- “เพราะการศึกษาสร้างเด็กป่วยมากพอแล้ว” นพ.ประเสริฐจึงตั้งห้องเรียนพ่อแม่ขึ้นมา
- ห้องเรียนที่คุณหมอเรียกว่าเพิง มีพ่อแม่ตบเท้าเข้ามาขอเรียนเต็มตลอด เกือบทั้งหมดบินตรงมาจากกรุงเทพฯ เพื่อมาขอนั่งเรียนกับคุณหมอแค่ 3 ชั่วโมง
- 3 ชั่วโมงกับ 3 วิชา เนื้อหาอาจไม่หนีจากที่คุณหมอเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ แต่หลายคนเลือกดั้นด้นมาเรียนแบบเห็นหน้าเห็นตัว เพราะเชื่อว่าห้องเรียนออฟไลน์แห่งนี้มีขุมพลังบางอย่าง
- และมันก็มีจริงๆ …เยอะด้วย
หลังเกษียณแล้ว นอกจากทำงานบ้าน เขียนหนังสือ และตอบคำถามแฟนเพจ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่มีเข้ามากว่า 100 คำถามต่อวัน คุณหมอใช้เวลาว่างวันอาทิตย์ เปิดสอนหลักสูตร ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ รับจำนวนจำกัดครั้งละไม่เกิน 30 คน ที่สำคัญทุกคนต้องดั้นด้นเดินทางมาเรียนถึงเชียงรายด้วยตัวเอง
และเต็มล่วงหน้าไปแล้ว 3 เดือน…
“ระบบการศึกษาสร้างเด็กป่วยจำนวนมากพอแล้ว” เหตุผลสำคัญที่ นพ.ประเสริฐ ตัดสินใจเปิดห้องเรียนพ่อแม่
ปีท้ายๆ ของการทำงานในฐานะหัวหน้าภาควิชาจิตเวช จิตแพทย์เด็กโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ คุณหมอสังเกตเห็นว่า คิวผู้ป่วยจิตเวชเด็กยาวมากขึ้นเรื่อยๆ ยาวไปถึง 3-6 เดือน ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ
“ครูทุกโรงเรียนส่งเด็กที่สงสัยว่าสมาธิสั้นวันละสิบๆ คนมาที่ รพ.ทุกวัน อะไรจะสงสัยกันได้เยอะและเร็วขนาดนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง ครูบอกให้มาก็มา ดูเป็นทุกข์กันถ้วนหน้าจากนโยบายการศึกษาที่เน้นตัวชี้วัด เรียนไม่เก่ง คัดออก”
ที่ก่อกวนไม่แพ้กันคือ ไอที ที่เข้ามารบกวนตำราพัฒนาการเด็กเล่มที่เคยใช้ให้สั่นคลอนและขาดตอน ต่อให้พ่อแม่เลี้ยงดูดีแค่ไหนพอไปถึงโรงเรียน โรงเรียนก็ทำเสีย
“ประสบการณ์ 15 ปีแรกกับการเป็นจิตแพทย์เด็กในเชียงราย กับอีก 30 ปีที่ตรวจวันละไม่ต่ำกว่า 100 คน จนรู้และจับทางได้ว่า เลี้ยงแบบไหนก็ได้แบบนั้น”
และที่สำคัญ เมื่อหันกลับมามองลูกของตัวเอง 2 คน คุณหมอบอกว่า “ก็เรียบร้อยดี”
เรียบร้อยดีที่แปลว่า “มันไม่กวนประสาท ไม่สร้างความเดือดร้อน ทำงานหาสตางค์ เก็บเงินได้เอง (ยิ้ม)”
เพิงห้องเรียนพ่อแม่จึงถูกปลูกขึ้นด้วยหวังลดจำนวนเด็กๆ ที่ป่วยและถูกยัดเยียดว่าป่วย นักเรียนของห้องนี้คือพ่อแม่และครู… เด็กๆ มีหน้าที่แค่เล่นรออยู่ข้างนอก
ห้องเรียนนี้สอนทั้งหมด 3 วิชา คือ 1. พัฒนาการเด็ก 2. EF (Executive Function) 3. ปรับพฤติกรรม ภายใต้คอนเซ็ปท์ที่ว่า “เอางานวิชาการมาเล่าให้ฟัง และทุกประโยคมีเอกสารทางวิชาการรองรับ”
