- พ่อแม่ที่มีปมบาดแผลและถูกครอบงำด้วย Shame Dynamic (กลไกทำงานในจิตใจที่ฝังจำความบาดหมางต่อพ่อแม่(ปูย่าตายาย)ในวัยเด็ก โดยการสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ตัวเองรู้สึกอับอายที่ตนเองบกพร่องลึกๆ) มักรู้สึกขายหน้า เสียเซลฟ์ คิดว่าตนเป็นพ่อแม่บกพร่องที่มีปากเสียงกับลูกหรือโดนลูกดื้อใส่ ชอบฟังเสียงคนรอบข้างมากเกินไปเพราะกลัวคนอื่นจะติงว่าเลี้ยงลูกผิด เวลาลูกร้องโยเยในห้างจะอับอายและแคร์สายตาคนอื่นว่าคิดกับตัวเองอย่างไร แทนที่จะพยายามทำความเข้าใจว่าลูกต้องการอะไร
- ยิ่งพ่อแม่ใช้อารมณ์บีบคั้นรุนแรง ความคับข้องใจจากความบาดหมางอาจพัฒนาสู่ภาวะเข้าสังคมไม่ได้เพราะคิดว่าตัวเองด้อยกว่าเพื่อนและปรับตัวยืดหยุ่นไม่เป็น นอกจากจะกลายเป็นบุคลิกติดตัวแล้ว การอยู่ในครอบครัวที่บาดหมางกันเป็นเวลานาน พัฒนาการทางจิตใจอาจพลอยได้รับความเสียหายไปด้วย
- บทความว่าด้วยเรื่องการรับมือกับความขัดแย้ง โดยอธิบายการทำงานของสมองและจิตใจที่มีผลจากความขัดแย้งไว้อย่างน่าสนใจ พร้อมนำเทคนิคไปปรับใช้เพื่อคลี่คลายปัญหากระทบกระทั่งในชีวิตประจำวันกับลูกรักได้เลย
เชื่อว่าความขัดแย้งของพ่อแม่กับลูกหรือการทะเลาะผิดใจกันคงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในครอบครัว ยิ่งพ่อแม่เป็นผู้มีประสบการณ์และวัยวุฒิมากกว่าจึงทำให้มีความเป็นห่วง คาดหวัง อยากชี้แนะจัดการ ขณะที่ลูกเองแม้ต้องการความรักความเอาใจใส่ แต่บางคราวก็อยากมีอิสระเสรี
เรื่องโต้แย้งหยุมหยิมบางเรื่องยังพอทำเนา เช่น ลูกอยากเล่นเกมหามรุ่งหามค่ำแต่พ่อแม่ห้ามเพราะห่วงสุขภาพเขา แต่หากความขัดแย้งผิดใจบานปลายใหญ่โตจนต่างคนต่างใช้อารมณ์ ต่างคนต่างเพิกเฉยความต้องการของคนตรงข้ามและไม่แก้ไขให้ทันการ ทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนในบ้านและความสัมพันธ์ระยะยาวได้
ในหนังสือ Parenting from the Inside Out ตำราเลี้ยงลูกจากภายในถึงภายนอกโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่และเด็ก ดร. แดเนียล เจ. ซีเกล และอาจารย์แม่รี ฮาร์ทเซล กูรูด้านพฤติกรรมและการเลี้ยงเด็ก กล่าวถึงรูปแบบความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกที่พบได้เสมอๆ ได้แก่
- ความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ส่วนตัว
- การสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน
- ความขัดแย้งเมื่อลูกถูกวางกฎระเบียบ
- ความขัดแย้งขั้นรุนแรง
นอกจากทั้งสองจะให้คำแนะนำเรื่องการรับมือกับความขัดแย้งแล้ว ยังอธิบายการทำงานของสมองและจิตใจที่มีผลจากความขัดแย้งไว้อย่างน่าสนใจ พร้อมนำเทคนิคไปปรับใช้เพื่อคลี่คลายปัญหากระทบกระทั่งในชีวิตประจำวันกับลูกรักได้เลย
ความขัดแย้งหยุมหยิมเรื่องพื้นที่ส่วนตัว และสื่อสารไม่เข้าใจกัน
ในการอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกอาจ ‘เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย’ ได้ตลอดเวลา เพราะไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กต่างต้องการคิดอ่านและทำอะไรลำพังในพื้นที่ส่วนตัว พ่อแม่ต้องละเอียดอ่อนพอตัวในการอ่านความต้องการเล็กๆ น้อยๆ ของลูกให้ออก ว่าเมื่อไหร่เขาต้องการให้สนใจเต็มที่หรือเมื่อไหร่ที่เขาไม่อยากให้พ่อแม่เข้าไปวุ่นวาย
สำหรับโลกใบเล็กของเด็กทารก เขาจะยังไม่รู้จักพื้นที่ส่วนตัวนี้และโลกทั้งใบของเขาคือพ่อแม่เท่านั้น พ่อแม่ต้องระวังและไม่ควรมีพื้นที่ส่วนตัวแยกออกจากเขา โดยเฉพาะไม่ใช่ช่วงวัยและเวลาที่ควรสอนให้รอ เคารพ หรืออดทน
