- คุยกับคุณหมอปอง – นพ.ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล อุปนายกสมาคมการแพทย์มนุษยปรัชญาไทย คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติบำบัดและพัฒนาการเด็กในมุมมองการแพทย์มนุษยปรัชญากันต่อว่า หากเด็กคนหนึ่งต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการ กระทบกับพัฒนาการ หรือเจอความรุนแรง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และวิธีเยียวยาเด็กจะเป็นอย่างไร
- “เรามีเคสแบบนี้ที่ต้องรักษาตอนเป็นผู้ใหญ่เยอะ แต่รักษาได้ไหม ข่าวดีคือได้ แต่การรักษามันยากมาก เราต้องทุ่มเทสรรพกำลังให้คนหนึ่งคนที่มีบาดแผล ทั้งนักศิลปะบำบัดที่ต้องทำงานต่อเนื่อง 2 – 3 เดือน หมอที่ต้องมาซักประวัติหาตัวยาหรือวิตามินบำบัดเพื่อทำให้ร่างกายเขาดีขึ้น เราต้องทุ่มทรัพยากรเยอะมากจนกว่าเขาจะเบาบางและเข้าสู่สมดุลใหม่ แน่นอนว่านี่คือปลายทาง”
หลังจากบทความแรก (อ่านได้ที่นี่) ที่เราชวนคุยกับคุณหมอปอง – นพ.ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล อุปนายกสมาคมการแพทย์มนุษยปรัชญาไทย ว่าตามแพทย์แนวมนุษยปรัชญาเด็กวัยอนุบาลพัฒนาการของเขาเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องเติมให้กับเด็กวัยนี้ และสภาพแวดล้อมที่ควรจัดให้เขา
บทความที่ 2 เราจะคุยกันต่อว่า ถ้าเด็กคนหนึ่งต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการ ,มีการเลี้ยงดูที่กระทบกับพัฒนาการเขา หรือเจอความรุนแรง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก และวิธีเยียวยาเด็กจะเป็นอย่างไร
ถ้าเด็กคนหนึ่งไปโรงเรียนแล้วเจอกับสิ่งแวดล้อม หรือคุณครูที่ตั้งเป้าหมายไม่สอดคล้องกับพัฒนาการเขา หรือใช้ความรุนแรงกับเขา เช่น ตี ผลัก หรือทำโทษโดยไม่ให้ดื่มน้ำ การกระทำพวกนี้มันจะส่งผลยังไงกับเด็กอนุบาล
มันเป็นความเสียหายทางร่างกายและจิตใจที่คงต้องมาดูอีกทีเมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้น ส่วนตัวผมที่พบครอบครัวที่มีปัญหาเยอะ เช่น พ่อแม่อาจไม่พร้อม หรือมีการกระทำรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน เรามีเคสแบบนี้ที่ต้องรักษาตอนเป็นผู้ใหญ่เยอะ แต่รักษาได้ไหม ข่าวดีคือได้ แต่การรักษามันยากมาก เราต้องทุ่มเทสรรพกำลังให้คนหนึ่งคนที่มีบาดแผล ทั้งนักศิลปะบำบัดที่ต้องทำงานต่อเนื่อง 2 – 3 เดือน หมอที่ต้องมาซักประวัติหาตัวยาหรือวิตามินบำบัดเพื่อทำให้ร่างกายเขาดีขึ้น เราต้องทุ่มทรัพยากรเยอะมากจนกว่าอาการของเขาจะเบาบางและเข้าสู่สมดุลใหม่ แน่นอนว่านี่คือปลายทาง
ถ้าเราเจอคนที่บาดเจ็บ 1 คนเราใช้เวลาเป็นปีกว่าจะกู้เขาคืนมา แล้วถ้าหลายโรงเรียนทั้งประเทศไทยมีคนเจ็บป่วยจากเหตุเหล่านี้เยอะมากๆ ล่ะ เรารักษากันไม่ทัน มันเลยเป็นวิกฤตที่จำเป็นต้องมาคุยกันว่า เราต้องตั้งมุมมองของระบบการศึกษาใหม่ให้มันสอดคล้องกับพัฒนาการจริงๆ ไหม
แค่เราตั้งเป้าหมายของการศึกษาให้สอดคล้องกับพัฒนาการ ปัญหาที่เรารู้สึกว่าเคยเป็นก็หายไปเยอะแล้วนะ มันสำคัญกว่าการนำหลักสูตรที่เขียนอย่างสวยหรูมาใช้ ผมถึงบอกว่าโรงเรียนที่ดีที่สุดมันไม่มีหรอก แต่มันมีคุณครูที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคนหนึ่งถ้าเราหาให้เจอ การคัดเลือกครู การอบรมครู การพัฒนาศักยภาพครูที่จะสามารถจัดการเด็กเคสยากได้ต่างหาก อาจเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าหลักสูตรเองด้วยซ้ำ
