- วันหนึ่งลูกก็ต้องโบยบินและมีชีวิต (ไกลบ้าน) เป็นของตัวเอง นอกจากผู้ปกครองต้องเตรียมใจ เตรียมทักษะของเขาให้พร้อม ‘ก่อน’ ออกจากบ้านด้วย ตั้งแต่ฝึกการสังเกต ความกล้าที่จะจริงใจกับตัวเองเพื่อบอกความรู้สึกชอบ/ไม่ชอบ อันเป็น ‘เซนส์’ สำคัญจับสังเกตสิ่งไม่ชอบมาพากล
- สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้ปกครอง คนทำงานเรื่องเด็ก และวิทยากรเรื่องสุขภาวะทางเพศ เขียนอธิบายการเตรียมทักษะป้องกันตัวเองและสร้างความเข้าใจเส้นแบ่งการถูกคุกคามทางเพศอย่างละเอียดและปฏิบัติตามได้ง่ายด้วย
- “ ‘ไม่กลัวลูกจะเจอคนไม่ดี ทำอะไรไม่ดีเหรอ’ ไม่มีใครสามารถเดาได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้า แต่ที่เราไม่ต้องเดาก็คือ การเตรียม การฝึกฝนลูกของเราที่ผ่านมานี่แหละ จะช่วยวางความเป็นห่วงลงได้บ้าง เพื่อเปิดทางให้เค้าได้โบยบินสู่โลกกว้าง งั้นก็ลุยกันเลย”
การเป็นคุณแม่ที่สอนลูกแบบ Home School มาตลอดชั้นประถม การเป็นครอบครัวที่อยู่ด้วยกันพ่อ แม่ ลูกมาตลอด 12 ปีเต็ม เมื่อถึงเวลาที่ลูกจะโบยบิน ออกจากครอบครัว เหมือนลูกนกออกจากรัง และไม่ได้ออกไปใกล้ๆ แค่ต่างจังหวัด แต่เธอยังไปไกลถึงต่างประเทศอีกด้วย แน่นอนไม่ใช่เรื่องง่าย สารพัดคำถามด้วยความห่วงใยจากคนรอบตัว ประเดประดังเข้ามา
- ลูกยังเล็กทำไมกล้าส่งไป
- ลูกยังเล็กทำไมรีบส่งไปจัง
- ส่งไปเร็วก็เท่ากับเค้าต้องห่างจากเราเร็วนะ
- ไม่คิดถึงเหรอ ไม่ห่วงเหรอ
- ไม่กลัวลูกจะเจอคนไม่ดีเหรอ
- ไม่กลัวเค้าจะมีพฤติกรรมเสี่ยงๆ ตามเพื่อนเหรอ
- อีกสารพัด
แม้จะมั่นใจว่าตัวเองตัดสินใจดีแล้ว หนักแน่นพอแล้ว แต่ก็ยอมรับว่าสารพัดคำถามเหล่านี้ก็ทำเอาแอบหวั่นไหวได้เช่นกัน
เมื่อหวั่นไหวก็ต้องมาทบทวน มีอะไรที่มั่นใจ อะไรที่ยังไม่มั่นใจ จะได้เตรียมการให้พร้อมยิ่งขึ้น บทความนี้จึงจะมาเล่าสู่กันฟังว่าเราเตรียมตัวเอง เราเตรียมลูกมาอย่างไรบ้าง จึงทำให้มั่นใจปล่อยเขาโบยบินไปไกล โดยเฉพาะการได้ยินข่าวความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนให้เราได้ยินอยู่ทุกวัน จึงคิดว่าบทความนี้น่าจะเป็นประสบการณ์ในการเตรียมทักษะลูกๆ ให้พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กได้บ้าง
ในวันที่ลูกต้องห่างเรา ไม่ต้องไกลถึงต่างประเทศ แค่ไกลจากบ้านไปโรงเรียนก็ควรต้องมีทักษะเหล่านี้ติดตัว
การ “สังเกต” ทักษะง่ายๆ ที่ต้องฝึกตั้งแต่เด็ก
การสังเกต เป็นทักษะพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เด็กที่มีทักษะการสังเกตที่ดีจะสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ในการเรียนได้ดี และส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เอาเข้าจริงเราพบว่าทักษะการสังเกตไม่ได้มีไว้เพื่อการเรียนอย่างเดียว แต่มันคือทักษะในการใช้ชีวิต ทักษะในการระวังความปลอดภัยได้อีกด้วย
เราฝึกลูกของเราให้เป็นคนช่างสังเกตได้ไม่ยากเลยจากการเล่น ที่เราใช้บ่อยๆ ตอนลูกยังเล็ก คือ หยิบจับสิ่งของที่มีรายละเอียดต่างกัน สีต่างกัน ผิวสัมผัสต่างกัน ขนาดต่างกันเป็นต้น ยิ่งครอบครัวไหนชอบเดินป่า เที่ยวธรรมชาติ ใบไม้ กิ่งไม้ ก้อนหิน จึงเป็นเครื่องมือการฝึกทักษะนี้ได้เป็นอย่างดี
โตขึ้นมาหน่อยก็ฝึกด้วยการตั้งคำถาม กระตุ้นการสังเกต ทั้งที่บ้านและระหว่างอยู่ในรถ ยิ่งเดินทางไกลยิ่งสนุกเพราะแก้เบื่อได้ด้วย เช่น สังเกตป้ายทะเบียนรถ สีรถ หรือการตั้งคำถามประเภทให้สังเกตและใช้เหตุผลประกอบ เช่น คิดว่ารถคันนี้ (บรรทุกของบางอย่างหลังรถ) น่าจะประกอบอาชีพอะไร? หรือ คิดว่าแถวนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพอะไรเป็นหลัก? (จากการสังเกตสองข้างทาง) เป็นต้น หรือจะเป็นของเล่นประเภทการต่อจิ๊กซอว์ เปิดการ์ดจับคู่ภาพเหมือน เหล่านี้ล้วนเป็นการฝึกการสังเกตได้เป็นอย่างดี
ฟังดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับที่เกริ่นไว้ตอนต้นใช่ไหม? เราเองก็คิดแบบนั้น แต่สิ่งที่เกิดกับลูกทำให้รู้ว่าทักษะเหล่านี้ลูกเอาไปใช้ได้กับทุกๆ เรื่องจริงๆ คือว่ามีอยู่ครั้งนึง (จริงๆหลายครั้ง) ลูกน่าจะอายุราวๆ 4-5 ขวบ ลูกหลับในรถ เราแง้มกระจกไว้แล้วลงไปกินข้าวช่วงค่ำๆ ที่ร้านริมทาง โดยจอดรถไว้ที่หน้าร้าน โต๊ะที่นั่งกินไม่ไกลจากรถในระยะที่ว่ากินไปก็มองเห็นลูกตลอดเวลาได้เลย โดยเลยจากร้านไป 1 บล็อกเป็นร้านสะดวกซื้อ
เรานั่งกินไปได้ไม่ถึงครึ่งจานดีก็ได้ยินเสียงแตรรถดัง เราเดินมาที่รถมาดูลูกปรากฏว่าเขาตื่นแล้ว และบอกเราว่าไม่นอนแล้วจะไปนั่งในร้านด้วย เราล๊อครถ จูงลูกมานั่งด้วยกัน มาถึงโต๊ะลูกก็บอกว่า “หนูกะจะนอนต่อแหละ แต่เหลือบไปเห็นวัยรุ่น 3-4 คนหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังมองมาที่หนูและคุยอะไรกันไม่รู้หนูเดาว่าคุยถึงหนู หนูคิดว่าไม่น่าจะปลอดภัยเท่าไหร่ เลยไม่อยากนอนแล้ว”
เราชะโงกไปดูหน้าร้านสะดวกซื้อมีวัยรุ่นอยู่จริงๆ เหตุการณ์ครั้งนั้นและอีกหลายๆ ครั้งที่ลูกทำให้เราเห็นว่าเค้าเป็นคนช่างสังเกต ระวัง แต่ไม่ได้หวาดกลัวจนเกินไป
เชื่อว่าทักษะเหล่านี้ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แต่มาจากการฝึกฝน ผ่านกิจกรรมต่างๆเหล่านั้นเป็นแน่
ความรับผิดชอบ เรื่องใกล้ตัวที่ต้องฝึกฝนตั้งแต่เด็ก
เราเองก็ไม่ใช่แม่ที่เนี๊ยบมากนักในเรื่องนี้ เพราะในหลายๆ เรื่องก็ยังต้องคอยจ้ำจี้จำไชเป็นปกติทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เมื่อเรื่องความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องฝึกฝน โดยเฉพาะเวลาที่เค้าไม่ได้อยู่กับเรา เรื่องนี้ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ที่ต้องมีติดตัวไว้
และเมื่อเป็นเด็ก Home School ไม่มีเวลาประจำที่ต้องไปโรงเรียน ยิ่งต้องมีวิธีให้รับผิดชอบเรื่องส่วนตัวง่ายๆ ที่ต้องทำทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บที่นอน กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ อะไรก็ได้ตามกิจกรรมของครอบครัว แต่ต้องทุกวันและไม่ยากจนเกินไป ค่อยๆ เพื่มปริมาณหรือความยากตามอายุ วิธีนี้คิดว่าหลายๆครอบครัวก็คงทำอยู่แล้ว
อีกวิธีการหนึ่ง คือ การลงสนามจริง ด้วยครอบครัวเราต้องเดินทางบ่อยๆ ทั้งจากหน้าที่การงานบ้าง ท่องเที่ยวบ้าง เมื่อเลี้ยงลูกแบบ Home School ลูกจึงต้องติดสอยห้อยตามไปทุกที่ การฝึกให้เด็กรับผิดชอบสัมภาระส่วนตัวบางอย่างตลอดการเดินทาง จึงเป็นวิธีที่จะสร้างทักษะให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี ค่อยๆ เริ่มจากการรับผิดชอบหมอนเน่าของตัวเองที่ต้องติดตัวเป็นประจำ รับผิดชอบกระเป๋าใบเล็กของตัวเอง ขยับเป็นรับผิดชอบสัมภาระทั้งหมดของตัวเอง รับผิดชอบตั๋วระหว่างเดินทาง ค่อยๆ เพิ่มเป็นจัดกระเป๋าเองตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ดูแลกลับมาให้ครบ แม้แต่ passport ก็ต้องดูแลเองตลอดทริป
การทำแบบนี้นอกจากค่อยๆ เพิ่มความมั่นใจให้ลูกแล้ว ก็ยังค่อยๆ เพิ่มความมั่นใจให้เราด้วยว่าถึงเวลาที่จะให้รับผิดชอบของสำคัญหรือยัง ถ้าบทนี้ผ่าน เราก็เบาใจได้ แต่เราเองก็ต้องเตรียมแผนสำรองไว้ด้วยโดยไม่ให้ลูกรู้เพื่อรับมือกรณีผิดพลาดเรื่องสำคัญๆ เช่น passport หาย ตั๋วหายเป็นต้น แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญก็ปล่อยให้แก้ปัญหาเอง เช่น ลืมชุดนอน จัดเสื้อผ้ามาไม่ครบวัน ลืมผ้าเช็ดตัวไว้ที่ Hostel ก่อนหน้า เป็นต้น