แต่ถ้าลูกโตพอ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำนอกจากเคารพพื้นที่ส่วนตัวของเขาแล้ว ต้องสอนให้เขารู้จักเคารพพื้นที่ของคนอื่นควบคู่ไปด้วยเช่นกัน สำหรับลูกวัยรุ่น ทำใจไว้แต่เนิ่นๆ เสียก่อนว่าเขาจะหวงแหนพื้นที่ส่วนตัวของเขาไว้เฉพาะเพื่อนเท่านั้น
พื้นที่ส่วนตัวที่เรากำลังพูดถึงคือ ภาวะจำเป็นชั่วคราวที่ต่างคนต่างจำเป็นต้องขอเวลานอกเพื่อสะสางปัญหาหรือขบคิดเพียงลำพัง สำหรับพ่อแม่ก็เช่นเดียวกัน การเอ่ยปากบอกลูกตรงๆ ว่าขอเวลาส่วนตัวสักครู่ เป็นเรื่องควรทำมากกว่าหลบมุมหนีไปเฉยๆ ปล่อยให้เขาตีความว่าที่แม่หน้าบึ้งเมินเฉยและปลีกตัวจากเขา เป็นเพราะเขาทำอะไรผิดไปรึเปล่า แบบนี้จะยิ่งทำให้ลูกเรียกร้องต้องการมากขึ้น ทางที่ดีควรบอกไปตามตรงว่า “แม่ขอเวลาไปคิดแก้ปัญหาสำคัญสักสิบห้านาทีคนเดียวในห้องทำงาน เสร็จแล้วแม่จะกลับมาอ่านนิทานเรื่องที่หนูชอบให้ฟังนะ”
เรื่องหยุมหยิมที่มักเกิดอีกอย่างคือ การเข้าใจผิดระหว่างกัน หรือเวลาพ่อแม่ “ไม่เข้าใจ” ความต้องการสิ่งที่ลูกสื่อออกมาเพราะกำลังคิดเรื่องงานอยู่ หรือ ตีความสิ่งที่ลูกบอกไปเป็นอย่างอื่น แต่เพราะเด็กคาดหวังให้พ่อแม่เข้าใจและตอบสนองเขาได้ทุกเรื่องเสมอ แม้การนิ่งเงียบของพ่อแม่นั้นเพราะอยากให้ลูกรู้ว่ากำลังน้อยใจ หรือที่ออกปากห้ามก็ด้วยความเป็นห่วง แต่เขาอาจตีความว่าพ่อแม่กำลังตำหนิเขาเพราะเขาทำผิด
พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตอากัปกิริยาและเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของเขาว่ากำลังสุข เศร้า น้อยใจ โมโห หรือตื่นเต้น แล้วสะท้อนกลับไปให้ถูกจังหวะและสอดคล้องกับอารมณ์และความต้องการของเขา เพราะถึงจะเป็นความขัดแย้งเล็กน้อย แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ใส่ใจดูแลและปรับความเข้าใจกัน ก็อาจลุกลามเป็นแผลใหญ่จนยากเกินแก้ไขเช่นกัน
ครอบครัวว่าเป็นระบบซับซ้อน (Complex System)
เรื่องความต้องการพื้นที่ส่วนตัวของบุคคลและการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกในครอบครัวนั้น คุณหมอซีเกล ยกทฤษฎีความซับซ้อน (Complexity Theory) มาอธิบายไว้สองประเด็น
ข้อแรก คือ ภาวะความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ที่ตัดสลับไปมาระหว่างความต้องการเป็นส่วนหนึ่งกับผู้อื่น กับ การมีอิสระเป็นตัวของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ข้อสอง คุณหมอเปรียบเทียบครอบครัวว่าเป็นระบบซับซ้อน (Complex System) มีองค์ประกอบภายในยิบย่อยมากมายและแต่ละส่วนมีคุณสมบัติต่างกัน สาระสำคัญของทฤษฎีนี้ที่ทับซ้อนกับการทำงานของจิตใจและความเป็นไปในการอยู่ร่วมกันในครอบครัว อยู่ที่การเป็นส่วนหนึ่งในระบบ ซึ่งแม้ว่าแต่ละองค์ประกอบจะแตกต่างและอยู่อย่างตัวใครตัวมัน แต่ทุกส่วนจำเป็นต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันกับส่วนอื่น ขณะเดียวกัน ก็ต้องยังคงไว้ซึ่งอิสระแบบที่ตัวเองเป็นและสอดผสานจนเป็นหนึ่งเดียวกัน (Harmony) ในที่สุด (ทฤษฎีนี้ยังถูกใช้เทียบเคียงการทำงานในสมองหรือหลักการทางคณิตศาสตร์ต่างๆอีกด้วย) ทุกระบบซับซ้อนจะมีกลไกจัดระเบียบตัวเองเพื่อรับมือกับความวุ่นวาย จิตใจจะจัดระเบียบตัวเองได้ก็ต้องได้รับการปลูกฝังติดตั้งเรื่องความยับยั้งชั่งใจ อย่างที่เราเรียกสิ่งนี้ในบ้านว่า ‘กฎระเบียบ’ หรือ ขอบเขตการปฏิบัติตัวที่ทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน สมาชิกในครอบครัวต่างมีความต้องการ นิสัยใจคอ ไลฟ์สไตล์ เป้าหมายไม่เหมือนกัน (ซึ่งบางครั้งเราก็ต้องการอยู่ด้วยกัน ต้องการพวกพ้อง แต่บางครั้งก็อยากอยู่เงียบๆ คนเดียว) การเคารพซึ่งกันและกันคืออีกหนึ่งการจัดระเบียบสมดุลทางความสัมพันธ์ ปรับตัวยืดหยุ่นให้ยังรักษาความเป็นตัวเองแต่ก็ผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวไปพร้อมกันได้
