- โรคซึมเศร้าและสมาธิสั้น ป้องกันได้ด้วย ‘นิทาน’
- นอกจากจะเป็นภูมิคุ้มกัน นิทานคือธรรมชาติของความรัก ความเมตตากรุณา กล้าหาญ ซื่อสัตย์ มั่นคงแข็งแรง อ่อนน้อม ที่ส่งผ่านจากพ่อแม่สู่ลูก
- พ่อแม่ทุกคนเป็นนักเล่านิทานได้ ไม่สำคัญว่าเรื่องไหน ลูกแค่อยากได้ยินเสียงพ่อแม่เท่านั้นเอง
ภาพ: ศุภกิจ พิทักษ์บ้านโจด
ทำไมวัยรุ่นเดี๋ยวนี้เป็นโรคซึมเศร้ากันไปหมด? ทำไมเด็กยุคใหม่ถึงสมาธิสั้นกันเหลือเกิน?
แปลกไหมถ้าจะตอบว่า ต้นเหตุของโรคทางกายและจิตของเด็กสมัยนี้ มี ‘ธรรมชาติ’ เป็นตัวแปรสำคัญ
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ โรคทั้งสองสามารถใช้ ‘นิทาน’ เป็นยาสร้างภูมิคุ้มกันได้
และไม่เพียงสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก แต่นิทานยังสามารถรักษาโลกได้อีกด้วย
‘นิทาน-เด็ก-ธรรมชาติ’ คำ 3 คำที่ดูอยู่กันคนละหมวดหมู่นี้ เป็นกลุ่มคำที่ถูกกล่าวถึงตลอดงาน ‘นิทาน ธรรมชาติ และเด็กๆ ของโลก’ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มนิทานบันดาลใจ โรงเรียนไตรพัฒน์ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ความน่าสนใจของงานนี้ นอกจากการบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงนิทานจากหนังสือ ‘เรื่องเล่าจากเด็กๆ แห่งธรรมชาติ’ ซึ่งทางกลุ่มนิทานบันดาลใจจัดพิมพ์ขึ้นแล้ว ยังมีคลินิกแบ่งปันเคล็ดลับการเล่านิทานและแต่งเพลงสำหรับเด็กตามแนวทางการศึกษาวอลดอร์ฟ และไฮไลต์ของงานอย่างวงเสวนา ‘นิทานก่อนนอน ภาพสะท้อนของโลกธรรมชาติที่พ่อแม่ต้องสร้างเอง’ ที่มี ‘ครูแม่เป๊าะ’ รติรมย์ ชวิตรานุรักษ์ นักศิลปะบำบัด ครู และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการโรงเรียนไตรพัฒน์ และ ‘ดร.อ้อย’ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว มาร่วมแบ่งปันทัศนะและให้ข้อคิด พร้อมตอบคำถามว่า นิทานสามารถรักษาเด็กและโลกใบนี้ได้อย่างไร?
ทำไมวัยรุ่นถึงเป็นโรคซึมเศร้ากันง่ายขึ้น?