ผลกระทบที่เกิดกับเด็กทางกาย หรือทางใจ จะเกิดเป็นผลเฉพาะระยะสั้นๆ ในช่วงหนึ่ง หรือฝังจำเป็นระยะยาว
คนเรามีผัสสะในการรับรู้โลกต่างกัน การศึกษา คือการใส่ input ถ้าใครเรียนคอมพิวเตอร์อาจบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของ machine learning คือ information หรือ data ที่ใส่เข้าไปในคอมพิวเตอร์ให้มันเรียนแล้วก็สร้างให้มันเป็นอัลกอริทึมหรือโปรแกรม เด็กก็มี input แต่ input ของเด็กในมุมมองมนุษยปรัชญามี 12 ทาง เรียกว่าผัสสะหรือเซนส์ 12 เซนส์ คนเรามีเซนส์ไม่เหมือนกัน เด็กบางคนมีแนวโน้มที่แค่ฟังก็เข้าใจแล้ว ถ้าเอาเด็กกลุ่มนี้ไปนั่งเรียนแล้วครูพูดให้ฟังเขาก็ทำออกมาได้ดี เรียกว่าเป็น auditory learner ก็เป็นผัสสะหรือเซนส์ที่เด่นในด้านการฟัง
แต่เด็กบางคนนั่งฟังยังไงก็ไม่เข้าใจ ปวดหัวมึนงง เหม่อลอย แหย่เพื่อนเพราะผัสสะในการฟังของเขาไม่โดดเด่น เขาอาจจะโดดเด่นที่การมองภาพเป็นอินโฟกราฟิก ถ้าวาดรูปให้ดูจะเข้าใจเลย เราเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเป็น visual learner สายตาเขาจะดี มองเห็นละเอียด เพราะฉะนั้นการศึกษาก็จะต้องมีแบบฝึกหัดที่ให้เขาได้เรียนผ่านผัสสะเหล่านี้
ขณะเดียวกัน บางคนฟังไม่รู้เรื่อง สายตาไม่ดี ต้องเคลื่อนไหว คนที่ผมจะยกตัวอย่างคือเอดิสัน เขาไม่ใช่เด็กโง่นะแต่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะอยู่ไม่นิ่ง ต้องไปจุดไฟเผาโรงนาเพราะอยากรู้ว่าสิ่งนี้มันไหม้ได้ ต้องมีการทดลองลงมือปฏิบัติการเขาจึงจะเข้าใจ เด็กกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่น่าสงสารที่สุดเพราะถ้าการศึกษาไม่เข้าใจ และมีแต่การศึกษาแบบนั่งเรียนเป็นบล็อคอยู่ในห้อง เด็กกลุ่มนี้ผลการเรียนก็จะไม่ดี ทำตัวเป็นปัญหา ถ้าคุณครูไม่เข้าใจ ไม่ปรับ ก็ต้องมาลงโทษ กลับไปที่กระบวนการใช้ความรุนแรง แต่ถ้าเราเข้าใจเขาสักนิดหนึ่ง เราก็ต้องปรับ input ใหม่ เช่น เรียนชีววิทยา ให้เขาไปปลูกต้นไม้ดูว่ามีหนอนกี่ตัว ก็จะเป็นวิธีที่เขาจะเข้าใจ แต่ครูต้องมีศักยภาพสูงมากนะที่จะบอกว่า อ๋อ เด็กเซนส์แบบนี้ควรให้เขาทำอะไร เพื่อจะเรียนรู้ในหัวข้อเดียวกัน ที่เราเรียกว่า children center
บางคนถูกตีก็อาจไม่ได้จำมันเพราะเขาไม่ใช่คนเซนซิทีฟ แต่เด็กบางคนมีความไวต่อการสัมผัสมาก เช่น บางคนเวลาขึ้นรถเขาจะบอกพ่อเลยว่า วันนี้เอารถอะไรไป เอาฮอนด้าไปได้ไหมเพราะเบาะมันเป็นผ้า มันนุ่ม โตโยต้าเป็นเบาะหนังไม่ชอบ สัมผัสเขาไว ถ้าเด็กคนนี้โดนจับแรงๆ บางทีเขาอาจจำฝังใจ เวลาโดนตีหรือโดนบีบแรงเท่ากันแต่เด็กคนที่ไม่ได้ไวกับเรื่องนี้ เรื่องนี้ก็อาจจะไม่เป็นปม (trauma) สำหรับเขา
ฉะนั้น คำถามที่ว่าหากเกิดความรุนแรงกับเด็กแล้วต้องรักษาหรือเปล่า? บางทีก็ต้องผ่านการประเมินของผู้เชี่ยวชาญว่าเขาจำมันไหม? ประสบการณ์นี้มีผลต่อการรับรู้ของเขาอย่างไร และติดตามระยะกลาง ระยะยาวว่ามีการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมหรือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นไหม ถ้ามีเราก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ support และช่วยเหลือ แต่ถ้าเด็กจำไม่ได้ลืมไปแล้วก็โชคดีไป แต่เราไม่ได้หวังว่าจะอาศัยแค่โชคดีอย่างเดียวเพื่อรอดพ้นจากกระบวนการเหล่านี้ถูกไหม?