ความขัดแย้งเมื่อลูกถูกจำกัดขอบเขต
พ่อแม่มีบทบาททำให้ลูกรู้จักขอบเขตทั้งในบ้านและสังคมนอกบ้านว่าเขาทำอะไรได้และไม่ได้ รวมถึงการถูกขัดใจไม่ได้ทำตามใจอยากเสมอไป เช่น กินขนมแทนข้าว ไปเดินห้างแล้วต้องได้ของเล่น เอาเท้าวางบนโต๊ะ ความขัดแย้งที่เกิดจากการสอนให้ลูกมีขอบเขตเป็นเรื่องธรมดา พ่อแม่ไม่ควรหลีกเลี่ยงละเลยเพียงเพราะไม่อยากทะเลาะกับเขา เพราะมารยาทและการเคารพสิทธิของคนอื่นในสังคมต้องปลูกฝังให้เป็นนิสัยติดตัวจากที่บ้าน
การปฏิเสธอย่างสร้างสรรค์และได้ผลที่สุดคือ ไม่พูดคำว่า “ไม่ได้” “อย่า..” “ห้าม…” ออกไปตรงๆ เพราะยิ่งห้าม เขาจะตีความว่ากำลังถูกตำหนิและจะต่อต้านทันที ทางที่ดีควรสังเกตว่าเวลาเขาเรียกร้องต้องการ เขากำลัง ‘รู้สึกอะไร’ แล้วสะท้อนอารมณ์นั้นกลับไปอย่างเข้าอกเข้าใจ ตรงนี้จะช่วยให้เขาเข้าใจและรู้จักอารมณ์ตัวเอง
เช่น “พ่อรู้ว่าหนูอยากกินขนมร้านนี้ หูย… ก็มันหอมน่ากินซะขนาดนี้ ดูสิ หอมออกมาข้างนอกเลย พ่อก็อยากกินนะ แต่นี่ได้เวลามื้อเย็นแล้วละ เราต้องกินข้าวก่อนค่อยมากินขนมกัน ตกลงไหม”
นี่คือการวางขอบเขตหรือข้อกำหนดให้ชัดเจนและหนักแน่น ถ้าเขางอแง ทางแก้ไม่ใช่การขู่ให้เงียบ ทำโทษ หรือโอ๋ปลอบ แต่ควรให้เวลาเขาร้องไห้เสียใจและ ‘เรียนรู้อารมณ์ตัวเอง’ สักพัก (การช่วยสะท้อนอารมณ์เขากลับยิ่งช่วยให้เขาเข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น) แล้วค่อยพูดให้เขายอมรับว่าเขาจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการทุกครั้งด้วยความเข้าใจ มั่นคง และชัดเจนว่าขอบเขตที่วางไว้นี้จะไม่เปลี่ยนแปลง เช่น “พ่อเข้าใจความรู้สึกหนูที่ไม่ได้อย่างใจนะ อยากร้องก็ร้องนะลูกจะได้สบายใจขึ้น ถ้าหายเสียใจแล้วเราค่อยไปล้างหน้าล้างตากัน”
ทำความรู้จักกับคันเร่งและเบรกในสมอง
ในการสอนเรื่องขอบเขตหรือวางกฎข้อจำกัด พ่อแม่ต้องเข้าใจกลไกและเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ของลูกให้ได้ เป็นต้นว่า สมองส่วนหน้าคือศูนย์บัญชาการของอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งนอกจากควบคุมอารมณ์โดยเชื่อมต่อกับสมองส่วนนีโอคอร์เทกซ์ที่คิดวิเคราะห์เหตุผลซับซ้อน, ส่วนลิมบิกที่รับสิ่งกระตุ้นแล้วแปลงเป็นอารมณ์ความรู้สึก และก้านสมองที่ประมวลผลจากเส้นประสาททั่วตัวเป็นวงจรการตื่นนอน, สัญชาตญาณ ภาวะตื่นตกใจ แล้ว มันยังควบคุมไปถึงอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้วย เช่น หัวใจ ปอด ลำไส้ ถ้าอารมณ์สมดุลก็หมายถึงสุขภาพจิตที่สมบูรณ์แข็งแรง เวลาตื่นเต้นสมองจะมีกลไกเสมือน “คันเร่ง” สั่งให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ปอดหายใจหอบ ลำไส้ปั่นป่วน ออกอาการลิงโลด และเมื่อสงบลงหรือควบคุมอารมณ์ได้สมองจะค่อยๆ “เบรก” ให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ ลมหายใจสม่ำเสมอและลำไส้คลายตัว
การอนุญาตหรือตอบรับลูกว่า “ทำได้” “เอาเลย” “โอเค” เปรียบได้กับการเหยียบคันเร่งในสมองของเขา แต่การปฏิเสธว่า “ไม่ได้” สมองเขาจะถูกแตะเบรก ร่างกายจะหนักอึ้ง ใจหาย หดหู่ จะให้ดี ทั้งกลไกคันเร่งและเบรคในสมองของลูกจำเป็นต้องได้รับการจัดระเบียบจากพ่อแม่ โดยสอนให้เขารู้จักผ่อนหนักเบาถูกจังหวะ ซึ่งหมายความว่าควบคู่กับการวางกฎระเบียบให้เขา ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เขารู้จักการควบคุมอารมณ์ตนเองหรือมีการยับยั้งชั่งใจ (Self-Regulation) พร้อมกันไปด้วย
