- หนังสือนิทานที่ดีนอกจากต้องน่ารัก อบอุ่นแล้ว ยังต้องมีการตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิด
- นิทานที่เล่าเรื่องแบบเป็นเงื่อนไข และเชื่อมโยงเงื่อนไขจะทำให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้นไปในตัว
- หนังสือภาพจะเปิดโอกาสให้พ่อแม่ หรือแม้แต่เด็ก ได้ใช้จินตนาการในการเล่าเรื่องผ่านถ้อยคำและประสบการณ์ของตัวเอง
จากบทสัมภาษณ์ของครูชีวันเรื่อง ชีวัน วิสาสะ: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ‘ไม่ต้องสอน’ ที่เล่าถึงวิธีการทำหนังสือ และแนวคิด ‘ต้องไม่สอน’ ของการทำนิทาน เชื่อว่าหลายคนคงเห็นด้วย แต่อาจนึกภาพไม่ออกว่า เล่มไหนสอนและเล่มไหนที่ไม่สอน
The Potential จึงชวนครูชีวันมาแนะนำนิทาน 5 เล่มน่าอ่าน ดีต่อใจ และไม่สอน
ช่วยเช็ดให้นะ พระจันทร์ฝันดี วันนี้วันดี บ้านบนต้นไม้ และ บาบา คือ 5 เล่มที่ครูชีวันเป็นบรรณาธิการ ทุกเล่มจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิ SCG
แต่ละเล่ม ‘น่ารัก’ มาก และที่สำคัญราคาไม่ถึงร้อย!
1.ช่วยเช็ดให้นะ
เล่มนี้เขียนโดยนักเขียนนิทานชาวญี่ปุ่น Akiko Hayashi (อาคิโกะ ฮายาชิ) และแปลโดย มารินา โคบายาชิ
ครูชีวันบอกว่า “เล่มนี้ดีมากๆ เพราะลึกซึ้ง ฉลาดที่จะนำเสนอ ทั้งเรื่องที่เป็นความจริง และเป็นจินตนาการของเด็กเอง
ชื่อเดิมจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น คือ ‘คิ้ว คิ้ว คิ้ว’ ที่นำมาจากเสียงเวลาเช็ดถู เหมือน ปื้ด ปื้ด ปื้ด ของไทย แต่ฟังแล้วไม่น่ารักเท่า เลยเปลี่ยนชื่อนิทานมาเป็น ‘ช่วยเช็ดให้นะ’
เนื้อเรื่องของเรื่องเกี่ยวกับ มี(ตุ๊กตา)สัตว์สามตัว กำลังกินข้าวกับเด็ก แต่ละตัวขยันกันกินหกเลอะเทอ เด็กเลยช่วยเช็ดให้
“ถ้าดูจากหน้าปกแล้ว นิทานเล่มนี้น่ารักมาก แต่นอกเหนือจากความน่ารักแล้ว พ่อแม่อาจจะงงเล็กน้อยว่านิทานเรื่องนี้ต้องการบอกอะไร เรารู้สึกแค่ว่ามันน่ารัก ทั้งเรื่อง ทั้งคำ ทั้งภาพ สำหรับครูชีวันแล้วนี่คือหนังสือที่ดี มีการตั้งคำถาม น่ารัก อบอุ่น”
เนื้อเรื่องละเอียดจะเป็นอย่างไร ครูชีวันไม่เล่าต่อ ขอให้ไปอ่านกันเอาเอง
2.พระจันทร์ฝันดี
พระจันทร์ฝันดี แปลมาจาก Goodnight moon เขียนโดย มาร์กาเร็ต ไวส์ บราวน์ และแปลโดย รพินทร ณ ถลาง
ครูชีวันเล่าว่า “ต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษจะคล้ายๆ บทกวีสำหรับเด็ก เป็นคำคล้องจอง ซึ่งแปลยากมาก แต่ผู้แปลก็ทำได้ดีมาก หนังสือเล่มนี้เหมาะแก่การอ่านก่อนนอน เพราะสีแต่ละหน้าจะค่อยๆ มืดลง ตามระดับความง่วงที่ค่อยๆ มากขึ้นของเด็ก
เรื่องราวเล่มนี้จะชี้ชวนให้ดูสิ่งต่างๆ ในห้องสีเขียวสดใสสว่างตา ด้วยลีลาถ้อยคำคล้องจอง ให้ดูให้มอง ตั้งแต่โทรศัพท์ ลูกโป่งสีแดง ภาพวัวกระโดด ภาพลูกหมีสามตัว ถุงมือ ถุงเท้า กองไฟ ลูกแมว ลูกหนูตัวจิ๋ว”
ไม่ใช่แค่การฝึกสังเกตที่มาพร้อมความสนุก แต่ความช่างคิดตั้งแต่การใช้สี เล่าเรื่อง และรายละเอียดจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด ทำให้เล่มพระจันทร์ฝันดีอ่านสนุกได้ทุกคืน
3.วันนี้วันดี