เวลาที่เด็กมาทำการบำบัด สัญญาณอะไรที่เราจะได้เห็นจากเด็กคนนี้ ที่บอกว่าเขาต้องการการดูแล
วิธีที่เราปฏิสัมพันธ์กับโลกมีหลายแบบ วิธีหนึ่งที่เราคุ้นชินกันและใช้เพื่อทำความเข้าใจผู้ร่วมสนทนา คือ วัจนภาษา แต่วัจนภาษาแสดงออกได้แค่ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่เราอยากสื่อสาร เช่น ผมจะยืมรถพิธีกร ‘รถสวยเนาะ ขอยืมหน่อยสิ’ คนตอบตอบว่า ก็เอาไปสิ (คุณหมอยกมือขึ้นกอดอก หน้าบึ้ง) เห็นคนทำถ้าอย่างนี้เราจะเอาไหม เราก็จะเกรงใจ
คนไข้หลายๆ คนไม่รู้ว่าตัวเองไม่สมดุล (imbalance) หรือรู้สึกอะไร เช่น เขาบอกว่าเขาไม่โกรธ แต่พอให้ทำศิลปะแล้วเขาขยำแรงๆ ใช้พู่กันขีดจนกระดาษลอกออกมา ตรงนี้มันเป็นข้อมูลที่เรียกว่าอวัจนภาษา ซึ่งในเชิงการบำบัดตรงนี้ (ใช้ศิลปะ) เราจะได้เห็นข้อมูลอีก 70 เปอร์เซ็นต์ เวลาบำบัดหมอจะให้เด็กทำกิจกรรมก่อน แล้วนักบำบัดค่อยมาประชุมในทีมกันว่าเราเห็นอะไรจากเคสนี้บ้าง เมื่อทำงานด้วยกันต่อเนื่องสักระยะหนึ่ง ก็จะเห็นภาพรวมคนคนนี้ ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว มันมีจุดที่เราอยากช่วยเขา
แปลว่าในกรณีที่เด็กได้รับความรุนแรง ก็ขึ้นกับว่าเด็กจะจำเหตุการณ์นั้นได้หรือไม่ ถ้าเด็กจำไม่ได้แปลว่าเรื่องนั้นก็ไม่ได้อยู่ในเมมโมรี่ของเขา เขาไม่ได้รับผลกระทบอะไร?
ความจำเป็นเรื่องส่วนน้อยนะ อย่างเคสหนูที่ดมกลิ่นอบเชย ก่อนฉีดวัคซีนจนมันจดจำกลิ่นได้ สร้างเป็นเงื่อนไขคล้ายการทดลองสุนัขของ Pavlov หลังจากนั้นพอมันได้กลิ่นอบเชยอีก แม้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ร่างกายก็จะตอบสนองด้วยการมีภูมิต้านทานและเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นประหนึ่งว่าถูกฉีดวัคซีนจริงๆ หนูมันก็ไม่ได้จำว่ากลิ่นอบเชยมาแล้วเม็ดเลือดขาวจะเพิ่มขึ้น หนูไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวมันมีเม็ดเลือดขาว ผมขอใช้คำว่าสิ่งนี้ (สิ่งที่เกิดกับเด็ก) มีความหมายหรือ meaningful ต่อตัวเขาไหม ขอเล่าตัวอย่างให้ฟังอีกอันหนึ่ง สมมติผมถามว่า 3 วันที่แล้วมื้อกลางวันกินอะไร? นึกไม่ออกใช่ไหม? แค่ 3 วันเองนะ บางคนก็นึกไม่ออกแล้ว แต่ถ้าผมถามใหม่ว่าตอนแฟนคนแรกบอกเลิกเราวันนั้นกินอะไร บางคนบอกว่าวันนั้นข้าวเค็มมาก น้ำตามันหยดลงไป แกงเขียวหวานนั้นจะจำไปชั่วชีวิต
เขาบอกว่าสมองส่วนที่เป็นความทรงจำระยะยาว (Long-term memory) ของเรา เป็นส่วนที่ต้องทำงานผ่านฮิปโปแคมปัสและระบบลิมบิก หมายความว่าระบบนี้เป็นระบบที่มีอารมณ์ร่วมด้วย ประสบการณ์ไหนที่เรารู้สึกอินมากๆ 10 ปีแล้วเรายังไม่ลืมเลย จำรายละเอียด ทุกอย่างฉายมาเหมือนกรอเทปกลับกี่ทีก็เห็นภาพนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้มีอารมณ์ร่วมอะไร 3 วันก็ลืมแล้ว