การยับยั้งชั่งใจทำหน้าที่เหมือน “คลัทช์” คอยผ่อนพลังที่เกิดจากคันเร่ง (เมื่อเรียกร้องต้องการบางอย่าง) และลดแรงปะทะจากการเหยียบเบรค (เมื่อถูกห้ามหรือปฏิเสธ) ให้เบาบางลง การสอนให้ลูกควบคุมความต้องการได้ พ่อแม่ต้องเริ่มจากค่อยๆ เบนความอยากอันผิดที่ผิดทางของเขาไปยังสิ่งสร้างสรรค์อื่นแทน เช่น เวลาปีนขึ้นโต๊ะกินข้าวหรือขว้างปาข้าวของทั่วบ้าน “โต๊ะไม่ได้มีไว้สำหรับปีนนะลูก ถ้าหนูอยากปีน เก็บแรงไว้ ไว้เสาร์นี้เราไปเล่นปีนตาข่ายในวันเดอร์แลนด์กันดีกว่า” หรือ “กระแทกพื้นแบบนั้นตะกร้าจะพังเอา แม่ต้องการตะกร้าไว้ใส่ของ ถ้าลูกแรงเหลืออยากเล่นสนุก ออกไปเล่นปาบอลกับดุ๊กดิ๊กที่สนามสิจ๊ะ มันกระดิกหางรอให้ลูกไปเล่นด้วยแหนะ” วิธีนี้สะท้อนว่าพ่อแม่ยอมรับอารมณ์สนุกตื่นเต้นของเขาได้โดยต้องมีขอบเขตในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม
การสอนให้รู้จักขอบเขตไปพร้อมๆ กับการยับยั้งชั่งใจ เป็นการปูทางให้เขาเรียนรู้จะรับฟังคำปฏิเสธให้เป็น ไม่ทำตามใจอยากได้โดยไม่รู้สึกขาดตกบกพร่อง (สร้าง EQ ที่ดี) ถ้าเขาไม่เคยถูกสอนให้ยับยั้งชั่งใจ อยากได้อะไรต้องได้ ก็จะกลายเป็นเด็กงี่เง่าเอาแต่ใจสุดโต่ง
แต่หากลูกต่อรอง ต่อต้าน ยอกย้อนไม่รู้จบ นอกจากต้องมีน้ำอดน้ำทนให้สูง พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ วางตัวสุขุม และกล่าวให้ชัดเจนหนักแน่น ไม่พูดทีเล่นทีจริงหรือฟิวส์ขาดโดยเด็ดขาด เพราะนั่นจะทำให้เขาเรียนรู้ว่าขนาดผู้ใหญ่ยังควบคุมตัวเองไม่ได้เลย เขาก็ทำกลับไปได้เช่นกัน ป่วยการจะอธิบายต่อคำขอเซ้าซี้โยเยไม่รู้จบ เพราะเขาอาจหวังว่าจะโดนตามใจในที่สุด ไม้ตายสั้นๆ คือตัดบทว่า “ไม่ได้ค่ะ แม่ไม่โอเคที่หนูทำอย่างนี้” หรือ “พ่อรู้ว่าหนูไม่พอใจ แต่พ่อไม่ตามใจเรื่องนี้นะ”
การตอบโต้ด้วยอารมณ์ใส่ลูกเพื่อเอาชนะเวลาเขาต่อต้านหรือเถียงไม่เลิกรา เป็นการสร้างความคับข้องใจให้เขารู้สึกเสียหน้าว่าตัวเองผิด เขาจะหันหลังใส่คำแนะนำหรือทางเลือกอื่นทันที โทสะจากพ่อแม่จะไปเหยียบเบรคในสมองลูกแบบกระแทกกระทั้นในขณะที่เขากำลังเหยียบคันเร่งเตรียมพุ่งทะยาน ผลคือคลัทช์ไม่ทำงาน รถเสียความควบคุม อารมณ์ที่ถูกเหยียบเบรคจนหัวทิ่มจะยิ่งผลักให้เขาจงใจเหยียบคันเร่งให้แรงขึ้นเพื่อเอาชนะ อารมณ์เตลิดเปิดเปิงนี้จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมงี่เง่าหนักข้อขึ้นกว่าเดิม
ความขัดแย้งขั้นรุนแรง
การทะเลาะผิดใจกับลูกอาจกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงได้ หากพ่อแม่ระเบิดอารมณ์ ตะคอก ใช้วาจาหรือกำลังด้วยความรุนแรงหยาบคายจนเขาหวาดกลัวและรู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเองจนรู้สึกถึงขนาดขาดที่พึ่ง
สาเหตุหลักของความขัดแย้งขั้นรุนแรง มักมาจากพ่อแม่ที่มีปมเลวร้ายตอนเด็กแล้วมาลงกับลูกโดยไม่รู้ตัว เช่น เคยถูกทิ้งขว้าง ใช้ความรุนแรง เปรียบเทียบกับคนอื่น เลี้ยงอย่างลำเอียง เป็นต้น ครั้นโตมาเป็นพ่อแม่ก็ส่งต่อพฤติกรรมที่เคยได้รับเพราะติดกับปมเดิมจนมองไม่เห็นความต้องการที่ลูกมี หรือ เก็บกดไว้จากการถูกจิตปิดกั้นไม่รับรู้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดซ้ำรอยเดิมกับตอนเด็ก
