- 2 คุณหมอ 1 นักจิตวิทยาจาก 3 เพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน เลี้ยงลูกตามใจหมอ และ ตามใจนักจิตวิทยา ตอบคำถามว่าทำไมเลี้ยงเด็กสักคนยากจัง ตามหลักจิตวิทยาเด็ก
- เลี้ยงยากหรือเลี้ยงไม่เป็น นั่นเพราะไม่เข้าใจเรื่องพัฒนาการ พอไม่เข้าใจก็ปฏิบัติไม่ถูก นำมาซึ่งความยากต่างๆ นานา
- เด็กไม่ต้องการโตอย่างผู้ใหญ่ เขาต้องการเล่น กินอุ่น นอนอุ่น มีความสุขแบบเด็กจริงๆ นั่นคือพัฒนาการของเขา
เรื่อง: อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
ภาพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ทำไมการเลี้ยงเด็กสักคนให้โตขึ้นมาได้ มันยากเหลือเกิน”
ประโยคนี้มีเข้าหูบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ฟังดูอาจเป็นการบ่นลอยๆ คำตอบจะได้หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับการก้มหน้าก้มตาเลี้ยงลูกไปดีกว่า
แต่จะดีกว่าไหม ถ้าคำถามโลกแตกนี้มีคำตอบชัดเจน และนำไปสู่ภาคปฏิบัติที่ทำให้ง่ายขึ้นเพราะตั้งต้นจากความรู้ ความเข้าใจเรื่องพัฒนาการ
เรื่องดังกล่าวเป็นเนื้อหาสำคัญของวงเสวนา ‘เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก: ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่กับ 3หมอและนักจิตวิทยาเด็กเจ้าของเพจชื่อดัง’ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักพิมพ์ bookscape และ dtac ณ ห้อง Library ชั้น 32 ดีแทคเฮาส์ จามจุรีสแควร์ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เมื่อปัญหาเกิดจากความคาดหวังสวนทางกับสิ่งที่เป็น
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ ‘หมอโอ๋’ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ เริ่มต้นวงด้วยการชี้ให้เห็นว่า ปัญหาและความยากส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่ง เกิดจากสมการง่ายๆ ที่ว่า
“ปัญหา = ความคาดหวัง – สิ่งที่เป็นอยู่”
หมอโอ๋กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากความคาดหวังของพ่อแม่ที่สวนทางกับธรรมชาติของพัฒนาการและความต้องการของเด็ก โดยส่วนมากความคาดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูกๆ มักหนีไม่พ้นให้ลูกเป็นเด็กดี เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ รู้จักแบ่งปันและมีน้ำใจ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่กำหนดความเป็นคนดีของสังคมก็จริง แต่พ่อแม่กลับไม่ได้รู้เลยว่า…
“เรากำลังคาดหวังสิ่งที่เป็นผู้ใหญ่ในตัวเด็ก”
กรอบของสังคมเหล่านี้ ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่รู้สึกว่าลูกมีปัญหา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การเลี้ยงดูที่ดีที่สุดต้องเริ่มจาก การให้ลูกเรียนรู้ผ่านการเป็นตัวเอง ผ่านการเห็นแก่ตัว ผ่านการเอาแต่ใจตัวเอง เพื่อรู้จักตัวตนของตัวเอง แล้วจึงค่อยๆ ทำความเข้าใจผู้คนรอบข้าง จนปรับตัวเข้าสู่สังคมได้
ด้าน ‘หมอวิน’ ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านจิตวิทยา และมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกตามใจหมอ’ เพิ่มเติมในประเด็นสำคัญนี้ว่า นอกจากความคาดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูกแล้ว ปัญหาที่กุมารแพทย์ส่วนใหญ่มักพบเจอในเด็กคือ เด็กไม่กินหรือเลือกกินอาหาร การนอนของเด็ก เด็กไม่เชื่อฟังคำสั่งของพ่อแม่ตั้งแต่เล็กจนโต และการใช้พฤติกรรมรุนแรงของเด็ก ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากการเลี้ยงลูกอย่างไม่เข้าใจเรื่องพัฒนาการของพ่อแม่
“ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือตามวัยแก่ลูกๆ ของตนได้”
ขณะที่ ‘เมย์’ เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัวเพียงหนึ่งเดียวในเสวนาครั้งนี้ ให้ข้อมูลเสริมเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กว่า อายุ 0-2 ปี เป็นช่วงวัยที่เด็กต้องการความเชื่อใจ ต้องการให้พ่อแม่อยู่ใกล้ๆ กับพวกเขามากที่สุด
“เมื่อเวลาผ่านไป ช่วงอายุ 3 ปี จะเป็นช่วงวัยที่พวกเขาต้องการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายของตัวเอง ทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเด็ก ไม่ว่าจะเป็นกุญแจรถ รีโมต หรือแม้แต่อาหาร ทุกสิ่งเป็นของเล่นในสายตาของเด็กวัยนี้ เพราะพวกเขาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งนี้คืออะไร การทดสอบจึงเป็นสิ่งเดียวที่จะส่งผลต่อพัฒนาการของพวกเขา”