อีกวิธีที่คิดว่าเป็นแบบฝึกหัดเรื่องความรับผิดชอบและการสังเกตได้เป็นอย่างดี คือการพัก Hostel เวลาเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่วิธีนี้ขึ้นอยู่กับ life style ของแต่ละครอบครัวนะ สำหรับเราชอบแบบนี้ เหตุผลหลักคือประหยัด นี่แหละสำคัญสุด แต่พบว่านอกจากประหยัดเงินในกระเป๋าแล้ว การพัก Hostel เป็นการได้ฝึกลูกไปในตัว ลูกต้องมีกระเป๋าเสื้อผ้าของตัวเอง รับผิดชอบสัมภาระทั้งหมดของตัวเอง เพราะที่พักเป็นเตียงไม่ใช่เป็นห้อง ต่างคนต้องดูแลตัวเอง เวลา Check out ก็ต้องเก็บของจากเตียงตัวเองให้ครบ ไม่ลืมอะไรไว้ Hostel มักจะใช้ห้องน้ำรวม ต้องจัดการอุปกรณ์ในการไปอาบน้ำและเอากลับมาให้ครบทุกครั้ง แรกๆ พ่อแม่ก็ต้องคอยเตือน คอยบอก บางครั้งก็มีแอบ Double Check เตียงลูกก่อน Check Out แต่พอบ่อยๆ เข้าลูกก็สามารถรับผิดชอบเองได้ มีของกลับมาครบทุกชิ้น
นอกจากนี้การพัก Hostel เป็นการพักรวมกับคนอื่น แม้จะมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่พื้นที่แบบนี้ก็สอนให้เค้าต้องรู้จักสังเกตผู้คนร่วมห้อง แบบไหนรู้สึกปลอดภัย ไม่ปลอดภัย และถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัย จะจัดการดูแลตัวเองอย่างไร เป็นสนามจริงที่ยังคงมีพ่อแม่คอย Support อยู่ข้างๆ
ทักษะความรับผิดชอบนี่เป็นอะไรที่แปลกนะ ตอนลูกใช้ชีวิตปกติกับเราที่บ้าน เรามักจะไม่ค่อยเห็น ต้องคอยบ่นคอยบอกตลอดเวลา แต่วันที่เค้าไกลจากเรา ทักษะที่เราฝึกฝนเหล่านี้ปรากฏอย่างชัดเจน เหมือนวัคซีนที่มีอยู่ในตัว เมื่อถึงเวลาเค้าก็เอามันออกมาใช้ได้อย่างไม่ขัดสน
เราลองมาแล้วทั้งกับลูกตัวเอง และลูกคนอื่น ไม่เชื่อลองดูซิ
โอบกอดเสมอ แม้ผิดพลาดกลับมา
อีกอย่างที่พบระหว่างการทบทวนว่าเราพร้อมแค่ไหนก่อนส่งลูกโบยบินสู่โลกกว้าง คือ การทำให้ลูกมั่นคงในความรักของเรา ฟังดูเป็นวิชาการเชียวนะ แต่ความจริงแล้วคือการที่เรามีเวลาให้เค้า เล่นกับเค้า ไม่ดันหลังให้เค้าทำในสิ่งที่เค้ายังไม่พร้อม เราจำได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับครอบครัวเรา เพราะเชื่อว่าความพร้อมของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน เราทำได้แค่รอ รอวันที่เค้าพร้อมเค้าจะลุยสุดใจ เราทำแบบนี้กับทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องการพูด เดิน เรียน อ่าน เขียน และมันก็พิสูจน์จริงๆ ว่า พอเค้าพร้อม เค้าจะบอกเราเอง และทำมันได้ในที่สุด
มีเหมือนกันที่บางอย่างเค้าบอกว่าพร้อม แต่พอลงมือไปได้ซักพักนั้นเริ่มไม่ใช่ ไปต่อไม่ไหว สิ่งที่เราต้องทำคือโอบกอด ปลอบโยน ให้โอกาสได้พักก่อน พร้อมเมื่อไหร่ค่อยไปต่อ เพราะช่วงเวลาที่เค้ากำลังผิดพลาด พ่ายแพ้ อ่อนแอ นั่นคือเวลาที่เค้าต้องการใครซักคนที่เข้าใจและอยู่ข้างๆ เค้า นั่นคือเวลาทองที่ คนๆ นั้น ต้องเป็นเราให้ได้
เรื่องนี้สำคัญอย่างไรกับการที่ลูกต้องไปอยู่ไกลหูไกลตาเรา เพราะเรื่องนี้เป็นฐานทางจิตใจที่มั่นคงมาก ถ้าลูกมั่นใจว่าความรักของพ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่บ้าน เป็นความรักที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของเค้า มันทำให้เรามั่นใจได้ว่า ต่อให้ห่างกันสุดขอบโลก แต่วันที่เค้าผิดหวัง พ่ายแพ้ อ่อนแอ คนที่เค้าจะโทรหา หรือ กลับมาซบอกคือเรา คือคนที่บ้าน และคนที่จะทำให้เค้ามีแรงไปต่อ ก็คือ เรา คือคนที่บ้าน ถ้าเรามั่นใจแบบนี้ได้ การห่างกันจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป
แล้วอะไรล่ะ ที่จะทำให้เรารู้ว่าเรามั่นใจแบบนั้นได้?
