- การสื่อสารถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ บ่อยครั้งที่การสื่อสารไม่ถูกวิธีนำมาซึ่งความขัดแย้ง โดยเฉพาะการสื่อสารในครอบครัว หากเกิดปัญหาแต่สมาชิกเลือกปล่อยผ่าน อาจทำให้บรรยากาศครอบครัวอึดอัด
- ในเด็กเล็กมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะอยู่ในช่วงวัยเรียนรู้เลียนแบบการสื่อสารจากคนในครอบครัว เช่น เด็กเห็นแม่พูดห้วนๆ กับยาย เขาก็อาจเลียนแบบตาม
- การสื่อสารถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยความตระหนักรู้ในตนเอง การจัดการอารมณ์ และการเข้าใจบริบทต่างๆ รอบตัว การเข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง
การสื่อสารในครอบครัวเป็นพื้นฐานของสัมพันธภาพในครอบครัว ซึ่งถือเป็นหน้าที่หนึ่งของสมาชิกในครอบครัว บ่อยครั้งเราจะเห็นได้ว่าการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมนั้นก่อเกิดผลกระทบตามมามากมาย ทั้งด้านอารมณ์จิตใจ และพฤติกรรมของทั้งตัวผู้พูดและตัวผู้ฟังเอง บางครั้งกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด ไม่ได้นำกลับมาแก้ไขหรือสื่อสารใหม่ จนสมาชิกในครอบครัวก็เลือกที่จะไม่พูดคุยกันเลย หลบหน้า หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้บรรยากาศในครอบครัวชวนน่าอึดอัด ขาดความสุขในครอบครัว เกิดความเครียดและเสียพลังงานในการใช้ชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปัญหาการสื่อสารในครอบครัวที่พบได้บ่อย คือ
- ครอบครัวที่ไม่ค่อยพูดคุยหรือไม่เล่าอะไรให้คนในครอบครัวฟัง
- ครอบครัวที่มีการใช้อำนาจบังคับ หรือขู่เข็ญ
- ครอบครัวที่ไม่ค่อยใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา ด่าทอ หยาบคาย หรือพูดทำร้ายจิตใจ ประชดประชัน
หากลักษณะการสื่อสารเหล่านี้ยังคงอยู่ สัมพันธภาพในครอบครัวก็จะมีแนวโน้มแย่งลงไปเรื่อยๆ วิธีที่พ่อแม่พูดคุยกับลูกๆ หรือวิธีที่พี่น้องใช้พูดคุยกัน ส่งผลต่อพัฒนาการด้านสังคมตั้งแต่ในวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากตั้งแต่ในวัยเด็กนั้นเขาสามารถเรียนรู้วิธีการสื่อสารจากการเลียนแบบคนในครอบครัวได้ เช่น ถ้าเด็กเห็นแม่พูดกับยายแบบห้วนๆ ไม่มีหางเสียง เด็กก็จะเลียนแบบโดยอัตโนมัติ และหากแม่บังคับให้ลูกพูดมีหางเสียงกับตัวเอง เด็กก็จะรู้สึกคับข้องใจ ขัดแย้งได้เมื่อโตขึ้น อาจจะยอมพูดมีหางเสียงกับแม่ แต่ก็มีพฤติกรรมการพูดห้วนกับคนข้างนอก เป็นต้น จะเห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเอง สามารถเป็นต้นแบบที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสมในการสื่อสารได้
นอกจากนี้วัฒนธรรมในครอบครัว ความเชื่อ และการใช้รูปแบบความคิดที่บิดเบือนไปจากความจริงบ่อยๆ ก็เป็นอีกสาเหตุในการเกิดรูปแบบการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมในครอบครัวได้ เช่น เมื่อลูกกลับบ้านไม่ตรงเวลา พ่อแม่อาจจะมีความคิดที่บิดเบือนไปจากความจริง คือความคิดที่ด่วนสรุปไปแล้วว่า เพราะลูกติดเพื่อนแอบไปทำอะไรไม่ดี จึงเกิดอารมณ์หงุดหงิดไม่พอใจ เมื่อเจอหน้าลูกก็ตำหนิและต่อว่าทันที โดยขาดการรับฟังข้อมูลจากตัวเด็ก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อใจในครอบครัว ความผูกพันทางจิตใจ ซึ่งถือเป็นฐานหลักของสัมพันธภาพในครอบครัว
เมื่อลูกไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เป็นข้อมูลของฝั่งตัวเองได้เพราะพ่อแม่ด่วนสรุปไปแล้ว เด็กเกิดความกังวล ความกลัว มีมุมมองต่อตัวเองที่ไม่ดี ความนับถือตนเองอาจลดลง เด็กเกิดความคับข้องใจไม่รู้จะพูดคุยกับใครในครอบครัวนำไปสู่ความเครียด และปัญหาอื่นๆ ได้
ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญในทุกด้านของชีวิต ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งก็ว่าได้ ที่ต้องอาศัยทั้งความตระหนักรู้ในตนเอง การจัดการอารมณ์ และการเข้าใจบริบทต่างๆ รอบตัว การเข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะยิ่งหากเป็นการสื่อสารในครอบครัวแล้ว จำเป็นต้องมีฐานความผูกพันทางจิตใจที่ดีก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้นในการฝึกฝน
อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าทักษะการสื่อสารมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ดังนั้น หากครอบครัวมีการสื่อสารที่ดีก็จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เกิดเป็นช่วงเวลาที่ดีในครอบครัว และแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ความเครียดในครอบครัวลดลง ความสุขเพิ่มมากขึ้น มีพลังงานที่ดีในการใช้ชีวิต รวมถึงมีทักษะการสื่อสารที่ดีไปใช้ในการสื่อสารกับผู้อื่นด้วย
ซึ่งทักษะการสื่อสารนั้นหมายรวมทั้งการพูด การฟัง และการสื่อสารด้านอวัจนภาษา โดยการฝึกทักษะการสื่อสารในครอบครัวทางบวก สามารถเริ่มต้นได้จาก การเคารพซึ่งกันและกัน, การเปิดใจไม่ด่วนตัดสิน, ซื่อสัตย์จริงใจทั้งต่อตัวเองและสมาชิกในครอบครัว, ตรงไปตรงมาในลักษณะของเหตุและผล และสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัยในการสื่อสาร