- ‘บาดแผลในวัยเยาว์’ นั้นง่ายที่จะสร้าง แต่กลับยากที่จะลืม ผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วยทางใจหลายคน ครั้งหนึ่งก็คือเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมกับบาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งสำหรับบางคนแม้จะผ่านไปหลายปี แต่ภาพฝันร้ายในวันนั้นยังคงชัดเจนราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน
- มนุษย์เรามักจดจำความทรงจำเลวร้ายที่เกิดขึ้นได้แม่นยำกว่าความทรงจำดีๆ หลายงานวิจัยพบว่า สาเหตุที่ทำให้สมองเราเลือก จดจำสิ่งที่เลวร้ายอย่างละเอียดและแม่นยำ เพราะความจำเป็นเพื่อการอยู่รอด
- ความทรงจำเลวร้ายก่อให้เกิด ‘ความกลัว’ ‘ความเศร้า’ ที่จะทำสิ่งใดๆ ต่อ ที่สำคัญคือพัฒนาการในเด็กมักจะถดถอย เมื่อเผชิญเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต พ่อแม่และผู้ใหญ่ จึงไม่ควรสอนเด็กโดยทำให้เขากลัว เพราะเราอาจจะสร้างบาดเเผลให้กับเด็กคนนั้นโดยที่เราไม่ได้เจตนา
‘บาดแผลในวัยเยาว์’ ง่ายที่จะสร้าง แต่กลับยากที่จะลืม
บาดแผลเหล่านั้นทิ้งร่องรอยฝังลึกไว้เสมอ ผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วยทางใจหลายคน ครั้งหนึ่งก็คือเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมกับบาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา
ตัวอย่างเคส: ‘เด็กชายกับความทรงจำเลวร้าย’
เด็กชายวัย 9 ปีคนหนึ่งได้รับการอุปการะไปอยู่กับครอบครัวใหม่ เนื่องจากครอบครัว เก่าของเขาไม่สามารถดูแลเขาได้อย่างเหมาะสม แม้ครอบครัวจะเลี้ยงดูเด็กชายอย่างดี แต่ประสบการณ์เลวร้ายยังทิ้งร่องรอยบาดแผลฝังลึกในใจของเขามาเสมอ แม้เด็กชาย จะยังเล็กมากๆ ตอนที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น จนผู้ใหญ่หลายคนเชื่อว่าเขาคงยังไม่โตพอจะเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถึงกระนั้นเด็กชายกลับจดจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ในช่วงเวลานั้นได้อย่างแม่นยำราวกับเพิ่งเกิดขึ้นไปไม่นาน
ทันทีที่นักบำบัดถามเด็กชายถึงสิ่งที่เขาไม่ชอบ
สิ่งที่เด็กชายตอบกลับมานั้น
“ผมไม่เสียงดัง ไม่ชอบไม้แขวนเสื้อ และกลิ่นเหล้า”
เมื่อได้ยินคำตอบของเด็กชาย หัวใจของนักบำบัดอย่างเราก็ปวดร้าวอย่างที่ไม่เคยเป็น มาก่อน เพราะสิ่งที่เด็กชายไม่ชอบทั้งหมดนี้ ล้วนเเล้วเเต่เป็นสิ่งที่พ่อแท้ๆ ใช้ทำร้ายเขา เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก
พ่อของเด็กชายติดแอลกอฮอล์เรื้อรัง ทุกครั้งที่เขาเมา เขาจะระบายอารมณ์กับลูกที่อยู่ ในวัยปฐมวัย ทั้งตะคอกด้วยเสียงอันดังและลงไม้ลงมือกับลูกอย่างไร้เหตุผล ซึ่งเด็กชาย ตัวเล็กๆ ไม่มีทางสู้หรือหนีไปไหนได้เลย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นไม่มีผู้ใหญ่คนใดกล้าเข้าไป ช่วยหรือขัดขวางเด็กชายจากพ่อของเขาได้
“เรารู้สึกอย่างไรบ้าง?”
“กลัว” คำตอบสั้นๆ ที่สะท้อนทุกความรู้สึกได้กระจ่างชัดที่สุด
แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมานานหลายปีแล้ว และปัจจุบันเด็กชายไม่ได้อยู่กับพ่อของ เขาอีกแล้ว และเด็กชายไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ได้ชัดเจน แต่เด็กชายกลับยังจดจำ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ เขาจดจำกลิ่นของแอลกอฮอล์ อุปกรณ์ที่สร้างแผลเป็นบนหลังและท้องแขนของเขา และแม้แต่เสียงอันดังของพ่อได้ และความทรงจำนี้ยังคงทำให้เขารู้สึกหวาดกลัว
คำถาม ‘ทำไมมนุษย์เราจดจำความทรงจำที่เลวร้ายได้กว่าความทรงจำที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทรงจำที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก?’
