- “กับคำถามที่ว่าศิลปะบำบัดกับวัยรุ่นจะทำงานด้วยกันอย่างไร ในปัจจุบันการทำงานไม่ได้อยู่แต่ในโรงพยาบาลแล้ว และวัยรุ่นเดินเข้ามาหานักศิลปะบำบัดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาเรื่องการจัดการอารมณ์อย่างเดียว ในสมัยก่อนที่ทำงานอาจจะมีเด็กที่มีภาวะอื่นๆ ด้วย เช่น เด็กพิเศษ หรือเด็กที่ต้องการการดูแลในเรื่องของอารมณ์หรือสมาธิ แต่ปัจจุบันเราสัมผัสได้ถึงเด็กปกติทั่วไปแต่มีเรื่องของโรคซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมาตลอดทั้งปีจะเจอกับเคสลักษณะนี้ ทำให้มีความสนใจส่วนตัวอยากจะเล่าให้ผู้ฟังได้รับฟัง”
- สนทนากันต่อ ครูมอส-อนุพันธ์ุ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัด เรื่อง ศิลปะบำบัดกับวัยรุ่น ‘ศิลปะ ธรรมชาติ และการเติบโต: สร้างสมดุลให้วัยรุ่น ด้วยศิลปะบำบัด’
ภาพถ่าย: จรรสมณท์ ทองระอา
วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวเอง เปรียบเหมือนน้ำที่มีตะกอนขุ่นมาก รอวันตกตะกอนและชัดเจนกับตัวเอง ซึ่งกระบวนการศิลปะบำบัดนอกจากจะช่วยให้วัยรุ่นค้นพบตัวเองแล้วยังสามารถเยียวยาจิตใจ เชื่อมโยงเขาเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง ช่วยเติมเต็มจิตวิญญาณได้อย่างสมบูรณ์จากภายใน
โจ้ – กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential สนทนาในประเด็นนี้กับ ครูมอส – อนุพันธ์ุ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัด ใน Podcast รายการ “ในโลกวัยรุ่น” Ep 3 ตอน ศิลปะบำบัดกับวัยรุ่น “ศิลปะ ธรรมชาติ และการเติบโต: สร้างสมดุลให้วัยรุ่น ด้วยศิลปะบำบัด”
สามารถรับฟังทาง Podcast คลิก
หรืออ่านบทความตอนแรก เข้าใจตัวตนหลากหลายของวัยรุ่นผ่านทฤษฎีสี
จุดเริ่มต้นที่วัยรุ่นเข้ามาที่ห้องศิลปะบำบัดคืออะไร ?
หลายๆ คนเห็นผมทำงานกับเด็กถึงผู้ใหญ่ แต่จริงๆ แล้วมีอีกวัยนึงที่น่าสนใจมากๆ เป็นวัยที่ต้องการการดูแลและได้รับความช่วยเหลือ ปัญหาของวัยรุ่นแต่ละช่วงเวลามากน้อยแตกต่างกัน ในช่วงแรกน่าจะเป็นเรื่องของการจัดการอารมณ์ อาจมีเรื่องของความรุนแรงในชั้นเรียน สำหรับตัวศิลปะก็สามารถตอบโจทย์ได้ดี ศิลปะเป็นอีกด้านที่สามารถทำให้เขาได้รับความนุ่มนวล หรือมีพื้นที่ที่ให้เขาได้จัดการกับสภาวะทางอารมณ์นั้น
