- บ้านเราไม่ต้องใหญ่ บ้านเราไม่ต้องรวย บ้านเราไม่ต้องที่สุด แต่บ้านเราต้องสะอาด หลักการง่ายๆ ที่โรงเรียนอนุบาลบ้านรักยึดถือเป็นอุดมการณ์
- ที่นี่ไม่มีคำนำหน้าว่าโรงเรียน แต่ใช้คำว่าบ้าน ไม่มีการสอนให้เรียนเขียนอ่าน แต่ให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านสิ่งที่ทำกันอยู่ทุกวัน
- การเรียนรู้แบบ ‘บ้าน’ เป็นกระบวนการทำให้เด็ก ‘มีวิถีชีวิต และกิจวัตรประจำวัน’ ผ่านการทำงานบ้าน งานครัว งานสวน
ภาพ: พชรกฤษณ์ โตอิ้ม
“ส่งลูกเข้าเรียนหลัง 7 ขวบ” ฟังดูง่ายแต่ทำยาก ในโลกปัจจุบันที่ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานหาเงิน ยิ่งมีลูกยิ่งต้องทำงานหนัก ความรักที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดนั่นโน่นนี่ เด็กๆ ส่วนใหญ่จึงถูกส่งเข้าโรงเรียนตั้งแต่ 3 ขวบ
เมื่ออยู่บ้านจริงๆ ไม่ได้ อนุบาลที่เหมือนบ้านมากที่สุดน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
เราจึงชวนไปเปิดรั้ว ‘อนุบาลบ้านรัก’ ที่เรียกตัวเองว่าบ้าน ไม่ใช่โรงเรียน ก่อตั้งขึ้นโดย ‘ครูอุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ
ที่ไม่เรียกว่าโรงเรียน เพราะที่นี่ไม่สอนเขียน อ่าน และนับเลข สิ่งที่เด็กๆ จะเจอทุกวัน ไม่ใช่กระดานดำ แต่คือ คลองเล็กๆ ที่มีน้องปลาและน้องเต่าแหวกว่ายไปมา สนามหญ้าที่มีกระต่ายวิ่งวุ่น ลานทรายที่ไม่จำกัดเวลาเล่น
ตารางสอนห้าวันของเด็กๆ วนเวียนอยู่กับคำสามคำคือ ‘งานบ้าน งานครัว และ งานสวน’
อนุบาลบ้านรัก เกิดขึ้นได้อย่างไร
ย้อนกลับไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณปู่ครูอุ้ยเป็นครูแล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ (พื้นที่อนุบาลบ้านรัก) พอเกิดสงคราม โรงเรียนปิดกันหมด คุณปู่เป็นผู้ต้นคิดว่า บ้านเราเป็นครู ทำไมเราไม่เปิดบ้าน แล้วให้นักเรียนแถวนี้ มาเรียนที่บ้านกันล่ะ
พอสงครามสงบก็เปิดเรื่อยมา จนถึงรุ่นที่ 2 ของคุณป้าและคุณอา ตอนเด็กๆ ครูอุ้ย ได้เห็น ได้เติบโตในบ้านที่เป็นโรงเรียน เห็นทุกอย่างที่เขาบริหาร คุณครูที่อยู่กับเราก็ช่วยเลี้ยงครูอุ้ยด้วย