คาบแรก: วิชาพัฒนาการเด็ก
“ถ้าไม่พร้อมจะเลี้ยงลูก กรุณาอย่ามีลูก” คุณหมอกล่าวต้อนรับนักเรียนทุกคนด้วยประโยคนี้ แต่ถ้ามีแล้วเราต้องเข้าใจพัฒนาการของลูก ที่เป็นไปตามลำดับขั้น ถ้าขั้น 1 ดีได้ ก็จะดีในทุกปีที่ผ่านไป
- ขั้น 1 คือ 12 เดือน
- ขั้น 2 คือ 2-3 ปี
- ขั้น 3 คือ 4-5 ปี
- ขั้น 4 คือ 6-12 ปี
- ขั้น 5 คือ 12-18 ปี
12 เดือนแรก: Trust
3 เดือนแรก ลูกกับแม่เป็นหนึ่งเดียวกัน 3-6 เดือน แม่กับลูกถึงจะนับเป็นสอง แต่ขาดจากกันไม่ได้ ถ้าขาดต้องตาย
“เราไม่ได้เป็นแม่ในวันแจ้งเกิด ลูกต้องใช้เวลา 6 เดือนในการพิจารณาและอนุมัติว่าเราคือแม่ ผ่านทรวงอก น้ำนม หัวใจ เพลงกล่อม และอ้อมกอดที่ไม่เหมือนใครในโลก”
แต่เรื่องเศร้าก็คือ แม่คนไทยลางานเลี้ยงลูกได้เพียง 3 เดือน สายสัมพันธ์ที่ควรจะแข็งแรงจึงอ่อนแอกว่าที่ควร
“เด็กไม่ไว้ใจสิ่งแวดล้อม แม่ต้องเลี้ยงให้ดีที่สุด หิวก็แม่มา ร้อนก็แอร์มา หนาวผ้าห่มก็มา เหงาก็มีคนอุ้มกอด คนที่เขาไว้ใจคือแม่ สิ่งแวดล้อมจะดีต้องมีแม่ที่ดีมาก”
แม่ที่ดีมากในความหมายของคุณหมอ คือ แม่ที่ปรนเปรอลูกไม่อั้น ร้องแล้วอุ้มๆ ตลอด
“ไม่ใช่เวลาฝึกความเข้มแข็ง แม่ให้อย่างเดียว”
2-3 ปี: Self
วัยอ้อแอ้เตาะแตะแบบนี้ มาพร้อมความสามารถอัตโนมัติหลายอย่าง ในเครื่องหมายดอกจันตัวโตๆ ว่า “ถ้าพ่อแม่เปิดโอกาส” เพราะหน้าที่ของเด็กวัยนี้คือ ‘ดื้อ’
ความสามารถอัตโนมัติเช่น การกลั้นฉี่ กลั้นอึ ซึ่งเด็กจะกลั้นไว้หรือปล่อยได้ ขึ้นกับอำนาจการควบคุมของพ่อแม่ สำคัญคืออย่าไปเปรียบเทียบ เร่ง หรือกดดัน ความสามารถตามธรรมชาติที่ว่านี้ สอนเด็กได้อย่างเดียวคือ ปล่อยให้เป็นที่เป็นทาง ความสามารถต่อมาคือ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ อย่างแขนและขา เขาจะวิ่ง เดิน ตี และเตะพ่อแม่ได้
“เขาจะเขวี้ยงของได้ กวาดของลงโต๊ะได้ พ่อแม่ไม่ควรอารมณ์เสีย ตอนลูกผมเล็กๆ เขาเขวี้ยงของ ผมชวนเล่นปาของด้วยกันเลย แต่ควรเลือกของและสถานที่ที่จะเขวี้ยงนะ เพราะนั่นคือการฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ไอ้ที่เราห้าม เรากำลังขวางทางพัฒนาการเด็กหรือเปล่า”
พอย่างเข้า 3 ขวบ เด็กจะสร้างตัวตน (self) ซึ่งจะตุนยาวเอาไว้ใช้ตั้งแต่ตอนกิน เล่น เรียน จีบ ทำงาน และตลอดชีวิต
“ถ้าเด็กไม่มีตัวตน เวลาเจอปัญหาจะแสดงออกต่างๆ เช่น กรีดข้อมือให้รู้สึกเจ็บ เพื่อเตือนให้รู้ว่าตัวเองมาจากไหน เป็นใคร ให้รู้ว่า อ๋อ มีตัวตนนะ”
หรือกรณี วัยรุ่นริอยากลองมีเพศสัมพันธ์ คนที่ไม่ป้องกัน ก็จะ ‘อะไรก็ได้’
“เพราะเขาไม่สน ไม่รู้สึกว่ามีตัวตนตั้งแต่แรก”
4-5 ขวบ: Initiation
