- อาริยา มิลินธนาภา หรือ แม่จิน คุณแม่ลูกสองซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (Trans woman) ยืนยันเสียงหนักแน่นว่า เพศสภาพไม่ได้ใช้ในการเลี้ยงลูก และในความเป็นแม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง
- แต่กว่าจะได้มาเป็นแม่ จินเจอปัญหาและอุปสรรคหลายอย่าง หนักหนาที่สุดคือ อคติ
- ถึงแม้จะเป็นผู้หญิงข้ามเพศ แต่จินก็เคยให้นมลูกด้วยตัวเอง เพราะไม่ว่าชายหรือหญิงก็มีต่อมน้ำนม
- “วันหนึ่งที่เขามีชีวิตของตัวเอง อยากให้รู้ว่าเขาไม่ได้ติดค้างอะไรเรา ที่เราทำทั้งหมดเพราะรักและอยากมีเขาตั้งแต่วันแรก เขาเติมเต็มเราตั้งแต่วันแรกที่ได้อยู่กันมา อยากให้เขาเอาเวลาที่เหลืออยู่ไปเป็นตัวตนเขาจริงๆ ไม่ต้องห่วงเรา” และลูกต้องมีชีวิตที่ดีกว่าแม่เสมอ จินบอก
“ในสังคมทั่วไป ทุกคนยังยึดติดว่าแม่ต้องเป็นผู้หญิง แต่พอมีลูก เราตัดคำว่าเพศสภาพออกไปเลย เพราะเพศสภาพไม่ได้ใช้ในการเลี้ยงลูก ในความเป็นแม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง”
อาริยา มิลินธนาภา หรือ แม่จิน คุณแม่ลูกสองซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (Trans woman) ยืนยันเสียงหนักแน่น
ในสังคมไทย ถ้าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว อย่างน้อยจะได้รับความเห็นใจและเอาใจช่วย หากเป็นแม่วัยทำงาน เธอจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ อย่างน้อยก็ภาษีลดหย่อนสำหรับคนมีลูก หากเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความพร้อมและเจตจำนงอยากมีลูก เมื่อยื่นความประสงค์ขออุปการะเลี้ยงดูบุตร เธอจะได้รับความไว้วางใจ และมองว่ามีความพร้อมเป็น ‘แม่’ มากกว่าเพศไหนๆ และนั่นตามมาด้วยขั้นตอนการยื่นเรื่องที่ง่ายกว่า อย่างน้อยก็ง่ายกว่าคู่รัก LGBT
แม่จินเป็นหนึ่งในนั้น เธอเป็นหญิงข้ามเพศที่รักกันดีกับสามี ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เธอเต็มพร้อมและมีเจตจำนงอยากมีลูก… ความต้องการที่ไม่ต่างกับหลายครอบครัวทั่วไป
The Potential ชวนคุณจิน มนุษย์คนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อความฝันจะมีลูก ได้ดูแลเด็กสองคนด้วยความพร้อม ฝันสูงสุดคือไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งหรือปมฝังใจใดๆ ให้เกิดกับคนที่เธอรัก และตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เธอเฝ้าทำสิ่งนั้นอย่างเต็มที่
หากตัดเรื่องรูปร่าง เพศสภาพ ความคิดที่ฝังลึกว่า ‘แม่’ ต้องเป็นแบบไหนออกไป อ่านเฉพาะความคิดและประสบการณ์ของมนุษย์คนหนึ่งในการมีลูก คุณมองเห็นอะไร? ทั้งหมดนี้ ตรงกับความหมายของการเป็น ‘แม่’ ในมุมของคุณหรือเปล่า?