คำตอบ มนุษย์เรามักจดจำความทรงจำเลวร้ายที่เกิดขึ้นได้แม่นยำกว่าความทรงจำดีๆ เพราะ สมองของเรามักจัดการข้อมูลเชิงลบและเชิงบวกในบริเวณซีกสมองที่แตกต่างกัน (Nass, 2012)
อารมณ์เชิงลบต้องใช้สมองประมวลความคิดมากกว่าอารมณ์เชิงบวก ลองสังเกตเวลา เราจะเล่าเหตุการณ์ที่เจอ เรามักจะใช้เวลาในการหาคำมาอธิบายเหตุการณ์เลวร้าย มากกว่าเหตุการณ์ที่ทำให้เรามีความสุข เพราะ ‘ความทุกข์ใจ’ จากความกลัว ความเศร้า ความเครียด ความเจ็บปวด มักพูดออกมาได้ยากกว่า ‘ความสุขใจ’ ที่เต็มไปด้วย ความยินดี
สมองมนุษย์เราซับซ้อนมากนัก มีหลายงานวิจัยพบว่า สาเหตุที่ทำให้สมองเราเลือกจดจำสิ่งที่เลวร้ายอย่างละเอียดและแม่นยำ เพราะความจำเป็นเพื่อการอยู่รอด (Evolutionary standpoint)
งานวิจัยของ Elizabeth Kenzinger (2007) อธิบายผ่านการยกตัวอย่างว่า ถ้าครั้งหนึ่ง มีคนนำปืนมาจ่อที่หน้าเรา แน่นอนเราคงตกใจกลัวมาก ณ เวลานั้น (บังเอิญถ้าเรารอด จากเหตุการณ์ดังกล่าวมาได้) แม้เวลาผ่านไปเรายังจดจำรายละเอียดของเหตุการณ์ก่อนเกิด ระหว่างเกิด และหลังเกิดขึ้นได้อย่างค่อนข้างแม่นย ดังนั้นเมื่อเราเจอเหตุการณ์ครั้งใหม่ที่มีกลิ่นอายคล้ายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยสัญชาตญาณก็จะคอยเตือนเราผ่านการฉายภาพความทรงจำสะท้อนขึ้นมาให้เรามองหาทางหนี เพื่อจะได้ไม่โดนปืนจ่อหน้าอีก
ถ้าหากเหตุการณ์นั้นเลวร้ายมากๆ บางทีแค่เราเห็นบางอย่างที่ปรากฏในเหตุการณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ กลิ่น เสียง ลักษณะอากาศที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในวันดังกล่าว ภาพความทรงจำเหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาหาเราทันที โดยที่เราไม่ต้องพยายามนึกถึงมันเสียด้วยซ้ำ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อเหตุผลของการอยู่รอดของเรา แต่ถ้ามากเกินไปก็อาจจะไปขัดขวาง การก้าวไปข้างหน้าของเราเหมือนกัน เราอาจจะกลัวการเผชิญหน้ากับบางอย่าง ทำให้เราหยุดเดินต่อ
‘จดจำเรื่องราวไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าจดจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ได้’
บางคนบอกว่า “เด็กๆ ไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรอก พวกเขายังเด็กเกินไป”
เราอาจจะลืมนึกไปว่า ‘เด็กมีจินตนาการที่ยอดเยี่ยม’ นั่นยิ่งทวีความรุนแรงของ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าเขา เพราะในเมื่อเขาไม่เข้าใจว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ สมองจะทำหน้าที่ตีความตามประสบการณ์(น้อยนิด) ที่เขามีมา ผนวกเข้ากับจินตนาการไร้ขอบเขต เหตุการณ์อาจจะเลวร้ายและน่ากลัวเกินจากเหตุการณ์จริงมากสำหรับเขา
ซึ่งความทรงจำเลวร้ายก่อให้เกิด ‘ความกลัว’ ‘ความเศร้า’ ที่จะทำสิ่งใดๆ ต่อพัฒนาการในเด็กมักจะถดถอยเมื่อเผชิญเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต
Baumeister (2001) กล่าวว่า “เด็กได้รับอิทธิพลจากด้านที่ไม่ดีของพ่อแม่มากกว่าด้านที่ดี”
ดังนั้น การลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น การฟาดตี การตะคอกด่า การประจานให้ อับอาย การทำลายสิ่งของหรือบุคคลที่เด็กรัก การขู่ให้หวาดกลัว การไม่ได้รับความรัก และการทำโทษที่เกิดขึ้นโดยใช้อารมณ์เหนือเหตุผลเป็นตัวตั้ง นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าแล้ว ความกลัวที่เกิดขึ้นในตัวเด็กยังนำไปสู่พัฒนาการถดถอย(Regression) ได้ เช่น
ในเด็กบางคนที่สามารถเข้าห้องน้ำได้เองแล้ว แต่กลับมาปัสสาวะรดกางเกงหรือที่นอน ในเด็กที่เลิกดูดนิ้วมือแล้วกลับมาดูดนิ้วอีกครั้ง และพฤติกรรมอื่นๆที่ถดถอยลงไปจากเดิม จากที่เคยทำสิ่งใดได้ แต่มาตอนนี้กลับทำไม่ได้