ดร.สรณรัชฎ์ : ขอเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 4 ล้านปีก่อน ตั้งแต่สมัยที่พวกเรายังอยู่ในร่างของคุณป้าลูซี่ (คุณป้าลูซี่ คือ โครงกระดูกมนุษย์ดึกดำบรรพ์อายุ 4 ล้านปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์) มาจนถึงทุกวันนี้ ทางกายภาพของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ในร่างกายมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเหมือนระบบนิเวศที่เป็นที่อยู่อาศัยของจุลชีพ (จุลชีพ หรือจุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หมายรวมถึงแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และสัตว์เซลล์เดียว) จำนวนมาก และเราเองก็ต้องการจุลชีพเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของร่างกาย ช่วยให้เรามีแรงที่จะยกน้ำหนักตัวเราสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก
จุลชีพเหล่านี้เราหาได้จากธรรมชาติ จุลชีพที่เป็นเชื้อโรคก็มีอยู่ แต่ก็มีจุลชีพอีกมากมายที่เป็นเพื่อนและเป็นคุณต่อร่างกายเรา ถ้าเราอยู่แต่ในห้องแอร์ที่อากาศหายใจถูกเวียนอยู่ในพื้นที่ปิด เราจะเริ่มไม่สบาย เพราะร่างกายไม่ได้จุลชีพใหม่ๆ แต่ถ้าเราออกไปข้างนอก เราจะได้แลกเปลี่ยนจุลชีพใหม่ๆ เข้ามาอาศัยอยู่กับเราด้วย แม้แต่การสัมผัสดินด้วยเท้าเปล่า เราก็จะได้แบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อ ไมโคแบคทีเรียม วัคเคีย (Mycobacterium vaccae) ที่อยู่ในดิน ซึ่งมันจะไปช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเซโรโตนิน ช่วยแก้อาการซึมเศร้าได้
แต่การใช้ชีวิตในห้องแอร์มันกลายเป็นวิถีของคนยุคนี้ไปแล้ว…
ดร.สรณรัชฎ์: ใช่ค่ะ คนยุคนี้กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ ‘โรคขาดธรรมชาติ’ เด็กรุ่นใหม่นี่ยิ่งหนักเลย ใส่รองเท้าตลอดเวลา ไม่เคยเดินเท้าเปล่า เท้าของเรามีข้อต่อข้างละตั้ง 33 ข้อ เส้นประสาทอีกไม่รู้เท่าไหร่ ที่ผ่านมาเราต้องไปจ่ายเงินเพื่อนวดกดจุด ทั้งๆ ที่เราสามารถกดจุดเองได้ด้วยการเดินเท้าเปล่าบนพื้นดิน เด็กยุคใหม่หลายคนเป็นโรคทรงตัวไม่ได้ เพราะเดินแต่บนพื้นเรียบๆ ในห้าง พอไปเดินป่าเขาไม่สามารถทรงตัวได้เพราะเดินแบบลากเท้าตลอด เท้าไม่ถูกใช้งานจนใช้ไม่เป็น โรคขาดธรรมชาตินี้ส่งผลทั้งทางกายและทางใจ
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เราขาดธรรมชาติ?
ดร.สรณรัชฎ์: เทคโนโลยีและวิถีวัฒนธรรมของคนยุคเรา! ภายในไม่กี่ 10 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีมันอำนวยความสะดวกสบายให้ชีวิตเราเยอะมาก (ลากเสียง) พี่ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่ราคาของความสะดวกสบายที่เราได้มาก็ทำให้เราถูกตัดขาดออกจาก sense ของเรา สมัยที่บรรพบุรุษเรายังอยู่ในยุคหิน เดินป่าเราต้องใช้ประสาทสัมผัสหรือผัสสะต่างๆ อย่างเต็มที่ เพราะเราไม่รู้ว่าจะเจอเสือเขี้ยวดาบซุ่มอยู่ตรงไหน (หัวเราะ) ฉะนั้นเราต้องมี sense มากมาย ตั้งแต่ญาณ ไปจนถึงการสังเกต
แต่เดี๋ยวนี้วิถีชีวิตเราไม่ต้องเกี่ยวข้องกับธรรมชาติขนาดนั้น เด็กยุคใหม่รู้จักโลโก้แบรนด์สินค้าดีกว่าพืชและสัตว์อีก คือถ้าเป็นคนป่าคุณไม่รอดแน่ เห็ดนกยูงกับเห็ดหัวกรวดครีบเขียวมันต่างกันยังไงแยกไม่ออก มันคล้ายกันมาก แต่อันหนึ่งกินอร่อยแต่อีกอันเป็นพิษ แต่เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่จำเป็นไง อยากกินเห็ดเราก็ไปซูเปอร์มาร์เก็ต ซื้อเห็ดออรินจิได้ (หัวเราะ) เหล่านี้มันทำให้เราถูกตัดขาดออกจากธรรมชาติ และเมื่อเราห่างจากธรรมชาติเราก็ถูกตัดขาดออกจาก sense ของเรา สุขภาพกายและจิตของเราก็เริ่มแย่ ในแง่ปัญญาเราก็ถูกตัดออกจากกระบวนการเรียนรู้ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ว่าน้ำมาจากไหน ไม่รู้ว่าไข่ออกมาจากก้นของไก่
ครูรติรมย์: ที่สำคัญคือ ธรรมชาติคือทุกอย่าง ทุกสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา แม้กระทั่งตัวเราเองก็เป็นธรรมชาติ การที่เราหลงลืมว่าเราเองก็เป็นธรรมชาติ ด้วยวิถีวิวัฒนาการของมนุษย์มันทำให้เราค่อยๆ แยกตัวออกมา จากที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ รู้จักธรรมชาติ และใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ ตอนนี้เรากำลังเดินทางไปสู่การแสวงผลประโยชน์จากธรรมชาติ
หมายถึงการทำลายธรรมชาติ?