วัยแห่งการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยเฉพาะ ‘นิ้วมือ’
“พ่อๆ แม่ๆ ควรระลึกไว้ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ใช้นิ้วมือได้ เด็กวัยนี้อยากใช้นิ้วเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในโลก เช่น ระบายสี พับกระดาษ เล่นบทบาทสมมุติ วิ่งไล่กัน ปีนต้นไม้ และอ่านหนังสือ”
โดยเฉพาะกิจกรรมหลังสุดที่พ่อแม่ทั้งหลายถอดใจ ยื่นแทบเล็ตให้ลูกแทนไปเรียบร้อยแล้ว
“การอ่านหนังสือ มือได้แตะ ได้คลำ ทุกๆ หน้าที่เปลี่ยนไป หน้ากระดาษด้านซ้ายจะหนากว่าด้านขวา นิ้วโป้งซ้ายจะจับหน้ากระดาษที่หนาขึ้นทุกที นิ้วโป้งขวาจะจับกระดาษที่บางลงทุกที พวกนี้ส่งสัญญาณขึ้นสู่สมองด้วยว่านิ้วจับที่ตรงไหน สมองก็เรียนรู้ว่าเนื้อหาตรงนี้อยู่ประมาณเศษ 1 ส่วน 4 ของหนังสือเล่มนี้ รูปแบบของสมองก็จะพัฒนาไปอีกแบบหนึ่ง”
ถ้านิ้วมือดี สมองก็ดี คุณหมอสรุปไว้ แต่ไม่ใช่ว่าเห็นเขาสนุกกับการใช้นิ้วแล้วจะฝึกให้เขียนอักษรไทย 44 ตัวกันเลย
“วัยนี้เขามีหน้าที่เล่น ไม่ได้มีหน้าที่เขียน” คุณหมอพูดเสียงดังฟังชัด
นอกจากกล้ามเนื้อมัดเล็ก เด็ก 4-5 ขวบจะเริ่มสนใจเรื่องเพศ และเริ่มมีกริยาทางเพศ คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องสอนให้เขารู้ว่าโลกนี้ด้วยกัน 8 เพศ คือ 1.หญิง 2.ชาย 3.เลสเบี้ยนชาย 4.เลสเบี้ยนหญิง 5.เกย์ชาย 6.เกย์หญิง 7.ไบเซ็กชวล และ 8.ทรานส์เจนเดอร์หรือคนข้ามเพศ
“เขาจะเลือกเพศอะไรไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดู หรือพันธุกรรม ขอให้รู้ว่าเขาเป็นเองและเลือกไม่ได้ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือสอนให้เขาปฏิบัติกับเพศอื่นด้วยความเคารพ”
6-12 ปี: Industry
“เด็กตื่นมาเพื่อไปโรงเรียน เพื่อไปทำหน้าที่สร้างผลผลิตทางอุตสากรรม (Industry)”
สร้างอย่างไร? คุณหมอโยนคำตอบมาให้ 3C
- Compete – เขาไปเพื่อแข่งขัน ต่อสู้ และชิงดีชิงเด่นกับเพื่อนๆ
- Compromise – หลังจากแข่งขัน เขาก็ต้องเรียนรู้การรอมชอม ประนีประนอม
- Coordinate – เพื่อนำไปสู่ การร่วมเล่น ร่วมทำการบ้าน และทำโครงการด้วยกัน
“เขาอยากจะสร้างผลงานอยู่แล้ว ทุกคนอยากลงรอยและรวมตัวกันเป็นทีม” สรุปสั้นๆ จากคุณหมอ
12-18 ปี: Identity
วัยรุ่นมาพร้อมกับการค้นหาอัตลักษณ์ (identity) สเต็ปหลังจากนั้นคือการจีบคนรัก (intimacy) ซึ่งไม่จำเป็นต้องผูกขาดไว้แค่หญิงหรือชาย แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ 2 ข้างต้นคือ การเข้าแก๊ง เข้ากลุ่ม หาความจงรักภักดี (loyalty)
หากปัญหาที่พบบ่อยมากถึงมากที่สุด คือ พูดอะไรก็ไม่ฟัง คุณหมอยิ้มใจดีและตอบอย่างใจเย็นว่า