โดยทางวิชาการจะเป็นอย่างไร เราไม่แน่ใจ แต่ที่เราสามารถแน่ใจได้ คือ การที่ลูกไม่โกหก บ่อยครั้งที่เค้าทำผิด สิ่งที่ทำนั้นรู้ว่าแม่ไม่ชอบ อยากจะปิดแม่นะ แต่ท้ายที่สุดก็อดไม่ได้ต้องบอกอยู่ดี “บอกแล้วโล่ง” ลูกบอก และหลายครั้งที่ลูกถามว่า “แม่ไม่โกรธเหรอ” “ โกรธซิ เสียใจซิ แต่กลับไปแก้อะไรไม่ได้แล้วนี่ เหลือแต่ครั้งต่อไปจะทำยังไงไม่ให้เป็นแบบนั้นอีก” เรามักบอกลูกแบบนี้เสมอ
เราเชื่อนะว่า ไม่ว่าเด็กคนไหน ถ้าเค้ารับรู้ เค้าได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยมจากพ่อแม่ ต่อให้ผิดพลาดแค่ไหน เค้าก็พร้อมจะเลือกเราเป็นคนยืนข้างๆ เค้า และจับมือเค้าไปต่อ และเมื่อเป็นเช่นนั้น หากวันนึงเค้าเจอเรื่องร้ายในชีวิต เจอคนไม่ดีทำร้ายหรือโดนละเมิด เราก็มั่นใจได้ว่าเค้าจะไม่ปล่อยให้ตัวเองโดยทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก เค้าต้องเลือกที่จะบอกเรื่องแบบนี้ให้เรารับรู้ก่อนที่จะสายเกินไป
ป้องกันลูกจากการถูกละเมิดทางเพศ เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน เด็กรู้เองไม่ได้
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่พ่อแม่ทุกบ้านกังวลเป็นที่สุด ยิ่งเห็นข่าวอยู่ทุกวันยิ่งกังวล เพราะแม้แต่โรงเรียน สถานที่ที่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของลูกเรา เด็กบางคนใช้ชีวิตที่โรงเรียนมากพอๆ กับที่บ้าน ก็ยังไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กเลย แล้วนี่ลูกจะไปอยู่ห่างหูห่างตา ที่ไหนล่ะจะปลอดภัยสำหรับลูกเรา?
ในฐานะคุณแม่ และในฐานะคนทำงานเรื่องเด็ก เป็นวิทยากรเรื่องสุขภาวะทางเพศ อยากบอกว่า “อย่ามัวหาที่ที่ปลอดภัยเลย เพราะแทบจะไม่มีที่ไหนหรอกที่จะปลอดภัยแม้แต่ที่บ้าน” แต่เราเอาเวลามาฝึกฝนให้ลูกของเราเท่าทันกับสถานการณ์เรื่องเพศ มีทักษะในการป้องกันตัวเองกันดีกว่า อย่าอายที่จะพูดคุยกับลูก อย่ารอให้ลูกโตก่อน เพราะนั่นอาจสายเกินไป เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่บ้านเราฝึกฝนกันเป็นประจำ ทั้งในชีวิตปกติ และการเข้าร่วมกิจกรรมที่พ่อแม่สอนเรื่องนี้ด้วย
จริงๆ เดี๋ยวนี้มี How To สำหรับเรื่องนี้มากมาย ทั้งใน Google และในหนังสือ 5 วิธีสอนลูกให้ปลอดภัยจากการล่วงละเมิด, สอนลูกอย่างไรให้ปลอดภัยจากการล่วงละเมิด ฯลฯ แต่อ่านแล้วก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ ไม่ใช่เพราะมันยากหรือเพราะเราไม่เก่งพอหรอกนะ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน
เรามีความคิดความเชื่อที่ฝังหัวเรามานานแสนนาน ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องบนเตียงบ้างละ คนที่คุยเรื่องเพศดูเป็นคนไม่ดีบ้างละ เรื่องแบบนี้ถึงเวลาก็รู้เองบ้างละ บลา บลา บลา… เมื่อสิ่งเหล่านี้ฝังอยู่ในความคิดความเชื่อของเราเสียแล้ว การจะทำสิ่งที่ต่างหรือขัดแย้งกับสิ่งที่เชื่อ มันจึงยาก เราจึงต้องค่อยๆใช้เวลา นั่นจึงเป็นเหตุให้แค่อ่าน ก็อาจไม่ช่วยให้ทำได้ เพราะการจะสอนลูกเรื่องนี้ เราต้องสอน ต้องฝึกฝนตั้งแต่เด็ก เป็นเหมือนวัคซีนที่ต้องฉีดเรื่อยๆ ตามอายุ ไม่ติดโรคนั้นก็ไม่ต้องใช้ แต่ถ้าติดโรคนั้นขึ้นมา การมีวัคซีนอยู่ในตัวย่อมดีกว่าไม่มีเป็นแน่ เรื่องเพศก็เหมือนกัน แล้วเราควรเริ่มอย่างไร ?