ครูอุ้ยโชคดี ตอนเด็กๆ ได้ไปอยู่อนุบาลของท่านอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ซึ่งช่วงนั้นท่านได้นำการศึกษาเด็กอนุบาลเข้ามา แล้วเราจำได้ว่าความสุขในวัยเด็กตอนนั้น คือ ได้กินอิ่มนอนหลับ มีแค่นี้จริงๆ ไม่มีความจำในสมองเลยว่าอนุบาลมีเขียนอ่าน แต่ที่มีความสุขที่สุดคือได้ร้องเพลง เล่นทราย ได้เล่นอย่างไร้ขีดจำกัด ทั้งวัน ครูอุ้ยจึงอยากให้เด็กๆ มีความสุขอย่างที่ครูอุ้ยเคยมี
พอมาตั้งเป็นอนุบาล ก็เรียกตัวเองว่า ‘อนุบาล’ ไม่มี ‘โรงเรียน’ นำหน้า ครูอุ้ยคิดว่าตั้งแต่มีคำว่าโรงเรียนนำหน้าอนุบาล มันทำให้คุณครูอนุบาลทำงานยากขึ้น เพราะครูจะอธิบายผู้ปกครองให้เข้าใจได้ยังไงว่า การพาลูกมาอยู่ในอนุบาล หมายความแค่ การอบรม ดูแล เลี้ยงดู อย่างถูกต้องตามธรรมชาติของเด็กแล้วมีความสุข ยังไม่มีคำว่าเขียน อ่าน อย่างที่โรงเรียนทำหรือสอน
เราต้องทำความเข้าใจกับตัวเองให้ได้ว่านี่คืออนุบาล เราคือการศึกษาแบบ วอลดอร์ฟ เพราะเป็นธรรมชาติของเด็กอย่างที่เราต้องการที่สุดแล้ว
การศึกษาแบบ ‘วอลดอร์ฟ’ ของอนุบาลบ้านรัก มีรูปแบบอย่างไร
การศึกษาแบบวอลดอร์ฟคือการศึกษาที่จะทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถ้ามองความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเป็นองค์รวม เอาง่ายๆ คือ Education toward to Freedom การศึกษาเพื่อความหลุดพ้น freedom ในที่นี้ มากกว่าเพื่ออิสรภาพ แต่เพื่อการหลุดพ้น อันนี้คือเป้าหมายที่สูงมาก คือการเป็นคนที่สมบูรณ์
ครูอุ้ย มองว่าวันนี้ของเด็กๆ จะทำอย่างไรเพื่อไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ครูอุ้ยอยากให้เด็กเข้มแข็งดั่งขุนเขา ราวกับหิน มีน้ำใจไหลรินดั่งน้ำใส ความขยันใฝ่รู้ดั่งเปลวไฟ ลึกภายในใจสงบดั่งฟ้าคราม ครูอุ้ยก็อยากให้เด็กในอนุบาลวอลดอร์ฟของครูอุ้ย มีองค์รวมแบบนี้ มีความเข้มแข็ง แล้วก็มีความไหลลื่น มีสิ่งที่อยากใฝ่หาแต่อยู่บนพื้นฐานของความสงบ ถ้าไม่เป็นแบบนี้นะ อนาคตที่อยากจะให้สมบูรณ์ครูอุ้ยก็ไม่รู้ว่าจะถึงหรือเปล่า
ครูอุ้ยมีวิธีการช่วยให้เด็กมีคุณสมบัติเหล่านี้ได้อย่างไร
สร้างผ่าน ‘งานบ้าน งานครัว งานสวน’ เพราะถ้าเราไม่ทำสามสิ่งนี้ทุกวัน บ้านก็เละ เราสอนเด็กทำทุกวัน ตารางเวลาในหนึ่งวัน fixed ไว้อยู่แล้ว ผลปลายทางคือทุกอย่างจะเรียบร้อย ทุกอย่างจะง่ายขึ้น ถ้าเราไม่ทำ อันนี้ก็ไม่ทำ เสื้อผ้าก็ไม่พอ กินแล้วก็ไม่ล้างจาน ชีวิตก็จะยุ่งเหยิงมากขึ้น อันนี้ถ้าอยู่คนเดียวก็ยังพอโอเค แต่ถ้ามี partner ด้วยก็จะยิ่งแย่ไปอีก แล้วถ้ามีลูกด้วย ปัญหาด้านอารมณ์เข้ามา เอาเป็นว่าถ้าเราไม่จัดการทุกวันให้เรียบร้อย เราจะลำบากตัวมากขึ้น