วันนี้วันดี เป็นนิทานพื้นบ้านอาร์เมเนีย เขียนโดย Nonny Hogrogian (น็อนนี่ ฮ็อกโกรเกียน) และแปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ
เล่มนี้มีลีลาการเล่าเรื่องที่เชื่อมโยง เป็นการเล่านิทานแบบสะสมถ้อยคำนิทาน เรื่องนี้เป็นเรื่องของหมาจิ้งจอกตัวหนึ่งที่ไปกินนมในถังของหญิงชรา จนถูกหญิงชราจับตัดหาง หมาจิ้งจอกต้องหาทางให้ได้หางของตนคืนมา ด้วยการทำตามเงื่อนไขต่างๆ ของหญิงชรา พล็อตเหมือนกับเรื่อง ‘ยายกับตา’ ที่ว่า
“ยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า หลานไม่เฝ้า อีกกามากินถั่วกินงา ยายมายายด่า ตามาตาตี หลานก็ไปขอให้นายพรานยิงอีกา ในพรานก็บอกว่าไม่ใช่ธุระกงการอะไรของข้า ก็ขอให้หนูไปกัดสายธนูนายพราน ขอให้แมวไปกัดหนู ขอให้หมาไปกัดแมว”
ซึ่งแต่ละเงื่อนไขจะเป็นเหตุเป็นผลกันว่า ว่าทำเช่นนี้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ เด็กๆ จะเริ่มรู้จักเหตุรู้จักผล นิทานชนิดนี้มีอยู่ทั่วโลก ถ้าอ่านให้เด็กฟังจะเป็นการเพิ่มคำศัพท์ให้เด็กได้เยอะมากขึ้น
4.บ้านบนต้นไม้
ผลงานวาดรูปร่วมกันของสองพ่อลูก มาไรย์ โทลมัน,โรนัลด์ โทลมัน
“เล่มนี้ภาพสวย ดูสบาย ข้างในเล่มเป็นรูปภาพหมด ไม่มีตัวหนังสือ ซึ่งเป็นการสื่อสารเรื่องราวที่คนดูต้องอ่านภาพ เล่าเรื่องด้วยภาษาของตัวเอง ด้วยประสบการณ์ของตัวเอง” ครูชีวันเล่า
เรื่องนี้เปิดโอกาสให้เด็กใช้ภาษาที่มีอยู่ ถ้าเด็กคนไหนที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังมากๆ ภาษา ถ้อยคำ ในตัวเขาก็จะเยอะพอที่จะเลือกใช้คำที่สละสลวยได้ เป็นเล่มที่เล่าตั้งแต่หน้าปกมาถึงข้างใน และเล่าได้หลายๆ รอบ เนื้อเรื่องแต่งใหม่อย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซ้ำกัน
ถ้าพ่อแม่จะเอาไปอ่านก็แล้วแต่จินตนาการ หรือบางทีพ่อแม่ไม่ต้องเล่าให้ฟัง ให้ลูกดูภาพเอาก็ได้ หนังสืออย่างนี้เด็กเล็กๆ จะชอบเพราะไม่มีตัวหนังสือ
“หนังสือที่มีตัวหนังสือสำหรับเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก ตัวหนังสือคืออุปสรรค พ่อแม่ต้องอ่านให้ฟัง แต่เล่มนี้เปิดอิสระ” คำนิยมจากครูชีวัน
5.บาบา
เล่มนี้เป็นผลงานของ 2 นักเขียนไทย ชิราวรรณ ทับเสือ และกฤษณะ กาญจนาภา
เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ระทึกขวัญที่เกิดขึ้นในแทบจะทันทีทันใด เล่าเรื่องมิตรภาพของเพื่อนๆ ทั้งสี่ แต่จู่ๆ สมาชิกสามตัว คือ เสือดาว หมี ฮิปโป ถูก ‘บาบา’ สัตว์ยักษ์ปริศนาจับไป แล้วจะโดนบาบาจับกินไหม ทำให้สมาชิกที่รอดเหลืออยู่หนึ่ง คือ ช้างตัวน้อย ต้องหาทางช่วยเพื่อนให้ได้
ครูชีวันบอกว่า “หนังสือที่ดี ต้องมีแง่มุมของคำถาม นิทานเล่มนี้เปิดเรื่องด้วยการตั้งคำถามแล้วว่า ‘บาบา’ คือตัวอะไร และการเล่าเรื่องของเล่มนี้จะไม่มีคำพูดที่กำหนดว่าใครเป็นคนพูด แต่เด็กจะแทนตัวเองเป็นตัวละครในเรื่อง เพราะถ้าไปกำหนดว่าตัวไหนพูดอะไร จะเป็นการปิดโอกาสให้เด็กได้จินตนาการต่อ
คำไม่ต้องเยอะ แต่เราอ่านภาพ อ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รับรู้อารมณ์ ความรู้สึก และการคลี่คลายด้วยภาพก็เข้าใจแล้ว ไม่ได้สอน แต่ให้เรียนรู้ แล้วเด็กก็คิดเองได้ สรุปเอาเองจากเหตุการณ์ทั้งหลาย จากภาพที่เห็น” ครูชีวันทิ้งท้าย