ทำความรู้จักคุณจินเล็กน้อยนะคะ คุณจินเป็นใคร ปัจจุบันทำอาชีพอะไรอยู่
ตอนนี้ทำงานเป็นแอดมิน ผู้ประสานงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ก่อนหน้านี้เราเคยเป็น telemarketer หรือเซลส์ทางโทรศัพท์ที่ต้องคุยกับชาวต่างชาติ และเคยทำงานด้านนิตยสารเด็กด้วย ทำอยู่ได้สักพักก็เปลี่ยนมาทำงานที่ปัจจุบัน เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ถนัดในสายงานนั้น อยากทำงานด้านแอดมินมากกว่า
ตอนที่ทำงาน เจออคติทางเพศบ้างไหม
เคยไปสมัครงานที่หนึ่ง ตอนสัมภาษณ์เราใส่กางเกง แต่พอทำงานจริงเราใส่กระโปรง เพราะเห็นว่าคนอื่นก็ใส่กระโปรงไปทำงานได้ปกติ พี่คนหนึ่งเดินมาบอกเราว่าให้เปลี่ยนไปใส่กางเกงเถอะ เอาจริงๆ มันไม่ใช่กระโปรงสั้นหรือดูโป๊อะไรเลยนะ เป็นทรงเรียบร้อยเหมือนพนักงานคนอื่นทั่วไป เราเลยเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องกระโปรง แต่ต้องเป็นเรื่องเพศสภาพแน่ๆ ตอนนั้นเราเลยบอกพี่เขาไปว่า ถ้าเป็นเพราะเรื่องเพศสภาพก็ไม่เป็นไรนะ เราอยากเป็นตัวเรา จากนั้นก็ลาออกเลย
ตอนสมัครงานแห่งที่สอง อาจเพราะรูปในใบสมัครงานเขาเลยนึกว่าเราเป็นผู้หญิง พอไปสัมภาษณ์จริงเขามีท่าทีอยากปฏิเสธเราอีก แต่โชคดีว่า director ซึ่งเป็นคนสิงคโปร์มาเจอเราตอนสัมภาษณ์พอดี เขาได้คุยกับเราแล้วถูกคอ ชอบใจ ภาษาเราเข้ากันได้ ก็เลยว่าจ้างเราตั้งแต่วันนั้น ตัวงานสนุกมากเลยนะ แต่ทำได้สักพักก็เปลี่ยนมาทำงานที่ปัจจุบัน เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งในสายงานนี้ และอยากทำงานในเชิงแอดมินมากกว่าเลยย้ายงานมาที่ปัจจุบัน ตอนนี้ทำกับที่นี่มาได้สิบกว่าปีแล้ว (ยิ้ม)
เข้าโหมดความรักกันบ้าง คุณเจอกับสามีตอนไหน
เจอกันตั้งแต่ตอนเราอายุ 19 ปี น่าจะราวๆ ปี 2003-2004 เจอและคุยกันทางออนไลน์ สมัยนั้นโซเชียลมีเดียยังไม่บูม ไม่มีทินเดอร์หรือแอพฯ อะไรเหมือนในตอนนี้
สามีรู้แต่แรกเลยหรือเปล่าว่าเป็นทรานส์เจนเดอร์
รู้แต่แรกเลย ไม่เคยปิด ไม่อยากให้มารู้ทีหลัง ไม่ใช่คนแบบนั้น ตอนที่คุยกัน เขายังเป็นเชฟและนักกำหนดอาหารในโรงพยาบาลที่รัฐฟลอริดา (สหรัฐอเมริกา) คุยกันได้ประมาณปีหนึ่ง เขาก็บอกว่าอยากมาเที่ยวเมืองไทย ไม่เคยมาเลย ก็เลยได้เจอกันครั้งแรกในตอนนั้น จากนั้นเขาบอกเลยว่าอยากย้ายมาอยู่ที่นี่ แล้วจะย้ายมาทำอะไร? ก็ต้องหางานทำ เราเลยบอกให้เค้าส่งเรซูเม่ของตัวเองมาทางออนไลน์ เราปรินท์ออกมาและช่วยส่งไปตามโรงแรมหลายที่ โรงแรมไหนที่ดังๆ เราส่งไปหมด
คบกันกี่ปีจึงตกลงว่าจะมีลูก