คำว่าอนุบาลคือการศึกษาสำหรับเด็ก เราจัดอนุบาลเพื่อที่จะให้การศึกษาเด็กและเลี้ยงดูเด็ก คำว่าโรงเรียนที่ถูกต้องคือใช้กับ ป.1 อนุบาลก็ไม่ใช่โรงเรียน ถ้าอนุบาลไม่ใช่แบบโรงเรียน ก็ต้องเป็นแบบบ้าน มันถึงมีคำนี้ขึ้นมาว่า คุณต้องจัดบ้านที่มันน่าอยู่สำหรับเด็ก คุณลองเข้าไปดูสถานที่เลี้ยงเด็กสิ มันมีหน้าตาเหมือนบ้าน หรือหน้าตาเหมือนโรงเรียน
เด็กทุกคนตื่นเช้ามาจากบ้าน ถ้าเช็ดถูปัดกวาดจากบ้านมาแล้ว พอมาถึงอนุบาล เด็กๆ ก็ต้องมาปัดกวาดเช็ดถู เพราะนี่ก็เป็นบ้านเด็กด้วยเหมือนกัน
โรงเรียนอนุบาลไม่ใช่ pre-school เพราะ pre-school เป็นกระบวนการการเรียนการสอนแบบท่องจำ การสร้างเนื้อหา สาระ ทั้งใกล้ตัว ไกลตัว แต่อนุบาลแห่งนี้เป็นการเรียนรู้แบบ ‘บ้าน’ เป็นกระบวนการพาทำ เป็นกระบวนการแบบบ้านที่ครูอุ้ยต้องการทำให้เด็ก ‘มีวิถีชีวิต และกิจวัตรประจำวัน’ มันถึงออกมาเป็นกิจกรรมงานบ้าน งานครัว งานสวน โดยเอาวิถีชีวิตและชีวิตประจำวันที่เป็นปกติ มาใช้เป็นการจัดกระบวนการการเรียนรู้ในเด็กเล็กทั้งหมด
เด็กจะได้อะไรจากการเช็ด ถู ปัด กวาด
เช็ดถู ได้เรื่องพื้นที่ การพับผ้าจบมุมเป็นเรื่องของความพร้อมทางเชาวน์ปัญญา เช่น คู่เหมือน อะไรเหมือนกันวางไว้ตั้งนี้ อะไรไม่เหมือนเอาออกมา คืองานบ้านทุกอันช่วยเรื่องความพร้อมเป็นแบบฝึกหัดความพร้อมไปในตัว มีวิทยาศาสตร์ด้วยนะ เช่น ซักผ้าเสร็จไปตากแดดให้แห้ง แห้งหรือยัง ไปดูซิ
ไฟลท์บังคับของงานบ้านคือต้องทำทุกวัน เราเป็นแบบให้เด็กเลียนแบบ เด็กก็ได้วิชาความรู้เป็นพื้นฐานทุกวัน แบบที่ไม่ต้อง set up ด้วย เพราะคุณต้องทำอยู่แล้ว และคุณก็ต้องทำงานบ้านเพราะเป็นกิจกรรมที่มีค่ากับชีวิตของทุกๆ คนในบ้าน
ตอนสายเราจัดดื่มน้ำชา ของเด็กก็เป็นน้ำสมุนไพร น้ำผลไม้ เขายังต้องจัดโต๊ะเอง มีจาน มีขนม คนเป็นพี่ใหญ่มีหน้าที่รินน้ำให้น้องๆ
การที่พี่รินน้ำให้ก็ได้เรื่องความพร้อม ระหว่างรินน้ำให้ครบคนก็ต้องนับ อันนี้ได้เรื่องคณิตศาสตร์ น้องไม่มา เอาแก้วออก ได้เรื่องการทอน-การลดออกแล้ว ถ้าวันนี้มีใครมาใหม่ ก็เพิ่มเข้าไป นี่คือการบวก ช้อนส้อมวางซ้ายวางขวา ได้แล้วเรื่องซ้ายกับขวา