กับคำถามที่ว่าศิลปะบำบัดกับวัยรุ่นจะทำงานด้วยกันอย่างไร ในปัจจุบันการทำงานไม่ได้อยู่แต่ในโรงพยาบาลแล้ว หันมาอีกทีตอนนี้ทำไมวัยรุ่นเดินเข้ามาหานักศิลปะบำบัดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาเรื่องการจัดการอารมณ์อย่างเดียว ในสมัยก่อนที่ทำงานอาจจะมีเด็กที่มีภาวะอื่นๆ ด้วย เช่น เด็กพิเศษ หรือเด็กที่ต้องการการดูแลในเรื่องของอารมณ์หรือสมาธิ แต่ปัจจุบันเราสัมผัสได้ถึงเด็กปกติทั่วไป แต่มีเรื่องของโรคซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมาตลอดทั้งปีจะเจอกับเคสลักษณะนี้ ทำให้มีความสนใจส่วนตัวอยากจะเล่าให้ผู้ฟังได้รับฟัง
ส่วนคำถามที่ว่ายุคของเราคือสีอะไร ในช่วงเวลานี้ยุคของเราอยู่ในช่วงเปรียบได้กับยุค ‘บลูโทน’ (Blue Tone) ซึ่งช่วงนี้กินเวลานานพอสมควร 2,000 ปี สีน้ำเงินโทนนี้ไม่ใช่สีน้ำเงินทั่วๆ ไป แต่เป็น Indigo หรือสีคราม แต่ที่สำคัญคือ ถ้ามีสีน้ำเงินมากเกินไป ไม่สามารถผสมกับสีอื่นได้ง่ายนัก เป็นสีที่ค่อนข้างหนัก เก็บตัว มีความกดดัน รวมถึงมีภาวะของความเศร้าอยู่ด้วย อันนี้พูดถึงประวัติศาสตร์สี แต่กว่ามันจะมาเป็นสีน้ำเงิน ต้องเดินทางผ่านข้ามหลายสี เพราะฉะนั้นสีแรกๆ คือ สีมาเจนต้า (Magenta) สีม่วงแดงคือจุดเริ่มต้นของยุคสมัยมนุษย์ ในฐานะนักศิลปะบำบัดเราก็ได้อ่านเรื่องนี้มา ซึ่งเมื่อเทียบกับสังคมในปัจจุบันก็มีลักษณะคล้ายๆ กับสีบลูโทนนี้อยู่ สภาพของสังคมจะมีลักษณะเดี่ยวมากกว่ากลุ่ม จากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น เราได้รับอิทธิพลต่างๆ เช่น สื่อ การเลี้ยงดู และสภาพของการแข่งขัน
เพราะฉะนั้น เด็กที่เดินเข้ามาตรงนี้ เท่าที่เคยได้พูดคุย จะเป็นเด็กที่ขาดความเคารพในตัวเอง หรือขาดความรักในตัวเอง หลายๆ เคสจะเดินไปในเส้นทางที่พยายามฆ่าตัวตาย แต่ประเด็นนั้นไม่สำคัญเท่ากับผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างเขาได้ยื่นมือ หรือทำความเข้าใจเขาอย่างไร รวมทั้งเพื่อน ๆ หรือครูในชั้นเรียนที่ถ้ามีโอกาสได้สัมผัสเด็กในลักษณะนี้ เราจะให้ความช่วยเหลือเขาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองเดินเข้ามาหาศิลปะบำบัด นั่นหมายถึงว่าเขาน่าจะมีชุดความเข้าใจอย่างนึงว่านอกจากการดูแลรักษาในวิธีการต่างๆ แล้ว ศิลปะมันคงมีพลังบางอย่างที่สามารถช่วยทำให้มีชีวิตชีวามากขึ้น อย่างที่พูดกันตอนต้นว่า เราพูดถึงสีสันในวัยรุ่น คือสีสันอื่นมันหายไป เพราะสีน้ำเงินมันทำงานมากเกินไป
น่าสนใจมากที่สีของวัยรุ่นไม่ได้มาจากภายในอย่างเดียว แต่มาจากสังคมวัฒนธรรมและยุคสมัยด้วย
สังเกตไหมว่าสังคมรอบข้างส่งผลกับเรายังไง แต่ก่อนที่จะไปถึงเด็ก เด็กเหล่านี้ก็ผ่านคนสำคัญมา ก็คือครูและพ่อแม่ เพราะฉะนั้นมันเป็นอิทธิพลของกันและกันด้วย