ปัญหาคือคำว่า meaningful ตรงนี้มัน meaningful กับเด็กหรือเปล่า ถ้าคุณมีลูก 3 คน อยากกอดเขาให้ยุติธรรม เราก็ตั้งนาฬิกาจับเวลา 5 นาทีกอดเขาแต่ละคนเอาไว้ เด็กคนหนึ่งบอกว่าอยากให้กอดต่อ แต่เด็กอีกคนถามเมื่อไหร่จะปล่อยสักทีอยากไปเล่น เพราะฉะนั้นการรับรู้ตรงนี้มันผ่านเซนส์หรือผัสสะ เราก็ต้องดูว่าสิ่งที่ถูกกระทบบางทีเด็กอาจไม่ได้คิดอะไร แล้วบอกว่าผมก็ซนจริงๆ แหละ ในฐานะของหมอหรือนักบำบัดก็อาจรู้สึกเบาใจนิดหนึ่ง แต่ถ้าเขาบอกว่าผมไม่อยากไปโรงเรียนเลย ไม่ไปได้ไหม หรือพอถามถึงก็ไม่บอกอะไร เราจะรู้แล้วว่าผลกระทบ (impact) เรื่องนี้มันเยอะ แต่ต้องอาศัยการประเมินและการปฏิสัมพันธ์กันสักระยะหนึ่งถึงจะเริ่มเห็นภาพว่าเขาติดอยู่ในเหตุการณ์นั้นหรือเปล่า และติดมากหรือน้อย ต้องมีการปฏิสัมพันธ์และประเมินโดยคนที่ถูกเทรนมาโดยเฉพาะว่าเรื่องนี้เขาติดใจนะ ถึงไม่บอกออกมามันก็ยังติดอยู่นะ แค่เดินเข้าประตูโรงเรียนยังสะดุ้งโหยง พอถึงหน้าชั้นก็เกาะไม่ยอมไป ปฏิกิริยาแบบนี้มันต้องมีอะไรบางอย่างที่เราต้องช่วยเขาให้ก้าวข้ามผ่าน
ถ้าประสบการณ์ได้รับความรุนแรงนั้นๆ มีความหมาย (meaningful) กับเด็ก เซนส์หรือผัสสะการรับรู้ของเด็กจะถูกกระทบไหม?
ต้องบอกว่ากระทบอยู่ ก็ต้องเป็นวิจารณญาณของคุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้านเหมือนกันว่า นโยบายของโรงเรียนสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ให้เราได้หรือเปล่า แต่ในมุมมองของผม คือ พ่อแม่เป็นผู้ทรงสิทธิ์ที่จะสร้างช่วงเวลา 0 – 7 ปีให้เด็กรู้สึกว่าโลกนี้ปลอดภัย ถ้าโรงเรียนตอบโจทย์ไม่ได้พ่อแม่ก็อาจต้องคิดพิจารณาว่าหลักสูตรนี้ โรงเรียนนี้ อาจไม่ได้เหมาะกับลูกเรา เราต้องมีความเด็ดขาดตรงนั้น
แต่ถ้าเราคิดว่าไม่มีคำตอบที่แน่ชัด… แม้ไม่ถึงการถูกกระทำแบบรุนแรง ถ้าเราเอาเด็กไปอยู่โรงเรียนดังหลักสูตรดีมากแต่บังเอิญปีนี้ครูประจำชั้นไม่เหมือนปีก่อนๆ แล้วมันไม่ใช่.. ลูกเรารู้สึกเป็นทุกข์ (struggle) มากเลย ซึ่งอาจไม่ใช่ความผิดคุณครูเลย แต่เด็กยังไม่ได้เจอครูคนนั้นที่ใช่สำหรับเขา ที่จะเปลี่ยนโลกให้เขารู้สึกว่าโลกนี้มันดี
เราอาจจำเป็นต้องหาโรงเรียนให้มันเล็กลงหรือโรงเรียนที่ครูทำให้เด็กรู้สึกว่าการไปโรงเรียนมันคืออีกวันที่ช่างแสนดีเหลือเกิน นี่คือประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญกว่า
ถ้าเด็กผ่านเหตุการณ์รุนแรงแต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้พาเข้าสู่กระบวนการบำบัด จะส่งผลอย่างไรตอนที่เด็กโตขึ้น
มีความเป็นไปได้ แต่จะเกิดขึ้นทุกเคสและเด่นชัดขนาดไหนมีความแตกต่างกันในรายบุคคลด้วยเหมือนกัน เพราะต่อให้เป็นเด็กห้องเดียวกัน เจอครูคนเดียวกัน การรับรู้ต่อการถูกกระทำก็ไม่เหมือนกัน
เราก็ได้แต่ภาวนาว่าถ้าโรงเรียนให้ความสำคัญกับคุณภาพของครู การพัฒนาครู มากกว่าการจะบอกว่าหลักสูตรของฉันมีอะไร มันน่าจะช่วยสกรีนและทำให้เรื่องเหล่านี้ดีขึ้น… ซึ่งจริงๆ เรื่องพวกนี้มันไม่ควรเกิด แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วเราจะบำบัดยังไง ก็เป็นเรื่องที่เราต้องมาคุยกันว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของครู และการคัดเลือกพัฒนาครูให้มีศักยภาพที่เหมาะกับการดูแลเด็ก เพราะเรากำลังพูดถึงสร้างอนาคตของมนุษยชาติเลยนะ
