที่เราอาจไม่เห็นผลในปีนี้ปีหน้า แต่มันจะงอกเงยกลับมาหาเราในระยะยาวครับ