ทีนี้ศิลปะบำบัดกับวัยรุ่น ความน่าสนใจคือการเติมสีสันให้เขา เพราะลักษณะผลงานของเด็กที่เดินมาทำศิลปะที่สตูดิโอ เขาจะใช้ชาโคล (Charcoal) แท่งถ่านมาสร้างสรรค์ผลงาน ลักษณะของแท่งถ่านมันจะไม่ใช่ก้านกิ่ง แต่เหมือนกิ่งลำไยหนาระดับนึง เขาได้ทำงานกับชาโคลลงบนกระดาษ สิ่งที่เห็นชัดอย่างนึงคือ เขาสว่างมากเกินไปในรูป เราอาจจะคิดว่าในลักษะของกลุ่ม Depressed จะเป็นภาพมืดๆ หรือหนัก แต่ในหลายๆ กรณี รูปของเขามีความจ้ามากจนไม่มีน้ำหนักอื่นๆ ซึ่งมันเป็นลักษะที่บ่งบอกว่ารอยต่อของระบบคิดของเขาขาดสมดุล เช่น เวลาคนที่ออกจากความคิดไม่ได้ การทำงานของระบบความคิดของเขาจะถูกใช้งานอย่างหนัก เช่น การนอนไม่หลับ มีปัญหาเรื่องของการทานอาหาร การย่อยอาหาร เพราะฉะนั้นในรูปวาด สิ่งที่จะเห็นได้คือเรื่องของแสงด้วย สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญคือ เราจำเป็นจะต้องเติมสีเข้าไปในการทำงานระหว่างเขากับเรา
มีกระบวนการอย่างไรในการช่วยเติมสีสันเข้าไป ?
หลังจากชาโคลได้แสดงความสว่างของรูปแล้ว เรากลับมาทำงานกับสีน้ำ นอกจากสีน้ำเงิน เราจะพบสีเทอร์ควอยซ์ (Turquoise) ในภาพวาดเขา ซึ่งกระบวนการที่สำคัญคือ เขาจะต้องมีความหนักแน่นและมั่นคง การทำงานของศิลปะสำหรับเด็กเหล่านี้ก็คือดิน จำเป็นจะต้องมีดินที่มั่นคง และมีแสงสว่างที่นำทางในการทำงานกับภาพของเขา ในประเด็นที่คุยกัน เช่น ถ้าภาพนั้นมืดมาก เราจะเติมแสงสว่าง และชิ้นไหนที่สว่างจนเกินไปก็จะเพิ่มความเข้มให้ เช่นการเติมดิน เพื่อให้รูปนั้นมีแผ่นดินอยู่ อันนี้คือมุมของการทำงานระบายสีกับกลุ่ม Depressed
อีกด้านที่เราจะเห็นได้คือ ความเปลี่ยวเหงา คือภาพที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตเลย เพราะฉะนั้นต้องเพิ่มความมีชีวิตชีวาลงไป แต่ว่าไม่ใช่แค่สี เราพูดถึงสัตว์ต่างๆ รวมทั้งพืช และดอกไม้สัก 2-3 ดอก เพื่อให้รูปมีพลังมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นในการทำงานของเคส Depressed มีความซับซ้อน ยากและใช้เวลา เพราะเขายืนอยู่บนสีน้ำเงินเข้ม ต้องใช้เวลาในการพาเขาออกมา อาจจะมีบางครั้งที่เขาเดินกลับเข้าไปและเดินออกมา เพราะฉะนั้นการทำงานกับวัยรุ่นจริง ๆ เราต้องเข้าไปช้อนพลังชีวิตของเขาว่า ทำไมเขาถึงไม่เดินออก เช่น เด็กหลายคนไม่อยากไปโรงเรียน ไม่มีพลังใจที่จะลุกขึ้นมาทำอะไร เพราะฉะนั้นความหมายของศิลปะ นอกจากพูดถึงสีสันแล้ว เรายังพูดถึงพลังชีวิตอีกด้วย
ก็คือศิลปะจะเข้าไปเติมสีสันให้กับชีวิตวัยรุ่นมากขึ้น ?
