- พ่อแม่ไม่ใช่ ‘ผู้ปกครอง’ แต่ควรเป็น ‘ผู้ประคอง’ ให้ทั้งลูกและตัวเองด้วย เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก เช่น โกรธจนถึงขั้นขว้างปาข้าวของ ตีน้องหรือตีเพื่อนโดยอาจไม่ได้ตั้งใจแต่ทำไปเพราะอารมณ์โกรธ หรือในช่วงวัยหนึ่งที่เขาอยากรู้อยากลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ สถานการณ์เช่นนี้สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอันดับแรกคือการประคองอารมณ์ตัวเอง ประคองอารมณ์ลูก
- “ปลอบก่อน สอนที่หลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย” เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับลูกที่ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร หรือครูหม่อม อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จิตใจ และความสัมพันธ์ในเด็ก วัยรุ่น พ่อแม่ อยากชวนให้ทำความเข้าใจและไขรหัสการสื่อสารที่สำคัญในครอบครัว เพื่อจะได้นำไปใช้ในการเลี้ยงลูก
วินัยเชิงบวกจะเป็นการรักษาตัวตนของลูกเอาไว้ ตีความพฤติกรรมที่เขาแสดงออกมา แต่ไม่ตีตรา ไม่ตัดสิน และไม่คิดแทนแล้วจบด้วยประโยคคลาสสิคที่ว่า “แม่อาบน้ำร้อนมาก่อน” แต่จะให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชีวิตของเขาเอง
หากเราเห็นว่าลูกกำลังโกรธอยู่ แล้วตีเพื่อน เราจะเข้าไปพูดกับลูกว่าอย่างไร?
ตัวอย่างสถานการณ์ที่อยากชวนคุณพ่อคุณแม่ลองทบทวนดูว่าเมื่อครั้งที่เจอสถานการณ์เช่นนี้ หรือลองจินตนาการว่าถ้ากำลังเจอสถานการณ์นี้อยู่ ปฏิกิริยาแรกที่เราเองจะตอบสนองต่อลูกเป็นแบบไหน โดยมีตัวเลือกให้ 4 ข้อ ดังนี้
1. ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ
2. ตีเพื่อนทำไม
3. เกิดอะไรขึ้น เราทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะ
4. อื่นๆ
ทั้ง 4 ตัวเลือกนี้จะทำให้เราเห็นถึงจุดตัดระหว่างวินัยเชิงบวกกับวินัยเชิงลบ เริ่มที่ตัวเลือกข้อแรก “ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ”
“ถ้าเราเป็นลูก เราโกรธแล้วเราก็ตีเพื่อน พ่อแม่ก็เดินมาบอกว่า ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ เรา(พ่อแม่) เป็นพวกของเพื่อนลูก แม่บอกว่าเพื่อนเจ็บ…แล้วความโกรธของหนูละ กลายเป็นว่าพ่อแม่มองข้ามความรู้สึก มองข้ามตัวตนของลูกไป ลูกก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่พึ่งไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้สร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้ลูกเลย”
ตัวเลือกต่อมา “ตีเพื่อนทำไม” คำตอบนี้พ่อแม่เข้ายังคงเป็นพวกของเพื่อนลูกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคำถามหลังจากที่ลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทั้งสองข้อนี้ เป็นคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่เป็นคำถามเชิงตำหนิมากกว่า
ส่วนข้อที่สาม “เกิดอะไรขึ้น เราไม่ทำร้ายผู้อื่นนะ” ฟังดูเหมือนว่าเป็นการถามถึงเหตุการณ์และสอนไปในตัว แต่พ่อกับแม่ก็ยังคงเป็นพวกของเพื่อนอยู่ดี เพราะฉะนั้นคำตอบทั้งสามข้อนี้เป็นวินัยเชิงลบ เนื่องจากทำร้ายทั้งความรู้สึกลูก และทำร้ายตัวตนของลูก ด้วยมองข้ามอารมณ์ลูกไปโดยอาจตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
แล้วควรจะทำอย่างไรดี? เทคนิค ‘ปลอบก่อน สอนทีหลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย’ ที่ครูหม่อมพูดถึงนั้นทำอย่างไร?