ความคิดว่าอยากมีลูก น่าจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว เราเป็นคนที่อยากมีลูก อาจเพราะเรามาจากครอบครัวคนจีนที่มีพี่น้องเยอะ จำได้ว่าตอนจินอายุ 10 ขวบ เรามีน้องให้เลี้ยงหลายคนมาก ไล่อายุลงไปได้ตั้งแต่ 9 ถึง 4 ขวบ เราเลยชินกับการมีเด็กอยู่รอบๆ เลยบอกกับสามีว่า “เออ มีลูกกันนะ”
แต่ไม่ได้คิดว่าลูกจะมาเติมเต็มความสัมพันธ์นะคะ ไม่ได้อยากมีเพื่อล็อคความสัมพันธ์ของคนสองคนให้อยู่ตลอดไป นั่นไม่ใช่บทบาทของลูก
ด้วยความที่สามีเป็นคนใจกว้างมาก พอเราบอกแบบนั้น เขาก็บอกว่า “งั้นลองดู ไปคุยกัน” ครั้งแรกที่ไปคุยกับสถานสงเคราะห์บ้านเด็กกำพร้า เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า “เราไม่รับเคสอย่างคุณหรอก หากประสงค์จะยื่น จำเป็นต้องมีทะเบียนสมรสเท่านั้น” ตอนนั้นร้องไห้เลย (หัวเราะ)
เป็นเรื่องกฎหมาย หรือ ทัศนคติ
ไม่มีข้อกฎหมายระบุชัดๆ ว่า LGBT จะขอรับอุปการะไม่ได้ แต่เอกสารประกอบการพิจารณาของผู้ขออุปการะ ระบุว่าหนึ่งในผู้ที่มีสิทธิขอคือ คู่สมรส และหมายความว่าถ้าเป็นโสด ก็จะขอยากกว่าคู่สมรสด้วย
ตอนที่ได้ยินคำว่า ‘เราไม่รับเคสอย่างคุณ’ วินาทีนั้นรู้สึกอย่างไร
เสียใจ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า “ถ้าเราได้เกิดเป็นผู้หญิงก็คงดี” เพราะเงื่อนไขที่เขาบอกมา “ก็เพราะเพศสภาพคุณเป็นแบบนี้ เราไม่รับเคสแบบนี้” รู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลยเนอะ
หลังจากขอครั้งแรกไม่สำเร็จ ทำอย่างไรต่อ
ตอนนั้นยังเด็กมากเลยตัดใจว่าไม่มีก็ได้นะ ไม่เป็นไร คิดว่าเราจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรใครได้ ถ้าแค่ประตูแรกเขายังไม่ฟัง ผ่านไปประมาณหนึ่งปี เพื่อนสนิทคนหนึ่งของเรามีปัญหากับสามี ทำให้ช่วงนั้นเขาไม่สามารถดูแลลูกซึ่งอายุประมาณ 2 เดือนได้ เราเลยบอกเขาว่า “เฮ้ย ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวเราช่วย” ตอนเช้าเราไปเอาเด็กมาเลี้ยง เย็นก็เอาไปคืนแม่เขา แต่สักพักหนึ่งรู้สึกว่า… บ้านเราใกล้กัน งั้นเราเอาน้องมาดูแลที่บ้านเลยได้ไหม ถ้าเพื่อนอยากเจอเมื่อไหร่ก็มาที่บ้าน ตอนนั้นเลยได้น้องมาเลี้ยง ซึ่งตอนนั้นเราไม่มีความรู้เลยนะ จะนอนยังไง จะอุ้มยังไง ต้องไปศึกษา เราเข้าไปอยู่ในกลุ่มแม่และเด็กเยอะมาก และไปอ่านจากที่คนอื่นเขียนเล่าให้ฟัง
เราดูแลเองหมดตั้งแต่ให้นม กล่อมนอน ดูเรื่องอาหารการกิน บอกตรงๆ ว่าตอนแรกเราไม่คล่องเลย ไม่มีประสบการณ์การเลี้ยงเด็กอ่อนมากๆ เด็กยังเป็นตัวน้อยๆ เลยนะ