ในหนังสือเรียกกลไกปิดกั้นทางจิตนี้ว่า Shame Dynamic ซึ่งกลไกจะทำงานในจิตใจที่ฝังจำความบาดหมางที่มีต่อพ่อแม่ในวัยเด็กโดยการสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ตัวเองรู้สึกอับอายที่ตนเองบกพร่อง จิตจะปิดกั้นเหตุการณ์ที่พ้องกับความบาดหมางในอดีต ทำให้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วเกิดปัญหากระทบกระทั่งกับลูก พ่อแม่ก็จะหนีหรือเมินปัญหาที่มีกับลูกโดยอัตโนมัติ
พ่อแม่ที่มีปมบาดแผลและถูกครอบงำด้วย Shame Dynamic ลึกๆ มักรู้สึกขายหน้า เสียเซลฟ์ คิดว่าตนเป็นพ่อแม่บกพร่องที่มีปากเสียงทะเลาะเบาะแว้งกับลูกหรือโดนลูกดื้อใส่ ชอบฟังเสียงคนรอบข้างมากเกินไปเพราะกลัวคนอื่นจะติงว่าเลี้ยงลูกผิด เวลาลูกร้องโยเยในห้างจะอับอายและแคร์สายตาคนอื่นว่าคิดกับตัวเองอย่างไร แทนที่จะพยายามทำความเข้าใจว่าลูกต้องการอะไร
พ่อแม่กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะดุลูกรุนแรงทันทีเพราะรู้สึกอาย ในกรณีที่ลูกดื้อรั้นมากๆ พ่อแม่บางบ้านอาจเกิดความรู้สึกกับตัวเองว่าเป็นพ่อแม่ไม่เอาไหนได้เช่นกัน ซึ่งต้องระวังว่าความคิดทำนองนี้อาจไปสะกิดแผลในวัยเด็กจนเกิดภาวะหมางเมินลูกจากกลไกปิดกั้นตนเองอย่างที่กล่าวมาได้
ปมบาดแผลของพ่อแม่ส่งผลอย่างไรถึงลูก
เมื่อผิดใจอย่างรุนแรงกับผู้ใหญ่ ลูกอาจรู้สึกคับข้องใจไปจนถึงรู้สึกหมดคุณค่าในตัวเองได้เลยทีเดียว
ยิ่งพ่อแม่ใช้อารมณ์บีบคั้นรุนแรง ความคับข้องใจจากความบาดหมางอาจพัฒนาสู่ภาวะเข้าสังคมไม่ได้เพราะคิดว่าตัวเองด้อยกว่าเพื่อนและปรับตัวยืดหยุ่นไม่เป็น นอกจากจะกลายเป็นบุคลิกติดตัวแล้ว การอยู่ในครอบครัวที่บาดหมางกันเป็นเวลานาน พัฒนาการทางจิตใจอาจพลอยได้รับความเสียหายไปด้วย
สถานะความสัมพันธ์กับลูกสังเกตดูได้ไม่ยาก ถ้าผิดปกติ สัญญาณมีให้เห็นตั้งแต่การปลีกตัวจากพ่อแม่ ไม่ปฏิสัมพันธ์ หลบสายตา หน้าบึ้งใส่ ไปจนถึงอาการก้าวร้าวไม่เคารพ บางกรณีอาจพูดคุยปกติแต่ทิ้งระยะห่างเหิน คุยแต่เรื่องจิปาถะไม่ลงลึกถึงความรู้สึกภายในระหว่างกันเลย ต่างฝ่ายต่างฟังแต่เสียงตัวเอง ยิ่งถ้าพ่อแม่มีปมเก่าแล้วไม่เคยทบทวนทำความเข้าใจกับตัวเองอย่างหมดจด ปล่อยให้ความห่างเหินกับลูกลุกลามเป็นความบาดหมางขั้นรุนแรง ความแตกแยกก็ยิ่งยากจะเยียวยา
กลไก Shame Dynamic จะถูกจิตใต้สำนึกสะกิดให้ทำงานทันทีที่สัมผัสถึงบรรยากาศคับข้องใจแบบเดิมๆ หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ตกอยู่ในสถานะที่รู้สึกไร้ค่าและถูกลิดรอนอำนาจ ถ้าลูกมีความขัดแย้งรุนแรงกับพ่อแม่โดยไม่ได้รับการคลี่คลาย ในอนาคตเขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมทำซ้ำความบาดหมางเดิมอยู่ตลอดเพราะกลไกปิดกั้นนี้จะติดตัวไป การทบทวนตัวเองและคลี่คลายความบาดหมางที่มีกับเขาคือการตัดไฟแต่ต้นลม พ่อแม่จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตและหา Shame Dynamic ของตัวเองให้เจอเพื่อสร้างเส้นทางใหม่ไม่ซ้ำแผลเดิมและเพื่อทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น
เตรียมพร้อมก่อนสงบศึก
จะสงบศึกได้ พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายริเริ่มเปิดใจและปล่อยวางอารมณ์ที่มีลงเพื่อหันหน้าเข้าหาลูกแล้วปรับความเข้าใจกัน จุดเริ่มต้นคือการทำใจให้เป็นกลางที่สุด ถ้ายังบูดบึ้งแผ่รังสีมืดหม่นให้ลูกกลัวก็คงยากที่จะประสานรอยบาดหมางได้สนิท อุปสรรคส่วนใหญ่ที่ทำให้ปัญหาคาราคาซัง คือทิฐิที่คิดหมกมุ่นถึงต้นตอความผิดใจกันและโมเมนท์ที่โดนอีกฝ่ายสาดอารมณ์เข้าใส่ ยิ่งแล้วใหญ่ถ้าพ่อแม่บางคนทำแค่ “ปรับอารมณ์” ทะเลาะกันรุนแรงแล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เด็กจะยิ่งทับถมความรู้สึกห่างเหินไปเรื่อยๆ
ทำใจให้เป็นกลางทำอย่างไร?