พ่อแม่ต้องเปิดใจ ก่อนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่สามารถคุยกับลูกได้อย่างเหมาะสมตามวัย ไม่ต้องเขินอาย และสอนลูกได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก เช่น
- สอนให้ลูกเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง ย้ำเตือนให้ลูกรู้ว่าไม่มีใครมีสิทธิ์มาแตะต้องร่างกายของเค้า ถ้าเค้าไม่สบายใจ ส่วนไหนบ้างที่เป็นอวัยวะต้องห้ามสัมผัสเลย เว้นเสียแต่เพื่อการทำความสะอาดและรักษาโรค คุย บอก สอนได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก โดยเฉพาะเวลาที่เราอาบน้ำให้ลูก สำหรับเด็กเล็ก “กฎชุดว่ายน้ำ” เป็นสิ่งที่เด็กเข้าใจได้ง่ายสุด นั่นคือ อวัยวะที่อยู่ภายใต้ชุดว่ายน้ำเป็นอวัยวะต้องห้ามจับ ห้ามจ้อง ห้ามถ่ายรูป ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทำได้
- เรียกชื่ออวัยวะด้วยชื่อเรียกที่ถูกต้อง หลายต่อหลายบ้านเลี่ยงที่จะเรียกอวัยวะเพศด้วยชื่อที่ถูกต้อง และเลือกที่จะตั้งชื่อน่ารักๆ ให้อวัยวะส่วนนั้น ฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเวลาที่ลูกต้องการอธิบายถึงปัญหาที่เกิดกับอวัยวะเพศให้พ่อแม่ฟัง ลูกจะได้ใช้คำที่เข้าใจตรงกัน และถ้าลูกเรียกชื่อด้วยคำน่ารักๆ ที่พ่อแม่ตั้งให้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้น ลูกจะไม่สามารถอธิบายเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง และอีกประเด็นหนึ่งคือ อวัยวะทุกอย่างมีชื่อเรียก การเรียกชื่ออย่างถูกต้อง นั่นคือการยอมรับ ไม่รังเกียจอวัยวะนั้น เมื่อไม่รังเกียจก็พร้อมจะดูแลอย่างดีที่สุดเช่นกัน เหมือนกับการดูแลอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย
- สอนลูกให้รู้จักสัมผัสที่รู้สึกดี รู้สึกไม่ดี เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก ในฐานะของคนที่ทำงานเด็กมาตลอด 20 กว่าปี พบว่าการจะให้เด็ก (หรือแม้แต่ผู้ใหญ่) บอกความรู้สึกให้ได้นั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน ถ้าวิเคราะห์ดีจะพบว่า เพราะเด็กของเราไม่ถูกฝึกให้สะท้อนความรู้สึกเลย ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ห้องเรียนยิ่งแล้วใหญ่เลย การบอกความรู้สึกเป็นเรื่องไร้สาระ
การบอกเหตุผลต่างหากเป็นที่ยอมรับแม้จะเป็นเหตุผลข้างๆ คูๆ ก็ตาม เมื่อเราไม่เคยฝึกให้เด็กบอกความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี ร้อน หนาว หิว ฯลฯ และผู้ใหญ่โดยส่วนมากก็มักจะยอมรับฟังเหตุผลมากกว่าความรู้สึก เมื่อถึงสถานการณ์เรื่องเพศ เรามักคิดว่า ถ้าเด็กรู้ว่าสัมผัสนั้นรู้สึกอึดอัด รู้สึกไม่ดี ก็ให้รีบหนีออกมาก็อาจจะทำให้การล่วงละเมิดไม่เกิดขึ้นได้ แต่นั่นแหละ มันไม่ง่ายสำหรับเด็ก ยิ่งเด็กเล็กที่ไม่ถูกฝึกให้สะท้อนความรู้สึกเลย เด็กจะแยกแยะไม่ได้ว่ารู้สึกดีหรือไม่ดี หรือไม่รู้ว่ารู้สึกอย่างไรด้วยซ้ำไป
ฉะนั้นการถามลูกว่ารู้สึกอย่างไร ทุกวันหลังตื่นนอน หรือ หลังจากกลับจากโรงเรียนหรือหลังจากทำกิจกรรมใดใด จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรทำ และไม่ใช่แค่รับฟังเฉยๆ ถ้าลูกรู้สึกแย่ รู้สึกไม่ชอบ นั่นคือเวลาที่ต้องถามลูกว่าเพราะอะไร เกิดอะไรขึ้น เพื่อจะได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างวันที่ลูกอยู่ที่โรงเรียน ไปเรียนพิเศษ หรือทำกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ใช่การยัดเยียดความรู้สึกของเราให้ลูกเด็ดขาด
เช่น ลูกบอก “รู้สึกไม่ชอบเพื่อนคนนี้เลย” “แม่ว่า เค้าก็เป็นเด็กน่ารักดีนี่” จบข่าว เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าลูกไปเจออะไรกับเพื่อนคนนี้มา และเมื่อเป็นเช่นนั้นลูกก็อาจจะไม่กล้าบอกเราเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เค้ารู้สึกแย่ จากครู จากเพื่อนบ้าน จากคนรู้จัก หรือจากใครใคร