สรุปแล้วงานบ้านมีทุกพื้นฐานวิชาที่จะไปเรียนศึกษาต่อใน ป.1 เพียงแต่ว่าแบบฝึกหัดเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในกระดาษ ใครเอาแบบฝึกหัดชีวิตไปอยู่ในกระดาษ ครูอุ้ยว่าเสียโอกาส
นอกจากงานบ้านแล้วเด็กๆ ต้องทำอะไรอีก
กิจกรรมหลักของเด็ก เช่น วันจันทร์ร้อยดอกไม้ วันอังคารปั้นขนม วันพุธว่ายน้ำ ไม่ก็วิ่งเล่นข้างนอก วันพฤหัสบดีวาดสีน้ำ สีเทียน แล้ววันศุกร์เย็บปักถักร้อย เราจะทำงานศิลปะต่างๆ ในทุกวัน โดยยกมันขึ้นมาให้เป็นงานศิลปะประจำวัน นอกจากนั้นยังมีการทำสีเทียน พับกระดาษ ฯลฯ ซึ่งคุณครูจะจัดเอง
ส่วน ‘งานสวน’ พี่ๆ คนสวนจะทำงานอยู่รอบเด็กๆ ดูแลต้นไม้บ้าง กวาดต้นไม้บ้าง เด็กๆ เอง พออายุ 6 ขวบก็จะได้รับต้นไม้ให้ดูแล เพราะโตพอจะดูแลอย่างอื่นได้แล้ว ก็น่าจะดูแลต้นไม้ได้ ต้นไม้ต้องไม่ตายนะ เพราะเขาต้องมีวินัย ถ้าเขาไม่มีวินัย ต้นไม้จะตาย แล้วเขาจะดูแลตัวเองได้ยังไง
ถ้ามองจากคาแรคเตอร์ของครูอุ้ยแล้ว จะออกสไตล์ดุ เอาจริง เข้มงวด ไม่ปล่อย ครูอุ้ยจะบอกครูทุกคนว่า บ้านเราไม่ต้องรวยมาก บ้านเราไม่ต้องสวยที่สุด แต่บ้านเราต้องสะอาด ครูอุ้ยจะพูดอย่างนี้ ถ้าเก็บไม่เรียบร้อย ครูอุ้ยไม่รอช้า เก็บให้เลย เพราะครูอุ้ยจะไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นปัญหา รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย
เด็กใหม่ๆ ครูอุ้ยจะจัดการเองหมด สอนพับผ้าเช็ดมือ หรือว่าควรจะเช็ดกระจกยังไง
เด็กที่อนุบาลบ้านรักจะมีบุคลิก หรือ คาแรคเตอร์อย่างไร
ครูอุ้ยมอง และใครๆ ก็บอกว่าเขาเป็นคนรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ เขาเป็นเด็กที่รู้อยู่ และเป็นเด็กที่เอาจริง จะไปจนสุด
มีเด็กคนหนึ่งอายุ 6 ขวบ เวลากินข้าวเราจะให้เด็กตักเอง คนนี้เขาชอบเส้นหมี่น้ำ ครูอุ้ยนั่งตรงนี้ เด็กนั่งข้างๆ เขาก็ตักช้อนที่หนึ่ง ช้อนที่สอง เราก็อื้อหือ สองช้อนเลยนะ ช้อนที่สาม เราทำตาโต แต่ไม่ได้คุยกัน เขาก็ยังส่งสายตาว่าหมด เขาเอาช้อนที่สี่ ทีนี้เราจะอ้าปากแล้ว คือกติกามีอยู่ว่า เธอต้องกินให้หมดนะ แต่ยังไม่ทันอ้าปากบอก เขาขยักเอาครึ่งช้อน แล้วก็ตวัดเอาอีกครึ่งช้อนกลับไปที่เดิม สรุปแล้วเขากินสามช้อนครึ่ง