เลี้ยงจนน้อง 6 เดือน พอแม่เขาสะดวกแล้วก็รับน้องไปดูเองเหมือนเดิม เราโอเค ไม่ได้โกรธอะไรเพื่อนเราเลย แต่การเลี้ยงดูเขาแค่ 4 เดือน ก็ทำให้เราผูกพันไปแล้ว แต่จุดนั้นแหละที่ทำให้รู้ว่าเราพร้อมนะที่จะอยู่กับเด็กฟูลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง เรารู้ว่าลูกเป็นยังไง เด็กเป็นยังไง รู้ว่าการดูแลเด็กคนหนึ่งต้องใช้อะไรบ้าง
คุณอุปการะน้อง 2 คน พอจะเล่าให้ฟังคร่าวๆ ได้ไหมว่ามีกระบวนการอย่างไร
เราได้พบกับผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมด้วยเหตุผลหลายประการ และได้พบหลายๆ คน จนได้เจอกับคุณแม่ของน้อง ได้พูดคุยศึกษากัน ไปฝากครรภ์ด้วย ไปพบหมอด้วยกันตลอด ดูแลกันจนคุณแม่คลอด จากนั้นจึงไปทำเรื่องขออุปการะจนสำเร็จ เราขออุปการะลูกของเราอย่างถูกกฎหมายทั้งสองคน
แค่การดำเนินเรื่องอุปการะ เราเจอกับคำถามเดิม “ปกติแล้วเราไม่รับเคสแบบคุณนะ” เขาหยิบเคสของเราขึ้นมาดู แนะนำว่า “วันที่มาขอ คุณรวบผมเลยนะ สภาพแบบนี้ไม่ได้ ไปตัดผมสั้นเลย ผมยาวไม่เอา” พูดตามตรง เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธเราซะทีเดียว แต่ก็เป็นการช่วยเหลืออย่างเสียไม่ได้ แต่เราก็ เอานะ… ลบเครื่องสำอางออก หักบัตรประชาชนทิ้ง แจ้งบัตรหายแล้ววิ่งไปทำใหม่เดี๋ยวนั้น คนที่ทำให้บอกว่า “นี่ช่วยสุดแล้วนะ ทำยังไงก็ได้ให้ดูเป็นลุงของเด็กที่สุด”
พอยื่นเรื่องเสร็จ เขาจะยังไม่เรียกอะไรทั้งสิ้น แค่ต้องส่งสำเนาใบเกิดของเด็ก สมุดวัคซีน สำเนาเอกสารผู้ปกครองต่างๆ สำเนาบัตรประชาชน แล้วก็ใบคำขอ สักประมาณเดือนนึงเขาจะแจ้งกลับ ขอสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อาจจะเรียกพ่อกับแม่จริงๆ ของน้องมาถามว่าทำไมแม่ถึงไม่ดูน้องเอง วิธีคิดของเขาคือพยายามให้เด็กอยู่กับพ่อกับแม่ที่แท้จริงมากที่สุด
ระหว่างกระบวนการยื่นเรื่อง มีเหตุการณ์ไหนที่รู้สึก ‘เจ็บ’ เป็นพิเศษไหม
ครั้งหนึ่งเขาเรียกเราไปคุย ถามว่า “แน่ใจเหรอว่าเลี้ยงเด็กคนหนึ่งได้” มันเป็นคำถามที่ฟังแล้วก็รู้สึกท้อมาก เราคิดในใจว่า “เราก็เป็นคนทั่วไป เป็นคนธรรมดาๆ จะเลี้ยงลูกไม่ได้เลยเหรอ?” แต่ที่ทำคือตอบเขากลับไปดีๆ ว่า “เลี้ยงได้สิ เรามีความรู้นะ”
แล้วก็อธิบายว่าเรามีความรู้อะไรบ้าง ดูแลยังไง ช่วงวัยอย่างนี้ต้องทำอะไรบ้าง โชคดีที่วันนั้น ผอ. ศูนย์อุปการะเด็กเข้ามาฟังด้วย ซึ่งเขาน่ารักมากนะคะ เขาบอกกับเราว่า “ไม่มีอะไรนะ แค่ให้ข้อมูลไปให้ครบก็พอ”
ตอบคำถามกลับไปกลับมา 4 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ตอนนั้นถอดใจแล้ว บอกสามีว่า “ถ้าสุดท้ายแล้วกระบวนการไม่ผ่าน เขามาเอาลูกเราไป เวลาเกือบปีที่ดูแลกันมา เรารักเขาไปแล้ว เราจะทำยังไงกันดี อยู่ดีๆ จะเอาลูกคืนไปได้เหรอ?”