ดร.สรณรัชฎ์: ตอนนี้เราเดินมาถึงจุดชุมทางที่เราต้องเลือก 30 ปีที่ผ่านมาคนรุ่นพี่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้มากมาย ทำให้ตอนนี้เรามาอยู่ในจุดที่เป็นวิกฤติสิ่งแวดล้อม ทุกคนรู้เรื่องโลกร้อน ยิ่งกว่านั้นคือการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ที่ปัจจุบันความหลากหลายลดเหลือแค่ 1 ใน 3 คือมันสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว
จริงอยู่ว่าการสูญพันธุ์นั้นเป็นธรรมชาติ แต่ช่วง 30 ปีมานี้อัตราการสูญพันธุ์มันเกิดขึ้นเร็วมาก นับเป็น 1,000 เท่าจากที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่ผ่านมาพืชและสัตว์เหล่านี้ รวมทั้งมนุษย์เรา คือกลไกที่ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนวงจรแร่ธาตุต่างๆ ในโลกให้อยู่ในภาวะที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ปัจจุบันมันกำลังเสียสมดุล ทางออกเดียวของเราคือ เราต้องหยุดทำลายและฟื้นฟูธรรมชาติขึ้นมาใหม่
ตอนนี้เราต้องการธรรมชาติมากกว่ายุคไหนๆ แต่เราเองกลับถูกตัดขาดจากธรรมชาติ นำเราไปสู่ปัญหาสุขภาพ ไปสู่วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่กำลังกระทบชีวิตและปัญญาของทุกคน
อยากให้ช่วยขยายความเรื่องของปัญญาที่เราได้จากธรรมชาติ
ดร.สรณรัชฎ์: การที่คนจะพัฒนาศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่นั้นต้องปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติค่ะ เพราะปัญญาทุกอย่างซ่อนอยู่ในธรรมชาติหมด ยกตัวอย่างเรื่องของ Biomimicry หรือนวัตกรรมที่มนุษย์เราลอกเลียนมาจากธรรมชาติ มันมีเทคโนโลยีที่เรายืมปัญญามาจากพืชและสัตว์ต่างๆ ที่ได้ลองผิดลองถูกมาผ่านวิวัฒนาการ เช่น เราจะทำบ้านปูน แทนที่จะต้องทุบภูเขาหินปูนทั้งลูก ซึ่งต้องใช้พลังงานมหาศาล แล้วภูเขาก็งอกกลับขึ้นใหม่ไม่ได้ แต่รู้ไหมว่าปะการังก็สร้างบ้านด้วยปูน หอยก็สร้างบ้านด้วยปูน เมื่อ 10 ปีก่อนก็เลยมีคนเลียนแบบ ยืมวิธีการสร้างปูนของปะการังมาใช้ โดยนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากโรงงานมาผ่านกระบวนการที่เลียนแบบกระบวนการที่ปะการังทำปูน อย่างนี้เป็นต้น
แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อผู้ใหญ่และเด็กยุคใหม่หลายๆ คนถูกตัดขาดจากธรรมชาติเสียแล้ว?
ครูรติรมย์: นั่นอาจเป็นเหตุผลที่สไตเนอร์ ผู้วางรากฐานมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) และวางแนวทางการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf Education) ขึ้นมาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ในมุมมองของมนุษยปรัชญา ชีวิตเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และภายในตัวเราเองก็มีธรรมชาติอยู่ทั้งดินน้ำลมไฟ มีดินที่เป็นเนื้อเยื่อต่างๆ มีน้ำที่เป็นของเหลวในร่างกาย มีลมคือลมหายใจ มีไฟคืออุณหภูมิ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าธรรมชาติมีความหมายอะไรกับมนุษย์เรา มีแน่ เพราะเรากับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน คุณไม่เพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่คุณเป็นธรรมชาติด้วย
เพราะฉะนั้นในการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ ธรรมชาติคือสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ รู้จัก เข้าใจ อยู่กับธรรมชาติ และใช้ธรรมชาติอย่างคนที่รู้คุณค่า
วอลดอร์ฟจะสอนให้เด็กเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร?