ทีนี้เพื่อนๆ ก็กินช้อนสองช้อน แต่เด็กคนนี้กินสามช้อนครึ่ง ทีนี้พอตอนกินปุ๊บมันต้องมีน้ำใส่ไปในเส้นหมี่ด้วย เส้นมันอืด จังหวะออกตัว ครึ่งชามหมดไป ยังโอเคอยู่ (หัวเราะ) เริ่มยืดตัวแล้ว เราก็ส่งสายตาว่าไหวไหม ไหวรึเปล่า เพราะว่าน้องๆ เขาใกล้หมดแล้ว ตัวเขาเองก็สูดหายใจ แต่เขาช้ามากเลยนะ เพราะว่าสามช้อนครึ่ง เขาก็กินเข้าไปและกินจนหมด ครูอุ้ยแบบ…หันมามองหน้าเขา ต้องจับตัวเขาเลย เหมือนอยากจะบอกว่าเขาเก่งมาก
เด็กอะไรยังไม่หกขวบ คุณคำนวณความสามารถในการบริโภคของคุณได้ชัดเจนขนาดนี้ คำว่าชัดเจนขนาดนี้คือ เขาประมาณได้ถูกต้องว่าสามช้อน แล้วเขาคะเนว่าสี่ช้อนคงไม่ไหวมั้ง เลยตวัดกลับเป็นสามช้อนครึ่ง ครูอุ้ยชอบ ณ โมเม้นท์ตรงนี้ว่าเขาใคร่ครวญและคิดแล้วว่า ของเขาสามช้อนคงไม่พอ ต้องอีกนิดนึงแต่ไม่ใช่สี่ เขาเป็นเด็กที่เก่งมาก มีความรับผิดชอบและสามารถควบคุมอะไรได้ และทำไปจนสำเร็จ
การเข้าใจพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัยสำคัญอย่างไร
การศึกษาของวอลดอร์ฟ เราตั้งเป้าประสงค์ไว้เรื่องเดียวคือ ความพร้อมที่สุดของร่างกาย เพราะเด็กจะสร้างร่างกายตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 7 ขวบ ภารกิจอันสำคัญที่เขาเกิดลงมาในโลกของมนุษย์ คือ เขาเกิดมาในร่างใหม่ เขาต้องทำงานกับร่างกาย ต้องเติบโต ต้องบำรุงเรื่องอาหาร ต้องออกกำลังกาย ฉะนั้นคุณครูต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้
เด็กสร้างเนื้อกายอยู่ ถ้าคุณครูพุ่งเป้าไปประเด็นอื่น คุณครูจะพลาดรากฐานของการเติบโตของมนุษย์ เพราะเด็กกำลังสร้างร่างกาย ทำไมคุณครูไม่ให้น้ำหนักไปที่ตรงนี้ ฉะนั้น งานบ้าน งานครัว งานสวนจึงเข้ามาตอบโจทย์ คุณมองเห็นความรับผิดชอบในตัวเด็กในเรื่องการกินอาหาร คุณมองเห็นการวางแผนที่แยบยลของเขาในการกินอาหาร คุณมองเห็นความสามารถทางด้านร่างกาย ความคล่องแคล่ว ออกไปสนาม ไปมีปฏิสัมพันธ์ เล่นกับเพื่อน ทะเลาะกับเพื่อน เล่นกับเพื่อนต้องทำยังไง ฯลฯ
แล้วสิ่งที่จะวัดว่าคุณผ่านชีวิตวัยเด็กไปแล้วก็คือ คุณทรงตัวได้ คุณบาลานซ์ได้ คุณกระโดดไปแล้วไม่ตกลงมา มือเหนียวปีนต้นไม้ได้ เท้าสามารถพยุงตัว
ครูอุ้ยใช้หลักการอะไรในการพัฒนาเด็กวัยอนุบาล
เราต้องให้ความสำคัญกับ 3 ส่วนคือ Head Hand และ Heart