แต่พอครบหนึ่งปี… ที่จำได้เพราะเป็นวันเดียวกับที่เรายื่นเรื่องไปเป๊ะๆ เจ้าหน้าที่โทรมาแจ้งว่า “เอกสารผ่านมติเรียบร้อยแล้วนะ แต่ยังไม่ได้ออกเป็นหนังสือให้” ร้องไห้เลย ดีใจมาก วินาทีนั้นรู้สึกว่า เขาเป็นลูกเราตามกฎหมายแล้วจริงๆ
คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการเลี้ยงลูก หน้าที่หลักคือ ‘แม่’ อย่างน้อยๆ ก็เป็นเรื่องทางร่างกายเช่นการให้นม เอาเข้าจริงแล้ว มันมีความแตกต่างจริงๆ ไหม
ถ้าเรื่องสรีระในการปฏิบัติดูแลลูก ไม่แตกต่าง พอเรารู้ว่าเราจะมีน้อง เราก็ติดตามเพจของป้าหมอสุธีรา (พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ) ในเรื่องการให้นม ก็ยืนยันว่าเพศสภาพชายให้นมได้ เราให้นมแม่ในขวด ไม่ได้อุ้มเข้าเต้า แต่ตอนที่ป้าหมอชวนพิสูจน์เรื่องการให้นม เราก็ลอง เพราะคนเรามีต่อมน้ำนมอยู่แล้วไม่ว่าชายหรือหญิงนะคะ แค่ต้องไปกระตุ้นให้มี ป้าหมอบอกลองกินโมติเลียม จริงๆ แล้วโมติเลียมกระตุ้นเรื่องอื่น แต่ผลข้างเคียงคือทำให้มีน้ำนม เราก็ “เออ ดีจังเลย ลองดูนะ”
ตอนนั้นเรางดทุกอย่าง อะไรที่ดูแล้วน่าจะเป็นอันตรายสำหรับเด็ก งดฮอร์โมน งดอาหารที่จะไปกระตุ้นภูมิแพ้ของเด็ก อ่านเยอะมากว่าควรกินอะไรไม่ควรกินอะไร กินน้ำวันละ 2 ลิตร เริ่มกินน้ำขิง กินหัวปลี มันแหวะมากเลย ไม่น่ากิน แต่เป็นสิ่งที่กระตุ้นน้ำนมได้ ก็กิน
อีกเรื่องคือ การมีน้ำนมเกิดจากการที่ลูกดูดกระตุ้นเยอะๆ ตอนนั้นเราก็ต้องมาทำ ‘จี๊ด’ หรือ บีบ มันเจ็บมากเลยนะ เจ็บกว่าคนหยิกอีก นั่งบีบไป ร้องไห้ไป แต่น้ำนมมันเพิ่มขึ้นนะ จากแรกๆ ได้นมแค่ฝาขวดน้ำ สุดท้ายก็ได้น้ำนมมา 2 ออนซ์ (หัวเราะ) น้อยมากอะ แม้ทำจี๊ดและดูดใส่ไซริงค์แล้วนะ แต่ก็ดีใจมาก และลูกก็ได้กินนม 2 ออนซ์นั้นแล้ว (ยิ้ม)
ช่วงเลี้ยงลูก มีสายตามองเราไม่ดีไหม
มีค่ะ เพราะด้วยเพศสภาพเรา คนก็จะมอง มีหลายคนสงสัย หลายคนถามว่า “คลอดเองหรือผ่าคลอด” “ให้นมยังไง” คือคนเริ่มสับสน แต่เอาจริงนะ พอเรามีลูก ความเป็น LGBT มันซอฟต์ลงไปเยอะ คนจะงงว่าเรามีลูกได้ยังไง ไม่ก็คิดว่าเราเป็นผู้หญิงไปเลย