“อาการพูดไม่ฟังเป็น ‘หน้าที่’ ของวัยรุ่น ถ้าเขาทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เขาจะกลายเป็นบุคคลไม่มีอัตลักษณ์ ไม่รู้จักโต เราเลี้ยงเขามาเพื่อให้ปีกกล้าขาแข็ง”
คุณหมอย้ำว่า ตรงข้ามกับการพูดให้ลูกเชื่อฟังหรือสั่งสอน พ่อแม่ควรฟังเรื่องที่ลูกพูด ฝึกฟังให้มาก แม้ไม่เห็นด้วยหรืออะไรที่เขาพูดไม่เข้าท่า ก็ขอให้ฟังไปก่อน ไม่ขัดคอ ไม่ตั้งคำถาม เพราะเมื่อถามจะกลายเป็นซักฟอก
“ถ้าเราฟังเก่งๆ เราจะขออะไรเขาได้บ้าง เช่น กลับมากินข้าว 4 ทุ่มนะจะมีกับข้าวรอ หรือ สอบผ่านก็พอนะ หรือใช้ถุงยางทุกครั้งนะ ขอข้อเดียว อย่างมากสอง เลือกที่ซีเรียสก็พอ อย่าขอเปรอะไปหมด จะไม่ได้สักข้อ”
อดทน รัก และรอ อย่าทำแก้วแตก เขาจะกลับมา
“หน้าที่ข้อที่ 4 ของวัยรุ่นคือการเลือกอาชีพ career choice ต้องการสมองส่วนหน้าที่ดีและความสามารถมองอนาคตที่ดี ดังจะเล่าให้ฟังต่อไป”
คาบสอง: Executive Function (EF)
เมื่อเราเข้าใจพัฒนาการลูก คาบต่อมาคือ EF-Executive Function หมายถึงความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (อ้างอิงจากที่ประชุม EF ของรักลูกกรุ๊ป คำนิยามโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนเศรษฐกร)
“และต้องเป็นเป้าหมายที่เด็กกำหนดเอง ไม่ใช่พ่อแม่กำหนด” คุณหมอย้ำ
EF ที่ดีมี 3 ข้อ
1. ดูแลตัวเองได้ หมายถึง ดูแลร่างกายได้ ได้แก่
- พื้นที่ 1) ร่างกายของตัวเอง เช่น กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน
- พื้นที่ 2) รอบร่างกาย เช่น เก็บของเล่น เก็บที่นอน
- พื้นที่ 3) งานบ้าน เช่น ล้างจาน ตากผ้า เทขยะ
- พื้นที่ 4) นอกบ้าน เช่น กินข้าวในร้านอาหาร วิ่งเล่นในห้าง เข้าคิว
“ย้ำว่างานบ้านมิใช่เพื่อให้บ้านสะอาดแต่เพื่อให้นิ้วมือขยับ นิ้วมือขยับ สมองก็ขยับ ก็จะเป็นฐานของ EF ที่ดีกว่า”
2. เอาตัวรอดได้ จากสถานการณ์เสี่ยง เช่น เป้าหมายคือมีเซ็กส์ในคืนวันวาเลนไทน์
“อยากมีก็อยาก แต่ก็กลัวท้อง ดังนั้นการมีเซ็กส์แบบ EF คือ สวมถุงยางอนามัย โดยผ่านการควบคุมความคิด อารมณ์ การกระทำที่ดีและมีสายสัมพันธ์กับแม่ที่แข็งแรง เพราะสายสัมพันฑ์ของแม่จะดึงรั้งสติของลูกไว้เสมอ เช่น หน้าแม่ลอยมา”
3. มีอนาคต คุณหมอยกมา 5 คำ #มองไปข้างหน้า #วางแผน #ลงมือทำ #รับผิดชอบ #ยืดหยุ่น ปรับเป้าหมาย ปรับแผนได้ตลอดเวลา ไม่โทษตัวเอง ไม่โทษผู้อื่น
“สมองส่วนหน้า เหมือนไฟหน้ารถ ใครสาดได้ไกลกว่าก็ชนะ” คำเปรียบเทียบจาก ผอ.ห้องเรียนพ่อแม่
ก่อนจะมี EF ที่ดี พ่อแม่ควรรู้ว่า EF ประกอบด้วย 3 วัตถุดิบสำคัญ