ครูรติรมย์: วอลดอร์ฟสอนธรรมชาติตามช่วงวัยของเด็ก โดยเราแบ่งช่วงวัยการเรียนรู้ของเด็กออกเป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงอายุ 0-7 ปี เป็นช่วงพัฒนาการทางกาย (body) โดยพัฒนาผ่านพลังแห่งเจตจำนง (will) เราจึงมุ่งสอนเรื่องของความดี
ช่วงอายุ 7-14 ปี เป็นช่วงพัฒนาการทางจิต (soul) โดยพัฒนาผ่านความรู้สึก (feeling) เราจึงมุ่งสอนเรื่องของความงาม
ช่วงอายุ 14-21 ปี เป็นช่วงพัฒนาการทางจิตวิญญาณ (spirit) โดยพัฒนาผ่านความคิด (thinking) เราจึงมุ่งสอนเรื่องของความจริง
คำถามคือ วอลดอร์ฟพาเด็กกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ยังไง จริงๆ มีหลายขั้นตอน แต่ขั้นตอนหนึ่งที่อยากคุยกันคือ นิทาน
นิทานคือเรื่องเล่า เราสอนเด็กให้เข้าใจโลกผ่านเทพนิยายและธรรมชาติ เด็กต้องเรียนรู้เกี่ยวกับผัก พืช ดิน หิน แร่ธาตุ เรียนรู้เกี่ยวกับผู้คน เด็กไม่ได้เรียนรู้ผ่านสมอง แต่เรียนรู้ผ่านเรื่องเล่า และต้องเป็นเรื่องเล่าที่สร้างความอบอุ่นในหัวใจของเด็ก ถึงจะทำให้สิ่งที่เราจะปลูกฝัง ทั้งเรื่องความรักธรรมชาติ หรือการมองเห็นคุณค่าของธรรมชาตินั้นประทับอยู่ในตัวเด็กได้
นิทานสามารถสร้างเด็กได้จริงหรือ?
ครูรติรมย์: การเล่านิทานคือการพาเด็กเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติ โดยวิธีการเล่านั้นก็จะต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ช่วงประถมต้นเป็นวัยแห่งความรู้สึก ดังนั้นการที่คุณจะมอบอะไรให้เด็ก แล้วเด็กเก็บประทับไว้กับตัว ประทับรอยไว้ในใจ แล้วนำพามันผ่านไปสู่ชีวิตในวันข้างหน้าได้นั้น มันต้องเล่าผ่านความรู้สึก เด็กจะเก็บสะสมเรื่องราวของธรรมชาติโดยผ่านความรู้สึก เก็บเอาไว้ในใจ แล้วมันจะไปเติบโตงอกงามภายในสิ่งที่เราเรียกว่า ‘เจตจำนง’ เมื่อเขาเติบโตขึ้น มันจะไปออกดอกออกผลในเจตจำนงของเขา ในวันที่เขามีบางสิ่งบางอย่างมาสะกิดใจ แล้วต้องลุกขึ้นมาเพื่อเลือกทำอะไรบางอย่างในชีวิต ฉะนั้นเราอยากสร้างให้เด็กโตไปเป็นอย่างไร เราเล่านิทานอย่างนั้นให้เด็กฟัง
นิทานมีพลังมากขนาดนั้นจริงหรือ?