- สอนให้ลูกรู้จักการปฏิเสธ นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ แต่เด็กของเรามักจะไม่ถูกฝึก ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน การปฏิเสธเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเรื่อยๆ ตั้งแต่เล็กจนโต ฝึกฝนได้กับทุกเรื่อง เช่น การเลือกของเล่นเองไม่ใช่ของที่พ่อเลือกให้ เลือกใส่ชุดนี้ไปโรงเรียนไม่ใช่ชุดที่แม่เลือกให้ ไม่เรียนพิเศษวิชาคณิตเพราะอยากเรียนศิลปะมากกว่า ไม่ไปกินข้าวผัดกระเพรากับเพื่อนเพราะอยากกินก๋วยเตี๋ยวมากกว่า ฯลฯ ถ้าแม้แต่เรื่องในชีวิตประจำวันเหล่านี้เด็กยังไม่เคย ยังไม่กล้าที่จะปฏิเสธเพื่อเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วละก็ ผู้ใหญ่ก็อย่าคาดหวังว่าเมื่อถึงสถานการณ์เรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นท้องไม่พร้อม หรือการล่วงละเมิด เด็กๆ ก็จะปฏิเสธไม่เป็น และไม่รู้วิธีการที่จะปฏิเสธ
สำหรับเรื่องนี้ผู้ใหญ่ คนเป็นพ่อแม่เองก็ต้องฝึกเช่นกัน ฝึกที่จะยอมรับคำปฏิเสธเหล่านี้ของลูกให้ได้ กล้าที่จะคุยอย่างเปิดใจกับลูก เพื่อเป็นทักษะให้ลูกกล้าที่จะปฏิเสธเรื่องไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับตัว ยิ่งเด็กเล็กยิ่งต้องสอนตัวอย่างการปฏิเสธให้ลูกได้รู้เลยว่าสามารถทำยังไงได้บ้าง เช่น รีบวิ่งออกมาเลย ตะโกนให้คนอื่นได้ยิน พูดว่า “อย่า” เสียงดังๆ รีบมาบอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ เป็นต้น เพื่อให้เด็กมีภาพเหล่านี้ติดตัวไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
- พูดคุยเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศกับลูก พูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงและบรรยากาศสบายๆ ให้เค้ารับรู้ความหมายของการล่วงละเมิดและสิทธิในการป้องกันตัวเอง สำหรับเรา มักใช้ข่าวที่ได้ยินได้ฟังมาด้วยกันเปิดประเด็นคุยกันบ่อยๆ ตั้งแต่เล็กจนโต ทำให้เราทั้งได้เห็นความคิด วิธีการแก้ปัญหาของลูก และขณะเดียวกันก็ได้เติมในสิ่งที่คิดว่าเค้ายังไม่รู้ให้แข็งแรงขึ้น
เช่น ครั้งหนึ่ง มีข่าวครูลวนลามเด็กและขู่ว่าอย่าบอกใคร ถ้าบอกจะเอาคลิปไปประจาน กับลูกเรา ถ้าได้ยินคำว่า “อย่าบอกใคร” เราว่านางผ่าน เพราะนางจะบอกคนอื่นแน่ๆ แต่พอเรายกตัวอย่างว่า “ถ้าบอก ครูเค้าจะเอาคลิปไปประจานนะ” นางอึ้งไปนิดนึงแบบลังเล ทำให้เรารู้ว่านี่คือจุดอ่อนที่เด็กเองก็กลัว ตอนนี้ถึงเวลาที่จะให้ข้อมูลเพิ่ม เช่น เรื่องกฎหมายการนำเข้าภาพลามกอนาจารลงสื่อโซเชียล เพื่อให้ลูกมั่นใจว่า อย่างไรเสีย กฎหมายและความรักจากพ่อแม่จะคุ้มครองเค้า แต่ถ้าไม่บอกเรื่องจะใหญ่โตจนอาจแก้ยากก็ได้
ทั้งหมดนี้เป็นทักษะที่เราเตรียมลูกมาตลอดเวลา ไม่ใช่เพื่อการโบยบินสู่โลกกว้างเท่านั้น แต่เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของเค้า เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเรื่องราวไม่ดีจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน ยิ่งไม่มีทักษะยิ่งน่าเป็นห่วง
ก่อนจะบินจริง ต้องฝึกเก็บชั่วโมงบินก่อน
เมื่อรู้ว่าลูกต้องไปอยู่ไกล ไปใช้ชีวิตโดยไม่มีเราอยู่ข้างๆ อีกแล้ว ประกอบกับที่ผ่านมา 12 ปี ตัวติดกันตลอดเวลา การจะห่างกันจึงเป็นเรื่องยากทั้งกับพ่อแม่และลูก สิ่งที่เราทำคือการต้องสะสมชั่วโมงบินก่อน ทั้งของเราและลูก โดยค่อยๆ เริ่มจากน้อยไปมาก จากง่ายไปยาก วิธีง่ายๆ ก็คือ การให้ไปนอนค้างบ้านย่า บ้านยาย ครั้งละ 2 คืนบ้าง 3 คืนบ้าง จนเป็น 5 คืนในที่สุด แรกๆ ก็มีร้องไห้ก่อนนอน โทรคุยกันทุกคืน ก็ต้อง Challenge ตัวเองให้ครั้งต่อไปร้องน้อยลงจนในที่สุดไม่ร้องเลย