มีครั้งหนึ่ง เพจหนึ่งในโซเชียลมีเดียแชร์โพสต์ #ผู้ชายก็ผลิตน้ำนมให้ลูกกินได้ค่ะ ไป ซึ่งมันเป็นกรณีของเราเอง ตอนนั้นจิตตกเลย เพราะเพจเขียนทำนองว่า “สาวประเภทสองมีน้ำนมได้ยังไง” จากนั้นมีคนมาคอมเมนต์ว่า “ไอXตุ๊ด มึงมีน้ำนมได้ยังไง ใกล้ตายแล้วรึเปล่า? ควรไปตรวจร่างกาย” เราก็แบบ… ไม่ ไม่ฟัง ฟังแต่ป้าหมอ และเพจนมแม่ อย่างเดียว เราเลยบอก เราขอเอาออกไปก่อนนะ ไม่งั้นเราจิตเสียแน่นอน
อย่างแย่ที่สุด เคยเจอผู้ชายสงสัยมากๆ เดินเข้ามาถาม “นี่ลูกพี่เหรอ?” ก็มี ซึ่งเราก็เซนส์ได้ว่าเป็นน้ำเสียงเชิงลบ
รู้สึกว่ามันเป็นการคุกคามไหม
ส่วนหนึ่ง สมัยก่อนคงเถียงกลับ แต่นี่ลูกอยู่ด้วย เราก็ต้องทำงานกับลูกเราก่อน จินคิดว่าวัยนี้เขายังไม่เข้าใจ แต่เรากอดลูกและบอกกับผู้ชายคนนั้นว่า “ใช่ค่ะ นี่ลูกของเรา”
แต่สำหรับคนที่รู้จักเราหรือคนใกล้ตัว ทุกคนต้อนรับเราดีมาก ไม่เคยเจอเหตุการณ์แย่ๆ เลย
น่าสนใจที่คนรอบข้าง คนที่รู้จักเราจริงๆ จะต้อนรับและให้กำลังใจเราดีมาก คนที่ตั้งแง่และโจมตี คือคนที่ไม่รู้จักเรา
ใช่เลย คือพอมีลูก จินได้อยู่ในกลุ่มคุณแม่ๆ ซึ่งมีลูกวัยละอ่อนและสนิทกัน เราบอกทุกคนตรงๆ ว่า เราเป็นแบบนี้และมีลูกนะ หลายๆ คนในกลุ่มนั้นกลายเป็นเพื่อนกันถึงทุกวันนี้ ได้ไปเจอตัวตนกันจริงๆ แบบออฟไลน์ พาลูกไปเล่นด้วยกัน ในกลุ่มนี้ เราไม่เคยเจอใครที่บอกว่า “เฮ้ย แกเลี้ยงไม่ได้หรอก” ไม่เคยเจอลักษณะนี้ หรือเขาอาจไปพูดลับหลังก็ได้นะ แต่ไม่เป็นไร ถือว่าเราไม่ได้ยิน หรืออย่างที่ทำงาน ก็ไม่เคยมีใครพูดกับลูกเราว่า “แม่เป็นตุ๊ดนะ” ไม่เคยเจอ
มีเหตุการณ์ไหนที่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนและอยากเล่าให้ฟังไหมคะ
ตอนช่วงเลือกโรงเรียนให้ลูก เราไปดูโรงเรียนด้วยตัวเอง ด้วยความที่ทุกคนคาดหวังว่า ผู้ปกครองต้องเป็นพ่อหรือแม่เท่านั้น ฉะนั้นสายตาแรกที่เราเปิดห้องธุรการเข้าไป เขาก็จะแบบ “มาติดต่ออะไรคะ?” แต่สายตาเขาคล้ายว่า “แปลกจัง ยูมาทำอะไรที่นี่” ถ้าโรงเรียนที่เข้าใจหน่อย อย่างโรงเรียนของลูกทุกวันนี้ เขาจะมองข้ามเรื่องพวกนี้แล้วก็ “อ๋อ คุณแม่รอแป๊บนึงนะคะ เดี๋ยวติดต่อคุณครูให้ แป๊บนึงค่ะ”
แต่จริงๆ แล้ว โรงเรียนที่เคยไปดู ก็ไม่เคยเจอถึงขั้นมารยาทไม่ดีนะ แต่เจอสายตา “เป็นอะไรกับน้องคะ” แรกๆ เราก็แบบ เอาไงดีนะ จะตอบว่าอะไร ‘แม่’ ‘ผู้ปกครอง’ ‘ไม่ได้เป็นอะไรกับน้อง’ คือเราคิดเยอะมาก เพราะในเอกสารเราไม่ใช่แม่แต่เป็นคนดูแล แล้วจะให้ครูเรียกว่าอะไร?
