- ในเด็กเล็กอาจยอมให้คนอื่นๆ สามารถสัมผัสหรือจับตัวได้ แต่เมื่อถึงวัยหนึ่งเขาจะเริ่มแสดงออกชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ใครแตะตัวบ้าง สิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลควรทำ คือ สอนเขาว่าต้องปกป้องตัวเองอย่างไร
- หากมีใครอยากมาเล่น สัมผัสลูกเรา โดยที่เขาไม่รู้สึกยินยอม พ่อแม่ควรพาลูกออกมาทันที ไม่ควรเกรงใจแล้วปล่อยให้เขาสัมผัสลูก แม้จะเป็นการหยอกล้อก็ตาม ไม่มีคำว่า ‘หวงลูก’ ‘เล่นตัว’ หรือ ‘หยิ่ง’ เกินไปในกรณีนี้
- ก่อนจะโพสเรื่องลูกลงโซเชียล ควรขออนุญาตเขาก่อน เพราะบางครั้งลูกไม่ต้องการให้ใครรับรู้เรื่องราวของเขา และเมื่อโพสไปแล้วไม่อาจหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมได้ อาจส่งผลต่อลูกเมื่อโตขึ้น
หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นโดยอ้างอิงและยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผู้ที่เข้ามาขอรับการปรึกษา ทำให้ ประสบการณ์ของบางคนอาจจะไม่ตรงกับในบทความได้
“สิทธิของร่างกายของลูก พ่อแม่ต้องปกป้องในวันที่เขายังปกป้องตัวเองไม่ได้”
คุณแม่ท่านหนึ่งถามว่า “แต่ก่อนลูกเคยยอมให้คนทุกคนอุ้ม อุ้มแล้วไม่ร้อง วางไว้ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้นได้ กับคนแปลกหน้ายังยิ้มให้เขาเลย พอมา 2 ขวบ เขาไม่ให้ใครแตะเขาเลยยกเว้นพ่อแม่ ทำไมกลายเป็นแบบนั้นและต้องทำอย่างไรดี?”
อยากจะเรียนคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ทุกท่านว่า “ลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่ปกติดี และพฤติกรรมของเขาที่แสดงออกชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้ใครมาแตะตัวเขายกเว้นพ่อแม่นั้น ถูกต้องตามหลักพัฒนาการของเขาแล้ว ก่อนหน้านี้ที่เขายอมเพราะเขายังจดจำไม่ได้ว่า ใครเป็นพ่อแม่หรือผู้ดูแลเขา แต่เมื่อเขารู้แล้ว เขาจำได้แล้ว พ่อแม่มีอยู่จริงสำหรับเขาแล้ว เขาจะไม่ยอมให้คนแปลกหน้ามายุ่งกับเขา ถ้าเด็กยอมนั่นแปลก เพราะเขาอาจจะไม่ได้รู้สึกผูกพันกับพ่อแม่ ดังนั้นไม่ว่าใครคนไหนเขาก็ไม่ยอมให้อุ้มแน่นอน”
สิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรรู้เพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับคำตอบข้อนี้ พัฒนาการพฤติกรรมผูกพันที่เกิดขึ้นในเด็กในแต่ละวัยที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เด็กตอบสนองต่อคนรอบข้างแตกต่างกัน
Mary Ainsworth (1979) กล่าวถึงพัฒนาการของพฤติกรรมผูกพันที่เกิดขึ้นในเด็กไว้ดังนี้…
- ระยะที่ 1เด็กทารกวัย 8 สัปดาห์แรกจะเริ่มต้นสร้างความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู (พ่อแม่) ด้วยการยิ้ม ส่งเสียงร้องอ้อแอ้ และร้องไห้เพื่อให้ผู้เลี้ยงดูสนใจเขา เขายังไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของคนที่เขามาดูแลเขาได้ วัยนี้ไม่ว่าใครเด็กก็ยอมให้อุ้มทั้งนั้น