หลักการของมนุษยปรัชญา ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กต้องเป็นอย่างไร
ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กก็เป็นเหมือนแม่พิมพ์ของเด็กคนนั้น แล้วแม่พิมพ์ที่ว่านี้ไม่ว่าเขาจะพูดหรือทำอะไรเด็กจะก๊อปปี้โดยไม่รู้ตัว เราอาจเห็นเด็กที่ทำท่าทางบางอย่างเช่น เต๊ะท่าเอานิ้วโป้งกับนิ้วชี้วางใต้คาง หรือเท้าสะเอว ถ้าลองไปดูจะพบว่าต้องมีใครสักคนในบ้านที่ชอบทำท่านั้นโดยที่เขาไม่รู้ตัว เด็กเขาก็จะเลียนแบบแบบก๊อปปี้มาเลยเป๊ะๆ
ยิ่งครูเป็นผู้ใหญ่มีความเมตตาอบอุ่นมากเท่าไร ก็ยิ่งสื่อให้เด็กรู้สึกได้ว่าโลกนี้มันดี นั่นก็จะเป็นส่วนช่วยอย่างมากที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาแล้วพร้อมที่สู้กับโลกที่มันโหดร้าย เพราะทุกวันนี้โลกมันก็โหดร้ายพออยู่แล้ว แต่การได้มีวัยหนึ่งที่ได้เจอครูที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าโลกนี้มันดี มันก็เป็นภูมิต้านทานที่ดีสำหรับเขาต่อไป
แปลว่าถ้าเด็กเจอกับผู้ใหญ่ที่สร้างโลกที่ดีให้กับเขา เด็กก็จะแข็งแรง แต่กลับกันถ้าเด็กไปเจอผู้ใหญ่ที่สร้างโลกไม่ปลอดภัย ใช้ความรุนแรงกับเขา เขาก็อาจกลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรง
แน่นอนครับ จะว่าไปผมเจอเคสแบบนี้แทบทุกวัน เจอเคสที่บ้านหนึ่งทำรุนแรงกับลูก แล้วพอไปถามพ่อแม่ที่ทำรุนแรงกับลูก เขาก็เสียใจร้องไห้ แต่เขาก็บอกว่าเขาห้ามตัวเองไม่ได้เพราะตอนเด็กๆ เขาก็ถูกปู่ย่าเลี้ยงมาแบบนั้น ผมบอกเขาว่า ใช่ คุณได้รับการกระทำมาเราเห็นใจ แต่คุณกำลังส่งต่อกรรมนี้ให้รุ่นลูก… ซึ่งคุณเลือกได้นะว่าคุณจะส่งมันต่อไป หรือจะหยุดมันไว้ตรงนี้ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คุณมีอิสระที่จะเลือกทำรุ่นลูกของเราให้ดีขึ้น
ทำไมเรื่องธรรมชาติของเด็ก เรื่องพัฒนาการเด็ก จึงยังไม่ถูกเข้าใจ แม้แต่คุณครู
เพราะเราหลงลืม ด้วยความที่หลักสูตรเราไปตั้งเป้าหมายว่าเด็กจะต้องสอบให้ได้ ต้องอ่านหนังสือได้เร็ว เพราะเราตั้งเป้าผิด ครูก็เลยมีแต่ศักยภาพในการสร้างให้เด็กทำสอบได้ แต่ศักยภาพที่จะมองว่าทำอย่างไรให้เด็กคนหนึ่งมีประสบการณ์ชีวิตที่ดีมันถูกหลงลืมไป แต่เดิมระบบการศึกษาของเรามีนะ ถ้าลองไปดูครูรุ่นก่อนๆ หลักสูตรเรียบง่ายมาก แต่คุณครูมีวิธีที่จะเชื้อเชิญให้เด็กได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีทุกรูปแบบ อย่างครูอุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท ท่านก็จะมีภูมิปัญญาแบบหนึ่งที่จะถ่ายทอดให้เด็ก