จนช่วงปีหลังๆ เราตัดสินใจแล้ว ‘เราเป็นแม่’ ไม่ว่าในเอกสารจะเป็นอะไร ละไว้ให้เป็นเรื่องของเอกสาร แต่ในทางปฏิบัติ ฉันคือแม่ของลูก จากนั้นเราบอกทุกคน “จินเป็นมาม้าของน้องค่ะ”
กรณีของคุณ เหมือนต้องทำงานกับลูก 2 อย่าง คือ การทำความเข้าใจเรื่อง LGBT และ การอุปการะ สื่อสารกับลูกอย่างไร
วันหนึ่งลูกจะถามเราและถูกถามแน่นอน ทั้งเรื่อง LGBT และการอุปการะ เรื่องนี้เราปรึกษากับคุณหมอ และส่วนตัวเป็นแฟนคลับคุณหมอประเสริฐ (นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์) เราทำตามหลักการของคุณหมอหลายอย่าง
ที่อยากจะสื่อคือ ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เอาแค่ 5 ขวบก็ได้ เราไม่ได้เรียกร้องว่าแม่ต้องเป็นผู้หญิง หรือ พ่อต้องเป็นผู้ชาย สิ่งที่เด็กเรียกร้องตอนอายุ 5 ขวบคืออะไร? ความรัก ความใส่ใจ ตอน 5 ขวบมันคือ “หิวจัง ใครจะหาข้าวมาให้เรากิน” หรือ “ง่วงจังใครจะพาเราเข้านอน” “คนนี้จะคิดถึงเราไหม” “คนนี้มีตัวตนไหม?” ในสมองเรามันไม่จำเป็นต้องเป็นเพศอะไร
เพศเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่กำหนดว่าแม่ต้องเป็นผู้หญิง พ่อต้องเป็นผู้ชาย หรือกระทั่งกำหนดว่าตัวเด็กต้องเป็นเพศอะไรก็ตาม อยากให้ทุกคนย้อนกลับไปวัยนั้น เราไม่ได้คิดเรื่องเหล่านี้เลย เราถูกปลูกฝังมาต่างหาก
เราอยากปลูกต้นไม้อยากให้เขาเติบโต โดยที่เราจะไม่ไปทำอะไรที่กระทบกับเสรีภาพและอัตลักษณ์ของเขา จินว่าโอเค ลูกจะถามเรื่องเพศสภาพแน่นอน แต่คิดว่าความรักที่มีให้ลูก ความใส่ใจที่เราทำให้เขา ใส่ใจว่าเขาจะกิน จะอยู่ยังไง จะใช้ชีวิตอยู่ยังไง จินคิดว่ามันน่าจะเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เขาแข็งแรง
บอกน้องไหมว่าเราอุปการะเขา
ณ ตอนนี้ยังค่ะ เพราะเขายังเด็กมาก แต่เล่าผ่านนิทานซึ่งมันมีนิทานลักษณะนี้อยู่ค่อนข้างเยอะ เคยคิดเหมือนกันนะว่าจะบอกยังไง แต่เวลาที่เขางอแงแล้วหลุดพูดว่า “ไม่รักมาม้าแล้ว อยากมีมาม้าใหม่” เราก็จะบอกว่า “งั้นมีมาม้าสองคนเลยดีไหม คนอื่นมีมาม้าคนเดียว ลูกมีสองคน เจ๋งไหม?” อะไรประมาณนี้ คือให้เป็นคอนเซ็ปต์มากกว่าจะพูดเรื่องจริง เขาอาจยังไม่เข้าใจ แต่เราจะค่อยๆ พูดไปทีละนิด