ดังนั้น พ่อแม่และผู้ใหญ่ไม่ควรสอนเด็กโดยทำให้เขากลัว เพราะเราอาจจะสร้างบาดเเผลให้กับเด็กคนนั้นโดยที่เราไม่ได้เจตนา
แนวทางในการช่วยเหลือเด็กและผู้ที่มีบาดแผลทางใจ
ซึ่งเกิดจากการได้รับประสบการณ์ที่เลวร้าย มีดังนี้
1. จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา
จัดสภาพแวดล้อมที่สงบมั่นคง เช่น ห้องนอนที่มีเตียง หมอน และผ้าห่มอุ่นๆ มีแสงไฟสีเหลืองนวล มีตุ๊กตานุ่มๆ ให้กอด และมีกลิ่นที่สะอาด ไม่อับชื้น
2. เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา
เราสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับใครสักคนได้ โดยเริ่มจาก
- ให้การรับฟัง
- ให้การยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น
- ให้ความรักและการสนับสนุนทางใจ
- ให้อภัยและการสอน
- ให้ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ
การเยียวยาจิตใจที่ดีที่สุดคือการทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยเพียงพอที่ไม่ต้องพยายาม ทำตัวแข็งแกร่งหรือสร้างกำแพงหนาขึ้นมาอีกแล้ว เพราะตอนนี้เขามีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือและปกป้องเขา
‘ในวันที่อีกฝ่ายเหนื่อยล้า โปรดโอบกอดเขาด้วยความรักและความเข้าใจ’
3. ขอความช่วยเหลือ
การประสบกับเหตุการณ์ที่รุนแรงมากๆ เช่น สงคราม การประสบอุบัติเหตุ การเห็นผู้เสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา และความรุนแรงต่างๆ
เหตุการณ์ที่ประสบสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจมหาศาล และผู้ที่ประสบอาจจะกลายเป็นโรคจิตเวชได้ ได้แก่ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post Traumatic Stress Disorder; PTSD) ตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรค DSM-5 ของสมาคมจิตแพทย์ อเมริกัน โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่ม Trauma and Stressor Related Disorders ซึ่งผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็น PTSD จะมีอาการดังนี้
- ยังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดี ราวกับว่าเหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้น
- พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรือ สิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์
- อารมณ์และความคิดเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ
- มีอาการตื่นตระหนกกลัว โดยมีอาการเช่นนี้ปรากฏอยู่นานมากกว่า 1 เดือนหลัง เหตุการณ์ผ่านไป
ถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายปี คนบางคนยังภาพฝันร้ายในวันนั้นยังคงชัดเจนราวกับว่าเหตุการณ์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ผู้ที่มีอาการ PTSD ควรได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักบำบัดต่างๆ เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม ต่อไป
สุดท้าย เราทุกคนต่างอยากเป็นความทรงจำที่ดีของคนที่เรารัก ดังนั้นในวันนี้ที่เราเป็นผู้ใหญ่ อย่าลืมรักษาใจเราให้ดี และไม่สร้างบาดแผลให้กับใครโดยไม่จำเป็น
อ้างอิง
American Psychiatric Association (2013) Diagnostic and statistical manual of mental disorders (DSM-5®) American Psychiatric Pub
Baumeister, R F, Bratslavsky, E, Finkenauer, C, & Vohs, K D (2001) Bad is stronger than good Review of general psychology, 5(4), 323
The New York Times. (2012, March 23). why people remember negative events more than positive ones. The New York Times. Retrieved August 18, 2022, from https://www.nytimes.com/2012/03/24/your-money/why people-remember-negative-events-more-than-positive-ones.html