ในทุกๆ สถานการณ์จะมีสองเหตุการณ์เกิดขึ้นเสมอ นั่นคือ ‘อารมณ์’ และ ‘พฤติกรรม’ ของลูก ซึ่งพฤติกรรมอาจเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ได้ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแน่นอนว่าเราจะต้องสอน กรณีนี้ลูกโกรธคืออารมณ์ของลูก และลูกตีเพื่อน แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่วินัยเชิงบวกบอกว่า ขอให้ปลอบก่อน แล้วค่อยสอนทีหลัง
กุญแจสำคัญที่จะทำให้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกประสบความสำเร็จในข้อนี้ก็คือ (.) จุดฟูลสต็อป (full stop) หรือมหัพภาค หรือเครื่องหมายจุด หมายถึงการจบประโยค เช่นในกรณีนี้
“แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ หนูเลยตีเพื่อน. อึบแล้วจุดฟูลสต็อปเอาไว้ บางครั้งเรานำไปใช้เราอาจจะเผลอ แล้วก็ติดชินวิธีการเดิม เช่น แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ หนูเลยตีเพื่อน แต่! หนูจะไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะลูก ด้วยน้ำเสียงที่แฝงไปด้วยอารมณ์คล้ายจะตำหนิลูกโดยไม่รู้ตัวนี้ ทำให้พ่อแม่เผลอทำร้ายความรู้สึกลูก ดังนั้นตั้งแต่คำว่าแต่หนูจะไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะลูก ขอให้กลืนมันลงไปก่อน เพราะว่าเดี๋ยวเราไปปลอบทีหลัง”
“ไม่ใช่แค่อารมณ์ของลูกอย่างเดียวที่ค่อยๆ ลง แล้วค่อยๆ สอน แต่เป็นอารมรณ์ของพ่อแม่ด้วย ก่อนสอนลูก เทคอารมณ์ลูก เทคอารมณ์ตัวเอง หากว่าเราพร้อมที่จะสอนไปที่หลักการสอนเลย เมื่อเย็นทั้งคู่แล้วค่อยสอน”
สำหรับวิธีการสอนนั้น ‘การตั้งเป้าหมายในการสอน’ และ ‘การตั้งคำถาม’ คือทริคเล็กๆ ที่ใช้ได้จริง โดยการตั้งเป้าหมายในการสอน อย่างกรณีที่ลูกโกรธแล้วตีเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งเป้าหมายว่า อยากจะสอนลูกเรื่องอะไร ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง เมื่อโกรธแล้วเราจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร และเมื่อตั้งเป้าหมายได้แล้ว จึงนำไปสู่การตั้งคำถามกับลูก เช่น คราวหน้าถ้าหนูโกรธ แทนที่จะตีเพื่อนหนูว่าหนูจะทำอย่างไรได้บ้าง? หากถามเช่นนี้เขาจะได้คิดทบทวนถึงการกระทำนั้นด้วยตัวเอง
“คำถามเหล่านี้นอกจากลูกจะได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหา ได้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดของตัวเองเป็นอย่างไร และจะนำไปสู่ทางออกอย่างไรแล้ว ลูกยังเรียนรู้ด้วยว่าเขาเป็นคนที่พ่อแม่ยังเชื่อมั่น เชื่อใจ และก็ยังเห็นความสามารถของเราอยู่ พ่อแม่ก็เลยถามเรา นี่ก็คือไขรหัสว่าทำไมเราต้องปลอบก่อน สอนทีหลัง”
อ่านบทความฉบับเต็ม https://thepotential.org/family/positive-discipline-2/