- ระยะที่ 2 เด็กทารกวัย 2 – 6 เดือน จะเริ่มจำแนกระหว่างผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคยได้มากขึ้น และตอบสนองต่อผู้ดูแลมากกว่า เขาจะเริ่มติดและอยากตามพ่อแม่ช่วงนี้
- ระยะที่ 3 เด็กระหว่างวัย 6 เดือนถึง 2 ขวบ คือ ช่วงที่เด็กเกิดความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูอย่างชัดเจน ดังนั้นหากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กวัยนี้ควรมีความมั่นคง ให้ความรัก และความเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริงสำหรับเขาด้วยการมีเวลาคุณภาพให้ลูก เพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มเข้าไปสำรวจสิ่งแวดล้อม หากเสาหลักสำหรับยึดเหนี่ยว (พ่อแม่) ของเขายังคลอนแคลน เด็กจะรับรู้ว่าไม่ปลอดภัย และไม่กล้าออกไปเผชิญโลก
ส่วนใหญ่หลังเด็กอายุครบ 1 ขวบ เด็กจะสามารถแสดงพฤติกรรมผูกพันชัดเจน เขาจะปฏิเสธทันทีเมื่อต้องจากพ่อแม่ของเขาไปไกล หรือจะประท้วงการจากไปของพ่อแม่ เขาจะทักทายเมื่อพ่อแม่กลับมาบ้าน โดยชะเง้อมองหาเราตามเสียงที่ได้ยิน เขาจะเริ่มเกาะแขน เกาะขา เกาะเรา ติดแจเมื่อกลัว และจะพยายามตามติดพ่อแม่ไปทุกที่เมื่อเริ่มเคลื่อนที่ได้
เมื่อเด็กอายุครบ 2 ขวบ เขาจะรับรู้ว่ามีผู้ดูแลเขาได้มากกว่าสองคน (มากกว่าพ่อแม่) เขาสามารถวางแผนเพื่อให้คนอื่นเอาใจเขาได้ จากแต่ก่อนเด็กอาจจะร้องไห้เมื่อได้รับความเจ็บปวดหรือหิวเท่านั้น แต่เมื่อ 2 ขวบเด็กจะเริ่มเรียนรู้ที่จะร้องไห้เพื่อเรียกร้องให้คนมาสนใจ หรือเพื่อให้ได้ดั่งใจ และถ้าไม่มีใครสนใจเขา เขาจะร้องดังขึ้นจนกว่าจะสำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่ควรให้ความรักและสายสัมพันธ์เพื่อสร้างตัวตนที่มีคุณค่าให้กับลูก เพื่อให้เขารับรู้ว่าตัวเขามีความสำคัญและมีอยู่จริง เพื่อจะเรียนรู้การปกป้องร่างกายและคุณค่าภายในตนเองในอนาคต
“ร่างกายเป็นของลูก”
ให้การปกป้องลูกในวันที่เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
เด็กจะเกิดความรักและหวงแหนร่างกายของเขาได้ ก็ต่อเมื่อในวัยเยาว์ของเขาได้รับการปกป้องจากพ่อแม่ของเขา หากมีใครอยากมากอด มาอุ้ม มาหอม ลูกของเราในวัยแรกเกิดถึงวัยเตาะแตะที่ยังสื่อสารและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ควรปกป้องลูกและบอกปฏิเสธชัดเจนเมื่อผู้อื่นพยายามเข้ามาสัมผัสลูกทันที หรือเล่นกับลูกในแบบที่เขาไม่ชอบ โดยเราอาจจะให้คำอธิบายกับอีกฝ่ายว่า “ขอโทษนะ คะ/ครับ น้องยังเล็ก ไม่มีภูมิคุ้มกันเท่าเราผู้ใหญ่” ถ้าอีกฝ่ายไม่เข้าใจ ขอให้พ่อแม่ปล่อยวางและยืนหยัดต่อไป ในกรณีที่เด็กโตพอจะสื่อสารได้เอง ผู้ใหญ่ควรขออนุญาตเขาก่อนการสัมผัสตัวหรือเข้าไปเล่นกับเขา
นอกจากนี้ หากมีใครอยากมาเล่น มาหยอกล้อ มากอด มาอุ้ม มาสัมผัสตัวเด็ก โดยที่เขาไม่ได้รู้สึกยินยอม พ่อแม่ควรเข้าไปพาลูกออกมาจากผู้ใหญ่คนดังกล่าว ไม่ควรเกรงใจแล้วปล่อยให้เขาสัมผัสลูกของเรา แม้จะเป็นการหยอกล้อก็ตาม