สอดคล้องกับเนื้อหาในหนังสือ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา เขียนโดย อูชา กอชวามี (Usha Goswami) ที่อธิบายว่า ทารกกำลังกำลังเรียนรู้โลก เรื่องแรกที่พวกเขาเรียนคือ การเคลื่อนที่และการเปลี่ยนตำแหน่งผ่านการทดสอบพลังกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่อย่าง แขนและมือ โดยพวกเขาจะทดสอบด้วยการปัด โยน ปา เพื่อดูว่าไปได้ไกลแค่ไหน ทั้งหมดคือพัฒนาการของเด็กวัยนี้
“ดังนั้นการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับพัฒนาการของลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ควรหาให้กับลูก ที่สำคัญ พ่อแม่ควรพูดคำว่า อย่า หรือ ห้าม ให้น้อยที่สุด หรือไม่พูดเลยในช่วงวัยนี้” เมย์กล่าว
หลังจากนั้น เด็กจะเริ่มแยกจากพ่อแม่ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 6 ปี แต่ด้วยบริบทของสังคมไทยที่ผู้คนต่างปากกัดตีนถีบ เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและครอบครัว การส่งลูกน้อยในวัย 3-4 ปี ไปยังโรงเรียนจึงเป็นทางเดียวที่จะลดภาระของพ่อแม่ได้
“ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่ได้อยู่ตรงนั้นเพื่อลูก แล้วลูกจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีอยู่จริงสำหรับเขาไหม”
เช่นนั้นแล้ว การเตรียมความพร้อมให้ลูกโดยเฉพาะการสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในช่วงเวลาก่อนที่พวกเขาจะเข้าโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
“เพราะถ้าพ่อแม่ไม่อยู่กับพวกเขาในช่วงเวลานั้น การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งหลังจากช่วงเวลานี้ก็จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะพ่อแม่ไม่เคยมีอยู่จริงเลยในมุมมองของเขา”
รับมือกับระบบการศึกษาแบบ Mainstream
แต่ปัญหาของเจ้าตัวเล็กไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อเด็กๆ เริ่มเข้าสู่การศึกษากระแสหลักแล้ว ความไม่เข้าใจเรื่องพัฒนาการก็ยังตามมาถึงห้องเรียน
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หมอโอ๋ชี้ว่า ระบบการศึกษาของไทยไม่ได้เข้าใจพัฒนาการตามวัยของเด็ก ซ้ำยังเร่งพัฒนาทักษะบางอย่างก่อนเวลาอันควร ส่งผลให้เด็กส่วนใหญ่เสียโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบตามช่วงวัย
“การศึกษาไทยเน้นเร่งพัฒนาการอ่าน เขียน เรียน ติว ตั้งแต่ช่วงอนุบาล ทำให้การพัฒนาวงจรประสาทในเด็กผิดพลาด”
ช่วงวัย 3-6 ปีของเด็ก เป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้ครบ การเร่งฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กอย่าง การฝึกเขียนคัดไทย ในเวลาที่ไม่ใช่ ทำให้เด็กส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์จำใจทำ โดยที่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำ ความรู้สึกเชิงลบต่อการเรียนจึงเกิดขึ้นกับเด็ก การเรียนเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ จนเกิดเป็นความรู้สึกต่อต้านครูและการบ้าน
“ที่เป็นเช่นนี้เพราะเด็กไม่ได้รับการฝึก Executive Function (EF) หรือที่เรียกว่า ทักษะสมองด้านการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นทักษะที่สัมพันธ์กับการใช้สติปัญญาทั่วไป ทักษะภาษา และความจำใช้งาน ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมยับยั้งความคิด นำไปสู่การควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตัวเองได้”
สอดคล้องกับบทหนึ่งของหนังสือจิตวิทยาเด็ก ที่พูดถึง ความสามารถที่จะยับยั้งหรือชะลอความต้องการเติมเต็มความพอใจ หรือ delayed gratification ผ่านการทดลองที่ห้ามให้เด็กหยิบขนมจนกว่าจะได้ยินเสียงกริ่ง หรือเรื่อง การยับยั้งความคิด หรือ inhibitory control ผ่านการทดลองที่เรียกว่า Go-No Go Task ซึ่งกำหนดให้เด็กพูดว่ากลางวันเมื่อเห็นดวงจันทร์และพูดว่ากลางคืนเมื่อเห็นดวงอาทิตย์ การทดลองเหล่านี้ส่งผลให้สมองบริหารจัดการโจทย์เหล่านี้ผ่าน EF ที่ดีได้
แล้วเราจะพัฒนา EF ของลูกได้อย่างไร?