ดร.สรณรัชฎ์: Story telling คือโหมดการสื่อสารที่มีพลังมากที่สุด การเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องเล่ามีพลังมากสำหรับมนุษย์ พี่คิดว่ามันเป็นเพราะการให้ความหมาย เรื่องเล่าทำให้สรรพสิ่งที่เราเห็นมีความหมายขึ้นมา ซึ่งความหมายนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้เล่าว่าต้องการให้ผู้ฟังเกิดทัศนคติแบบไหน
เคยได้ยินวลีที่บอกว่า ‘นิทานเปลี่ยนโลกได้’ ไหม ตั้งแต่โบราณกาลทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและวิวัฒนาการมาเป็นอารยธรรมได้นั้นเกิดจากนิทาน เพียงแต่คนทั่วไปอาจไม่ได้ใช้คำว่านิทาน แต่เป็นตำนานหรือเรื่องเล่า ซึ่งมันก็คือการเชื่อมโยงความหมายไม่ต่างจากนิทานนั่นแหละ
การจะทำอะไรกับคนหมู่มากนั้นมันต้องการการสร้างความหมายบางอย่างที่ทำให้คนรู้สึกร่วมกัน นิทานในลักษณะของตำนานกำเนิดโลกจึงมีหน้าที่ให้ความหมาย สร้างสัญลักษณ์การรับรู้ของคนหมู่มากให้รับรู้และเข้าใจตรงกัน ทั้งเพื่อหลอมรวมและแบ่งแยกออกจากกัน อย่างที่เราทะเลาะกันทุกวันนี้ก็เพราะเรามีเรื่องเล่าที่ต่างกัน เรื่องเล่าเปลี่ยนโลกได้ นิทานจึงเปลี่ยนโลกได้
พอจะยกตัวอย่างของเด็กที่ได้ฟังนิทาน แล้วเติบโตมาเป็นคนแบบในนิทาน ได้ไหม
ดร.สรณรัชฎ์: ง่ายมาก ตัวพี่เองนี่แหละ (หัวเราะ) บ้านพี่โตมากับนิทาน พี่กับพี่สาวโตมากับเทพนิยาย แม่พี่เป็นคนที่เล่านิทานสนุกมาก สามารถทำเสียงต่างๆ นานาได้ ไม่ว่าจะเสียงสัตว์หรือเสียงแม่มดแม่ทำได้หมด แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมุมมองของแม่ เวลาแม่เล่านิทานเกี่ยวกับสิ่งที่เราเห็นในธรรมชาติ แม่ไม่ชอบเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง นิทานเรื่องหนึ่งที่แม่เล่าแล้วมีอิทธิพลกับพี่มากคือเรื่องหนอนชอนใบ
หนอนชอนใบเป็นสัตว์ที่เกษตรกรเกลียดมาก ทุกคนจะเรียกมันว่าแมลงศัตรูพืช เพราะมันชอนใบไม้ที่เราปลูก ขุดอุโมงค์เข้าไปแล้ววางไข่ไว้ในใบไม้ เกษตรกรจะไม่พูดอะไรอื่นๆ ถึงมัน นอกจากเอายามาฉีดมันซะ! มันทำลายต้นไม้ของเรา! แต่แม่พี่จะไม่พูดอย่างนั้น แต่จะเล่าว่า
กาลครั้งหนึ่งมีแม่หนอนตัวหนึ่งที่รักลูกของมันมาก แต่หลังจากวางไข่แล้วมันจะอยู่กับลูกไม่ได้ มันจึงต้องหาที่ที่มีอาหารไว้ให้ลูกเยอะๆ มันเสาะหาใบไม้ใบใหญ่อย่างที่มันตั้งใจ และด้วยความห่วงลูก ไม่อยากให้นกมากินลูกอยากให้ลูกได้อยู่ในบ้านที่มีฝาผนังเพดานที่ปลอดภัย จึงไข่ลงไปในใบไม้ แล้วแม่หนอนก็ตายจากไป เมื่อลูกหนอนฟักออกมาก็พบว่ามีอาหารอยู่รอบตัว มันกินอาหารที่แม่หาไว้ให้อย่างเอร็ดอร่อย กินจนตัวใหญ่ขึ้นๆ จนมองเห็นเป็นเส้นในใบไม้ เป็นเส้นที่ค่อยๆ ขยายใหญ่ตามตัวเจ้าหนอนและเลี้ยวไปเลี้ยวมาจนมาถึงจุดจบ แล้วเจ้าหนอนก็กลายเป็นผีเสื้อบินออกไป
สิ่งที่แม่เล่าทำให้พี่เป็นคนที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เวลาฟังคนอื่นเราจะฟังโดยคิดถึงมุมมองของคนคนนั้น หรือสิ่งมีชีวิตนั้นๆ แทนที่จะเอามุมมองของเราไปเล่า ถ้าฟังนิทานที่แม่เล่า โลกนี้จะไม่มีวัชพืช ไม่มีแมลงศัตรูพืช ไม่มีสัตว์ที่ทำร้ายเรา แม้แต่ยุงก็มีอยู่เพื่อควบคุมประชากรมนุษย์ไม่ให้ล้นโลก มันไม่ได้ตั้งใจทำร้ายเรา มันคือโลกทัศน์ และด้วยโลกทัศน์ที่แม่ให้ไว้ก็ทำให้ที่บ้านพี่ไม่เคยตีงูเลย
แล้วคนเป็นพ่อแม่ควรจะเล่านิทานอะไรให้ลูกฟัง?