ใช่ แต่ก่อนที่ดินที่แห้งแล้งจะถูกเติม เราต้องไปทำงานกับปุ๋ยก่อน เพราะดินจะต้องมีอาหารก่อน พลังชีวิตเป็นจุดที่สำคัญของการเริ่มต้นต่อการทำงาน การได้ชวนน้องๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำอะไรเลย แล้วได้ลงมือทำ มันเป็นการขยับก้าวที่ 1 เป็นผลของความสำเร็จแรก ส่วนจะทำได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างเขากับนักบำบัด ซึ่งพ่อแม่หลายๆ คนอาจกังวลว่าลูกจะทำได้ไหม เพราะเวลาพ่อแม่ชวนทำงานหรือทำกิจกรรมอะไรเขาจะปฏิเสธอยู่บ่อยครั้ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุยต่อจากนี้จะเป็นวิธีเล็กๆ น้อยๆ ที่จะบอกกับพ่อแม่หลายๆ คนที่มีลูกเป็นวัยรุ่นว่า เราไม่ต้องไปบังคับให้เขาทำศิลปะ จริงๆ แล้วพ่อแม่เองที่เป็นคนทำศิลปะ วัยรุ่นจะคิดว่าพ่อแม่ชอบบังคับให้ทำนี่นั่น แต่เมื่อพ่อแม่เป็นคนทำเอง เขาจะมองพ่อแม่และหันมาทำตามตัวอย่างได้เอง เพราะเราไม่สามารถไปบังคับเขาได้ แต่เราต้องให้การตัดสินใจเป็นของเขาและให้พื้นที่ที่เขาอยากจะลุกขึ้นมาทำด้วย
กระบวนการศิลปะบำบัดเชื่อมโยงเข้าไปสู่ชีวิตจริงของวัยรุ่นได้อย่างไร และส่งผลอย่างไรกับโลกจริงของเขา ?
จากตัวอย่าง จริงๆ แล้วเรามองย้อนกลับไปในรูปวาดของเขา เราอาจจะพบว่ามีตัวละครบางตัวที่ไม่ได้อยู่ในโลกจริง แต่เป็นโลกเสมือน ก็คือตัวการ์ตูน เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่ในรูปของเขา เมื่อเขาได้ทำงานศิลปะของตัวเอง นักศิลปะบำบัดก็จะช่วยพาเขาเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง อย่างเช่น วัยรุ่นอายุ 13-14 ปีจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ในช่วง 1-9 ปี เขาไม่ได้สนใจว่าเขาจะวาดรูปสวยหรือไม่สวย พอ 9 ปีขึ้นไปเขาจะบอกว่า เขาวาดรูปไม่สวย แสดงว่าเขาเริ่มแยกความแตกต่างออกมาชัดเจนขึ้น และส่งผลไปถึงวัยรุ่นที่ต้องได้รับการดูแลเพราะยังวาดรูปที่มีความฝันอยู่ข้างใน (Dream State) นั่นหมายถึงตรรกะของตัวละคร แสง และความเป็นจริงในกระดาษยังไม่มี และนักศิลปะต้องทำงานด้วยการพาเขาเชื่อมโยงเข้ากับความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ปกติแล้วเวลาวาดต้นไม้เราจะวาดจากรากขึ้นไปสู่กิ่งใบ นั่นแปลว่าเป็นการวาดที่สัมพันธ์กับความเป็นจริง แต่เด็กที่มาบำบัดจะทำตรงกันข้าม เช่น วาดยอดไม้ลงมาถึงด้านล่าง ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจของศิลปะ
พื้นฐานที่อยู่ในเนื้อในของศิลปะคือ ธรรมชาติ ส่วนใหญ่คนที่ขาดความสมดุล หรือในช่วงวัยที่ควรจะมีเหตุและผล ถ้าวัยรุ่นขาดสิ่งเหล่านี้ เราจำเป็นต้องให้ภาพของความเป็นจริงและนำทางไปยังรายละเอียดที่ถูกต้องให้กับเขาได้ เช่น ถ้าอยากจะวาดต้นไม้ เราอาจจะต้องวาดดินก่อน เพราะต้นไม้โตจากดิน นี่คือเหตุผลว่าทำไมศิลปะบำบัดจึงช่วยเขาได้
นอกจากนั้นในความหมายของศิลปะ เรามีความสัมพันธ์กับจิตวิญญาณ เช่น เราวาดต้นไม้ แสดงว่าเราเคารพในต้นไม้ และเราจะเติบโตแบบต้นไม้ (Upright) เราวาดภูเขา เราได้รับความหนักแน่นของภูเขา ถ้าเราวาดสัตว์ สัตว์หลายๆ ชนิดมีชีวิตชีวา เพราะฉะนั้นในศิลปะบำบัดมนุษยปรัชญาจึงให้ความสำคัญกับการวาดอะไรลงไปในกระดาษ ซึ่งมี 2 คำที่ชอบมากคือ โลกที่อยู่ในกระดาษคือ Microcosmic ส่วนสิ่งที่อยู่บนท้องฟ้าคือ Macrocosmic แปลเป็นไทยคือ จักรวาลน้อย เมื่อเราวาดรูปบนกระดาษ นั่นหมายถึงเราทำงานเชื่อมโยงกับสปิริต (Spirit) ต่างๆ ไม่ว่าเป็นสัตว์ ต้นไม้ หรือธรรมชาติ
สิ่งที่สำคัญก็คือเราพยายามเชื่อมโยงให้เด็กที่ขาดความสมดุลในปัจจุบันกลับมาเชื่อมโยงกับความเป็นจริง และยังมีเรื่องของมุมมอง (Perspective) ด้วย เช่น เมื่อเราก้มดูโทรศัพท์ เราก็มีมุมของการมองโทรศัพท์อีกแบบนึง แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้มันมากเกินไป เราก็จะมีมุมมองต่อมันอีกแบบนึง ในภาพวาดจึงมีรายละเอียดเหล่านี้ให้วัยรุ่นได้รู้ตัวว่า ขณะที่เขาวาดภาพ ดวงอาทิตย์เขาอยู่ตรงไหน และในสนามหญ้ามันมีเงาทอดไหม เราสามารถบอกได้ว่าในเด็กกลุ่มที่อยากจะถอดตัวออกจากโลก คือกลุ่มที่ขาดความรัก โดยเฉพาะความรักในตัวของเขาเอง เพราะฉะนั้นงานที่จะช่วยให้เขากลับไปตรงนั้นได้คือ การเชื่อมสัมพันธ์กับดิน กับฟ้า กับน้ำ กับมวลสรรสัตว์ต่างๆ นี่คือความหมายของศิลปะ สิ่งนี้คือแนวทางในการรักษาร่วมกับการแพทย์และการบำบัดในเส้นทางอื่นๆ แต่สิ่งที่อยากให้ประสบการณ์คือ เรามองศิลปะแบบไหน เรามองเชื่อมโยงถึงสิ่งเหล่านี้หรือไม่ มันไม่ได้อยู่ที่กระดาษ แต่มันกลับไปที่หัวใจของเขาด้วย
กระบวนการทางศิลปะบำบัด ช่วยให้จิตวิญญาณของวัยรุ่นได้รับการเติมเต็มอย่างสมบูรณ์มาจากภายใน ?