อีกประเด็นก็คือบางทีครูก็อยากทำนะ ผมพบว่าตอนนี้คุณครูหลายๆ โรงเรียน ตอนเริ่มต้นตั้งโรงเรียนใหม่ ผมเห็นโรงเรียนที่พยายามเสนอหลักสูตรที่ไม่ใช่การเร่งเรียน แต่ก็อย่าลืมว่าโรงเรียนก็ถูกกดดันโดยผู้ปกครอง บางโรงเรียนเริ่มต้นสวยงามมากเลย แต่สุดท้ายทานแรงกดดันไม่ไหว เจอพ่อแม่ถามว่า ‘ทำไมลูกฉันยังเรียนไม่ได้’ ‘ทำไมลูกฉันยังอ่านหนังสือไม่ออก’ ถ้าเราไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของทั้งพ่อแม่และครูในมุมมองชีวิตที่มันถูกต้องเราก็จะเห็นโรงเรียนที่ต้องเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อไปเร่งเรียนด้วยเหมือนกัน ตรงนี้ผมเห็นใจทุกฝ่าย แต่ว่าถ้าเรามีสื่อที่ดี มีการอบรมโดยคนที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และค่อยๆ สร้างครูคุณภาพเหล่านั้นขึ้นมา ผมคิดว่ามันจะช่วยให้เรามีทางออกที่ดีขึ้น
ในทางมนุษยปรัชญา สภาพแวดล้อม หรือระบบนิเวศแบบไหน ที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งอยากเรียนรู้
สำคัญที่สุดคือครูกับพ่อแม่ การที่เราอยากทำให้เขาอยากเรียนเป็นคนละเรื่องกับการที่เราจะสอนเขานะ ถ้าเรายึดติดกับการต้องการให้ลูกจำหรือเรียนรู้ได้เร็ว แน่นอนวิธีที่ง่ายและเป็นสูตรสำเร็จคือ เราให้เขาท่อง บอกมันทุกคำตอบ ขณะเดียวกันเราจะพบว่าเด็กที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้เป็นเวลา 18 ปี กว่าจะ o-net a-net กว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเข้าไปเรียนได้ เขาเรียนจนอิ่มแล้ว พอสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เป็นยังไงครับ ไม่เอาแล้วฉันไม่เรียนแล้ว ไฟในการเรียนมันหมดแล้ว ถ้าในมนุษยปรัชญาคุณครูที่เก่ง คือ คุณครูที่สอนให้เด็กตั้งคำถาม
ผมยกตัวอย่างลูกตัวเอง มาวันหนึ่งเจ้าลูกชายกลับมาจากโรงเรียนอนุบาลก็ผมถามว่า คุณพ่อรู้ไหมครับเจ้าจำปีคืออะไร ผมถามคืออะไรเหรอ ลูกก็บอกว่าถ้าคุณพ่อไม่รู้ก็จะเฉลยให้ นี่ไงการบินไทย ที่หางเครื่องบินไงเจ้าจำปี ผมรู้สึกว่านี่เป็นการพูดคุยของเด็กๆ ที่เขาจำมา เราอยากให้เขาเรียนรู้มากขึ้นผมก็เลยถามต่อว่า แล้วรูปที่เป็นเจ้าจำปีมาจากไหน เขาก็งง เฉลยหน่อยๆ ผมบอกไม่เฉลย ลองไปหาดู รู้เรื่องเจ้าจำปีมาจากเพื่อนก็ไปถามเพื่อนดู ถ้าเป็นบ้านที่ให้ลูกเข้าเน็ตก็อาจจะกูเกิ้ลเอาก็ได้
เขาถามผมอยู่สามวัน ผมไม่ตอบ แต่ขับรถมองหาสิ่งที่คิดว่าเป็นตัวอย่างได้ สามวันไม่เจอ เขาก็ถามผมแบบไม่เบื่อเลยนะ จนวันหนึ่งผมจอดรถให้เขาลงไปดูข้างทาง ลูกลงไปดูกอดอกรัก เขาก็ร้องว่าโอ้โหเหมือนเจ้าจำปีเลยพ่อ ถามว่ากระบวนการเหล่านี้ เขาเรียนช้าไปไหม ถ้าเราบอกเขา เขาก็รู้ไปตั้งแต่สามวันที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ในวิธีการแบบนี้ คือเขาจะรู้สึกว่าข้างทางมันยังมีอะไรที่น่าสนใจมากๆ เลยนะ ถ้าเรามัวแต่ไปค้นดูในกูเกิ้ล เราก็อาจได้คำตอบ แต่สิ่งที่เราเรียนรู้ได้มันมีอยู่แม้แต่ข้างทาง ขนาดเดินผ่านข้างทางมันก็มีอะไรให้เราเรียนได้ ถ้าเราสามารถรักษาความรู้สึกอยากเรียน อยากได้คำตอบด้วยตัวเอง ตรงนี้ต่างหากที่จะทำให้เขาไม่หน่ายที่จะตั้งคำถามและเรียนรู้ไปตลอดชีวิต