ไม่มีคำว่า ‘หวงลูก’ ‘เล่นตัว’ หรือ ‘หยิ่ง’ เกินไปในกรณีนี้ เพราะสำหรับเด็กไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไหร่ จะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง การที่เขาไม่ยินยอม เขาควรได้รับการปกป้องจากเรา
“ร่างกายนี้เป็นของลูก ลูกมีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ให้ใครมาสัมผัสได้เสมอ”
“สอนลูกว่าร่างกายเป็นของเรา”
ลูกมีสิทธิ์ที่จะไม่อนุญาตให้ใครมาสัมผัส และบริเวณใดบนร่างกายที่ไม่ควรให้ใครมาสัมผัสเด็ดขาด
สอนลูกให้รู้จักร่างกายของตัวเอง และสอนเขาให้ปกป้องร่างกายของเขาจากการสัมผัสจากผู้อื่น แม้จะเป็นผู้ใหญ่ในบ้าน ก็ไม่ควรสัมผัสเด็กในส่วนใดของร่างกาย หากเขาไม่ได้อนุญาตหรือไม่ชอบวิธีการสัมผัสของเรา
โดยเฉพาะจุดต้องห้าม 4 จุด ได้แก่
- ริมฝีปาก
- หน้าอก
- อวัยวะเพศและบริเวณระหว่างขา
- ก้น
เหตุผล คือ จุดเหล่านี้เป็นจุดที่ไวต่อการสัมผัสและละเอียดอ่อน ถ้าคนอื่นมาสัมผัสแล้วเขาอาจจะเกิดความรู้สึกอยากทำอะไรมากกว่าแค่สัมผัส ซึ่งเขาอาจจะทำร้ายลูกเราได้
สิ่งสำคัญ คือ ผู้ใหญ่ไม่ควรหยอกล้อเด็กๆ โดยการสัมผัสร่างกายของเขาในบริเวณเหล่านี้
“ไม่ใช่แค่เพียงร่างกาย แต่หมายรวมถึงสิทธิต่างๆ ของลูกที่ไม่ควรถูกละเมิดในวันที่เขายังไม่รู้เดียงสา”
การโพสภาพของลูกลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก
ถ้าหลีกเลี่ยงได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยง เพราะภาพที่โพสลงไปแล้วจะคงอยู่ตลอดไปในอินเตอร์เน็ต เมื่อลูกของเราโตขึ้นเขาอาจจะรู้สึกอับอาย และอาจจะโดนกลั่นแกล้งจากสังคมจากภาพที่เราโพสตอนที่เขายังเป็นเด็กก็ได้
พ่อแม่หลายคนมองว่า ภาพลูกโป๊ ภาพลูกทำอะไรตลกๆ เป็นภาพที่น่ารักน่าเอ็นดู แต่สำหรับลูกที่อยู่ในวัยเยาว์ เขาถูกเราละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวโดยที่เขาไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เลย ที่สำคัญภาพเหล่านั้นอาจะนำไปสู่การอันตรายอันใหญ่หลวง เช่น การลักพาตัว การล่วงละเมิดทางเพศ และ อื่นๆ เพราะภาพเหล่านั้นมีรายละเอียดของเด็ก โรงเรียน ชื่อ ที่อยู่ และกิจวัตรที่เด็กทำเป็นประจำ
ดังนั้น อยากอวดความน่ารักของลูก เราแบ่งปันไว้ดูในครอบครัวของเราดีกว่า อย่าโพสลงโซเชียลเน็ตเวิร์กเลย หรือ เปลี่ยนมาเป็นเขียนเล่าเรื่องถึงสิ่งที่ลูกท อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ในกรณีที่ลูกของเราโตแล้ว ถามเขาก่อนว่า เขารู้สึกสะดวกใจไหมที่เราจะลงภาพถ่ายของเขาลงในโซ เชียลเน็ตเวิร์กของเรา
การโพสเรื่องราวของลูกลงไปในโซเชียลเน็ตเวิร์ก