หลังจากนั้นก็ขยับความยากขึ้นมาเป็นการไปเข้าค่ายต่างจังหวัดกับพี่ๆ ที่คุ้นเคย แต่ไม่มีพ่อแม่ไปด้วย ในพื้นที่ที่สัญญาณโทรศัพท์เข้าไม่ถึง เป็นเวลา 1 อาทิตย์ หลังกลับมาคุยกัน เล่าให้ฟังว่ามีแอบร้องให้นิดหน่อยแต่ไม่ให้พี่ๆ รู้ และมีวิธีจัดการความคิดถึง มีวิธีปลอบใจตัวเองจนผ่านมันมาได้ และขยับยากขึ้นไปอีก ลองไปเรียนภาษาในประเทศที่จะไปอยู่ก่อนเป็นเวลา 1 เดือนโดยไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย ลองใช้ชีวิตจริงๆ ที่นั่น เข้าห้องเรียนจริงๆ เพื่อดูว่าตัวเองพร้อมแค่ไหน ใช้ชีวิตได้หรือไม่ รวมทั้งหาวิธีในการจัดการความคิดถึงให้ได้ด้วยตัวเอง
การฝึกเก็บชั่วโมงบินก่อน เป็นสิ่งที่ควรทำมากๆ สำหรับครอบครัวที่ต้องส่งลูกไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ เพราะนอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับลูกแล้ว ยังสร้างความวางใจให้กับเราด้วยว่าเราจะวางใจลูกได้แค่ไหน มีอะไรที่ลูกทำแล้วเสี่ยงก็จะได้บอกสอน และหาวิธีที่จะลดความเสี่ยงนั้นได้ทันเวลา เช่น การเดินทางด้วย Taxi ต้องทำยังไง ต้องสังเกตอะไร การไปกดเงินให้ปลอดภัยต้องทำยังไง เป็นต้น
เมื่อชั่วโมงบินลูกพร้อม พ่อแม่ก็คลายความกังวลลงไปได้มากทีเดียว
รวมทั้งการให้ลูกได้ไปเห็นสถานที่จริง ที่อยู่ ที่กิน ที่เรียน ก่อนถึงวันจริงก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะจะทำให้ลูกเห็นภาพว่าเค้าจะใช้ชีวิตอย่างไรที่นั่น ต้องเจอกับอะไรบ้างเมื่อถึงวันจริง พ่อแม่เองก็จะได้เห็นภาพว่าลูกไปอยู่อย่างไร มีอะไรน่าห่วง กังวลหรือไม่
เอาล่ะ เมื่อทบทวนมาถึงจุดนี้แล้ว ทั้งเรื่องความรักที่มีให้ ความรับผิดชอบ ทักษะในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ทั้งหมดที่ฝึกฝนและใช้ชีวิตกันมา ก็ทำให้ความมั่นใจนั้นแข็งแรงขึ้น
“เร็วไปไหม ที่ส่งลูกไป” ถ้าโลกของเค้ากว้างกว่าเราแน่ๆ เร็วหรือช้าเค้าก็โบยบินอยู่ดี
“ไม่คิดถึง ไม่ห่วงเหรอ” ความคิดถึงนั้นมากมายนับไม่ได้จริงๆ แต่ก็เชื่อเถอะว่าใครหลายต่อหลายคนต่างก็เคยผ่านความรู้สึกคิดถึงมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น เราและลูกก็ต้องรับรู้ว่าเป็นความรู้สึกธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แล้วก็ผ่านได้เช่นกัน
“ไม่กลัวลูกจะเจอคนไม่ดี ทำอะไรไม่ดีเหรอ” ไม่มีใครสามารถเดาได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้า แต่ที่เราไม่ต้องเดาก็คือ การเตรียม การฝึกฝนลูกของเราที่ผ่านมานี่แหละ จะช่วยวางความเป็นห่วงลงได้บ้าง เพื่อเปิดทางให้เค้าได้โบยบินสู่โลกกว้าง งั้นก็ลุยกันเลย
แต่ก็นั่นแหละ เมื่อถึงวันจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ 2 สิ่งนี้ก็จะช่วยให้ทั้งลูกและเราผ่านวันยากๆไปได้ นั่นก็คือ การตั้งเป้าหมายร่วมกัน และ เป็นเป้าหมายของลูก
การตั้งเป้าหมายร่วมกัน และ เป็นเป้าหมายของลูก
การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งสำคัญของเด็กคนนึง ต้องเปลี่ยนอย่างมีเป้าหมาย สำหรับเราแล้วเป้าหมายนั้นต้องมาจากลูกเป็นหลัก แล้วพ่อแม่ทำหน้าที่หาตัวเลือกให้ ลูกต้องรู้ว่าเค้าจากพ่อแม่ จากบ้าน จากพื้นที่ที่คุ้นเคยมาเพื่ออะไร สิ่งนั้นมันสำคัญต่อชีวิต ต่ออนาคตเค้าอย่างไร และเค้าต้องการมันหรือไม่ เพราะถ้าเค้าต้องการ และรู้ว่ามันสำคัญ เค้าจะผ่านเรื่องยากๆ ที่จะเจอข้างหน้าไปได้ อาจไม่ใช่ด้วยความเก่งแต่ก็ใช้ความฮึดเป็นตัวตั้ง
แต่ถ้ามาจากความต้องการของพ่อแม่ เมื่อเจอโจทย์ยากความท้อแท้ย่อมเกิดขึ้น และเมื่อไม่ใช่เป้าหมายของตน ความฮึดก็มีน้อยตามไปด้วย โอกาสไม่ไปต่ออาจมีสูงกว่า ฉะนั้นการให้เด็กเห็นเป้าหมายที่ชัดเจน หากเป้าหมายนั้นมาจาก Passion ของเค้าด้วยแล้วยิ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนลูกมาเรื่อยๆ