เราสามารถใช้ประโยคนี้ได้ ก็คือเราเติมความสมดุล แต่ในรายละเอียดของศิลปะบำบัดมันค่อนข้างลึกเลยทีเดียว เป็นเรื่องของตัวตน เรื่องของความสัมพันธ์ เรื่องของพลังงานชีวิตของเขาอยู่ในระดับไหน บางครั้งสีที่อ่อนเกินไป หรือรูปทรงที่แข็งมากในรูป เราสามารถจะเชื่อมได้ว่านี่คือความเจ็บป่วยที่แสดงออกมา เพราะฉะนั้นในศิลปะบำบัดที่เราพูดถึง ความอ่อนหวานหรือความอ่อนโยน หรือการลงสีเต็มกระดาษ มันสามารถดึงสิ่งที่เขาไม่มีในการทำงานนั้นกลับเข้าไปได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อได้ทำงานแล้ว สเต็ปเดิมของเขาได้ถูกก้าวผ่าน เช่น มีเคสนึงที่เคยเรียนศิลปะ แต่ไม่ได้หมายความว่าการอยู่ใกล้ศิลปะจะไม่เจ็บป่วย เมื่อชีวิตขาดสมดุล เราจะต้องเติมศิลปะที่มีชีวิตชีวาเข้าไป เคสนี้เราดูแลเน้นที่เรื่องของกระบวนการ เน้นการทำงานเป็นขั้นตอน เช่น เราทำงานกับดินก่อน ต่อไปคือรากไม้ ถึงจะมาเป็นกิ่ง ลำต้น และผล เป็นต้น
ในการระบายสี รายละเอียดของมันเราจะต้องออกแบบไปถึงวัสดุด้วย เช่น สีโปสเตอร์ที่ไม่สามารถเชื่อมกันได้ดี เราอาจจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำที่สีสามารถเชื่อมโยงกับสภาพของท้องฟ้าได้เสมือนจริง สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้งานศิลปะเชื่อมโยงไปถึงภายในของเขา
น้องคนนี้เขามาด้วยอาการอะไร ?
โรคซึมเศร้า (Depressed) ผ่านการรักษาร่วมกับแพทย์ และเคยผ่านการฆ่าตัวตายมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ โชคดีมากเมื่อได้รับการรักษาก็ลดการรับยาลงไป เพราะการทำศิลปะบำบัดไม่ใช่แค่การวาดภาพตรงไปตรงมา แต่มีขั้นตอนต่างๆ หัวใจสำคัญคือ การพบตัวเองจากข้างใน และเราไม่ได้พูดความคิดอีกแล้ว แต่เราพูดถึงว่า เรารู้ สภาวะที่รู้ เป็นสภาวะที่ดีมากๆ ที่รู้ว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ตรงไหน และกำลังทำอะไรอยู่ และรู้ไปถึงหัวใจลึกๆ ว่า เราต้องการคำตอบกับชีวิตในช่วงเวลานั้นอย่างไร
การพบตัวเองจากข้างในสำคัญอย่างไรกับช่วงวัยรุ่น ?
มันเป็นวัยที่เรียกว่าตัวฉัน หรือตัวตนของเด็กกำลังมา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเด็กหลายคนมีวิธีการหาตัวตนแตกต่างกัน คนที่มีไอดอลก็ใช้วิธีนั้น บางคนมีวิธีการที่ออกไปค้นหาตัวเองจากการลงมือทำ เพื่อหาว่าเราเป็นใคร ก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กจะได้พบข้างในของตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เป็นช่วงเวลานึงที่เขาจะบอกตัวเองได้ เราจะเห็นว่าถ้าระบบการศึกษาเน้นการลงมือทำ เขาจะได้คำตอบแล้วว่า ม.ปลายจะเรียนรู้เรื่องอะไรต่อ เพราะสิ่งเหล่านี้มีความหมายกับเด็กมากที่เห็นภาพตัวเองชัด แล้วก็รู้จากภายในว่าจะเดินไปทางไหน แต่เด็กที่ไม่มีเลยหรือเรียกว่า Lost คือเด็กที่ไม่เห็นค่าในตัวเอง เช่นรูปที่เราเห็นว่าตัวละครมันไม่มีจริง หรือความว่างเปล่า ความเงียบเหงาในรูป นั่นคือ Lost คือนี่ฉันอยู่ตรงไหน ฉันจะเดินไปทางไหนต่อ
เพราะฉะนั้นแสงจึงมีความจำเป็นสำหรับการวาดภาพ นักศิลปะบำบัดให้แสงนำทาง และเขาจะเห็นชัด ตรรกะต่างๆ เขาจะนึกออก เช่น ถ้าแสงมาตรงนี้ ตรงนั้นน่าจะมืด ศิลปะบำบัดจึงไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกซะทีเดียว แต่ในเด็กอายุ 14-21 ปี เป็นเรื่องของตรรกะ (Logic) และกระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผล ในรูปภาพจึงซ่อนตรรกะอย่างมีเหตุมีผล การตัดสินใจของเด็กจะมีตรรกะมากยิ่งขึ้น พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่สำคัญ เพราะเมื่อเขามีพื้นที่แล้ว เขาจะสามารถตัดสินใจ เพราะการตัดสินใจคือการก้าวไปข้างหน้า
น่าสนใจมากว่าศิลปะบำบัดช่วยให้เขามีกระบวนการคิดและเติมเต็มโลกภายในให้สมดุลขึ้น สุดท้ายมาถึงเรื่องการตัดสินใจ ทำให้เขาใช้เหตุผลในการตัดสินใจกับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งแปลว่าเขาจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นไหม?