ครูรติรมย์: เรื่องอะไรก็ได้ เพราะอย่างที่บอก ธรรมชาติคือทั้งหมด ไม่ว่าคุณจะเล่าอะไรมันก็คือธรรมชาตินั่นแหละ เรื่องใจคนก็ยังเป็นธรรมชาติเลย
ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเล่าเรื่องอะไรของธรรมชาติก็ตาม แต่ในความเป็นนิทานสำหรับเด็กเล็กจะต้องมี ‘ความดี’ อยู่ในนั้นเสมอ คุณจะเล่าเรื่องต้นไม้ใบหญ้าอะไรก็ได้ แต่มันจะต้องมีความดีอยู่ในเรื่องนั้น แม้กระทั่งก้อนหินก้อนเดียวที่จะเล่าก็ต้องมีความดีของก้อนหินอยู่ในนั้นด้วย มันจึงจะเป็นนิทานที่ประทับอยู่ในเจตจำนงของเด็กที่จะเติบโตไปสู่อนาคตข้างหน้าได้
ฉะนั้นนิทานจึงต้องเป็นธรรมชาติของความรัก ความเมตตากรุณา มีความกล้าหาญ มีความซื่อสัตย์ มีสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงแข็งแรง อ่อนน้อม และมุ่งมาดปรารถนาหรือเจตจำนงของสิ่งนั้นๆ แล้วนิทานนั้นจะประทับรอยในใจเด็ก อย่างจะเล่านิทานถึงต้นไม้ เริ่มตั้งแต่การงอกของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีเจตจำนงที่จะก้าวข้ามอุปสรรคความแห้งแล้งของผืนดิน งอกขึ้นมาเป็นต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาคุ้มครองนกเล็กๆ ตัวหนึ่งให้รอดพ้นจากพายุอันตราย ออกดอกออกผลให้กระรอกได้มาเก็บกิน นี่คือความดี นี่คือคุณธรรม และมันไม่ใช่การโกหก เพราะต้นไม้ทำหน้าที่อย่างนั้นจริงๆ
นักเล่านิทานที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง?
ครูรติรมย์: ยกตัวอย่างว่าคุณจะเล่านิทานเกี่ยวกับต้นไม้ คุณก็ต้องเข้าใจความเป็นต้นไม้ คุณถึงสามารถประทับรอยความงดงามของต้นไม้ไว้ในใจเด็กได้ ถ้าคนเล่าไม่รู้หรือไม่ซึมซาบอะไรในความงดงามของต้นไม้ มองไม่เห็นถึงความมหัศจรรย์ของเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่ขอแค่แสงแดดกับสายฝน เพื่อที่จะยืดตัวทะลุดินแข็งขึ้นมาแล้วกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ คุณก็ไม่สามารถมอบความประทับใจในความงดงามของต้นไม้ให้เด็กได้เลย
การจะเป็นนักเล่านิทานได้ อันดับแรกเป็นคุณสมบัติของครูประถมก็คือ ต้องมีความรักและมีจินตนาการที่จะถ่ายทอดความจริงออกมาผ่านภาษาและความรู้สึก ไม่ได้ถ่ายทอดผ่านสมอง และต้องมีความมหัศจรรย์ใจ ซาบซึ้ง และเคารพนบนอบในธรรมชาติของสิ่งที่จะเล่า เด็กอายุก่อน 9 ขวบเขาเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ จินตนาการของเขาจะกว้างมาก ถ้าคุณมอบความรู้สึกและความมหัศจรรย์ใจที่เกิดจากตัวคุณให้กับเด็ก นั่นคือของขวัญของความมหัศจรรย์ใจในธรรมชาติที่คุณจะมอบให้ และเด็กจะเก็บสิ่งนั้นไว้
ขณะที่กำลังเล่ามีเทคนิคอย่างไรบ้าง?