- การควบคุมตัวเอง (self control) ข้อนี้สำคัญที่สุด จะทำได้ต้องผ่านกระบวนการ 3 ส่วนคือ 1. จดจ่อได้นาน (focus) 2. ไม่วอกแวก (distraction) 3. รู้จักประวิงเวลามีความสุข (delayed gratification) หรืออดเปรี้ยวไว้กินหวาน ลำบากแค่ไหนก็จะทนให้ผ่าน
- ความจำพร้อมใช้ (working memory) เมื่อถึงสถานการณ์ ความจำต้องพร้อมใช้เสมอๆ พ่อแม่มีส่วนช่วยพัฒนาการด้วยการเล่นและฝึกทำงานบ้าน เพราะทั้งสองกิจกรรมจำเป็นต้องบริหารความจำตลอดเวลา “ความจำใช้งานเกิดจากการลงมือ คือ action เท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการนั่งเรียนทฤษฎี”
- การคิดวิเคราะห์ยืดหยุ่น (cognitive flexibility) คือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ผ่านการเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนตัวแปร เปลี่ยนกระบวนการคิดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งพ่อแม่ช่วยได้ด้วยการส่งเสริมให้ลูกๆ เล่นตั้งแต่ช่วง 2-7 ขวบ และในช่วง 8-12 ปี ทั้งสองช่วงนี้สมองจะวางโครงสร้างด้านตรรกะ การใช้เหตุผล แล้วจึงนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ที่ยืดหยุ่นพลิกแพลงต่อไป
“ลูกเราอยากมีเซ็กส์ แต่ดั๊นลืมถุงยาง แต่ EF จะสอนให้เขาอดเปรี้ยวไว้กินหวาน การคิดวิเคราะห์ยืดหยุ่นจะบอกให้แวะไปซื้อถุงยางที่เซเว่นก่อน ระหว่างนั้นความจำพร้อมใช้จะคอยเตือนว่าท้องตอน ม.5 จะเป็นยังไงนะ แล้วถ้าติดเชื้อ HIV ด้วยล่ะ ทั้งหมดทั้งมวล คำอธิบายว่า รักแม่นะ อย่าทำนะ มันไม่พอแล้ว ความสามารถของสมองอย่าง EF จึงต้องเข้ามา”
มีอยู่หนึ่งคำถามที่อาจจะอยู่นอกหลักสูตรวิชา EF และคุณหมออาจจะไม่ค่อยได้ตอบในเวที และคาดว่ามีหลายคนอยากจะรู้
“ทำไมคำตอบจึงต้องเป็น EF” คำถามแบบกำปั้นทุบดินจากเรา
“อะไรที่เราเคยจนมุม เช่น บรรยายพัฒนาการเด็กได้จนถึงประถม วัยรุ่น แต่มาเจอระบบการศึกษาที่ไม่ปกติอย่างมาก เราก็ไม่รู้จะแนะนำอะไรพ่อแม่ เราก็เคยจนมุมเรื่องนี้จริงๆ แต่เพราะเป็นคนอ่านมาก คิดมาก ก็พบว่าความรู้ใหม่ที่เรียกว่า Executive Function หรือ EF พาเราออกจากจุดอับนี้ได้
แน่นอนแหละ ก็ไม่ได้เชื่อตั้งแต่วันแรก และตำรามันอ่านยาก มันใหม่ การใช้คำศัพท์สับสนอลหม่าน เราพยายามแปลเป็นภาษาไทย ก็ไม่รู้แล้วว่าตัวเองแปลได้หรืออยากแปล แปลๆ ไปก็มีคนชมนะว่าแปลดี (หัวเราะ) พูดดี อันนี้ไม่รู้ วิจารณ์ตัวเองไม่ได้ แต่ก็ทำให้มีกำลังใจว่าเราพยายามถ่ายทอดวิชา EF ที่เป็นภาษาไทยโดยมีวิชาการ back up”
คาบสาม: การปรับพฤติกรรม
คุณหมอเริ่มต้นคาบสุดท้ายด้วยการพาเราไปรู้จัก ‘คำศัพท์’ แทนเด็กในวัยต่างๆ
แรกเกิด – 1 ขวบ Self Centered: “เด็กเล็ก คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล”