3 องค์ประกอบนี้ทำให้มนุษย์มีความสมบูรณ์ได้ แต่เราจะต้องหาความรู้ไปอีกว่า แต่ละส่วนนั้นสัมพันธ์กับพัฒนาการในช่วงไหน
- 7 ปีแรก 1-7 ปี เน้นหนักไปที่การลงมือทำผ่านสองมือ ใช้โค้ดง่ายๆ ว่า Hand
- 7 ปีที่สอง 7-14 ปี เป็นช่วงที่สอง ช่วงนี้คือ Heart เกี่ยวข้องกับความรู้สึก
- 7 ปีที่สาม 14-21 ปี ใช้โค้ดง่ายๆ คือ Head ใช้หัวให้คิดเป็น
7 ปีแรกที่ครูอุ้ยรับผิดชอบอยู่ เด็กเพิ่งได้ร่างกายใหม่แล้วก็เริ่มรู้ว่าตัวเองยืนตรงได้ แล้วใช้ร่างกายจนกระทั่งบาลานซ์ได้ สิ่งที่ครูควรรู้คือ ครูจะช่วยอะไรได้บ้าง ครูต้องรู้ว่าเขามีความมุ่งมั่นอะไร
ถ้าครูมุ่งไปที่ศักยภาพด้านร่างกาย เช่น เธอทำได้ ทำงานเองได้ รินน้ำให้น้องสิ เธอ 6 ขวบแล้ว น้ำหกเอาผ้ามาเช็ดสิ เธอพาน้องกลับเข้าที่สิ ดูสิทำอะไรได้เยอะแยะ สิ่งที่ทำไม่ใช่งาน แต่เด็กจะมีความรู้สึกว่า ฉันต้องทำ ฉันเป็นพี่ ฉันภูมิใจฉันทำได้ด้วย เด็กบางคนตะโกนบอกครูว่า ใครยังไม่ได้ถ้วยอีก มันเป็นสิ่งที่เขารับผิดชอบเองได้
สิ่งที่จะเป็นตัวช่วยทำให้ความมุ่งมั่นของเด็กสำเร็จ มีอยู่อีก 4 ตัว เป็น sense-สัมผัสรู้ เรียกว่า lower sense ในช่วง 7 ปีแรก การสัมผัสแรกของเด็กก็คือ touching เมื่อสัมผัสเด็กก็จะรู้ว่า เลยจากมือเขาไปคือมือคนอื่น
Touching เด็กจะได้รับมาตั้งแต่แรกคลอด เมื่อครูเรียนรู้ว่าเด็กใน 7 ปีแรกว่า touching เป็นสัมผัสแรก ครูไม่ต้องทำอะไรมากเลย บางครั้งเด็กไม่ต้องตอบครูด้วย แค่สัมผัสใจก็พอ สิ่งนี้มีผลมาก เด็กที่โตมาในโรงพยาบาล ไม่มีใครเป็นผู้ปกครอง กับเด็กที่โตมาในบ้าน แตกต่างกันมาก การไว้ใจโลกก็แตกต่างกัน เด็กที่โตมาในสถานสงเคราะห์ เขาจะไม่ไว้ใจโลก ซึ่งก็คือ trust นั่นเอง
Trust คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ถ้าเขาได้ touching ที่สมบูรณ์ ที่ดี เป็นไปอย่างทะนุถนอม และเข้าอกเข้าใจ
Life คือ สิ่งที่เด็กมีต่อโลก เช่น มนุษย์เราเกิดมาในโลก ต้องมีชีวิตอยู่และต้องตอบสนองกับโลก เช่น ถ้าเหนื่อยมาต้องนอน หิวมาก็ต้องกิน ครูอุ้ยก็จะให้ครูสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าเขากินดี เขาก็จะถ่ายดี ถ้าเขาเล่นดี เขาก็จะหลับดี แล้วเด็กจะโตตอนหลับ เด็กที่ไม่ค่อยหลับ เขาจะโตยาก เด็กไม่ค่อยเล่นหรือเล่นไม่ค่อยเป็น ถึงเวลาจะหลับยาก เกิดอาการพะวง กระสับกระส่าย แต่เด็กที่เล่นแบบคลุกคลีตีโมง เวลาหลับจะหลับเลย หมดแรง กินเยอะ โตไว หน้าแดงเปล่งปลั่ง