อันดับแรก ถอยกลับไปพิจารณาประเด็นปัญหาด้วยมุมมองของคนนอก ปลีกตัวมาใคร่ครวญเพียงลำพัง ปลงใจเสียก่อนว่าข้อพิพาทบางเรื่องต้องใช้เวลา อย่ากดดันว่าจะแก้ได้ทันที ทั้งลูกและเราต่างต้องใช้เวลาจัดการความรู้สึก อย่าหมกมุ่นครุ่นคิดจนอ่อนล้า ทำใจให้สบายด้วยการหายใจให้ลึกๆ และหากิจกรรมผ่อนคลายตัวเอง วางทิฐิหรือความคิดเล็กคิดน้อยต่างๆ ลง
เมื่อจิตใจสงบและไตร่ตรองสถานการณ์รอบด้านดีแล้ว ค่อยคิดหาวิธีเข้าหาลูกและจังหวะเวลาที่เหมาะๆ ใช้ความสุขุมเยือกเย็นเป็นกำลัง อย่าใจร้อนเข้าหาลูกหรือแม้แต่สัมผัสเขาขณะพลุ่งพล่านถ้าไม่แน่ใจว่าจะคุมอารมณ์ได้ ถ้าโมโหและทะเลาะกันอีกระหว่างปรับความเข้าใจ ปัญหาจะยิ่งบานปลายซับซ้อนเกินแก้ไขกว่าเดิม
คำถามที่พ่อแม่ต้องใคร่ครวญและตอบให้ได้คือ
- เรารู้สึกคับข้องใจกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ในอดีตหรือมีความบาดหมางใดติดค้างอยู่บ้างหรือเปล่า
- ความสัมพันธ์ที่มีกับลูกในตอนนี้สะท้อนปมในใจอย่างไร
- การกระทำใดของลูกที่กระตุ้นให้เราตอบโต้ด้วยความรุนแรงอย่างขาดสติ
พิจารณาความรู้สึกทั้งของตัวเองและจากมุมมองของลูกว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรระหว่างความบาดหมางนี้ อย่าลืมว่าเขาอ่อนแอและเปราะบางมากแค่ไหน ความรู้สึกที่ลูกกำลังประสบอาจน่ากลัวและหนักหนากว่าที่เราคิด ยิ่งเด็กเล็ก แรงทนทานต่อความอ้างว้างและการถูกเมินเฉยจากผู้ใหญ่ยิ่งไม่มี พ่อแม่จึงไม่ควรปล่อยให้ภาวะมึนตึงกินเวลานานเด็ดขาด
How to ง้อ: วิธีคลี่คลายความขัดแย้งที่พ่อแม่เป็นคนเริ่มก่อน
ระลึกเสมอว่าเด็กไม่สามารถฟื้นความสัมพันธ์เองได้ถ้าพ่อแม่ไม่เป็นฝ่ายเริ่ม หนทางประสานรอยบาดหมางที่ดีที่สุดคือ ความเข้าใจทั้งตนเองและความรู้สึกนึกคิดของลูก อาจารย์ฮาร์ทเซลแนะนำไว้คร่าวๆ ดังนี้
1. เริ่มด้วยการพูดเปิดอกกับลูก “ตอนเราทะเลาะกันมีแต่ความอึดอัดใจ พ่อกับแม่อยากปรับความเข้าใจกับลูกนะ มานั่งคุยให้เข้าใจกันเถอะ” ระหว่างปรับความเข้าใจให้เลือกนั่งในระดับเดียวกับเขาเพื่อสบตาและส่งผ่านความใกล้ชิด (เด็กโตอาจต้องให้ระยะห่างสักเล็กน้อยก่อน)
2. ใช้โอกาสนี้สังเกตเรียนรู้ลักษณะนิสัยที่เขาเป็นระหว่างปรับความเข้าใจ มีเมตตาให้เยอะ ให้เวลาเขาจัดการความรู้สึกถ้าเขายังไม่พร้อม เลี่ยงคำพูดทำร้ายจิตใจ การบีบคั้นให้พูด ตัดสินคำตอบ ไม่กล่าวโทษแม้เขาจะกวนโมโห ไม่ตอบโต้แม้ลูกจะกล่าวโทษ รับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจแล้วพูดทวนมุมมองและสิ่งที่เขารู้สึก
3. พูดถึงเหตุการณ์ต้นตอความผิดใจกันโดยเอ่ยถึงอารมณ์ของกันและกัน พูดถึงคำต่อว่าต่อขานที่เกิดขึ้น และอธิบายให้เขารู้ว่าบางครั้งผู้ใหญ่ก็อาจเผลอฟิวส์ขาดได้ ให้ลูกรู้ว่าการทะเลาะมีปากเสียงกันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน เราสามารถแก้ไขปรับจูนความสัมพันธ์กันได้เสมอ
วัยและพื้นนิสัยของเด็กมีผลต่อวิธีที่เขาใช้รับมือกับความบาดหมาง เด็กเล็กจะยังไม่สามารถรับมือความสัมพันธ์ลบได้เลย โตมาหน่อยเป็นวัยก่อนเข้าเรียนจะตอบโต้ความขัดแย้งกับพ่อแม่ด้วยการเรียกร้องยิ่งกว่าเดิม เพราะสิ่งที่วัยนี้ต้องการมากที่สุดคือสัมผัสอ่อนโยนทางกายและภาษาสัญญาณจากพ่อแม่ว่าแคร์เขาเต็มที่ ในขณะที่เด็กโตจะรับมือความขัดแย้งและเปิดรับคำอธิบายได้มากกว่า
ถ้าลูกอยู่ในวัยอนุบาล พ่อแม่อาจใช้วิธีเล่นติ๊ต่างด้วยตุ๊กตา ทำเป็นตัวละครสมมติ เล่านิทานหรือวาดรูปมาง้อลูกให้เปิดใจ เด็กโตจำเป็นต้องมีการพูดคุยปรับความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและทบทวนความรู้สึกที่เขามีต่อพ่อแม่เป็นกิจจะลักษณะเพื่อหาจุดแก้ไขที่เหมาะสมร่วมกัน