เรามีหน้าที่ที่จะสร้าง wow experience ให้กับเด็กมากกว่าที่จะไปบอกคำตอบให้เขา ก่อนที่จะบอกคำตอบอะไรเขาจะต้องมีประสบการณ์ที่มันจริงสำหรับเขา และในประสบการณ์นั้นมันทำให้ได้คำตอบ คำตอบเป็นแค่ผลพลอยได้แต่การได้รู้สึกว่าฉันต้องว้าวฉันจึงจะพอใจกับคำตอบนั้น มันก็จะแก้ปัญหาว่าทำไมเด็กเดี๋ยวนี้เถียงคำไม่ตกฟาก เพราะเขาถูกเทรนมาตลอดว่า อยากรู้ ค้นกูเกิ้ล วันหนึ่งเขาโตแล้ว พอเขาจะเถียงเรา เขาบอกคุณพ่อไม่ต้องมาเถียงหรอกผมค้นกูเกิ้ลมาหมดแล้ว 1 2 3 4 นี่เพราะเราไม่ได้ลิงค์การเรียนรู้กับประสบการณ์ที่ดี มันจึงเถียงกันมากขึ้นๆ ทุกคนก็เถียงมีเหตุผลหมด
เราสอนให้เขามีเหตุผลแต่เราไม่ได้สอนกระบวนการเรียนรู้ (learning processes) เราไม่ได้สอนให้เขาดื่มด่ำและมีความกระหายที่จะหาความจริง เรื่องนี้มันจะไปเด่นชัดตอนที่เขาเข้าสู่วัย 14 – 21 ปี ที่บอกว่าความดี ความงาม และความจริง คืออะไร ถ้าเราใส่สิ่งนี้เข้าไปในประสบการณ์ต่างๆ เราจะเห็นว่าหลักสูตรของเด็กทางยุโรป ทางเยอรมันนี่เน้นมาก นั่นจึงทำให้คุณภาพคนของเขาในระยะยาวคือเป็นกลุ่มชนชาติที่สร้างสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมอะไรต่างๆ ตลอดเวลาโดยไม่ได้พอใจว่ามันมีอยู่แล้ว
เด็กจะสามารถเยียวยาบาดแผลหรือว่าก้าวข้ามไปเพื่อเรียนรู้ self esteem ตัวตนบางอย่างด้วยตัวเอง โดยที่ไม่มีครูหรือพ่อแม่คอยช่วยโอบอุ้มเขาได้ไหม?
ใช่ครับ สตอรี่ของเราไม่ได้จบที่อายุ 21 ปี แล้วทุกคนเป็นตัวของตัวเอง แต่อุดมคติสูงที่สุดของการศึกษาในแนวมนุษยปรัชญาคือ self learning การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น เราทำได้แค่สร้างต้นทุนบางอย่าง เราไม่รู้หรอกว่าเด็กคนนี้เก่งเลขหรือไม่เก่งเลข ถ้าเราสอนเขาว่าเธอต้องทำโจทย์เลขด้วยสูตรนี้เท่านั้น เด็กคนนี้เก่งยังไงก็ไม่เกินครู แต่ถ้าเราบอกว่าหนูลองดูซิว่าโจทย์นี้มีวิธีแก้อย่างอื่นด้วยหรือเปล่า ไม่แน่เขาอาจจะเก่งกว่าเราเป็น 10 เท่าเลยก็ได้ ตราบใดที่เด็กคนนั้นมี self learning แล้วก้าวข้ามผ่านตัวเองไปได้เราจะเจอศักยภาพที่เหนือกว่าครูเองด้วยซ้ำ
ประเด็นที่สอง ถ้าเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณหรือปัญญาญาณ เมื่อไรก็ตามเราไม่ทำให้เขาหยุดค้นหาความเป็นจริงของชีวิต ถึงอายุ 28 เราจะมีคำถามที่เรียกว่าเป็น existential (อัตถิภาวนิยม) อันหนึ่งขึ้นมาว่าเราคือใครและคำถามนี้มันจะถามเราเด่นชัดทุก 7 ปีเมื่ออายุ 35 ปี 42 ปี ถ้าเราใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่เคยตั้งคำถามว่าเราคือใคร เราจะอยู่ในเซฟโซนตลอดเวลาและไม่ได้พัฒนา แต่เมื่อไรเราบอกว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่มันไม่ใช่ เราต้องดีกว่านี้สิ การเจริญเติบโตทางปัญญาหรือการแสวงหาจิตวิญญาณผ่านกระบวนการสุนทรียะสนทนา (dialogue) ต่างๆ มันเกิดจากคำถามเหล่านี้ทั้งนั้น ตรงนี้ต่างหากที่เราต้องการจะให้คงอยู่ในตัวของเขาแม้ว่าเขาจะเติบโตไปแล้ว
ถ้าเป็นเด็กที่ผ่านความรุนแรง เขาจะสามารถเกิด self learning ได้ไหม