2-5 ขวบ มีหลายคำหน่อย
Animism: “ทุกอย่างมีชีวิต เช่น ตุ๊กตามีชีวิตทุกตัว อย่าแยกเขาออกจากกัน”
Magic: ความคิดเชิงเวทมนตร์ “ทุกอย่างเป็นไปได้หมดด้วยเวทมนตร์”
Phenomenalistic Causalty: วัยแห่งการจับแพะชนแกะ
ครูใหญ่ของห้องเรียนพ่อแม่อธิบายว่า อะไรที่เกิดพร้อมกันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน พราะหนึ่งจึงเกิดสอง เพราะสองจึงเกิดสาม นี่คือฐานของเหตุและผลที่ดีในอนาคต แต่ก็เริ่มด้วยแพะชนแกะ ฉะนั้นเวลาลูกถาม พ่อแม่มีหน้าที่ตอบ อย่าบ่น”
6-12 ปี Concrete: มีการคิดเชิงรูปธรรม “เห็นอะไรก็เห็นอย่างนั้น เห็นหมาก็เป็นหมา ไม่มีอะไรซับซ้อน”
12-18 ปี Abstract: คิดเชิงนามธรรม “สมองสามารถให้ความหมายแก่สิ่งที่เห็นและสามารถให้ความหมายแก่สิ่งที่จับต้องไม่ได้”
ปูพื้นด้วยความเข้าใจพฤติกรรมของทุกช่วงวัย แต่แค่นั้นยังไม่พอ ในโลกทุกวันนี้ที่หมุนเร็วตื๋อ เด็กๆ ควรมีทักษะที่ดีในการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า 21st Century Skill ที่มีด้วยกัน 3 ทักษะ
1. ทักษะการเรียนรู้
“มีความอยากรู้ อยากค้นหา อยากรู้อยากเห็น” ประกอบด้วยทักษะย่อย 4 ข้อคือ
- คิด วิพากษ์ Criticize Thinking หมายความว่า ไม่เชื่อง่ายและมีความคิดที่เป็นอิสระจากทุกอย่าง มีเสรีภาพที่จะคิด
- สื่อสาร Communication เกิดเป็นคน คิดแล้วก็ต้องสื่อสาร คือ พูด เขียน เล่นละคร โต้วาที จัดนิทรรศการ เดินรณรงค์
- ร่วมมือกัน Collaboration ทันทีที่มนุษย์มีเสรีภาพ เขาจะพูดและคิด
“มันแหงอยู่แล้วที่ต้องเจอคนคิดไม่เหมือนเรา จึงมีการ compete เถียง compromise ประนีประนอม แม้จะคิดต่างแต่เรามีเป้าหมายร่วม รอมชอมกันที่จุดหนึ่งแล้วทำงานด้วยกัน จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ creativity และนวัตกรรม คือ innovation เป็นข้อที่ 4
- ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม Creation & Innovation ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากการทำงานที่ดี และความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปลงมือทำจึงเป็นนวัตกรรม
“เพราะการเถียงกันในกลุ่มคนที่มากพอ มันจะสนุก ถ้ามันเถียงกันอย่างมีเสรีภาพและนวัตกรรมจะเกิดโดยไม่รู้ตัว คือ ในการประชุมที่ดี 1+1+1 จะไม่ได้เท่ากับ 5 เพราะความคิดมันพลุ่งพล่านมาก มันต้องการเสรีภาพ ที่ประชุมแบบนี้มีและมันก็ดีจริงๆ แต่น้อยและไม่มีในที่ประชุมราชการ”
2. ทักษะชีวิต
“ระบบการศึกษา แยกการศึกษาออกจากชีวิต” คุณหมอบอกว่าจริงๆ แล้วทักษะวิชาการกับชีวิตควรไปด้วยกัน
แล้วทักษะชีวิตมีอะไรบ้าง?