ประสบการณ์สติขาดผึงใส่ลูกและการคลี่คลายความบาดหมาง
คุณหมอซีเกลเองก็มีประสบการณ์การทะเลาะผิดใจกับลูกชายวัยรุ่นในร้านขายของเล่นครั้งหนึ่งเพราะเผลอฟิวส์ขาดจากคำพูดของลูก คุณหมอแชร์เรื่องราวและวิธีปรับความเข้าใจไว้ตอนหนึ่งในหนังสือว่า…
ผมเคยสัญญากับลูกชายว่าจะพาเขาไปซื้ออุปกรณ์เล่นเกมชิ้นใหม่ ปรากฏว่าช่วงเวลาที่ว่างเพียงช่วงเดียวในสัปดาห์ที่พาเขาไปนั้น ดันมีนัดประชุมสำคัญพอดี แปลว่าผมกับลูกต้องซื้อของให้เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง กระชั้นชิดมาก แต่ผมคิดว่ายังไงก็ดีกว่าผิดสัญญากับลูก ด้วยความรีบ เราจึงงดมื้อเที่ยงเพื่อไปที่ร้านเลย ลูกหยิบของที่ต้องการราคายี่สิบเหรียญได้แล้วแต่ช่วงคิดเงิน เขาดันหันไปเจอเกมเบสบอลราคาแพงที่เพิ่งออกใหม่แล้วเกิดอยากได้ ผมไม่ได้เตรียมใจและเงินมาซื้อของชิ้นที่สองจึงปฏิเสธเขาทันที แต่ลูกก็เถียงว่าเขามีเงินเก็บอยู่หกสิบห้าเหรียญอยู่ที่บ้าน เขาแค่ขอให้ผมออกเงินให้เขาก่อนแล้วจะคืนให้ทีหลัง ผมปรามเขาให้เลือกเกมส์ที่ราคาถูกกว่า
สุดท้ายเราทุ่มเถียงกันเรื่องค่าของเงินจนเลยเถิดไปเทศนาเขาว่าอย่าเอาตามอย่างเพื่อนมากนัก ตอนนั้นหงุดหงิดอยู่เป็นทุนเพราะทั้งหิวและห่วงนัดสำคัญ คิดว่าเขาได้คืบจะเอาศอกจึงบ่นว่าอเมริกันชนเป็นพวกบ้าวัตถุไปกันหมดจนเด็กเสียคน
“เกมสี่สิบเหรียญไม่ใช่ถูกนะ ลูกควรวางแผนก่อนที่จะปุบปับซื้อ พอใจสิ่งที่ตัวเองมีสิ จะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าไม่ได้หรอก กลับไปคิดดูก่อนถ้าอยากซื้อ อาทิตย์หน้ากำเงินกลับมายังทัน ไว้พ่อพามา”
“ตอนนี้ผมก็มีเงินอยู่แล้วแค่ไม่ได้เอามา นี่ก็คิดมาแล้ว เงินเก็บผมเองนะ พ่อจะมาห้ามไม่ได้”
“พ่อไม่ซื้อให้ เราต้องไปกันแล้ว”
“ได้ ไว้เดี๋ยวถึงบ้านผมจะบอกให้แม่พามานี่แล้วซื้อให้”
“แม่เค้าไม่พามาหรอก”
“พามาแน่ แม่เป็นใหญ่ในบ้าน ไม่ใช่พ่อ แม่พาผมมาแน่”
“หยุดเลย ไม่ต้องไปบอกแม่ให้เขาวุ่นวายพามา”
“ผมจะบอก แม่พาผมมาแน่”
“เลิกเถียง ไม่งั้นลูกก็จะไม่ได้ไอ้ที่เราตั้งใจถ่อมาซื้อด้วยกัน”
“ผมจะบอกแม่ว่าพ่อใจร้าย แม่เค้าไม่ทำแบบพ่อหรอก”
“ถ้ายังไม่หยุด อย่าหวังว่าจะได้ไอ้นี่กลับบ้านเลย”
“เอาเลย ผมให้แม่ซื้อให้ก็ได้”
ผมหมดความอดทน โยนกล่องอุปกรณ์ลงเคาน์เตอร์ดังโครมก่อนจะลากลูกชายขึ้นรถ ระหว่างทางลูกร้องไห้พร้อมต่อว่าต่อขานว่าผมเป็นพ่อที่เอาแต่อารมณ์ ขู่ว่าวันหน้าเขาจะเอาคืนผมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ได้ยินแบบนั้นผมฉุดอารมณ์ไม่อยู่ จึงด่าว่าเขารุนแรงและสั่งให้เขางดเล่นเกมสิบเดือน
พอถึงบ้าน อย่างแรกเลย เขาวิ่งไปฟ้องแม่ว่าผมดุด่าเขายังไงบ้าง พอผมเสร็จธุระในเย็นนั้น จึงได้สงบสติอารมณ์ในห้องและใช้เวลาพักใหญ่ใคร่ครวญถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ผมทะเลาะกับลูกครั้งใหญ่ทั้งที่เมื่อเช้าเรายังหยอกล้อกันสนุกสนานและวางแผนจะไปซื้อเกมที่ร้านของเล่นด้วยกัน สีหน้าตอนลูกบอกว่าอยากได้เกมเบสบอลออกใหม่นั้น ตาเขาเป็นประกายด้วยความตื่นเต้น เขาบอกผมว่าจะสอนให้ผมเล่นกับเขาด้วย แต่ตอนนั้นผมมัวแต่กังวลเรื่องประชุมและคิดว่าแค่พาเขาไปที่ร้านได้ทันเวลาก็ดีถมแล้ว ส่วนที่เขาบอกว่าจะซื้อเกมด้วยเงินของเขาเอง ผมก็ไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมถึงต้องห้ามปรามเขาเสียขนาดนั้น ผมระลึกได้ในที่สุดว่าตัวเองฟิวส์ขาดตอนที่เขาพาดพิงถึงแม่เพื่อเอาชนะผม ตอนนั้นผมไม่สนใจว่าลูกรู้สึกยังไงอีกต่อไป เห็นเขาเป็นเด็กอวดดีได้คืบจะเอาศอก ซึ่งถ้าอธิบายด้วยหลักข้างต้นคือ ผมกับลูกเสียความควบคุมเพราะคันเร่งกับเบรกในหัวทำงานพร้อมกัน (อารมณ์เตลิดเพราะถูกอีกฝ่ายต่อต้าน)