เทคนิคง่ายๆ ช่วยลูกตั้งเป้าหมาย
- ฝึกได้ตั้งแต่เล็ก เช่น การตั้งเป้าหมายในกิจวัตรแต่ละวัน ตื่นเช้ามาต้องทำอะไรน้า? วันหยุดนี้จะทำอะไรกันดี เป้าหมายค่อยๆ เพิ่มความยากขึ้นตามวัย เป็นเป้าหมายการเรียน เป้าหมายต่อทักษะที่สนใจ เช่น เทอมนี้จะส่งการบ้านให้ครบ จะเล่นเปียโนให้จบเพลง เป็นต้น
- ให้เป้าหมายนั้นมาจากลูก นี่แหละสำคัญมาก เพราะเมื่อเป้าหมายนั้นมาจากเค้า เค้าจะมีแรงฮึดในการผ่านสถานการณ์ยากๆ ได้ พ่อแม่ทำหน้าที่ค่อยๆ ชวนคุยให้เห็นผลดีของมันและอาจช่วยแนะนำให้เป้าหมายของลูกพัฒนายิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่เอาเป้าหมายของเราไปใส่ในเป้าหมายของลูก
- เป้าหมายมีได้หลายอย่าง การตั้งเป้าหมายไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องสำคัญๆ ในชีวิตเท่านั้น แต่สามารถฝึกให้ลูกตั้งเป้าหมายได้หลายๆ อย่าง เช่น เป้าหมายเรื่องร่างกาย เรื่องงานอดิเรก เรื่องการช่วยงานที่บ้าน เรื่องการเรียน เรื่องการพัฒนาตัวเอง เรื่องบุคลิก ฯลฯ
- แชร์เป้าหมายร่วมกับลูกบ้างก็ดีนะ เพื่อให้ลูกเห็นว่าคนเราทุกคนต่างก็ต้องมีเป้าหมายของชีวิตด้วยกันทั้งนั้น
- อย่าลืมชื่นชมความพยายามของลูกด้วย ไม่ต้องรอให้ถึงเป้าหมาย หากระหว่างทางที่ลูกพยายามก็ชื่นชมได้
เมื่อเราฝึกฝนลูกมาแบบนี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงวัยของเค้าจึงต้องมาจากเค้าด้วยเช่นกัน เมื่อเค้ามีเป้าหมายนี้ พ่อแม่ก็ทำหน้าที่หาสนับสนุนและช่วยกันหาสิ่งที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้นร่วมกัน
พ่อแม่ต้องพร้อม Support เมื่อถึงวันจริง
“หนูรู้ว่าหนูมาอยู่ที่นี่เพื่ออะไร แต่มันยากมากนะแม่ กว่าจะผ่านความคิดถึงไปได้”
ประโยคนี้มาตามสายพร้อมเสียงสะอื้นของลูก ในช่วงอาทิตย์แรกที่ไปอยู่ที่โน่น ทำเอาคนเป็นแม่แทบจะจองตั๋วบินไปรับกลับมาเลยเดี๋ยวนั้น แต่นั่นแหละ เมื่อทั้งเราและลูกรู้ดีว่าไปเพื่ออะไร ห่างกันเพราะอะไร สิ่งที่ทำได้เวลานั้นคือการ Support ให้ลูกมั่นใจว่าไม่ใช่แค่เค้าที่เป็นแบบนั้น พ่อแม่เองก็เป็น เราต่างคิดถึง และต่างก็ต้องหาวิธีการผ่านมันให้ได้ เทคนิคที่เราใช้กับลูกคือ
- ค้นหาวิธีการจัดการความคิดถึงในแบบของเรา บันทึกลงสมุดแล้วผลัดกันอ่าน
- มีช่องทางสื่อสารถึงกันแม้บางช่วงเวลาไม่ตรงกัน เพื่อให้เค้ามั่นใจว่าเราอยู่กับเค้าแม้จะห่างกันก็ตาม
- ฟังด้วยสติ ทุกเรื่องที่ลูกโทรมาเล่าให้ฟัง รวมทั้งมีเวลาให้ทุกครั้งที่โทรมา
- ไม่เข้มงวดจนกดดัน ทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิต เพื่อให้เค้ารู้สึกเป็นอิสระ และแสดงให้เค้ารู้ว่าเรามั่นใจในตัวเค้าด้วย
- ให้ความมั่นใจว่าลูกจะผ่านมันไปได้ และให้ความเชื่อมั่นด้วยว่าหากพยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว ลูกไปต่อไม่ได้จริงๆ พ่อแม่ก็พร้อมโอบกอด
เมื่อกลับไปที่คำถามเดิมอีกครั้ง “เตรียมตัวอย่างไรก่อนลูกออกจากอก” จึงไม่ใช่แค่การเตรียมลูก แต่คือการเตรียมตัวเราเองด้วย และที่สำคัญไม่ใช่เตรียมก่อนเดินทางแค่ 3 เดือน 5 เดือน หรือ 1 ปี แต่มันคือการค่อยๆ เตรียม ค่อยๆ ฝึกฝนมาเรื่อยๆ ตลอดชีวิตเค้า ไม่ใช่เพื่อการนี้เท่านั้น แต่ทุกเรื่องที่เราฝึกทักษะให้ลูก เชื่อเถอะว่าเมื่อถึงเวลาที่ใช่ลูกเราจะสามารถดึงทักษะเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม
เหมือนทหารออกรบ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากยิงใครหรอก แต่เมื่อถึงเวลาประจันหน้ากับข้าศึก ถ้าในเป้มีปืนมีกระสุน ก็ยังได้คว้ามาสู้กันซักตั้ง แต่ถ้าล้วงไปในเป้ว่างเปล่า แน่นอนว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้สู้