ไม่ว่าเราจะระวังแค่ไหน แต่คำพูดจากคนอื่นสร้างปมให้ลูกได้เสมอ กลัวไหมว่าเรื่องนี้จะสร้างปมให้ลูก
จินเคยไปตามถามคนที่เขาถูกอุปการะและโตแล้วว่าเขารู้สึกยังไง หลายคนให้คำตอบเหมือนกันว่า ไม่ได้รู้สึกเป็นปมว่าถูกพ่อหรือแม่ใหม่รับมาเลี้ยง แต่ปมในชีวิตเขาคือการถูกทิ้ง ซึ่งอาจเป็นปมเล็กมากในชีวิตแต่มันไม่หายไป มันเป็นเรื่องนี้มากกว่าที่เขาจะสงสัยว่าพ่อหรือแม่เขาเป็นใคร ฉะนั้น หน้าที่ของเราคือ ทำให้ปมที่เขามี มันเล็กที่สุด
ความรู้สึกเป็นแม่ เกิดขึ้นตอนไหน
ความเป็นแม่ของเราไม่ได้เริ่มตอนท้อง แต่เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เห็นเขาคลอดออกมา วันที่เราไม่ได้นอน เริ่มจากการได้เลี้ยงดู ได้ปฐมพยาบาล ได้ใส่ใจ
อยากบอกอะไรกับคนที่อ่านอยู่ และไม่เห็นด้วยว่า LGBT จะเป็นแม่ที่ดีได้
คำว่าแม่ถูกกำหนดให้เป็นคำที่ยิ่งใหญ่มาก แต่พอเรามีลูก เราตัดคำว่าเพศสภาพออกไปเลย เพศสภาพไม่ได้ใช้ในการเลี้ยงลูก มันไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงอะ การเป็นแม่คือคนที่รักและใส่ใจใครอีกคน นึกถึงเวลาเราเรียกใครว่าแม่ เขาอาจไม่ใช่คนที่เลี้ยงเรามาจริงๆ ก็ได้ แต่เรารู้ว่าคนนี้รักเรา
ถ้าอีกสิบปีข้างหน้า น้องทั้งสองคนได้มาอ่านบทความนี้ คุณจินอยากบอกอะไรกับน้องไหมคะ
อยากให้รู้ว่ารักเขาตั้งแต่วันแรก ไม่มีเงื่อนไข สำหรับจิน วันหนึ่งที่เขาอยากเป็นตัวของตัวเอง มีชีวิตของตัวเอง อยากให้รู้ว่าเขาไม่ได้ติดค้างอะไรเรา ที่เราทำทั้งหมดเพราะรักและอยากมีเขาตั้งแต่วันแรก เขาเติมเต็มเราตั้งแต่วันแรกที่ได้อยู่กันมา อยากให้เขาเอาเวลาที่เหลืออยู่ไปเป็นตัวตนเขาจริงๆ ไม่ต้องห่วงเรา
ไม่รู้ว่าลูกจะเคยอายรึเปล่า แต่เราพยายามเต็มที่ คิดว่าเราไม่บกพร่องในหน้าที่อะไร ทุกนาที คิดเหมือนที่แม่ทุกคนคิด คือลูกต้องมีชีวิตที่ดีกว่าเสมอ