เมื่อผมนั่งทบทวนจนเข้าใจตัวเองและสถานการณ์อย่างรอบด้านแล้ว ผมก็ไปเคาะห้องเขาแล้วเข้าไปนั่งลงข้างเตียงที่เขากำลังร้องไห้ ผมเริ่มเป็นฝ่ายเอ่ยขอโทษเขา เขาเมินหน้าหนีในตอนแรก ผมจึงบอกเขาว่าพ่ออยากปรับความเข้าใจกับเขา บอกว่าเรื่องที่ร้านนั้นพ่อเป็นฝ่ายผิดเอง เขาบอกว่าเขาอยากได้เกมเบสบอลมานานแล้วเพียงแต่ผมไม่รู้ เขาโกรธที่ผมห้ามไม่ให้เขาซื้อทั้งที่เป็นเงินเขา ผมจึงเล่าความกังวลเรื่องประชุมให้เขาฟังและเรื่องที่ว่าผมเองก็โมโหหิวด้วย ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าเขาอยากได้เกมและวางแผนไว้มาตลอด แต่ผมหมกมุ่นกับตัวเองจนมองไม่เห็นความตื่นเต้นของเขา
ผมกอดและขอโทษที่พูดจาแย่ๆ และขาดสติ ผมเข้าใจและจะเคารพสิทธิเรื่องการใช้เงินของเขาต่อจากนี้ จากนั้นผมอธิบายว่าการที่เขาอ้างถึงแม่ นี่คือการล้ำเส้นที่ทำให้ผมฟิวส์ขาด เรากอดกัน หลังจากนั้นผมกับภรรยาหารือกันว่าเราจะพาเขาไปซื้อเกมอาทิตย์หน้าแล้วเราก็พูดคุยเรื่องที่ทะเลาะกันพร้อมหน้าอีกครั้งทั้งครอบครัว ผมกับลูกเล่าความรู้สึกในวันนั้นกันอย่างออกรสชาติให้ได้เสียน้ำตาอีกเล็กน้อย แล้วเราก็หัวเราะใส่กันเพราะต่างฝ่ายต่างเลียนแบบท่าทางของอีกฝ่ายตอนโกรธกันสนุกสนาน
คุณหมอซีเกลและอาจารย์ฮาร์ทเซลย้ำว่าสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่พ่อแม่ทุกคนจำเป็นต้องมีอยู่เสมอคือ “สติ” และ “ความรับผิดชอบในหน้าที่พ่อแม่” ซึ่งหมายถึงการรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกและการกระทำตนเองให้ได้ เห็นสาเหตุปัจจัยที่นำไปสู่เรื่องผิดใจกับลูกอย่างรอบด้านให้ได้ และพร้อมไตร่ตรองหาวิธีแก้ไขโดยไม่มีทิฐิว่าใครเป็นคนผิดหรือเริ่มความขัดแย้ง พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายหันหน้าเข้าหาลูกโดยไม่มีข้อแม้เพื่อประสานข้อบาดหมางให้แล้วแก่ใจกันทั้งสองฝ่าย ไม่ปล่อยผ่านจนรอยร้าวลุกลามสู่ความแตกแยกในอนาคต
รองลงมาคือ ต้องมีเมตตาต่อตัวเองและพร้อมเข้าใจทุกความรู้สึกลบที่เกิดขึ้นระหว่างการเลี้ยงลูก เช่น เครียด ท้อแท้ที่เขาดื้อไม่หยุด โทษตัวเองที่รู้สึกแย่กับเขาหรือรู้สึกผิดที่เผลอตวาด ทุบตีใช้อารมณ์ลงไป เพราะหากไร้ซึ่งความเมตตาต่อตนเอง จมกับความรู้สึกผิดหรือโทษตัวเองว่าเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีตลอดเวลา สิ่งที่ตามมาคือจิตใจจะถอยห่างจากความสัมพันธ์โดยอัตโนมัติ ผู้ใหญ่จะยิ่งมีช่องว่างในใจกับลูกมากขึ้น ความห่างเหินจะยิ่งทำให้สายสัมพันธ์ย่ำแย่ลงไปอีก
จงปล่อยวางในการเลี้ยงลูกและรักตัวเองให้เป็นด้วย ทบทวนทำความเข้าใจและยอมรับในตัวเองให้ได้ก่อน จากนั้นค่อยๆ เรียนรู้และก้าวไปพร้อมกับเขาด้วยการหันหน้าเข้าหากัน พยายามเข้าใจเขาในแบบที่เขาเป็น หมั่นใช้อารมณ์ขันกับเสียงหัวเราะเป็นยาใจ อย่าปล่อยให้การทะเลาะผิดใจกันหยุมหยิมธรรมดาล่วงเลยและทับถมเป็นชนวนให้เกิดความห่างเหินกับลูก พ่อแม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเยียวยาสมานความสัมพันธ์ให้กลับมาดีดังเดิม ทบทวนตัวเองและความรู้สึกของลูกควบคู่กันเสมอ เปิดใจยอมรับผิดให้ได้เมื่อทำพลาด และหมั่นแบ่งปันความคิด อารมณ์ความรู้สึกระหว่างกันในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ คือหนทางช่วยกระชับความสัมพันธ์และสร้างความอบอุ่นไว้ใจขึ้นดังเดิม