มันก็จะเป็น painful learning แต่ถ้าคนคนนั้น learning ได้ ผมมักจะบอกคนไข้หลายๆ คนที่ก้าวข้าม ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้อย่างยากลำบาก ไม่แน่นะ การที่เราเกิดมาแล้วต้องเจอเหตุแบบนี้ มันมีคำพูดที่ว่ามันไม่มีอะไรบังเอิญหรอก ถ้าคนเหล่านี้ข้ามตัวเองได้เมื่อไหร่แล้วไปเป็นนักบำบัด (healer) เขาจะไปเป็นนักบำบัดที่เก่งที่สุด เพราะเมื่อคุณไปเป็นนักบำบัดสายอะไรก็แล้วแต่ สิ่งแรกที่จะต้องทำให้ได้คือคุณรักษาตัวเองให้ได้ก่อน เพราะถ้าคุณก้าวข้ามหล่มลึกในใจได้ พลังใจของคุณก็จะมีกำลังขนาดนั้นคุณไปรักษาใครก็ได้ มันไม่ใช่การสอนเทคนิคว่าบำบัดอะไร แต่สิ่งเหล่านี้คือ core value ของคนเป็นนักบำบัดโดยแท้จริง เพราะฉะนั้นคำถามที่เราอาจจะตั้งเล่นๆ ชวนให้คนที่กำลังเผชิญ trauma คิดก็คือ “ชีวิตมันอาจจะกำลังสอนอะไรคุณก็ได้ เมื่อไรคุณก้าวข้ามผ่านไปแล้วมองกลับมา คุณจะพบว่าเราขอบคุณเหตุการณ์นี้จังเลยที่ทำให้เรามีความสามารถในการบำบัดและเยียวยาคนอื่นได้ด้วยซ้ำ”
การเลือกโรงเรียนอนุบาล ผู้ปกครองควรพิจารณาจากปัจจัยอะไรบ้าง?
ดูครูก่อนเลยครับ พ่อแม่อาจต้องมีเกณฑ์ว่าครูคนนี้อบอุ่นพอหรือเปล่า แต่ผมยอมรับว่ามันเป็นเรื่องยากจริงๆ ถ้าไม่ได้อยู่ในวงทำงานแบบเรา อาจประเมินจากโรงเรียนหลักสูตรอิสราเอล โรงเรียนหลักสูตร 2 ภาษา มันเป็นข้อตัดสินที่มันไม่ได้เกี่ยวเลยกับสิ่งที่เราต้องการ แต่ว่าถ้าเราพอจะดูออก เราอาจจะต้องมองว่าคุณครูประจำชั้นที่จะดูลูกเราเป็นยังไง ถ้ามีโอกาสและโรงเรียนเปิดโอกาสลองเข้าไปดู เราจะเห็นจริต เห็นวิธีที่เขาให้คุณค่าบางอย่างและอาจจะต้องมีการรีเช็ค ถ้าไปแค่วัน open day ก็อาจจะเห็นแค่ 1 ครั้ง แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราไปที่โรงเรียนอยู่เรื่อยๆ เราอาจจะเริ่มเห็นภาพว่าเวลาครูดีลกับเด็กเขามีเทคนิควิธีการแบบไหน นี่อาจเป็นเรื่องสำคัญกว่าการดูที่หลักสูตร
ต่อให้เป็นเพิงซอมซ่อนะ ถ้าเด็กได้เจอครูคนนั้น ทุกอย่างในโลกนี้มันดีหมด แต่ถ้าไม่เจอครูคนนั้นต่อให้ตึกอาคารมันสวย ห้องทดลองเรียบกริ๊บ มันก็อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คุณคิดก็ได้
ทิ้งท้าย วิธีที่จะช่วยปลดล็อค ทำให้การเลี้ยงลูกหรือเด็กเป็นไปตามพัฒนาการของเขา
ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่พ่อแม่ที่รู้ว่า เราต้องการให้ลูกของเรามีประสบการณ์ของความดีงามของโลกนี้อย่างไร ถ้าความดีงามของพ่อแม่ คือลูกอ่านได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปพูดถึงเรื่องอื่น แต่ถ้าความดีงามของโลกนี้สำหรับเด็กคนหนึ่ง คือ การได้พบเจอครูที่เข้าใจเขาและเปลี่ยนทัศนะของเขาจากเดิมที่มีลิมิตให้ก้าวข้ามตัวเองสู่การเติบโตและการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
ถ้าเราตั้งเป้าตรงนั้นได้ถูกต้อง… ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีสื่อ ข้อมูลที่จะสืบเสาะหาจนได้ แต่เราจะต้องมีมุมมอง (viewpoint) ที่ดีก่อน พ่อและแม่ที่คิดตรงกันก่อนว่าเราต้องการให้ลูกได้เจอโลกแบบไหน