“การพัฒนา EF สามารถเริ่มต้นได้จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผ่านการใช้เวลาอยู่ร่วมกับลูก การให้ความรักกับเขาในเวลาที่เขาต้องการ สร้างเงื่อนไขเพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อน-หลัง การสร้างความรับผิดชอบให้ลูกผ่านสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่าง การผูกเชือกรองเท้าเมื่อหลุด สนับสนุนในทุกสิ่งที่เขาทำ รวมทั้งสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่ลูกต้องการ จะเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนา EF ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด” ทั้งหมดนี้หมอวินอธิบายง่ายๆ ด้วยประโยคที่ว่า…
“พ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก” หมอวินย้ำ
การพัฒนา EF ถือเป็นส่วนหนึ่งจากต้นทุนทางชีวิตของเด็กที่มีอยู่ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ ตัวเด็ก คือ สมองส่วนลึกที่สุดหรือสมองส่วนความอยากของเด็ก ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน และสังคมที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ในแบบของเขาได้ ถ้าหากได้รับการพัฒนาที่ดี จะทำให้เด็กมีสิ่งที่เรียกว่า Power of Self
แต่ด้วยบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง จากเดิมครอบครัวขนาดใหญ่ การเลี้ยงดูบุตรหลานเป็นหน้าที่ของทุกคนในบ้าน ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา หากปัจจุบันขยับมาเป็นครอบครัวเดี่ยว ภาระหน้าที่ทั้งหมดตกอยู่ที่พ่อแม่ ทำให้เด็กไม่ได้รับความรักจากหลากทิศทาง
“กลับกันบางสถาบันที่ควรจะเปลี่ยนแปลงอย่าง โรงเรียน ก็ยังเหมือนเดิม ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตซ้ำข้อมูลที่มีชุดความจริงแบบคำตอบเดียว ทำให้เด็กที่เป็นผลผลิตสำคัญของโรงเรียนไม่ต่างอะไรจาก หุ่นยนต์ที่ต้องคอยรับคำสั่งให้ทำเพียงเท่านั้น” หมอวินเปรียบเทียบ
พ่อแม่ต้องมีอยู่จริง
หมอวินกล่าวถึงปัญหาดังกล่าวอีกว่า เมื่อบริบทสังคมต่างบีบรัดการสร้างพัฒนาการที่ดี และการเจริญเติบโตของเด็ก ดังนั้นครอบครัวจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กยังสามารถอยู่รอดและเติบโตในสังคมได้
“สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่จำเป็นต้องทำคือ ประเมินลูกทุกครั้งว่า ลูก suffer จากสังคมและระบบการศึกษาที่เป็นอยู่มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาและพาเขาออกมาจากสิ่งที่เผชิญอยู่ได้”
หมอโอ๋เสริมอีกแรงว่า การเลี้ยงดูเด็กสักคนหนึ่งเพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพได้ จึงไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ แต่อยู่ที่กระบวนการในการสร้างเด็กคนหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่เป็นอยู่ ให้เป็นสิ่งที่เราอยากให้เขาเป็น เพราะ…
“เด็กไม่ได้เป็นตามที่เราสอน แต่เด็กเป็นในสิ่งที่เราเป็น” เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
“พ่อแม่ไม่ควรมีความสุขกับการเห็นต้นไม้เติบโต แต่ควรมีความสุขกับการได้รดน้ำ พรวนดินทุกวัน” หมอโอ๋ย้ำอีกเสียง
ทั้งหมดจึงเป็นคำถามย้อนกลับมาสู่ครอบครัว รวมทั้งโรงเรียนและสังคมว่า
สิ่งที่เราคาดหวังกำลังสวนทางกับสิ่งที่พวกเขาต้องการหรือไม่?
ยังไม่สายไป หากจะกลับมาใส่ใจพัฒนาการและความต้องการของพวกเขา
เพราะท้ายที่สุดแล้ว…
“การสร้างเด็กคนหนึ่งให้โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นที่มีคุณภาพ ง่ายกว่าการซ่อมวัยรุ่นสักคนหนึ่ง”