ก่อนจะโพสเรื่องราวของลูกลงไป เราควรขออนุญาตลูกก่อน เพราะบางครั้งลูกไม่ได้ต้องการให้ใครรับรู้เรื่องราวของเขา ที่สำคัญเมื่อเราโพสเรื่องราวของลูกลงไปในที่สาธารณะแล้ว (การตั้งค่า Public) เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์โดยคนในสังคมได้ ซึ่งเมื่อลูกโตขึ้นเขากลับมาย้อนดูเรื่องราวของตัวเอง ลูกอาจจะรู้สึกเสียใจ อับอาย และอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีกับลูกเลย
เรื่องราวแม้จะจบลงไปแล้ว แต่เมื่อลงไปในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เรื่องราวนั้นจะคงอยู่ต่อไป เป็นร่องรอยทางดิจิทัล (Digital Footprint) บาดแผลที่เคยได้รับการเยียวยาไป อาจจะถูกสะกิดขึ้นมาใหม่เมื่อเข้ามาเจอ
ในความเป็นจริงแล้วการบันทึกความทรงจำที่ดีที่สุด คือ การใช้ตัวของเราเข้าไปอยู่กับลูกตรงนั้น… ใช้สายตาทั้งสองของเรามองไปที่ลูก
ใช้หูของรับฟังเสียงของเขา
ใช้มือทั้งสองสัมผัสเขาอย่างอ่อนโยน ลูบหัว จูงมือ เล่นด้วยกัน
และใช้หัวใจของเราจดจำช่วงเวลาที่ใช้ร่วมกันกับเขาเอาไว้
“พ่อแม่แสดงความรักอย่างเหมาะสมต่อลูกได้อย่างไร”
- ‘ภาษากาย’ ที่สื่อสารความรักให้ลูกรู้
สายตา ที่มอบให้เขา
หู ที่รับฟังเขาทุกเรื่องราว ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ
มือ ที่ว่างพร้อมเล่นกับเขา และเป็นผู้ช่วยสอนยามที่ลูกต้องการความช่วยเหลือ วงแขนที่พร้อมเป็นที่พักพิงยามที่เหนื่อยล้า
ทั้งหมดทั้งมวล คือ “ตัวเราที่พร้อมอยู่ตรงนั้นเพื่อเขา”
- ‘พูดสื่อสาร’ ให้ลูกรู้ว่า “พ่อแม่รักเขา”
สื่อสารอย่างจริงใจ
ให้การชื่นชมมากกว่าตำหนิ
ให้การสอนมากกว่าลงโทษ
พูดบอกรักมากกว่าพูดทำร้าย
- ‘รัก’ และ ‘ยอมรับ’ ในแบบที่ลูกเป็น
ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น
ไม่เรียกร้องให้ลูกต้องทำตามที่เราต้องการ
ไม่คาดหวังไม่ตรงตามความเป็นจริง
แต่เชื่อมั่นในตัวลูก และให้การสอนสิ่งสำคัญตามวัยของเขา
- ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
หากต้องการให้ลูกตอบสนองเราเช่นไร พ่อแม่ควรปฏิบัติต่อเขาเช่นนั้นก่อน อยากให้ลูกรักและเคารพเรา เราเองก็ควรรักและเคารพเขาเช่นกัน การทำข้อตกลง และกำหนดกติกาภายในครอบครัวให้ชัดเจน จะช่วยให้คนในบ้านเข้าใจและเคารพกันมากขึ้น
‘ร่างกาย’ เป็นของลูก ในวันที่เขายังเล็ก เราให้ความรักและการปกป้อง ในวันที่เขาโตพอ เราควรขออนุญาตจากเขาก่อนจะทำสิ่งใด
‘จิตใจ’ เป็นของลูก ในวันที่เขายังเล็ก เราให้ความรักและการสอนสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต ในวันที่เขาเติบโตพอจะตัดสินใจ ให้เขาได้เลือกด้วยตัวเอง
แม้ว่าจะเป็นเด็กและยังไม่เข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รู้สึก บางครั้งเด็กอาจจะรู้สึกมากกว่าผู้ใหญ่เสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรตระหนักถึงข้อนี้เสมอ
สุดท้าย รักและเคารพลูกวันนี้ให้มากพอ เพื่อที่เขาจะรักและเคารพตัวเองในวันที่เติบโต แม้พ่อแม่จะไม่สามารถปกป้องลูกได้ตลอดเวลา แต่ความรักและคุณค่าที่เรามอบให้จะติดตัวลูกไปตลอดชีวิตของเขา