“มองไปข้างหน้าเป็น วางแผนเป็น ตัดสินใจทำเป็น ค้นหาทางเลือกเป็น ปรับแผนหรือยืดหยุ่นเป็น ประเมินผลเป็น และรับผิดชอบเป็น ถ้าเขาทำได้ทั้งหมดนี้ จะไม่ฆ่าตัวตายโดยง่าย” คุณหมอย้ำ
3. ทักษะไอที
“ผมยืนยันว่าเราควรให้เสรีภาพลูก เราควรบอกและชี้แนะว่าลูกสนใจอะไร อยากรู้อะไร อย่ามัวแต่นอน มีกูเกิลให้ค้นก็ค้น ค้นออกมาแล้วไม่ได้แปลว่าต้องเชื่อ การอ่านข้อมูลใดๆ ในกูเกิลวันนี้เป็นเพียงการบริหารความคิด ไม่ได้ให้เชื่อ ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้ตัวทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิตดีขึ้น พอทักษะชีวิตดี ทำให้เอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์
“ดังนั้นต่อให้ข้อสอบมันแย่ยังไง เด็กก็จะยอมรอมชอม เพราะกติกาของเปเปอร์นี้ ตกคือตกนะจ๊ะ เขารู้ทั้งรู้ว่าเปเปอร์นี้ก็ไม่ได้เข้าท่ามากนักหรอก ตัวเองมีความรู้เยอะกว่านั้นเยอะ แต่เขาพร้อมจะรอมชอม อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า EF และทักษะศตวรรษที่ 21 ดี”
ทักษะที่ว่านี้ คุณหมอหมายถึง
- ทักษะการเสพข่าวสาร – แยกแยะและใช้ประโยชน์จากข่าวจริงข่าวลวงให้ได้
- ทักษะการใช้สารสนเทศ – รู้ว่าอะไรคือข้อมูล อะไรคือข่าวสาร และอะไรคือความรู้ และใช้ให้เกิดประโยชน์
- ทักษะการใช้เทคโนโลยี – สามารถใช้เครื่องมือหลากหลายได้เหมาะสม พร้อมๆ กับบริหารเวลาไปด้วย
ระหว่างทางการฝึกทักษะเหล่านี้ คุณหมอมีทิปส์เล็กน้อยแต่สำคัญมหาศาลมาฝากพ่อๆ แม่ๆ
“เราไม่ควรชมเขาเยอะเกินไป ไม่ควรชมว่าเก่งจังเลย นั่นคือการชมที่ผลลัพธ์ เพราะจะทำให้ลูกเริ่มเฉื่อย ไม่สนใจคำชม แต่ควรชมที่วิธีการ เช่น ความพยายาม ความอดทน”
ห้ามเด็ดขาดเลยคือ บั่นทอน
“แค่แม่ชักสีหน้าก็เท่ากับทำโทษลูกแล้ว พยายามนั่งดูเขาไปก่อน ให้สัดส่วนการชมมากกว่าการติหรือเฉยๆ ทำรางวัลให้เยอะกว่าการทำโทษ แม้ว่ามันจะน่าด่าทุกปัญหาก็ตาม (ยิ้ม)”
ข้อคิดท้ายชั่วโมง
ถึงจะเปิดห้องเรียนได้ไม่กี่เดือน แต่คิวรอเรียนที่ยาวไปอย่างน้อย 3 เดือน ก็ทำให้คุณหมอแปลกใจไม่น้อย
“แปลกดีนะ ผมก็งงว่าทำไมถึงมีดีมานด์ มันไม่น่าจะมีดีมานด์เยอะขนาดนั้น ถามว่าทำไม ทุกคนเป็นทุกข์ ทุกข์เรื่องชิงดีชิงเด่น คาดหวังสูงจากการศึกษาแบบนี้ มันเป็นวงจรร้ายเนอะ”
เท่าที่สังเกต พ่อแม่ที่มาเรียนคาดหวังสูง ‘ทุกคน’
“คาดหวังว่าเด็กควรจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้เมื่ออายุเท่านี้ จะรีบอะไร ไม่รู้ ผมไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น เราคาดหวังสูงจริง
“ถ้าเรามีความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กสักนิด และผ่อนคลายระบบการศึกษาซะหน่อยให้ทุกคนหายใจโล่งขึ้นอีกหน่อย อย่าตึงเครียดกันนัก อย่าแข่ง อย่าเปรียบเทียบกันมากนัก เด็กเขาไม่พร้อมก็แปลว่าไม่พร้อม ถ้าสังเกตผมก็จะพบคำตอบซ้ำๆ ไม่ต้องกดดัน ของมันสบายๆ รอได้ (ยิ้ม)”