ครูรติรมย์: การเล่านิทานต่างจากการอ่านนิทาน ในที่นี้เราพูดถึงการเล่า เวลาที่คุณจะเล่าเรื่องอะไรได้คุณก็ต้องมีสิ่งนั้นอยู่ในตัวเองก่อน มีจินตนาการ มีความรู้สึก คุณถึงจะมีท่วงทำนองของการเล่าให้เด็กฟังได้ แต่ถ้าคุณอ่าน คุณก็เพียงแต่อ่านตัวหนังสือ สิ่งที่เด็กได้รับก็แค่คำเท่านั้น และสิ่งที่หายไปก็คือ คุณไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก
พ่อแม่ที่ไม่เคยเล่านิทานมาก่อนจะเล่าได้หรือเปล่า
ครูรติรมย์: ทุกคนสามารถเป็นนักเล่านิทานได้ค่ะ พ่อแม่ที่ไม่เคยเล่ามาก่อนอาจเริ่มจากการอ่านก็ได้ จากนั้นก็ลองอ่านนิทานเองก่อนรอบหนึ่ง ให้รู้เรื่องราว แล้วค่อยเล่าด้วยท่วงทำนองของพ่อแม่เอง และเมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็จะเล่าได้เอง และยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ลูกแค่อยากได้ยินเสียงพ่อแม่เท่านั้นแหละ
ดร.สรณรัชฎ์: สิ่งสำคัญคืออย่ามัวกลัว อย่ามัวเกร็ง อยากให้คุณเริ่มต้นทำด้วยความรักที่มีต่อลูก เริ่มต้นจากสิ่งที่คุณรักคุณชอบ คุณก็จะถ่ายทอดออกมาได้เอง ไม่ต้องมีนางฟ้าก็ได้ เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ก็ได้ มันสนุกแน่นอนถ้าคุณทำให้มันมีความหมาย นั่นคือพลังของเรื่องเล่า
ฟังดูแล้วเหมือนนิทานเป็นยาวิเศษ…
ดร.สรณรัชฎ์: มันคือ magic สิ่งที่พ่อแม่เล่าให้เราฟังในตอนเด็ก เรื่องราวที่เราต้องมนตร์ในตอนนั้นมันจะอยู่กับเราตลอดไป แม้แต่เรื่องซานตาคลอสที่ไม่มีอยู่จริง พ่อแม่เล่าให้เราฟังตอนเด็ก พอโตขึ้นเราอาจรู้ว่ามีวิธีอธิบายปรากฏการณ์นั้นอย่างไร สิ่งนั้นอาจไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่คงอยู่คือเจตนารมณ์ มันไม่ได้มาจากการหลอก พี่ไม่ได้โกรธพ่อแม่ที่หลอกว่ามีซานตาคลอส แต่เวทมนต์ของคริสต์มาสก็ยังอยู่ ทุกวันนี้พ่อแม่พี่เสียไปแล้ว แต่พวกเราพี่น้อง 4 คนก็ยังเลี้ยงคริสต์มาสกันทุกปี มันเป็นเวทมนตร์ความรักของครอบครัวที่มีความวิเศษ และพี่ว่ามันสำคัญ
ครูรติรมย์: ความเชื่อของการศึกษาวอลดอร์ฟนั้นไม่ได้หวังผลจากเด็กที่กำลังเรียนกับเราอยู่นะคะ แต่เราหวังผลในรุ่นลูกของเด็กที่กำลังเรียนกับเรา ตอนนี้เด็กของเราถูกตัดขาดจากธรรมชาติ แต่เราพยายามนำสิ่งนั้นกลับคืนมาให้ เพราะเรามองว่าในอนาคตข้างหน้าเรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกลับไปเชื่อมชีวิตเรากับธรรมชาติ เด็กของโลกในวันข้างหน้าจะต้องกลับไปสู่ธรรมชาติ และนิทานคือเครื่องมือหนึ่งในกระบวนการนี้ที่มีประสิทธิภาพมาก