ในศิลปะบำบัดทุกอย่างที่พูดใช้เวลาเรียกว่าไม่น้อย เพราะฉะนั้นในการก้าวแต่ละก้าวของเขา ก้าวที่ 4 5 6 ตรรกะของเขาเริ่มชัดขึ้น เขาเริ่มมองออกว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของรูป ความหมายของศิลปะบำบัดที่เป็นหัวใจสำคัญในช่วงวัยรุ่น ในเคสซึมเศร้านี้จะทำให้เขาเกิดกระบวนการตัดสินใจ หลายคนเศร้ามากเพราะไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ แต่ในเคสที่เล่ามาคือการประสบความสำเร็จที่พาให้เขาก้าวออกมาได้
สุดท้ายอยากให้พี่มอสให้แนวทางกับพ่อแม่ ที่จะช่วยสนับสนุนลูกวัยรุ่นได้เข้าใจ หรือสนใจในศิลปะบำบัด ?
ศิลปะในหลายๆ แขนง มีประโยชน์กับลูกๆ อยากจะให้สนับสนุนถ้าเด็กต้องการ หรือรู้ว่าเขาต้องได้รับการดูแล อย่างแรกเลยศิลปะบำบัดก็จะเป็นเรื่องของการรักษา ถ้าเขาต้องการ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ข้อมูลได้เลย ศิลปะบำบัดเป็นส่วนนึงที่จะดูแลในเคสแบบนี้ได้ แต่ถ้าเป็นศิลปะ วัยรุ่นหลายคนก็สนใจ มันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ อย่างที่เราเข้าใจว่าศิลปะเป็นแค่วิชานึง แต่จริง ๆ มันเป็นหัวใจและชีวิตของคนที่ไม่แห้งแล้ง เมืองหลายๆ แห่ง เช่น ญี่ปุ่น เราชอบไปเที่ยวเพราะเมืองนั้นเต็มไปด้วยความเป็นศิลปะ แต่เรากลับไม่ดูแลบ้านเราให้มีลักษณะของความชุ่มชื่น หรือมีศิลปะวัฒนธรรมในทางที่ดี ในมุมมองของผมไม่ใช่เรื่องของพ่อแม่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของเมืองที่เราจะช่วยกันดูแลให้มีหัวใจของศิลปะด้วย
กลับมาช่วงแรกที่เปิดด้วยยุคของ Indigo จริงๆ แล้วไม่ใช่พ่อแม่อย่างเดียวที่จะดูแลเด็กๆ แต่เป็นเมืองด้วย เพราะฉะนั้นในยุคของสีครามนี้ เราจะเติมสีสันให้กับชีวิตโดยเฉพาะวัยรุ่นได้อย่างไร ?
เห็นวัยรุ่นหลายคนสนใจศิลปะ เพราะฉะนั้นอยากจะพูดถึงพื้นที่ของศิลปะ มันยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้ง ๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญของความเจ็บป่วยของเมือง ถ้าเรามีโอกาสให้พื้นที่ทางศิลปะของเมืองมีมากขึ้น เราจะไม่เห็นเลยว่าวัยรุ่นไปแหล่งมั่วสุม เพราะเราจะเห็นวัยรุ่นไปอยู่ในพื้นที่สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นในยุค Indigo ก็อยากให้มีแสงเกิดขึ้นคือ สีของมาเจนต้า หวังว่าผู้ใหญ่จะเห็นความสำคัญของศิลปะด้วย