ถ้าเขาเป็นไปได้ด้วยดี ก็บอกได้ว่าในอนาคตภายภาคหน้าเขาก็ดี ราบรื่น แต่ประเภทที่โตยาก โตลำบาก ทุกอย่างยากหมดเลย แล้วก็ยังพบว่าอันนี้ก็จะไปเชื่อมโยงกับ thought ระบบคิดในอนาคต
Movement เด็กเล็กจะเคลื่อนไหวตลอด นั่งไม่ได้ พอลงสนามปุ๊บ ก็เริ่มเคลื่อนไหว เริ่มหยิบจับ เล่นทันที เขาจะหาเรื่องเล่นตลอด มันไปเชื่อมโยงกับ wording ก็คือภาษา เขาก็จะมีชุดคำเยอะแยะสำหรับการเข้าใจโลก
Trust เชื่อมโยงกับ ego ของตัวเอง Life คือชีวิตความป็นอยู่ เป็นสิ่งที่มีผลต่อโลกที่เขาดำรงอยู่ สิ่งนี้จะไปเชื่อมโยงกับระบบคิดอย่างมั่นใจ ส่วน Movement ถ้าเราให้โอกาสเด็ก ทำโน่นทำนี่ เขาจะไปเชื่อมโยงกับภาษา มีชุดคำเยอะแยะสำหรับการเข้าใจโลก นี่แค่สามตัวนะ มันยังมีความหมายขนาดนี้เลย
ถ้าเขาไม่ทำ งานบ้าน งานครัว งานสวน เขาน่าจะมีปัญหา เพราะมันคือสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ถ้าเขาต้องไปทำแบบฝึกหัด นั่งอยู่บนหน้าจอใหญ่ๆ ไม่ว่าจะไปดูอะไรก็แล้วแต่ หลายๆ บ้านก็ให้ดูซีดี หลายๆ บ้านก็ดูสารคดี แต่ความรู้เหล่านั้นมันไม่ได้ลงมือทำไง ไม่ได้อยู่ที่ Hand มันไม่ได้อยู่ในอายุตอบโจทย์ที่เขาจะได้ แค่นี้เราก็รู้แล้วว่ามันโยงหลายระบบ เด็กมีอะไรมากมายกว่านั้น
Balance เรา-ครูอนุบาลควรทำตอนนี้คือ สร้างบาลานซ์หรือการทรงตัวให้เด็กๆ สิ่งที่ครูอนุบาลทำคือร่างกายอย่างเดียวเลย ไม่ใช่เรื่องของความจำ หรือ เขียน อ่าน แต่อย่างใด เพราะว่าเมื่อทรงตัวได้แล้ว มันจะทรงใจได้ด้วย ข้างในมันจะเข้มแข็ง ไม่ว่าต่อไปจะเรียนอะไรภายภาคหน้า คุณจะหาวิธีเรียน เอาความรู้นั้นเข้าไปหาคุณได้ โดยไม่ต้องมีการซ้อมทำ
วันหนึ่งเด็กก็ต้องอ่านเขียนได้เอง เด็กต้องไปถึงอยู่แล้ว แล้วเราไปซ้อมทำไม เสียดายโอกาสที่เขาจะได้ทำงานบ้าน งานครัวงานสวน เรื่องของการอ่านเขียนมันไม่สายไปหรอก อ่านได้เร็วกว่าก็ไม่ได้แปลว่าอ่านได้เก่งกว่า การบรรจุข้อมูลได้เยอะก็ไม่ได้หมายความว่าจะเรียนรู้มากกว่า แต่เรียนไปใช้ไปให้เห็นผล แล้วเด็กจะขวนขวายเองในสิ่งที่เขาต้องรู้ เขาจะรู้เองว่าเขาขาดอะไร ทำไปทำไม นี่เป็นการทำอย่างมีความหมาย อันนี้เรียกว่าเป็นผลประโยชน์ต่อการเรียนรู้มากที่สุดของมนุษย์